คุยไปเรื่อยๆตามประสาเด็กหัวตลาด

๔.ดราม่าเรื่อง PCI



ดราม่าเรื่อง PCI

PCI หรือ Percutaneous CoronaryIntervention แปลเป็นไทยว่าหัตถการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารี่ผ่านสายสวนหลอดเลือดโคโรนารี่(coronary artery) คือหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเป็นแขนงแรกของหลอดเลือดแดงที่แยกออกจากหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้า(aorta) ซึ่งออกจากหัวใจ

ปกติ coronary artery จะมี๒ เส้นหลักคือ right coronary artery(RCA) เลี้ยงหัวใจด้านขวาและ left main coronary artery(LM) ซึ่งจะแยกเป็น left anterior descending coronary arteryเลี้ยงหัวใจด้านหน้าข้างซ้าย และ left circumflex coronaryartery ซึ่งจะเลี้ยงหัวใจด้านหลังข้างซ้าย

ในคนที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงไขมันจะเกาะตัวภายในผนังหลอดเลือดทั้งร่างกาย แต่เจ้า coronary artery นี้มีขนาดเล็กมากจึงมักจะทำให้เกิดเรื่องคือวันร้ายคืนร้ายเจ้าไขมันที่เกาะผนังหลอดเลือดดันหลุดเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันเจ้าcoronary artery ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันถ้าปล่อยไว้ก็เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือในบางคนไม่เกิดการหลุดของลิ่มเลือดแต่ไขมันเกาะหนาตัวมากขึ้นจนผนังหลอดเลือดตีบแคบจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ก็เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันแบบเรื้อรังและกล้ามเนื้อหัวใจตายเช่นกัน

การรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันมี ๓วิธีด้วยกันคือ

๑.การให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือ thrombolyticdrug การให้ยาละลายลิ่มเลือดจะได้ผลดีกับคนไข้ที่เป็นภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันชนิดที่มีการยกขึ้นของคลื่นไฟฟ้าหัวใจส่วนST และต้องได้รับยาภายใน ๑๒ ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการ

๒.การทำ PCI คือการใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหรือข้อมือย้อนกลับเข้าไปหาหัวใจจนถึงรูเปิดของ coronary artery ที่โคนเส้นเลือด aortaก็จะใส่สายสวนเข้าไปใน coronary artery แล้วฉีดสีดูความผิดปกติถ้าเจอตำแหน่งที่อุดตันก็จะใส่สายเข้าไปดูดลิ่มเลือดออกมาหากหลอดเลือดบริเวณนั้นตีบแคบก็ใส่สายสวนที่ปลายเป็นบอลลูนทำการขยายหลอดเลือดที่ตีบหากขยายด้วยบอลลูนแล้วหลอดเลือดนั้นยืดหยุ่นมากตีบแคบลงได้อีกก็จะใส่ขดลวดหรือที่เรียกว่าstent ค้ำยันไม่ให้หลอดเลือดยุบตัวลง

กรณีที่เป็นภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเรื้อรังผนังหลอดเลือดที่มีไขมันเกาะมักจะมีแคลเซี่ยมมาเกาะแข็งการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนทำไม่ได้จะต้องมีการใช้สายสวนที่มีหัวกรอพิเศษเข้าไปเจาะกรอให้หลอดเลือดเปิดก่อน แล้วตามด้วยการใส่stent ค้ำยัน

๓.การทำผ่าตัดที่เรียกว่า coronaryarterial bypass graft คือหาเส้นเลือดอื่นมาต่อเป็นท่อลัดเลือดจาก aortaไปยัง coronary artery ส่วนที่ถัดไปจากตำแหน่งที่มีการอุดตันจะทำในรายที่มีการอุดตันของหลอดเลือด left main coronary artery หรือมีการอุดตันของหลอดเลือดตั้งแต่ ๓ เส้นขึ้นไปโดยที่ส่วนปลายมีขนาดใหญ่พอที่จะเย็บต่อได้หลอดเลือดที่นำมาต่อก็อาจจะเป็นหลอดเลือดแดงใต้กระดูกหน้าอกที่เรียกว่า internalmammary artery graft หรือหลอดเลือดดำที่เลาะออกมาจากขาที่เรียกว่า saphenousvein graft คำว่า graft หมายถึงอะไรที่เป็นของเทียมไม่ใช่ของจริง

การรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันต้องทำเป็นทีมตั้งแต่แพทย์ทั่วไปที่เจอคนไข้ต้องมีความรู้และตระหนักว่าคนไข้น่าจะเป็นโรคนี้แล้วมีการส่งต่อไปหาแพทย์ผู้ปฏิบัติรักษาหลอดเลือดโคโรนารี่ผ่านสายสวนซึ่งเป็นสาขาย่อยต่อยอดจากการเป็นอายุรแพทย์โรคหัวใจหรือศัลยแพทย์ทรวงอก

ตามหลักวิชาการแล้วในกรณีที่เป็นภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันชนิดที่มีการยกขึ้นของคลื่นไฟฟ้าหัวใจส่วนST การรักษาที่ดีที่สุดคือรีบทำ PCI หรือที่เรียกว่าprimary PCI ภายใน ๑๒ ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการแต่ด้วยข้อจำกัดของการบริการในประเทศไทยจึงใช้การให้ยาละลายลิ่มเลือดเป็นการรักษาเพื่อช่วยชีวิตคนไข้ก่อน แล้วจึงส่งต่อไปทำPCI

ปัจจุบันการทำ PCI ในคนไข้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองเป็นช่องทางหารายได้ให้กับหน่วยบริการบางแห่งเพราะการทำ PCI คนไข้๑ ราย หน่วยบริการจะได้รับชดเชยค่ารักษาและหัตถการ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ค่าขดลวดมีการใช้เล่ห์กลบางอย่างทำให้เบิกค่าใช้จ่ายได้มากกว่าความเป็นจริงนอกจากนี้ยังมีการทำสิ่งที่เรียกว่าการค้นหาผู้ป่วยหรือ active casefinding เพื่อมาทำการฉีดสีสวนหัวใจโดยการนำผู้ที่คิดว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันมาฉีดสีสวนหัวใจเลยทั้งๆที่จะต้องผ่านการตรวจอีกหลายอย่างก่อนจะตัดสินใจว่าคนไข้รายนี้ต้องฉีดสีหรือไม่เช่นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียง(echocardiography) การตรวจหัวใจขณะออกกำลังด้วยการวิ่งสายพาน(stressexercise test) การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วย CT หรือMRI หรือการตรวจกล้ามเนื้อหัวใจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์(MIBIscan)

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญคณะหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการทำPCI ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทรวงอกกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของหน่วยบริการที่สามารถให้บริการ PCI ได้โดยคำนึงถึงบริการที่มีคุณภาพตั้งแต่สถานที่แพทย์และบุคลากรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เครื่องไม้เครื่องมือต่างตลอดจนการบันทึกข้อมูลของคนไข้เพื่อการตรวจสอบภายหลัง

แต่การดำเนินงานเรื่องคุณภาพบริการมักจะไปขวางทางปืนขัดผลประโยชน์บางกลุ่มที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องมากกว่าประชาชนที่มารับบริการเราจึงเจอการปล่อยข่าวเพื่อทำลายการทำงานที่เน้นคุณภาพบริการเพื่อประชาชนคนไทยตลอดเวลา

ก็ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตนเองว่าถ้าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันจะยอมไปรักษาในหน่วยบริการที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่หรือจะยอมให้ใครมาจูงจมูกว่าสงสัยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันต้องไปทำการฉีดสีสวนหลอดเลือดโคโรนารี่

การทำ PCI ไม่ใช่ไปกินก๋วยเตี๋ยวราดหน้าที่ไปกินร้านไหนก็ได้ ร้านนี้ทำอร่อยก็ไม่ต้องปรุงร้านนี้ผัดห่วยก็ต้องใช้เครื่องปรุงเยอะหน่อย แต่การทำ PCI เปรียบเสมือนการไปกินอาหารฝรั่งหรูที่ใช้เชฟระดับดาวมิเชลลินวันนี้ไม่มีวัตถุดิบดีๆ วันนี้รู้สึกฝีมือตกยอมปิดร้านหรือลูกค้าคนนี้ดูแล้วไม่สมควรให้ลิ้มรสก็ไม่ขายให้

ปล.เขียนบนความท้อแท้ใจของคนที่ทำงานพัฒนาคุณภาพบริการ




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2560   
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2560 14:27:30 น.   
Counter : 1046 Pageviews.  

๓.ดราม่าเรื่อง เจ็บอก



ดราม่าเรื่องเจ็บอก




หวางนี้ยังแต่เรื่องเจ็บอก
เจ็บอกที่จะพูดถึงไม่ใช่เจ็บอกจากอกหัก รักคุด ตุ๊ดเมิน เงินไม่มี
แต่เป็นการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
อันที่จริงไม่ค่อยอยากพูด เพราะจะเป็นการชักนำให้เหล่านักวิตกจริตทั้งหลายเจ็บอกขึ้นมาทันทีทันใดที่อ่านจบ
แต่ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมันสูงและพบในคนอายุน้อยมากขึ้น

อาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะไม่ใช่เจ็บแปล๊บๆแบบเข็มแทง
แต่จะเป็นอาการที่เรียกว่า chest discomfort คือเจ็บแน่นอึดอัดในทรวงอกหรือจุกเสียดลิ้นปี่ร้าวไปที่ไหล่ซ้าย สะบัก หรือกรามด้านซ้ายหรืออาจถึงขั้นหมดสติ

ถ้ามีอาการเหล่านี้สิ่งแรกที่ต้องทำคือตะโกนหาคนมาช่วยโทร.แจ้งหมายเลข ๑๖๖๙ให้เขารีบมารับตัวส่งโรงพยาบาล
เวลาโทร.แจ้งก็ไม่ต้องรีบร้อนจนพูดไม่รู้เรื่อง ให้พูดช้าๆชัดๆว่ามีคนไข้ชายหรือหญิงมีอาการเจ็บหน้าอก อยู่ที่ไหนต้องบอกสถานที่ให้ชัดเจน

เมื่อหน่วยกู้ชีพมาถึงสิ่งแรกที่จะทำคือวัดสัญญาณชีพ ถ้าเป็นรถพยาบาลที่ทันสมัยก็จะทำการตรวจคลื่นหัวใจพร้อมกับรีบนำส่งโรงพยาบาล
หากสัญญาณชีพผิดปกติมีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำก็อาจจะมีการให้ยากระตุ้นการทำงานของหัวใจ
หากคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติมีการยกขึ้นของกร๊าฟส่วน ST ชัดเจน จะวินิจฉัยว่าคนไข้เป็น STEMI จะมีการให้ยาละลายลิ่มเลือดและอาจถึงขั้นต้องทำการสวนเส้นเลือดแดง เพื่อฉีดสีดูเส้นเลือดหัวใจอาจจะต้องขยายเส้นเลือดหัวใจด้วยบอลลูน หรืออาจจะต้องใส่ขดลวด
แต่ถ้าคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่ใช่ STEMI ก็จะให้ยากระตุ้นการทำงานของหัวใจและยาขยายเส้นเลือดหัวใจแล้วพิจารณาตรวจพิเศษเมื่อดีขึ้นแล้วเช่นวิ่งสายพาน ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงตรวจเส้นเลือดหัวใจด้วย MRI หรือฉีดสี

กรณีที่ไปเจอคนไข้นอนหมดสติสิ่งแรกที่ต้องทำคือโทร.แจ้งหมายเลข ๑๖๖๙ แล้วทำการนวดหัวใจเพื่อช่วยชีวิต

5 กรกฎาคม 2559




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2560   
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2560 14:27:04 น.   
Counter : 468 Pageviews.  

๒.ดราม่าเรื่อง AED



ดราม่าเรื่อง AED

เดี๋ยวนี้ถ้าเราเดินตามห้างใหญ่ๆหรือสนามบินหรือหน่วยงานบางหน่วยงาน เราจะเห็นตู้แขวนติดฝาผนังหรือตู้วางพื้นมีป้ายเขียนบอกว่า "เครื่อง AED" หลายคนอาจจะงงว่ามันคืออะไร
AED ย่อมาจาก Automated External Defibrillator แปลเป็นไทยว่าเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ


ปี พ.ศ.๒๕๕๒ ผมไปเรียนหนังสือที่ La Trobe University, Melbourne, Australia ๑๐ วัน ได้ไปเยี่ยมโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเห็นเครื่อง AED เป็นครั้งแรก



เขามีป้ายสอนการทำ CPR



ป้ายการใช้เครื่อง AED


ทำไมต้องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า พบว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นคลำชีพจรไม่ได้มี ๒ สาเหตุใหญ่ๆคือ หัวใจหยุดเต้นไปเลยจริงๆ(asystole) กับภาวะที่หัวใจห้องล่างเต้นพริ้วจากการส่งกระแสไฟฟ้าของหัวใจขัดข้อง(ventricular fibrillationหรือ VF) 

ดังนั้นในการช่วยฟื้นคืนชีพ(Cardiopulmonary resuscitation หรือ CPR) จึงให้มีการปั๊มหน้าอกเพื่อบีบนวดหัวใจให้มีเลือดไปเลี้ยงสมอง
ถ้าหากเป็นภาวะ VF สามารถแก้ด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อคกระตุกให้ระบบไฟฟ้าของหัวใจกลับมาปกติ การใช้ไฟฟ้าช็อคกระตุกหัวใจเราเรียกว่า defibrillationเครื่องช็อคไฟฟ้าเรียกว่า defibrillator ซึ่งมีหลายแบบแบบกระตุกภายนอกหรือ external defibriilator ต้องใช้คนจับแผ่นขั้วไฟฟ้าไปแตะบนหน้าอกคนไข้แล้วกดปุ่มทำงานแบบที่เราเห็นในภาพยนตร์นั่นแหละหรือแบบกระตุกภายใน internal defibrillator อันนี้จะมีพวกวิชาชีพอย่างผมคือหมอผ่าตัดหัวใจใช้โดยเอาแผ่นขั้วไฟฟ้าไปแตะที่หัวใจโดยตรงเลย ทำในกรณีที่ผ่าตัดเปิดทรวงอกเห็นหัวใจ


ส่วน AED หรือ Automated ExternalDefibrillator นี่ก็เป็น external defibrillator แต่มีความพิเศษคือเครื่องจะทำการประมวลผลการเต้นของหัวใจของคนไข้เองถ้าพบว่าเป็น VF ก็จะสั่งให้เรากดปุ่มช็อคไฟฟ้า
ปัจจุบันในการช่วยฟื้นคืนชีพหรือ CPR ถือว่าการใช้เครื่องAED เป็นขั้นตอนของการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน(BasicLife Support หรือ BLS) กรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้การใช้เครื่องAED เป็นการปฐมพยาบาล นั่นหมายความว่าใครก็ใช้ได้และหากมีข้อผิดพลาดจากการใช้งานไม่ถือเป็นความผิด

ข้อระวังของการใช้เครื่องAED คือเครื่องนี้จะปล่อยกระแสไฟฟ้ากระแสตรงที่มีค่าพลังงานมหาศาลคนที่สัมผัสตัวคนไข้อาจจะได้รับอันตรายได้ ทุกคนต้องไม่สัมผัสตัวคนไข้ในขณะที่เครื่องทำงาน



ปัจจุบันที่ สปสช.มี AED ใช้เหมือนกับออสเตรเลีย



เครื่องแรกอยู่ที่ใกล้ห้องผู้บริหารระดับสูง เพราะเชื่อว่ากลุ่มนี้มีโอกาสถูกใช้เครื่อง AED มากที่สุด
แต่ผมว่าผู้บริหารระดับสูงถ้าถึงขั้นต้องใช้ AED มักจะไม่รอด
เพราะจะทำให้มีตำแหน่งว่างลง ๑ ตำแหน่งทันที ฮิๆๆ



เครื่องที่ ๒ อยู่หน้าห้องประชุมใหญ่ของสำนักงาน
นอกจากเครื่อง AED เรายังมีกระเป๋าใส่เครื่องช่วยฟื้นคืนชีพอย่างอื่นแบบเต็มรูปแบบ
เพราะพวกเราส่วนใหญ่เป็นบุคลาการทางการแพทย์ มีทั้งหมอและพยาบาลเยอะไปหม
และทาง สปสช.ก็ได้จัดอบรมทั้ง BLS และ ACLS ให้บุคลากร



เรามีป้ายแสดงขั้นตอนการช่วยฟื้นคืนชีพแบบย่อ



ป้ายแสดงขั้นตอนการช่วยฟื้นคืนชีพแบบละเอียด



เพื่อให้มีการทำงานเป็นทีม จึงต้องเก็บ AED ในตู้ที่มีสัญญาณ 
เมื่อเปิดตู้สัญญาณจะดัง ทำให้รู้ว่ามีการหยิบเครื่อง AED ไปใช้ ผู้ที่ผ่านการอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน(BLS) หรือการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง(Advanced cardiavascular life support หรือ ACLS) ก็จะมาช่วยกัน
ขออนุญาตนำภาพจากบริษัทผู้ผลิตมาแสดง

เมื่อเปิดกระเป๋าออกมาจะเจอตามรูป
วิธีใช้คือเปิดสวิทช์(หมายเลข ๑)
นำแผ่นขั้วไฟฟ้าแปะที่หน้าอกคนไข้ตามรูปบนแผ่นขั้วไฟฟ้
เมื่อเราติดแผ่นขั้วไฟฟ้าแล้ว เครื่องจะบอกว่าให้หยุดปั๊มหน้าอก เพื่อประมวลผล จะใช้เวลาไม่เกิน ๑๐ วินาที
หากไม่ใช่ VF เครื่องจะบอกให้เราปั๊มหน้าอกต่อไป
แต่ถ้าเป็น VF เครื่องจะบอกว่าให้ช็อคไฟฟ้าหรือ defibrillation
คนที่คุมเครื่องจะร้องดังว่า "ฉันถอย" แล้วถอยมาไม่ให้ร่างกายสัมผัสคนไข้
จากนั้นร้องว่า "คุณถอย ทุกคนถอย" คนอื่นๆก็ต้องถอยออกมาจากคนไข้
คนคุมเครื่องก็จะกดช็อคไฟฟ้า(ปุ่มหมายเลข ๓)
เครื่องจะบอกให้ปั๊มหัวใจต่อไป และสั่งให้หยุดเพื่อประมวลผ
เรามีหน้าที่ทำตามเครื่องสั่งไปเรื่อยๆจนกว่า ทีมช่วยฟื้นคืนชีพพร้อมรถพยาบาลมาถึง

เครื่องแต่ละยี่ห้อก็มักจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่บางยี่ห้อเสียงพูดเป็นภาษาไทย บางยี่ห้อเป็นภาษาอังกฤษ


ราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้การใช้ AED เป็นการปฐมพยาบาล



อันนี้เป็นตู้หน้าหน่วยงานหนึ่งในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯที่ชาวต่างชาติทุกคนต้องมาติดต่อ
มีตู้ AED แต่ผมไปดูแล้วไม่มีเครื่อง มีแต่โทรศัพท์ไว้ตามทีมฉุกเฉินที่หมายเลข ๑๖๖๙


26 กรกฎาคม เวลา 8:16




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2560   
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2560 14:26:36 น.   
Counter : 1243 Pageviews.  

๑.ดราม่าเรื่อง หมดสติ


ดราม่าเรื่องหมดสติ

 
 

หมดสติหมายถึงไม่รู้สึกตัวหรือเป็นลมหมดสติ ไม่ใช่หาม่ายสติสตังที่แปลว่าปราศจากสมาธิบ้าๆบอๆ

ถ้าเราเจอคนหมดสติไม่รู้สึกตัวสิ่งแรกที่ต้องทำคือตะโกนเรียกคนช่วย
ถ้ามีคนอื่นอยู่แถวนั้นให้โทร.แจ้งหมายเลข ๑๖๖๙ว่ามีคนหมดสติอยู่ที่ไหน พูดช้าๆให้ชัดเจน
ถ้าไม่มีคนอื่นเราต้องรีบหาโทรศัพท์โทร.แจ้ง ๑๖๖๙ด้วยตนเองก่อนทำอย่างอื่น

จากนั้นก็ดูสภาพแวดล้อมรอบๆตัวคนที่หมดสติว่ามีอะไรที่ไม่ปลอดภัยเช่นมีสายไฟพาดอยู่มีกลิ่นเหม็นของสารเคมีถ้าไม่พบอะไรที่บ่งว่าอาจเป็นอันตรายกับตัวเราด้วยก็ให้เข้าไปเขย่าที่หัวไหล่คนไข้แรงๆพร้อมกับส่งเสียงเรียก
ถ้าไม่มีการตอบสนอง ให้ลองคลำชีพจรที่คอการคลำชีพจรที่คอลองทำกับตนเองดูตอนนี้เลยแหงนหน้าขึ้นเอามือแตะตรงกลางคอซึ่งเป็นตำแหน่งของหลอดลมแล้วเลื่อนมือไปด้านข้างจะรู้สึกถึงการเต้นของชีพจรการคลำชีพจรคนที่หมดสติให้ใช้เวลาไม่เกิน ๑๐ วินาที ถ้าคลำไม่ได้ก็ไม่ต้องพยายามให้คิดเสียว่าไม่มีชีพจร

จับคนไข้นอนราบบนพื้นแข็งๆคลำหาตำแหน่งลิ้นปี่คนไข้ แล้วเอานิ้วมือทาบจากลิ้นปี่ขึ้นไปทางหน้าอกสัก ๓นิ้วมือ เล็งตำแหน่งไว้
จากนั้นเอามือ ๒ ข้างซ้อนทับกันกดลงไปที่กระดูกหน้าอกในตำแหน่งที่เล็งไว้กดลึกประมาณ ๒ นิ้วฟุต ด้วยอัตราเร็วประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ ครั้งต่อนาทีให้กดไปเรื่อยๆห้ามหยุดนานเกิน ๑๐ วินาที กดปั๊มหัวใจไปจนกว่าคนไข้จะรู้สึกตัวหรือมีคนมาช่วย

เนื่องจากปัจจุบันมีโรคติดต่อสารพัดชนิดจึงไม่แนะนำเรื่องการเป่าปากช่วยหายใจให้กดหน้าอกนวดหัวใจก็พอ
แต่หากคนที่หมดสติเป็นคนในครอบครัวเราที่ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรงเราอาจจะช่วยหายใจได้ ด้วยการจับเชยคางคนไข้ขึ้น มือข้างหนึ่งบีบจมูกคนไข้ไว้แล้วเอาปากประกบปากเป่าไปแรงๆ
กรณีนี้ให้กดหน้าอกด้วยอัตราเร็ว ๑๐๐-๑๒๐ ครั้งต่อนาที โดยกดไป ๓๐ครั้ง ให้หยุดเป่าปาก ๒ ครั้ง แล้วกดหน้าอกต่อ
ให้กดหน้าอกสลับกับการเป่าปากช่วยหายใจในอัตราส่วน ๓๐:๒ ไปเรื่อยๆที่สำคัญคือช่วงที่เป่าปาก ๒ ครั้งไม่ควรใช้เวลาเกิน ๑๐ วินาที

7 กรกฎาคม 2559




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2560   
Last Update : 10 สิงหาคม 2562 9:02:58 น.   
Counter : 786 Pageviews.  

1  2  3  4  

เด็กหัวตลาด
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เรียนจบหมอ เคยผ่านการเป็นอาจารย์ แล้วลาออกไปเป็นหมอจนๆ เพราะไม่ชอบใช้วิชาชีพหากิน
ปัจจุบันเลิกรักษาคน หันไปบริหารเงิน คอยดูคนอื่นรักษาคนไข้แทน
รับผิดชอบการจัดชุดสิทธิประโยชน์สำหรับโรคเรื้อรัง
และโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง ๓๐ บาท)
สนใจเรื่องราวประวัติตระกูล และประวัติศาสตร์บ้านเกิด ณ หัวตลาด หรือตลาดจีนเมืองตานี เป็นพิเศษ
[Add เด็กหัวตลาด's blog to your web]