Group Blog
 
All blogs
 

Nankyoku Tairiku เรื่องราวของสุนัขและคนผู้ท้าทายดินแดนแห่งพระเจ้า ..แอนตาร์กติกา



Title (romaji): Nankyoku Tairiku ~Kami no Ryouiki ni Idomunda Otoko to Inu no Monogatari~
Title (English): Antarctica ~The Story of Dogs and Men Who Challenged the Field of God~
Genre: Drama, adventure Episodes: 10
Viewership rating: 17.3 (Kanto)
Broadcast : TBS / 2011-Oct-16 to 2011-Dec-18 Sunday 21:00
Theme song: Arano yori by Nakajima Miyuki


ขอเปิดบล็อกด้วยคำพูดเท่ๆ "ฝันครั้งนี้ มีพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่น"



"56 ปีก่อน ในยุคหลังสงคราม ผู้คนต่างพากันคุกเข่าลงบนพื้นหิน
ไม่ช้า พวกเขาค่อยๆ ลุกขึ้นทีละคน ทำงานเพื่อนความอยู่รอด
แบ่งอาหารกัน สะสมหินและสร้างเป็นบ้าน ให้กำเนิดเด็ก
และเลี้ยงจนเติบใหญ่ ทำงานเลี้ยงชีพกันต่อไป
แม้เศษหินนั้นหายไปแล้ว แต่ความรู้สึกยังคงอยู่
เราคือผู้แพ้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศพ่ายแพ้

ในยุคนั้น มีชายผู้หนึ่งมีฝัน สิ่งที่จำเป็นต่อญี่ปุ่นที่เสียขวัญไป
ไม่ใช่สงครามหรือเศรษฐกิจ แต่เป็นความฝัน เขากล่าวไว้
นี่เป็นเรื่องของชายผู้หนึ่งหลังผ่านยุคสงครามมาสิบปี
เสี่ยงชีวิตสำรวจทวีปแสนทรหด พร้อมเหล่าสุนัขคาซาลินฮัสกี้..ผู้ช่วย
เรื่องราวความรักจึงกำเนิดขึ้น
"


เพียงบทบรรยายเล่าเรื่องด้วยเสียงป้าแก่คนหนึ่ง ก็ก่ออารมณ์ชาตินิยมขึ้นมาเลย (แม้จะไม่ใช่ชาติตัวเอง) เป็นอีกครั้งที่ขอหยิบยืมประโยคนี้มาใช้

"เป็นซีรีย์ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าญี่ปุ่นสร้างชาติมาหลังสงครามได้แข็งแกร่งอย่างไร"

เป็นคำวิจารย์ที่เคยอ่านเจอในอินเตอร์เน็ตที่เอ่ยถึงซีรีย์ฉลอง Karei Naru Ichizoku เลือดล้างตระกูล ของสถานีโทรทัศน์ TBS เรื่องนี้ก็ TBS เหมือนกัน เป็นซีรีย์ฉลองครบรอบ 60 ปีที่ทุ่มทุนสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์การผลิตซีรีย์ที่คาดว่าจะสูงเป็นที่สุดตลอดกาลด้วย



แม้เรตติ้ง 17.3 จะไม่หรูเริ่ดถ้าเทียบกับซีรีย์เรื่องอื่นๆ ที่เคยโด่งดังในอดีตของทาคุยะ คิมูระ แต่ถ้าว่ากันด้วยเรื่องโปรดักชั่นมันเริดหรู เพราะเป็นความอลังการงานสร้างที่ยอดเยี่ยมทั้งในแง่ของผลงานและการกล้าลงทุน

Nankyoku Tairiku นำเค้าโครงมาจากเรื่องจริงของคณะวิจัยสำรวจแอนตาร์กติกาแห่งประเทศญี่ปุ่น ในช่วงปี 1958 โดยจะเล่าเรื่องของนักธรณีวิทยา คุโรโมจิ ทาเกชิ หนึ่งในสมาชิกของคณะสำรวจวิจัยที่มีด้วยกัน 11 คน และสุนัขลากเลื่อนพันธุ์ซาคาลิน ฮัสกี้ ( Sakhalin Huskies) อีก 19 ตัว ที่จะบุกตะลุยไปสำรวจแอนตาร์กติกา เผชิญหน้ากับดินแดนที่ท้าทาย เป็นการผจญภัยทำที่ให้เกิดเรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างคนกับสุนัขขึ้น




มันเริ่มต้นด้วยคำถาม

"อาจารย์ครับ เมื่อไหร่จะหมดยุคหลังสงครามซักทีล่ะครับ"

อาจารย์ไม่ตอบแต่ได้ยื่นจดหมายจากสมาพันธ์วิทยาศาตร์ส่งให้

ปีแห่งธรณีวิทยาโลกจะครบรอบสองปี ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกเชิญให้ไปร่วมประชุมเรื่องการสำรวจแอนตาร์กติกา ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงบรัสเชลล์ ประเทศเบลเยี่ยม

"แต่ตอนนี้มันมีข้อจำกัดเยอะสำหรับนักธรณีนี่ครับ

"มันเป็นคำเชิญระดับโลก ไม่น่ามีปัญหาหรอก"

"คุณรู้มั้ย ที่แอนตาร์กติกากำความลับโลกไว้เยอะ เช่นมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่เป็นประเทศ
แอนตาร์กติกา คือที่ที่ญี่ปุ่นจะยืนหยัดเทียบเท่ากับประเทศอื่นได้
ทำไมเราไม่จบยุคหลังสงครามนี้ ด้วยมือเราเองล่ะ"




ณ การประชุมระดับเวทีโลก ที่ตัวแทนการประชุมจากชาติอื่นออกจะหยาบคาบไปสักหน่อยกับการดูถูกเหยียดหยามญี่ปุ่น และพยายามกีดกันไม่ให้เข้าร่วมเพราะประเทศผู้แพ้สงครามไม่ควรมีสิทธิในความร่วมมือนานาชาติ แต่ญี่ปุ่นก็ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมอยู่ดีนั่นแหละ แต่ปัญหาดันมาติดอยู่คือรัฐบาลของญี่ปุ่นเอง

"เราลงทุนเพื่ออะไรที่สิ้นเปลืองอย่างนั้นไม่ได้หรอก"

ก็แหงล่ะ เหตุผลที่ว่า

"การสำรวจครั้งนี้เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตญี่ปุ่นเลยนะ
ถ้าทั่วโลกสำรวจกันเราก็ต้องทำด้วย เราจะได้ทัดเทียมประเทศอื่นเค้าซะที"


ยังไงก็ฟังดูเป็นนามธรรมที่ไม่รู้จะคุ้มค่ากับการเสี่ยงลงทุนมหาศาลกว่าห้าร้อยล้านเยนหรือไม่ (ประมาณสองร้อยล้านบาทในปัจจุบัน แต่ไม่รู้เท่าไหร่กันในอดีต) อีกทั้งรัฐบาลกำลังสนใจลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ งานนี้จะหวังพึ่งงบรัฐบาลคงยากจะสำเร็จ



มันก็จริงที่ว่าในภาวะหลังแพ้สงครามประเทศญี่ปุ่นยังยากจนข้นแค้น

"คนญี่ปุ่นตอนนี้วุ่นกับการหาอาหารประทังชีวิต ไม่มีใครคิดวิ่งไล่ตามความฝันหรอก"

แต่อาจจะเป็นความยากจนข้นแค้นนี่เอง ที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีความใฝ่ฝัน

การตั้งสมาคมรับบริจาค จึงประสบความสำเร็จ เด็กๆ ทั่วประเทศให้ความสนใจ ประชาชนทั่วไปพากันตื่นเต้นตาม เงินบริจาคหลั่งไหลมาจากทั่วประเทศญี่ปุ่น และนั่นเป็นสาเหตุให้รัฐบาลต้องยอมอนุมัติโครงการสำรวจวิจัย

"แอนตาร์กติกา ที่ที่มีหิมะและน้ำแข็ง ที่ที่เป็นที่อยู่ของพระเจ้า มันมีความลับของโลกอยู่บึมเลย"




การสำรวจจะใช้เวลาสองปี ทีมสำรวจที่หนึ่งจะทำหน้าที่เช็คพื้นที่และตั้งฐานวิจัย แอนตาร์กติกาเป็นดินแดนที่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ใครจะเหยียบย่างไปเมื่อไหร่ก็ได้ การออกสำรวจจะทำได้แค่ช่วงแผ่นน้ำแข็งแตก ราวเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ซึ่งต้องกำหนดออกเดินทางราวๆ เดือนพฤศจิกายน หากล่าช้ากว่านั้น อาจทำให้คณะสำรวจต้องติดอยู่กับฤดูหนาวของแอนตาร์กติกา (แม้ว่าโดยปกติจะเป็นดินแดนน้ำแข็งอยู่แล้ว) ซึ่งในฤดูหนาวสภาพอากาศจะแปรปรวนเต็มไปด้วยพายุและอากาศจะหนาวเย็นจนไม่อาจทนทานใช้ชีวิตอยู่ได้ ถึงต้องมีทีมสำรวจที่หนึ่ง และทีมสำรวจที่สอง เมื่อทีมหนึ่งเดินทางกลับมา ก็เตรียมตัวส่งทีมสองออกไปในตอนที่ฤดูหนาวใกล้สิ้นสุด



มีเวลา 1 ปี ที่จะออกเดินทางให้ทันในเดือนพฤศจิกายน เหล่านี้คือสิ่งที่คณะสำรวจต้องเตรียมการ และเหล่านี้ก็เป็นความโดดเด่นของซีรีย์ Nankyoku Tairiku ด้วย

1. หาลูกทีม ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาตร์ ประชาชนทั่วไปก็สามารถสมัครเข้าร่วมได้ และก็ได้มาซึ่งลูกทีมผู้เป็นนักแสดงคุ้นหน้าคุ้นตา และก็คงคัดกันมาแล้วว่าเป็นระดับฝีมือดีที่จะมาร่วมโลดแล่นอยู่ในซีรีย์อันเป็นประวัติศาสตร์ของสถานีโทรทัศน์ TBS



2. หาวิธีตั้งฐานวิจัย ซึ่งก็ได้พบวิธีและได้ชื่อว่าเป็นบ้านประกอบหลังแรกของญี่ปุ่น (ซีรีย์เขาว่างั้นนะ) ฐานวิจัยมันมาพร้อมกับสีแดงอันโดดเด่น ตัดกับพื้นน้ำแข็งสีขาว สีแดงของเรือโซยะ สีแดงของธงชาติญีปุ่นที่ปักลงบนแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกา สีแดงของอาคารประกอบที่ตั้งเป็นฐาน สีน้ำเงินของชุดกันหนาว สีขาวของพื้นภูเขาน้ำแข็ง ขาวแดงน้ำเงิน เป็นการเลือกได้ดี ถ้าชุดกันหนาวเป็นสีเหลือง เขียว ส้ม ชมพู มันก็คงไม่ได้ภาพที่ดูเข้มแข็งจริงจังอย่างนี้ เขียวก็จะแปลกๆ ชมพูก็จะหน่อมแน้ม เหลือง ส้มก็จะกลายเป็นหน่วยกู้ภัยไป สีแดงก็ดูอันตรายอีก สีดำก็ชวนหดหู่ สีฟ้าน่าจะสวยดี แต่ความหนักแน่นของสีที่จะช่วยส่งภาพลักษ์ของคน สีน้ำเงินโทนที่เห็นกันอยู่นี้ มันใช่ มันเท่ และมันดีที่สุดแล้ว



3. หาเรือ แม้ว่าสภาพมันจะเก่าคร่ำคร่าอายุกว่า 18 ปี แต่ว่าเรือนั้น มันมีทั้งเรือลำที่โชคดีและโชคไม่ดี ดูอย่างเรือยามาโมโตะแสนยานุภาพยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือที่เชื่อกันว่าไม่มีวันจม มันก็มีจุดจบอยู่ใต้ทะเลได้เหมือนกันเพราะโดนตอร์ปิโดบอมบ์ แต่โซยะ (Soya) เรือเก่าๆ ลำนี้ มันเป็นเรือโชคดีที่รอดพ้นสงครามมาจากสงครามตลอด ไม่ว่ามันออกทะเลครั้งใดมันจะรอดกลับมาทุกครั้ง และเมื่อมันออกเดินทางไปยังแอนตาร์กติกา มันจะต้องพาคณะสำรวจเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัยได้แน่นอน

แค่ว่ามันเก่า และมันต้องถูกเยียวยาครั้งใหญ่เพื่อความพร้อมสำหรับบุกน้ำตะลุยน้ำแข็งเข้าสู่ดินแดนแอนตาร์กติกา และศักดิ์ศรีด้านโชคชะตาของมันถูกท้าทายเพราะคนที่ถูกขอร้องให้มาออกแบบปรับปรุงโครงสร้างของเรือโซยะครั้งนี้ ก็คือ ชิเงะรุ มะกิโนะ (Shigeru Makino) ผู้ออกแบบเรือประจัญบานยามาโตะอันยิ่งใหญ่แต่โชคร้ายที่ต้องอับปางอยู่ใต้ทะเลลำนั้นเอง



ชอบฉากอู่ซ่อมเรือ และฉากเรือออกจากท่าของซีรีย์เรื่องนี้มาก มันดูอลังการและยิ่งใหญ่สมเป็นโปรเจ็กต์ระดับชาติ อีกฉากที่ไม่ใช่ฉากเรือแต่เกี่ยวกับเรือ คือล้อรถยนต์ที่หมุนคลุ้งฝุ่นมา กับเหล่าบรรดานายช่างทั่วเมืองที่ระดมพลมาช่วยกันซ่อมเรือเพื่อสานฝันของประเทศ ถึงมันจะไม่ใช่ฮอลลีวู้ดประเภทสู้มนุษย์ต่างดาวเพื่อความสงบสุขของชาวโลก แต่อารมณ์ก็ใกล้เคียงกันเลย



4.สุนัขลากเลื่อน แอนตาร์กติกาเป็นพื้นที่เต็มไปด้วยแอ่งและรอยแตกของพื้นน้ำแข็ง มีความเป็นไปได้ว่ารถลุยหิมะอาจไม่สะดวกที่จะใช้ สุนัขลากเลื่อนจึงเป็นทางเลือกที่ดี เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องเสาะหา รวบรวม และฝึกฝนมันเพื่อพร้อมใช้งาน

ซาคาลินฮัสกี้ สุนัขพันธุ์อึด ตัวใหญ่ และทนหนาว มีถิ่นพันธุ์ของมันอยู่ที่เมืองหนาวฮอกไกโด ทั้งหมดนั่นมันเป็นพันธุ์ซาคาลิน ฮัสกี้ทุกตัวจริงๆ หรือเปล่าไม่รู้หรอกนะ ก็ไม่เห็นมันจะหน้าตามาจากสปีชีส์สายเดียวกันสักเท่าไหร่ อาจจะดูคล้ายกันอยู่หลายตัว แต่เจ้า คุมะ ทาโร่ จิโร่ มันก็หน้าตาคนละแนวกับตัวอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง



นักแสดงพันธุ์โฮ่งเหล่านี้ ถือเป็นที่หนึ่งในใจในด้านความประทับจิต เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คน การกำกับการแสดงของคุณโฮ่งเหล่านี้ที่เป็นตัวดำเนินเรื่องอยู่เกือบครึ่งเรื่อง มันต้องไม่ใช่การถ่ายทำที่ง่ายแน่ แต่ผลที่ออกมาขอใช้คำว่ายอดเยี่ยม เพราะดูแต่ละฉากแต่ละตอนแล้ว ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือทุกละครผ่านสายตาที่มีน้องหมาเป็นตัวประกอบ ไม่เคยรู้สึกว่าเข้าใจหัวอกหมาได้ดีเท่านี้มาก่อน

โดยเฉพาะเจ้าริกิเพื่อนยาก ถ้าเป็นกรรมการออสการ์ เราเทคะแนนให้นายตัวเดียวอย่างไร้คู่แข่งเลยนะ




และทั้งสี่ประการที่กล่าวมานั้น อาจะไม่ได้ดูยอดเยี่ยมในความรู้สึกขนาดนี้ หากไม่มีภาพของดินแดนแอนตาร์กติกาเป็นแบ็คกราวด์ จะเป็นภาพ CG (Computer Graphic) การจำลองฐานโชวะที่ฮอกไกโด หรือการถ่ายทำบางส่วนที่แอนตาร์กติกาจริงๆ ก็ตามเถอะ ภาพดินแดนน้ำแข็งสีขาวยังเป็นมนต์เสน่ห์ที่ชวนหลงใหลในความสวยงามของมันได้เสมอ เมื่อหัวเรือมุ่งไปในทะเลน้ำแข็ง แทรกไปในรอยแยกของแผ่นน้ำแข็งแตก เมื่อจอดเทียบท่าหน้าแผ่นดินน้ำแข็ง แหงนหน้ามองภูเขาหิมะ รองเท้าสีส้มของคนที่ก้าวเดิน กระทั่งฝีเท้าหรือร่างเงาของสุนัขลากเลื่อนที่วิ่งลุยตะกุยฝุ่นน้ำแข็งออกไปในบรรยากาศโล่งเตียนสว่างตาด้วยสีขาวเจิดจ้า หรือแม้กระทั่งท่ามกลางความมืดมิดและพายุที่โหมกระหน่ำ ภาพออกมาแล้วได้หมดทั้งความสวยงาม ความเท่ ความเป็นฮีโร่ของวีรโฮ่งที่ดูจะเกินหน้าเกินตาเป็นขวัญใจมหาชนเหนือตัวละครที่เป็นวีรบุษนักสำรวจแห่งชาติซะอีก



เป็นซีรีย์ขึ้นแท่นที่สุดแห่งปีของตัวเอง ที่ทิ้งห่างคู่แข่งเรื่องอื่นๆ แบบไม่เห็นฝุ่นและเชื่อว่าจากนี้อีกครึ่งปีก็ยากจะหาเรื่องไหนมาเทียบ น่าประหลาดใจมากที่ซีรีย์เรื่องนี้ไม่ได้รางวัลอะไรเลยผิดความคาดหมาย ไม่ว่าจะเป็นผลของเรตติ้งที่ค่อนข้างน่าผิดหวังสำหรับการเป็นซีรีย์ฟอร์มยักษ์ หรือผลรางวัลที่เป็นศูนย์ เชื่อว่า TBS คงเสียขวัญกับการทุ่มทุนไปไม่น้อย และคงจะตรองดูให้จงหนักตอนที่จะทำซีรีย์ฉลองครบรอบ 70 ปีในอนาคต บางทีอาจจะหันไปเอาดีด้วยซีรีย์เรียบง่าย อันเป็นการฉลองอย่างพอเพียง (อิอิ ใครจะรู้)

คณะสำรวจวิจัยแอนตาร์กติกา



หัวหน้าคณะสำรวจแอนตาร์กติกา ชิโรซากิ ซึงุรุ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว (ชิบาตะ เคียวเฮ) เคยเป็นอาจารย์ของคุราโมจิ (ทาคุยะ) ที่ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของเขาเอง อ.ชิโรซากิเป็นผู้คิดริเริ่มการสำรวจแอนตาร์กติกา โดยมีคุราโมจิเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเตรียมการและก่อสานโครงการขึ้นด้วยกัน และเมื่อโครงการสำรวจฯ ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล อ.ชิโรซากิได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทีมสำรวจอย่างเป็นทางการ เขาเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบสูง ใช้เหตุผลอยู่เหนืออารมณ์ และตัดสินใจด้วยความรอบคอบอย่างมาก

หัวหน้าทีมสำรวจวิจัยแอนตาร์กติกาฤดูหนาว โฮชิโนะ เอย์ทาโร่(คางาวะ เทริยูกิ) ศาสตราจารย์ธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเกียวโต หนึ่งในนักวิจัยไม่กี่คนของญี่ปุ่นที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแอนตาร์กติกา การโผล่หน้ามาเข้าร่วมทีมสำรวจของ อ.โฮชิโนะ สร้างความยินดีแก่ อ.ชิโรซากิ และคุราโมจิอย่างยิ่ง ต่อมา อ.โฮชิโนะก็ได้ทำหน้าที่เป็น หัวหน้าทีมสำรวจวิจัย 11 คน (รวม อ.โฮชิโนะเองด้วย) ที่จะไม่เดินทางกลับพร้อมเรือ แต่จะอยู่อาศัยในฐานวิจัยที่สร้างขึ้นต่อไปในฤดูหนาวของแอนตาร์กติกา แต่ว่า กว่าจะได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ทิ้งทีมสำรวจ 11 คนไว้ในฤดูหนาวได้นั้น ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ต้องฟันฝ่า เนื่องจากรัฐบาลไม่เห็นควรในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากมันเป็นฤดูของพายุ และอากาศก็เย็นจัดจึงไม่เคยมีมนุษย์อาศัยอยู่ในแอนตาร์กติกาช่วงฤดูหนาวมาก่อน

แต่ 11 คน ที่ผู้เขียนกำลังนำแนะนำนี่แหละ ก็ขันอาสาที่จะอยู่ตลอดปี เพื่อทำการสำรวจให้รู้และวิจัยให้เป็นประโยชน์ แต่กว่าจะได้รับอนุมัติ ก็ตามนั้นแหละ คือ ต้องสู้เพื่อฝัน และฝ่าฟันเพื่อความตั้งใจ ตามสไตล์ซีรีย์ญี่ปุ่นเขาที่จะไม่ได้อะไรมาง่ายๆ ถ้าไม่สู้ถึงขั้นน้ำตากระเด็นหรือคุกเข่าลงพื้นกันซะก่อน

ข้อดีที่น่าเลื่อมใสของ อ.โฮชิโนะ คือเขาเป็นคนมองโลกในแง่ดี เขาเป็นคนชอบยิ้ม ยิ้มแย้มอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะเขาเป็นแบบอย่างของการคิดในแง่บวกเข้าไว้ (Positive Thinking)

ผู้ช่วยหัวหน้าทีมสำรวจวิจัย คุราโมจิ ทาเคชิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยโตเกียว (ทาคุยะ คิมูระ-พระเอก) เขาคือชายผู้หนึ่งซึ่งมีฝันอันแรงกล้า อยากจะเห็นญี่ปุ่นหลุดพ้นจากสภาพของประเทศผู้แพ้สงคราม และมีสถานะทัดเทียมกับประเทศอื่นในโลก และการที่เขาเป็นนักธรณีวิทยาผู้รักการปีนเขา ดินแดนนำแข็งแห่งขั้วโลกใต้ย่อมเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักธรณีวิทยาทุกคนจะใฝ่ฝันถึง นอกจากนี้ เขายังมีแรงบันดาลใจส่วนตนมากกว่าใครๆ ทั้งในแง่ความขมขื่นจากผลพวงของสงครามที่ทำให้เขาต้องสูญเสียภรรยา และในแง่ของนักสำรวจที่พ่อของเขาเคยเป็นหนึ่งในทหารเรือที่เข้าร่วมทัพสำรวจแอนตาร์กติกาครั้งแรกของญี่ปุ่นในปี 1912 ภายใต้การนำของพลโทโทชิราเสะ ซึ่งครั้งนั้นสภาวะที่ย่ำแย่ทำให้ไม่อาจสำรวจได้เต็มที่

แอนตาร์กติกาที่พ่อของเขาเคยเล่าให้ฟังในยามเด็กและยอดเขาสูงยอดหนึ่งที่พ่อของเขาฝันจะเป็นผู้พิชิต แต่ไม่มีโอกาสทำให้สำเร็จ ฝันนั้นคุราโมจิได้สืบทอดเอาไว้ในใจและหวังอยากจะสานต่อให้ได้

แด่ความฝันอันสูงสุด คุราโมจิทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่เพื่อการงานของทีมสำรวจ แต่ว่าจะซวยอะไรปานนั้น ที่ยังไม่ทันจะออกเดินทาง แค่อยู่ในระหว่างเตรียมกัน คุราโมจิก็โดนเด้งออกจากรายชื่อทีมสำรวจ เหตุเพราะเคยเป็นผู้นำทีมปีนเขา ซึ่งในครั้งนั้นมีเหตุให้สมาชิกร่วมทีมผู้หนึ่งเสียชีวิต แม้จะเป็นอุบัติเหตุแต่มันก็อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ การนำ และการตัดสินใจของคุราโมจิผู้เป็นหัวหน้าทีม ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย (ที่จะว่าสมเหตุสมผลก็ไม่เชิงนัก) คุราโมจิจึงโดนตัดสิทธิ์เข้าร่วมทีม

แต่มันก็แค่อุปสรรคหนึ่ง เมื่อเขาเป็นพระเอก ก็ต้องมีทางไป จนได้แหละ

ผู้ตรวจสอบ (ตรวจสอบทุกสิ่ง และคัดค้านทุกอย่าง) ฮิมุโระ ฮารุฮิโกะ (ซากาอิ มาซาโตะ) เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง ผู้เป็นทายาทนักการเมืองระดับสูงในสภา เคยเป็นเพื่อนกับคุราโมจิมาก่อน เคยอยู่ชมรมปีนเขาด้วยกัน แต่อุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ความเป็นเพื่อนขาดตอนจนยากจะต่อติด เจอหน้าก็ทำท่าเหมือนไม่อยากจะเจอ แม้คุราโมจิจะพยายามยิ้มให้แต่ฮิมูโระหาได้มีไมตรีตอบ ก็ยังคงทำหน้าหยิ่งๆ เหยียดๆ อันเป็นสีหน้าประจำของเขาอยู่เสมอ แต่ถึงฮิมุโระจะชอบทำตัวเหมือนพวกขัดแข้งขัดขาตลอดเวลา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือการไตร่ตรองที่ต้องคอยตอกย้ำให้ตระหนักคิดอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่ว่าจะค้านมั่วซั่ว แค่เป็นตัวหลักการเดินได้ แต่ก็อีกนั่นแหละที่สีหน้าแบบนั้น หน้าตาแบบนั้น มันช่างน่าหมั่นไส้เหลือทน อย่างที่ถูกสมาชิกร่วมทีมตั้งฉายาให้ “พ่อกระทรวงใหญ่” “พ่อตัวแทนรัฐ”

ทำตัวเป็นสารแอนตี้ไม่เอาใคร ไม่เห็นด้วยกับอะไรง่ายๆ แต่เขาไปไหนทำอะไรขอทำด้วย ไม่ว่าจะการร่วมทีมสำรวจด้วยตัวเอง หรือขออาสาอยู่ร่วมทีมที่จะอยู่เฝ้าฐานต่อในฤดูหนาว แบบว่า ไม่ได้ชอบนะ แต่อยากมีส่วนร่วม (ความจริงคือชอบ แต่แสดงออกตรงกันข้าม เห็นด้วยง่ายๆ เดี๋ยวเสียฟอร์ม) และด้วยความรู้ความสามารถส่วนตนที่ไม่เกี่ยวอะไรกับการเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง และกำลังจะเป็นนักการเมืองสืบต่อจากพ่อในอนาคต ฮิมูโระจึงควบตำแหน่ง ผู้สังเกตการณ์สภาพอากาศด้วย

แม้ว่าบางครั้งเขาจะทำหน้ายู่ เยอะเกินความจำเป็นมากไปหน่อย แต่ฮิมูโระ ก็เป็นตัวละครที่ชอบมากที่สุดในเรื่องเพราะว่ามีนิสัยชอบความแปลกแยกของตัวละคร

ผู้ดูแลสุนัข อินุซึกะ นัตสึโอะ (ยามาโมโตะ ยูสุเกะ) ตำแหน่งผู้ดูแลสุนัขที่ได้มาอย่างฟลุ้คๆ ประชาชนทั่วไปที่มาสมัครร่วมทีมสำรวจ ล้วนแต่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ ตัวเองยังเป็นเพียงหนุ่มน้อยนักศึกษาวิชาธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกียวโต ชีวิตที่ไม่ลงรอยกับพ่อ เพราะไม่ยอมสานต่อกิจการสวนส้มของครอบครัว มุ่งเรียนด้านธรณีฯ ก็ไม่ใช่จะมีจุดหมายแน่ชัด ทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ เขาจึงไม่เป็นที่ยอมรับของพ่อ รวมทั้งของตัวเองด้วย บางทีการบุกบั่นสู่ดินแดนทรหดแอนตาร์กติกา อาจมีคำตอบของชีวิต แต่กลัวจะไม่ได้รับเลือก ได้ยินว่าคณะสำรวจมีฝูงสุนัขลากเลื่อน บางทีตำแหน่งนั้นอาจไม่มีใครสนใจต้องการ และโอกาสอาจตกเป็นของเขา เลยโกหกกรรมการคัดเลือกไปว่าเขาเคยเป็นผู้ฝึกสุนัขมาก่อน ซึ่งผลก็ออกมาเข้าทางคนโกหก และด้วยมีความรู้อยู่แล้วที่ร่ำเรียนมาเพียงแต่ไม่มั่นใจจะทำ ประสบการณ์ทุกข์สุขในแอนตาร์กติกา และพี่เลี้ยงที่เคารพคุราโมจิ ก็ได้ผลักดันให้อินุซึกะ มั่นใจในตัวเองพอที่จะตั้งตนเป็นผู้ศึกษาวิจัยอาโรร่า

ถึงซีนความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนร่วมทีมกับสุนัขจะโดนรุ่นพี่ทาคุยะ เล่นไปคนเดียวซะเยอะ แต่ว่ายูสุเกะก็มีบทบาทเยอะในเรื่องไม่น้อยเพราะเป็นบทที่ต้องเดินเคียงหลังพระเอกรุ่นพี่คนดังของวงการอย่างทาคุยะ ก็ถือว่าน่าภูมิใจไม่หยอก ล่าสุดในปี 2012 ยูสุเกะก็มีผลงานแสดงร่วมกับพระเอกรุ่นใหญ่อีกคน ทาเคโนะ อุจิยูทากะ เรื่อง Mou Ichido Kimi ni, Propose ที่ผู้เขียนย่อมไม่พลาดแน่ และอีกเรื่องที่กำลังออกอากาศในเดือน ก.ค. นี้ คือ GTO เข้าใจว่าเธอยังเล่นเป็นนักเรียนได้อยู่นะ




ผู้ดูแลด้านธุรการ ยูซึมิ โนริเอกิ (โอกาตะ นาโอโตะ) รุ่นพี่สมัยเรียนของคุราโมจิ และเคยเป็นเพื่อนในชมรมปีนเขาด้วยกัน เขามีอาชีพเป็นนักข่าว และได้ช่วยเหลือคุราโมจิในการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ทีมสำรวจจนได้รับเงินบริจาคอันเป็นเงินทุนของโครงการฯ เพียงพอที่จะสานฝันที่ได้กลายเป็นฝันของประเทศได้ และยูซึมิก็สมัครเข้าร่วมทีมด้วยโดยทำหน้าที่ด้านธุรการ

ผู้ดูแลด้านเครื่องยนต์ ซาเมจิมะ นาโอฮิโตะ (ทาเรจิมา ซาสุมุ) เขาเป็นนายช่าง ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจอะไรนักกับข่าวเพ้อฝันเรื่องแอนตาร์กติกา แต่ด้วยดวงตาเป็นประกายของลูกชายเมื่อได้เห็นข่าวเกี่ยวกับทีมสำรวจ เมื่อมันเป็นความฝันของเด็กๆ ญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงลูกชายของเขาด้วย สักครั้งหนึ่งในชีวิต คนเป็นพ่อก็อยากจะเป็นฮีโร่ที่เท่สุดๆ สำหรับลูก ทำเรื่องเท่ๆ ให้ลูกเอาไว้เล่าอวดเพื่อนที่โรงเรียนว่า ครั้งหนึ่งพ่อของเขาเคยเป็นสมาชิกทีมสำรวจในดินแดนของแพนกวิ้น แรกๆ ก็มีนิสัยเห็นแก่ตัวแถมเป็นอันธพาล แต่ความยากลำบากของการจะเหยียบย่างลงบนแผ่นดินน้ำแข็งแอนตาร์กติกา ก็สอนให้เขารู้ว่า สงบศึกและสามัคคีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมี “ชีวิตรอด”

ผู้ดูแลด้านการแพทย์ ทานิ เคนโนสุเกะ (ชิงะ โคทาโระ) แม้จะอายุมากแต่ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตญี่ปุ่น คุณหมอทานิ สูญเสียลูกชายที่เป็นทหารในยามศึกสงครามไปทั้งสองคน ตอนแรกคุณหมอไม่ได้คิดจะอยู่ต่อในฤดูหนาว แต่หากทีมสำรวจได้รับอนุมัติให้อยู่ได้ หมอเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทีม ชีวิตที่ไม่มีคนคอยอยู่เบื้องหลังทำให้หมอทานิยินดีจะอยู่ต่อเพื่อดูแลสุขภาพของสมาชิกทีมสำรวจ ซึ่งนอกจากจะเป็นหมอรักษาคน ยังต้องเป็นสัตวแพทย์จำเป็นในการดูแลรักษาสุนัขด้วย

ผู้ส่งสาร โยโกมิเนะ ชินกิจิ
(โยชิซาวะ ฮิซาชิ) เป็นรุ่นน้องเพื่อนร่วมงานในสำนักข่าวเดียวกันกับ ยูซึมิ มีทักษะในเรื่องเทคนิคอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อสำนักข่าวที่เขาสังกัดจะได้รับสิทธิ์ในการเสนอข่าวอย่างเต็มที่เขาจึงอาสามาร่วมโครงการนี้กับรุ่นพี่ยูสึมิ ด้วยสีหน้ากังวลนิดๆ เพราะภรรยาของเขากำลังตั้งท้อง ทีมสำรวจที่จะอยู่ต่อฤดูหนาวต้องการเขาเพื่อทำหน้าที่ในด้านการสื่อสาร แต่โยโกมิเนะ ต้องการจะกลับบ้านพร้อมเรือเพราะเขามีห่วงกังวลถึงภรรยา เนื่องจากการอาสามาร่วมครั้งนี้ เขาไม่ได้คิดว่าจะต้องอยู่ต่อในฤดูหนาวด้วย ซึ่งหมายความว่าภรรยาของเขาจะต้องคลอดและเลี้ยงดูลูกอ่อนตามลำพัง หนึ่งคือหน้าที่อันจำเป็นต่อทีมสำรวจ อีกหนึ่งคือหน้าที่จำเป็นต่อการเป็นสามีและพ่อของลูก คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในใจและจำเป็นต้องเลือก

ผู้ดูแลด้านโยธา ฟุนากิ อิคุโซะ (โอคาดะ โยชิโนริ) นายทหารเรือผู้มีความรู้ด้านงานโยธา ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องการก่อสร้างฐานโชวะ ร่วมกับ ช่างพลเรือน อาราฮิยามะ ฮาจิเมะ (คาวามุระ โยสุเกะ)

จำหนุ่มโอคาดะได้จากเรื่อง Kisarazu Cat's Eye มันช่างเป็นบทบาทที่แตกต่างกันสุดขั้ว เขาดูซื่อบื้ออย่างมากในเรื่องนั้น แต่เรื่องนี้ได้เป็นทหารเรือมาดเข้มในเครืองแบบ และดูขึงขังในชุดน้ำเงินของทีมสำรวจ ส่วนคาวามุระ โยสุเกะ หลังจากซีรีย์ Rookies สุดโปรด ก็เพิ่งจะเคยเห็นเขาอีกครั้งนี้แหละ เจอกันอีกทีในทรงผมสั้น แม้จะยังติดหนวดเหมือนเดิมแต่หล่อกว่าเรื่อง Rookies เยอะเลย ผู้เขียนมีความรู้สึกดีใจส่วนตนทุกครั้งที่ได้เห็นหน้าหนุ่มๆ Rookies ในซีรีย์เรื่องใดๆ ยามาโมโตะ ยูสุเกะ ก็หนุ่ม Rookies เช่นกัน (SP Rookies ฉบับภาพยนตร์) แล้วยังมี อ.คาวาโต้ จาก Rookies ซาโต้ เรียวตะ รับเชิญมาร่วมเป็นสมาชิกทีมสำรวจที่ 3 ในช่วงท้ายอีกด้วย

ผู้ดูแลด้านอาหาร ยามาซาโตะ มันเปอิ (โดรอนซุ อิชิโมโตะ Doronzu Ishimoto ) เพราะเป็นพ่อครัวจึงมีบทบาทน้อยที่สุดในบรรดาสมาชิกทีมสำรวจ

เธอและเขาผู้อยู่แนวหลัง



4 เธอผู้เป็นที่รัก

น้องภรรยาของคุราโมจิ ทากาโอกะ มิยูกิ (อายาเสะ ฮารุกะ) อายาเสะเรื่องนี้มาในบทหญิงสาวผู้อ่อนโยนแต่จิตใจเข้มแข็ง เธอเป็นคุณครูโรงเรียนประถมศึกษา ที่จะอยู่กับกลุ่มเด็กๆ อันเป็นหนึ่งในแรงผลักดันของทีมสำรวจ เหมือนอย่างที่คุราโมจิได้พูดไว้

"การสำรวจครั้งนี้ แบกหัวใจของเด็กๆ ไว้มาก
แล้วก็ผมอยากให้คนที่ตายในสงครามได้เห็นว่า
ญี่ปุ่นไม่ใช่พวกขี้แพ้ ทุกคนที่ไปสำรวจครั้งนี้ต้องกลับมาอย่างปลอดภัย
ผมอยากให้เด็กๆได้เห็นอนาคต เด็กๆ ทุกคนและลูกหลานของพวกเขา
ให้ได้เห็นว่าในเวลาแบบนี้ เราก็ไปแอนตาร์กติกาได้"


เห็นได้ชัดแต่แรกว่าคุณครูมิยูกิแอบมีใจให้สามีของพี่สาวผู้ล่วงลับ แต่ว่าคุณพี่เขยทำเหมือนไม่รับรู้ซะงั้น แถมยังใจร้ายอีก ทิ้งกันไปไกลถึงขั้วโลกใต้ยังไม่พอ ยังจะมาเอ่ยปากสั่งลาให้เธอเริ่มก้าวไปข้างหน้าด้วยการ "ไปดูตัวซะทีสิ" อย่างกับจะบอกอ้อมๆ ว่าอย่ามาหวังมารอพี่เขยของเธอคนนี้เลย นึกว่าคุณครูจะเคว้งด้วยอาการรักเขาข้างเดียวไปตลอดเรื่องเหมือน Jin หมอทะลุศวรรษ (Season 1) อีกแล้วซะอีก เรือยังไม่ทันจะออกจากท่า คุณพี่เขยก็ออกอาการรักเขาเหมือนกันนี่หว่า ทำมาเป็นฟอร์มบอกให้เขาไปดูตัว แถมยังชะเง้อชะแง้แลหาคนมาส่ง ณ ท่าเรือ พอได้เห็นสายตาก็เต็มตื้นเป็นที่ประจักษ์ เผลอๆ รักน้องเมียมากกว่าที่น้องเมียรักตัวซะอีกนะนั่น

อันว่าเรื่องรักๆ ระหว่างพระเอก-นางเอก ในซีรีย์ญี่ปุ่นนั้นเป็นสิ่งที่ผู้เขียนทำใจมาตลอดว่าน้อยนิด ความหวานโรแมนติกหาได้ยากยิ่ง ดังนั้น เรื่องนี้ถึงไม่มีอะไรมาก แค่เห็นสัญญาณ "รักกัน" ผู้เขียนก็ยินดีแฮปปี้มหาศาล

ภรรยาโยโกมิเนะ โยโกมิเนะ นาโอมิ (ซากุระ)

ภรรยาซาเมจิม่า ซาเมจิม่า จุนโกะ (คาโต้ ทาคาโกะ)

น้องสาวอินุซึกะ อินุซึกะ มิตสุโกะ (โอโนะ อิโตะ) เรื่องนี้เป็นซีรีย์เรื่องแรกของเธอ มีผลงานต่อมาอีกสองเรื่อง ล่าสุดคือเล่นเป็นน้องสาวตัวปัญหาของยามะพีเรื่อง Ending Planner



4 สมาชิกครอบครัวเจ้าของฟาร์มสุนัขที่ฮอกไกโด

ครอบครัวผู้ยินยอมส่งมอบซาคาลิน ฮัสกี้ 10 ตัวให้กับคณะสำรวจแอนตาร์กติกา เพื่อหวังเป็นเกียรติประวัติแก่ชีวิตหมาๆ ของพวกมัน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการเสียสละเหล่าสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก เพราะมันมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะล้มเจ็บล้มตาย แต่นั่นยังไม่โหดร้ายเท่ากับสิ่งที่พวกมันต้องพบเจอ ไม่ใช่แอนตาร์กติกา แต่เป็นพวกคนใจดำที่ทำให้ชีวิตของพวกมันดูไร้ค่า เป็นชีวิตหมาๆ ที่เหมือนไม่มีความหมายอะไร

ฟุรุตาจิ โทโมฮิโระ (ยามาโมโตะ กาคุ Yamamoto Kaku) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮอกไกโด ผู้ศึกษาค้นคว้าสุนัขพันธุ์คาซาลิน ฮัสกี้ และมีฟาร์มเลี้ยงดูเป็นของตนเอง ซาคาลินฮัสกี้เป็นสุนัขพันธุ์ดีที่ทนหนาว หน้าตาสวยหล่อในแบบสุนัข (แน่นอนว่าต้องไม่ใช่แบบคน) ตัวใหญ่ถึก แข็งแรง บึกบึน เหมาะแก่การลากเลื่อนและเผชิญกับอากาศอันหนาวเย็นของแอนตาร์กติกา เขามีลูกสาวหนึ่งคนคือ ฟุรุตาจิ อายาโกะ (คิมูระ ทาเอะ) เธอเป็นแม่หม้ายสามีตายและมีลูกเล็กหญิงชายอีกสองคน คือ ฟุรุตาจิ เรียว (อิโนอุเอะ มิซึกิ) และฟุรุตาจิ ฮารุกะ (อาชิดะ มานะ)



หนูฮารุกะ เธอช่างน่ารักน่าสงสารโดนใจป้าจริงๆ ความจริงไม่ต้องมีหนูมาตอกย้ำซ้ำความรันทดของมวลหมู่สุนัข ป้าก็ทั้งเศร้าทั้งโกรธแค้นในอกจะแย่อยู่แล้ว ได้อารมณ์โศกสลดของหนูมากดดันป้าอีกคน ป้ายิ่งแค้นแทบกระอักที่พวกผู้ใหญ่ใจดำ ช่างทำกับสุนัขแสนรักในฟาร์มของคุณตาหนูได้ โดยเฉพาะกับริกิ สุนัขตัวโปรดที่หนูรักหนักหนาและมันเหมือนเป็นตัวแทนของพ่อที่หนูเสียไป ริกิที่หนูยอมส่งมอบมันให้เขาไปทั้งน้ำตา ริกิที่หนูอุตส่าห์พับนกกระเรียนอธิษฐานอวยชัยให้มัน ริกิที่เข้มแข็ง รักศักดิ์ศรี มีน้ำใจภักดี เป็นผู้นำ และผู้ช่วยชีวิต (กำลังพูดถึงหมาอยู่นะเนี่ย) แต่พวกคนที่มันอุตส่าห์มีพระคุณให้ก็ยังทำกับมันได้อย่างโหดร้ายที่สุด (ว่าแล้วก็อารมณ์ขึ้น)

ตัวละครจัดเต็มเยอะมากจริงๆ ค่ะ ยังมีช่างซ่อมเรือ กัปตันเรือ ตัวแทนรัฐบาล หัวหน้าทีมสำรวจที่สอง อีกนิดนึงแต่บทไม่มากนัก ตัดๆ ไป จะได้ประหยัดสัมปทานพื้นที่รีวิว



เป็นซีรีย์ที่เกือบจะเพอร์เฟ็คต์อยู่แล้วในความรู้สึกของผู้เขียน ถ้าไม่มีสิ่งขัดใจอยู่บ้างเล็กๆ น้อยๆ นั่นก็คือปัญหา "ทาคุยะแย่งซีน" ถ้าไม่นับเพื่อนหมาถือว่าป๋าแกเล่นบทฮีโร่คนเดียวโดดเด่นไปซะหมดทุกอย่าง เวรี่ฮีโร่ พระเอกจ๋าที่สุด เปิดตัวฮีโร่ด้วยฉากปีนเขาอย่างเท่ แล้วต่อมาก็เป็นภาพของพี่ชายผู้ป๊อบปูล่าอยู่ท่ามกลางๆ เด็กๆ ไม่ว่าเขาจะทำอะไร พูดอะไรก็ดีก็เท่ไปซะหมด และบทของเขาก็ส่งอย่างมากที่จะทำให้ทาคุยะที่อายุก็มากแล้วดูหล่อกว่าเรื่องใดๆ ที่เคยเห็น งานการทีมสำรวจป๋าก็ทำไปซะทุกอย่าง โน้มน้าวผู้ออกแบบเรือยามาโมโตะมาออกแบบปรับโครงสร้างซ่อมเรือโซยะก็งานป๋า สุนัขลากเลือนก็งานป๋าอีก ก็เข้าใจถ้าป๋าโดนเด้งออกจากทีม และถูกส่งไปรวบรวมและฝึกฝนสุนัขเพื่อจะยังมีความเกี่ยวพันกับทีมเผื่อมีโอกาสกลับมาร่วมการสำรวจได้

ทว่างานซ่อมเรือป๋าก็ไปยุ่งกับเขาอีก ไม่ได้ทำอะไรสำคัญนักหนา แค่ไปหาบน้ำแจกคนงาน ป๋าก็แย่งซีนเหล่านายช่างเขาได้หลายอยู่

มาถึงงานนั่งโต๊ะวางแผนเตรียมการที่มีปัญหาถึงขั้นโครงการต้องล้มเลิก ป๋าก็มาทำหน้าทีปลุกใจคนขี้แพ้ที่ยอมแพ้ง่ายๆ ทั้งหลายอีก เป็นการกระทำเท่ๆ ด้วยคำพูดเท่ๆ อยู่ตลอดเรื่อง ซึ่งก็เป็นอะไรทีเข้าใจได้ เพราะนี่คือตำแหน่งแห่งที่ของพระเอกฮีโร่อันเป็นบทบาทประจำของป๋า



แต่ที่ค่อนข้างรู้สึกว่ามันเป็นการจงใจใส่ความเป็นฮีโร่มากเกินไป ก็ฉากสุนทรพจน์ "ปักธงญี่ปุ่น" ตอนออกเรือ ที่ส่วนตัวรู้สึกว่ามันควรจะเป็นบทบาทความเท่ของ อ.ชิโรซากิ ที่เป็นทั้งผู้ริเริ่มและเป็นหัวหน้าคณะสำรวจมากกว่า จะว่าไม่ทำการทำงานก็ใช่ที่ เพราะลุงเค้าเหนื่อยยากสุดๆ ไม่แพ้พระเอกนั่นแหละ เพียงแต่ไม่ได้ออกแนวหน้าผจญภัยเท่านั้นเอง เพราะลุงทำงานระดับเจรจากับรัฐบาล ประสานความร่วมมือ ต้องดูแลคณะสำรวจ ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดและแบกเอาความคาดหวังในความสำเร็จของรัฐบาลและคนทั้งประเทศ แต่ทาคุยะก็ถูกเขียนบทให้มาแย่งซีนอยู่กลางภาพผืนธงที่โบกสะบัด

ระหว่างเดินทางอยู่ในเรือ ป๋าก็เป็นฮีโร่ทุกกรณีไม่ว่าจะพูดกับคนหรือคุยกับหมา จะไฟไหม้ น้ำเข้าเรือ ป๋าก็วิ่งพล่านปัดเป่าทุกภัยได้ทุกจุด


เรื่องของสุนัขลากเลื่อน ก็เข้าใจถ้าป๋าไปรวบรวมฝึกฝนพวกมันมา และยังมาเพียรพยายามกับพวกมันต่อที่แอนตาร์กติกา แต่ว่าก็น่าจะแบ่งซีนให้ยูสุเกะ ตัวละครผู้ได้มาร่วมทีมสำรวจในฐานะ "ผู้ดูแลสุนัข" ที่คอยให้ข้าวให้น้ำมันบ้าง นี่เขาดันเขียนบทให้ป๋าทำซึ้งทำผูกพันกับพวกสุนัขทั้งฝูงอยู่คนเดียว ผู้ดูแลยูสุเกะจึงมีฉากกับสุนัขน้อยมาก และเป็นความน้อยฉากที่เขาเพียงแพนกล้องต่อมากจากทาคุยะที่เป็นซีนหลักซะอีก ชอบฉากที่ยูสุเกะช่วยสุนัขไม่ให้จมน้ำตอนเรือรั่ว (รั่วขนาดนั้นแต่ไม่ยักล่ม ไม่รู้ไปวิดกันตอนไหน) เพราะนั่นคงเป็นฉากเดียวจริงๆ ที่ยูสุเกะได้เป็น "ผู้ดูแลสุนัข" อย่างจริงจัง อ้อ..มีอีกฉากตอนที่ล้มลุกคลุกคลานออกมานอกปากถ้ำ (ซากปลาวาฬ) ตอนที่สุนัขนำทางวิ่งกลับมา เกือบจะได้เด่นเต็มๆ อีกซักซีน แต่ยูสุเกะก็ต้องเรียกป๋าออกมาทำซึ้งกอดรับพวกสุนัขแสนดีที่เด่นกว่าซะอีก



เพราะทาคุยะเป็นศูนย์กลางในทุกๆ กรณี ดังนั้นมันส่งผลให้น้ำหนักอารมณ์ของคนอื่นๆ ดูน้อยไป ในเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง แม้พวกเขาจะแสดงสีหน้าอารมณ์เสียใจเช่นเดียวกัน แต่พอนึกว่าบางคนแทบไม่ได้จับสุนัขก็มี เลยไม่รู้สึกอินเท่าไหร่นักในฝ่ายคน แต่ก็ดีแล้วเพราะแค่อินในฝ่ายสุนัขอย่างเดียว อิฉันก็รู้สึกโกรธแค้นแทบอยากกรีดร้อง เป็นตอนสำคัญที่คิดว่า อ.ชิโรซากิ ควรจะเป็นความโดดเด่นในการตัดสินใจ ที่มีพลังของความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวออกมาให้เห็นว่านี่คือสิ่งจำเป็นต้องทำ ถึงมันจะโหดร้ายเขาก็ต้องทำ และเขาก็จะเท่ แต่ก็รู้สึกอย่างที่รู้สึกตลอดเรื่อง คือน้ำหนักอารมณ์ไปอยู่ที่ทาคุยะซะส่วนใหญ่ในแง่ของความเสียใจ ข่มแง่มุมการ "ต้องตัดสินใจ" ของ อ.ชิโรซกิ ที่ทำให้ดูเป็นความอ่อนไหวในอารมณ์ มากกว่าจะเป็นความเด็ดเดี่ยวที่น่านิยม และโดยรวมบทบาทของ อ.ชิโรซากิก็ไม่ถึงกับจับใจในฐานะตัวละครสำคัญ(มาก)เท่าที่ควรจะเป็น เหมือนอย่างที่ลุงคิตาโอจิ คินยะ รับบทพ่อในเรื่อง Karei naru Ichizoku ไม่ใช่เพราะลุงเค้าแสดงไม่ดี แต่เพราะทาคุยะ คิมูระนั้นโดดเด่นเกินไป 555 (ความเห็นส่วนตัวน่ะนะ)


สำหรับเหตุการณ์นั้น เอาจริงๆ นะ สำหรับผู้เขียนแล้ว มันไม่มีเหตุผลใดที่จะอ้างได้ว่าจำเป็นต้องทำอย่างนั้น มันมีเหตุผลเดียวที่เกิดเรื่องแบบนั้น เพราะมันเป็นสุนัข แค่นั้นเอง

คิดแค่ว่าหากพวกมันเป็นคน มันคงไม่ถูกกระทำอย่างนั้น

เมื่อคนตัดสินใจเนรคุณหมา

คำพูดที่ว่า

"มันคือเพื่อน เพื่อนที่ดีที่สุด เพื่อนที่เราฝากชีวิตไว้ได้ เพื่อนแอนตาร์กติกา"

จึงไม่มีค่าของความศักดิ์สิทธิ์พอ ก็มันจะศักดิ์สิทธิ์ได้ยังไง คนฝากชีวิตไว้กับหมาได้ แต่คนดันไม่มีปัญญาจะรับฝากชีวิตของหมาไว้ และมันก็ลงเอยด้วยเหตุผลเดียกวัน เพราะมันคือหมา

หากมันเป็นคน คนเหล่านั้นก็จะดิ้นรนหาทางจนได้แหละ
ทีตอนเรือไปต่อไม่ได้ แกยังเทียบท่าเอาเครื่องบินมารับ
ประเด็นไม่มีเชื้อเพลิงเพียงพอไปถึงญี่ปุ่น ก็ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป
แล้วแค่จะอยู่ต่อช่วยหมาสักวัน มันจะเป็นไรไป



แต่แอนตาร์กติกากำลังหายใจ บางทีดินแดนแห่งนี้อาจมีชีวิต
บางทีมันอาจเป็นดินแดนของพระเจ้าจริงๆ และบางที
พระเจ้าอาจมีปาฏิหารย์แห่งความเมตตา

"ถ้าพวกมันรออยู่ กอดพวกมันแทนเราด้วยนะ"



Award (TDAA ไม่ให้ ..ฉันให้เอง)

* ซีรีย์ยอดเยี่ยม
* นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม - ทาคุยะ คิมูระ
* นักแสดงสมทบยอดเยี่ยม - ซากาอิ มาโกโตะ
* นักแสดงนำพิเศษยอดเยี่ยม - ริกิ
* นักแสดงสมทบพิเศษยอดเยี่ยม - คุมะ
* เพลงประกอบซีรีย์ยอดเยี่ยม - Arano yori โดย นากาจิม่า มิยูกิ
* ผู้กำกับยอดเยี่ยม - ฟุกุซาวะ คัตสึโอะ



เก็บภาพจาก ep.1 และ 3 มาฝาก ขอย้ำว่า ep.1 และ 3 เท่านั้น
และคุณไม่ควรพลาดมันทั้ง 10 ep.

ปกติจะไม่ชอบใช้คำนี้ตรงๆ แต่ครั้งนี้กับเรื่องนี้ขอบอกออกไป
อย่างไม่มีอ้อมค้อม อย่างหนักแน่น และมั่นใจ

"RECOMMEND!!!"














...








....













..........


















 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 24 สิงหาคม 2555 7:45:37 น.
Counter : 14934 Pageviews.  

Asuko March หญิงเดียวในโรงเรียนช่าง(ชาย) / ทาเกอิ เอมิ - สาวเทคนิคตาคมผมยาว แล้วไซผู้บ่าวไม่มาเอาใจ?



ภาพและข้อมูลจาก DramaWiki,Dramacrazy.net

Title : Asuko March!
Genre: School drama
Episodes: 9 Viewership rating: 5.96%
Broadcast : TV Asahi 2011-Apr-24 to 2011-Jul-03 Sunday 23.00
Theme song: Soredemo Shinjiteru by FUNKY MONKEY BABYS
Original writing (manga): Asuko March!~Kenritsu Asuka Kougyou Koukou Koushinkyoku~ by Akiyama Kaori
Screenwriter: Mori Hayashi
Directors: Tamura Naomi ,Tsukamoto Renpei, Hibino Akira



If only I hadn't made a mistake in filling up the exam sheets.

อ่านซับแล้วเข้าใจว่า เป็นเพราะเขียนลงไปในกระดาษข้อสอบ
จึงพลาดไม่ได้ทำลงในกระดาษคำตอบไปหนึ่งข้อ

I only missed answering one test item.
Because of that one error,
the rest of my answers got shifted.

เพียงเพราะความผิดพลาดเดียว
คำตอบที่ทำมาทั้งหมดถูกโยนทิ้ง

And from that simple mistake ,
it became the biggest stumble of my life.

และจากความผิดพลาดง่ายดายนั้น
มันกลายเป็นการสะดุดล้มครั้งใหญ่ในชีวิตของฉัน


นั่นเป็นเพราะฤดูสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายมันผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
คงจะมีเหลือไม่กี่โรงเรียนหรอกนะ ที่ยังเปิดรับสมัครนักเรียนช้ากว่าที่อื่นๆ

คุณตาของ โยชิโนะ นาโอะ จึงแนะนำโรงเรียนหนึ่งให้แก่หลานสาวสุดรัก

โรงเรียนที่ยังคงเปิดรับสมัครอยู่ ราวกับจะรอรองรับพวกล้มเหลวมาจากโรงเรียนอื่นๆ

Asuko Perfectural Technical High School.

โรงเรียนช่างเทคนิคที่รู้จักกันในชื่อสั้นๆ "อาสุโกะ"
โยชิโนะ นาโอะ ก็คงรู้สึกไม่ต่างไปจากสายตาของคนทั่วไป
เพียงแต่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ

Asuko น่ะเหรอ มีแต่พวกโง่งั่งเท่านั้นแหละที่ไปเรียน
(ซับอิงใช้คำว่า Idiot)

ไม่รู้อะไรมาดลใจ โยชิโนะ (เรียกตามนามสกุลเหมือนเพื่อนๆ เรียกนะคะ)
จึงรับเอาคำแนะนำของคุณตา และยอมมาสมัครเรียนที่อาสุโกะ หรือเพราะกำลังสับสนกับความล้มเหลว เลยหมดกำลังใจจะคิดอะไรอื่น อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ เพราะชีวิตมันเหนื่อยเหลือเกินที่จะดิ้นรน (หุหุ ขอใส่อารมณ์กับเรื่องน้ำเน่าส่วนตนเข้าไปนิ๊ดด)



บางที..โยชิโนะอาจปลอบใจตัวเองว่ามันก็เป็นโรงเรียนเหมือนกัน ยังไงก็คงไม่เลวร้าย ส่วนเรื่องจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็ไม่ใช่จะไม่มีโอกาสตั้งเป้าหมายแล้วเตรียมตัว แต่ ..พอได้เข้าอะสุโกะมาแล้ว 'สภาพ' ที่ได้พบเจอในโรงเรียนแห่งนี้ มันยังแย่กว่าที่เคยคิดกลัว

As you can see , I never expected to be in a place like this.

อย่างที่เธอเห็น ฉันไม่เคยคิดว่าจะต้องมาลงเอยในที่อย่างนี้


'A place like this' ความหมายของ 'ที่แบบนี้' นี่แหละ เป็นที่มาที่ไป ทำให้ความตื่นเต้นของหนุ่มๆ อาสุโกะ ปี 1 ห้อง A ที่มีต่อ โยชิโนะ นาโอะ สาวตาคมผมยาว สะสวยน่ารัก พากันหดหายไปเพียงชั่วข้ามวัน

"She looks down on us!"

"เธอดูถูกพวกเรา!"


โยชิโนะเป็นนางเอก โดยนิสัยนางเอกเธอย่อมไม่ใช่คนเช่นนั้น แต่ภาพลักษณ์ของโรงเรียนอาสุโกะที่เธอรับรู้เฉกคนทั่วไป ความไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมโรงเรียนช่างที่เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ คราบเขม่าดำ คราบน้ำมัน จารบี และกลิ่นไม่พึงประสงค์ของโรงช่างที่สภาพไม่ต่างจากโรงงานนัก นักเรียนก็มีแต่พวกห่ามๆ ไม่สุภาพ ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย อยากทำอะไรตรงไหนก็ทำ โหวกเหวกโวยยาย เอะอะอะไรไม่ได้ดั่งใจก็โดดเข้าตีกัน อย่าว่าแต่จะปรับตัวเลย แค่จะยอมรับให้ได้ยังยากเย็น

สำหรับโยชิโนะ เธอรู้สึกว่าอาสุโกะไม่ใช่ที่สำหรับผู้หญิง เพราะในรุ่นปีหนึ่งที่เข้าใหม่ในปีเดียวกันก็มีนักเรียนหญิงอยู่แค่ 3 คน และไม่กี่วัน หนึ่งคนขอลาออก ส่วนอีกหนึ่งคน ก็อยู่กันคนละห้อง เธอจึงเป็นนักเรียนหญิงเพียงคนเดียวในชั้น และในความรู้สึกคือ อาสุโกะไม่มีที่ทางสำหรับเธอ เพราะความใหม่ ความเหม่อ และโน่น นี่ นั่น .. สถานการณ์จึงเกิดขึ้นและเป็นไปอย่างที่เพื่อนๆ เข้าใจว่าเธอเหยียดพวกเขาเป็นพวกด้อยกว่า



ช่องว่างระหว่างการเป็นนักเรียนหญิงคนเดียว ในท่ามกลางเพื่อนนักเรียนชายทั้งชั้นมันก็ห่างเหินกันมากพออยู่แล้ว ยังต้องมาเจอช่องว่างระหว่างความเข้าใจ และพื้นฐานชีวิตที่แตกต่าง



โยชิโนะ นาโอะ มาจากครอบครัวที่ถือได้ว่าฐานะมีอันจะกิน มีคุณปู่เป็นเชฟคอยตระเตรียมอาหารมื้อดีๆ ให้เธอกินทุกมื้อ ในขณะที่อาหารกลางวันของเพื่อนเธอหลายคนคือการยื้อแย่งกันเข้าแถวเพื่อซื้อขนมปังถูกๆ มายาไส้

เธอเป็นเด็กสาววัยรุ่นที่ปรารถนาจะมีชีวิตนักเรียนมัธยมปลายธรรมดา มีเพื่อนสาวให้คบหาสนิท มีเรื่องเจ๊าะแจ๊ะให้เมาท์มอย มีเรื่องกุ๊กกิ๊กกะเพื่อนชาย มีนัดหมายออกเดท อะไรเทือกนั้น แต่ ชีวิตในอาสุโกะนั้น ดูท่าจะไม่มีเรื่องเช่นนั้นได้ ใช่แต่เพื่อนนักเรียนชายจะไม่ชอบเธอ เพื่อนนักเรียนหญิงเพียงคนเดียวที่อยู่คนละห้อง ตอนแรกก็หลงดีใจที่อย่างน้อยจะมีกันและกันในฐานะชน(หญิง)กลุ่มน้อย แต่ก็เกิดมีเรื่องให้เพื่อนสาวไม่ชอบหน้าเธอขึ้นมา โยชิโนะจึงสุดจะหัวเดียวกระเทียม

หรือต่อให้พวกนักเรียนชายจะไม่เหม็นหน้าเธออย่างที่เป็น พวกเขาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีชีวิตเหมือนอย่างนักเรียนมัธยมชายทั่วไป พวกเขาเป็นเด็กจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดีนัก และแต่ละคนก็มีงานพิเศษต้องทำหลังเลิกเรียน คงไม่มีเวลามาเจ๊าะแจ๊ะจีบหญิง หรือถ้าจะจีบ เรื่องแหววๆ โรแมนติกคงหาได้ยากจากพวกหนุ่มช่างห่ามๆ เหล่านี้

แต่ยังไงก็เถอะ เพราะความเป็นจริงของเรื่องก็คือ พวกเขาไม่ชอบเธอ



แต่ในบรรดาหนุ่มๆ ที่ไม่ชอบโยชิโนะ ไม่ได้เหมารวมถึงผู้ชายคนนี้

โยโกยามะ อารูโตะ นี่ก็เป็นนักเรียนชายอีกคน ที่ไม่ได้มีชีวิตปกติ เขาทำงานพิเศษและงานของเขาคือการเป็นหนุ่มโฮสต์ในไนท์คลับ อารูโตะ ไม่ค่อยมาโรงเรียน และในเวลาที่มา เขาก็ไม่ใช่คนที่จะสุงสิงกับใคร แต่ดูเหมือนว่านับจากวันแรกที่ได้พบโยชิโนะ เธอก็กลายเป็นคนที่อยู่ในสายตาของเขา และในความรู้สึกที่ได้เฝ้ามอง 'พฤติกรรม' ที่คนอื่นอาจมองว่า เหยาะแหยะ เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ยืนอยู่ตรงไหนก็เกะกะ น่ารำคาญลูกตา แต่สำหรับอารูโตะที่มองเห็น ดูเหมือนจะเป็นตรงกันข้าม เหมือนที่ครั้งหนึ่งเขาได้บอกกับเธอ

"I often see you as a girl who needs help."

"ฉันมองเห็นเธอเป็นผู้หญิงที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่บ่อยๆ"


อ่า .. ความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ ผู้ชายทั้งฝูงที่รุมเหม็นหน้าเธอ กับผู้ชายคนเดียวที่สายตามองเห็นอาการไม่เป็นสุขของเธอ เห็นความพยายามอย่างลำพังที่แสนจะโดดเดี่ยว และยังได้เห็นน้ำตาของเธอที่แอบร้องไห้อยู่คนเดียว ถ้าอยากให้เธอแกร่งทำอะไรด้วยตัวเองได้เหมือนนักเรียนชายคนหนึ่ง ก็ต้องปล่อยให้เธออดทนสู้เหมือนที่ทามากิพยายามไม่ช่วย แต่อารูโตะก็ยังเห็นเธอเป็นผู้หญิงที่บางอย่างมันเกินกำลังและใครสักคนควรยื่นมือออกไปเพื่อช่วยเหลือ (คือเขาเอง ^^)

มันคือการตกหลุมรักอย่างแน่นอน
บางที อาจจะเป็นเพราะเธอมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกับเขา
นั่นก็คือ 'ความพยายามอย่างโดดเดี่ยว'

มัตสึซากะ โทริ เป็นนักแสดงที่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนเลยค่ะ เป็นคนหน้าแปลกๆ นะคะ เดี๋ยวก็ดูหล่อ เดี๋ยวก็ดูไม่หล่อ เดี๋ยวก็ดูเป็นหนุ่ม เดี๋ยวก็ดูเป็นเด็ก คาดว่าน่าจะเปลี่ยนตามการแต่งตัว เวลาแต่งตัวเป็นโฮสต์ดูเป็นหนุ่มเต็มตัวแล้วค่ะ แต่เวลาอยู่ในชุดเวิร์คชอปก็ดูเป็นเด็กหนุ่มหน้าอ่อนธรรมดา หน้าตาของเขาดูทึมๆ ให้ความรู้สึกเหงาหงอยเข้ากันมากเลยกับบทของอารูโตะ หนึ่งในเด็กมีปัญหาที่เก็บปัญหาอยู่เงียบๆ คนเดียว และต่อสู้กับมันอยู่ลำพัง(อย่างเศร้าสร้อย) อารูโตะ อดีตเคยเป็นนักแสดงเด็ก เขาอยู่กับแม่เพียงลำพังสองคนและแม่ของเขาป่วย ( จากอาการน่าจะเป็น Depression) จนไม่สามารถทำงานได้ อารูโตะต้องทำงานหาเลี้ยงปากท้องตัวเองและแม่ ในขณะที่อาการป่วยของแม่ก็ต้องการคนดูแลใกล้ชิด

แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่ได้ดูอนาถานัก เพราะความเงียบเหงาที่ดูเดียวดายนั่นมั้ง อารูโตะผู้ไม่ยุ่งกะใครจึงดูเท่นักยามอยู่ที่โรงเรียน แต่จะดูน่าสงสารในยามค่ำคืนที่ต้องทำงานเป็นโฮสต์และคอยดูแลแม่ของเขา (มันคือความรันทด) จากที่ตอนแรกดูเรื่องนี้ไม่ถึงตอนเจอพระเอกหน้าแปลกๆ แล้วก็ทิ้งไป กลับมาลองดูใหม่อีกทีเพราะไม่มีอะไรอื่นที่นึกอยากดู อ้าว พระเอกก็หล่อดีแฮะ แถมยังเท่อีกต่างหาก



ทามากิ มาโกโตะ นี่ก็เด็กมีปัญหาเช่นกัน เด็กหนุ่มที่หวังจะสืบทอดกิจการโรงกลึงเล็กๆ ของพ่อ แต่ว่าโรงงานของพ่อก็ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ทามากิจึงมีปัญหาด้านการเงิน และต้องทำงานพิเศษช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อ ช่วยดูแลน้องๆ อีกสามคม มันมีเหตุที่ทามากิไม่ชอบโยชิโนะ แต่ต่อมานอกจากเขาจะเป็นเพื่อนคนแรกที่ยอมรับเธอ เขายังกลายเป็นเพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อเข้าอีกด้วย

ตรงข้ามกับอารูโตะ คือ ทามากิ เป็นคนมีเพื่อนรุมล้อม ถือเป็นตัวนำความคิดที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนอื่นๆ เมื่อทามากิไม่พอใจโยชิโนะ จึงดูเหมือนเขาจะเป็นผู้นำเทรนด์ที่ทำให้คนอื่นๆ พาลไม่ชอบเธอตามไปด้วย

ตอนแรกคิดว่าคาคุจะเป็นพระเอกเสียอีก เพราะบทก็เด่นเหมือนกัน ผู้เขียนตามมาเปิดเรื่องนี้ดูจากรายชื่อละครของหนูเอมิใน DramaWiki ไม่ได้ดูข้อมูลอื่น จึงไม่รู้หรอกว่าใครเป็นตัวหลักตัวนำ เห็นหน้าคาคุโดดเด่นเป็นคนโผล่มาก่อน จึงคิดว่าเป็นพระเอกของเรื่อง อารูโตะมาทีหลัง แต่ให้ความมั่นใจด้วยคาแร็คเตอร์ เพราะถ้าให้คำจำกัดความว่าพระเอกคือคนที่นางเอกจะชอบพอ ก็บอกได้แต่แรกแล้วว่าใครจะผูกใจนางเอกเอาไว้ได้



ฮิโรเสะ ซาโตมิ หนุ่มแข็งแรงที่มือไม้หนัก ไม่ชอบหาเรื่องใครก่อน ก็แค่อารมณ์ร้อนและใครอย่ามาทำให้เสียอารมณ์ ทว่ามีมุมกุ๊กกิ๊กโรแมนติก ด้วยความฝันอยากเป็นช่างทำกล่องดนตรี และเขาแอบชอบโมโมะ เพื่อนนักเรียนหญิงต่างห้อง ที่น่ารักน่าหลงใหล ไม่เหมือนยัยโยชิโนะที่เกะกะขวางลูกตาน่ารำคาญ 555 สงสารนางเอกซะจริงค่ะ ระดับความนิยมพ่ายแพ้ต่อโมโมะจังอย่างราบคาบ



ทาเคอุจิ คาซึยะ เขาคือ "เด็กเรียน" มีสมองเก่งฉลาดอย่างเขา จะไปเรียนที่ดีๆ ที่ไหนก็คงได้ แต่มันมีเหตุผลที่เขาเลือกมาอาสุโกะ โรงเรียนช่างที่คาซึยะก็รู้สึกไม่ต่างจากคนทั่วไป มีแต่พวกไม่เอาไหนไร้แก่นสาร ทาเคอุจิไม่คบใคร ไม่สุงสิงกับใคร นอกจากนั่งเรียน ก้มหน้ากับตำราและใช้เวลาพักหมกตัวในห้องสมุด กับเพื่อนร่วมห้องคนอื่น เขาก็เฉยๆ ไม่อะไรนัก ไม่รู้สึกรู้สาถ้าใครจะมีเรื่องมีราว โดนพักเรียน หรือโดนไล่ออก (เพราะไม่อยู่ในสายตาและความสนใจอยู่แล้ว) แต่กับโยชิโนะ ความรู้สึกต่อเธอมันแตกต่างไปจากใครๆ เพราะทาเคอุจิสนใจที่จะเพ่งสายตาเขม่นใส่ยัยนี่เอามากๆ






เพื่อนร่วมชั้นอื่นที่มีบทบาทร่วมแต่ไม่เด่นก็ตามนี้ค่ะ แต่ว่ามุราอิจะมีบทมากกว่าใครหน่อยเพราะเป็นเพื่อนขนาบข้างของทามากิ และมีความตลกอยู่ในตัวด้วย



โมโมะจัง ขวัญใจของหนุ่มๆ ในโรงเรียน ใบหน้าของเธอจะยิ้มแย้มเสมอ แต่ว่าใจของเธอใครจะรู้ได้ กับโยชิโนะก็ยิ้มหัวด้วยดี เสียแต่ติดตรงที่ไม่มีความจริงใจ เป็นผู้หญิงแค่สองคนด้วยกันกับโยชิโนะในชั้นปี แต่โมโมะจังชอบที่จะถูกแวดล้อมด้วยเพื่อนผู้ชายมากกว่าจะมีไมตรีต่อโยชิโนะ เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดีที่เพื่อนชายรุมร้อม แต่เป็นคนเดียวกันนี้เองที่สร้างปัญหาให้ใครหลายคน โมโมะมีเหตุผลส่วนตนที่จะแอนตี้โยชิโนะ โดยไม่แสดงออกให้ใครอื่นรู้ นอกจากชัดเจนกับเจ้าตัวโยชิโนะไปเลยตรงๆ ฉันไม่ชอบเธอ!!

อายาเมะเคยแสดงซีรีย์เรื่องเดียวกันกับเอมิมาก่อน (Taisetsu na Koto wa) เธอมีหน้าตาที่น่ารักมาก ๆ เรื่องนั้นเธอได้บทที่นิสัยน่ารักมากอีกด้วย แต่เรื่องนี้ชีนิสัยไม่ค่อยดีเอาซะเลย แต่หน้าตาเธอน่ารักก็เลยยังดูน่ารักอยู่ดีนั่นแหละ




ดังนั้น ผู้ชายที่เหลียวแลโยชิโนะมาตลอด นอกเหนือจากอารูโตะที่ไม่ค่อยมาโรงเรียน ก็คือเขาคนนี้ โอมุกาอิเซนเซย์ คุณครูผู้สุดแสนจะยินดีกับการที่นานทีปีหน จะมีนักเรียนหญิงโผล่ขึ้นมาในชั้นสักคน และพยายามจะเป็นที่พึ่ง (ที่ค่อนข้างจะไร้ประโยชน์) ให้กับโยชิโนะอยู่เสมอ อาจารย์เองก็ใช่จะไม่เคยนึกฝันถึงชีวิตครูมัธยมที่เต็มไปด้วยนักเรียนหญิงวัยรุ่นรุมล้อม เสียงฉอเลาะเจื้อยแจ้ว ครูคะ ครูขาอย่างโน้นอย่างนี้ เวลาสอนแต่ละทีมันจะชื่นมื่นขนาดไหน แม้โยชิโนะจะไม่ใช่สไตล์ครูคะ-ครูขา เหมือนอย่างในจินตนาการอันรื่นรมย์ ตรงกันข้าม..เธอมักจะมีสีหน้ายุ่งเหยิง และถ้าเธอเรียกตามหลังเมื่อไหร่ มันมีปัญหาตามมาถึงตัวด้วยแน่ๆ แต่ถึงอย่างนั้น คุณครูโอมุกาอิ ก็อยากจะทำทุกวิถีทางเพื่อรักษานักเรียนหญิง (ผู้เป็นแรงจูงใจในการสอน) เอาไว้ให้ตลอดรอดฝั่ง เพราะที่ผ่านมานักเรียนหญิงก็เข้ามาบ้างแป๊บๆ ก่อนจะขอย้ายหรือไม่ก็ลาออกไป ไม่เหลือสักคน

และแล้วโยชิโนะก็เริ่มสำแดงอาการไม่ต่างจากนักเรียนหญิงทั่วไป
คือ สุดจะทน และความต้องการของเธอคือการเดินเรื่องขอย้ายโรงเรียน

คนที่เป็นเหมือนเพื่อนสาวที่พอจะคุยเรื่องจุกจิกได้สำหรับโยชิโนะ จึงมีอยู่คนเดียว คุณครูห้องพยาบาล ชิราอิชิเซนเซย์ รับบทโดยมิโฮที่แสดงเรื่องไหนก็น่ารักทุกเรื่อง ชอบเธอในบทบาทสบายๆ เป็นกันเองอย่างในเรื่องนี้

นักเรียนอีกคนที่ผ่อนคลายบรรยากาศกดดันในซีรีย์เรื่องนี้ (กดดันตามสภาพหญิงเดียวไร้ที่อยู่ของนางเอก) คือ คุณตาฟุจิโอะ เป็นความสัมพันธ์ตาหลานที่รักกัน บ่นกัน งอนกันบ้าง อย่างน่ารักน่าเอ็นดู โยชิโอะอยู่กันกับคุณตาตามลำพังแค่สองคน ถึงอย่างนั้นเธอก็ดูจะไม่ขาดความอบอุ่นเพราะได้รับความรักความเข้าใจจากคุณตาอย่างล้นปรี่ ส่วนพ่อแม่ของเธอไปไหน ซีรีย์จะมีประเด็นเฉลยเอ่ยความกันตามมา

ตัวละครอีกคนที่มีบทบาทอยู่ในเรื่องคือลูกค้าประจำของไนท์คลับ "เคียวโกะ" หญิงสาวผู้หลงรักหนุ่มโฮสต์อารูโตะมาตั้งแต่สมัยเขายังเป็นนักแสดงเด็ก และเธอก็ตามรักตามตื๊อแบบจิกไม่ปล่อย ให้โยชิโนะต้องรู้สึกเฮิร์ตอยู่บ่อยๆ



หากใครชอบดูซีรีย์ที่มีความรัก ซึ่งมักจะหาได้ค่อนข้างน้อยในซีรีย์ญี่ปุ่น ซีรีย์เรื่องนี้ตอบสนองคนต้องการดูความรักด้วยรักใสๆ วัยรุ่นที่มีความน่ารักโรแมนติกอยู่พอสมควร อารูโตะที่ชอบโยชิโนะตั้งแต่แรก สองคนที่ใจตรงกัน แต่ไม่ได้คบกัน เพราะอารูโตะอาจชัดเจนต่อสายตาคนดู แต่ไม่ได้ชัดเจนต่อโยชิโนะนัก เขามองว่าสถานะของเขาไม่มั่นคงพอจะขอคบหากับโยชิโนะได้ ปัญหาครอบครัวที่ซับซ้อนและอนาคตไม่แน่ไม่นอนว่าจะต้องออกจากโรงเรียนไปเมื่อไร ทำให้ความรู้สึกและการแสดงออกของอารูโตะขัดแย้งกันเองอย่างคลุมเคลือ เพราะโดยพฤติกรรมคือชอบพอ แต่ไม่พูดหรือทำอะไรให้ชัดเจนว่าชอบพอ

ทามากิกลายเป็นเพื่อนทีดีต่อกัน แต่ในใจนั้นเกินเพื่อนไปแล้วเพราะเขาแอบชอบโยชิโนะ แต่ใกล้ตัวไม่ได้หมายความใกล้ใจ เช่นเดียวกับอารูโตะที่ไม่ค่อยโผล่มาโรงเรียน อยู่ห่างตัวแต่ไม่ได้ห่างใจ (วิ้ววววว)

ถือว่าใช้ประเด็น รักใสๆ เป็นส่วนประกอบของเรื่องอยู่ไม่น้อย ฉากใกล้ชิดกันก็มีค่อนข้างเยอะ ถ้าเทียบกับซีรีย์ญีปุ่นทั่วไป แต่ถ้าเทียบกับซีรีย์เกาหลีก็ย่อมจะถือได้ว่าจืดชืด ชอบฉากหอมแก้มมากค่ะ อาการของเอมิตอนโดนหอมแก้มน่ารักสุโค่ยดูเป็นธรรมชาติมากๆ แต่ไม่ว่าจะสีหน้าอารมณ์อะไรในเรื่องนี้ ในสายตาของผู้เขียนเอมิก็ทำได้ดีทุกประการ จะว่าไปเธอจับใจผู้เขียนได้ตั้งแต่เห็นเธอเรื่องแรกในบทนักเรียนตัวร้ายที่ตื่นขึ้นมาบนเตียงนอนกับครูหนุ่ม และสร้างปัญหารักร้าวให้กับคุณครูคู่รัก เรื่องโน้นแล้วล่ะค่ะ ( มิอุระ ฮารุมะ - โทดะ อาริกะ เรื่อง Taisetsu na Koto wa Subete Kimi ga Oshiete Kureta)

นักแสดงหญิงบางคนอาจสวยมากแต่ไม่ได้ดูน่ารัก บางคนน่ารักมากก็ไม่ได้หมายความว่าสวย แต่ทามากิ เอมิในสายตาของผู้เขียนคือนักแสดงหญิงที่มีทั้งความสวยความน่ารักอยู่ด้วยกัน กับความสามารถทางการแสดงที่ร้ายก็น่าชัง นิ่งก็สวย เศร้าก็งาม บ๊องแบ๊วก็น่ารัก ( อวยกันเข้าไป ) นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เทใจให้เอมิเต็มร้อย รวมถึงพระเอกที่อาจไม่ได้ผูกใจกันจนถึงกับจะต้องเสาะหาผลงานเรื่องต่อไป แต่ว่าในเรื่องนี้ใบหน้าเหงาๆ กับรอยยิ้มเย็นๆ ของเค้าก็ชวนดึงดูดใจให้แค็ปรูปซะจริงๆ สังเกตจากจำนวนรูปของบล็อกนี้ได้เลยค่ะ นี่คือข้อเสียของการดูซีรีย์ออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต เวลาเห็นหน้าไหนได้อารมณ์ ช็อตการแสดงใดถูกใจก็อดใจไม่ได้ต้องรีเพลกลับไปแค็ปรูป พอแค็ปแล้วเยอะเกิน จะลบทิ้งก็ตัดใจยากอีก แต่จะสั่งซื้อแผ่นมาดูอย่างเดียวมันก็เปลืองตังค์ T__T

เรื่องราวของสิ่งแปลกปลอมที่ต้องยอมรับ-ปรับตัว และในความแปลกปลอมนั้นก็มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในตัวของผู้อื่นด้วย ลักษณะอย่างนี้เป็นความ Contrast ที่น่าจะเรียกความสนใจได้ดีในส่วนของเรตติ้ง แต่เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งซีรีย์ที่เรตติ้งต่ำเตี้ยอย่างน่าใจหาย 5.96% แต่ตัวผู้เขียนเองก็ชอบซีรีย์เรื่องนี้นะคะ ดูได้เรื่อยๆ ไม่ใช่คอมเมดี้เฮฮาเหมือนภาพแบนเนอร์อีกภาพที่ชวนเข้าใจว่าคอมเมดี้แน่ๆ แต่ที่จริงเป็นดราม่าโรงเรียนแบบไม่สุขไม่ทุกข์จนเกินไป สงสารนางเอกอยู่บ้างแต่ก็ไม่เครียดนัก และการแสดงของเอมิก็ทำให้เธอกลายเป็นนางเอกอีกคนที่อยู่ในสารบบนางเอกในดวงใจ แม้เพิ่งจะเคยชมกันแค่สองเรื่อง กับเรื่องแรกที่เป็นนางร้ายและเรื่องนี้ที่เป็นนางเอกก็ตาม



บทบาทของโยชิโนะในเรื่อง เธอไม่ได้กร้าวแกร่งในเง่ของการเป็นนักเรียนช่างเทคนิค ตรงกันข้ามคือเธอยังคงบอบบางเช่นรูปร่างหน้าตา มันคือความจำใจที่ต้องทนอยู่ในโรงเรียน ที่ทาง..ที่ไม่ว่าจะมองแง่ไหนก็ไม่เหมาะกับเธอ และมันคือความดิ้นรนที่จะขอย้ายโรงเรียนออกไป จากคนที่ยอมแพ้กับอะไรง่ายๆ ความอดทนอยู่และความดิ้นรนจะไปนี่เอง ทำให้เธอมีความอึดมากกว่านิสัยเคยเป็นมา

ชีวิตนักเรียนช่างโรงเรียนอาสุโกะ ไม่มีชุดเวิร์คชอปไซท์ผู้หญิง ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าอยู่แสนจะไกลกว่าจะเดินไปเดินกลับมาถึงห้องทำงานเวิร์คช็อปทีไรก็มาสายให้เพื่อนมองหน้า ห้องน้ำหญิงมีแค่สองห้อง และมันเป็นห้องน้ำที่ต้องใช้กุญแจไข ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ขนาดและน้ำหนักของมันจะเหมาะกับกำลังของเธอที่ต้องทั้งเข็น ทั้งแบก ต้องยกต้องลาก ต้องเชื่อมเหล็ก ขันน็อต แต่ถ้าเธอยิ่งเหยาะแหยะมากเท่าไร พวกผู้ชายที่เห็นเธอเป็นคุณหนูผู้ดีอยู่แล้วก็จะยิ่งไม่ชอบเธอมากขึ้น แม้แต่ปวดท้องประจำเดือนโยชิโนะก็ไม่กล้าจะปริปากเพราะมันก็คงจะกลายเป็นข้ออ้างของผู้หญิงที่อู้งาน เธอจึงได้แต่กัดฟันทน ..ทนและทน

ทว่าการอยู่ร่วมกับพวกเพื่อนห่ามๆ ก็ทำให้โยชิโนะได้เรียนรู้พวกเขามากขึ้น สิ่งที่คนภายนอกมองเห็นหรือรับรู้ อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป อาสุโกะอาจไม่ใช่โรงเรียนชั้นดี และนักเรียนที่นี่ก็ไม่ใช่นักเรียนหัวดีมีคุณภาพสูง แต่พวกเขาก็มีชีวิตของตัวเอง มีปัญหาที่ต้องแบกไว้ มีความฝันใฝ่ที่เก็บงำไว้ในใจ โยชิโนะได้มองเห็นความจริงจังของพวกเขายามก้มหน้าหมกมุ่นอยู่กับเครื่องไม้เครื่องมือ ในสายตาของโยชิโนะ มันคือ "ความสุภาพ" ที่เธอเพิ่งสังเกตเห็น พวกเขาจะดูสุภาพเมื่อใส่ชุดเวิร์คชอปเรียนรู้และลงมือทำงาน

ที่พวกเขาไม่สนใจต่อเป้าหมายที่ดีเช่นการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่เอาไหน แต่เพราะมหาวิทยาลัยสำหรับหลายคนมันคือสิ่งที่เกินจะเอื้อม เพราะมีข้อจำกัด มีสภาพครอบครัวที่บีบบังคับ พวกเขาแค่ต้องการมีฝีมือช่าง ที่จะจบออกไปทำงานเลี้ยงตัวและดำเนินชีวิต แม้ชีวิตจะไม่ง่าย แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มีเป้าหมาย ขณะที่ตัวโยชิโนะเองยังคงโอดครวญกับความต้องการจะมีชีวิตนักเรียนมัธยมปลายที่ไร้สาระ โยชิโนะเริ่มเข้าใจและมองเห็นว่าปัญหาการสอบตกที่ก่อความยุ่งยากเหลือจะทนในชีวิตของเธอมันเป็นแค่เรื่องขี้ผงถ้าเทียบกับเพื่อนๆ ที่มาเรียนที่นี่ เพราะไม่มีทางให้เลือกมากนัก เธอจึงรู้สึกเสียใจแทน ถ้าหากพวกเขาจะต้องสูญเสียทางเลือกน้อยนิดเหล่านี้ไป และมันได้กลายเป็นความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือในสิ่งที่เธอพอจะทำได้ น้ำใจและความพยายามอย่างจริงจังของเธอ จะค่อยๆ ทลายกำแพงหมางเมินที่ขวางกั้นเธอไว้ให้เป็นแค่คนนอก และในที่สุดมันก็เริ่มมีที่มีทางสำหรับเธอ มิตรภาพความเป็นเพื่อนที่งอกงาม เธอ-ผู้หญิงที่ไร้ประโยชน์ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเพื่อนร่วมชั้นปี 1ห้อง A และเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนอาสุโกะ




ตอนที่ชอบมากในเรื่องนี้ คือตอนทำ Eco Car รู้สึกว่ามันได้อารมณ์ในแง่ของอุปสรรคให้ฝ่าฟัน และกลายเป็นความสำเร็จที่ก่อให้เกิดความปิติยินดี ต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรมันก็เป็นปัญหาของเด็กมัธยม พยายามอย่างเด็กมัธยมเหมือนๆ ซีรีย์โรงเรียนทั่วไป แต่มันก็เป็นความภาคภูมิใจของอนาคตนายช่าง ความสามัคคีร่วมไม้ร่วมมือ และการมีความทรงจำดีๆ ร่วมกัน มันดูเป็นเหตุเป็นผลสมควรที่โยชิโนะซึ่งเริ่มคุ้นเคยกับเครื่องไม้เครื่องมือบ้างแล้ว ก็เริ่มจะหลงเสน่ห์ของวิชาช่างเข้าอย่างจริงจัง

อีกตอนก็คือการทำ Asuko March ผู้เขียนขอเรียกมันว่า โปรเจ็กต์แห่งปรัชญาของนักเรียนช่างอาสุโกะ ที่เป็นได้ทั้งปรัชญาช่างและปรัชญาชีวิต เพราะมันเป็นเหมือนบทสรุปในแก่นสารสำคัญของเรื่อง ที่ขอละไว้ไม่พรรณาเผื่อว่าใครจะดู จะได้รับเอาการสื่อสารโดยตรง ตีความ และอินกันเอาเอง

เรตติ้ง เป็นเพียงแบบสำรวจความเห็นของคนทั่วไป ที่บางครั้งมันก็วัดความชอบหรือไม่ชอบของคนดูแต่ละคนไม่ได้ หากใครไม่แคร์เรตติ้ง (ที่จะใช้คำว่าตกต่ำก็ไม่ได้ เนื่องจากมันต่ำมาแต่เริ่มต้นและก็ต่ำต่อเนื่องมาอย่างเสมอต้นเสมอปลาย) และกำลังมองหาซีรีย์แนววัยรุ่นวัยเรียนก็น่าลองเสี่ยงชอบไม่ชอบกับ Asuko March ดูสักตั้ง เพราะมันก็สั้นๆ แค่ 9 ตอนเองค่ะ (^^) จะว่าไปแล้วจากประสบการณ์ของผู้เขียนเองกับซีรีย์ของค่าย TV Asahi ก็ไม่อาจระลึกได้ว่ามันเคยมีซีรีย์เรื่องไหนที่เรตติ้งสูงด้วยเหรอ ใครรู้ ช่วยแนะนำกันได้นะคะ จะได้ลองดูเป็นประสบการณ์

ถ้าใครกำลัง


















































































 

Create Date : 24 มิถุนายน 2555    
Last Update : 25 มิถุนายน 2555 16:49:12 น.
Counter : 28144 Pageviews.  

Ninkyo Helper -ยากูซ่า-ที่พึ่งจำเป็น ณ บ้านพักคนชรา บทพิสูจน์อันธพาลก็มีหัวใจ



ภาพและข้อมูลจาก Dramawiki
Title : Ninkyo Helper / The Chivalrous Helper
Genre: Human drama
Episodes: 11 rating: 14.9 (Kanto)
Broadcast : Fuji TV 2009-Jul-09 to 2009-Sep-17 Thursday 22:00
Theme song: Sotto Kyutto by SMAP
Screenwriter: Furuya Osho Director: Nishitani Hiroshi (ep1,7,11), Ishikawa Junichi(ep2-3,5-6,10), Hayama Hiroki(ep4,6,9)

*62nd Television Drama Academy Awards: Best Actor - Kusanagi Tsuyoshi
*62nd Television Drama Academy Awards: Best Supporting Actress - Kuroki Meisa



Protecting the weak and vanquishing the strong

ปกป้องคนอ่อนแอและกำราบคนแข็งแกร่ง


Kusanagi Tsuyoshi (คุซานากิ สึโยชิ) แม้ว่านักแสดงคนนี้จะแสดงละคร+ภาพยนตร์มาแล้วเกือบ 40 เรื่อง แต่แน่นอนพันเปอร์เซ็นต์ เมื่อยกเว้นเรื่อง Walk my way ที่สนใจในพล็อตไว้เรื่องหนึ่ง นอกเหนือจากนั้น เขาไม่เคยอยู่ในสายตา ซึ่งเขาก็ไม่ได้ทำความผิดอะไรไว้นักหนาหรอก ก็แค่เขาไม่หล่อ ดูหน้าตาแล้วไม่ชวนสบายใจ ที่เพิ่งรับชมผลงาน Fuyu no Sakura ผ่านไป ก็เพราะมันเป็นเหตุผลว่าด้วยเรื่องของซาโต้ ทาเครุ ล้วนๆ


แต่ Ninkyo Helper ก็ส่งสึโยชิผ่านสายตาเข้าตามาอีกรอบ เพราะไปอ่านเจอที่คุณ Nobuta wo produce ได้เอ่ยถึงกระทู้ในพันทิปเกี่ยวกับ '..นักแสดงที่แสดงแล้วรู้สึกได้ว่า เล่นได้อารมณ์เหมือนจริงมากที่สุด' และอันดับหนึ่งคือ นิโนะ หนุ่มหน้าละอ่อนแห่งวงอาราชิ (Ninomiya Kazunari) ตามประสาแม่ยกย่อมอยากรู้อยากเห็นว่าคนอื่นๆ เค้าจะอวยหนุ่มคนนี้กันอย่างไรบ้าง ก็เลยลองเสิร์ชกูเกิ้ลตามหากระทู้นี้ดู และได้เสิร์ชเจอผลสำรวจจาก goo/NTT DoCoMo ดังนี้ Smiley Who is Johnny Entertainment’s best actor?

อันดับหนึ่ง นิโนะ อาราชิ อันดับสอง คุซานางิ สึโยชิ (ข้อมูลเก่าแล้วนะคะ เป็นปี 2011 ที่น่าจะประเมินผลงานจากปี 2010) แล้วก็ไปเจอกระทู้พันทิปอีกกระทู้หนึ่งชื่อSmiley หนุ่ม ๆ จอนนี่ คนที่คุณคิดว่าแสดงเก่งที่สุดคือใคร และกระทู้ก็ถูกเปิดประเด็นด้วยการอวยนักแสดงในใจของเจ้าของกระทู้อยู่สองคนคือ นิโนะ และสึโยชิคนนี้ ไม่ติดใจอะไรกับนิโนะเพราะชื่นชมฝีมือกันเป็นการส่วนตน การันตีไม่ใช่ความลำเอียงเพราะชอบอย่างเดียว เพราะถึงตอนนี้โนะก็กวาดรางวัลมาแล้ว 7 Best actor กับอีก 4 Best supporting actor



แต่ข้องใจมากกับสึโยชิคนนี้ ยิ่งถ้าบอกว่าเป็น SMAP เขาเป็นใครกันถึงได้เกินหน้าเกินตาป๋ายะที่ควรจะครองแชมป์เหนือใครแต่กลับได้ที่ 4 และคะแนนเป็นรองอยู่มาก ในกระทู้หนุ่มจอนนี่ คนส่วนใหญ่ก็มีความเห็นไม่ต่างกันนักเกี่ยวกับป๋ายะ คือซีรีย์ของป๋าเป็นอะไรที่ต้องดู แต่ว่าถ้าพูดกันเรื่องฝีมือกลับไม่ใช่ทุกคนที่เชิดชูป๋า เพราะหลายๆ คนก็หันไปยกยอคนอื่นๆ มากกว่า ซะงั้น ? อ่านกระทู้ในบันเทิงแดนซากุระที่สึโยชิถูกพูดถึงในเรื่อง Ninkyo Helper ว่าเป็นหนึ่งผลงานที่บ่งบอกถึงความสามารถทางการแสดง ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงคาแร็คเตอร์และการเข้าถึงบทบาท เหตุนี้จึงต้องขอลองของกันซะหน่อย



แบบไม่ได้ศึกษาข้อมูลอะไรนัก

นอกจากเท่าที่มีให้เห็นใน Dramacrazy.net รีวิวให้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 88.75% ลองเปิดดูเห็นหน้าพระเอกแล้ว โอ้ .. ถึงว่าคุ้นนัก สึโยชิคือพระเอก Fuyu no sakura ที่เพิ่งดูจบไปไม่นาน โดยหน้าตาพระเอกแล้ว ทำให้นึกไม่เต็มใจอยากดูเท่าไหร่ คิดว่าจะดูแป๊บๆ นิดเดียว แต่บังเอิญพลอตมันเรียกความสนใจอยู่พอสมควร



Ninkyo Helper เป็นเรื่องของยากูซ่า 6 คน ที่ถูกส่งไปเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ณ สถานพักพิงของคนแก่ (ต่อไปนี้จะขอใช้คำง่ายๆ ว่า "บ้านพักคนชรา") ซึ่งการฝึกงานนี้เป็นเงื่อนไขของการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งในองค์กร โดยที่ 5 คนเป็นยากูซ่าระดับหน้า (Kumi-chou) จากแต่ละสาขา และอีก 1 คน เป็นยากูซ่าปลายแถวไม่เอาอ่าว แต่เขาเป็นลูกชายของหัวหน้าใหญ่ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง (เรียกว่าตำแหน่ง Kashira) ทายาทยากูซ่าคนนี้จึงถูกส่งไปฝึกงานด้วยกันกับหัวหน้าสาขาอื่นๆ เพื่อจะฝึกฝนการเป็นชายอันธพาลหัวใจแกร่ง



เมื่อหัวหน้าใหญ่ขององค์กรเสียชีวิตลง ทากายามะ เกนสุเกะ ยากูซ่าตำแหน่ง Kashira ของกลุ่มที่เป็นหัวหน้าของ Kumi-chou ทั้ง 5 จะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็น Oya- bun (The big boss, father figure) และต้องมีใครคนหนึ่งในตำแหน่ง Kumi เลื่อนระดับขึ้นมาแทนเขา โดยมีเงื่อนไขพิจารณาจากการฝึกงานที่บ้านพักคนชรา Taiyo Nursing Home

ซึ่งถ้าหากจะมีการพิจารณาผลงานเพื่อเลื่อนตำแหน่ง ก็ไม่แปลกถ้าจะฝึกกันในวิถีที่ควรจะเป็นแบบยากูซ่า เช่นแข่งกันทำยอดรายได้ แข่งกันขยายพื้นที่ กำราบศัตรู อะไรเทือกนั้น แต่เนี่ยอะไร้ เขาส่งทั้ง 6 ไปฝึกงานที่บ้านพักคนชรา เป็นข้องใจมาก ทำไมเหรอ ทำไมต้องเป็นที่บ้านพักคนชรา สำหรับการจะมอบตำแหน่งผู้นำยากูซ่า เขาต้องการเห็นคุณสมบัติหรือความสามารถอะไรที่จะบอกได้ว่าใครเหมาะสมกับตำแหน่งมากที่สุด ยากูซ่ากับการดูแลคนแก่ จะมองแง่ไหนก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ... ทำเพื่อ ?



Chivalry help the weak, vanquish the strong
,the remain honorable and kind ,
even putting your life at risk.
I want to be a real hoodlum.

เป็นวาทะเริ่มต้นที่เกือบเท่จัด หากว่ามันจะไม่จบลงด้วยการหักมุม

But these things only happen in movies.
Honestly , you can’t live being chivalrous.

แต่ถึงอย่างนั้น "A real hoodlum" (อันธพาลจริง) ก็เป็นคำที่เรียกความสนใจได้ดี เช่นเดียวฉากต่อสู้ตอนเปิดเรื่องก็ทำได้เจ๋งมาก ตามมาด้วยวิธีการหากินของยากูซ่ากลุ่มรอปปงงิที่มีพระเอกเป็นหัวหน้ากลุ่ม อืม น่าสนใจๆ แต่อุปสรรคคือหน้าตาพระเอกเนี่ยแหละ (บ่นอีกละ) ยิ่งเขาทำตัวสมเป็นยากูซ่าได้เนียนมากๆ คาบบุหรี่เอย สีหน้าแววตาเอย รอยสักเอย ยิ่งดูยิ่งไม่สบายใจ (555) ถามตัวเองฉันจะไหวมั้ย ? ก็บังเอิญได้เห็นหน้าหนุ่มคนนี้โผล่มาซะก่อน Igarashi Shunji



ตั้งแต่ฝากความทรงจำไว้กับเรื่อง Rookies ในบทของ ยูฟุเนะ เขาไม่เคยโคจรมาอยู่ในซีรีย์เรื่องไหนอีกเลยที่ผู้เขียนได้เลือกดู ที่เคยหลงไปดู Tumbling จนได้รู้จักนักแสดงที่ชื่นชอบอีกสองสามคน ก็เพราะคิดว่าหนึ่งในนักแสดงเป็นเขาคนนี้ แต่ความจริงไม่ใช่ ที่เข้าใจผิดไปคือมิอุระ โชเฮ คุณมะนาวเพคะว่าเขาหน้าตาเหมือนอิคุตะ โทมะ แต่ผู้เขียนดูแล้วไม่เห็นเค้าโทมะ แต่คิดว่ามีความคล้ายคลึงกันกับชุนจิคนนี้ แต่ก็แค่ ณ ขณะนั้นนะคะ เพราะ ณ ขณะที่ดูซีรีย์เรื่องนี้ ทั้งสองคนดูจะไม่มีความคล้ายกันเลย ชุนจิทั้งคล้ำทั้งผอม หัวมัดจุกยุ่งเหยิง ส่วนโชเฮนั้นขาวป๋อหล่อน่ารัก เห็นหน้าชุนจิแล้วรู้สึกดีใจ แต่ก็ยังไม่มากพอจะขับเคลื่อนการดูซีรีย์เรื่องนี้ต่อไปได้แน่ ถ้าตัวละครหลักไม่ใช่คนที่ถูกใจ



จนกระทั่งได้เห็นเขาคนนี้ Yamamoto Yusuke ในบทเจ้าหน้าที่คนสำคัญของบ้านพักคนชรา แม้อายุไม่มากกว่า แต่ถ้าว่ากันด้วยประสบการณ์ทำงาน เขาคือรุ่นพี่ของเจ้าหน้าที่หน้าใหม่ทั้ง 6 ได้ยูสุเกะอีกคน Ninkyo Helper มีพลังขับเคลื่อนอย่างเพียงพอแล้วล่ะทีนี้ แถมต่อมาอีกไม่กี่อึดใจ ก็ได้เห็นหน้านางในดวงใจพรวดพราดโผล่มาอีกคน Naka Risa มะ! ขอกรี๊ดใหญ่ๆ สักสองกรี๊ด! ซีรีย์เรื่องนี้มีพลังล้นเหลือ ขอเปิดดูโลดให้เต็มสปีดดดดดเท่าที่เวลาและสังขารจะเอื้ออำนวยต่อการดู

มารู้จักยากูซ่าแต่ละคนกัน



สึบาสะ ฮิโกอิจิหัวหน้ายากูซ่าสาขารอปปงงิ สาขาอื่นเขาทำงานกันอย่างไรไม่รู้ แต่สาขานี้รายได้สำคัญคือการใช้สารพัดวิธีหลอกหลวงเงินจากคนแก่ การที่เขาได้ไปอยู่บ้านพักคนชราในฐานะ Helper ก็ควรจะช่วยเหลือดูแลคนแก่เหล่านั้น แต่คนมันเคยตัว เมื่อสบช่องก็อดใจไม่ได้ Helper ผู้ดูแลเลยได้มีโอกาสรีดเงินคนแก่ในช่วยฝึกงานไปด้วยอย่างสบายใจ มันช่างเป็นที่ทางทำมาหากินที่ง่ายดายเสียนี่กระไร

โยโมกิ ริโกะ หัวหน้าสาขาอิเกะบุคุโร่ (Ikebukuro) มีใครคุ้นชื่อบ้างมั้ยคะ นี่เป็นถิ่นแกงสเตอร์ในเรื่อง IWGP (Ikebukuro West Gate Park) ที่ผู้เขียนจำได้แม่น เพราะชื่อถิ่นนี้ทำให้นึกถึงโยสึเกะ คุโบซึกะ ผู้รับบท ทาเคชิ King แห่งแก๊ง G-boys ผู้คุมถิ่น Ikebukuro ขึ้นมาจับจิต ^^ ความที่ริโกะเป็นยากูซ่าสาวหน้าสวยแจ่มเช่นนี้ เธอจึงมีปัญหากว่าคนอื่นๆ อาจมีเหตุผลให้ยอมรับ"หัวหน้าผู้หญิง" กันเองภายในกลุ่มได้ แต่มันไม่ง่ายจะเป็นที่ยอมรับจากยากูซ่ากลุ่มอื่นๆ ภายใต้องค์กรเดียวกัน เพื่อที่จะให้กลุ่มของเธออยู่รอดอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ถูกดูแคลนจากยากูซ่ากลุ่มอื่นๆ และกลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกตั้งเป็นเป้าโจมตี ทางออกเดียวที่จะช่วยรักษากลุ่มของเธอให้มั่นคงได้ ริโกะต้องขึ้นครองตำแหน่ง Kashira ตำแหน่งที่ไม่ได้สำคัญสำหรับทุกคน แต่สำหรับริโกะมันสำคัญมากเธอจึงมีความมุ่งมั่นจริงจังกับเรื่องนี้กว่าใครๆ




คุโรซาวะ โกโระ บุคลิกผู้นำดูไม่ใช่ เพราะแม้แต่ความเป็นหัวหน้าสาขาชินกาวะก็ยังมองไม่เห็นราศี แต่ถ้าเป็นนักเลงหัวไม้ทั่วไปล่ะก็ใช่เลย โกโระดูจะไม่ได้ใส่ใจกับตำแหน่ง Kashira สักเท่าไหร่ ได้ก็คงดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เขาคงเชื่อว่ามีคนที่เหมาะกับตำแหน่งนี้มากกว่าเขาอยู่แล้ว นั่นคือ ฮิโกอิจิ ที่โกโร่พร้อมจะก้มหัวยอมรับ เพราะโกโระเรียกเขาว่า "อานิกิ" ในขณะที่กับคนอื่นๆ เขาวางตัวอย่างเท่าเทียมกัน

โกโระเป็นคนเลือดร้อน อารมณ์มุทะลุ ไม่คิดหน้าคิดหลัง เห็นอะไรผิดหูผิดตาพาอารมณ์ขึ้นก็กระโจนเข้าใส่ทันที ชอบโกโระตอนชกต่อยจริงๆ แบบว่า นายห้าวมาก แต่เห็นอย่างนี้เขาแอบก็มีใจเสน่ห์หาต่อ Helper สาวนามว่าฮารุนะ (ริสะ) ผู้ที่ความน่ารักค่อยๆ จับหัวใจนายยากูซ่ามากขึ้นทุกวันๆ



นิฮอนบาชิ เคนโงะ หัวหน้าสาขานิปโปริ การเป็นยากูซ่าทำให้ตัวเขาไม่เป็นที่ปรารถนาของครอบครัว ทั้งภรรยาที่เลิกราและลูกสาวที่เมินเฉย บางทีการเลิกเป็นยากูซ่าอาจจะทำให้ครอบครัวคืนกลับมา แต่ว่าสิ่งที่ใครๆ อยากให้เป็น กับสิ่งที่ตัวเขาเองอยากจะเป็น มันก็ยากจะตัดสินใจ จะเลือกเป็นคนของครอบครัว หรือจะเป็นตัวตนของตัวเอง ?



มุกุรุมะ มาซาโตะ เขาเป็นยากูซ่าแต่ว่าหน้าตาดูเหมือนพวกเด็กเรียนในมหาวิทยาลัย ไม่ชอบใช้กำลัง เพราะมันมีตั้งหลายวิธีที่จะใช้สมอง สองมือบนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ ค้นหาข้อมูล วิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ ไม่ชอบเข้าไปเกี่ยวพันกับปัญหาและความยุ่งยากใดๆ โดยไม่จำเป็น (เสียงพลังงานโดยใช่เหตุ) จึงดูคล้ายไม่ยี่หระกับเรื่องของใคร และถูกมองเป็นคนเห็นแก่ตัว

ทากายามะ มิยากิ ลูกชายของ Kashira กลุ่มฮายาบุสะ รับบทโดยนักแสดงชื่อยาบุ ที่เหมือนจะเป็นใครคนหนึ่งที่สำคัญสำหรับสาวๆ เพราะเขามาจากวง Hey!Say! Jump! (ผู้เขียนไม่รู้จักหรอก แต่เข้าใจว่าดัง) มิยากิมีใจชอบพอริโกะจังอย่างออกนอกหน้าแต่ยากูซ่าสาวจะไปมีใจให้ใครอื่นได้นอกจากพระเอก บทบาทของยาบุมีค่อนข้างน้อย ไม่โดดเด่นอะไร

ทางด้าน บ้านพักคนชรา Taiyo Nursing Home.



โซนาซากิ ยาสุฮิโระ เจอคุณลุงโอสุกิ เรนอีกแล้ว รู้สึกพักนี้จะเจอกันบ่อย เป็นนักแสดงอาวุโสก็ดีเช่นนี้แล เล่นบทไหนก็ได้ มีบทในละครให้เล่นมากกมาย ล่าสุดเพิ่งเจอกันไปใน Hungry กับบทคุณพ่อของพระเอก เรื่องนี้รับบทผู้จัดการบ้านพักคนชรา เป็นคนใจดีมีเมตตา รู้จักให้โอกาสคน ไม่มีแบ่งแยกจะเป็นใครมาจากไหน มีชีวิตพื้นเพมาอย่างไร ถ้าหากเขาเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็ควรช่วยเหลือ เขามีความเข้าใจ บ้านพักคนชราก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่ต้องบริหารจัดการให้อยู่รอด แต่มโนธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะละเลยมันไปเพียงเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจไม่ได้ แม้ว่าความช่วยเหลือย่อมมีขีดจำกัด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องพยายามกับอะไรๆ ให้ถึงที่สุด



เรย์จิ อิซุมิ หุหุ หนุ่มคนนี้ทำให้ซีรีย์ Ninkyo helper มีความน่าดูเพิ่มขึ้นมากมาย ยูสุเกะเป็นนักแสดงที่รู้สึกเฉยๆ เมื่อเห็นกันแรกๆ แต่พอเห็นอยู่เรื่อยๆ ก็ชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน ดูมาก็ตั้งหลายเรื่อง เพิ่งจะสังเกตจริงจังเป็นครั้งแรกว่าหนุ่มคนนี้ตัวสูงใหญ่ไม่ใช่เล่น แม้จะไม่หล่อเหลาเอาการแต่ก็ดูดีอยู่ตลอด ตอนดู Tumbling ไม่สังเกตนักคงเพราะยูสุเกะถูกแวดล้อมด้วยหนุ่มๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน(ที่หล่อกว่าด้วย) แต่พอมายืนอยู่กับพระเอกเรื่องนี้ รู้สึกว่าพระเอกสึโยชิจะดูผอมแคระไปเลย

อิซุมิเป็นเจ้าหน้าที่ซีเนียร์บ้านพักคนชรา แต่ด้วยบุคลิกและสายตาที่มองดูเจ้าหน้าที่หน้าใหม่ทั้งหก ไม่มีวี่แววหวั่นไหวในบุคลิกหยาบๆ กร้าวๆ ของคนเหล่านั้นแม้แต่น้อยติดจะรำคาญใจด้วยซ้ำไป ครั้งแรกที่โกโระกระโจนจะเข้าเล่นงานเขา ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เร็วแรงอย่างน่าแปลกใจ จนแม้แต่โกโระเองยังตกใจและต่อมาก็แอบมีความเกรงๆ ไม่กล้าแหยมกับอิซุมินัก เพราะดูจะมี "ความดุ" เอาเรื่องเหมือนกัน นั่นจึงทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าอิซุมิน่าจะมีอะไรที่มากกว่าความเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลคนแก่ธรรมดาทั่วไป และเขาก็เป็นใครคนหนึ่งที่สำคัญจริงๆ ซะด้วย ปลื๊มปลื้ม! (นายเท่มาก)



มิโซระ ฮารุนะ ตอนแรกคิดว่าเธอจะมาในบทหน่อมแน้มอาโนเนะที่น่ารักสดใสตามสไตล์สาวคอมเมดี้อย่างที่เคยเห็นทั่วไป ซะอีก แต่ที่จริงแล้วบทของริสะค่อนข้างออกแนวดราม่าน้ำตาเล็ดกันเลยทีเดียว เพราะเธอเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีความจริงจังอย่างจริงใจ เธอรักในงานที่ทำ และเพราะทำด้วยความรู้สึกมากกว่าทำเพราะมันเป็นหน้าที่นี่เอง จึงมักเป็นปัญหากับตัวเธอให้ต้องเสียใจเสียน้ำตากับเรื่องราวชีวิตน่าสงสารของคนแก่ ที่เธอคิดว่าเธอช่วยอะไรใครได้ไม่มากนัก ผิดพลาด ไม่เก่ง ไม่รู้อะไร และยังไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ดีพอ





อยากให้ฮารุนะเป็นคู่ของใครสักคน ที่ไม่ใช่พระเอก! คู่กับโกโระก็ได้ คู่กับอิซุมิได้จะยิ่งถูกใจมาก ตอนเธอเริ่มซึมซับหัวใจลูกผู้ชายของพระเอกฮิโกอิจิ ผู้เขียนก็เริ่มไม่สบอารมณ์ ขอเหอะอย่าให้เป็นพระเอกเลย เป็นโกโระ หรือ อิซุมิจะได้ไหม แต่ซีรีย์ไม่เน้นรัก ย่อมไม่มีอะไรขัดใจนักในแง่นี้ เพราะถึงอย่างไรโกโระก็ชอบฮารุนะ แต่คนที่ฮารุนะใกล้ชิดมากกว่าใครคืออิซุมิ เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เสียดาย (อีกละ) ที่ผู้เขียนบทไม่ยอมเขียนให้สองคนนี้รักกัน เพราะฮารุนะกับอิซุมิเป็นเพื่อนร่วมงานที่มักจะอยู่ใกล้กันบ่อยๆ แค่ยืนอยู่ด้วยกัน ยังไม่ทันทำอะไรก็น่ารักแล้ว เห็นอย่างนี้ขอเป็นพระเอกนางเอกคู่กันสักเรื่องเถอะ อยากเห็นจริงๆ

ริสะเล่นเรื่องนี้ ชอบใจจริงๆ ค่ะ ถือว่าได้เห็นริสะในบทบาทอื่นบ้าง เพราะไม่เคยเห็นเธอในบทดราม่าลักษณะนี้มาก่อน




Heartfull Bird Company

บ้านพักคนชราแห่งนี้ ต้องอธิบายก่อนว่าไม่ใช่สถานสงเคราะห์ที่มีลักษณะเป็นมูลนิธิคอยช่วยเหลือดูแลคนแก่ถูกทอดทิ้งโดยไม่มีค่าตอบแทนอะไร แต่จะมีลักษณะเป็นองค์กรธุรกิจ เพราะอยู่ภายใต้บริหารจัดการของบริษัท Heartfull Bird เหมือนเป็นสถาบัน Health Care ที่คนชราจะอยู่อาศัยก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นการว่าจ้างดูแล และคนที่จ่ายเงินก็คือลูกๆ ที่เอาพ่อแม่ผู้แก่ชรามาทิ้งไว้ที่นี่



ฮาโตริ อากิระ เป็นประธานผู้บริหารบริษัท Heartfull Bird เธอเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงสังคมกับภาพลักษณ์ของนักธุรกิจสาวผู้มีจิตสังคมสงเคราะห์ เพราะเธอทำงานด้านสวัสดิการช่วยเหลือสร้างที่พักพิงแก่คนชราเหล่านี้แหละ แต่เธอก็มีเบื้องหลังที่น่าสงสัย ระหว่างอุดมการณ์จริงแท้ หรือแค่ต้องการชดเชยความผิดที่ครั้งหนึ่งเธอเคยทอดทิ้งแม่ของตนเอง แม่ที่แก่ชราและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อันมีสาเหตุมาจากโรคร้ายที่ชื่ออันไซเมอร์

บางทีสิ่งที่คนอื่นรับรู้หรือมองเห็น มันอาจมีเหตุผลอะไรมากกว่าความจริงที่มันเป็น มากกว่าที่จะมาเรียกร้องให้ใครเข้าใจได้ ฮาโตริเป็นหนึ่งในคนที่เข็มแข็งพอและไม่ต้องการอธิบายตัวเองกับใคร แม้ผลกรรมนั้นจะตามสนองมาอย่างไวเพราะเธอก็กำลังป่วยด้วยอันไซเมอร์ด้วยเหมือนกัน ปัญหาคือเธอจะทำอย่างไรกับชีวิตที่กำลังจะเริ่มลืมทุกสิ่งทุกอย่าง เธอเป็น Working Woman คนเก่ง เป็น Single Mum ที่เลี้ยงลูกชายตามลำพัง แล้วจะทำอย่างไรกับตัวเองที่กำลังจะกลายเป็นคนไร้ประโยชน์ ถ้าไม่เหลือความทรงจำใดๆ และจำไม่ได้แม้แต่ลูกชายเล็กๆ ที่ยืนอยู่ตรงหน้า




ฮาโตริ เป็นตัวละครหลักของซีรีย์เรื่องนี้ บทเด่นพอๆ กับยากูซ่าสาวเมสะ จะว่าเป็นนางเอกอีกคนของเรื่องก็ยังได้ เพราะต่อมาพระเอกก็เริ่มมีความรู้สึกทางใจกับเธอด้วย บทบาทของฮาโตริเหมือนถูกตั้งเป็นคำถาม ตัวละครตัวนี้เห็นแก่ตัวและทำทุกอย่างเพื่อธุรกิจจริงหรือ หรือแท้จริง เธอก็แค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตและรับมือกับมันอย่างมืออาชีพ ไม่ยอมปล่อยเอาอารมณ์ความรู้สึกมาทำให้อะไรๆ อยู่เหนือการควบคุม



ฮาโตริ เรียวตะ ลูกชายคนเดียวของแม่ (ฮาโตริ อากิระ) เด็กชายขาดพ่อที่อยู่กันกับแม่แค่สองคน แม่ที่ทำแต่งานและงาน แต่เรียวตะก็เข้าใจแม่ของเขาที่จำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อเขาเสมอ เพราะอยากเป็นคนเข้มแข็งคอยปกป้องแม่ เรียวตะที่บังเอิญได้ล่วงรู้ความจริงว่าพวกฮิโกอิจิเป็นยากูซ่า (ปลอมตัวมา) จึงใช้ความลับนี้เป็นข้อต่อรองให้เขาได้เอาตัวเองมาตีซี้กับฮิโกอิจิด้วยการเรียกร้องขอเป็น Shatei (a yaguza term with literally mean younger brother) แม้ไม่ได้รับการยอมรับแต่เรียวตะก็เรียกฮิโกอิจิติดปากว่า "อานิกิ" ด้วยหวังจะได้รับการเสี้ยมสอนให้เป็น Hoodlum ที่แข็งแกร่ง แล้วเพื่อนที่โรงเรียนจะไม่มีใครกล้ามารุมแกล้ง จะได้กลายเป็นคนเข้มแข็งที่ดูแลตัวเองและแม่ของเขาได้



ความสัมพันธ์ของเรียวตะกับฮิโกอิจิไม่ได้ราบรื่นนัก ยากูซ่าจะมาพอใจอะไรกับเด็กน้อยที่คอยมาป้วนเปี้ยนเกาะติดน่ารำคาญ แต่มันก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายตัวน้อยกับยากูซ่าหนุ่มใหญ่ที่ค่อยๆ พัฒนาเป็นความผูกพันทางใจที่มีต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ (แต่อย่าหวังจะเห็นอะไรที่มันออกน่ารัก เพราะเขาคือยากูซ่าที่ไม่ปราถนาแสดงใจดีกับใคร)

ตอนที่ฮิโกอิจิตบหัวเรียวตะเป็นฉากที่ทำน้ำตาซึม ตบอย่างแรง (แต่น่าจะเป็นแค่การแสดง เพราะมันต้องเจ็บมากแน่ๆ ถ้าต้องตบจริง) กับเด็กตัวแค่นั้น แทนที่จะช่วย จะปลอบ เขากลับตบเด็กชายอย่างแรง เป็นฉากที่อินอึ้งไปเลย การสะบัดมือตบหัวของฮิโกอิจินี่มันดูเป็นนักเลงจริงๆ คนที่โดนอยู่เรื่อยคือโกโระซัง ที่ก็ไม่ได้ถือสา เพียงแต่ข้า-งง ประมาณว่าลูกพี่ตบผมทำไม พูดไม่สบอารมณ์นิดหน่อยก็ตบหัวกันซะแล้ว (ตลกดี แต่ก็แอบสงสารโกโระ)

เคยเห็นคาโต้ในเรื่อง Yamato Nadeshiko Shichi Henge เป็นตัวละครเด่นที่เหมือนถูกผูกติดกันไว้กับพระเอกของเรื่องคือคาเมะ เรื่องนี้ก็เข้าคู่ควบอารมณ์อยู่กับพระเอกยากูซ่าเป็นตัวละครสำคัญอีกเช่นกัน เพราะคาโต้ต้องมีบทบาทอยู่กับทั้งฮิโกอิจิและแม่ของเขาเองที่เป็นตัวละครหลักของเรื่องทั้งสองคน



Ninkyo Helper เป็นซีรีย์ที่ชนะผลโหวตประจำปีของนิตยสาร Smiley TV life ที่มีทั้งหมด 7 รางวัล กวาดมาได้ 5 รางวัล คือ Best Drama (ในกระทู้เขาเล่าว่า...เฉือนชนะจินหมอทะลุศตวรรษ) Best Actor (Kusanagi Tsuyoshi) Best Supporting Actress (Kuroki Meisa) Best New Comer (Kato Seishiro) และ Best Theme Song (SMAP: Sotto Kyutto) หากเอาความเป็น Best Drama ไปเทียบกับจิน ส่วนตนผู้เขียนคิดว่ามันก็เทียบกันยากเพราะมันคนละสไตล์ แต่ถ้าจะเทียบ ผู้เขียนก็ยกโหวตของตัวเองให้ Ninkyo Helper เหมือนกัน เหตุผลง่ายๆ เพราะผู้เขียนเป็นชนกลุ่มน้อยที่ดู Jin หมอทะลุศตวรรษแล้วไม่ได้สนุกอินชวนติดตามอย่างที่คาดหวังเอาไว้ค่อนข้างมากจากซีรีย์ที่ใครก็ชอบทั้งบ้านทั้งเมือง และก็บอกไม่ถูกนักว่าทำไมถึงได้รู้สึกผิดแผกไปจากคนอื่นๆ ดูค้างไว้ถึงตอนที่ 10 นานแล้ว ยังไม่พร้อมมีใจอยากกลับไปดูให้จบเลย



Ninkyo Helper ผู้เขียนก็ไม่ได้ประทับใจอะไรนัก แต่ถ้าว่ากันด้วยเรื่องของการเป็นซีรีย์ที่ดี ก็ถือว่าดีมากและถ้าจะได้รับรางวัลก็สมควร เพราะมีเนื้อหาสาระที่เข้าถึงอารมณ์ มีคนที่ชอบ Jin แต่ก็ชอบ Ninkyo มากกว่า ได้ให้เหตุผลว่าเพราะมันให้ความรู้สึกที่ใกล้ตัวมากกว่าซีรีย์หมอจิน ผู้เขียนก็เห็นคล้อยตามนั้น เรื่องของคนแก่ คนถูกทอดทิ้ง คนแบกรับภาระดูแล ซึ่งบางครั้งมันก็มีความจำเป็นที่ต้องทนตากหน้าเป็นคนอกตัญญู บางทีมันก็เป็นความจริงที่ว่า คนๆ เดียวไม่สามารถแบกรับภาระทุกอย่างได้ทั้งหมด เหมือนที่ลูกๆ ที่ต้องทำงานหาเงิน ต้องเอาพ่อ เอาแม่มาฝากไว้ที่ Taiyo Nursing Home แต่บางทีมันก็ไม่ใช่เหตุผลแต่เป็นแค่คนที่เต็มไปด้วยข้ออ้าง ลูกบางคนอยากจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำใจไม่ได้ที่จะเอาแม่มาฝากไว้ที่บ้านพักคนชราซึ่งมันคงไม่ต่างกันนักกับการทอดทิ้ง แต่สุดท้ายก็รับความกดดันในชีวิตไม่ไหวจนนำพาไปสู่การคิดฆ่าแม่ ฆ่าตัวเองให้ตายไปด้วยกัน เรื่องของวัฏจักรชีวิตที่ย่อมมีความเสื่อมถอยทั้งด้านสังขารร่างกาย และสถานะตัวตนที่เคยรุ่งเรืองมีผู้คนแวดล้อมหน้าหลัง แต่ก็ยังมีวันที่ต้องพบกับความตกต่ำไม่เหลือใคร กับแค่เรื่องการใส่ผ้าอ้อม แค่เรื่องผ้าอ้อม มันเป็นเรื่องเป็นราวที่สะท้านใจให้รู้สึกเศร้าได้อย่างมาก คนแก่บางคนต้องตายลงอย่างไร้ญาติขาดมิตร อาจจะมีเจ้าหน้าที่ในบ้านพักคนชราคอยแวดล้อม แต่นั่นก็ไม่ใช่ลูกหลาน สำหรับผู้เขียนแล้วมันดูเป็นเรื่องเศร้าที่สะเทือนความรู้สึก มันเป็นความตายที่เดียวดายจนเกินไป และชวนให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะต้องทำอย่างไร ถึงจะไม่ต้องตายอย่างน่าเศร้าแบบนั้นในตอนแก่



ประเด็นของการเลือกผู้นำยากูซ่าที่ดึงดูดความสนใจแต่แรก กลับไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป เพราะระหว่างที่เรื่องดำเนินไป ซีรีย์ได้ให้อะไรหลายอย่างจากชีวิตของคนแก่แต่ละคน จากการมีส่วนร่วมของนักแสดงทั้งอาวุโสและไม่อาวุโสที่รับเชิญมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของคนแก่ในแต่ละตอน

สำหรับฝีมือของนักแสดงหลักทั้งสองคน สึโยชิ ได้ชัยกับ Best Actor และเมสะคว้า Best supporting actor จาก TDAA ครั้งที่ 62 มาครอบครองเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ซีรีย์เรื่องนี้

คุโรกิ เมสะ ผู้หญิงคนนี้โครงสร้างทางรูปร่างหน้าตาของเธอช่างแจ่มจริงๆ ผู้เขียนไม่ได้ชอบเมสะมาแต่ไหนแต่ไร แต่มันจำเป็นอยู่นั่นเองที่ต้องเห็นเธอ เพราะเธอมักจะได้เล่นซีรีย์ที่น่าสนใจกับพระเอกที่ผู้เขียนชื่นชอบ ความรู้สึกต่อเธอไม่เคยดีขึ้นหรือแย่ลง ก็ยังคงธรรมดาต่อไป แต่ถ้าว่ากันด้วยความสวย ยอมรับอย่างเต็มปากเต็มคำว่าเมสะคนนี้เธอเป็นนางเอกที่สวยจริงๆ

ส่วนพระเอก ยังคงยืนยันเจตนารมณ์เดิมว่าไม่มีความปลื้มอะไร แต่ก็ไม่รังเกียจ ถ้าเขาจะแสดงอยู่ในพลอตเรื่องน่าสนใจและถ้ามีหนุ่มๆ รอบข้างเป็นแรงช่วยผลักดันให้น่าดู แต่ถ้าไม่ได้เงื่อนไขเหล่านี้ ก็...นะ.. สึโยชิ ต้องรอไปก่อน



ชอบฉากจุดดอกไม้ไฟชมดอกซากุระบานบนแผ่นหลังฉากนี้มากค่ะ บอกความรู้สึกไม่ถูกเลย ต้องเข้าใจว่าพระเอกไม่ใช่คนที่ดีนัก แต่ฉากนี้มันเป็นฉากที่รู้สึกได้เลยว่า เขาก็ไม่ใช่คนเลวจากก้นบึ้งด้วยเหมือนกัน ติดจะมีความอ่อนโยนอยู่ลึกๆ ในหัวใจซะด้วยซ้ำ

รอยสัก อันเป็นสัญลักษณ์ของยากูซ่าและต้องคอยปกปิดเป็นความลับ ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ชอบมากในซีรีย์เรื่องนี้ มันมีฉากเท่ๆ เกี่ยวกับรอยสักอยู่หลายฉากไม่ใช่เฉพาะของพระเอก แต่ของคนอื่นๆ ด้วย ทั้งรอยสักของยากูซ่าผู้ชรา หัวหน้ายากูซ่าแก๊งศัตรูที่จับพลัดจับผลูต้องมาอยู่บ้านพักคนชราแห่งนี้เหมือนกัน การเปิดเผยรอยสักของโกโระที่เรียบง่ายแต่ได้ใจในเชิงสื่อความหมาย รอยสักของใครบางคนที่เฉลยความเป็นมา (คันไม้คันมือ อยากพิมพ์เล่าความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องรอยสักมาก แต่ก็ไม่อยากสปอยล์เยอะเกินไป)




ยากูซ่าทั้งหก ต้องมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ Helper คอยดูแลคนแก่ที่บ้านพักคนชรา ต้องไปข้องเกี่ยวกับปัญหาจุกจิกกวนใจ แต่จะทำนิ่งดูดายก็ทำไม่ได้ แถมยังต้องคอยระวังไม่ให้ไปมีเรื่องกับองค์กรยากูซ่าอีกกลุ่มที่เป็นศัตรูกัน (บ้านพักคนชราอยู่ใกล้สำนักยากูซ่าศัตรู) การเป็น Helper มันขัดแย้งกับวิถีของการเป็นยากูซ่าอย่างสิ้นเชิง และสถานะของยากูซ่าเองก็ที่เป็นที่รังเกียจของคนในสังคมด้วย



บทสรุปคงไม่ยากจะคาดเดา คือ ใครสักคนต้องได้รับตำแหน่ง Kashira และใครบางคนอาจเปลี่ยนทางตามหัวใจที่เลือกเดิน ในท่ามกลางปัญหาวิกฤตมีความสับสนในบทบาทของตนเองเกิดขึ้นระหว่างการเป็น Helper และการเป็นยากูซ่าที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า อันธพาล (Hoodlum)



แต่ที่สุดแล้วมันไม่ได้สำคัญที่ว่าพวกเขาเป็นอะไร

Helper หรือ Hoodlum

มันสำคัญอยู่ที่พวกเขาเลือกจะทำอะไร
เลือกจะเป็นใคร ที่พวกเขารู้ย่อมรู้แก่ใจดีว่า
ใครคนนั้น ใช่ หรือ ไม่ใช่ ตัวตนของพวกเขาเอง

เป็น Helper ใช่ว่าความกรุณาจะช่วยแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง
แต่เป็น ยากูซ่า ก็ใช่ว่าจะต้องไร้หัวใจ

ก็แค่ มันจำเป็นต้องมีทางออก..ที่ดีพอ



































ขอบคุณ Dramawiki , DramaCrezy.net , ห้องบันเทิงแดนซากุระ (พันทิป




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2555    
Last Update : 24 สิงหาคม 2555 7:46:19 น.
Counter : 13684 Pageviews.  

Don Quixote / ดอนกิโฆเต้ / อุดมการณ์อัศวินจากชายยากูซ่า



ข้อมูลจาก Dramwiki
Title : Don Quixote
Episodes: 11 Viewership rating: 10.9%
Broadcast : NTV 2011-Jul-09 to 2011-Sep-24 Saturday 21:00
Screenwriter: Oishi Tetsuya, Nemoto Nonji
Producer: Yamamoto Yukari, Watanabe Hirohito
Director: Nakajima Satoru, Otani Taro
Music: Kaneko Takahiro






Smiley Smiley โชตะคุง


あなたがすきです。อะนะตะงะซุคิเดส I love you ฉันรักคุณ

ฮ่าฮ่า เป็นปลื้มถึงขั้นต้องบอกรักกันออกสื่อเลยทีเดียวกับผลงานของ มัตสึดะ โชตะ เรื่องนี้

Don Quixote /ดอนกิโฆเต้

ดูเหมือนว่าซีรีย์ญี่ปุ่นทั้งหมดที่ดูผ่านมาครึ่งปี (กี่เรื่องไม่อยากนับ )
ชอบเรื่องนี้ที่สุดเลย เฮฮาสบาย ยิ้มได้เรื่อย หัวเราะก๊ากเป็นระยะ

ไม่อัดสาระ ไม่ระดมวาทะแทงใจ ไม่อุดมการณ์จี๋ ไม่จรรยาบรรณจ๋า
แต่ว่า...โดน




แต่ไม่อัดสาระ ไม่ได้แปลว่าไม่มีนะคะ นี่เป็นซีรีย์เนื้อหาดีเลยทีเดียวล่ะ เพียงแต่ไม่ได้ใส่มาแบบจัดเต็ม ที่บางครั้งก็ให้ความรู้สึกหนักหนา จะยัดเยียดจรรยาบรรณสุดกึ๋นกันไปถึงไหน (แต่ก็ชอบ) ดอนกิโฆเต้ จึงเป็นคอมเมดี้ที่ดูแล้ว feel good ดูแล้วได้หัวเราะผ่อนคลาย (แม้ DramaWiki จะจัดประเภทเป็น Drama ก็ตาม)



สงสัยมากมาย ทำไมต้องชื่อเรื่อง Don Quixote มันเกี่ยวอะไรกับ ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน ดอนกิโฆเต้ อัศวินแห่งลามันซ่า นวนิยายแห่งราชอาณาจักรสเปนที่ได้รับคัดเลือกจากนักเขียนดัง (รางวัลโนเบล) 100 คน จากประเทศต่างๆ 54 ประเทศว่าเป็นนวนิยายที่ดีที่สุดในโลก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกกว่า 80 ภาษา กล่าวกันว่าในด้านวรรณคดี ดอนกิโฆเต้นับเป็นนวนิยายเรื่องแรกของโลก มีสถิติการพิมพ์มากที่สุดในโลก(เป็นรองแค่คัมภีร์ไบเบิล) และองค์การยูเนสโกยังระบุว่าเป็นหนังสือที่มีผู้อ่านมากที่สุดในโลกด้วย

ดังนั้น บางคนถึงกับว่าดอนกิโฆเต้เป็นความอัปยศแห่งวงการหนังสือไทย เพราะขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีการแปลกันมานานมากแล้ว ประเทศไทยเราเพิ่งจะมีการแปลให้คนไทยได้อ่านกันเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง (ภาษาสเปน ค.ศ.1605 ภาษาไทย ค.ศ. 2005) เป็นหนังสือที่ไม่กล้าจะถาม “เริ่ดขนาดนั้นเทียวรึ ?” เนื่องจากนี่เป็นทรัพย์วรรณกรรมอันล้ำค่าของสเปนที่คงจะมีเกียรติยศหลายสิ่งหอย่าง เช่นที่ หนังสือฉบับแปลนี้ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสเปนก็ได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นพิเศษ เป็นครั้งแรก เนื่องในวาระครบรอบสี่ร้อยปีวรรณกรรมเรื่องดอนกิโฆเต้ จำนวนสองเล่ม - หนึ่งเล่ม เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแห่งราชอาณาจักรไทย และอีกหนึ่งเล่ม ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นที่ระลึกแด่สมเด็จพระราชาธิบดี ฆวน การ์ลอส ที่ 1 และสมเด็จพระราชินีโซเฟียแห่งราชอาณาจักรสเปนในวโรกาสเสด็จเยืนอ ราชอาณาจักรไทย ( พศ. 2549 / 2005)

นั่นคือ ดอนกิโฆเต้ ที่ผู้เขียนเพิ่งรู้





แต่ตอนที่ยังไม่รู้อะไรเลยนะ หนังสือปกนี้ก็ดึงดูดสายตาทันทีตอนที่มันวางอยู่ในร้านหนังสือ ด้วยรูปเล่ม สีสัน ลวดลาย อักขระ และระดับความหนา ที่จัดพิมพ์มาพร้อมกับถ้อยคำโปรโมตหนังสือสุดจี๊ด

"....รัฐบาลของอารยประเทศทั้งหลาย ถือเป็นภาระหน้าที่ในอันจะให้คนของตน
ได้อ่านวรรณกรรมสำคัญของโลกเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ
ขณะผู้คนในบางประเทศ ต้องกระเสือกกระสน ดิ้นรน ขวนขวาย ไขว่คว้า หามา"


"ในชั่วชีวิตหนึ่ง หากแม้นสวรรค์ทรงอนุญาตให้อ่านหนังสือได้เพียงเล่มเดียว
จงเลือกเล่มนี้เถิด ชีวิตจักไม่ตายเปล่าแน่แท้"


เจอถ้อยคำเหล่านี้เข้าไป แม่นางพรายมีหรือจะมองข้ามไปได้ นางเป็นประเภทบ้าความคมแห่งถ้อยคำที่ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่อะไรเทือกนี้อยู่แล้ว แต่ตอนได้ลูบๆ คลำๆ หนังสือปกแข็งที่ดูจะจัดพิมพ์อย่างปราณีตพร้อมด้วยแบบตัวอักษรสวยงามสะอาดตา แลดู "ขลัง" อย่างกับมีมนต์สะกด แต่พอมองราคาแล้วมนต์ก็เริ่มคลาย บังเกิดความยับยั้งชั่งใจขึ้นมานิดนึง ปกติไม่ค่อยจะมีหรอกความยับยั้งที่ว่านี้ แต่ตอนนั้นดันตกอยู่ในภาวะกระเป๋าแห้ง ทำให้ต้องคำนึงถึงหนังสือที่ยังวางเปะปะอยู่ทั่วห้องไม่ว่าจะโต๊ะคอมพิวเตอร์ หัวเตียง โต๊ะหน้าโซฟา หรือแม้กระทั่งบนชั้นตู้หนังสือในกอง “หนังสือรออ่าน” (นั่นมันเงินทั้งนั้น แต่ถ้าจะเอาไปจำนำก็คงไม่มีใครรับ) ก็เลยตัดใจวางดอนกิโฆเต้ไว้ก่อน หลังจากดูซีรีย์เรื่องนี้ จึงได้นึกถึง และเพิ่งจะรู้ถึงชื่อเสียงระบือนามในฐานะตำนานวรรณกรรมระดับโลกดังที่กล่าวมา ถามหาที่ร้านนายอินทร์สาขาค่อนข้างใหญ่ก็ไม่มีที่ร้านแล้ว ต้องสั่งสื่อทางเน็ตไปยังสำนักพิมพ์ และบัดนี้ได้มีอยู่ในครอบครองกับเขาเหมือนกัน



แล้วที่ร่ายมาซะยาวเนี่ย มันเกี่ยวอะไรกับซีรีย์ญี่ปุ่น Don Quixote ?
เอ่อ.. นางก็มิทราบตัวเองเหมือนกันค่ะ ถึงได้สงสัยนักหนาไงคะ ^^

เป็นซีรีย์ที่ไม่มีเนื้อหาอะไรมาก ก็แค่เรื่องของข้าราชการหนุ่ม-สำนักงานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน "Keihin Child Counseling Center” กับ ยากูซ่าแก่-หัวหน้ากลุ่มซาบาชิมะ

อยู่มาวันหนึ่ง....

โดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุแห่งปาฏิหารย์ ข้าราชการหนุ่ม กับยากูซ่าแก่ ดันเกิดวิญญาณสลับร่างกัน นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวความสนุกของดอนกิโฆเต้




ชิโรตะ มาซาทากะ ข้าราชการหนุ่ม วัย 24 ปี ที่เพิ่งโอนย้ายมาทำงานกับสำนักงานคุ้มครองสวัสดิการเด็กไม่นาน ยังเป็นมือใหม่หัวใจเกินร้อยแต่ประสบการณ์น้อยนิดทำให้ประสิทธิผลของงานยังไม่เกิด โดนเด็กๆ หมาง โดนบุพการีเมิน ไล่ตะเพิดแบบไม่เห็นแก่หน้าแหยๆ ที่แอบหล่ออยู่ภายใต้กรอบแว่นหนาเตอะ

แต่ด้วยเป็นชายหนุ่มผู้มีจิตใจอ่อนโยน “รักเด็ก” (แต่เด็กท่าทางจะไม่รักตอบง่ายๆ) เขาจึงมีใจรักในงานนี้และหวังจะทำงานได้อย่างเจ้าหน้าที่มืออาชีพ คือ สามารถจะรับผิดชอบดูแลเด็กแต่ละเคสได้ด้วยตนเอง เพราะช่วงเริ่มต้นของมือใหม่ชิโรตะยังคงทำงานอยู่ภายใต้กรอบการดูแลของบรรดาข้าราชการระดับซีเนียร์ทั้งหลายในสำนักงาน





ซาบาชิมะ ฮิโตชิ หัวหน้ายากูซ่ากลุ่มซาบาชิมะ ที่กำลังอยู่ในวาระรอยต่อของการช่วงชิงตำแหน่ง President คนต่อไปขององค์กรยากูซ่าใหญ่ และหัวหน้ากลุ่มที่มีคุณสมบัติถึงขั้นพอจะลงช่วงชิงตำแหน่งก็มีอยู่เพียงสองคน คือ ซาบาชิมะเอง และหัวหน้ากลุ่มเอจิซาว่า นี่คือช่วงเวลาการเตรียมตัวเข้าประชันผลงานแข่งขันบารมีเพือชี้ชะตาผู้รับช่วงตำแหน่งท่านประธานใหญ่ ผู้จะมีอำนาจและอิทธิพลสูงสุดขององค์กร

แต่ ... ยากูซ่าท่าจะโหด ดันสลับร่างกับสุภาพบุรุษสุดเนิร์ด
ที่ท่าจะเห่ย แหย ป้อแป้ซะแทบไม่เหลือเค้าแมน




จะด้วยพรพหรมอลหม่านหรือคำสาปแช่งอลเวงนี้ ภารกิจในหน้าที่การงานแห่งชีวิตของทั้งคู่ก็ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจะถึงฆาตซะแล้ว

เมื่อหนุ่มเนิร์ดสุดเนี้ยบชิโรตะ ต้องกลายมาเป็นยากูซ่าเข้าท้าชิงตำแหน่งบิ๊กบอสของวงการ แถมยังได้หุ่น เอ่อ .. หัวก็ล้าน สูงก็น้อย ถึงจะรวยและมีภรรยาสวยก็แตะต้องไม่ได้ เพราะโดนคุณสามียากูซ่าในร่างตนหมายหัวเอาไว้ ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ ถ้าเอ็งบังอาจแตะต้องเมียข้า .... นั่นไงล่ะ ใครจะกล้าหาเรื่องตายในร่างเตี้ย (ความจริงลุงก็สูงตั้ง 177 cm.แต่ที่ดูสูงน้อยอาจจะเพราะมีหัวสกรีนเฮดล่ะมั้ง)

และเมื่อยากูซ่าแก่สุดซ่า ต้องมาทำงานในองค์กรสวัสดิการช่วยเหลือเด็ก ถึงจะได้ร่างสูง หน้าหล่อ และมีผมหนาดกดำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนก็เหอะ ท่าทางจะไม่คุ้มกับการต้องหงุดหงิดเพราะเรื่องของเด็กๆ นั้น เป็นอะไรที่จุกจิกน่ารำคาญ

ชะเอิงเอย เรื่องก็เป็นเช่นนี้แล สองคนที่ต้องสลับร่าง เปลี่ยนสถานะตัวตนแบบกะทันหันและฉันไม่ต้องการ มันต้องวุ่นวายอลวนเป็นธรรมดา ตามธรรมดาของปาฏิหารย์(ไม่รัก)สลับร่าง ที่สองคนจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันในสิ่งขาด เพื่อแต่งเติมตัวเองให้เต็มบาทเต็มคน






เหตุผลนานา ที่ทำให้ชอบซีรีย์เรื่องนี้ มว๊ากกก

มัตสึดะ โชตะ รับบทยากูซ่าหน้าเข้มเหมือนพยายามจะโหด แต่นอกจากจะไม่โหดแล้วยังฮา คาแร็คเตอร์ยากูซ่าไม่ยากจะเดา ก็คล้ายๆ กับยากูซ่าในซีรีย์คอมเมดี้ทั่วๆ ไป เก๊กหน้าทำตาดุ มือล้วงกระเป๋ากางเกงต๊ะท่าจุ๊ย แบะขาเดินกร่าง ส่งเสียงโฮกฮากจากลำคอลักษณะจะทำการขู่กรรโชกตลอดเวลา ประมาณนั้น บอกไม่ได้หรอกว่าโชตะเล่นดี เพราะใครที่บุคลิกออกทางนี้คือตัวสูงหน่อยขายาวนิดหน้าไม่หล่อเนี๊ยบนักก็พอจะเล่นได้ แต่จะน่ารักน่าหมั่นไส้เหมือนที่โชตะเล่นหรือเปล่าไม่กล้าการันตี แต่โดยความชอบส่วนตนคนนี้ โชตะเล่นแล้วโดน แม้ว่าจะเปลี่ยนไปจากบทอาคิยามะซังผู้ฉลาดลึกเฉลียวล้ำไปมากจากเรื่อง Liar Game แต่ในหลายๆ เพลากับบทบาทนี้ ก็ยังคงมีเงาคาแรคเตอร์ของอาคิยามะซังปรากฏอยู่นั่นเอง (ตอนทำหน้าตาครุ่นคิด หรืออารมณ์ภาวะเคร่งเครียด) แต่โชตะแบบนี้แหละที่ ช้อบ ชอบ

โดยความขัดแย้งของตัวละครและบทบาท หนุ่มเนิร์ดต้องเป็นยากูซ่า และยากูซ่าต้องมาคลุกคลีกับเด็กๆ เมื่อตัวละครต้องทำในสิ่งที่มันสุดแสนจะขัดแย้งกับตัวเอง ความเฮฮาจึงบังเกิด





ซีรีย์เรื่องนี้เต็มไปด้วยเด็กมีปัญหา และที่ไม่ควรจะมีปัญหาพ่อแม่ก็ก่อปัญหาให้ เด็กเป็นทรัพยากรที่มีค่า น่ารักน่าถนอม ดังนั้นไม่ว่าเด็กโผล่ที่ไหน จะทำให้ซีรีย์น่าดูเสมอ ไม่ว่าจะแนวดราม่าเครียดๆ , รักใสๆ ในบทบาทส่งเสริมพระเอกนางเอก หรือซีรีย์เบาๆ ไม่ดาร์ก ไม่ดราม่า ไม่รักโรแมนติก (อย่างซีรีย์เรื่องนี้) เด็กๆ ก็มักจะช่วยทำให้อะไรๆ น่าดูชม

เพราะระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ย่อมมีระยะห่างระหว่างวัย (ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ยากูซ่าระยะห่างจะยิ่งไกลขึ้นอีกโข) ดังนั้นเมื่อสองวัยได้ใกล้ชิด โดยผู้ใหญ่มีหน้าที่โอบอุ้มดูแลเด็ก จึงมักเกิดเป็นภาพน่ารักที่ทำให้รู้สึกดี เมื่อชายหนุ่มหน้าเคร่งเสียงใหญ่ห้าวอย่างโชตะ ต้องมาคลุกคลีกับเด็กชายเด็กหญิงตัวน้อย และเด็กหนุ่มเด็กสาววัยเยาวชนในสถานการณ์ยุ่งเหยิง ด้วยสีหน้าขมวดมุ่น..กับหน้าตายุ่งยากใจของเขา ฮ่าฮ่า ฮาและน่าเอ็นดู๊!




การปรากฏตัวรับเชิญของหนูโอฮาชิ โนโซมิ นางเอกตัวน้อยจาก Shiroi Haru (ฤดูใบไม้ผลีสีขาว) ทำให้ป้าคนนี้รู้สึกปลื้มใจมาก คะแนนความชอบที่เรื่องนี้ได้ดีมีหน้าโดยหนุ่มโชตะอยู่แล้วยิ่งพลอยพุ่งพรวด เพราะหนูโนโซมิเธอมากับความน่ารักจริงๆ




ซีรีย์ดำเนินเรื่องด้วยการเดินหน้าแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนแต่ละเคส ตัวละครหลักคือยากูซ่าซาบาชิมะในร่างของชิโระตะซัง เป็นตัวละครที่ทำให้เรื่องราวมีความเบาสมอง ลดทอนเค้าโครงความเป็นซีรีย์อุดมการณ์ช่วยเหลือเด็กเพื่อผดุงจรรยาบรรณของสถานบันผู้พิทักษ์เด็กแห่งนี้ลง เพราะนี่ไม่ใช่ความฝันใฝ่ ไม่ได้เต็มใจอยากทำ แต่จำเป็นต้องทำอย่างจำใจ ทว่าดันได้ผลโดยบังเอิญ "ผล" ที่ทำให้ต้องยิ้มกว้างด้วยความชอบใจ หรือไม่ก็หัวเราะ ฮ่าฮ่าฮ่า ในกรณีที่ถูกใจอย่างยิ่ง

เรื่องของเด็ก ข้าไม่สน ข้าไม่เกี่ยว อย่าเอาข้าไปเอี่ยวด้วย แต่ว่าปัญหามันจุกจิกกวนใจ ไหนจะปัญหาพ่อแม่ ปัญหาลูกเต้า อะไรนักหนากันวุ้ย! น่ารำคาญ! พวกอาเฮียอาเจ๊ในสำนักงานนี่อีก จู้จี้จ้ำไชกันเหลือเกิน แต่นั่นยังไม่ชวนหัวเสียเท่าไอ้หนุ่มเนิร์ดที่อาศัยร่างเขาอยู่ ถึงเขาจะเตี้ย หัวล้าน แต่ก็ไม่เคยรู้สึกน่าอนาถเท่ากับการต้องทนมองกริยาอาการของตัวเองในขณะที่ไอ้หนุ่มนั่นครองร่างอยู่ ช่วยเหอะ ช่วยอย่าทำให้หน้าของฉันเป็นอย่างนั้นจะได้ไหม ขอร้อง ...แล้วไอ้หนุ่ม(ในร่างตน) นี่ก็เป็นอีกคนที่ตามเกาะติดไม่ปล่อยกับเรื่องที่ต้องคอยช่วยเหลือดูแล คอยตามแก้ปัญหาเด็กๆ ถูกแวดล้อมด้วยสภาพการณ์และสภาพคนอย่างนี้ มันน่ารำคาญใจจริง ก็เลยต้องทำงานในหน้าที่ช่วยเหลือเด็กแบบส่งๆ ไป

ทำ..ก็เหมือนไม่ได้ทำ แต่ว่าดันได้ผลแบบไม่ตั้งใจ ทุกรายไป
(ฮ่าฮ่า สุดจะบังเอิญว่าได้ผล)




ก็ใช่แต่ยากูซ่าจะลำบากหรอกนะ ชิโรตะตัวจริงในร่างยากูซ่าก็ลำเค็ญมิใช่น้อย ไหนจะคุณเมียที่คลั่งไคล้การเต้นซัลซ่า (salsa) นางผู้ยากแท้จะหยั่งถึงใจในความน่ารัก น่าเกรงใจ และน่าเกรงขาม ขาม ขาม ไหนจะมีลูกน้องทั้งสามที่พาเวิ่นเว้ออยู่กับการรักษาอิทธิพลยากูซ่าสาขาตน และสุดจะภักดี สุดโต่ง (เกิ๊น) กับเดอะมิสชั่น Pretect the boss!

เพราะต่างต้องดำเนินชีวิตในแบบที่ไม่ใช่ตัวเอ๊งตัวเอง สองคนจึงแยกจากกันไม่ออก ต้องพัวพันกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพิชิตภารกิจของกันและกันบนหนทางของคนสลับร่างที่ลุ่มๆ ดอนๆ และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับใครๆหลายอย่าง ..อย่างฮาๆ





เติมสาระความสนุกด้วยตัวประกอบที่กลมกลืนเพราะความกลมเกลียว
ไม่ว่าจะฟากยากูซ่าหรือว่าฝั่งสถาบันพิทักษ์เด็ก

โดยชื่อ Keihin Child Counseling Center เหมือนจะเป็นองค์กรให้ความปรึกษาอะไรทำนองนั้น แต่ดูจากภารกิจที่ทำกันอยู่ในเรื่องไม่ว่าจะรับแจ้งเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นกับเด็ก หรือเรื่องร้องเรียนพ่อแม่ที่อาจทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะปัญหา การให้คำปรึกษาแก่พ่อแม่ หรือครูที่โรงเรียน การนำตัวเด็กที่ถูกทุบตีหรือเหตุทำร้ายอื่นใดมาไว้ที่ศูนย์แห่งนี้และให้การพักพิงชั่วคราว การรับฝากเด็กต้องคดีเพื่อดูแลให้การคุ้มครองสิทธิ หรือแม้แต่การพิจารณายื่นฟ้องร้องเพื่อตัดสิทธิ์การเป็นผู้ปกครองของพ่อแม่ กรณีที่หากปล่อยให้มีสิทธิ์เป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรมต่อไปเด็กอาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น จึงขอเรียกหน่วยงานนี้สั้นๆ ง่ายๆ ในการเขียนว่า ศูนย์พิทักษ์เด็ก ก็แล้วกันนะ





ชอบเธอจริงๆ หัวหน้าศูนย์ มิซึโมริ มิเนโกะ , มิเนโกะจังเธอดูหน้าตาเป็นข้าราชการทำงานสามัญมาก ดูเหมือนไม่ใช่ดาราแต่เป็นเจ้าหน้าที่ตัวจริง รู้สึกอย่างนั้น เธอมักจะแต่งตัวในลุคส์สบายๆ ด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส ค่อนข้างดูเข้ากับลักษณะนิสัยคนใจดีใจใสของเธอเอง (เธอมีเค้าหน้าคล้ายผู้ใหญ่คนนึงที่รู้จัก และแน่นอนว่าเป็นคนธัมมะธัมโม เข้าใกล้แล้วรู้สึกร่มเย็น) มิเนโกะเป็นหัวหน้าที่ดีมาก ที่สำคัญพฤติกรรมของตัวละครตัวนี้มีข้อเตือนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของปมในใจเกี่ยวกับสิ่งที่เคยได้ตัดสินใจทำลงไปต่อหน้าที่ของเธอในอดีต แต่กับผลของมัน ณ ปัจจุบัน เธอไม่แน่ใจว่าที่เคยทำลงไปเพื่อช่วยเหลือเด็กมันดีที่สุดแล้วหรือเปล่า เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาลักษณะเดียวกันอีกครั้งย่อมต้องหวั่นไหวในผลทีจะเกิดตามมาอีกหนกับเด็กอีกคน แต่ว่างานก็ยังเป็นงานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องตัดสินทำมัน

แม้ซีรีย์ดูจะไม่ได้พยายามจัดหนักอุดมการณ์อย่างที่บอก แต่ก็ไม่เบากับประเด็นเด็ดๆ ที่ไม่ได้เน้นแต่ก็แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของงานเหล่านี้ การถูกข่มขู่จากผู้ปกครอง การถูกแทรกแทรงจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่สำคัญคือความยากในการตัดสินใจ เพราะการจัดการกับชีวิตของเด็กคนหนึ่งๆ นั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ดูแล แก้ปัญหา ปิดเคสแล้วจบกัน เพราะการตัดสินใจแต่ละครั้งจะหมายถึงผลพวงยืนยาวในอนาคตของเด็กที่ไม่อาจมีใครรู้ได้ว่าจะดีหรือร้าย จะสุขหรือจะทุกข์ แต่ก็ต้องตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจเลือกพ่อแม่บุญธรรมที่จะรับเด็กไปเลี้ยงดู





ส่วนเธอคนนี้ ช้อบชอบ อายูมิ ผู้ครองสถานะ “คุณนายยากูซ่า” บรรดาลูกสมุนต่างเคารพยำเกรงและเรียกขานเธออย่างน่ารัก “นี่ซัง” เธอสวมใส่แต่เฉพาะชุดยูกาตะ เธอสวย เธอโนเนะน่ารัก เธอยิ้มแย้มอ่อนหวาน เธอแสนใจดี เธอช่างเอาใจ แต่ว่าเธอก็มีความ..ฮึกเหิมที่ดุดัน (ฮ่าฮ่า) เธอหลงใหลการเต้นซัลซ่าที่คงเป็นกิจวัตรเกือบประจำวันเพราะจะเห็นเต้นกันอยู่ในทุกตอน อันที่จริงก็ใช่แต่เธอเท่านั้น สามียากูซ่าของเธอก็เป็นนักเต้นผู้จัดเจนเวทีด้วยเช่นกัน ส่วนสมุนสามทหารเสือจะทำหน้าที่เป็นเจ้าคณะให้จังหวะดนตรี มันจึงเป็นความสุดกล้ำกลืนของชิโรตะในร่างซาบาชิมะ ที่จำต้องโยกแขนขา สะบัดตัวพลิ้วตามจังหวะซัลซ่าให้เข้าขากันคล่องกับภรรยาอายูมิผู้เป็นนักเต้นเท้าไฟ ... เฮ้อ





แต่กับเขาคนนี้ ชอบมว๊ากก! “เฮียวโด” มือขวาคนสนิทของซาบาชิมะ ผู้เป็น “อานิกิ”(พี่ใหญ่)ของลูกน้องอีกสองคน “ยาสุ” และ “เคน” ไม่ว่าลุงจะโผล่หน้ามาที่ไหนเมื่อไหร่ ทั้งจังหวะโผล่หน้าตา จังหวะดนตรีประกอบ ส่วนใหญ่จะหัวเราะเพราะลุงนี่แหละ เพราะแกมากับความเคร่งเครียดตึงเปรียะ! แต่ว่ามันฮา





ถึงขาดโรมานซ์ด้านรักหนุ่มสาว (ถ้าไม่นับรักสุดฮิพของบอสยากูซ่ากับคุณนายอายูมิ) แต่ว่ายังมีความสวยของสาวรุ่นวัย 17 คนนี้ เป็นเครื่องปลอบใจ (ตอนแสดงเรื่องนี้เธอายุ 19) แรกๆ ไม่ชอบเลยเด็กสาวคนนี้ ได้แต่รำพึงกับตัวเองสามคำเบาๆ “โห...นิสัย!”

ซาจิโกะ เป็นเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์แห่งนี้มาตั้งแต่อายุห้าขวบ โดยมีมิเนโกะ (หัวหน้าศูนย์) เป็นคนดูแลเคสของเธอ แต่เธอกลายเป็นเคสตกค้าง ตามที่ซาจิโกะเป็นเด็กถูกทิ้งไว้ที่ศูนย์มานานกว่า 12 ปี และเธอกำลังย่างเข้าสู่วัยสิบแปด และตามกฏเกณฑ์การพ้นวัยเด็ก เธอจะไม่สามารถพักพิงอยู่ที่ศูนย์อีกต่อไปได้ การไม่ชอบพฤติกรรมของเธอ (เด็กอะไร้ !) จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นความสงสารเมื่อเรื่องราวชีวิตถูกทิ้งของเธอค่อยๆ เปิดเผย จากความรู้สึกนึกคิด “ยัยเด็กนี่!” เริ่มกลายเป็น ..”โถ ซาจิโกะจัง” แถมยังเสียน้ำตาให้ซาจิโกะ ทั้งที่เธอไม่ได้อยู่ร่วมในฉากนั้น แต่มันรู้เห็นแล้วรู้สึกเศร้าแทนก่อนตัวละครซาจิโกะจะทันได้รับรู้ตามหลังมาซะอีก




ความสัมพันธ์ของซาจิโกะเด็กกำพร้ากับมิเนโกะผู้ดูแล เป็นความสัมพันธ์แบบเด็กอาภัพที่ระบายความขมขื่นด้วยการทำตัวเป็นเด็กขวางโลก หัวก็มีความคิด สายตาจากความรู้สึกในใจก็มีแอบสำนึกต่อความกรุณาของมิเนโกะที่คอยตามล้างตามเช็ดกับปัญหาที่ก่อ แต่ว่า ...ก็จะดึงดันก่อปัญหาอยู่ต่อไป แล้วมิเนโกะก็ช่างเป็นคนที่มีน้ำอดน้ำทนอะไรขนาดนั้น เป็นผู้เขียนล่ะก็มีเฉดหัวส่ง (หุหุ มีนิสัยชอบเอามุมมืดของใจมาระบายใส่บล็อกค่ะ) เหตุผลของมิเนโกะในความอดทนใจเย็น อาจจะเป็นเพราะตัวตนของเธอเอง หรือส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิ่งที่เธอได้เคยตัดสินใจ ส่วนซาจิโกะก็รู้แน่อยู่แก่ใจใครที่คอยใส่ใจดูแลมาตลอด 12 ปี แต่ความเคืองขุ่นนั้นก็ตกตะกอนอยู่มากพอจะกระเตื้องตนให้ระบายออกมาเป็นการกระทำต่อต้านทุกกรณี แต่ลึกลงไปมันก็คือ ความผูกพัน ที่พาอินอยู่พอสมควรกับสองนางต่างวัยคู่นี้





ซาจิโกะจังเด็กสาวที่ซาบาชิมะตำหนิว่า Complaining everything all the time พร่ำบ่นติติงทุกสิ่งไปทั่ว แต่ก็เพราะชิโรตะ เจ้าหน้าที่เห่ยๆ ที่เปลี่ยนแปลงตัวตนอย่างกระทันหันไปเป็นห่ามๆ แต่ก็ยังคงเห่ยไม่ต่างกัน เด็กนิสัยเสียอย่างซาจิโกะ กลับค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและเติบโตขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับวัย 18 ที่เธอจะต้องออกจากศูนย์

ชอบมากเลย ตอนสาวหน้างอ แอบเผยรอยยิ้มออกมาให้เห็นเป็นครั้งแรก




ชอบความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมงานในศูนย์พิทักษ์เด็ก ดูเหมือนเป็นสำนักงานจริงๆ เป็นเจ้าหน้าที่ทำงานจริงๆ เมาท์มอยกัน มีเรื่องบ่นเรื่องว่า เรื่องปรึกษาหารือกัน นี่อาจจะเป็นฉากบรรยากาศธรรมดาที่เราจะเห็นได้ในซีรีย์ญี่ปุ่น แต่ที่ชอบเรื่องนี้เป็นพิเศษเพราะที่ห้องทำงานนั้นมันให้ความรู้สึกถึงการเป็นสังคมเพื่อนร่วมงานที่ทำงานด้วยกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย และมีความเป็นกันเอง (ชอบฉากการประชุมหารือทุกครั้งเลย)




ส่วนที่บ้านของครอบครัวยากูซ่าอาจจะต่างกันออกไปเพราะนี่ไม่ใช่ความเนียนแต่เป็นความเว่อร์เพื่อสร้างความตลกให้พอหอมปากหอมคอ ขณะที่ศูนย์พิทักษ์เด็กดูเป็นสังคมเพื่อนร่วมงานดูเนียนเหมือนจริง ที่ครอบครัวยากูซ่าอันประกอบด้วยสมาชิกคือ บอส คุณนายบอส (นี่ซัง) มือขวาหน้าตาเคร่งขรึม (แต่ชวนหัวเราะ) สองสมุนที่ดูอย่างไรก็กิ๊กก๊อก จะดูเป็นสังคมประดิษ์ที่สร้างการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวยากูซ่าเล็กๆ ที่เรียกรอยยิ้มได้ และที่เจ๋งสุดๆ ก็ต้องธรรมเนียมการเต้นซัลซ่าของครอบครัวนี่แหละ ไม่เคยเบื่อเลย ทำให้ฉีกยิ้มได้ทุกทีไปสิน่า





เมื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์เด็กกลายเป็นบอสยากูซ่า และบอสยากูซ่าไปเป็นผู้พิทักษ์เด็ก ใช่แต่สองคนต้องผูกติดเพื่อดำเนินชีวิตของกันและกันอย่างวุ่นวายเท่านั้น สมาชิกครอบครัวยากูซ่า กับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์เด็กก็ต้องมีเรื่องราวข้องเกี่ยวกันในบางกรณีด้วยเหมือนกัน ep.9-10 ว่าฮาแล้ว แต่ ep.11 ฮาได้ใจสุด เสียงหัวเราะที่ออกมาดังที่สุดก็อยู่ ep.11 นี่แหละมั้ง

เพลงธีมของซีรีย์สุดได้ใจ ซึ่งต้องใช้เวลาหากันอยู่นานกว่าจะหาเจอ เดี๋ยวเขียนบล็อกเสร็จจะโหลดมาเป็นริงโทนโทรศัพท์มือถือ เพลงเดียวนี้เลือกตัดทอนจังหวะมาประกอบได้เข้ากันกับซีรีย์ได้หลายแบบ มีทำต่างจังหวะช้าเร็วต่างเครื่องดนตรี เอามาแปะไว้เพลงแรกในจังหวะที่ชอบสุดค่ะ ขึ้นดนตรีมาเป็นได้ฮาแน่ เสียงดนตรีประกอบอื่นอย่างเช่นการปรากฏตัวของลุงยูทากะ ยากูซ่ามือขวาของบอส ก็ทำได้ขำเอาเรื่อง อีกทั้งเพลงประกอบละครฺชื่อเพลง Beautiful days ของ SPYAIR ก็ฟังติดหูดี ดาวน์โหลดมาเรียบร้อยแล้วเช่นกัน



หมดหรือยังนะความดีความชอบ นึกไม่ออกละ เอาเป็นว่าชอบเรื่องนี้ สนุกเฮฮาดี แถมยังมีสาระคละเคล้า ระดับลูกบ้าก็เบาๆ ไม่หนักหนาเหมือน Unubore Deka และน่าจะเบากว่า Samurai Highscool ด้วย คิดว่านะ




ถ้าจะมีที่คิดว่าไม่โดนอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นเรื่องบทบาทของตัวละครที่เปิดเรื่องมาแป๊บๆ ก็สลับร่าง และก็อยู่อย่างนั้นไปจนจะจบเรื่อง นั่นหมายความว่าโชตะจะอยู่ในบทยากูซ่าโฮกฮากไปตลอด (แม้จะเป็นบทที่ชอบ) บทของชิโรตะในร่างซาบาชิมะนั้นก็ดูจะตุ้งติ้งไปนิ๊ดเกินบุคลิกของหนุ่มเนิร์ดสุดเนี้ยบ นั่งหนีบเข่ากุมมือสนทนาเรียบร้อย นั่งเหนียมรีดผ้าให้เรียบสุดนิ้ง (หุหุ ภาพโชตะนั่งรีดผ้าดูน่ารักเชียว ) หรือแม้แต่การทำหน้าตาวิธีพูดจาก็หน่อมแน้มจัง แต่ก็บอกไม่ได้อยู่ดีว่าขัดกับที่โชตะแสดงเองรึเปล่า เพราะโชตะยังไม่ทันเล่นเป็นตัวเอง (ชิโรตะ) ให้เห็นชินตา ก็เปลี่ยนไปสวมวิญญาณยากูซ่าซะแล้ว บางทีนี่อาจเป็นปัญหาของพลอตสลับร่างล่ะมัง ดูอย่างซีรีย์เกาหลีเรื่อง Secret Garden พระเอกสลับร่างกับนางเอกก็ดูหน่อมแน้มเกินความเป็นตัวนางเอกที่ค่อนข้างจะเป็นสาวห้าว แต่ว่าเถอะนะ ถ้าซีรีย์เรื่องนี้มีการสลับร่างแบบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายครั้งในจังหวะสถานการ์คับขันบ้าง ก็คงจะได้อรรถรสเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกสักหน่อย




กลับมาว่ากันด้วยเรื่องของชื่อเรื่อง เข้าใจว่าตัวละครซาจิโกะคือความเกี่ยวข้องกับการตั้งชื่อเรื่อง Don Quixote เด็กหญิงซาจิโกะในวัยละอ่อนที่ประทับใจกับเรื่องราวของอัศวินดอนกิโฆเต้ (ตรงไหน ไม่รู้) และด้วยความคิดที่ว่าถ้าโลกนี้มีอัศวินแบบดอนกิโฆเต้คอยช่วยเหลือเด็กๆ อยู่ ก็คงจะดีไม่น้อย เพราะผู้เขียนยังไม่เคยอ่านหนังสือจึงไม่รู้ว่า อุดมการณ์อัศวินของชายแก่เสียจริตผู้นั้น ไปสั่นคลอนจิตใจของผู้อ่านทั่วหล้าให้ได้รับยกย่องชื่นชมจนกลายเป็นวรรณกรรมระดับโลกและมีอายุยืนยาวมาแล้วกว่าสี่ร้อยปีได้อย่างไร (ซึ่งโดยเนื้อเรื่องย่อๆ ในเน็ตนั้น ดอนกิโฆเต้ไม่น่าจะกลายเป็นวรรณกรรมระดับโลกได้เลย แต่ก็เป็นไปแล้ว จึงเป็นแรงดึงดูดให้เกิดความสนใจใคร่รู้อย่างยิ่ง) อัศวินดอนกิโฆเต้นั้นเจ๋งเป้งอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ว่าตอนยากูซ่าในร่างโชตะได้รับรู้เรื่องราวของดอนกิโฆเต้ เขาเอ่ยคำว่า

“Don-san is a cool dude”

ไม่แน่ใจว่าควรแปลคำว่า dude อย่างไร
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังขำกิ๊กกับคำแทนตัวอย่างสุภาพ “ดอนซัง”












ขอแสดงความปลื้มอีกที (ทั้งที่ก่อนหน้า ตอนซีรีย์ออกมาใหม่ๆ เคยคิดว่าพล็อตไม่น่าสนใจ ) นี่เป็นซีรีย์ที่ผู้เขียนดูแล้วiรู้สึกสนุกกับมัน เพราะทั้งเนื้อเรื่องทั้งนักแสดงมีทั้งความน่ารักน่าขำ กับคาแร็คเตอร์ขัดแย้งใจในร่างสลับวิญญาณของคนสองคน เรื่องราวคนละด้านของสององค์กร (สำนักยากูซ่ากับศูนย์พิทักษ์คุ้มครองเด็ก) โดยที่ตัวละครโดดเด่นจะเป็นบทยากูซ่าของโชตะ มากว่าบทเจ้าหน้าที่พิทักษ์เด็กของลุงคัตสึมิ (ส่วนตัวคิดว่าออร่านักแสดงนำของลุงน้อยไปนิดสำหรับการรับบทบาทตัวละครสำคัญ) เช่นเดียวกับเนื้อเรื่องก็มีน้ำหนักอยู่ทางฟากฝั่งของการช่วยเหลือดูแลเด็กมากกว่าเรื่องขององค์กรยากูซ่า(บ้าบอ)ด้วย





"I really hate you, man"
"ฉันล่ะเกลียดนายจริงๆ เลย ไอ้หนุ่ม"


ซาบาชิมะซัง (โชตะ) ก็สมควรจะอัดอั้นตันใจหรอกนะ เพราะมันหาได้ยากเย็นที่ชิโรตะในร่างยากูซ่าจะถูกใจกับพฤติกรรมแต่ละสิ่งอย่างที่ชิโรตะ (ลุงคัตสึมิ)ได้กระทำผ่านร่างตนเอง .. หน่อมแน้มอ่ะ รับไม่ได้ อย่ามานั่งรีดผ้า อย่ามาลูบคลำกิ้งก่า (สัตว์เลี้ยงแสนรักของชิโรตะเค้า) อย่ามาทำนิสัย crying out loud เห็นแล้วมันอุจาดตา

"We have to switch back soon, or else it will not be enough
no matter how much money I got"
เราต้องรีบกลับคืนร่างกันให้เร็วที่สุด ไม่งั้น
ไม่ว่าฉันจะมีเงินอยู่มากแค่ไหนมันก็ไม่พอ(ให้นายถลุง)หรอก


ยากูซ่านั้นหาเงินร่ำรวยตามวิถี(แบบไหนไม่รู้) แต่มันจะอาจจะหมดไปเร็วๆ นี้ก็ได้ ถ้าชิโระตะ (ในร่างซาบาชิมะ) ได้ใช้มันไปช่วยเหลือคนอื่นแบบไม่มีเกรงใจกัน (นั่นมันเงินของข้านะเฟ้ยยยย)






ในหนังสือดอนกิโฆเต้ อุดมการณ์อัศวินจากชายแก่วิกลจริต เป็นอย่างไร ขอย้ำอีกทีว่าไม่รู้ (เพราะยังไม่ได้อ่าน)

แต่ในซีรีย์เรื่องนี้มีคำหรูๆ เกี่ยวกับชีวิตยังมีหวังได้ถูกกล่าวไว้

Remember, as long as there is life, there will always be hope.
No matter what the hurdles are, the road is always open
Aboslutely, there is hope. Until then we must not give up,
there is no giving up.
Let us face it together with the light of hope.
So, come along with this legendary knigh.


ส่วนอุดมการณ์อัศวินจากชายยากูซ่า
ในท่ามกลางความอลเวงของสองร่างสลับวิญญาณ
อยากจะบอกว่าเข้าใจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเข้าถึง

แด่ ความฝันอันรื่นรมย์ อัศวินจำใจ และยากูซ่าจำเป็น
จึงบัญญัติอุดมการณ์ไว้เองว่า

จงเก่งกล้า บ้าบอ เป็นตัวของตัวเอง
ทำในสิ่งที่เชื่อ เชื่อในสิ่งที่ทำ
และทำตามใจปราถนา


(ฮ่าฮ่าฮ่า .... ขอหัวเราะส่งท้ายอีกทีเถิด)

** อยากรู้เกี่ยวกับ Don Quixote อีกหน่อย อ่านที่นี่ **

Smiley ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน















ขอบคุณ Dramacrezy, DramaWiki , Asianwiki.




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2555    
Last Update : 6 กรกฎาคม 2556 20:38:14 น.
Counter : 8444 Pageviews.  

Saikou no Jinsei no Owarikata / Ending Planner ผู้วางแผนความตาย คือผู้วางแผนชีวิตที่เก่งที่สุด




ข้อมูลจาก Dramawiki
Saikou no Jinsei no Owarikata / Ending Planner
Genre: Family Episodes: 10
Viewership rating: 10.9 (Kanto)
Broadcast : TBS Jan 12-Mar 15/2012 Thursday 21 :00 Screenwriter: Watanabe Chiho
Directors: Ishii Yasuharu, Kawashima Ryutaro, Yamamuro Daisuke



“นั่นสินะ คนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย
ทำให้สงสัยว่าเราเกิดมาทำไม”


ดูเหมือนซีรีย์จะเปิดประเด็นทักทายเราด้วยการชวนคุยเรื่องนี้นะคะ
เรื่องที่ตัวเองก็สงสัย และตอบไม่ได้เหมือนกัน ฉันเกิดมาทำไม ?

ยามาชิตะ โทโมฮิสะ (ยามะพี) หลังจากจบซีรีย์ Code Blue 2 ในปี 2010 พีจังก็หายหน้าหล่อๆ ของเค้าไปจากแวดวงซีรีย์ซะนาน ปี 2011 มีหนังเรื่องเดียว Ashita no Joe /โจ สิงห์สังเวียน กลับมาเล่นซีรีย์เรื่องนี้ปี 2012 ต้องถือว่ากลับมาด้วยซีรีย์เนื้อหาดีๆ และบทบาทที่ได้รับก็ดีมากด้วย

บ้านอิฮาระเป็นร้านรับจัดงานศพ
และบ้านหลังนี้มีสมาชิก 6 คน

แม่ ..ไม่มี

มีแต่พ่อ เป็นเสาหลักของครอบครัว ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกๆ ทั้งหมด 5 คน

อิฮาระ เคนโตะ ลูกชายคนโต
อิฮาระ มาซาโตะ ลูกชายคนรอง
อิฮาระ ฮารุกะ ลูกสาวคนแรก
อิฮาระ มาซาโตะ ลูกชายคนเล็ก
อิฮาระ โมโมโกะ ลูกสาวคนสุดท้อง


ทั้งหมดเป็นพี่น้องท้องแม่เดียวกัน ยกเว้นเคนโตะลูกชายคนโตที่มีแม่เป็นของตัวเองอีกคนต่างหาก อาจเป็นเพราะเหตุนี้ ที่ทำให้พี่เคนรู้สึกแปลกแยกจากน้องๆ แม้เขาจะเป็นพี่ใหญ่ใจดี รักน้องและน้องทุกคนก็รักเขา แต่เคนก็มักจะปลีกตัวหายไปจากบ้านบ่อยๆ บ้านที่ลูกๆ แต่ละคนเชื่อว่าพี่น้องทุกคนคงรู้สึกอย่างเดียวกัน คือไม่ชอบบ้านหลังนี้ที่ทำอาชีพนี้ อาชีพที่ไม่มีใครอยากทำ แต่โดยธรรมเนียม ผู้จะมีหน้าที่สืบทอดย่อมหนีไม่พ้นคนเป็นลูกชายคนโต

" ความจริงแล้ว พี่ก็ไม่ได้อยากทำงานนี้ใช่ไหมล่ะ"
" ทำไงได้ล่ะ ยังไงมันก็เป็นหน้าที่ของลูกชายคนโตอยู่แล้ว"

มาซาโตะรู้สึกโชคดีที่เขาเกิดมาทีหลังเคน พี่ชายใจดีที่ไม่คิดจะเกี่ยงงอนอะไรกับเรื่องการสืบทอดกิจการครอบครัว 'ขอบคุณจริงๆ ที่ผมไม่ได้เป็นลูกชายคนโต' เพราะเขาเกลียดบ้านหลังนี้ บ้านที่ทำกิจการนี้และทำให้เกิดความทรงจำที่ไม่ดีหลายอย่าง ถูกมองเป็นตัวโชคร้าย ถูกเพื่อนล้อเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย เมื่อมาซาโตะเป็นคนแรกของบ้านที่เรียนจบมหาวิทยาลัย เขาจึงมีโอกาสติดปีกโผบินออกจากบ้านไปแบบไม่เหลียวหลัง

4 ปี ที่เขาไม่เคยกลับบ้าน

จนกระทั่งพ่อล้มเจ็บกระทันหัน มาซาโตะจึงกลับมาทันให้พ่อได้เห็นหน้าก่อนตาย

พี่ใหญ่เคนไม่อยู่ที่นี่เหมือนเช่นเคยเป็น เขาอาจช่วยงานพ่อที่ร้านเป็นอย่างดี แต่เขาก็อยู่ๆ ไปๆ ตามใจตัวเอง อยากอยู่ก็อยู่ ไม่อยากอยู่ก็เก็บกระเป๋าออกจากบ้านหายเงียบไป ไม่ค่อยติดต่อกลับ เมื่อไหร่เขาอยากกลับมาก็จะกลับมาเอง นั่นคือพฤติกรรมของพี่ใหญ่เคนที่ทุกคนเคยชิน แต่ครั้งนี้เขาหายไปนานกว่าเคยเป็น และไม่มีติดต่อกลับมาเลยสักครั้ง เขาอยู่ที่ไหนไม่มีใครรู้ จึงไม่มีใครจะบอกกับเคนได้ว่าพ่อตายแล้ว

โดยปกติพี่เคนเป็นคนใจดีและรักพวกเขา
แต่ครั้งนี้ฮายาโตะก็อดจะพูดออกมาไม่ได้

"เขาไม่เคยอยู่ที่นี่ในเวลาที่เราต้องการเขา"

น้องๆ ของมาซาโตะ คนหนึ่งขาพิการ คนหนึ่งยังเรียนมหาวิทยาลัย และอีกคนยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม เมื่อไม่มีพ่อ ไม่มีพี่เคน พวกเขาไม่มีใคร และมาซาโตะต้องกลายเป็นพี่ใหญ่ของบ้าน

พี่ใหญ่ ที่แม้จะเติบโตในครอบครัวรับจัดงานศพ แต่ไม่รู้สักนิดว่าการจัดงานศพนั้นต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง คำถามคือ

"พี่เคนไม่อยู่ที่นี่ แล้วเราจะทำยังไงกับงานศพของพ่อ"

หรือมันจำเป็นที่เราต้องว่าจ้างร้านอื่นมาจัดงานศพให้พ่อแทน แต่ฮารุกะ น้องสาวคนโตไม่ยอม บ้านของเราคือร้านรับจัดงานศพให้คนตาย และคนที่ตายคนนี้คือพ่อของเราจะให้คนอื่นมาทำแทนไม่ได้ เธอต้องการจัดงานศพให้พ่อและทุกคนจะต้องช่วยเหลือ

“ทุกคนเติบโตขึ้นด้วยเงินที่ได้จากร้านจัดงานศพนี้เหมือนกัน”

“แต่ไม่ใช่ว่าเราจะเลือกกิจการของครอบครัวที่มาเกิดได้นี่”

ศพของพ่อนอนนิ่งสงบอยู่กลางบ้าน แต่เขาเป็นศพที่ดูน่าสงสารเหลือเกินเมื่อลูกๆ กำลังทะเลาะกันอยู่ไม่ห่างออกไปกับเรื่องที่พวกเขาแต่ละคนไม่เคยพึงใจกับการเกิดมาในบ้านหลังนี้ บ้านที่เป็นร้านรับจัดงานศพ

ฮารุกะเป็นน้องสาวคนโต เธอมีขาพิการข้างหนึ่งที่ทำให้เดินได้ไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป แต่เธอก็เป็นคนพึ่งพาได้เสมอ เธอเป็นคนดูแลจัดการงานบ้าน และช่วยพ่อทำงานที่ร้านมาโดยตลอด ฮารุกะจึงรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการจัดงานศพ ถ้าหากทุกคนจะช่วยเหลือเธอมันก็คงไม่มีปัญหาอะไร หลังจากทะเลาะกันและลงเอยด้วยน้ำตา ไม่ใช่เพราะพวกเขาร้องไห้กับการทะเลาะกัน แต่เพราะความกดดันภายในใจที่ตระหนักถึงความจริงจากนี้ได้ พวกเขาไม่มีพ่ออีกต่อไปแล้ว มาซาโตะกับน้องๆ ตกลงใจช่วยกันจัดการงานศพให้กับพ่อ แม้นั่นจะไม่ใช่งานศพที่ดีนักก็ตาม


ตามประสาผู้จัดการงานศพย่อมคุ้นเคยกับความตาย ความตาย..ที่อาจเกิดขึ้นกับใครที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ พ่อจึงเตรียมพร้อมคำสั่งเสียเอาไว้เผื่อในกรณีที่เขาตายอาจอย่างกระทันหัน คำสั่งเสียที่เขียนถึงลูกแต่ละคนสั้นๆ แต่มันคือ 'ใจความ' ที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจดีนัก แต่ 'เจ้าตัว' จะเข้าใจคำของพ่อด้วยตัวเอง

พ่อเขียนไว้ถึงลูกแต่ละคน และสำหรับคำสั่งเสียสุดท้ายที่เกี่ยวกับร้านรับจัดงานศพ หากไม่มีใครสืบทอดร้านนี้ ก็ให้ปิดตัวลงซะ

ฮารุกะ ลูกสาวขาพิการเคยทำงานร่วมกับพ่อมาตลอด จะกล้าพูดได้อย่างไรว่าอยากให้กิจการนี้ดำเนินต่อไป เธอรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการจัดการงานศพ แต่เธอทำงานนี้คนเดียวไม่ได้ และเธอไม่กล้าเอ่ยปากขอมาซาโตะให้ช่วยรับช่วงต่อด้วย เพราะฮารุกะรู้ดีไม่มีใครหรอกที่ชอบงานนี้ งานที่เป็นสาเหตุให้ทุกคนไม่ชอบบ้าน แต่สำหรับฮารุกะผู้คลุกคลีทำงานอยู่กับพ่อ นี่คืองานที่เธอรู้สึกถึงคุณค่าและเธอเต็มใจอยากทำ และก็ทำอย่างเต็มที่มาโดยตลอด แต่เธอไม่อาจจะพูดเรื่องนี้ออกไปได้ เพราะถึงอย่างไรนั่นก็เป็นความรู้สึกที่คงไม่มีใครยอมรับ

ถ้าพูดออกไป ก็จะเป็นได้แค่ข้ออ้างของคนพิการไม่มีทางไป เพราะไม่มีงานอื่นให้เลือกทำได้ เธอถึงจำเป็นต้องช่วยงานที่บ้านและเสแสร้งไม่รู้สึกอะไรที่ต้องทำงานเกี่ยวกับคนตายอยู่อย่างนี้


“ถ้าปิดร้าน แล้วฮารุกะจะทำยังไง”


นั่นคือคำถามที่แสดงถึงความห่วงใยต่อการหางานทำของฮารุกะ คำถามที่อาจจะกดดันไปยังมาซาโตะให้ต้องกังวลถึงตัวเธอ ฮารุกะจึงยิ้มแย้มออกไป

“ไม่เป็นไรหรอกค่ะ หนูยังมีอย่างอื่นที่ทำได้อยู่อีก”

มาซาโตะ ไม่สบายใจนัก แต่ถึงอย่างไรเขาก็ไม่คิดจะสืบต่อร้านนี้จากพ่อ เขาทำไม่ได้ และถึงทำได้ก็ไม่อยากทำ

หลังเสร็จสิ้นงานศพของพ่อ เพราะพี่เคนไม่อยู่ที่นี่ เขาคือพี่ใหญ่ที่ต้องดูแลน้องๆ ภาระค่ากินอยู่ ค่าใช้จ่ายเล่าเรียนทุกอย่าง ตกมาอยู่ในความรับผิดชอบ และเพื่อจะอยู่กันได้ไม่ขัดสน ทุกคนต้องกลับมาอยู่บ้านรวมกันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย มาซาโตะย้ายออกจากอพาตเมนท์และ ฮายาโตะก็ต้องออกจากหอพักกลับมาอยู่บ้านด้วยเช่นกัน

พ่อสั่งไว้ว่าถ้าไม่มีใครทำให้เราปิดร้าน
นั่นคงหมายถึง พ่อไม่ว่าอะไรหากไม่มีใครจะสานต่อ
ร้านอิฮาระรับจัดงานศพจึงกำลังจะปิดตัวลง


แต่บางครั้งคนเราย่อมมีจุดหักเห ไม่ใช่เพราะเขาได้จัดงานศพเป็นครั้งแรก งานศพของพ่อที่เขาได้ทำ ไม่ใช่เพราะเห็นแก่ความพิการของฮารุกะที่จะหางานอื่นทำไม่ได้ถ้าปิดร้านลง ไม่ใช่เพราะภาระค่าใช้จ่ายครอบครัวที่รายได้จากร้านนี้จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ และไม่ใช่เพราะหน้าที่การงานของมาซาโตะมีปัญหา แม้มันจะเป็นปัญหาเพราะใครคนหนึ่งดันตกตึกตายด้วยข้อสันนิษฐานเป็นการ “ฆ่าตัวตาย” อันเนื่องมาจากได้รับความกดดันจากมาซาโตะในเรื่องงาน (มาซาโตะ เป็นผู้จัดการเขตของบริษัทเจแปนโรบินฟู้ดที่ต้องคอยไล่บี้ติดตามการทำงานของร้านสาขาให้ทำงานทำเงินได้ตามเป้า)

มันไม่ใช่อะไรทั้งหมดนั่นที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนความตั้งใจ
แต่มันเป็นอะไรบางอย่างที่ .... ไม่บอกหรอกกก

ด้วยการตัดสินใจของตัวเอง มาซาโตะเริ่มต้นรับช่วงต่อกิจการของพ่อ พร้อมๆ กับที่ต้องรับหน้าที่พี่ใหญ่ของบ้านอย่างเต็มตัว บ้านที่เต็มไปด้วยสมาชิกครอบครัวตัวปัญหา

โมโมโกะจัง น้องสาวคนเล็กวัยมัธยมที่มีความสัมพันธ์สวาทกับคุณครูที่โรงเรียน คุณครูผู้มีภรรยาและลูกสาวอยู่แล้ว

ฮายาโตะคุง น้องชายหัวโขมย ที่โขมยเงินของบ้านเอาไปให้สาวดาวโฮสเตสในไนท์คลับ

คนทุกคนย่อมมีเหตุผลของตัวเองในการกระทำ แต่เหตุผลของน้องเล็กสองคนของมาซาโตะ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีความเห็นแก่ตัวเองเป็นใหญ่ มาซาโตะเป็นพี่มีหน้าที่ต้องสั่งสอนดูแลพวกเขา แต่ในความไม่เคยคุ้นทำ เขาจะรับมือกับปัญหาของน้องๆ วัยรุ่น และเป็นที่พึ่งนำทางให้พวกเขาไม่หลงเดินทางผิดได้อย่างไร


ส่วนน้องอีกคน ฮารุกะจัง เธอขาพิการ เธออยู่กับบ้านคอยช่วยงานพ่อและเป็นแม่บ้าน ทำความสะอาด ซักผ้า ทำอาหาร ดูแลคนอื่นๆ ในบ้านหลังนี้ ความเคยชินที่มีเธออยู่ในครอบครัวและใช้ชีวิตในบ้านอย่างเป็นปกติทำให้พี่น้องไม่ทันคิดว่า ฮารุกะนั้นเก็บกดสภาพจิตใจที่มีต่อสภาพพิการของเธอเอาไว้อย่างไรบ้าง และเพราะไม่ได้คำนึงถึง บางครั้งก็เป็นพวกเขาเองที่ทำให้ฮารุกะต้องเจ็บปวดกับปมด้อยของตัวเอง


เพราะฮารุกระเป็นพี่ เธอถือเป็นหน้าที่ที่ต้องคอยตักเตือนโมโมโกะให้อยู่ในร่องในรอย แต่ว่าพี่ขาพิการแทบไม่ได้ออกไปไหนนอกจากอยู่บ้านและไปช่วยพ่อจัดการงานศพ ไม่เคยมีความรัก ไม่เคยออกเดทกับใคร จะมารู้ดีเรื่องความสัมพันธ์รักของโมโมโกะกับคุณครูของเธอได้อย่างไร เมื่อห้ามน้องไม่ฟัง และถ้อยคำที่ได้รับโต้ตอบกลับมาก็เต็มไปด้วยความเยาะหยันดูแคลน พาดพิงไปถึงปมพิการของเธอ สองสาวพี่น้องจึงมักทะเลาะกันอยู่เสมอ มันเป็นสงครามที่จะเริ่มต้นขึ้นด้วยการสาดอาหาร โจนเข้าโรมรันพันตู และจบลงด้วยการกระเด็นกระดอน


ด้วยเหตุฉะนี้ ย่อมไม่มีใครจะน่าสงสารเท่าพี่ใหญ่จำเป็น..มาซาโตะ อีกแล้ว

ออกปากตักเตือนฮายาโตะ ก็เจอตอกหน้า

“อย่ามาวางท่าเป็นพี่ใหญ่หน่อยเลย
คนที่ออกจากบ้านไปสี่ปีไม่กลับ
ไม่มีสิทธิ์มาสั่งสอนใครหรอกนะ”


เป็นกรรมการห้ามศึกสองนางก็เจอดีด้วยคำตัดพ้อต่อว่าของโมโมโกะ

“พี่มาซาโตะเป็นแบบนี้ไม่เคยเปลี่ยนเลย!
พี่เข้าข้างแต่พี่ฮารุกะตลอด!”


เมื่อโมโมโกะน้อยใจและขุ่นเคืองพี่ชาย คนที่พลอยฟ้าพลอยฝนต้องเจ็บทนอีกคนคือฮารุกะ

“ดีจังเลยนะ ที่ขาพิการของพี่ถูกใช้เป็นข้ออ้างได้กับทุกเรื่อง
เรียกร้องความเห็นใจ ได้รับสงสารตลอดเวลา!”


โอ๊ย ... ดูแล้วเครียดแทนพี่ใหญ่มาซาโตะ



โมโมโกะเป็นน้องเล็กก็จริง แต่ฮารุกะน้องสาวคนแรกที่เกิดตามหลังมาซาโตะมาก็เป็นน้องสาวที่น่ารักของเขาเสมอ กรณีนี้มาซาโตะและฮารุกะอยู่ในฐานะพี่ ย่อมรู้สึกอย่างเดียวกันคือต้องการติติงห้ามปรามน้อง ดังนั้น มันก็จริงแหละที่มาซาโตะดูจะอยู่ข้างเดียวกับฮารุกะทุกครั้ง จะว่าไปเพราะยัยโมโมโกะก็นิสัยไม่ดีจริง ไม่มีความเคารพนบนอบ เห็นแก่ตัวเป็นที่หนึ่ง ส่วนฮารุกะผู้พี่ก็เจ้าอารมณ์มิใช่น้อย ไม่พอใจคำพูดแนะแหนของน้องเข้าหน่อยก็ยกแก้วโน่น ชามนี่ สาดใส่โครมๆ และมักเป็นคนลงมือก่อนทุกครั้ง

มาซาโตะไม่ใช่พี่ชายคนโต แต่กลับต้องมาทำหน้าที่พี่ใหญ่แบกภาระปัญหาของน้องๆ ที่น่าหนักอกเช่นนี้ เขาย่อมหวังอยากให้พี่เคนกลับมาเร็วๆ

แต่ไม่รู้พี่เคนอยู่ที่ไหน และไม่รู้เมื่อไหร่เขาจะกลับมาบ้าน

บ้านที่ทุกคนรออยู่


ซากามากิ ยูกิ ตำรวจสาว ( Detective) สาวประจำสถานีตำรวจในย่านนั้น เธอเป็นคู่หูทำงานกับตำรวจรุ่นพี่ นากิมิเนะ จุน ผู้เขียนไม่เคยคุ้นกับอาชีพรับจัดงานศพแบบที่ร้านอิฮาระทำ จึงไม่เก็ทหรอกว่าทำไมตำรวจกับคนจัดการงานศพจะต้องมาเกี่ยวข้องกันในหน้าที่การงานอยู่เป็นนิตย์ ถ้าเป็นเมืองไทยบ้านเรา เก็บศพก็เรื่องของปอเต๊กตึ๊ง ร้านขายโลงก็ส่วนร้านขายโลง งานศพเจ้าภาพก็จัดไป สัปเหร่อจะฝังร่างเก็บกระดูกก็ทำไปสิ (ศัพท์เรียกพระเอกในเรื่องนี้ก็มีใช้ mortician ที่แปลว่าสัปเหร่อด้วยนะคะ) แต่เรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้ .. ตำรวจเกี่ยวข้องกับคดี คดีข้องเกี่ยวกับคนตาย และคนตายย่อมมีเอี่ยวกับคนจัดการศพ



เมื่อมีคนตาย ตำรวจจะเรียกร้านจัดงานศพมาเก็บศพจากสถานที่เกิดเหตุ เก็บศพที่ตายในโรงพยาบาลใส่โลงเย็นเตรียมไปจัดการพิธี ศพตายไร้ญาติก็ใส่โลงเย็นเอามาเก็บไว้ที่ร้าน ก็สมควรหรอกนะที่ใครๆ จะไม่ชอบกิจการของบ้านตัวเอง มันน่ากลัวออกจะตายไป ตอนฮายาโตะหนีตำรวจไปซ่อนในโลงเย็นแล้วมาซาโตะได้ยินเสียงก๊อกแก๊กนึกว่าผีหลอก ตลกดีค่ะ (แม้ยามะพีจะเล่นฉากตกใจเล็กๆ นั้นได้ทื่อไปสักหน่อย) ก็ถือเป็นธุรกิจที่แปลกดีนะคะ บอกแล้วว่าไม่อยู่ในความคุ้นเคย ไม่รู้เป็นเพราะนี่คือเรื่องที่แต่งขึ้นล้วนๆ หรือธุรกิจนี้ก็ทำงานในลักษณะนี้กันจริงๆ (เขามีจัดสัมนา แข่งโปรโมชั่น และยื่นใบเสนอราคา การจัดงานศพกันด้วยล่ะ)


ก่อนหน้านั้น มาซาโตะ เคยช่วยยูกิไว้จากสถานการณ์ที่คิดว่าเธอจะฆ่าตัวตาย

“ถ้าคุณยอมแพ้มันจะจบ แต่ถ้าคุณไม่ยอมแพ้
วันนั้นจะมาถึง และคุณจะดีใจที่วันนี้คุณไม่ยอมแพ้”


แล้วในคืนเดียวกันยังบังเอิญมาพบกันอีกในกลุ่ม Blind date ที่มาซาโตะได้จับคู่กับยูกิ สองคนเริ่มต้นด้วยต่างคนต่างไม่มีแฟน คุยกันถูกคอเป็นอย่างดี ยูกิดื่มจนเมาเป็นภาระให้มาซาโตะต้องใช้รถเข็นเล็ก เข็นเธอไปส่งที่สถานีรถไฟใต้ดิน (เป็นฉากน่ารักของคนคู่นี้ที่มีให้เห็นมากกว่าครั้งเดียว) ระหว่างซื้อน้ำให้ดื่ม นั่งเป็นเพื่อนรอเธอสร่างเมาที่หน้าสถานี มาซาโตะคิดว่า

“เราควรจะแลกเบอร์กันนะ”

เมื่อเขาถามถึงวิธีทำให้โทรศัพท์แลกเบอร์กันอัตโนมัติ ยูกิจึงคว้าเครื่องไป และคนที่บอกว่าไม่มีแฟนก็มีรูปคู่รักหราอยู่ในโทรศัพท์พร้อมหัวใจสีชมพูล้อมกรอบคำว่า “Love” อยู่ตรงกลาง แถมยังขึ้นชื่อเรียกกันสนิทจ๋าเป็นการส่วนตัว มาซาพยอน&อาสุอาสุ- มีกันตลอดไป

“ไหนบอกว่าโสดมาเป็นปีแล้วไง”

มันเป็นการเย้าแหย่มากกว่าจะเคืองขุ่น แหย่ไปแหย่มา เดทที่ท่าทางจะไปกันได้ดีก็เลยลงเอยด้วยการที่มาซาโตะถูกคุณตำรวจสาวจับทุ่มลงพื้นด้วยวิชาคาราเต้สายดำ

“ช่างเถอะ ใครที่มานัดเดทสาวแล้วจะบอกว่ามีแฟนมั่งล่ะ”

เรื่องอะไรมาซาโตะจะยอมเสียฟอร์มให้รู้ว่าโดนแฟนทิ้งไปเรียนต่อเมืองนอกแล้ว ยูกิก็ไม่อยากเสียหน้าเพราะความผิดหวังเล็กๆ เหมือนกัน เธอจึงบอกเขาว่า เธอเองก็มีแฟนแล้ว สองคนจึงแยกกันไปด้วยความเข้าใจต่างคนต่างมีแฟน และนับจากนั้นมาเธอเรียกเขาว่า "มาซาพยอน"


อย่างที่บอก เมื่อมีศพเกี่ยวข้องเขาจึงต้องวนเวียนมาพบกับเธอ ตอนแรกมาซาโตะก็เข้าหานายตำรวจรุ่นพี่ แต่นากามิเนะขี้เกียจจะคอยมานั่งตอบคำถามจุกจิกของผู้รับจัดการศพ เขาจึงปัดหน้าที่นี้ไปให้รุ่นน้องยูกิคอยรับหน้า เพราะอายุเท่ากันและยูกิก็มีนิสัยที่เป็นมิตรกับคนง่าย สองคนจึงเข้ากันได้ดี จากคนรู้จักกันต่อมาก็ค่อยๆ พัฒนากลายเป็นเพื่อน และเป็นอย่างอื่นในตอนจบที่บอกชัด นับจากนี้ความสัมพันธ์ของเราเปลี่ยน (น่ารักดีค่ะ ) เป็นธรรมดาซีรีย์เรื่องไหนมีความน่ารักของพระ-นาง แม่ยกย่อมเป็นปลื้ม ทั้งที่ตอนสำรวจซีรีย์เรื่องนี้คิดว่านานะ ช่างไม่เหมาะไม่ควรกับคนหล่อๆ อย่างยามะพีเอาซะเลย แต่พอเธอเล่นเรื่องนี้แล้ว ต้องขอเปลี่ยนความคิด


ก็เพิ่งจะเคยรู้สึกเป็นครั้งแรกนี่แหละว่า ที่จริงแล้ว นานะจังก็น่ารักเหมือนกันแฮะ ตอนเล่น Mei chan ไม่เห็นจะน่ารักเลย ยิ่งตอนเล่น April Bride ยิ่งไม่น่ารักเข้าไปใหญ่ แต่กับเรื่องนี้ ทั้งที่นานะดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นผิดตา แต่ไหงเธอกลับดูน่ารักจังหว่า เชื่อจริงๆ ว่าความสวยความหล่อที่เข้าตานั้นบางทีมันก็มีบทบาทที่ได้รับเป็นปัจจัยส่ง นานะกับยามะพีจึงเป็นพระนางอีกคู่หนึ่งที่ดูเข้ากันอย่างลงตัว


ขอแนะนำอีกหนึ่งตัวละครสำคัญ

อิวาตะซัง เขาเป็นใคร มาจากไหนไม่มีใครรู้ เขาโผล่มายืนมองมาซาโตะที่สถานีรถไฟใต้ดิน โผล่มาดูมาซาโตะเงียบๆ ไปเงียบๆ ที่งานศพของพ่อ โผล่ไปเจอมาซาโตะที่สุสาน แล้วก็เริ่มโผล่มาที่บ้าน มาทักทายพูดกันอยู่สองคน ไม่มีใครอื่นเคยเห็นเขา เพราะเขาไม่เคยโผล่มาตอนที่ใครอื่นจะอยู่เห็น โผล่ไปโผล่มากลายเป็นว่ามีมาซาโตะคนเดียวที่รู้จักอิวาตะซัง และเข้าใจ(เอาเอง)ว่า เขาคือเพื่อนของพ่อที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ

ตั้งแต่แรกที่ดูก็สงสัยกลับไปกลับมา ลุงนี่แปลกๆ นะ ใช่คนหรือเปล่าหว่า ดูไปดูมา เอ.. น่าจะคนนะ ดูไปดูมา เอ..หรือว่าไม่ใช่คน บางทีอาจเป็น ผ สระอี บางทีอาจจะเป็นเทวดา หรือว่าจะเป็นยมทูต (จินตนาการบรรเจิดมาก) แต่ดูอีกที ..เอ.. ก็น่าจะคนนี่นะ สรุปสุดท้าย เขาเป็นใคร .... ไม่บอกหรอกกกกก



เขาจะเป็นใครไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เขาคนนี้เป็นใครคนหนึ่งที่เหมือนกับเป็นผู้พิทักษ์ครอบครัวนี้ เขาเป็นคนแปลกๆ พูดจาก็แปลกๆ แต่ในความแปลกเหล่านั้นก็สอนให้มาซาโตะได้ตระหนักถึงคุณค่า เข้าใจความสำคัญของสิ่งต่างๆ รอบตัว ความสำคัญของการจัดการงานศพ การไว้อาลัย การจากไปของคนตาย การยังอยู่ของคนเป็น ที่ควรจะเห็นความสำคัญของชีวิต การใช้ชีวิต และความรักความผูกพันที่เป็นความสำคัญของคำว่า "ครอบครัว"




ธีมเนื้อหาเป็นเรื่องของคนตาย แต่น้ำหนักความสำคัญที่ให้ความหมายกว่าครึ่งค่อน กลับเป็นเรื่องของคนมีชีวิตอยู่ และจะปฏิเสธไม่ได้อีกด้วยว่านี่คือซีรีย์ “ครอบครัว” ครอบครัวของคนตายและครอบครัวของคนจัดการงานศพ คนตายแต่ละเคสก็แสดงถึงปัญหาครอบครัวแตกต่างกันไป สอนใจกันไปแต่ละตอน ควบเคียงไปด้วยเรื่องของครอบครัวอิฮาระที่รับจัดงานศพ แค่เพียงครอบครัวเดียวนี้ก็ให้ข้อคิดอะไรได้ตั้งหลายอย่าง




โดยรวมแล้ว แม้ความทึมๆ ของเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการตายจากของบุคคลอันเป็นที่รัก คนหนุ่มที่ยังไม่ถึงวัย คนดีที่ยังไม่สมควรตาย คนแก่ที่อาจจะใกล้วัยตายแต่ยังไม่พร้อมจะตายเพราะยังมีเรื่องค้างคาต้องทำ คนตายที่ไม่รู้เป็นใครแถมยังไร้ญาติขาดมิตร คนตายที่ยังต้องมลทิน ฯลฯ ปกติแล้วซีรีย์อย่างนี้จะจบกรณีไปในแต่ละตอน แต่ซีรีย์เรื่องนี้เขียนบทได้แปลกออกไป คือมันไม่จบไปเลยซะทีเดียว เรื่องของคนตายคนอยู่ใน ep.นี้ ยังมีความคืบหน้าไปยัง ep.โน้น ยังมีเรื่องราวของคนเป็นผู้สูญเสีย เรื่องราวชีวิตของคนตายที่เพิ่งปรากฏหลังจากตาย ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงเนื้อหาของซีรีย์ได้ดีในภาพรวม ชีวิต ความตาย ความรักและครอบครัว ซึ่งทั้งหมดนี้คือเรื่องของ “คน” ที่เกิดมามีชิวิต ใช้ชีวิต และวันหนึ่งก็ต้องตายไป


ทึม เศร้า เคล้าน้ำตาแทบทุกตอนเมื่อได้เปิดเผยเฉลยเหตุชีวิตและความตาย ของแต่ละคน บางตอนดูแล้วผู้เขียนออกอาการเดียวกันอย่างในภาพข้างบนเลย อึ้ง ยกมือขึ้นปิดปาก แล้วน้ำตาไหล แต่บางขณะมันก็ให้ความรู้สึกอืดๆ ชืดๆ ด้วยเหมือนกัน เพราะแทบจะไม่มีความแจ่มใสอยู่ตรงจุดไหนของเรื่องเลย อาศัยรอยยิ้มแหร่มๆ ของสาวนานะคนเดียว จะไปบรรเทาความทึมของซีรีย์เรื่องนี้ที่มีคนตายอยู่ทุกตอนได้อย่างไร

ส่วนเรื่องเรตติ้งที่ว่าต่ำ ทั้งที่ 10.9 สำหรับผู้เขียนถือว่าใช้ได้เลยนะ เคยดูซีรีย์เรตติ้งต่ำกว่านี้มาตั้งเยอะแยะ Johney’s entertainment ต้นสังกัดของพีจัง ช่างกล้าดีอย่างไรถึงได้ยัดเยียดให้หนูอัตสึโกะจังตกเป็นแพะรับบาป กล่าวโทษว่าเธอคือสาเหตุของเรตติ้งที่ตกต่ำ ใน Q10 อัตจังอาจไม่ได้แสดงฝีมืออะไรมากมายเพราะเป็นหุ่นยนต์ (10.9 เหมือนกัน) Hanazakari no Kimitachi ฉบับรีเมกที่เรตติ้งต่ำยิ่งกว่าคือ 6.99 ผู้เขียนก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร เพราะยอมแพ้แล้วกับซีรีย์เรื่องนี้ที่ได้พยายามจะศึกษาในความเด่นดังของมันแต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จตั้งแต่เวอร์ชั่นอู๋จุน (ไต้หวัน) โอกุริ ชุน (ยินดีด้วยนะ ที่แต่งงานแล้ว ^^ ) และเวอร์ชั่นล่าสุด นากามูระ อาโออิ ที่มีหนูอัตจังเป็นนางเอก ทั้งที่มีนักแสดงที่น่ารักน่าชอบรับบทสำคัญเดียวกันในเรื่องทั้งสามคน ไม่ว่าจะเป็นจิโร่ หวัง หรือ ต้าตง (ไต้หวัน) อิคุตะ โทมะ (เวอร์ชั่นชุน) และมิอุระ โชเฮ (เวอร์ชั่นอัตจัง) ก็ยังเข็นกันไปไม่รอด บอกไม่ถูกเหมือนกันทำไมซีรีย์เรื่องนี้ถึงไม่โดน ทั้งที่คนส่วนใหญ่ชอบกันซะจริง เห็นสร้างกันจังเลย

ปี 2007 ที่น้องหนู คิตาโนะ ไคอิ ชวดรางวัล Best actress จากซีรีย์เรื่อง Life ก็เพราะโดนหนูมากิ นางเอก Hana Kimi เชิดรางวัลนี้ไปกินนั่นเอง (เจอตัวละ สายแข็งที่ว่า) แต่ถึง Hana Kimi เป็นซีรีย์เคยโด่งดัง แต่จะคาดหวังอะไรนักหนากับของรีเมกที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์รับรู้ว่าจะทำให้เกิดผลตอบรับในทางที่ดีกว่าเก่า แต่เพราะ Haha Kimi ของหนูอัตจังได้ 6.99 นั่นอาจทำให้คนคล้อยตามด้วยจริงๆ ว่าหนูอัตจังเป็นตัวปัญหาของตัวเลขเรตติ้ง


แต่ไม่ได้เห็นด้วยหรอกนะ เธออาจไม่ใช่นักแสดงฝีมือเยี่ยม แต่เธอก็เล่นได้ดีแล้วในบทบาทของฮารุกะ และถ้าหากจะมีใครสักคนที่มีปัญหาทางด้านการแสดง ส่วนตัวก็เห็นว่ายามะพีนั่นไงที่ฝีมือยังอ่อน ขอออกตัวไว้ก่อนนะว่าตัวข้าน้อยนี้ก็แม่ยกยามะพีคนหนึ่งเหมือนกัน และไม่ได้มีใจอะไรเป็นพิเศษกับหนูอัตจังด้วย ก็แค่ว่าไปตามที่ตัวเองรู้สึก


ยามะพีไม่ได้แสดงแย่ เขาก็แสดงได้ดีแล้วในแบบของยามะพี เพียงแต่ซีรีย์เรื่องนี้ดูแล้วทำให้รู้สึกต้องการนักแสดงที่ฝีมือเหนือกว่าคำว่า 'ดีแล้ว' เพราะดีธรรมดายังไม่พอ ต้องดีเป็นพิเศษคือ 'ดีมาก' มาซาโตะเป็นตัวละครหลักของเรื่องที่อยู่ท่ามกลางปัญหาครอบครัวตัวเอง และยังเป็นตัวค้นหาความจริงเพื่อเปิดเผยเรื่องราวของคนตายทุกท่าน ตัวละครนี้ควรจะมีหลากหลายความรู้สึกทั้งต่อเรื่องของคนตาย และเรื่องของครอบครัวตัวเองที่เอ่อท้นรอจังหวะจะล้นปรี่ออกมาผ่านฝีมือการแสดงที่เยี่ยมยุทธ ฝีมือที่จะแสดงทุกอย่างออกมาเองโดยไม่ต้องอาศัยบทพูดเป็นตัวแถลงทุกสิ่ง แต่ก็เป็นที่รู้กันอย่างที่หลายๆ คน อาจจะเคยแอบคิดตรงกัน ยามะพีนั้น เขามีอยู่หน้าเดียว อย่างใน Code Blue , Buzzer Beat มันดูไม่มีปัญหาอะไรเพราะบทเหล่านั้นเข้ากับหน้าตาเฉยชาไร้อารมณ์อยู่แล้ว ก็เลยกลมกลืนกันไป



แต่บทนี้น่าจะต่างออกไป มาซาโตะไม่ใช่คนเย็นชาหน้าตาแข็งๆ อย่างคนไร้อารมณ์แบบที่ยามะพีเคยแสดงในเรื่องก่อนๆ นอกจากไม่เย็นชายังน่าจะเป็นคนที่อ่อนโยนอีกด้วย เลยกลายเป็นว่าเขาดูหน้าตาเฉยไปหน่อยในบางสถานการณ์ บางจังหวะที่อารมณ์ควรจะหลั่งไหลออกมาให้รู้สึกได้มันก็ไม่ออกมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ยกตัวอย่าง ตอนโดนน้องสาวตบหน้า หรือตอนตบหน้าน้องสาว เห็นแล้วมันก็ ..อื้อ แค่นั้นแหละ ทั้งที่คิดว่ามันน่ากระเทือนใจได้มากกว่านั้น หรือตอนพี่เคนโผล่หน้ากลับมาบ้าน นั่นควรเป็นอะไรที่มาซาโตะน่าจะแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกปนเปหลายอย่าง ดีใจ โล่งใจ อุ่นใจ พี่ใหญ่กลับมาเป็นที่พึ่งให้แล้ว โกรธที่หายหน้าไปไม่ยอมติดต่อใคร จนไม่ได้มาร่วมงานศพของพ่อ มาอยู่ที่นี่ในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องการเขา นั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าตัวละครน่าจะรู้สึก



ยิ่งตอนมาซาโตะได้รู้ว่าพี่ชายของเขาที่กลับมากำลังหาจะจากไปอีกครั้งเพราะเขาป่วยด้วยโรคร้าย ที่พ่อตายและมาซาโตะยังเข้มแข็งอยู่ได้ ก็เพราะเขารู้ว่าพี่เคนคงอยู่ที่ไหนสักแห่ง และไม่ว่ายังไง วันใดวันหนึ่งพี่เคนจะกลับมา แต่ถ้าพี่เคนตายไปอีกคนล่ะ ถ้าไม่มีพี่เคนอีกแล้วไม่ว่าแห่งหนใดในโลกใบนี้ มาซาโตะควรจะรู้สึกอย่างไร

พีจังดูแข็งไปหน่อยไปสำหรับบทบาทของมาซาโตะ บางครั้งก็ดูเฉยไปนิด และยามร้องไห้ จะสุขทุกข์หรือซึ้งเศร้า การร้องไห้ของยามะพีก็ดูฝืดฝืนเป็นการแสดงมากกว่าจะดูเนียนเป็นธรรมชาติให้เหมือนไม่ได้แสดง ส่วนตัวผู้เขียนจึงเห็นว่า บทบาทของมาซาโตะนี้ ฝีมือของยามะพียังไม่ถึงขั้น

ส่วน โซริมาจิ ทากาชิ ผู้รับบทพี่ใหญ่เคน ถึงจะเคยเจอเขามาเรื่องเดียวใน GTO แต่คิดว่าเขาแสดงเรื่องนี้ได้เข้าถึงดีนะ คงเป็นธรรมดาของคนแก่ประสบการณ์ บทพูดมีไม่มาก แต่แค่สายตาที่มองดูมาซาโตะกับน้องๆ ก็บอกได้พี่เคนหมดห่วงแล้ว นั่นคือความเชื่อมั่นในตัวมาซาโตะว่าเขาจะดูแลน้องๆ ทุกคนได้ รวมถึงความเหงาความเศร้า การออกอาการของคนใกล้ตายที่กลัวใจตัวเองจะเสียดายความสุขในการมีชีวิตอยู่ ความสุขที่ควรจะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัว



เรตติ้ง 10.9 ที่ว่าต่ำ บางทีคงจะหมายถึงมันต่ำไปสำหรับชื่อเสียงของยามะพี อดีตสมาชิกวง News ผู้ได้ชื่อว่า ได้รับความนิยมสูงสุดในวง ..กระมัง แต่คิดว่านั่นเป็นเพราะธีมซีรีย์เป็นเรื่องของชีวิตและความตายมากกว่า แค่บอกว่าทำกิจการรับจัดงานศพตัวผู้เขียนเองก็ไม่มีใจนึกอยากจะดูแต่แรกแล้ว ถ้าไม่ใช่ยามะพี แต่เป็นคนอื่นที่ไม่รู้จักมักคุ้น และไม่ใช่ระดับ 'คนโปรด' จะชายตาแลซีรีย์เรื่องนี้บ้างหรือเปล่ายังสงสัยอยู่




นักแสดงรับเชิญ

การโผล่หน้ามาของนักแสดงรับเชิญก็ตามสไตล์ซีรีย์ญี่ปุ่นเลยนะคะ ผลัดเปลี่ยนกันมาแต่ละเรื่องของคนตายและคนเป็นในแต่ละตอน




“การสร้างโอกาสสำหรับคนเพื่อไว้อาลัยได้อย่างเหมาะสม
นั่นคือหน้าที่ของผู้จัดพิธีศพ”


คือสิ่งที่มาซาโตะได้เรียนรู้และให้ความหมายของงานนี้แก่ตนเอง เพื่อสร้างโอกาสในการไว้อาลัยอย่างเหมาะสมนี่ไง ทำให้มาซาโตะผู้จริงใจ ต้องตะลอนๆ ไปตามที่ต่างๆ เพื่อค้นหาเรื่องราวของผู้ตายให้รู้แน่ชัด คนอื่นอาจเห็นว่าไม่จำเป็น แต่มันจำเป็นสำหรับการไว้อาลัยในพิธีอำลาต่อผู้ตาย มาซาโตะต้องหาคำตอบ ความในใจของคนตาย ที่คนเป็นผู้เกี่ยวข้องควรได้รับรู้อย่างถูกต้อง เพื่อที่การไว้อาลัยจะได้เป็นไปอย่างเหมาะสมและจริงใจ



บางทีการทำเรื่องที่ผู้ตายยังค้างคาใจให้เป็นเรื่องหมดห่วงอาจเป็นความหมายของคำว่า “สู่สุขคติ” นั่นอาจทำให้บางคนตั้งคำถามว่า ทำไมสัปเหร่อมาซาโตะ จึงต้องไปมีบทบาทคล้ายกับทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยตำรวจไขคดีต่างๆ มันไม่ดูแปลกจนกลายเป็นเรื่องแนวสืบสวนไปหน่อยเหรอ สำหรับผู้เขียนแล้วมันไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงขั้นจะเป็นแนวนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีความคล้ายๆ จะเป็น เหมือนตำรวจเป็นพวกไม่ทำงานทำการกันหรืออย่างไร ถึงต้องเป็นมาซาโตะทุกครั้งไปที่ตามเรื่องผู้ตายจนได้รื่อง แต่ด้วยกิจการรับจัดงานศพมันไม่อยู่ในความเข้าใจพื้นฐานของผู้เขียนตั้งแต่แรกแล้ว จึงไม่ใช่ข้อขัดแย้งใจอะไรนัก เพราะสาระสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่การไขคดี แต่มันอยู่ที่ ...เรื่องราวของคนตายและคนเป็นอย่างที่ร่ายมานั่นแหละ



“นายคิดว่าชีวิตของคนตายอยู่ที่ไหน”

“อยู่ที่ไหนครับ?”

“อยู่ในความทรงจำของใครบางคน”

ตอนที่คุณตายไป คุณจะอยู่ในความทรงจำ(ดีๆ)ของใครบ้างหรือเปล่า
ก็ขึ้นอยู่กับว่า ตอนที่คุณยังมีชีวิตอยู่ คุณใช้ชีวิตให้เป็นที่จดจำไว้อย่างไร

เอวัง ด้วยประการละฉะนี้






 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2555    
Last Update : 18 มิถุนายน 2555 11:59:42 น.
Counter : 5899 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

prysang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 98 คน [?]




จำนวนผู้ชม คน : Users Online
New Comments
Friends' blogs
[Add prysang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.