ประสีประสาสิงสาราสัตว์
Group Blog
 
All Blogs
 

รักจากแมวจร




แมวจรจัด หรือเรียกสั้นๆ แมวจร สำหรับผมแล้ว เป็นสัตว์ที่น่าสนใจทีเดียว

เมื่อสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าแมวจรมีวิถีคล้ายๆ ญาติตัวโตของมันอย่างเสือหรือสิงโต มีการจัดตั้งอาณาเขตและใช้ความรุนแรงเพื่อปกป้องอาณาเขตของตัว

แท้จริงแล้ว แมวจรก็คือสัตว์ป่ากลางเมืองที่เต็มไปด้วยสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ มีความดุร้ายเป็นอาวุธป้องกันตัว

และสำหรับคนแล้ว แมวจรก็มักมีระยะเซฟตี้ หรือทิ้งระยะห่างพอสมควร

ผมเองมาสนใจวิถีชีวิตแมวจรเมื่อไม่นานเท่าไร นับจากรับอุปการะแมวจรไว้ตัวหนึ่ง จนกลายเป็นเพื่อนสนิทจนทุกวันนี้ กว่าจะกล่อมแมวที่ดุและขี้ตื่น แบบว่าขยับตัวแรง ๆ หน่อย มันจะแยกเขี้ยวขู่ฟ่อใส่ เสียงดังคล้าย ๆ งูเห่า ให้กลายเป็นแมวที่นิ่งและเชื่องกับผม ก็ต้องใช้ความพยายามมากมายในการเอาชนะใจ

ครั้งแรกที่จับใส่ปลอกคอได้ ดีใจจนบอกไม่ถูก ตั้งชื่อให้ว่า โอลีน

ผมใช้บริการเพื่อนสัตวแพทย์ให้ช่วยมาทำหมันโอลีนถึงบ้าน จากนั้นก็จัดการให้ยาถ่ายพยาธิ หยอดยาฆ่าหมัด รวมถึงเช็ดขนด้วยทิชชูเปียก (ซึ่งผมเรียกว่า "อาบน้ำ") อันกลายเป็นของโปรดของโอลีนทีเดียว

แม้แต่อาหารเม็ด มีคนแนะนำว่าอาหารทั่วไปมักเป็นเหตุให้เป็นโรคไตสุดแสนทรมานในยามแก่ตัว ผมก็เลยลงทุนซื้ออาหารเกรดพรีเมียมที่แพงกว่ามาเลี้ยง เพราะสุดทนกับภาพแมวเป็นโรคไตที่เคยเห็นกับตา

ฝ่ายโอลีนก็เหลือเชื่อมาก แทบทุกคืนที่ผมกลับจากที่ทำงานถึงบ้าน มันมักมาต้อนรับ แม้แต่บางคืนที่ฝนตกพรำๆ ซึ่งเป็นของแสลงของแมวทั้งหลาย โอลีนยังวิ่งฝ่าเม็ดฝนขนเปียกมาหา บางวันที่ผมเดินออกจากบ้าน โอลีนเป็นเอามากถึงกับวิ่งไล่ตามมาเรื่อย จนต้องอุ้มกลับบ้าน พฤติกรรมแบบนี้ มันเหมือนหมามากกว่าแมว!

จากที่เคยนอนข้างถนนยุงรุมกัดเป็นก้อน ตอนนี้ถ้าโอลีนอยากเข้ามานอนสงบ ๆ ในบ้าน ไม่ว่าตรงไหน (แม้แต่บนเตียงผมเอง) มันก็จะได้รับสิทธินั้น โชคดีอย่างหนึ่งของผม ถึงอย่างไรโอลีนก็ยังมีสัญชาตญาณของแมวจร ไม่อาจถูกกักตัวไว้ 24 ชั่วโมง ชอบเตร็ดเตร่อยู่ข้างนอกมากกว่าจะอยู่บ้าน

ช่วยให้คนที่ออกต่างจังหวัดแทบทุกสัปดาห์อย่างผม ไม่ต้องมีภาระหรือเป็นกังวล เมื่อเทียบกับคนที่เขาเลี้ยงน้องหมาปัญหาแยะทั้งหลาย แค่ให้อาหารเม็ดทิ้งไว้เยอะหน่อย โอลีนกินบ้าง แมวจรอื่นดอดมากินบ้าง มันก็อยู่สุขสบายตามอัตภาพเรื่อยมา

เป็นความสัมพันธ์หลวม ๆ ที่ลึกซึ้งประทับใจ ทั้งแมวและคน


ปริญญา ผดุงถิ่น เรื่อง/ภาพ




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2555 0:25:52 น.
Counter : 3747 Pageviews.  

หะหายกระต่ายป่า




ยังจำได้ถึงครั้งแรกในชีวิต ที่ได้เห็นกระต่ายป่าตัวเป็นๆ

มันวิ่งนำหน้ารถตอนเช้ามืด บนถนนใกล้ที่ทำการอุทยานฯแม่วงก์ จ.กำแพงเพชร (ที่ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ที่จะเอาป่าดีๆที่นั่นไปจมน้ำในเขื่อน)

ความรู้สึกมันตื่นเต้นดีใจมากเลย อย่างนี้นี่เอง...กระต่ายป่า

สีสันกระต่ายป่า ไม่มีขาวมีดำ หรือลวดลายพิสดารใดๆแบบกระต่ายเลี้ยง ทั้งตัวมีแต่สีเทาปนน้ำตาล หรือที่มักเรียกกันว่าสีตุ่นๆ

นึกถึงงานเขียนของพรานเก่า เขียนเมาธ์อย่างครื้นเครงถึงนวนิยายประโลมโลกย์

ดันบรรยายภาพกระต่ายป่า“สีขาว” ทำตาแป๋วไร้เดียงสากลางแสงไฟฉายของพราน!

นักเขียนพรานเย้ยว่า นี่เป็นการนั่งเทียนเขียนมั่วสุดๆ เพราะนอกจากสีไม่ขาวแล้ว กระต่ายป่าบ้านเราก็เป็นจอมตื่นไฟตัวยง ประสาสัตว์ที่โดนยิงบ่อย

อย่างไรก็ดี ความปราดเปรียวตื่นตูมอย่างว่า ไม่ได้ครอบคลุมมาถึงกระต่ายป่าในเขตอนุรักษ์อันปลอดภัยแต่อย่างใด

จุดที่จะหาดูตัวจริงเสียงจริงของกระต่ายป่าได้ง่ายดายที่สุด ผมคิดว่าคือแคมป์พักแรมของห้วยขาแข้ง

เมื่อผมไปนอนค้างที่นั่นคนเดียวถึง 3 คืน ก็ตั้งเป้าไว้ว่างานนี้ต้องได้รูปกระต่ายป่าติดมือกลับมาด้วย

การถ่ายรูปกระต่ายป่าพวกนี้ จะว่ายากก็ไม่ยาก จะว่าง่ายก็ไม่ง่าย บางคราวส่องปุ๊บ มันก็เผ่นหนีไปไกลลิบ

แต่บางคราวมันก็สงบดี ทำปากขมุบขมิบกลางแสงไฟอย่างผ่อนคลาย

โจทย์ยากมันอยู่ตรงที่ ผมต้องการรูปกระต่ายป่าที่ตาไม่สะท้อนแสงแดง จึงต้องหิ้วขาตั้งแฟลชไปด้วย เพื่อยิงแฟลชในทิศทางเฉียงๆ ทำคนเดียวมันเกะกะพะรุงพะรังชะมัด

อ้อ ตากระต่ายเวลากระทบแสงไฟฉาย จะแดงแค่เรื่อๆ ตรงกับที่เคยอ่านจากพรานนักเขียน เปรียบเปรยว่าแดงดั่งไฟธูป

ไม่วาวจ้าแบบตาละมั่ง เนื้อทราย ที่หากินอยู่ใกล้ๆกัน

กระต่ายป่าบ้านเรามีชื่ออังกฤษว่า Siamese Hare เป็นสัตว์หูใหญ่ ตาใหญ่ จมูกก็ใหญ่ เดาว่าประสาทสัมผัสทุกอย่างน่าจะดีหมด

คงเพราะมันอยู่ในกลุ่มสัตว์จำพวก“ผู้แพ้ตลอดกาล” รังแต่จะตกเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่าตลอด ธรรมชาติเลยประทานหูตาดีๆ ไว้ป้องกันตัว เห็นอะไรไม่เข้าทีก็เผ่นไว้ก่อน

ตีนกระต่ายนั้นสุดยอด มีขนหนาปกคลุมฝ่าตีนทั้งแผ่น เพื่อให้ควบไปอย่างไร้สุ้มเสียง

กระต่ายป่ากินหญ้าเป็นอาหารหลัก เมื่อขี้ออกมา จะเป็นเม็ดกลมๆแบนๆ ดูคล้ายยาเม็ดสมุนไพรครามครัน

เกิดมีใครบ้า เก็บขี้กระต่ายแห้งไปประโคมขายทางเคเบิ้ลทีวี โม้ว่าเป็นยาวิเศษรักษาโรค ราคาแพงๆ

ไม่แคล้วมีคนหลงเชื่อนะนี่ 555


ปริญญา ผดุงถิ่น เรื่อง/ภาพ




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 19 กรกฎาคม 2555 0:36:03 น.
Counter : 5761 Pageviews.  

ตะกวดอวดจมูก




ความเคลื่อนไหวข้างหน้ารถนั้น เป็นนกกระเต็นอกขาว (White-throated Kingfisher) กำลังบินด้วยอาการว้าวุ่นโวยวายอยู่ข้างถนน

เมื่อเข้าไปถึงจุดเกิดเหตุ จึงเห็นว่าตัวการที่สร้างความไม่พอใจให้นกกระเต็น เป็นสัตว์เลื้อยคลานตัวเขื่อง

บนผนังดินที่สัตว์นั้นเกาะอยู่ มองเห็นรูโบ๋เจาะทะลุผนังดิน แถวๆปากรู โดนมันตะกุยตะกายจนดินทลายเป็นกระบิ

ขณะที่นกกระเต็นถอยฉาก ไปเกาะคุมเชิงบนต้นไม้อีกฟากถนน

เห็นปุ๊บ ก็ถอดรหัสป่าออกมาได้ว่า สัตว์เลื้อยคลานตัวนั้น พยายามขุดรูรังของนกกระเต็นอกขาว

ซึ่งภายในรูรังนั้น ไข่ได้ฟักออกมาเป็นลูกนกเรียบร้อยแล้วด้วย สัญชาตญาณความเป็นพ่อแม่ของนกกระเต็นจึงแสดงออกมาอย่างชัดเจน
พยายามต่อต้านสัตว์ที่ตัวใหญ่กว่ามันเป็นร้อยเท่าอย่างสุดความสามารถ

ผมโฟกัสไปที่สัตว์เลื้อยคลานตัวนั้นเป็นพิเศษ แว้บแรกที่เห็น แม้มันจะหน้าตาและขนาดตัวคล้ายคลึงกับตัวเหี้ย (คุณวรนุช) แต่ก็มีบางอย่างที่แตกต่าง

สีสันของมันออกสีเทานวลๆ ไม่ค่อยมีคอนทราสต์ ต่างจากหนังสีดำสลับลายเหลืองพร้อยของเหี้ย

แต่จะด่วนสรุปว่าเป็นแค่ญาติๆเหี้ย ผมก็ทำได้ไม่ถนัดนัก เพราะเห็นถนนฉาบฝุ่นหนา เกิดเหี้ยสวมวิญญาณหนุมาน จัดการ“คลุกฝุ่น” ลวดลายบนเนื้อตัวก็ย่อมเลือนๆไปได้เช่นกัน

จุดเกิดเหตุ เป็นถนนลูกรังสายหลัก เชื่อมระหว่างด่านแรกกับที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทอดผ่านไปตามป่าเต็งรังแล้งๆ

เป็นถิ่นอาศัยที่ดูแล้ว เหี้ยไม่โปรดแน่ แต่จะเอาอะไรกับมันกับสัตว์นักปรับตัวอย่างเหี้ย ผมเองก็เจอเหี้ยข้ามถนนฝุ่นเส้นนี้มาแล้ว

อย่างไรก็ดี รูปถ่ายที่เอามาตรวจสอบอย่างละเอียด ยืนยันว่าเจ้าสัตว์ที่พยายามกินลูกนกกระเต็น คือตะกวด ไม่ใช่เหี้ยคลุกฝุ่นแน่นอน

จุดจำแนกสำคัญตามตำรา นักวิชาการเขาชี้ขาดกันที่รูจมูก

ตำแหน่งของรูจมูกเหี้ยจะอยู่ใกล้ปลายปาก ซึ่งสำหรับเหี้ยที่ชอบว่ายน้ำดำน้ำแล้ว รูจมูกแบบนี้น่าจะช่วยให้โผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้ดีด้วย

ส่วนตะกวดออกแนววิตถารนิด รูจมูกดันตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางระหว่างปลายปากกับลูกตา

“จุดแยก”เล็กๆแบบนี้ คนทั่วไปอาจไม่ถนัด แต่สำหรับนักดูนกแล้ว เป็นพวกมีรสนิยมชอบมองหาจุดแตกต่างเล็กๆแบบนี้แหละ 555

นิสัยของทั้งสองยังต่างกันด้วย เวลามีอะไรตกใจ เหี้ยจะหนีไปตั้งหลักในน้ำไว้ก่อน สมชื่อ Water Monitor

ส่วนตะกวดที่ชื่อว่า Bengal Monitior พอตกใจจะหนีไปตั้งหลักที่เบงกอล เอ๊ย ชอบหนีขึ้นต้นไม้ครับ

ประสาคนแขยงสัตว์เลื้อยคลาน หากผมถูกปืนจี้หลังให้เลือกเอา จะอุ้มตะกวดหรือเหี้ย

ผมคงกลั้นใจหลับตาเลือกตะกวด


ปริญญา ผดุงถิ่น เรื่อง/ภาพ




 

Create Date : 18 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 18 กรกฎาคม 2555 13:13:53 น.
Counter : 11031 Pageviews.  

เรื่องดีๆ ของวรนุช





คราใดที่ไปดูนกที่โครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรี ผมก็จะได้ดูตัวเหี้ยเป็นของแถมเสมอไป

เหี้ยที่นั่นชุกชุม เติบใหญ่ ปรากฏตัวให้เห็นเรื่อยๆ ทั้งในน้ำและบนบก พวกซากปลาเน่าที่ลอยตามผิวน้ำ จะถูกดึงหายวับไปใต้น้ำ ด้วยฝีมือของเหี้ย

ลองไปศึกษาชีวิตของพวกมันดู เขาก็ระบุว่าการกินซากสัตว์เป็นอาหารนี่แหละคือบทบาทสำคัญในธรรมชาติ มันทำหน้าที่เป็นเทศบาลกำจัดของเน่าเสียในแบบเดียวกับ อีแร้งบนฟากฟ้า และหมาป่าไฮยีนาตามทุ่งแอฟริกา

ถึงภาพปลาเน่าหายวับไปใต้น้ำจะชวนขยะแขยงล้ำลึก แต่ถ้าปล่อยปลาเน่าให้ลอยเท้งเต้งอยู่อย่างนั้นมากมายเกินไป ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของน้ำโดยตรง

เมื่อมองดูเหี้ย ผมเห็นสัตว์ที่เป็นผู้ชนะตัวจริงเสียงจริงตัวหนึ่ง ศัตรูตามธรรมชาติมันมีน้อยมาก ยกเว้นตอนเป็นไข่และเหี้ยน้อยกลอยใจ

เมื่อเติบใหญ่ก็เป็นสัตว์ที่มีเขี้ยวเล็บ และพละกำลังยากที่ใครจะสยบมันได้ง่ายๆ ไหนยังปรับตัวเก่งกาจ อยู่ในธรรมชาติจริงๆ ก็ได้ ย้ายมาอยู่ในป่าคอนกรีตอันสกปรกโสมมก็ได้ อาหารการกินมีทั้งล่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยกินเอง (อย่างเช่นหนูในท่อ) หรือที่ง่ายกว่าก็คือ เก็บเศษซากอาหารของคนกิน

ชื่ออังกฤษของเหี้ยคือ Water Monitor ชื่อวิทยาศาสตร์ Varanus Salvator

แต่ปางไหนไม่ทราบ คนไทยเอาชื่อเหี้ยของมันเป็นคำด่า ที่ดูแล้วน่าจะติดท็อปทรีคำด่า อมตะนิรันดร์กาล 555

ขณะเดียวกัน เราก็มีความรู้สึกลึกๆ ในทางโชคลาง จนนำมาสู่ชื่อที่เรียกเอาเคล็ดอย่าง “ตัวเงินตัวทอง” รวมถึงชื่อน่ารักน่าทะนุถนอมล่าสุดอย่าง “วรนุช” อันมีที่มาจากชื่อละติน Varanus

กลับมาเรื่องความเป็นผู้อยู่รอดของเหี้ย ใต้หนังสีดำๆ อันมีดอกดวงสีเหลืองๆ นั่น เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อทรงพลัง หางยาวๆ ใช้ฟาดได้ราวกับแส้ ซึ่งผมถือว่าโชคดี เคยเห็นมากับตาตัวเอง เหี้ยใหญ่แห่งแหลมผักเบี้ยสะบัดเรียวหางฟาดใส่ฝูงหมาหมู่ 5-6 ตัว จนหายซ่าไปเลย ที่ตั้งท่ากลุ้มรุม เห่ากันโขมงโฉงเฉงกลาย เป็นยืนเหวอ มองหน้ากันเองปะหลับปะเหลือก ก่อนจะค่อยๆ สลายตัว

ไหนมันยังมีปากและเขี้ยวคมๆ ใช้กัดได้ และมีเล็บแหลมคมตะกุยได้อีก แต่ละดอกล้วนแต่สกปรกโสโครกเกินจินตนาการ ใครโดนเข้าให้ก็มีหวังติดเชื้ออะไรสักอย่าง

ทุกวันนี้ ตัวเหี้ยเลยเบ่งบานไปทั่ว อย่างในกรุงเทพฯ ก็เคยประเมินกันว่ามีเป็นหมื่นๆ ตัว ชาวบ้านแถว จ.สมุทรสงคราม เคยโอดครวญ บ่อปลา บ่อกุ้ง เจอเหี้ยลงถล่มเสียหายยับ จะทำอะไรรุนแรงก็ไม่ถนัดมือ เพราะเหี้ยเป็นสัตว์คุ้มครอง

ขอตบท้ายด้วยคำพูดของนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก๋าท่านหนึ่ง ฟังแล้วประทับใจ บอกว่า ตัวเองขอเป็นไดโนเสาร์ ดีกว่าจะมีวิวัฒนาการไปเป็นเหี้ย


ปริญญา ผดุงถิ่น เรื่อง/ภาพ




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2555 21:47:10 น.
Counter : 5135 Pageviews.  

กระทาหลังบาร์




ไม่ใช่นกที่อยู่ตามหลังบาร์เหล้าบาร์เบียร์แต่อย่างใด แต่ผมหมายถึง Bar-backed Partridge ซึ่งมีชื่อไทยว่า นกกระทาดงอกสีน้ำตาล

Bar ในแวดวงปักษี เขาหมายถึงลายบั้ง กรุณาสังเกตจากรูปละกัน ตรงส่วนหลังของนกกระทา จะมีลายสีดำเป็นบั้งๆ ปรากฏอยู่ จนถูกนำมาตั้งชื่อ Bar-backed (แยก "ส่วนหลัง" ของนก ให้ออกจาก "ปีก" ลายเลอะๆ ให้ถูกด้วยละกันครับ)

ที่บ่อนกลุงสิน ชายป่าแก่งกระจาน เจ้านี่จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มนกพระเอกของบ่อเลยทีเดียว จากสถานภาพ "พบน้อย" ซึ่งก็อันเดียวกันกับคำว่า "เกือบๆ หายาก"

แต่เดิมนั้น นกกระทาแม้แต่พันธุ์หาง่าย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่บ่อนกจะดึงดูดมันได้ เพราะต้องมีเงื่อนไขอันเหมาะสมด้วย เช่น ต้องแล้งจัด หากป่ายังชื้นๆ อยู่ นกกระทาไม่ว่าชนิดไหนๆ จะไม่ค่อยสนใจบ่อนกเลย

นึกถึงครั้งแรกที่ผมถ่ายรูปเจ้า Bar-backed ได้ (ขอเรียกชื่อตามสไตล์ที่นักดูนกเรียกกันนะครับ) เป็นบ่อนกอีกแห่งในเครือของลุงสินนี่แหละ ผมต้องทนร้อนแบบที่เรียกว่า "เหงื่อตกกีบ" อยู่ในบังไพรอันอบอ้าว ตั้งแต่สายๆ ยันบ่าย

ฟังเสียงนกกระทาคุ้ยเขี่ยหาอาหารเป็นชั่วโมงอยู่ในพงรกไม่ไกล แต่ก็ไกลพอจะไม่เห็นตัว กว่ามันจะอิ่ม แล้วเดินลงมากินน้ำแก้กระหายที่บ่อให้ถ่ายรูป

ซึ่งก็กินน้ำนานไม่ใช่เล่น สมราคานกที่มีรูปร่างอ้วนปุ้ก อย่างกะตุ่มย่อส่วน

ถึงได้รูปมา แถมด้วยไฟล์วิดีโอ แต่ผมไม่ค่อยพอใจผลงาน เพราะตอนนั้นเป็นช่วงเริ่มหัดถ่ายรูปนกใหม่ๆ แค่เซตโปรไฟล์ภาพเป็น Vivid และถ่ายเป็นไฟล์ jpeg ก็ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มแล้ว

ผมต้องรอแก้มืออีกนานหลายปี เพราะบ่อนกแห่งนั้นเลิกกิจการไปแล้ว จะย้ายไปเฝ้าตามบ่ออื่น มันก็ไม่ค่อยออกมาประจำสักเท่าไร

แต่แล้ว ลุงสินก็แก้ลำนกกระทา จัดการโมดิฟายบ่อนกของแก ด้วยการหว่านเศษเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไว้รอบๆ บ่อทุกเช้า ไม่นานนัก นกหลายชนิดก็ติดข้าวโพดราวกับติดยาซูโดฯ รวมถึง Bar-backed ด้วย

คราวนี้ไม่ต้องรอบ่อแล้งจัดให้กระหายน้ำ พวกมันก็เฮโลออกมาเป็นเป้าให้ถ่ายรูปง่ายๆ ทุกวัน ผมเลือกเวลาดีที่สุด (สำหรับตัวเอง) ก็คือตอนเช้าตรู่ ขณะที่บังไพรยังไม่โดนแดดเผา

เสร็จกิจกับ Bar-backed เร็วเท่าไร ก็มีเวลาไปแร่ดในป่าจุดอื่นได้มากขึ้นเท่านั้น

ติดตั้ง "แฟลชพวง" ไป 4 ดวง เซตค่าแสงจนสามารถลด ISO เหลือแค่ 100 เทียบกับการถ่ายด้วยแสงธรรมชาติเวลาเดียวกัน ผมต้องดัน ISO ไปถึง 1000 เลยทีเดียว คุณภาพของภาพต่างกันลิบโลก

ในหนังสือคู่มือดูนก "นกเมืองไทย" ระบุถิ่นอาศัยของนกกระทาชนิดนี้ว่าเป็นป่าดิบ แต่บ่อนกลุงสินได้ให้ข้อมูลสำคัญทางปักษีวิทยา

ว่าจริงๆ Bar-backed Partridge ก็อยู่สุขสบายใน Secondary Growth หรือป่าชั้นสองได้ด้วย


ปริญญา ผดุงถิ่น เรื่อง/ภาพ




 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2555 3:48:07 น.
Counter : 1631 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

HWAMEI
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add HWAMEI's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.