ประสีประสาสิงสาราสัตว์
Group Blog
 
All Blogs
 

กระรอกสวนมะพร้าว




นานมากแล้วตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ผมตื่นเต้นกับเรื่องในนิตยสาร “ชีวิตกลางแจ้ง” ว่าด้วยเกมยิงกระรอกในสวนมะพร้าวด้วยปืนลูกกรด แบบว่าอ่านแล้วคันไม้คันมือ อยากลองมั่งเลยทีเดียว

แต่เวลาร่วม 30 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก จนบัดนี้ก็ยังไม่เคยยิงกระรอกเลย มิหนำซ้ำ พออายุมากเข้า ก็หมดความสนใจไปเรียบร้อยแล้ว (อย่างมากก็แค่“ยิงกระต่าย”ตามข้างถนน)

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้ตามไปสังเกตการณ์การล่ากระรอกในสวนมะพร้าวเป็นหนแรก โลเกชั่นคือสวนมะพร้าวในพื้นที่อ.ทับสะแก จ.ประจวบฯ ซึ่งถือเป็นนครหลวงของมะพร้าวไทย

ไปถึงก็เห็นเลยว่าเกมนี้ไม่ง่าย โดยเฉพาะสวนมะพร้าวที่มีการไล่ยิงกระรอกเป็นประจำ กระรอกจะเต็มไปด้วยความปราดเปรียวระแวงภัยสุดขีด

อย่างไรก็ดี นักเลงปืนประจำสวนก็สอยกระรอกเคราะห์ร้ายลงมาได้ 2 ตัว พอเห็นซากกระรอกสวนมะพร้าวชัดๆ ก็ต้องบอกว่าผมคุ้นกับมันเป็นอย่างดี

มันก็คือกระรอกปลายหางดำ (Grey-bellied Squirrel) ซึ่งจะพบมันทุกครั้ง เวลาไปเฝ้าถ่ายนกตามบ่อนกแก่งกระจาน

จากการสอบถามคนสวนมะพร้าว ได้ความว่า กระรอกที่สิงสู่อยู่ในสวนมะพร้าว มีแค่เจ้าปลายหางดำชนิดเดียวเท่านั้น

ปลายหางสีดำๆ นั่น ก็ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวที่ไม่มีในกระรอกชนิดอื่น

กระรอกปลายหางดำไม่มีชื่อในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของบรรดาเจ้าของสวนมะพร้าวทั้งหลาย เพราะมันก่อความเสียหายทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยการแทะลูกมะพร้าวจนเป็นรูโหว่ เพื่อล้วงกินเนื้อมะพร้าวข้างใน

มะพร้าวไม่ว่าลูกไหนที่โดนกระรอกกัดทะลุกะลา น้ำมะพร้าวรั่วออกไปหมด มันจะแห้งตายคาทลาย หรือไม่ก็หลุดขั้วร่วงลงดิน

แต่กระรอกไม่ใช่ตัวแสบในสวนมะพร้าวตัวเดียว ยังมีหนูซึ่งตัวเล็กกว่า แต่มีจำนวนมากกว่าด้วย หนูจะออกมาปฏิบัติการช่วงกะกลางคืน สลับกับกระรอกที่ออกกะกลางวัน

บาดแผลของลูกมะพร้าวที่ถูกจอมแทะทั้งสองเล่นงานจนร่วงลงมา จะแตกต่างกันจนดูรู้ได้ว่าฝีมือใคร กระรอกนั้นจะกัดตั้งแต่กลางลูกไปจนถึงด้านใต้ลูก ส่วนหนูกัดด้านบนลูกใกล้ๆขั้ว (ขนาดตัวที่ต่างกัน เป็นตัวกำหนดจุดแทะ)

กระรอก 2 ตัวที่ถูกสอยมาได้ ถูกนำไปปรุงเป็นกระรอกผัดเผ็ดมาให้ผมลองกินด้วย ผมเองคิดว่าเนื้อมันน่าจะหอมมัน จากการกินแต่เนื้อมะพร้าวอันหวานมันและสะอาด

เคี้ยวได้คำเดียว ก็แอบเรียกลูกจ้างเจ้าของสวนมาหา แล้วยกจานกระรอกผัดเผ็ดให้ไปทั้งหมด

เนื้อสัตว์ป่าก็คือเนื้อสัตว์ป่าตามเคย กลิ่นเนื้อกระรอกทั้งคาวทั้งสาบชวนผะอืดผะอม ขนาดมีเครื่องแกงช่วยแล้วด้วยนะเนี่ย

ว่าไปแล้ว ผมไม่เคยเห็นจะมีสัตว์ป่าตัวไหนที่อร่อยจริงตามวลี “เอาไก่มาแลกก็ไม่ยอม” แม้แต่ตัวเดียว!



ปริญญา ผดุงถิ่น เรื่อง/ภาพ




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 15 กรกฎาคม 2555 23:56:55 น.
Counter : 7510 Pageviews.  

กระรอกที่หายไป




เคยคุยกับช่างภาพสัตว์ป่าชื่อดัง มีประสบการณ์คร่ำหวอด เขาก็ยังยอมรับว่าการถ่ายรูปกระรอกในป่า จัดเป็นกระดูกขัดมันดุ้นหนึ่ง

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ทั้งที่กระรอกไม่มีปีก แต่ผมว่ามันถ่ายยากกว่าถ่ายนกเสียอีก

ยิ่งเป็นกระรอกตามสวนมะพร้าวยิ่งยากสุดๆ แค่เห็นเงาคนแว้บๆ ไกลๆ พวกก็หลบซ่อนหายลับไปในคอมะพร้าวทันที (โดนลูกกรดจนประสาท)

เหตุที่เล่นกับพวกกระรอกยาก มาจากความเป็นสัตว์ตาไว ที่มาพร้อมกับความตื่นตัวระแวงภัย และสไตล์การเคลื่อนไหวอันปราดเปรียวแบบหนู

เวลากระรอกเห็นคน มันจะไม่คิดเอาตัวรอดไปตัวเดียว แต่จะส่งเสียงร้องเตือนพวกเดียวกัน ตลอดจนสัตว์อื่นๆในป่าให้รู้ตัวด้วย

อย่างไรก็ดี ผมโชคดีที่ได้ถ่ายรูปกระรอกแบบเหน่งๆ เตี้ยๆ จ่อๆ มาบ้าง แถมยังเป็น“กระรอกตัวโปรด”อีกต่างหาก มันคือพญากระรอกดำ (Black Giant Squirrel)

ว่าไปแล้ว ผมได้รูปนี้ของพญากระรอกดำมาตั้งแต่หัดถ่ายรูปนกใหม่ๆ ขณะสะพายกล้องเดินเงียบๆเข้าไปในเทรลเส้นหนึ่งในป่าเขาใหญ่ จู่ๆ ก็เจอพญากระรอกตัวนี้ กำลังเพลิดเพลินกับการแทะโลม เอ๊ย แทะกินลูกไม้อะไรสักอย่าง

ผมก็เลย“ยกซด” รัวมาเป็นร้อยๆรูป ใกล้ซะจนต้องถ่ายเป็นแนวตั้ง

ท่าเอาพุงตัวเองเป็นจุดสมดุลพาดกับกิ่งไม้ ขืนมนุษย์คนไหนคิดจะเลียนแบบ มีหวังได้อาเจียน “ข้าวเหนียวไก่ทอด” ออกมาเป็นแน่แท้ (แหะๆ เมนูฮิตร้านอาหารเขาใหญ่อ่ะ)

ถึงจะได้รูปเหน่งๆนี้มาหลายปี แต่ผมเพิ่งได้ฤกษ์งัดมาตีพิมพ์เอาตอนนี้ เพราะมันเป็นไฟล์ที่หายไป จากการที่ฮาร์ดดิสก์เจ๊งไป 2 ลูก

แต่เร็วๆนี้เอง ผมเพิ่งมาเจอว่ามีต้นฉบับ 3 ไฟล์ที่คัดไว้แล้ว ยังคาอยู่ใน USB เก่าแก่อันหนึ่ง ดีใจจนบอกไม่ถูกเลยเชียว

เหตุที่พญากระรอกดำเป็นกระรอกตัวโปรดของผม เพราะสีขนที่สวยหรูดูมีระดับ หุ้มเรือนร่างกำยำขนาดแมวหง่าว มันได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในกระรอกที่ตัวโตที่สุดในโลกเลยทีเดียว

พญากระรอกดำเป็นสัตว์โดดเดี่ยวที่มีอาณาเขตของตัวชัดเจน มักจะสร้างรังทำด้วยกิ่งไม้ใบไม้ขนาดใหญ่เท่ารังเหยี่ยวเอาไว้ๆหลายรัง แล้วเลือกนอนในจุดที่ใกล้แหล่งอาหารล่าสุด

ปกติเป็นสัตว์เรือนยอด ไม่ชอบลงพื้น หรือเข้าใกล้ถิ่นอาศัยของคน แต่จะยอมลงมาเตี้ยๆหน่อย ก็ตอนมีอาหารดึงดูด

ประชากรในโลกของมันลดลงมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากการสูญเสียพื้นที่ป่าให้กับคน และก็มักตกเป็นเป้าของนักเลงปืน

ก็ขนาดในนิยาย “เพชรพระอุมา” พวกพระเอกนางเอกยังเอาพญากระรอกเป็นเป้าประลองความแม่นของไรเฟิลเลย ถึงจะไม่ได้เขียนชื่อมันออกมาตรงเป๊ะ แต่ผมมั่นใจว่าใช่แน่ๆ

เพราะเรียกเป้าปืนนี้ว่า “กระรอกดงตัวเท่าแมว”


ปริญญา ผดุงถิ่น เรื่อง/ภาพ




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 13 กรกฎาคม 2555 1:08:24 น.
Counter : 6753 Pageviews.  

แย้แต่ไม่ยี้




สารภาพว่าผมไม่ค่อยถูกโฉลกกับพวกสัตว์เลื้อยคลาน ยิ่งเวลาเห็นเซียนสัตว์ป่าเมืองนอก เอากิ้งก่าตุ๊กแกมาพร่ำพรรณนาถึงความน่ารักทางทีวี ก็ได้แต่ขนลุก พลางบอกตัวเอง...ยังเข้าไม่ถึงว่ะ

อย่างไรก็ดี ยังมีสัตว์เลื้อยคลาน ที่ผมชอบส่องดู (ห่างๆ) นั่นก็คือแย้

แย้เป็นสัตว์ที่คล้ายกิ้งก่าที่สุดแล้ว จะมีแตกต่างเหนือชั้นก็ตรงที่ขนาดล่ำและยาวกว่า พร้อมสีสันเพริศแพร้วพรรณราย (ดูจากรูปเลย ไม่ต้องบรรยายให้เมื่อย อิอิ)

ขณะที่กิ้งก่าเน้นผงกหัวเย่อหยิ่งอยู่บนต้นไม้เป็นหลัก แย้ก็แยกถิ่นของตัวเองมาเป็นขาใหญ่บนพื้นดิน ยกเว้นจะมีกิ้งก่าตัวไหนซ่าลงจากต้นไม้มาอยู่บนพื้น เจ้าพ่อติดดินอย่างแย้ก็จะไล่กวดให้ไปอยู่บนต้นไม้ตามเดิม (ฟังจากคำบอกเล่าชาวบ้านมานะ ไม่ยืนยัน)

ทำเลอาศัยของแย้มักเป็นพื้นที่ละเมาะไม้โปร่งๆ แล้งๆ ป่าที่เขียวชอุ่มเกินไปจะไม่พบตัวแย้ เท่าที่ผมเที่ยวๆป่ามา ก็คิดว่าห้วยขาแข้งนี่แหละ น่าจะยกให้เป็นเมืองหลวงหรือศูนย์กลางความเจริญของพวกแย้

ชื่อภาษาอังกฤษของมันคือ Butterfly Lizard จากสีที่สวยราวกับผีเสื้อ หนังสวยๆของมันไม่ได้รัดรึงตึงเปรี๊ยะแต่อย่างใดตอนสายๆ แดดเริ่มอุ่น แย้ชอบแผ่หนังตัวออกจนเป็นแบนๆ ทำหน้าที่ราวกับจานรับรังสี เพื่ออุ่นเครื่องตัวเองให้กระฉับกระเฉง

อย่างไรก็ดี ภาพที่เราเห็นบ่อยมากกว่า จะเป็นตอนแย้คลานหลบลงรูเมื่อมีคนเข้าไปใกล้ เดี๋ยวรูโน้นรูนี้ ดูประทับใจคนรุ่นปู่ย่าตาทวดอย่างไรไม่ทราบได้ เอามาเป็นชื่อการละเล่นพื้นเมือง “แย้ลงรู”

ผมเองเพิ่งจะมารู้พฤติกรรมน่ารักของแย้ ในการไปนอนแคมป์ห้วยขาแข้งหนล่าสุดนี่เอง

ที่โผล่หัวออกมาจากรู ไม่ใช่แย้ตัวเดียว กลับมีลูกแย้ตัวผอมๆบอบบางๆ ชูหัวชะเง้อชะแง้ตามแม่มันขึ้นมาด้วยหลายตัว พอเห็นว่าปลอดภัย ก็คลานออกมา ไล่งับกินมดรอบๆ

แล้วพอมีอะไรทำให้ตกใจ ทั้งแม่และลูกๆ ก็วิ่งพรวดกลับลงรูอันปลอดภัยอย่างรวดเร็ว

ผมก็เลยเพิ่งรู้เดี๋ยวนั้น ว่าสัตว์เลื้อยคลานยี่ห้อนี้ ไม่ใช่พวกไข่ทิ้ง แต่เป็นพวกฟูมฟักดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด

กลางคืนคนยังต้องปิดประตูบ้าน ฉันใดฉันนั้น แย้ก็ปิดปากรูจนมิดชิด แล้วค่อยคุ้ยเปิดตอนกลางวัน

จากหนัง “จูราสสิก ปาร์ก” ผมจำได้ มีการพูดถึงไดโนเสาร์ที่ปล่อยไว้ในปาร์ก ดันออกไข่ได้หน้าตาเฉย ทั้งที่เพาะพันธุ์คัดไว้แต่ตัวเมียล้วนๆ
โดยมีคำอธิบายว่า มีกบบางชนิดในโลก เวลาโลกโหดร้ายไร้ตัวผู้ พวกตัวเมียก็สามารถดิ้นรนจนมีลูกกันเองได้

สิ่งนี้ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เพราะแย้ที่อาศัยในปักษ์ใต้ของเรา จะเกิดมามีแต่ตัวเมียล้วนๆเลย แต่ก็พลิกแพลงออกลูกออกหลานได้จริงๆ แบบในหนังว่าไว้เป๊ะ

ต้องยกให้เป็นสายพันธุ์“ซูเปอร์แย้”


ปริญญา ผดุงถิ่น เรื่อง/ภาพ




 

Create Date : 13 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 13 กรกฎาคม 2555 1:29:44 น.
Counter : 18759 Pageviews.  

ส่องลิงลม




ไม่น่าเชื่อ ชายป่านอกเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน จะเป็นแหล่งของสัตว์ป่าระดับดาราทองของโลก อย่างลิงลม (Slow Loris)

ผมเองที่ลองไปส่องหาลิงลมแถวนั้นมาแล้ว อยากบอกว่ามันเป็นเกมสนุกๆ ชิล ชิล ที่แนะนำให้ลอง

อุปกรณ์การส่อง ต้องมีรถพร้อมไฟสปอตไลต์ หรือไม่ก็ไฟฉายแรงๆ
แค่ขับช้าๆ ตามถนน ส่องไฟตามแมกไม้รายทาง ถ้าดวงไม่กุดเกินไปก็มีโอกาสเจอลิงลม

อนึ่ง ขอไม่บอกจุดส่องลิงลมชัดๆ เพราะมันอาจเป็นดาบสองคม

แนะนำให้ใช้บริการโปรกั๋น แห่งบ้านมะค่า ชาเล่ต์ แก่งกระจาน (www.baanmaka.com) แกสามารถพาท่านที่สนใจไปเปิดเกมได้

กลเม็ดสำคัญในการส่องหาตัวลิงลม ควรจะฉายลำแสงให้ขนานระดับสายตาเข้าไว้ ด้วยตำแหน่งที่ว่า ลูกตาลิงลมจะสะท้อนแสงกลับมาได้ชัดเจนที่สุด

ลิงลมเป็นสัตว์ตาโตอย่างเดียวไม่พอ ลูกตามันยังสะท้อนแสงได้เจิดจ้า สไตล์เดียวกันกับพวกนกตบยุง

ซึ่งผมเรียกสัตว์พวกนี้เล่นๆ ว่าเป็นลูกศิษย์ฤาษีตาไฟ 555

บางท่านอาจสงสัย ทำไมยกย่องไอ้ตาโตตัวนี้ให้เป็นดาราทองระดับโลก?

คำตอบก็คือ ฝรั่งพวกบ้าดูสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal Watcher) ที่ออกตามดูสัตว์ไปทุกทวีปทั่วโลก จะบินมาเมืองไทย พร้อมลิสต์ชื่อ Slow Loris ไว้เป็นเป้าหมายเบอร์ 1

ค่าที่ลิงลมเป็นสัตว์ที่แพร่กระจายพันธุ์อยู่แถวเอเชียอาคเนย์เป็นหลัก มีลามไปบางส่วนของเอเชียใต้บ้าง

ซึ่งผมคิดว่าป่าบ้านเราคงหาตัวลิงลมได้ไม่ยากเย็นเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศอื่นจนกลายเป็นจุดขายสำคัญไปเลย

ลิงลมออกหากินกลางคืน ใช้วิธีไต่ช้าๆ บนต้นไม้ เก็บกินยางไม้ น้ำหวานดอกไม้ ตลอดจนจับแมลง สัตว์เล็กสัตว์น้อยทั้งหลายเป็นอาหาร

เวลาตกใจ ลิงลมจะซุกหน้าตัวเองจนเป็นก้อนกลม จึงมีอีกชื่อว่า นางอาย ซึ่งไปพ้องกับชื่อในภาษาอินโดนีเซีย อันแปลออกมาได้ว่า Shy One

ความที่หน้าตาบ้องแบ๊ว ตัวเล็กน่ารักราวตุ๊กตา ความซวยเลยมาเยือนลิงลม โดนจับไปขายตามตลาดมืด เพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง

แต่สิ่งนี้ ต้องบอกว่าไม่แนะนำอย่างยิ่ง เหตุผลแรก ลิงลมเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง การเลี้ยงด้วยความรักแค่ไหน ก็ยังเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

เหตุผลต่อมา ลิงลมมีต่อมพิษอยู่ที่แขนและผสมอยู่ในน้ำลาย จนกลายเป็นน้ำลายพิษ มันอาจฝังเขี้ยวคมๆ กัดคนได้ทุกเมื่อ แล้วปล่อยพิษที่ว่าเข้าสู่บาดแผล

บางทีกัดไม่ปล่อย ถึงกับต้องจุ่มทั้งแขนทั้งตัวลิงลมลงในถังน้ำกันเลยทีเดียว กว่าลิงลมจะยอมคลายเขี้ยว

ต่อมพิษที่ว่าไม่ธรรมดา ในการทดลองให้สัตว์นักล่าที่ตัวใหญ่กว่าอย่างเสือลายเมฆ หมีคน และหมีขอ ลองดมดู เจ้าพวกนี้ยังเบือนหนีด้วยความรังเกียจ

ดีที่สุด อนุรักษ์มันไว้ในแหล่งอาศัยเดิมๆ นั่นแหละ

แค่ส่องไฟดู ก็มีความสุขมากมายแล้ว


ปริญญา ผดุงถิ่น เรื่อง/ภาพ




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 13 กรกฎาคม 2555 3:04:22 น.
Counter : 2719 Pageviews.  

หมูป่ามาเยือน



แม้หมูป่ายังมีประชากรอยู่มาก จนไม่อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่เอาเข้าจริง คนเที่ยวป่าก็ใช่จะพบเห็นหมูป่าตัวเป็นๆง่ายดายนัก

ที่เจอบ่อยหน่อย เป็นร่องรอยการขุดไถพื้นดินหาของกินจนเป็นหลุมเป็นบ่อ

ผมเองเคยเจอหลุมใหม่เอี่ยมของฝูงหมูป่า มีไส้เดือนตัวโตดิ้นกระแด่วอยู่ในสภาพตัวขาดกลาง อีกครึ่งคงไปอยู่ในท้องหมูป่าเรียบร้อยแล้ว

เข้าใจว่าที่เจอตัวหมูป่ายาก คงเพราะมันชอบออกหากินตอนพลบค่ำไปแล้ว

เอาเป็นว่า โอกาสจะได้กิน “หมูป่าผัดเผ็ด” ตามร้านข้าวต้มในกรุงเทพฯ
ง่ายกว่าการเจอตัวหมูป่าเป็นๆเยอะเลย

แต่แล้ว แอ่นแอ๊น ผมก็ดวงดี (อีกแล้ว) ได้เจอและถ่ายรูปหมูป่าได้จะจะ เป็นครั้งที่ผมไปค้างแรมในสถานที่ราชการกลางป่าแห่งหนึ่ง

พอเริ่มโพล้เพล้ ก็มีคนมาเรียกให้ดูหมูป่าโทน เดินอยู่นอกรั้วตาข่ายเหล็ก

ใครได้เห็นหมูป่าตัวผู้ใหญ่ชัดๆ ก็จะรู้สึกว่าหมูป่านี่มันต่างกับหมูในอวยที่ร้องอู๊ดๆลิบลับ ตัวมันใหญ่ตัน แต่เต็มไปด้วยมัดกล้าม ไม่ใช่ไขหรือหมูสามชั้น แลดูหยาบกร้านด้วยขนแข็งๆ สีดำ บนสันหลังก็ยังมีแผงขนประดับสุดเท่

แม้หมูป่าตัวนี้ยังไม่แก่จนเขี้ยว (แต่ฝรั่งเรียกว่า tusk หรืองา) โง้งออกมา แต่ก็เห็นได้ว่าเขี้ยวมันงอกดันริมฝีปากจนตุงแล้ว

ผมก็เลยจัดการถ่ายรูปมันเก็บไว้ตามธรรมเนียมอันดี โดยนั่งประจันหน้ากับหมูแค่ไม่กี่เมตรเท่านั้น ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าไม่มีใครทำอันตรายใครได้ ตราบใดที่ยังมีรั้วกั้นกลางไว้เช่นนี้

รูปถ่ายฟ้องให้เห็นว่าหมูป่ามีรูจมูกที่ใหญ่กว่าลูกตาเสียอีก เป็นไปได้ว่าสายตามันอาจไม่ดีเท่าประสาทรับกลิ่น

หมูป่าสายพันธุ์ที่พบในไทย เป็นพันธุ์ที่แพร่หลายมากในโลก กระจายตั้งแต่ทวีปยุโรปลามมาทั่วเอเชีย บางส่วนถูกนำไปปล่อยในทวีปอเมริกาและออสเตรเลีย ในฐานะสัตว์เกม

ในความเป็นหมูนั้น หากหมูบ้านอยู่ในสถานะ “หมูปล่อย” (อ่านตรงตัวเลยนะครับ แหะๆ) มันก็จะท่องเที่ยวตามละเมาะไม้ พร้อมพัฒนาสัญชาตญาณแบบหมูป่าขึ้นมาได้ และสามารถผสมข้ามพันธุ์กับหมูป่าสายพันธุ์แท้ จนแพร่ลูกหลานหมูลูกผสมออกมา

หมูลูกผสมที่โด่งดังระดับโลก เรียกขานกันว่า Hogzilla มันถูกยิงตายที่สหรัฐฯ เมื่อปี 2004 ชั่งน้ำหนักได้ถึง 360 ก.ก. เล่นเอานักวิชาการยังตะลึง แต่ผลพิสูจน์ดีเอ็นเอชี้ว่ามันเป็นลูกของหมูป่าที่ผสมกับหมูบ้าน

อ่านสารคดีล่าสัตว์ของไทยในอดีต เขาบอกว่าพวกพรานกลัวหมูป่าเสียยิ่งกว่ากลัวเสือ ด้วยเหตุผลที่ฟังขำดีว่า หากหมูชาร์จเข้ามาถึงตัวเมื่อไร

จุดที่มันขวิดหรือกัด จะสูงระดับเจ้าโลกพอดี!


ปริญญา ผดุงถิ่น เรื่อง/ภาพ




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2555 22:04:16 น.
Counter : 1766 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

HWAMEI
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add HWAMEI's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.