แพรร่ำ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แพรร่ำ's blog to your web]
Links
 

 

เพลงพระราชนิพนธ์ "อาทิตย์อับแสง"




อาทิตย์อับแสง

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ





ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "อาทิตย์สวยที่อำเภอสะเมิง"


เคยชม
ร่วมภิรมย์ใจ
ด้วยความรักจริงยิ่งใหญ่
ผูกพันหัวใจเรามั่น
รักเอย เคยอยู่เคียงกัน
ร่มเย็นมิเว้นวายวัน
ด้วยความสัมพันธ์ยืนยง

ทิวางาม
ยามอยู่เคียงคง
สุริยาแสงส่ง
ปวงชีวิตในโลกดำรงเริงใจ
ร้างกัน วันห่างไปไกล
มืดมนหมองมัวปานใด
เยือกเย็นเข็ญใจรัญจวน

ไกลกัน
พาพรั่นใจครวญ
ร่างกายทรุดโทรมทุกส่วน
จิตใจร้อนรวนแรงอ่อน
รักเอย เลยกลับอาวรณ์
ค่ำคืนฝืนใจไปนอน
ยิ่งดูเหมือนฟอนไฟลน

ทิวาทราม
ยามห่างดวงกมล
สุริยาหมองหม่น
ปวงชีวิตในโลกอับจนเสื่อมทราม
หวังคอย คอยเฝ้าโมงยาม
จวบจนทิวาเรืองงาม
สบความรักยามคืนคง



Blue Day

Music: H.M.K. Bhumibol Adulyadej
Lyric: H.H. Prince Chakrabandh Pensiri


Blue day-
There’s no sunshine
Why must you go away,
Leaving me here alone?

My own,
How I miss you
With loving heart so true
That’s why I feel so blue

Dear one,
What’s the good of
Days without the sun,
Or peaceful nights
Without the moon?

But soon-
No more blue day;
Whenever I meet you
Then all my dreams come true.

Blue day-
Gloomy blue day,
When you are far away,
Why must we be apart?

Sweetheart,
Dear, I love you
With all my heart, I do.
That’s why I feel so blue

My love,
Skies are so grey,
Cloudy up above,
Dear won’t you please
Come back to me?

There’II be-
No more blue day.
Again the sun will shine.
That day I’ll make you mine.



เกร็ดประวัติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ในพ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทรงเริ่มรู้จักชอบพอกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเมื่อยังทรงเป็น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร

จากบันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้แสดงถึงพระเจตนารมณ์ที่ทรงประพันธ์เนื้อร้องเพลง อาทิตย์อับแสง และ เทวาพาคู่ฝัน ว่า ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มรู้จักชอบพอกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเมื่อยังทรงเป็น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร อยู่นั้น ต่างประทับห่างไกลกัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาโวส์ (Davos) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับ ณ เมืองโลซานน์ เมื่อต้องทรงจากกันก็เปรียบเหมือน อาทิตย์อับแสง และในพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์ก็คงทรงหวังให้ เทวาพาคู่ฝัน มาให้ จึงทรงประพันธ์คำร้องเพลงทั้งสองนี้ถวาย

เพลงพระราชนิพนธ์อาทิตย์อับแสงนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ฮาร์โมนิก ไมเนอร์สเกล (harmonic minor scale) อันเป็นสเกลเสียงที่แสดงถึงความหม่นหมอง เศร้าสร้อย คล้ายสำเนียงเพลงบลูส์ แม้ว่าสเกลนี้จะมีอารมณ์เพลงคล้ายบลูส์สเกล แต่จะแตกต่างตรงมีความละเมียดละไม นุ่มนวลกว่า ไม่รู้สึกแปร่งหู ดังนั้นแม้จำนำเพลงนี้ไปเรียบเรียงให้เข้ากับจังหวะลีลาศ ก็ยังคงได้ความรู้สึกที่อ้างว้าง เดียวดาย และเศร้าสร้อย

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งความหมายใกล้เคียงกัน โดยกล่าวถึงความรักเปรียบเทียบกับธรรมชาติ ยามที่ได้อยู่เคียงคู่กัน ท้องฟ้าดูสดใส ยามไกลกันดังอาทิตย์อับแสง แต่ก็แฝงความหวังไว้ในตอนท้ายที่ว่า “จวบจนทิวาเรืองงาม สบความรักยามคืนคง” “Again the sun will shine. That day I’ll make you mine”




รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสือ "งานช่างของในหลวง" โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรและ "ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์" โดยโรงเรียนจิตรลดา




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2549    
Last Update : 16 กันยายน 2549 21:02:41 น.
Counter : 4287 Pageviews.  

เพลงพระราชนิพนธ์ "ดวงใจกับความรัก"




ดวงใจกับความรัก

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ





ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "แสง เสียง สวรรค์"


ค่ำคืนนภาดาราพราว
ประกายแสงดาวพราวตา
ดาษเรียงเคียงแสงดวงจันทรา
เพลินชมแสงพรายนภาเห็นดวงดาราล้อมจันทร์
ที่จริงนั้นเดือนและดวงดาว
ต่างเรืองแสงวาวพราวพรรณ
ด้วยแรงจากแสงดวงตะวัน
จึงมีแสงเดือนงามครันแสงดาวประชันน่าชม

เปรียบดวงดาวและดวงเดือน
ก็เหมือนแม้นแววมโนรมย์
เปล่งแววไปเปลี่ยนใจชม
ด้วยจินตนาอารมณ์นานาประการ
แน่นอนแท้จริงคือดวงใจ
ส่องแววรักไปยืนนาน
เปรียบดังกับแสงตะวันตระการ
ยังคงแสงงามสะคราญแสงทองยืนนานเรื่อยมา

ตะวันฉายมาดาราราย
ส่องแสงพริ้มพรายนัยน์ตา
รื่นรมย์ชมแสงดวงจันทรา
ชมดาวล้อมเดือนงามตาพริ้มพรายนภาแสงงาม
มาตรแม้นสูญดวงตะวันไป
ประดาแสงในฟ้าทราม
ผู้คนสัตว์ไม้จะตายตาม
ตะวันสูญไปเป็นยามล้วนมีแต่ความมืดมน

เปรียบดวงดาวและดวงเดือน
ก็เหมือนแม้นแววมโนรมย์
เปล่งแววไปต่างใจคน
เปลี่ยนแปลงไปตามใจตนเวียนวนจนตาย
ตะวันนั้นเหมือนดังดวงใจ
หากสิ้นแสงไปรักคลาย
ขาดความรักเหมือนชีวาวาย
จะเป็นหรือตายทั้งใจและกายไม่วายโศรกโทรม



Never Mind the Hungry Men’s Blues

Music: H.M.K. Bhumibol Adulyadej
Lyric: H.H. Prince Chakrabandh Pensiri


We used to be so hungry,
We used to be so blue;
But now we know that you all
Enjoy the song we play along
The whole night through.

We used to be unhappy,
We used to be so blue;
But then you gave us supper,
We love to play all night and day
For all of you.

Les croissants au jambon,
Et sandwiches sont tres bon;
The punch’s fine, the good wine
Have all been wonderful
To band of mine.

We used to be so hungry,
We used to be so blue;
But then you gave us supper,
You’ve been so kind, so
Never Mind the H.M. Blues.



เกร็ดประวัติ

เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ในเวลาไล่เลี่ยกับเพลง H.M. Blues เนื่องจากมีผู้ข้องใจในความหมายของคำว่า H.M. จึงทรงไขปริศนาภายหลังเสวยพระกระยาหารในวันที่มีการทรงดนตรี บรรเลงครั้งแรกโดยวง กระป๋อง อันเป็นวงดนตรีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งขึ้นขณะประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เพลงนี้ไม่ใช้คอร์ดในกลุ่มบลูส์ แม้ว่าชื่อภาษาอังกฤษจะทรงตั้งขึ้นให้สัมพันธ์กับเพลง H.M. Blues ก็ตาม แต่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องกัน จึงทรงใช้คอร์ด 7 ให้กระจายครอบคลุมไปทั้งเพลง โดยจะแทรกตามคอร์ดกลุ่มอื่นๆตลอดเวลา การกระจายคอร์ด 7 ไปทั่วนี้ เป็นกลวิธีที่ทำให้เสียงที่เกิดขึ้นสร้างอารมณ์บลูส์ในเพลงได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เพลงพระราชนิพนธ์ ดวงใจกับความรัก สะท้อนพระราชอัจฉริยภาพทางดนตรีที่ยอดเยี่ยม เป็นผลงานที่มีการสร้างสรรค์สูง และแสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถในการแก้ปัญหาในการผสมกลมกลืนรูปแบบต่างๆ ทางดนตรีจนเกิดลักษณะเฉพาะส่วนพระองค์ขึ้น Ted Pease ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประพันธ์เพลงแจสยกย่องว่าเป็นเพลงที่เข้าในลักษณะแจสคลาสสิคของ Duke Ellington

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่เนื้อหาในสองภาษาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื้อร้องภาษาอังกฤษมีความต่อเนื่องกับ H.M. Blues โดยที่นักดนตรีผู้หิวโหย ทั้งหลายได้รับประทานอาหารแล้ว และมีเรี่ยวแรงที่จะบรรเลงดนตรีได้ตลอดคืน เนื้อร้องมีอารมณ์ขันและสนุกสนาน

ส่วนคำร้องภาษาไทยกล่าวถึงธรรมชาติ โดยเฉพาะแสงสว่างจากดวงดาว ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ดวงดาวและดวงจันทร์เหมือนกับอารมณ์มนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่ที่ยั่งยืนมั่นคงคือดวงอาทิตย์ซึ่งเปรียบได้กับดวงใจที่เปี่ยมด้วยความรัก




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2549    
Last Update : 30 ตุลาคม 2549 21:25:46 น.
Counter : 5315 Pageviews.  

เพลงพระราชนิพนธ์ "ชะตาชีวิต"




ชะตาชีวิต

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร





ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "จ้อง"


นกน้อยคล้อยบินมาเดียวดาย
คิดคิดมิวายกังวลให้หม่นฤทัยหมอง
ขาดมวลมิตรไร้คนสนิทคู่เคียงครอง
หลงใหลหมายปองคนปรานี
ขาดเรือนแหล่งพักพำนักนอน
ขาดญาติบิดรและน้องพี่
บาปกรรมคงมีจำทนระทม

ท้องฟ้าสายัณห์ตะวันเลือน
แสงลับนับวันจะเตือนให้ใจต้องขื่นขม
หากเย็นลงฟ้าคงยิ่งมืดยิ่งตรอมตรม
ชีวิตระทมเพราะรอมา
จวบจันทร์แจ่มฟ้านภาผ่อง
เฝ้ามองให้เดือนชุบวิญญาณ์
สักวันบุญมาชะตาคงดี



The H.M. Blues

Music: H.M.K. Bhumibol Adulyadej
Lyric: H.H. Prince Chakrabandh Pensiri


We’ve got the Hungry Men’s Blues.
You’ll be hungry too, if you’re in this band.
Don’t you think that our music is grand?
We’ve got the Hungry Men’s Blues.
You’ve eaten now all of you.
We’d like to eat with you too,
That’s why we’ve got the H.M. Blues.



เกร็ดประวัติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ในปลาย พ.ศ. 2489 ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษา ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกวาระหนึ่งหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว

เพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต เป็นเพลงเดียวที่ทรงพระราชนิพนธ์ในแบบบลูส์แท้ๆ โดยไม่มีสเกลอื่นปะปนเลย ต่อมาเมื่อบรรเลงในวงบิกแบนด์ (Big Band) จึงเล่นให้เร็วและกระชับขึ้นโดยบรรเลงเป็นบลูส์สวิง คือนำเอาจังหวะสวิงของแจสมาผสมกับบลูส์

เนื้อร้องของเพลงนี้ในภาษาไทยและภาษาอังกฤษต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในชั้นต้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษขึ้นก่อน โดยใช้ชื่อว่า H.M. Blues ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าหมายถึง His Majesty’s Blues แต่แท้จริงหมายถึง Hungry’s Men’s Blues เพราะเหตุว่าในงานรื่นเริงที่ทรงเชิญข้าราชบริพาร นักเรียนไทย ไปร่วมงานเป็นการส่วนพระองค์นั้น ทรงบรรเลงเพลงเป็นเวลาถึงครึ่งคืนโดยมิได้หยุดเพื่อเสวยพระกระยาหารเลย ในขณะที่ผู้ได้รับเชิญทุกคนได้รับพระราชทานอาหารอิ่มหนำสำราญ เนื้อหาในภาษาอังกฤษจึงแสดงอารมณ์ขันและแฝงความสนุกสนานต่างกับท่วงทำนองของเพลงบลูส์

ส่วนเนื้อร้องภาษาไทยซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์นั้น ศ.ดร. ประเสริฐ เล่าว่า ด้วยเหตุที่ไม่ทราบเนื้อร้องภาษาอังกฤษเพราะโน้ตเพลงและเนื้อร้องภาษาอังกฤษอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื้อร้องจึงมีความหมายแตกต่างกันอย่างมาก ศ.ดร. ประเสริฐประพันธ์เนื้อร้องภาษาไทยโดยใช้อารมณ์แบบเพลงบลูส์เป็นหลัก เนื้อร้องพรรณนาถึงความทุกข์ของคนซึ่งยากไร้ทุกสิ่งทุกอย่าง สีสันของทำนองเพลงในภาษาไทยจึงหม่นหมอง เศร้า และเดียวดาย แต่ในตอนท้ายยังได้สอดแทรกความหวังว่าสิ่งที่ดีอาจเกิดขึ้นต่อไปได้ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักพระราชประสงค์ คือตอนท้ายต้องสะท้อนปรัชญาชีวิตที่ให้มีความหวังอยู่ด้วย
“เป็นเพลงบลูส์นี่ ก็ให้มันเป็นเพลงเศร้า แต่ว่าในตอนท้ายก็ต้องให้เป็นว่า "สักวันบุญมาชะตาคงดี" อะไรประเภทนี้ ให้ต้องกับพระราชประสงค์”
การประพันธ์เนื้อร้องในตอนต้น ศ.ดร. ประเสริฐเข้าใจผิดว่าโน้ตครึ่งเสียงหรือเสียง Minor ควรจะแต่งเนื้อด้วยคำตาย เช่น "หากเย็นลงฟ้าคงยิ่งมืดยิ่งมัวมิด" แต่ภายหลังได้รับคำชี้แจงจากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และทรงช่วยปรับปรุงแก้ไข เนื้อร้องจึงไพเราะขึ้น




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2549    
Last Update : 3 กันยายน 2549 22:08:43 น.
Counter : 4798 Pageviews.  

เพลงพระราชนิพนธ์ "ใกล้รุ่ง"




ใกล้รุ่ง

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร





ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "เช้านี้ที่ไกลกังวล""


ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล
ชุ่มชื่นฤทัยหวานใดจะปาน
ฟังเสียงบรรเลงขับเพลงประสาน
จากทิพย์วิมานประทานกล่อมใจ

ใกล้ยามเมื่อแสงทองส่อง
ฉันคอยมองจ้องฟ้าเรืองรำไร
ลมโบกโบยมาหนาวใจ
รอช้าเพียงไรตะวันจะมา

เพลิดเพลินฤทัยฟังไก่ประสานเสียงกัน
ดอกมะลิวัลย์อวลกลิ่นระคนมณฑา
โอ้ในยามนี้เพลินหนักหนาแสงทองนวลผ่องนภา
แสนเพลินอุราสำราญ

หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่รังนอน
เฝ้าเชยชิดช้อนลิ้มชมบัวบาน
ยินเสียงบรรเลงดังเพลงขับขาน
สอดคล้องกังวานซาบซ่านจับใจ



Near Dawn

Music: H.M.K. Bhumibol Adulyadej
Lyric: Prof. Thanpuying Nopakhun Thongyai Na Ayudhya


How calm the world
All nature slumbers still.
Grey is the sky, no breezes blow.
O’er roof and hill,
The moon now low
Sends gentle light
To guard below.

Cocks waking call ‘cross the field
Grey shadows flee;
Stars disappear.
But, here I lie sleepless, dear.
Bats flutter home.
The dawn is near.

Gold streaks the east.
Its glow, the roofs reflect,
Dark leaves turn green
And Flow’rs with light, are deck’d.
Now birds and babes wake to play.
The world expectant waits.
To greet a bright, new day.

Dew fresh and cool
The town awakes from sleep
Its throb I hear : car, speeding, hum.
Of love and hope, the birds sing, dear
Come, rise, don’t mope,
The dawn is near.



เกร็ดประวัติ

เป็นเพลงสุดท้ายที่พระราชนิพนธ์ขณะที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชอนุชา

หลังจากที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลงในจังหวะบลูส์และวอลทซ์มาแล้ว ในเพลงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเปลี่ยนมาเป็นแจสที่ฟังสบายๆ และทรงเปลี่ยนมาใช้เพนตาโทนิค เมเจอร์ สเกล (Pentatonic Major Scale) ซึ่งค่อนข้างคุ้นหูคนไทย หากเปรียบกับเพลงไทยเดิมซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของดนตรีไทยสากลในยุคแรกๆแล้ว เพนตาโทนิค เมเจอร์ สเกล สามารถเทียบได้กับเพลงไทยสำเนียงลาว เพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่งใช้โน้ตในสเกลนี้อย่างแท้จริงโดยไม่มีสเกลอื่นมาปนเลย แต่ก็มีการใช้เสียงแบบครึ่งเสียงอยู่บ้างเล็กน้อย โดยไม่รู้สึกโดดหรือแปร่งแต่อย่างใด คอร์ดที่ใช้เป็นคอร์ดที่นิยมใช้ในดนตรีแจส เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วจะพบว่าเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่งมีลักษณะเสียงเป็นแจสแบบไทยๆ

ลักษณะพิเศษของเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่งนี้จะพบว่า ทรงจัดวางทำนองโดยทรงเรียบเรียงล้อลักษณะของเพลงไทยเดิม โดยเฉพาะลูกขัดในทุกๆท่อน ซึ่งเมื่อคนไทยในเวลานั้นร้องคลอไปกับเพลงจะรู้สึกชินหูได้ง่าย เพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่งนี้ แสดงพระอัจฉริยภาพในการทรงนำลักษณะไทยผสานกับแนวทางตะวันตกได้ชัดเจนและลงตัวมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์เนื้อร้องภาษาไทย โดยมิได้ทรงกำหนดพระราชประสงค์ ซึ่ง ศ.ดร. ประเสริฐ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจของเนื้อเพลงนี้มาจากเสียงไก่ขันที่ได้ยินจากข้างบ้าน ประกอบกับเพลงนี้จะนำออกบรรเลงในงานสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2589
“พอดีตอนนั้นสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ของประเทศไทยเขาจะมีงาน แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 กับสมเด็จพระอนุชาฯ จะเสด็จ ผมก็เลยแต่งให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับไก่ บ้านที่อยู่นั้น คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ท่านก็ต้องการจะส่งเสริมการเลี้ยงไก่ เพื่อให้ไก่ที่อยู่ในกรงสามารถไข่ได้มาก แล้วก็ให้อาหารเต็มที่ ตื่นเช้ามาไก่ขันเต็มไปหมดเลย ก็ได้แรงบันดาลใจจากอันนั้น”
ศ.ดร. ประเสริฐเล่าว่าได้ใช้เวลาแต่งเนื้อร้องเพียง 1 ชั่วโมง แต่ด้วยความไม่ชำนาญในโน้ตสากลจึงแต่งในลักษณะ
“จบเพลงวรรคหนึ่งก็ประพันธ์เนื้อไปวรรคหนึ่ง พอจบตอนที่สามไม่ทราบว่าที่มีจุด 2 จุดข้างท้ายโน้ตเพลงหมายความว่าให้บรรเลงย้อนต้น และต้องแต่งท่อนที่ 4 เพิ่มเติมอีก จึงลงท้ายเพลงว่า โอ้ในยามนี้เพลินหนักหนา แสงทองนวลผ่องนภา แสนเพลินอุราเหลือลืม เมื่อจบท่อนที่ 3 ต่อมาเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ อธิบายให้ทราบว่าจะต้องแต่งท่อนที่ 4 เพิ่มเติมอีก จึงได้เพิ่ม หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่รังนอน เฝ้าเชยชิดช้อนลิ้มชมบัวบาน ส่วนตอนที่ว่า ฟังเสียงบรรเลง ดังเพลงขับขาน สอดคล้องกังวาน ซาบซ่านจับใจ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงกรุณาเพิ่มเติมให้”
เนื้อร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่งพรรณนาถึงความงามของธรรมชาติยามรุ่งอรุณ ทำให้รู้สึกถึงความสดชื่น รื่นรมย์ และความหวังในวันใหม่ ส่วนเนื้อร้องภาษาอังกฤษที่ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เป็นผู้ประพันธ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วยแก้ไขให้ เนื้อหาในคำร้องภาษาอังกฤษใกล้เคียงกับภาษาไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลงครั้งแรกโดยวงสุนทราภรณ์ในงานสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2589




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2549    
Last Update : 3 กันยายน 2549 22:06:58 น.
Counter : 17270 Pageviews.  

เพลงพระราชนิพนธ์ "สายฝน"



สายฝน

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ





ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "กลางสายฝน"


เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว
ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ
เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป
แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม

พระพรหมท่านบันดาลให้ฝนหลั่ง
เพื่อประทังชีวิตมิทราม
น้ำทิพย์สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวงาม
ทั่วเขตคามชุ่มธารา

สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง
แดดทอรุ้งอร่ามตา
รุ้งเลื่อมลายพร่างพรายนภา
ยามเมื่อฝนมาแต่ไกล

พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ
เพื่อจะนำดับความร้อนใจ
น้ำฝนหลั่งลงมาจากฟ้าแดนไกล
พืชพรรณไม้ชื่นยืนยง



Falling Rain

Music: H.M.K. Bhumibol Adulyadej
Lyric: Prof. Thanpuying Nopakhun Thongyai Na Ayudhya


Rain winds sweep across the plain.
Thunder rumbles on high.
Lightning flashes ; bows the grain.
Birds in fright nestward fly.
But the rain pours down in blessing;
Filled with cheer our hearts expand.
As the woods with notes of pleasure ring,
Sunlight streams o’er the land.

Bright the rainbow comes in view.
All the world’s cool and clean.
Angel’s tears the flowers renew.
Nature glistens in green.
Rain beads sparkle in your hair, love.
Rainbows glitter when you smile.
Thus we soon forget the clouds above
Beauty so does beguile.



เกร็ดประวัติ

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่สาม ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2489 ขณะที่ยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชอนุชา และเป็นเพลงที่สองที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำออกบรรเลงต่อจากเพลงพระราชนิพนธ์ ยามเย็น ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร

เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนเป็นเพลงแรกในจังหวะวอลทซ์ มีลีลานุ่มนวล การที่ทรงใช้จังหวะวอลทซ์สำหรับสายฝน ทำให้เป็นที่นิยมใช้เป็นเพลงลีลาศในขณะนั้น แม้จะมิได้ฟังเนื้อร้องก็ยังรู้สึกได้ถึงความชุ่มชื่น เยือกเย็น สะอาด และเต็มไปด้วยความหวัง จังหวะวอลทซ์ที่ช้าเนิบช่วยทำให้ผู้ฟังเกิดความสงบและผ่อนคลายได้อย่างดี อาจกล่าวได้ว่า เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พสกนิกรชื่นชอบมากที่สุดเพลงหนึ่ง

เมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสกับคณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยถึงที่มาของเพลง ซึ่งเป็นความลับในการพระราชนิพนธ์เพลงนี้ว่า
“คืนวันนั้นที่แต่งเพลงเพราะว่าเข้านอนแล้วฟังวิทยุ มันเกิดครึ้มใจ ก็ปิดวิทยุแล้วเอาเศษกระดาษมาขีดๆแล้วก็จดไว้ แล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปเคาะที่เปียโน ซึ่งมีเปียโนหลังหนึ่งที่โปเก เสียงก๊องๆแก๊งๆไม่ได้เรื่อง แต่ก็เคาะไป แล้วก็เรียบเรียงไปสัก 2 ชั่วโมง ส่งไปให้ ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ บอกว่าได้เพลงแล้ว ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริก็ส่งไปให้ครูเอื้อ ครูเอื้อก็เรียบเรียง วันรุ่งขึ้นออกสวนอัมพรแล้ว”

“ความลับของเพลงสายฝนนั้นมีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เขียนไป 4 ช่วง ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกกับช่วงที่ 2 กลับไป ทำให้เพลงนี้มีลีลาต่างกันไป ก็รู้สึกว่าดี ทีแรกก็เป็น 1, 2, 3, 4 มาตอนนี้ก็เลยกลายเป็นอยู่อย่างปัจจุบันนี้”
จากนั้นได้มีพระราชดำรัสเล่าถึงความปิติยินดีในฐานะของผู้พระราชนิพนธ์เพลง เมื่อทรงทราบว่าเพลงนั้นๆเป็นที่นิยมชมชอบอย่างมากในหมู่ผู้ฟัง
“ครั้งโน้นมีความปลาบปลื้ม ในวันที่ออกเป็นครั้งแรกที่วงสุนทราภรณ์ได้เล่น ก็เพราะว่าในกรมพระชัยนาทฯ ซึ่งเป็นท่านลุง และต่อมาท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ท่านเป็นผู้ที่ชอบดนตรี แต่โดยมากท่านชอบดนตรีคลาสสิก ชอบดนตรีที่เรียกว่าเป็นดนตรีจริงๆ แต่เวลาเล่นเสร็จแล้ว ท่านหันมาแล้วท่านพยักหน้า บอกว่าดี ก็ปลื้มตอนนั้นนะ จะเล่าให้ฟังว่ามีความปลาบปลื้มอย่างจริง ขนลุกจริงๆ”

“เมื่อแต่งเป็นเวลา 6 เดือน ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้เขียนจดหมายมาถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพระท่านไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนนได้ยินคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไป เข้าไปในตรอกซอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้า แล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝน และก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูง ซักผ้าได้สะอาด”

“เสร็จแล้วต่อไปได้ไปเยี่ยมราษฎรภาคต่างๆ ก็ได้ไปเยี่ยมทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่ตอนที่ไปเยี่ยมครั้งโน้นเป็นเวลา 25 ปีกว่า ไปที่ไหนก็เยี่ยมราษฎรทั้งวัน คลุกฝุ่น และถึงค่ำก็มีการเลี้ยงข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน มีการแสดงของอำเภอต่างๆในจังหวัดนั้นๆ มีอันหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือระบำสายฝน สายฝนแบบจักๆก็มี แบบปรอยๆก็มี อันนี้บางทีเราเหนื่อยๆ เราก็ดูก็รู้สึกรำคาญ รำคาญตัวเองว่าทำไมต้องแต่งเพลงนี้ให้เขามาเล่นระบำสายฝน แต่มานึกอีกทีว่าทำไม เราควรจะปิติยินดี เราแต่งเพลงนี้ และเขาก็ถือว่าเป็นเพลงสัญลักษณ์ เขาก็แสดงให้”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องภาษาไทย เป็นกลอนสุภาพ 4 บท เนื้อหาพรรณนาถึงสายฝนกับธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบความสำเร็จที่คนเราจะได้รับหลังจากการทำงานหนักหรือยากความลำบาก บทเพลงแฝงนัยของการให้ความหวัง กำลังใจ ทำให้รู้สึกสดชื่น เยือกเย็น สะอาด คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์สายฝน มีจุดเริ่มจาก หม่อมวิภา เก่งระดมยิง(อดีตหม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ) โดยขณะที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องในตำหนัก เผอิญฝนกำลังตกลงมา หม่อมวิภาเดินไปปิดหน้าต่าง มองเห็นฝนตกจึงเดินกลับมาพร้อมด้วยคำอุทานจากแรงบัลดาลใจว่า “สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง”

ส่วนเนื้อร้องภาษาอังกฤษซึ่งท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์ พรรณนาถึงความงามของธรรมชาติและสายฝน โดยได้เชื่อมโยงความงามจากธรรมชาติของสายฝนเข้ากับความงามของคนรัก ทำให้รู้สึกสดชื่นและชุ่มฉ่ำจากสายฝนไปพร้อมกับความเบิกบานเนื่องจากความสุขสมในความรัก



รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสือ "งานช่างของในหลวง" โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร
และ "ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์" โดยโรงเรียนจิตรลดา




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2549    
Last Update : 3 กันยายน 2549 23:01:02 น.
Counter : 9624 Pageviews.  

1  2  3  4  5  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.