แหม เรื่อง...เรืองมนต์ขลัง

มหา'ลัยเหมืองแร่

จดๆจ้องๆ อยู่นาน ในที่สุดก็ในเลิก พาขาตัวเอง เดินไปยัง โรงหนังได้
พลันที่โรงที่ 12 เปิดอ้า ต้อนรับ ผมก็เริ่มนึกว่า ตอนออกจากโรงหนัง ความรู้สึก เก็บได้จะบอกตัวเองยังไง

เหตุที่ตัดสินใจดูเรื่องนี้ มีไม่มากข้อ

ข้อแรก ผมคุ้นเคยกับลุงอาจินต์ ผมแกอยู่เสมอทุกสัปดาห์อย่างไม่เคยจะผิดพริ้ว
บนบัญชร ที่ชื่อว่า "วาบความคิด" ณ ชายคา แห่ง มติชนสุดสัปดาห์ ที่อ่านจบบ้าง ไม่จบบ้าง ถีงอย่างนั้น ก็ยังเปิดไปยังหน้านั้น อยู่เสมอ
เคยหยิบ "เหมืองแร่" ขึ้นมาอ่านเหมือนกัน แต่คงเป็นเพราะ ความเนิบนาบของเนื้อเรื่องนั่นเอง ที่ไม่สะดุดใจวัยรุ่นอย่างผม จึงต้องประกาศแยกทางกันชั่วคราว
จนกลับมาได้ดูหนัง

ข้อที่สอง ก่อนหน้าที่ได้อ่าน บทสัมภาษณ์ของคุณ จิระ มะลิกุล รู้สึกทึ่งในความคิดแก แกพูดแบบธรรมดาๆ(แน่นอนว่าไม่ได้ใช้สลิง) แต่มันมี แก๊ก คือแบบว่า พูดเรื่องง่ายๆให้ฟังดู ..อืม คิดได้ไง(ฟะ)
หนังเรื่องก่อนของแก ผมก็ไม่ได้ดู ดังนั้น ข้อสองนี่ เพราะ ตัวแกคนเดียว

ก็มีแค่ 2 ข้อนี้แหละ ...เสียเชียร์ก็มีส่วนบ้าง แต่ไม่มาก เพราะไม่ได้ออกตังค์ให้ผมนี่...ดังนั้นจะดูไม่ดู เราต้องตัดสินใจเอง

หนังแนวอัติชีวประวัติเนี่ย ผมรู้สึกว่า มันเป็นหนังที่เรียบง่าย ไม่โลดโผรนัก หายากที่มันจะ เต็มไปด้วยรสชาติ ระดับ โป๊ะแตกเรียกพี่

ดังนั้นคนที่จะไปดู ถ้าไม่เพราะ เจ้าของเรื่อง ก็ต้องคนกำกับ

มีคนบอกเอาไว้ว่า ส่งที่เรื่องแต่ง แตกต่างจากเรื่องจริงคือ มันสนุกกว่า ... อาจจะกล่าวไม่ผิดสำหรับหนังเรื่องนี้

แต่...ใช่ว่าจะไม่สนุกเลย เอาเป็นว่า ตอนผมเดินผ่านประตูโรงที่ 12 ผมรู้สึก อิ่มใจ ก็แล้วกัน

(ผม)ต้องยอมรับว่า หนังชีวิต มันไม่สนุกลุกนั่งลุ้นตลอดเวลา แต่มันก็มีสิ่งอื่นมาทดแทน

ผมอยากจะเรียกว่า "มนต์ขลัง"

เพราะนั่นคือชีวิตจริง ถ้ามันไม่ ขลัง จริง เค้าคงไม่เอามาสร้างเป็นหนัง และลงทุนเป็นร้อยล้าน

ส่วนที่ผมชอบจากหนังคือ

1.ฉาก - สวย ตรึงตา ตรึงใจ ตึงตัง ภาพที่ส่งมาจากจอผืนกว้าง เข้ามากระทบเรตินา ของผม นั่น มันมีกลิ่นอายของพิถีพิถันแฝงมาด้วย

2.บทพูดเท่ๆ - ก็มันเท่ แต่จำไม่ค่อยได้ เหอๆๆ ประมาณว่า ...วันเวลา มันผ่านไป ตามหลังแสงอาทิตย์...เดี๋ยวไปหาหนังสือมาอ่านดีกว่า (เอ่อ น้องแข จะให้พี่ยืมใช้ปะ)

3.การแสดง - ส่วนใหญ่เป็นดาราใหม่ ตัวที่ชอบที่สุดคือ นายหัวเรือ จอน พูด ฝรั่ง ไทยสำเนียงใต้แถมยัง มีภาษายาวี(คิดว่าใช่)อีก และก็แสดงได้ดี
ตัวนายใหญ่ ก็เล่นดี พระเอก ก็โอเคนะ ไม่เด่นมาก แต่ก็คงขาดไม่ได้เลย (ไม่งั้นจะเอาใครเล่นอะ)

ส่วนที่ เป็นข้อบกพร่อง มีไม่เยอะครับ แต่ก็ คือว่า ซีเรียสได้เลย

เพราะหนังเรื่องนี้ เป็นหนัง "เฉพาะ" มันมีกลุ่มเฉพาะ ถ้าไม่อยากดูจริงๆ คงไม่ได้ดู และ พลัง worth of mouth คงมีน้อยนะ ผมว่า จะเป็นปรากฎการณ์อย่าง โหมโรง แฟนฉัน คงลำบาก
อีกอย่าง หนังสร้างจากเรื่องสั้น หลายๆเรื่อง (142 เรื่อง-ตอนท้ายเรื่ง เค้าบอกอย่างงั้น)ดังนั้น มันจึงกายเป็นการเล่าเรื่องมากกว่า เนิบๆนาบๆ เหมือนความรู้สึกที่ผมได้อ่านครั้งแรกเลย
ตอนจบก็ดูจะสั้นไปนิดนึงนะ ...

โดยรวมๆก็ถือว่าชอบครับ

ฉากที่ผมชอบมากที่สุดคือ วิธีการเลื่อนขั้นของนายใหญ่
.
.
.
ยังนึกไม่ออกว่า ถ้าตัวเองโดนบ้าง จะเป็นยังไง เหอๆๆ


ปล. คุณ หนุ่มเมืองจันท์ ได้เขียนไว้ มติชนสุดสัปดาห์ ลองไปอ่านดูได้นะครับ
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ...มหา'ลัยเหมืองแร่


Create Date : 02 มิถุนายน 2548
Last Update : 3 มิถุนายน 2548 17:29:51 น. 18 comments
Counter : 676 Pageviews.  

 
จะไปดูวันสองวันนี้แหละ

ว่าแต่คุณNutty Professorไปดูโรง12 เมเอจร์รัชโยธินเหรอ



แหม เปลี่ยนจากหงส์ยอดมาเป็นมิลานเยี่ยมซะด้วย
แบบนี้ต้องแวะมาบ่อยๆแล้ว
หรือว่าเปลี่ยนใจเป็นปีศาจแดงดำ



โดย: keyzer วันที่: 2 มิถุนายน 2548 เวลา:21:06:32 น.  

 
ให้ยืมอยู่แล้วคนเราคำไหนคำนั้น
แต่เอาตัวประกันมาแลกด้วยนะ

เหอๆพี่ณัติ ปุ่มคอมเม้นต์มันรวนไปหมดแล้วยังไม่รู้ตัว


โดย: rebel วันที่: 2 มิถุนายน 2548 เวลา:21:12:00 น.  

 
พี่เก้งแกถนัดพูดเรื่องยากๆ
ให้ง่ายนะคะ
และก็ชอบอารมณ์ขันของแกมากๆ
เป็นหนังที่ดูแล้วมีความสุข
ว่าจะไปดูอีกรอบ


โดย: grappa (grappa ) วันที่: 2 มิถุนายน 2548 เวลา:21:49:03 น.  

 
คงไม่ได้ดูครับ รอดูยูบีซี


โดย: ultraman seven วันที่: 2 มิถุนายน 2548 เวลา:22:26:24 น.  

 
แวะมาฟังวิจารณ์เรื่องนี้ค่ะ




โดย: Black Tulip วันที่: 2 มิถุนายน 2548 เวลา:22:37:14 น.  

 
อิอิ ยังไม่ได้ดูจ้า

น้องจะลากไปดู อะไรน่าส์ ผีทวงบ้านอะไรเนี้ยแระ


โดย: โลกส่วนตัว วันที่: 2 มิถุนายน 2548 เวลา:23:03:09 น.  

 
ยังไม่ได้ดูเหมือนกันค่ะ...อยากดูมั่กๆ


โดย: Mu_in_love วันที่: 2 มิถุนายน 2548 เวลา:23:28:02 น.  

 
ดูแล้วครับ ชอบเหมือนกัน แต่น้อยกว่า 15 ค่ำเดือน 11
ที่ประทับใจ เป็นการแสดงของสน the star , ตอนจบ
และการหยิบคำจากหนังสือมาบรรยายเรื่องครับ


โดย: Mint@da{-"-} วันที่: 3 มิถุนายน 2548 เวลา:7:32:50 น.  

 
ไปดูกะใครดีหว่า





...


โดย: ขอบคุณที่รักกัน (blueberry_cpie ) วันที่: 3 มิถุนายน 2548 เวลา:7:44:31 น.  

 
น่าไปดูจัง..แต่ไม่มีเวลาเลย...เฮ่อ!!!...


โดย: jayjayกะน้องถ้วยฟู วันที่: 3 มิถุนายน 2548 เวลา:8:16:29 น.  

 
แล้ว โฮ่ง...ฮับอ่ะ..ยังม๊ะได้ดูเหรอคะ..
อ่ะๆๆ...เด๋วให้ยืม..


โดย: jayjayกะน้องถ้วยฟู วันที่: 3 มิถุนายน 2548 เวลา:8:17:31 น.  

 
ชักจะอยากดูซะแล้ว อิอิ

=)


โดย: hunjang วันที่: 3 มิถุนายน 2548 เวลา:8:34:41 น.  

 
ยังมะได้ดูเลย

เจ้าของบล๊อกกลับจาก ตจว.แล้วเหยออ

^___^


โดย: ฮิปโปปาร์ตี้ วันที่: 3 มิถุนายน 2548 เวลา:9:01:39 น.  

 
หวัดดีคุณ keyzer ... ผมดูที่รังสิตครับ เค้าปั๊ตตะนาแล้วเด้อ...ส่วนเรื่องปุ่ม ความจริง ตั้งใจครับ แบบว่า ปลอบใจแฟนมิลานไง เหอๆๆ...

หวัดดีน้องแข...หยุดงาน 1 วัน ไปไหนมาล่ะ เรื่องปุถ่ม เด๋วจะแก้แล้ว เออ ส่วนหนังสือที่เป็นตัวประกัน อะ จะเอาอะไร ... บอกมาก่อน มี/ไม่มี ค่อยว่ากัน

หวัดดีคุณ grappa... เห็นด้วยครับ ว่า ดูเรื่องนี้ แล้วเข้าใจง่าย และ ก็ยังได้ยิ้ม ... แหม่ เพราะงี้ หรือป่าว Happy จึงแอบมาเนียนโคสะนา

หวัดดีคุณ ultraman seven ... แหม่ ได้ยินอย่างนี้ เฮียเก้งแกคงปลื้มใจแย่เลย เหอๆๆ อิอิ

หวัดดีคุณ ทิวลิป...ร้อยคำวิจารณ์มิเท่า เสีย 120 ไปดูเอง ครับ เหอๆๆ

หวัดดีน้องเจี๊ยบ...โหย ดู เหมืองแร่ดีกว่าเชื่อผมเต๊อะ...แต่ถ้าชอบแนวนั้น ก็คงว่ากันไม่ได้ เพระเดาว่า น้งของเจ๊ยบต้องชอบอะไรที่มันตื่นเต้นเร้าใจแน่ๆ

หวัดดีน้องเปิ้ล...อยากดูก็ต้องดู...เข้าใจ๋

หวัดดีน้อง Mint@da ... 15 ค่ำ ผมไม่ได้ดู ก็เลย เปรียบเทียบไม่ได้ ... เกี่ยวกับสน แอบแปลกใจว่า ไปลงเอย อย่างนั้นได้ไง เหอๆๆ...

หวัดดีคุณโบ...ไปดูคนเดียวก็ได้นะครับ ผมยังไปดูคนเดียวเลย ข้างซ้าย ของผม ก็มีผู้หญิงไปดูคนเดียว แต่ข้าวขวา มาเป็นคู่ อิอิ

หวัดดีคุณ jayjay...ถ้าไม่มีเวลา เด๋วผมดูให้ครับ ว่าแต่ จะให้เก็บเงินค่าตั๋วที่ไหนครับ เหอๆๆ

หวัดดี ฮัน.. อยากดูต้องได้ดู u kno?

หวัดดีคุณ ฮิปปี้... แหม่ ผมกลับมาจนจะไปใหม่อีกทีแล้วครับ เหอๆๆ...ขอบคุณที่ไต่ถามครับ ความจริง


โดย: จขบ. (Nutty Professor ) วันที่: 3 มิถุนายน 2548 เวลา:17:22:48 น.  

 
แวะมาเยี่ยมจ๊า
ช่วงนี้วี่ยุ่งๆอะ แต่ไงก็คิดถึงเจ้าของบล๊อกที่น่ารักคนนี้เสมอจ๊ะ จุ๊บๆๆ



โดย: กีวี่สีฟ้า IP: 213.114.231.248 วันที่: 3 มิถุนายน 2548 เวลา:18:11:29 น.  

 
หนังเขาดีจริงครับ
อยากให้ลองหา 15ค่ำเดือน 11 มาดูครับ
ดีเหมือนกัน อาจมีน้ำตาซึม


โดย: biggg IP: 210.86.128.34 วันที่: 4 มิถุนายน 2548 เวลา:17:01:17 น.  

 

มหา"ลัย เหมืองแร่ : มหาวิทยาลัยชีวิตที่ไม่มีอีกแล้ว

วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1296

แลหนังไทย

พน

มหา"ลัย เหมืองแร่ : มหาวิทยาลัยชีวิตที่ไม่มีอีกแล้ว

เมื่อได้ข่าว จิระ มะลิกุล จะนำเรื่องชุดเหมืองแร่ ของศิลปินแห่งชาติ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ถ่ายทอดสู่จอเงิน ผมก็ตั้งหน้ารอคอยวันที่หนังเรื่องนี้สำเร็จเสร็จสิ้น ทั้งที่ผมเคยอ่านเรื่องสั้นชุดนี้เพียงตอนสองตอน

เหตุผลหนึ่งของการรอคอยนั้น มีที่มาจากคุณภาพของ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับฯ ซึ่งต่อมาเป็นผู้สนับสนุน (และหาแหล่งทุน) ให้ศิษย์ 6 คน ได้ทำหนัง แฟนฉัน ออกมาชื่นชูใจคนรักหนังทั้งหลาย

เมื่อวันแห่งการรอคอยมาถึง ผมไม่ผิดหวัง ดูหนังจบเดินออกจากโรงมาด้วยความรู้สึกอิ่มเอม

ในช่วงหนึ่งของหนังนั้น ถึงกับรู้สึกว่า นี่เป็นภาพชีวิตชายชาตรีที่จริงแท้แน่กว่าประดาหนังโคบาล หนังสงครามทุกเรื่องของฮอลลีวู้ดที่เคยผ่านตามา

จากนั้น ความรู้สึกยังแวบไปถึง Tortilla Flat ของ John Steinbeck ต้นเค้าแห่งเรื่องชุดสารพัดเฒ่าของ มนัส จรรยงค์ ชุด แจ้ง ใบตอง ของ "รงค์ วงษ์สวรรค์ และ วีรบุรุษสำราญ ของ โกวเล้ง

การสู้ชีวิตและมิตรภาพของเหล่าตัวละครในเหมืองแร่ ก่อความรู้สึกนับถือและผูกพันในบุคคลผู้มีตัวตนจริงเหล่านั้น เมื่อจิตประหวัดเทียบไปถึงชีวิตของเหล่าชายผู้ไม่อินังขังขอบกับการทำมาหากิน ในนิยายอมตะของนักเขียนรางวัลโนเบล ซึ่งสำนวนแปลของ อุษณา เพลิงธรรม ภายใต้ชื่อ โลกียชน ตรึงใจผมมาเนิ่นนาน

ผมเพิ่งประจักษ์ใจในความยิ่งใหญ่ของเรื่องชุดเหมืองแร่

แน่นอน หลังดูหนังจบ ผมไปคว้าเรื่องสั้นชุดนี้มาอ่านทันที

นึกย้อนไปว่าเหตุใดผมจึงไม่ได้เป็นแฟนของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ดังเช่นท่านผู้อ่านมติชนส่วนใหญ่ เหตุผลประการสำคัญคือเมื่อครั้งคุณอาจินต์ทำหนังสือชุดโอเลี้ยง 5 แก้ว (ตอนที่ยังแก้วละบาท) เงินที่พอจะเหลือจากค่าใช้จ่ายจำเป็นของผม จะหมดไปกับค่าดูหนัง

และผมไม่ใช่นักอ่านระดับตระเวนไปตามห้องสมุด

ครั้งเรียนมัธยม หนังสือที่ใจจะจดจ่อมีแต่หนังสือเรียน ด้วยการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นปราการใหญ่รอเวลาต้องฝ่าฟัน การพักผ่อนคลายเครียดจากการเรียนได้พึ่งพาโรงหนังเป็นหลัก ครั้นเรียนมหาวิทยาลัย ก็จัดอยู่ในประเภทหลงใหลกิจกรรม

เมื่อทำมาหาได้ถึงระดับมีสตางค์เหลือให้ซื้อหาหนังสืออ่านได้ตามใจชอบ ก็มีหนังสือใหม่ๆ จูงความสนใจ จนละเลย 1 ใน 100 หนังสือที่คนไทยควรอ่านเรื่องนี้ไป

แต่นึกดูอีกที อาจจะเป็นกุศลวิบากส่วนตัว ที่ทำให้ผมไม่ได้อ่านเรื่องชุดนี้ก่อนไปดูหนัง ทำให้ไม่มีข้อเปรียบเทียบกับตัวบทประพันธ์ เพราะเมื่อจับอ่านไปได้จำนวนหนึ่งแล้ว ความรู้สึกเสียดายก็ทยอยทบขึ้นเรื่อยๆ

ที่ว่าเสียดายนี้ ไม่ใช่ว่าหนังไม่ดี แต่เสียดายที่การสื่อความมากมายหลายแห่ง ลดน้อยถอยคุณค่าลงไปจากในหนังสือ

ผมถามแฟนพันธุ์แท้ระดับชอบเรื่องสั้นชุดนี้ที่สุดคนหนึ่ง ว่าดูหนังแล้วรู้สึกอย่างไร คำตอบคือหนังดีมาก ได้บรรยากาศดังใจ ได้บรรยากาศดังหนังสือบรรยายไว้ว่า ฝนตกจนใบไม้โงหัวไม่ขึ้น แต่ก็เสียดายบางจุด เช่น ฉากการเผชิญหน้าระหว่างพี่จอนกับพี่เลิศ

ผมคว้าหนังสือเปิดหาบทที่ว่านั้นทันที

จริงดังเพื่อนว่า ฉากตลอดจนถ้อยโต้ตอบระหว่างลูกพี่เก่าและใหม่คู่นี้ที่คุณอาจินต์บรรยายว่าเกิดขึ้นในร้านเหล้า สมบูรณ์และกินใจกว่าที่ปรากฏออกมาในหนัง

ผมได้แต่พยายามคิดในแง่บวกว่า ผู้กำกับฯ คงเห็นว่าฉากในร้านเหล้าที่ปรากฏในหนังออกจะซ้ำบ่อยไปแล้ว จึงเปลี่ยนสถานที่การเผชิญหน้าครั้งนี้ให้เกิดขึ้นข้างเรือขุด แต่ตรงนี้ไปลดทอนน้ำหนักของการยื่นเหล้าและสาดทิ้งระหว่างชายชาตรีคู่นี้ ตลอดจนถ้อยโต้ตอบที่ขาดหายไม่ครบถ้วนกระบวนความตามหนังสือ ก็น่าเสียดาย

ฉากที่มีเสียงสั่นสะเทือนความรู้สึกหนุ่มอาจินต์ที่ถูกใครต่อใครกรอกหูมาว่าบ้านหลังนี้ผีดุ เป็นจุดที่สะดุดความรู้สึกผมระหว่างที่นั่งดู ว่าอะไรจะขนาดนั้น

เมื่อเปิดอ่านบทประพันธ์ไปได้ไม่กี่เรื่อง ผมก็พบการบรรยายที่ทำให้เสียดายว่า หากถ่ายทอดเป็นเสียงเพียงเหมือนหนึ่งมีคนเดินในบ้านตามต้นฉบับ น่าจะได้ใจคนดูกว่าการตีความใหม่ว่าเสียงนั้นดังลั่น (ในความรู้สึกไปเองของหนุ่มอาจินต์) ประหนึ่งมียักษ์มาตบฝาเรือน

เมื่ออ่านพบคำบรรยายว่า กิตติศัพท์คุณงามความดีนายฝรั่งของเหมืองแห่งนี้ เลื่องลือไปทั่วทั้งภาคใต้ ผมรู้สึกว่าไม่ได้ยินถ้อยบรรยายนี้ในหนัง

ผู้กำกับฯ อาจจะพึงใจกว่า ต่อการใช้ภาพบรรยายให้เห็นจิตเมตตาที่นายฝรั่งมีต่อทุกผู้คน

แต่หากมีเสียงหนุ่มบรรยายความนี้ ในช่วงก่อนที่เขาจะตัดสินใจมุ่งมั่นขอพบนายฝรั่ง ทั้งที่เสมียนบางคน ดักคอไว้ก่อนหน้าว่าที่นี่เป็นเหมืองเล็ก ไม่รับคนใหม่ที่ไหนอีกแล้ว (ซึ่งในต้นฉบับเท่าที่ผมอ่านถึง ยังไม่พบตัวละครใดกล่าวเช่นนี้) น่าจะได้ความรู้สึกที่สมบูรณ์ขึ้น

ความเมตตาของนายฝรั่งเหมืองแร่ ทำให้ผมนึกถึง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

เปล่า ผมไม่ได้มีวาสนาเป็นศิษย์ท่านหรอก เพียงแต่เคยมีโอกาสพูดคุยกับศิษย์ของท่านหลายคน ซึ่งมีญาติใกล้ชิดผมรวมอยู่ด้วย

วิศวกรหนุ่มคนหนึ่งซึ่งได้ดูสารคดีชีวิตศิลปินแห่งชาติศิษย์ของท่าน ที่ผมมีส่วนจัดทำ รำพึงว่า จะหาครูอาจารย์เช่นนี้ได้ที่ไหนในปัจจุบัน น้ำเสียงของบัณฑิตคนนี้ สะท้อนความผิดหวังในตัวผู้อยู่ในฐานะประสิทธิ์ประสาทวิชาการให้เหล่าเยาวชนในมหาวิทยาลัยที่เขาศึกษามา

น่าเสียดายที่ไม่มีผู้ใดบันทึกประสบการณ์จากการเป็นศิษย์ของอาจารย์ฝรั่งผู้ยิ่งใหญ่ท่านนั้นให้เป็นมรดกสู่คนรุ่นหลัง เผื่อจะมีใครที่มีความตั้งใจนำมาถ่ายทอดเป็นรูปแบบสื่อภาพยนตร์ เช่นเดียวกับที่ จิระ มะลิกุล รู้สึกต่อเรื่องชุดเหมืองแร่นี้

คุณพี่จากสุพรรณฯ สนใจไถ่ถามรุ่นพี่รุ่นใหญ่ร่วมสถาบัน จะได้ใช้ฝีมือบันทึกไว้เพื่อคนรุ่นหลังไหม

หากไม่เพราะข้อธรรมทางพุทธศาสนาบอกเราถึงวิบากกรรม ผมคงรู้สึกว่า ฟ้ากำหนดให้ชายหนุ่มผู้มีวรรณศิลป์ดังเช่น อาจินต์ ปัญจพรรค์ เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อนโน้น ต้องเข้าไปซึมซับชีวิตชาวเหมือง

และฟ้าก็กำหนดให้ ผู้สอนวิชาการภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัย ผู้มีคุณภาพอย่าง จิระ มะลิกุล ประทับใจเรื่องชุดนี้ตลอดมาจนมีโอกาสได้ลงมือทำหนังเอง

มหา"ลัย เหมืองแร่ ถ่ายทอดชีวิตชาวเหมืองออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ หากไม่มีบทประพันธ์ให้เปรียบเทียบ นี่ก็คือหนังไทยที่สมบูรณ์มากเรื่องหนึ่ง แม้จะไม่ถึงกับสมบูรณ์ที่สุด



นอกจากความเพลิดเพลินแล้ว ชีวิตและข้อคิดจากชาวเหมืองในเรื่องนี้ ให้อะไรมากกับชีวิตจริง แม้กับคนที่ผ่านชีวิตมาจนใกล้ถึงจุดสุดท้ายอยู่รอมร่อแล้วก็ตาม

แม้ปัจจุบันจะมีแวดวงที่เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิตสำหรับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ ในแวดวงการทำงานต่างๆ ที่สมบุกสมบันน้องๆ ชีวิตชาวเหมืองก็น่าจะเป็นชีวิตในแวดวงก่อสร้าง

แต่สภาพแวดล้อมปัจจุบัน ทำให้ประสบการณ์อันเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตให้ผู้ที่เคยเหลวไหลกับการใช้ชีวิตในวัยหนุ่มอย่างในเรื่องนี้ หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

ผู้ที่มีจิตเมตตาต่อคนทั่วไป อย่างนายฝรั่งในเรื่องนี้ ปัจจุบันมีหลงเหลืออยู่ที่ไหนบ้างไหม

ทุกวันนี้ ตื่นขึ้นมาแต่ละวัน ได้ยินแต่ข่าว ผู้มีอำนาจเอาแต่แสวงหาทางฉ้อฉลเข้าตัวและพวกพ้อง ทั้งที่ชีวิตที่เป็นอยู่ก็ล้นเหลือเกินอัตภาพไปไม่รู้กี่เท่าทบแล้ว

ทุกวันนี้ได้แต่อยู่ด้วยความรู้สึกว่า ชาติบ้านเมืองนี้จะไปได้อีกสักกี่น้ำ

มหา"ลัย เหมืองแร่ อาจจะไม่สามารถสร้างความประทับใจให้คนรักหนังไทยที่เป็นคนรักเรื่องชุดนี้มาก่อนได้อย่างตั้งหวังไว้

แต่ก็ไม่ถึงกับผิดหวัง

ที่ไม่ได้ดังใจนั้น เป็นแค่ระดับเสียดาย

ผู้กำกับฯ อาจจะไม่สามารถสื่อให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับความรู้สึกที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งกล่าวกับหนุ่มเมื่อถึงเวลาต้องแยกจากกันว่า "เอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็ยังรักคุณ อาจินต์" (ขออภัยหากจำมาไม่แม่น)

อาจจะมีเหตุผลทางด้านงบประมาณ ทำให้ จิระ มะลิกุล ไม่อาจทำผลงานครั้งนี้ให้สมบูรณ์เท่าที่ใจอยากได้ เพราะเท่าที่มีข่าวออกมา นี่ก็บานเกินที่ตั้งงบฯ ไว้ไปไหนๆ แล้ว

ดูจากความตั้งใจสรรหาผู้แสดง ดังที่แฟนพันธุ์แท้เรื่องชุดนี้คนหนึ่งถ่ายทอดไว้ที่นี่ ที่ตามรอยเหมืองแร่ ก็น่าที่งบฯ จะบานไปเช่นนั้น

น่าจะเป็นปัญหาด้านนี้ ทำให้ผู้กำกับฯ ไม่สามารถเพิ่มฉากเพื่อปูให้คนดูเชื่อว่ามีอะไร จึงทำให้ตัวละครบางคนรู้สึกเช่นนั้นกับหนุ่มจากเมืองกรุงคนนี้

แต่ภาพและบรรยากาศในเรื่องนี้ ชดเชยความรู้สึกเสียดายความย่อหย่อนจากต้นฉบับเหล่านั้นได้มาก

กระแสความสนใจที่คนไทยมีต่อหนังเรื่องนี้ อาจจะนับเป็นมาตรวัดระดับของคนไทยในปัจจุบันได้ ว่านอกจากจะไม่พัฒนาทางสติปัญญาขึ้นมาแล้ว ยังดูท่าว่ามีแต่เสื่อมถอยลง ทั้งนี้ มีเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นประจักษ์หลักฐานที่ชัดเจนอีกประการ นอกเหนือจากเรื่องฉ้อฉลที่มีให้รับรู้อยู่ทุกวี่วัน

มีสุ้มเสียงจำนวนไม่น้อยที่คิดไปก่อนคิดไปเองว่า เรื่องเช่นนี้ หนังสือระดับ 1 ใน 100 ที่คนไทยควรอ่านเช่นนี้ จะไม่ทำให้เขาเหล่านั้นรื่นรมย์ได้ นี่สะท้อนถึงคุณภาพของคนไทยส่วนหนึ่งในสมัยนี้ว่าอ่อนด้อยในทางความคิดเพียงใด

มีความพยายามชักขวนให้เกิดกระแสเช่นครั้งโหมโรง แต่ดูท่าจะยาก เพราะนอกจากจะไม่มีบรรยากาศปลุกเร้าเลือดรักความเป็นไทยให้ร้อนฉ่าขึ้นมาได้อย่างครั้งนั้นแล้ว รูปแบบเนื้อหาตลอดไปจนถึงการพูดภาษาถิ่น (ใต้) ออกจะเกินจริตของผู้มีวุฒิภาวะระดับนักเรียนมัธยมที่เป็นลูกค้าหลักกลุ่มหนึ่งของโรงหนัง

แต่สำหรับผม นี่เป็นหนังที่ตั้งหน้ารอคอยวันจะได้เป็นเจ้าของแผ่น พอๆ กับที่เคยรอวันที่จะได้ดูในโรง


หน้า 75


โดย: Nutty Professor วันที่: 20 มิถุนายน 2548 เวลา:20:19:18 น.  

 

มหา"ลัย เหมืองแร่ เรียนรวมตลอดสี่ปี



วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1296

บทความพิเศษ

วจนา วรรณศิลป์

มหา"ลัย เหมืองแร่ เรียนรวมตลอดสี่ปี

"อาซิ้มก้นตลาดใช้ฟันทึ้งเป็ดนึ่งออกจากจะงอยคายใส่กะละมัง ตีราคากับกุ๊กร้านขายอาหารที่จะมารับไปผัดกับหน่อไม้ขายลูกค้า อาชีพประหลาด...ตีนถีบปากกัด...ใครหนอช่างคิดคำนี้ไว้ล่วงหน้า ยายซิ้ม และใครหนอจะมีอภินิหารเสกคาถาให้ยายซิ้มมีฟันคงทนอยู่ตลอด ไม่โยกคลอนและหลุดไปตามวัย

เพื่อเห็นแก่อาชีพสุจริตของแก"

หยิบหนังสือ "จากเหมืองแร่สู่เมืองหลวง" ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ตีพิมพ์เมื่อเมษายน 2514 พิมพ์ครั้งแรก 6,000 เล่มมาคัดลอก

ข้อความที่ยกมานี้เป็นความเรียงชุด "ปรัชยาไส้" ใช้ ย-ยักษ์ สระอา อันหมายถึงเขียนเพื่อยาไส้ กระนั้นก็จะได้สัมผัสพลังในการเรียงถ้อยคำ การหักมุมความคิดเป็นระยะจนบรรลุการสะท้อนภาพชีวิต ด้วยความคิดมนุษยธรรม สั้นๆ สมบูรณ์

การจะพูดถึงหนัง มหา"ลัยเหมืองแร่ โดยแถไปหาหนังสือก่อนก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้เขียนจะนำเอาต้นฉบับวรรณกรรมมาตรวจสอบผู้สร้างภาพยนตร์ ไม่ต้องห่วงเรื่องนั้น...อย่าห่วง

เว้นแต่เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่บางเรื่องอ่านแล้วชอบเลยจำได้เอง รวมทั้งบางพรรณนาโวหารอันสุดคมคายก็คงอดอ้างอิงไม่ได้ เช่น เรื่องจดหมายรักของนายนุ้ย ที่มาวานให้ "ข้าพเจ้า" เขียนให้สาว แล้วสาวก็มาขอแรงให้ "ข้าพเจ้า" อ่านให้ เพราะเธอเองก็อ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งในหนังเปลี่ยนเป็น "จดหมายรักพี่จอน"

หรือสำนวนที่ตรึงใจ จำไม่ได้ทุกถ้อยคำหรอก และขี้เกียจไปค้นในรวมเล่ม 140 เรื่อง ที่กำลังติดอันดับขายดีอยู่ขณะนี้ (นี่แหละ "ทหารแก่ไม่เคยตาย" ติดอันดับขายดีอยู่เรื่องเดียวท่ามกลางความสลบซบเซาของเรื่องสั้น-นิยายไทย)

สำนวนนั้น "ข้าพเจ้า" อธิบายแสงแดดในเหมืองแร่ในทำนองว่า ดวงอาทิตย์เป็นเหมือนกระทะที่เคี่ยวทองแดงจนเหลวแล้วเทราดลงบนศีรษะและหลังไหล่เรา...ทำนองนั้น (ห้ามอ้างอิงเพราะอาจไม่แม่นเป๊ะทุกพยางค์)

ยังนึกอยู่เลยว่า ถ้าอยากได้ "พี่เรียด" ปี 2492 ตัวเอกน่าจะเล่าเรื่องโดยใช้ "ข้าพเจ้า" แทน "ผม" อีกอย่าง เรื่องเหมืองแร่เหมาะแก่การเป็นภาพยนตร์ระดับมหากาพย์ เพราะเรื่องเป็นวรรณกรรมต้นแบบ คนทำหนังก็มีฝีมือ คนเชื่อถือตั้งแต่ออกข่าวจะสร้าง ทุนสร้างก็พร้อม ภาษาในหนังควรจะขลังๆ แบบไม่ต้องกลัวเป็นลิเก นอกจากเล่าโดย "ข้าพเจ้า" แล้ว ช่วงพักของหนังที่จะต้องเล่าเรื่องช้าลง น่าจะยิงพรรณนาโวหารยาวๆ ชนิดดูหนังเสร็จแล้วอยากกลับไปอ่านหนังสืออีก

(แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าความคมคายของตัวบทประพันธ์จะหายไปอะไรนะคะท่านผู้ชม ไดอะล็อกหักมุมในสไตล์อาจินต์มียิงมาเป็นระยะๆ เข้าใจว่าถ้าเขียนบทอย่างดิฉันว่า

คนสร้างหนังเขาคงกลัวคนดูหลับคาโรง...

ดูหนังเรื่องนี้ตั้งแต่สัปดาห์แรกคนดูก็ได้หัวเราะนั่นนี่เป็นระยะๆ ภาพสวยๆ จนตาลาย เพลงเพลิน ดูจบสบายๆ ไม่เบื่อ ขอยืนยันว่า ถ้าใครยังไม่ได้ดูต้องไปดูกันให้ได้ เพราะช่วงนี้พรรคพวกเพื่อนฝูงคอเดียวกันจะต้องถามท่านว่า ดูหนังเหมืองแร่หรือยัง



สิ่งที่เอาอยู่อย่างมากๆ และชวนเพลิดเพลินก็คือบรรยากาศของเรื่อง อย่างนี้ต้องขอเปิดหนังสือ "จากเหมืองแร่สู่เมืองหลวง" เล่มเดิมอีกที (ไม่ได้ไปคว้าเล่มอื่นมาจับผิดนะขอยืนยัน) ในเรื่องสั้นประวัติศาสตร์ของพี่จอน

"อากาศมีสามสถานะเท่านั้นก็พอ มันคือ หนึ่ง แดดร้อนแจ๋ในเวลากลางวัน สอง-พยับฝนเป็นม่านสีเงินในตอนบ่ายเย็น และสาม-มืดมัวเป็นสีเทาหนาวเยือกด้วยหมอกและน้ำค้างในเวลากลางคืน และหัวรุ่ง"

ผู้สร้างหนังทำแบบเคารพต้นฉบับวรรณกรรมอย่างดีเยี่ยม และดีเพียงพอที่จะมอบรางวัลตุ๊กตาทองให้เลย

นั่งดูไปก็รู้สึกเปียก ลื่น เขรอะขระ หนาว หนาวทั้งจากบรรยากาศและจากแอร์โรงหนัง...คือคนดูน้อย ก็ยังไม่อยากด่วนสรุปอะไร ตอนดูโหมโรงก็เจอรอบคนดูน้อย...น้อยจนไม่มีที่นั่ง (มีแต่ที่นอน) ก็ขอให้ "ต้นร้ายปลายดี" เหมือนๆ กัน

ก่อนเข้าโรงหนัง มีความรู้สึกกระตือรือร้นว่า จากเรื่องสั้นตั้ง 140 เรื่อง เขาจะเลือกมาร้อย มาดัด มาถาก มาจัดมาวางอย่างไร ยังคิดแทนคนสร้างว่า เรื่องนี้แหละจะเป็นเรื่อง "หนัก" ที่สุด หนักกว่าเรื่องของการเมกฉาก-บรรยากาศ !

ดูหนังเสร็จแล้วก็ถามกุมารา กุมารี วัย ม.4 ม.5 ที่ไปดูด้วย "วัยรุ่นจะดูหนังเรื่องนี้ไหมลูก" ก็ไม่มีคำตอบค่ะ และคำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม แต่อยู่ที่ช่องขายตั๋ว !

หนังฉายช่วงหลังเอ็นสะท้าน (ซึ่งทุกวันนี้ไม่โหดเหมือนแต่ก่อน) คนเอ็นไม่ติด หรือคนเปิดเทอมใหม่น่าจะดูหนังเรื่องนี้ เป็นการปลอบใจหรือเป็นการเปิดโลกเรียนรู้ว่าในชีวิตอันผิดหวังต้องทำงานหนักนั้นก็เป็นมหาวิทยาลัยชีวิตได้ เรียนรู้น้ำใจนายฝรั่ง การสู้งานของพี่ๆ ปรัชญาชีวิตของตาลุงสีเทาพุงป่อง

หนังพาไปถึงจุดหมายแห่งเนื้อหาสาระนี้ไหม ก็ถึง...เอ้อ ก็สมเจตนาค่ะ

ถ้าดูผลสะท้อนจากเจตนาของ คนสร้าง เป็นเช่นนั้น แต่หนัง-ละคร เป็นกิจกรรมเสพสังโยคสโมสรนิกรชน ก็ต้องดูจากความสมเจตนาของ ผู้เสพ ด้วย

ความรู้สึกของผู้เสพหนึ่งคนตรงนี้ถ้าเปรียบกับตอนดู "15 ค่ำ เดือน 11" หรือ "แฟนฉัน" ต่างกันตรงไม่ค่อยอิ่มอารมณ์เท่าสองเรื่องที่ว่า ผู้ชมวัย ม.4-5 ที่ดูด้วยบอกเหมือนกันว่า ไม่รู้จะไปเล่าเรื่องให้เพื่อนฟังยังไง เพราะตลอดเรื่องเป็นเรื่องของคนนั้นหน่อย คนนี้หน่อย

เรียกว่าเป็นหนังที่เคารพต้นฉบับอย่างมาก คือ เป็นหนังรวมเรื่องสั้น ไม่ใช่หนังแบบนิยาย

พอหนังจบเรื่องแล้วตัดภาพจากปี 2496 มาปี 2548 อาจินต์ตัวจริงพบกับไอ้ไข่ตัวจริง ท่าทีบ่งบอกถึงความผูกพัน ผู้เขียนดูภาพนี้แล้วคิดต่อ แบบฉลาดหลังการรบเสร็จสิ้น อันเป็นท่วงทำนองน่าหมั่นไส้รำคาญอย่างยิ่ง สำหรับฝ่ายที่กรำงานหนักรบกับงานมาแสนเหนื่อย ทนฟังละกัน

สี่ปีของ มหา"ลัย เหมืองแร่ ดูเหมือนเป็นการเรียนรวมโดยตลอด คนนั้นทีคนนี้ทีตลอด ตอนขึ้นปีสาม น่าจะขมวดสู่วิชาเอก วิชาโทได้แล้ว

วิชาเอกคือ อาจินต์ วิชาโทคือ ไอ้ไข่ ที่จะต้องขมวดเป็นความขัดแย้ง การช่วยเหลือ การเรียนรู้จากกัน

เช่น ไอ้ไข่ไม่รู้หนังสือ ไม่อดทน ชอบอู้จนเสียงาน อาจินต์ต้องสอนหนังสือไอ้ไข่ แต่ไอ้ไข่ไม่สนใจเรียน อาจินต์สอนให้ไอ้ไข่อดทนเหมือนตน (ซึ่งเรียนมาจากพวกพี่ๆ ในปี 1-2 นี่ปีสามแล้วอาจินต์สอนน้องได้) โดยอาจินต์เขียนคำ "ทน" ติดไว้ที่หัวนอนไอ้ไข่ จึงเป็นภาษาไทยคำเดียวที่ไอ้ไข่อ่าน-เขียนได้ แล้วตบมุขตอนอาจินต์อกหัก เมา เขียน "ปัจจุบันต้องอด" อ่านให้ไอ้ไข่ฟัง พออาจินต์ตื่นจากหลับจึงเห็นคำว่า "ทน" ลายมือไอ้ไข่

ตบมุขแบบนี้ ถ้าเป็นกีฬาแฮนด์บอล ก็ลูกบอลลงตะกร้าทีอ้า...เอ๊ย ร่อนรอดังบั๊วะเลยค่ะ



อาจินต์กับไอ้ไข่ต้องเดินเรื่องขัดแย้ง ผูกพัน ก่อกวนให้สนุกสนานตามสไตล์ของไอ้ไข่ ถ้าบทไอ้ไข่มากกว่านี้หนังจะสนุกขึ้นค่ะ

แล้วปีสี่ ขมวดแบบจะจบแล้ว ต้องมีลุ้น มีซาบซึ้งประทับใจ

จบแบบไอ้ไข่ได้ลงเอยกับนางเอกหน้าคมอย่างนั้นดีแล้ว แต่ควรจะผ่านรัก 4 เส้าเชยๆ คือ พี่จอนมีเมียแล้วแต่อดใจรักนางเอกไม่ได้ ส่วนนางเอกมาชอบอาจินต์ ซึ่งมีเหตุผลเยอะแยะ แล้วไอ้ไข่แอบชอบนางเอก มาให้อาจินต์เขียนจดหมายรักให้ นางเอกเอามาให้อาจินต์ช่วยอ่านแล้วเผยความในใจแบบน้อยอกน้อยใจว่าหนุ่มกรุงคงไม่สนใจตัวเองหรอก

พี่จอนยอมถอยและบอกให้อาจินต์ดูแลนางเอกดีๆ เพราะดูออก ไอ้ไข่ที่เคยร่าเริง ทะลึ่ง ก็หงอยลงๆ และว่าตัวเองมันโง่เขลา ป่าเถื่อน คงไม่มีใครสนใจ อาจินต์ว่าเอ็งไม่โง่หรอก เอ็งเคยสอนปรัชญาชีวิตให้ข้าและอาจินต์สอนให้ไอ้ไข่เรียนหนังสือ

ไอ้ไข่ก็ฮึดขึ้นมาตั้งใจเรียน ไอ้ไข่จึงดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มีความรับผิดชอบสมกับที่จะดูแลนางเอกให้ดี ตามคำฝากฝังของพี่จอน ทั้งหมดโดยการไตร่ตรอง และผลักดันของอาจินต์ให้ไอ้ไข่ลงเอยกับนางเอก

จบแบบนี้ อาจินต์จะเป็นวิชาเอกขึ้นมาเลย เป็นรุ่นพี่ที่ดูแลและเสียสละให้น้อง โดยไม่คิดฉวยโอกาส แม้จะมีโอกาสมากมาย

แล้วตัดกลับมาปี 2548 ไอ้ไข่พาเมียและลูกหลายคนมาเยี่ยมอาจินต์ นางเอกต้องหย่อนยานนนน...แบบอนิจจังสังขาร ส่วนไอ้ไข่เดาะใส่แว่นตาซะเท่ นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ให้อาจินต์ฟัง เพราะอาจินต์สายตาไม่ดีแล้ว ก็อ่านข่าวเรื่องการสอบเอ็นทรานซ์...

จบค่ะ ท่านผู้ชม มหา"ลัยเหมืองแร่ ฉบับฉันเอง!


หน้า 85





โดย: Nutty Professor วันที่: 20 มิถุนายน 2548 เวลา:20:22:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nutty Professor
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Madagascar : The Island of Opportunity
[Add Nutty Professor's blog to your web]