แพรร่ำ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แพรร่ำ's blog to your web]
Links
 

 

เพลงพระราชนิพนธ์ "ศุกร์สัญลักษณ์"




ศุกร์สัญลักษณ์

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช




พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี ลายคราม (รุ่นแรก) ณ วังอัศวิน จากซ้าย ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ ทรัมโบน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคลาริเนต ม.จ.ชุมปกบุตร ชุมพล ทรงทรัมเป็ต ม.ล.อัศนี ปราโมช ทรัมเป็ต และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทูบา

ลูกคู่

ซี วิง ลาย คราม ต้องไม่แสดง รุ่มร่าม
ซี วิง ลาย คราม ต้องไม่แสดง รุ่มร่าม

หนึ่ง สอง สาม สี่ อ้าว ไม่สี
หนึ่ง สอง สาม สี่ อ้าว ไม่เป่า
ซี วิง ลาย คราม (ชู่ ชู่ ชู่ ชู่ )

เนื้อร้อง

ดีด ก็วันนี้ สี ก็วันนี้ ตี ก็วันนี้ ลายคราม
เป่า ก็วันนี้ เมา ก็วันนี้ เมา แต่ดนตรี ลายคราม
สุข ก็วันนี้ สนุก ก็วันนี้ ศุกร์ สิ้นทุกข์ ลายคราม

อิ่ม ก็วันนี้ เมื่อย ก็วันนี้ ง่วง ก็วันนี้ ลายคราม
นิ้วพัง ก็วันนี้ ปากเจ่อ ก็วันนี้ เจ่อ เพราะดนตรี ลายคราม
สุข ก็วันนี้ สนุก ก็วันนี้ ศุกร์ สิ้นทุกข์ ลายคราม

โด ก็วันนี้ เร ก็วันนี้ มี ก็วันนี้ ลายคราม
ฟา ก็วันนี้ กวา ก็วันนี้ กวาเพราะดนตรี ลายคราม
สุข ก็วันนี้ สนุก ก็วันนี้ ศุกร์ สิ้นทุกข์ ลายคราม



Friday Night Rag

Music: H.M.K. Bhumibol Adulyadej
Lyric: M.R. Seni Pramoj


Friday night rag rag rag rag getty rag
Friday night rag rag rag rag getty rag
One, two, three, four-miss a beat,
One, two, three, four-play it neat,
Friday night rag (choo choo choo choo)

Blow on Friday, pull on Friday,
Thump on Friday, old Band.
Drink on Friday, drunk on Friday,
Music gay gay, old band.
Hit it to night, split it tonight,
Friday night for rag.



เกร็ดประวัติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงศุกร์สัญลักษณ์ เพื่อเป็นเพลงประจำวงดนตรี “ลายคราม” โดยทรงบรรเลงทุกครั้งที่ทรงดนตรีส่วนพระองค์ทุกๆวันศุกร์

เพลงพระราชนิพนธ์ศุกร์สัญลักษณ์มีทั้งหมด 4 ท่อน ท่อนที่ 3 เป็นท่อนพิเศษซึ่งมีการเดี่ยวโซโลแบบแจสโดยไม่มีการกำหนดโน้ตไว้ แต่กำหนดคอร์ดไว้กว้างแล้วปล่อยให้นักดนตรีบรรเลงโดยด้นทำนองเอง ซึ่งในภาษาดนตรีเรียกว่า ad.lib. อันเป็นแบบแผนของการประพันธ์เพลงแจสแนวสวิงแท้ๆ การเดี่ยวโซโลในตำแหน่งนี้มีจำนวนเครื่องดนตรีที่แตกต่างกันไปตามขนาดของวง ในท่อนที่ 4 เป็นท่อนที่กลับมาร่วมกันบรรเลงด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้มีจังหวะและทำนองสนุกสนานผ่อนคลาย ใช้เป็นเพลงสำหรับลีลาศก็ได้ดี เนื้อร้องก็มีลักษณะสอดคล้องกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็น “ลูกวง” ประจำวงดนตรีลายครามในขณะนั้นประพันธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งเนื้อร้องสะท้อนให้เห็นความสนุกสนาน และความเป็นกันเองของบรรยากาศในการทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ในยุคนั้นได้ชัดเจน แต่เนื่องจากเนื้อหาของเพลงค่อนข้างเจาะจง และวง “ลายคราม” บรรเลงในโอกาสอื่นค่อนข้างน้อย เมื่อวง “ลายคราม” สลายวง เพลงศุกร์สัญลักษณ์จึงค่อนข้างเงียบไป




รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสือ "งานช่างของในหลวง" โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรและ "ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์" โดยโรงเรียนจิตรลดา




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2549    
Last Update : 16 กันยายน 2549 21:20:17 น.
Counter : 3086 Pageviews.  

เพลงพระราชนิพนธ์ "ลมหนาว"




ลมหนาว

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา





ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "สวนสวรรค์"


ยามลมหนาวพัดโบกโบยโชยชื่น
เหล่าสกุณร้องรื่นรมย์
หมู่ดอกไม้ชวนภมรร่อนชม
ช่างสุขสมเพลินตาน่าดูชูใจ

โอ้รักเจ้าเอ๋ย ยามรักสมดังฤทัย
พิศดูสิ่งใด ก็แลวิไลแจ่มใสครัน
อันความรักมักจะพาใจฝัน
เมื่อรักนั้นสุขสมจิตปอง

ยามลมฝนพัดโบกโบยกระหน่ำ
หยดหยาดนำน้ำหลั่งนอง
ผึ้งภู่ทั้งวิหคเหงาเศร้าหมอง
เกลื่อนกลาดผองมาลีร่วงโรยลงดิน

เหมือนรักผิดหวัง เปรียบดังหัวใจพังภินท์
น้ำตาหลั่งริน และลามไหลเพียงหยาดฝนปราย
อันความรักแม้นไม่เป็นดังหมาย
ตราบวันตาย ชีพขมขื่นเอย



Love in Spring

Music: H.M.K. Bhumibol Adulyadej
Lyric: H.H. Prince Chakrabandh Pensiri


Love in spring sets my heart aflame,
Burning as embers glow.
Everytime when I hear your name,
Then my burning tears begin to flow.

There'll come a day
When skies will be so blue.
May be you'll say
You are in love with me too.
I'll find joy then in everything,
For I find my love in spring

I am longing for love in spring
When the days are so fair.
What supreme happiness it'll bring.
All the red roses bloom everywhere.

Birds in the trees
Will sing a lovely tune.
And in the breeze
We'll watch the bright lovely moon.
I'll find joy then in everything,
for I find my love in spring.



เกร็ดประวัติ

เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ภายหลังจากเสด็จฯ นิวัติพระนครฯ เป็นการถาวรแล้ว โดยโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์นี้แก่สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่ออัญเชิญไปบรรเลงในงานประจำปีเมื่อ พ.ศ. 2497

เพลงพระราชนิพนธ์ลมหนาวบรรเลงด้วยจังหวะวอลทซ์ เป็นเพลงที่มีลีลาไพเราะและมีเสน่ห์ กล่าวคือ อาจฟังให้เกิดอารมณ์สุขสดชื่นก็ได้ หรือจะฟังให้รู้สึกเหงาเศร้าก็ได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะลักษณะของการประพันธ์ที่ตอนต้นเพลงจัดอยู่ในอารมณ์แบบเมเจอร์ แต่พอท่วงทำนองเริ่มดำเนินไปจะกลับเปลี่ยนสู่อารมณ์แบบไมเนอร์ และยังมีอารมณ์เพลงแบบบลูส์ประสานอยู่ด้วย เสียงส่วนใหญ่จะเป็นเสียงเต็ม ยกเว้น 2 ตำแหน่งที่มีครึ่งเสียงปนอยู่ คือคำว่า “สิ่ง” จากวรรคที่ว่า “พิศดูสิ่งใด” ในท่อนที่ 3 กับคำว่า “รัก” จากวรรคที่ว่า “เมื่อรักนั้น” ในท่อนที่ 4

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงนิพนธ์เนื้อร้องภาษาไทย เนื้อหาพรรณนาถึงธรรมชาติเมื่อลมหนาวพัดมา ทุกอย่างดูรื่นรมย์เพราะความรักสมหวัง แต่ในเที่ยวกลับกล่าวถึงธรรมชาติยามลมฝนกระหน่ำ ทุกอย่างดูเศร้าหมองเพราะผิดหวังในความรัก

สำหรับเนื้อร้องภาษาอังกฤษ ท่านผู้หญิง สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยาเป็นผู้ประพันธ์ เนื้อหาพรรณนาถึงความสุขสมในความรัก ทำให้มองธรรมชาติในฤดูใบไม้ผลิงดงาม




รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสือ "งานช่างของในหลวง" โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรและ "ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์" โดยโรงเรียนจิตรลดา




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2549    
Last Update : 30 ตุลาคม 2549 21:07:26 น.
Counter : 8325 Pageviews.  

เพลงพระราชนิพนธ์ "ยามค่ำ"




ยามค่ำ

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ





ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ "วิมานเมฆ"


ยามประกายแสงทองส่องงามเรืองผ่องนภา
ประเทืองผองมวลชีวา ดังพรจากฟ้าเสกมาให้
ยามประกายแสงเดือนส่อง ยามนวลผ่องฟ้าไกล
ชื่นชมสมดังดวงใจ สบสุขสุดใสหทัยบาน

ยามค่ำลงโพล้เพล้ถ่ายเทประภา
ในเมื่อยามทิวาต่อราตรีกาล
มีแต่ความมืดมนอับจนดวงมาน
เหงาปานขาดใจ
แท้ที่จริงนั้นยามค่ำนำให้รื่นฤทัย
ค่ำลงแล้วราตรีใหม่
เคลื่อนมาพาใจให้ชื้นชื่นเชย

ยามรุ่งแสงทิวางามเรืองอร่ามวิไล
โลกเริงสำราญปานใด หมู่มวลพันธุ์ไม้ดอกใบบาน
ครั้นเมื่อยามแสงเดือนส่อง ราตรีผ่องสำราญ
หมู่ดาววับวามงามตระการ โลกเป็นสถานชื่นบานใจ

ยามค่ำลงสลัวมืดมัวแสงสี
แสนเปลี่ยวในฤดีสุดที่อาลัย
มีแต่ความมืดมนอับจนดวงใจ
คอยคืนใหม่งาม
แท้ที่จริงนั้นยามค่ำนำยามเนื่องถึงยาม
ค่ำลงแล้วราตรีตาม
โลกยิ่งสุดงามสมความชื่นชม



Twilight

Music: H.M.K. Bhumibol Adulyadej
Lyric: H.H. Prince Chakrabandh Pensiri

When the sun is beaming,
Bright and lovely day,
The world is singing,
For all the clouds just roll away.
When the moon is beaming,
Soft and mellow night,
The world is singing,
For lovers love the moonlight.

But there are moments at the twilight,
When the day is blending with the night,
Life is so serene,
A dusky screen
Covers the world.
Then it seems so lifeless,
But only awhile
A dawn to happiness,
Twilight is planned so to beguile.

When the golden sun beam
Streams over the world,
The land is like a dream;
The pretty flowers and leaves unfurled.
When the silvery moonbeam
Shines on up above,
With twinkling star agleam,
A wonderland of true love.

While the sunbeam kisses the moonlight,
When the day is blending with the night,
Life is so serene,
A dusky screen
Covers the world.
Twilight is but stillness
Blessing in disguise
A dawn to happiness,
A calm prelude to paradise.



เกร็ดประวัติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงยามค่ำ เมื่อ พ.ศ. 2496

เพลงพระราชนิพนธ์ยามค่ำเป็นเพลงแบบแจสมาตรฐาน มีท่วงทำนองไพเราะนุ่มนวล และอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองโดดเด่นมากจนทำให้ผู้ฟังสามารถสร้างจินตนาการให้เกิดภาพอันเรืองรองของบรรยากาศงดงามยามค่ำได้เป็นอย่างดี ในวรรค “ยามประกายแสงทองส่อง” มีการไล่เรียงโน้ตและเปลี่ยนคอร์ดซึ่งให้ความรู้สึกสง่าและแพรวพราวของบรรยากาศเพลงได้แจ่มชัด และในวรรคต่อมา “งามเรืองผ่องนภา” มีการไล่เรียงโน้ตลงจนคอร์ดเปลี่ยนจากคอร์ดหนึ่งมาสู่อีกคอร์ดหนึ่งนั้น ทำให้เกิดความอบอุ่น นุ่มนวล และรับกับวรรคแรกได้ดี เป็นการผสมผสานที่ดีโดยเริ่มต้นจากโน้ตเมเจอร์ที่ให้ความรู้สึกสว่าง สง่า และเต็มไปด้วยพลัง แล้วค่อยๆคลี่คลายเข้าสู่โน้ตไมเนอร์ที่ให้ความรู้สึกครึ้มหม่น นุ่มนวล และอบอุ่นได้อย่างสวยงาม



รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสือ "งานช่างของในหลวง" โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรและ "ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์" โดยโรงเรียนจิตรลดา




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2549    
Last Update : 6 เมษายน 2550 22:22:59 น.
Counter : 4846 Pageviews.  

เพลงพระราชนิพนธ์ "ธงไชยเฉลิมพล"




ธงไชยเฉลิมพล

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช.







เกร็ดประวัติ

เป็นเพลงมาร์ชเพลงแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์ และเป็นเพลงลำดับสุดท้ายในปี พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กองทัพไทยเพื่อใช้ในการเชิญธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าฯให้พิมพ์โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ “ธงไชยเฉลิมพล” และ “มาร์ชราชวัลลภ” ออกจำหน่ายเพื่อการกุศลในปี พ.ศ. 2497 ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขึ้นเพื่อบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีกลุ่มแตร (brass instrument ) โดยเฉพาะเพลงนี้มีทำนองหลักอยู่ 3 ตอน ซึ่งแต่ละตอนมีการกลับต้นมาเล่นซ้ำเป็น 2 เที่ยว ทำนองหลักตอนแรกบรรเลงในลีลาที่ให้ความรู้สึกโอ่อ่า เป็นการบรรเลงที่ประสานสัมพันธ์กันของกลุ่มแตรหลัก กับกลุ่มเครื่องลมไม้ (woodwind instrument) ที่มีเสียงสดใส เช่น กลุ่มแคลริเน็ต อันเป็นส่วนช่วยให้ทำนองตอนนี้มีบรรยากาศสดใสปนอยู่ด้วย ช่วยทำให้ความเป็นการเป็นงานของเพลงเบาบางลง แต่ในตอนที่ 2 ท่วงทำนองสื่อความเข้มแข็งสง่างาม มีกลุ่มแตรหลักเป็นตัวเดินทำนอง ส่วนกลุ่มเครื่องลมไม้ที่มีเสียงแหลมสดใสคอยประสานอยู่เบื้องหลัง ส่วนในตอนที่ 3 นั้น ทำนองเปลี่ยนแปลงไปอีก ตอนต้นกลุ่มเครื่องลมไม้ที่มีเสียงสดใสดำเนินทำนองหลัก โดยมีกลุ่มแตรหลักเป็นตัวดำเนินเสียงประสานอยู่เบื้องหลัง และในตอนท้ายทั้งสองกลุ่มจะบรรเลงร่วมกันไปจนจบเพลง

อารมณ์เพลงของเพลงพระราชนิพนธ์ธงไชยเฉลิมพล มีความหรูหรา โอ่อ่า เข้มแข็ง และเฉียบขาดอย่างมีระเบียบ ทั้งนี้อาจเพราะขึ้นอยู่กับจังหวะเพลงที่ดำเนินไปอย่างช้า เมื่อพิจารณาถึงเรื่องของจังหวะแล้ว จะพบว่าแม้จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงจังหวะมาร์ช แต่ก็ใช้จังหวะวลีของโน้ตที่มีอัตราส่วนในแบบของเพลงบลูส์ โดยใช้โน้ตที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ต่อ 1 จังหวะ แต่ในขณะเดียวกันถ้าตัดโน้ตตัวกลางใน 3 ส่วนนี้ออกไป ก็จะได้จังหวะสวิง อันเป็นจังหวะมาร์ชที่นิยมกันมากในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ค่อยพบมากนักในภาคพื้นยุโรป




รวบรวมและเรียบเรียงจากหนังสือ "งานช่างของในหลวง" โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรและ "ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์" โดยโรงเรียนจิตรลดา




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2549    
Last Update : 16 กันยายน 2549 21:14:47 น.
Counter : 1602 Pageviews.  

เพลงพระราชนิพนธ์ "พรปีใหม่"




พรปีใหม่

ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ





สวัสดีวันปีใหม่พา
ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม
ต่างสุขสมนิยมยินดี

ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า
ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปรานี
ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์
ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่
ผองชาวไทยจงสวัสดี

ตลอดปีจงมีสุขใจ
ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์
สวัสดีวันปีใหม่เทอญ



เกร็ดประวัติ

ในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2494 – 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพรปีใหม่แก่บรรดาพสกนิกรชาวไทย จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลง พรปีใหม่ขึ้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงเป่าแซ็กโซโฟนในช่วงแรกและช่วงที่สาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป่าแซ็กโซโฟนในช่วงที่สองและช่วงที่สี่สลับกันไป วงดนตรีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้บรรเลง พรปีใหม่เพื่อพระราชทานแก่ปวงชนครั้งแรกคือ วงดนตรีชมรมสากล สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงสุนทราภรณ์

โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์พรปีใหม่มีลักษณะไล่ขึ้นลงเหมือนลูกคลื่น ล้อรับกันทั้งท่อน แต่เพื่อมิให้ราบเรียบจนเกินไป ในห้องที่ 4 ต่อห้องที่ 5 จะมีการเน้นเสียง ซึ่งมีผลต่อเนื้อร้องด้วย ดังในวรรค “ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์” ตรงตำแหน่งคำว่า “รื่นรมย์” มีการเน้นเสียงที่ต่อเนื่องให้ลากสูงขึ้นอีก 3 เสียง ซึ่งนอกจากจะทำให้ทำนองเพลงไพเราะแล้ว ยังทำให้เสียงคำว่า “รื่นรมย์” สื่ออารมณ์ของความสุขได้มากยิ่งขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์เนื้อร้องเป็นคำประพันธ์ 4 บท ที่ใช้คำง่ายๆ แต่ไพเราะและสื่อความหมายได้ชัดเจน ดังเช่นในที่นี้สรรพนามบุรุษที่ 1 คือ “ข้า” น่าจะหมายถึง “ข้าฯ” หรือ “ข้าพเจ้า” อันเป็นสรรพนามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้แทนพระองค์ในทุกคราวที่ทรงมีพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทต่อปวงชนชาวไทย

เช่นเดียวกับสรรพนามบุรุษที่ 2 พหูพจน์คือ “ปวงท่าน” ซึ่งมักทรงใช้กับปวงชนชาวไทยเสมอ วลีที่สนับสนุนให้ชัดก็คือ “ผองชาวไทย” ซึ่งครอบคลุมปวงประชาของพระองค์ สิ่งที่พิเศษสุดของเพลงพระราชนิพนธ์นี้ คือเป็นบทเพลงที่เป็นสายใยแห่งความรักและความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกรไทยทั้งมวล




 

Create Date : 13 สิงหาคม 2549    
Last Update : 16 กันยายน 2549 21:13:26 น.
Counter : 2020 Pageviews.  

1  2  3  4  5  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.