คุยไปเรื่อยๆตามประสาเด็กหัวตลาด

โอ้ร่มโพธิ์ทองของลูกหลาน





วันที่ห้ากรกฎาดังฟ้าฟาด.........................คณาญาติโศกซึ้งคะนึงหา
เป็นวันสิ้นคุณพ่ออนันต์ดังพรรณา.........................โอ้คุณพ่อปู่ตาข้าฯเสียดาย
ช่างกระไรโรคภัยหนอร้ายกาจ.........................ลูกหมายมาดสนองคุณไม่สมหมาย
ราวสิบวันเท่านั้นไม่เคลื่อนคลาย.........................หัวใจวายหยุดเต้นเห็นแก่ตา
จะยื้อยุดสุดรู้สู้มัจจุราช.........................เธอสามารถยอดยิ่งจริงเจียวหนา
บังอาจมาคร่ายื้อดวงชีวี.........................คุณพ่อข้าฯพาไกลไปจากกาย
โอ้พ่อร่มโพธิ์ทองของลูกแก้ว.........................มาด่วนแคล้วลับไปลูกใจหาย
สิ้นคุณแม่มีคุณพ่อพอผ่อนคลาย.........................ลูกหญิงชายอุ่นใจกระไรเลย
แต่นี้ไปลูกจะหันหาใครเล่า.........................จะเปลี่ยวเปล่าอาดูรพ่อคุณเอ๋ย
ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ได้ชื่นเชย........................คุณพ่อเคยกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกยา
ได้รอดพ้นพาลภัยทั้งหลายแหล่.........................เฝ้าดูแลห่วงรักลูกหนักหนา
จนเติบใหญ่ให้ทุนให้วิชา.........................ตามปัญญาเลี้ยงชีพไม่อาทร
ได้ฝังปลูกลูกรักเป็นหลักฐาน.........................ตามควรกาลเป็นสุขสโมสร
แต่นี้ไปไม่เห็นหน้าลูกอาวรณ์.........................ระลึกย้อนความหลังหลั่งน้ำตา
โอ้คุณปู่คุณตาของหลานขวัญ.........................ทุกคืนวันหลานน้อยละห้อยหา
พระคุณเคยอุ่นเกล้าพวกเรามา.........................ด้วยคุณปู่คุณตาท่านแจ้งใจ
ว่าพวกเราคนไหนได้ว้าเหว่.........................ท่านหยั่งรู้คาดคะเนไม่สงสัย
ท่านโอบเอื้อการุณแสนอุ่นใจ.........................หลานหลานได้สนองคุณตามประสา
อันพระคุณเลิศล้ำจำตรึงตา.........................ที่หลานยาได้รับนับอนันต์
โอ้คุณปู่คุณตาของข้าฯน้อย.........................คงเคลื่อนคล้อยลับไกลไปสวรรค์
แต่นี้ไปไม่เห็นหน้าหลานจาบัลย์.........................ทุกคืนวันระลึกถึงคะนึงนาน
โอ้คุณพ่อปู่ตาของข้าฯเอ๋ย.........................พระคุณเคยพันผูกในลูกหลาน
พ่อจากแล้วจงผ่องแผ้วในดวงมาน.........................สู่สถานสุขภพประสบครอง
คุณพ่ออยู่เคยกระทำกรรมดีสร้าง.........................ชีวิตร้างกุศลส่งจงสนอง
ให้คุณพ่อสู่สวรรค์วิมานทอง.........................ตามทำนองผู้กระทำแต่กรรมดี
เกิดชาติไหนภพใดใจพันผูก........................ขอให้เป็นหลานลูกสมศักดิ์ศรี
ของคุณพ่อปู่ตาเช่นเดิมที.........................ข้าฯปรารถนาทั้งนี้สมปองเทอญ


ประพันธ์โดย พระเทพญาณโมลี ในนาม บุตร หลาน จาก หนังสือที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นายอนันต์ คณานุรักษ์ ณ ฌาปนสถานวัดนิกรชนาราม จังหวัดปัตตานี วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๒




 

Create Date : 28 ธันวาคม 2552   
Last Update : 28 ธันวาคม 2552 11:40:54 น.   
Counter : 704 Pageviews.  

เมื่อญี่ปุ่นบุก จากบันทึกของคุณปู่

เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นที่ครบรอบ ๖๘ ปี ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกปัตตานีในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔
จึงขอนำบันทึกของคุณปู่อนันต์ คณานุรักษ์ ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการป้องกันภัยทางอากาศ จังหวัดปัตตานี อันมี น.อ.หลวงสุนาวินวิวัฒ (กิมเหลียง สุนาวิน) ร.น. ข้าหลวงประจำจังหวัดปัตตานีเป็นผู้อำนวยการ ได้เขียนเป็นบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ทราบเรื่องราวของปู่ในเหตุการณ์วันนั้น มาเผยแพร่ให้ญาติพี่น้องได้รับทราบกัน



ที่เมืองปัตตานี เดือนธันวาคมเดือนนี้เป็นหน้ามรสุม น้ำในแม่น้ำมากเสมอตลิ่ง ถนนหนทางมีโคลนตมเป็นบางแห่ง
รุ่งเช้าของวันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ในช่วงเวลาประมาณ ๔.๐๐ น. ได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางด้านที่ตั้งของจังหวัด ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำปัตตานี มีทั้งเสียงปืนเล็ก ปืนกล ปืนใหญ่เบา
ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะเป็นการซ้อมรบของทหารบ่อทอง ร. พัน ๔๒
แต่แล้วมีคนมาร้องเรียกที่หน้าประตูบ้าน บอกว่า "ญี่ปุ่นมาแล้ว ภรรยาท่านข้าหลวงและภรรยานายอำเภออพยพมาอยู่ที่บ้านขุนธำรงฯ แล้ว" ข้าพเจ้าก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
อีกเพียงชั่วครู่ พวกเด็กผู้หญิงอีก ๔ คนก็มาเรียกที่หน้าประตูอีก บอกว่า "ญี่ปุ่นมาแล้ว"
ข้าพเจ้าสอบถามเพิ่มเติมได้ความชัดเจนก็พอจะเชื่อถือได้ว่าเป็นเรื่องจริงแน่แท้
แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรดีในสถานการณ์เช่นนี้ นึกแต่ว่าทหารคงจะไม่ทำอันตรายราษฎร ข้าพเจ้าจึงรอฟังข่าวอยู่ที่บ้าน
ครั้นพอเวลารุ่งสาง ข้าพเจ้าออกมายืนรอดูอยู่หน้าบ้าน ได้มีคนวิ่งผ่านมาและบอกว่า "มันขึ้นมาทางนี้แล้ว ไปช่วยกันเร็ว"
ข้าพเจ้าจึงได้บอกให้เขารีบไปแจ้งขอกำลังตำรวจมาช่วยสมทบ และอีกเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียวพวกราษฎรชาวปัตตานีต่างก็พากันวิ่งถือปืนออกไปทำการต่อสู้ต้านทานพวกทหารญี่ปุ่นกัน
แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าใครบ้าง
ข้าพเจ้าจึงรีบเข้าไปเอาพระเครื่องราง ลูกกระสุนปืนแฝด และลูกกระสุนปืนรีวอลเวอร์ ออกมาแจกจ่ายไปให้หลายคน แต่จำไม่ได้ว่าเป็นใครบ้าง
จากนั้นก็ให้คนเฝ้าประตูบ้านคอยดูแลต้อนรับพวกผู้หญิงและเด็กที่กำลังตื่นตระหนกตกใจวิ่งหนีกันเป็นที่ สับสนวุ่นวายไม่รู้จะไปที่แห่งหนใด ให้เข้าไปหลบอยู่ในบ้านของข้าพเจ้า ก่อนเพื่อความปลอดภัย ทั้งหมดมีประมาณ ๖๐ คน และสั่งให้จัดแจงหุงหาอาหารมาดูแลกัน
ต่อมาก็เห็นนายมานิตย์ (เค่งหง่วน) วัฒนานิกร(1) เดินถือปืนมาที่หน้าบ้าน ข้าพเจ้าก็แนะนำให้เขารีบไปสมทบที่กองตำรวจ
แล้วข้าพเจ้าก็รีบวิ่งขึ้นไปเรือนชั้นบนเพื่อตรวจดูทางหน้าต่าง ก็เห็นพวกเรายึดแนวตั้งยิงอยู่ริมทางหลังโรงฆ่าวัว(2) ข้าพเจ้าจึงออกไปทางหลังบ้าน รีบวิ่งหลบหลีกวิถีกระสุนเข้าไปหาพรรคพวกและแจกลูกกระสุนปืน รีวอลเวอร์ให้ พร้อมกับกล่าวเตือนสติปลุกใจ แล้วกลับเข้าบ้านมาออกตรวจดูทางหน้าบ้านและพูดให้สติแก่ผู้อพยพให้อยู่ในความสงบอย่าตื่นตกใจ
อยู่เพียงชั่วครู่หนึ่ง ความข้องใจก็มีขึ้นอีกข้าพเจ้าจึงรีบวิ่งออกทางหลังบ้าน ครั้นพอโผล่หน้าออกประตูไป ก็เห็นมีผู้โบกมือห้ามไม่ให้ออกไป ข้าพเจ้าจึงรีบวิ่งเข้ายึดต้นมะพร้าวเพื่อใช้เป็นที่กำบัง แล้วจึงกวักมือเรียกให้เขามาหา เขาจึงลัดเลาะคลานบ้างวิ่งบ้างเข้ามาหาข้าพเจ้าแล้วบอกว่า เขายิงทหารญี่ปุ่นซึ่งเดินหลงมา ๑ คน ไป ๒ นัด แต่ไม่ถูก ทหารญี่ปุ่นคนนั้นวิ่งหนีหายไป
ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้เขารีบตามไปดูทางบ้านนายโอ๊ะ
ส่วนข้าพเจ้าก็รีบวิ่งเข้าไปหาพรรคพวกทางด้านต้านทานปีกซ้าย แนะนำให้ประหยัดลูกกระสุน อย่ายิงโดยไร้ประโยชน์ เพราะลูกกระสุนเรามีน้อย และได้พูดปลุกปลอบใจให้ฮึกเหิมอีกครั้งก่อนกลับเข้าบ้านมา
ในระหว่างนั้นข้าพเจ้าก็ได้คอยดูเวลาและวิ่งไปมาระหว่างหน้าบ้าน หลังบ้าน และบนเรือน
เพื่อตรวจดูเหตุการณ์ข้างนอกและดูแลความเป็นอยู่ของบรรดาผู้ที่อพยพเข้ามาหลบอยู่ภายในบ้าน
และให้คนใช้และคนที่เป็นผู้ชายซึ่งหลบภัยเข้ามาอาศัยด้วยได้ช่วยกันระดมขุดหลุมหลบภัยทางอากาศไว้กลางบ้านด้านหลัง
๑ หลุม(3) ขนาดจุคนได้ประมาณ ๕๐ กว่าคน ซึ่งหลุมนั้นได้ขุดเสร็จตามประสงค์ภายในเวลาไม่นาน
นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้สั่งให้ทลายกำแพงเปิดเป็นประตูตลอดกันกับบ้านขุนพจน์สารบาญ(4) ผู้เป็นอาและบ้านนางเป้าเลี่ยง วัฒนายากร(5)แม่ยายของข้าพเจ้า เพื่อให้เดินไปมาหากันได้จากภายในบ้าน
เมื่อข้าพเจ้าออกตรวจดูทางหน้าบ้านอีกครั้ง พบหมอเสถียร ตู้จินดา ได้วิ่งมาและแจ้งว่า ได้รับโทรเลขจากทางกรุงเทพฯ
สั่งให้ระงับการต้านทานพวกทหารญี่ปุ่น เมื่อได้ทราบความดังนั้นข้าพเจ้าจึงรีบวิ่งออกไปทางหลังบ้านเพื่อเข้าไปที่แนวต้านทานทางปีกซ้ายอีกเป็นคำรบที่ ๓ ข้าพเจ้าได้เรียกนายเกษม ทรัพย์เกษม(6)และยกมือส่งสัญญาณให้เขาเข้ามาหาข้าพเจ้า ๑ คน
แต่พวกเขากลับพากันคลานคืบเข้ามาหาตั้ง ๕-๖ คน ข้าพเจ้าจึงส่งสัญญาณใหม่โดยยกนิ้วให้ ๑ นิ้วเพื่อให้เข้ามาหาเพียง ๑
คนและให้ที่เหลือตั้งมั่นรักษาแนวไว้เช่นเดิม แต่ในที่สุดแล้วก็เข้ามากัน ๒ คน ข้าพเจ้าจึงบอกให้พวกเราระงับการยิงต้านทานพวกทหารญี่ปุ่นไว้ แต่ให้ตั้งอยู่ในที่มั่นเช่นเดิมและคุมเชิงไว้โดยไม่ยิง โดยแจ้งข่าวที่รับมาจากหมอเสถียร และให้เขาแจ้งต่อๆ
กันไปในตลอดแนวของพวกเราถึงแนวของตำรวจ และย้ำว่าอย่าเพิ่งถอยให้รอจนกว่าเจ้าหน้าที่เขาจะมาแจ้งเองอีกครั้ง
พวกนั้นจึงได้คลานกลับเข้ายึดแนวที่มั่นเดิมไว้อีกและส่งข่าวต่อๆ กันไป
ข้าพเจ้าจึงรีบกลับเข้าบ้านและแจ้งข่าวให้ผู้อพยพทั้งหมดทราบเพื่อให้คลายความหวั่นวิตก แล้วก็ออกมาทางหน้าบ้านอีก มีใครจำไม่ได้ อาจเป็นนายสำราญ พร้อมกับนายอำเภอเมืองและหมอแอสโมรี(7) (ซึ่งเป็นแพทย์หรือทันตแพทย์? ชาวญี่ปุ่นที่มาเปิดคลินิกรักษาในเมืองปัตตานี แต่ครั้นญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามก็แสดงตัวเป็นนายทหารยศพันตรีแห่งกองทัพญี่ปุ่น) ได้นำธงห้ามการยิงกันทั้ง ๒ ฝ่ายมาด้วย โดยนำธงญี่ปุ่นแจ้งให้ฝ่ายทหารญี่ปุ่นรู้
เมื่อทั้งหมดได้ทำความเข้าใจกันดีแล้ว ทหารญี่ปุ่น ตำรวจไทย และชาวปัตตานีต่างก็เข้าร่วมชุมนุมกันที่บริเวณสามแยกถนนนาเกลือกับถนนอาเนาะรู ตรงหน้าวัดนิกรชนาราม (วัดหัวตลาด) ข้าพเจ้าได้พูดคุยกันกับนายทหารญี่ปุ่นเป็นภาษาใบ้ซึ่งก็พอจะเข้าใจกันอยู่บ้าง
ผลจากการปะทะกันที่แนวต้านทานนี้ปรากฏว่า ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต ๓ นาย ฝ่ายเราไม่มีการเสียชีวิตเลย มีเพียงนายมานิตย์ วัฒนานิกร ถูกยิงที่ไหล่กระสุนทะลุออก แต่นับว่าโชคดีเพราะกระสุนไม่โดนกระดูกแต่อย่างใด
ในระหว่างที่ชุมนุมกันอยู่นั้นก็มีเสียงเครื่องบินดังกระหึ่มอยู่บนท้องฟ้าตลอดเวลา แลเห็นฝูงเครื่องบินรบบินเข้าแถวสลับฟันปลาแปรขบวนมุ่งออกไปทางทะเล ข้าพเจ้าทราบจากนายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งว่าเป็นเครื่องบินของพวกเขาทั้งนั้น ข้าพเจ้าพอจะนับคะเนได้จำนวน ๔๐-๕๐ ลำ แต่เขาเพียงบินลาดตระเวนเฉยๆ ไม่ได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินอะไรของฝ่ายเราเลย
หลังจากนั้นครู่หนึ่ง ฝ่ายตำรวจไทยก็ได้ถอนกำลังทั้งหมดประมาณ ๑๒ นายกลับสถานีไป โดยมีนายร้อยเอกชายเป็นหัวหน้าชุดควบคุม ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นธุระของข้าพเจ้าช่วยจัดการทั้งหมด ข้าพเจ้าได้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่พวกทหารญี่ปุ่นในทุกทาง เช่นจัดหารถยนต์ให้เขาเพื่อบรรทุกทหารและศพทหารทั้ง ๓ นาย กลับไปพักหน้าจังหวัด ซึ่งในการนี้ก็ค่อนข้างขลุกขลักอยู่เป็นอันมาก
เมื่อเสร็จทางธุระเรื่องของทหารญี่ปุ่นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รีบเดินทางไปที่หน้าสถานีตำรวจ แต่ก็ไม่พบกับท่านข้าหลวง(น.อ. หลวงสุนาวินวิวัฒน์, ร.น.) ซึ่งท่านได้เดินทางไปจังหวัดยะลา พร้อมกับนายมาโนช วัฒนานิกร (พี่ชายนายมานิตย์) และนายทหารญี่ปุ่น เพื่อเบิกทางและทำความเข้าใจกับกองต้านทานของจังหวัดยะลา ให้ระงับการต้านทานตามนโยบายรัฐบาล
เมื่อไม่พบท่านข้าหลวงข้าพเจ้าจึงเดินกลับบ้าน ก็พอดีมีคนวิ่งมาบอกว่าพบเห็นทหารญี่ปุ่นอีก ๑ กองกำลังเพิ่งจะถึงมาใหม่
ข้าพเจ้าเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดกันและเกิดยิงต่อสู้กันขึ้นอีก จึงรีบไปหาหมอแอสโมรีและบอกให้รีบไปรับรองกองทหารญี่ปุ่นนี้เสีย
ขณะออกเดินกันไปได้เพียงเล็กน้อยก็พบกับกองทหารที่กลางตลาดกำลังเดินแถวและคุมตัวนายซุ่ยเฉี้ยง(8) เดินชูมือนำหน้าขบวนมา เมื่อหมอแอสโมรีได้ทำความเข้าใจกันดีแล้วทหารญี่ปุ่นก็ได้ปล่อยตัวนายซุ่ยเฉี้ยงเป็นอิสระ
ต่อมาเวลาประมาณบ่าย ๓ โมงเศษ ข้าพเจ้าได้จัดเตรียมเข้าของเงินทองเพื่อจะฝังดินเอาไว้ ตามที่พรรคพวกเพื่อนฝูงทั้งหลายแนะนำให้อพยพออกจากศูนย์กลางตลาด เพราะเกรงการทิ้งบอมบ์จากฝ่ายอังกฤษ ขณะที่กำลังจัดเก็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจวนจะแล้วเสร็จ ก็พอดีท่านข้าหลวงได้ส่งรถยนต์มาตามตัวข้าพเจ้าให้รีบไปพบ
เมื่อไปถึงก็เห็นว่ามีนายพันโทโกบายาจิ แห่งกองทัพญี่ปุ่น นั่งอยู่ด้วยกับท่านข้าหลวงที่จวน กำลังปรึกษาหารือกันถึงเรื่องฉุกเฉินต่างๆ ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร และผู้พันโกบายาจิได้ขอให้เราแจ้งแก่ราษฎรอย่าให้อพยพไปไหน
ข้าพเจ้าจึงเรียนขออนุญาตท่านข้าหลวงรีบนำรถยนต์นั่งไปเที่ยวป่าวประกาศบอกราษฎรว่าไม่ต้องตื่นตระหนกอพยพไปไหน เพราะเหตุการณ์เป็นปกติแล้ว ซึ่งก็ได้ผลดีอยู่มาก แล้วข้าพเจ้าก็กลับไปที่จวนเพื่อเรียนให้ท่านข้าหลวงทราบ
ตลอดช่วงเวลาเช้าที่ผ่านมาของวันนั้น ปรากฏว่าบรรดาข้าราชการและราษฎรที่อาศัยอยู่ฝั่งที่ตั้งจังหวัดได้พากันอพยพข้ามสะพานเดชานุชิต และข้ามเรือมาอยู่ทางฝั่งตลาด และบ้างก็อพยพเลยต่อไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น สายหนึ่งอพยพไปที่ กรือเซะ ยามู(9) ตลอดระยะทางจนเข้าเขตอำเภอสายบุรี สายหนึ่งอพยพไปอยู่ที่บาระโหม กุโบโต๊ะอาเย๊าะ(10) แม่ฮ่อ ปุยุต บ้านลี้มอล่าเต๊ะ ยะลา ม่วงหมัง(11) ส่วนอีกสายก็ไปทางท่าด่าน ปะกาฆอ(12) การอพยพครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมดหลายพันคน ส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก โดยมีผู้ชายเป็นผู้ดูแลควบคุมไป
การยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นที่จังหวัดปัตตานีเมื่อยามใกล้รุ่งของวันจันทร์ที่ ๘ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ นี้ ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเป็นหลายทาง ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำ ยกพลขึ้นบกที่ตำบลรูสมิแล ริมฝั่งทะเลตลอดมาจนถึงด่านภาษี ที่บริเวณคอกสัตว์(13)และถนนปากน้ำ วางแนวกันกว้าง ได้เกิดการปะทะยิงต่อสู้กับกองทหาร ร.พัน ๔๒ ส่วนด้านบริเวณที่ใกล้จังหวัดและบ้านพักราชการ มีกองตำรวจ ยุวชนทหาร ข้าราชการ ราษฎร ร่วมมือกันต้านทาน
การต่อสู้ต้านทานกองกำลังทหารญี่ปุ่นด้านจังหวัดนี้ ปรากฏว่ามีข้าราชการ ตำรวจ ยุวชนทหาร ราษฎร เสียชีวิตประมาณ ๒๔ คน เป็นยุวชนทหาร ๕ คน ทหารไทยร.พัน ๔๒ เสียชีวิตประมาณ ๔๐ คน รวมทั้งผู้บังคับกองพัน พันตรีขุนอิงคยุทธบริหารก็เสียชีวิตไปด้วย ส่วนทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตมากมายถึงร้อยกว่านาย
(จำนวนไม่ตรงกับที่แม่เขียนในเรื่องพันเอกขุนอิงคยุทธบริหาร)(14)
ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำ ยกพลขึ้นบกที่ริมทะเลตรงข้ามกับด่านภาษี(15) ยกขบวนไปตามถนนนาเกลือ ปะทะการต้านทานของเลือดไทยแท้ๆ ซึ่งมีปืนสั้น ปืนแฝด ปืนเดี่ยว ปืนเมาเซอร์ต่อด้าม แบบเลือดชาวบ้านบางระจัน ปะทะกันอยู่นานประมาณ
๕ นาที ก่อนที่กองกำลังตำรวจประมาณ ๑๐ นายได้เข้าทำการร่วมมือต่อสู้ต้านทานด้วย สามารถต้านทานอยู่นานถึง ๒
ชั่วโมง กว่าที่จะมีคำสั่งจากทางรัฐบาลให้ยุติการยิงต้านทาน
การปะทะกันด้านถนนนาเกลือนี้ ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต ๓ นาย ฝ่ายเรามีเพียงได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ไหล่ ๑ คน ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว
เวลาต่อมาเรือลำเลียงก็บรรทุกทหารแล่นเข้าลำน้ำปัตตานีเป็นขบวนยาวยืด ทหารและสัมภาระ รถทหาร ถูกลำเลียงขึ้นบกอย่างคับคั่ง พวกทหารแนวหน้าก็รีบจับหารถโดยสารยึดไปบรรทุกทหารรีบเร่งผ่านหน้าจังหวัดเลยไปยังจุดหมายปลายทางคือ
เบตง
เรือลำเลียงทหารมองดูสุดสายตาซึ่งจอดอยู่ในทะเล ในระหว่างนั้น ท้องทะเลจะดูเต็มไปด้วยเรือรบหลายชนิดและเรือลำเลียงขนส่งทหารขึ้นบก มองดูบนถนนจะแลเห็นรถบรรทุกของทหารขนส่งสรรพวัตถุและเสบียง และขนส่งทหารเรื่อยๆ ไป ตลอดวันและค่ำคืน ทหารก็ทำการขนเข้าของขึ้นจากเรือกันอย่างหนักตลอดวัน ถนนหนทางในเมืองก็เต็มไปด้วยการสัญจรของพวกทหารอย่างหนาแน่น ท่าเรือริมแม่น้ำก็เต็มไปด้วยเรือลำเลียงเทียบตลิ่ง ทหารช่างก็ซ่อมแซมสะพานกันอย่างรีบเพื่อขึ้นของหนัก
เช่นตัวรถทุกชนิดถึงรถแทงก์ และรถบดหินทำถนน จะเดินไปทางไหนก็จะต้องหลบหลีกทหารไปทุกหนทุกแห่ง ร้านค้ากลางตลาดก็ปิดหมด
กองทหารญี่ปุ่นก็พักกันอยู่อย่างหนาแน่นทั้งสองฝั่งแม่น้ำปัตตานี ทหารญี่ปุ่นได้เข้าอยู่อาศัยในเกือบทุกบ้านเรือนและสถานที่ราชการ วัตถุสัมภาระทุกชนิดและน้ำมันเชื้อเพลิงก็วางเต็มไปตามริมถนนหน้าจังหวัด ยวดยานของเอกชนก็ถูกเก็บขนไปใช้เพื่อการทหารเกือบหมด ไม่มีเหลืออยู่เลยนอกจากที่ได้มีการเก็บซ่อนไว้อย่างดี
สถานที่ราชการและบ้านเรือนราษฎรที่ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดอาศัยอยู่มีมากมาย ดังนี้ บ้านพักแพทย์ ๓ หลัง บ้านพักอัยการ บ้านพักนายอำเภอ ที่ว่าการอำเภอ บ้านพักหลังอำเภอ อาคารในโรงพยาบาล ๓ หลัง
สโมสรข้าราชการ บ้านพักข้าราชการ ๕ หลัง โรงเรียนสตรี โรงเรียนช่างไม้ ๒ หลัง
โรงเรียนชายประจำจังหวัด ศาลาในสนาม บ้านแขกแถวโรงไม้เจ๊ะอาลี(16) (เพื่อนปู่) จำนวนหลายหลัง
ที่ทำการป่าไม้ ที่ทำการสถานีตำรวจพิเศษเก่า ศาลากลางจังหวัดทั้งหมด ศาลจังหวัด ที่ทำงานเทศบาล บ้านขุนอนุกิจ(17) ที่ทำการไปรษณีย์ ร้านแผงลอยเชิงสะพานเดชานุชิต ๓ หลัง ที่โกดังเก็บของหน้าสถานีตำรวจ
บางส่วนในวัดตานีนรสโมสร บ้านหวันอับดุลเล๊าะ บ้าน ๓ ชั้นของนายเคี่ยนไถ่(18) บ้านนายเต็กเฮี้ยน(19) บ้านนายสมเกียรติ(20) (เวียงอุโฆษ) บ้านแถวหน้าบ้านเอ๊กเซ่ง(21)๘ ห้อง บ้านนายมาโนช วัฒนานิกร ๒ ห้อง ห้องเช่าของขุนพิทักษ์รายาเลยโรงน้ำแข็งมาโนช ๕ ห้อง บ้านเช่านายโป้โฮ้ง(22) ที่โรงเรียนจีนเก่า บ้านฮะยีสุหรง(23)หลังใหญ่
ตลาดเทศวิวัฒน์ ตลาดตรงข้าม เรือนแถวข้างบ้านหมอกลิ่น(24)(หมอแผนโบราณ) บริษัทจังหวัด
เข้าของต่างๆ เก็บไว้ในที่ไม่จุ ต้องเก็บวางไว้ตามริมถนนเกลื่อนไปทุกแห่ง จำนวนทหารญี่ปุ่นทั้งสิ้นประมาณ ๕ หมื่นนาย
หลังจากการยกพลขึ้นบกได้ราว ๓ วัน ก็มีรถทหารวิ่งมามากมายนับจำนวนหลายร้อยคันดูเป็นแถวยาวยืดตามริมถนน
เป็นรถบรรทุกทั้งสิ้น การขนส่งทหารและสัมภาระต่างๆ ได้ทยอยบรรทุกไปกันเรื่อยๆ ทุกวันมิขาดสาย ทางทะเลก็ขนขึ้นกับเรือยนต์บรรทุกของเรา เสียงเครื่องจักรดังตลอดเวลา รุ่งเช้าเข้าของก็เต็มไปทุกหนทุกแห่ง กลางวันก็มีเสียงเครื่องยนต์รถบรรทุกและเครื่องบิน บินกำกับควบคุมกันตลอดเวลา
ข้าพเจ้าและครอบครัว แม้จะได้จัดเตรียมเข้าของเงินทองรูปพรรณบรรจุปี๊บฝังไว้ที่หลังบ้านแม่ยายของข้าพเจ้า โดยมีนายเกียดและนายหกเคียด(25) เป็นผู้ขุดหลุมฝัง และจัดเตรียมเครื่องนุ่งห่มบรรจุหีบพอควรที่จะขนเอาไปได้ ส่วนที่เหลืออีกมากมายก็เก็บขนไว้ที่บ้านแม่ยาย แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้อพยพไปไหน เพราะตกลงกันเห็นว่าอยู่กับบ้านจะปลอดภัยดีกว่า
ในคืนวันแรกนี้ ข้าพเจ้าเกรงภัยทางอากาศจากฝ่ายอังกฤษจึงได้พากันนอนอยู่ที่ชั้นล่างของเรือน เพื่อจะได้สะดวกหากจะต้องลงไปหลบในหลุมหลบภัยที่ได้ขุดเตรียมไว้ และในคืนรุ่งขึ้นเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินไปพอทำให้คลายวิตกลงบ้าง จึงกลับขึ้นไปนอนชั้นบนตามเดิม
คืนวันที่ ๑๐ เวลา ๒๐.๒๕ น. มีคนมาตบประตูดังอยู่ราว ๓ นาที และในคืนวันที่ ๑๑ เวลาเดียวกัน ก็มีคนมาตบประตูเรียกอีก เหตุการณ์ใน ๒ คืนนี้ทำให้เราในบ้านตื่นเต้นกันมาก ต้องดับไฟหมดและเตรียมอาวุธปืนและดาบพร้อมมือกัน คอยเวลาชี้ขาดของเหตุการณ์ การชี้ขาดตัดสินใจในเรื่องเป็นตายกันเช่นนี้รู้สึกว่าหนักใจมาก ชั้นต้นเราต้องรอคอยจนกว่าประตูจะพังทลายเข้ามา ถ้าเป็นเหตุทุจริตก็ต้องใช้อาวุธที่มีอยู่ต่อสู้ป้องกันตัวกันเท่านั้น เพราะไม่มีทางใดจะดีกว่านี้อีก แต่แล้วก็สงบเงียบไปอีก
รุ่งขึ้นผู้ที่ตบประตูจึงเข้ามาหาบอกให้รู้ว่าเขาเองเป็นผู้ตบประตูมาแล้วสองคืน คือทหารญี่ปุ่นที่เคยมาในบ้านเรานั้นเอง เป็นนายสิบเสนารักษ์ (ลุงตุ๊บอกว่าพวกญี่ปุ่นพวกนี้เข้ามาฟังวิทยุที่บ้านปู่ทุกคืน เพื่อหาข่าวและดูว่าข่าวเรื่องการรบที่กองทัพญี่ปุ่นแจ้งให้แก่พวกทหารญี่ปุ่นทราบนั้นจริงเท็จประการใด และได้ปิดป้ายสัญลักษณ์บอกไม่ให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามารบกวนบ้านหลังนี้ พวกทหารญี่ปุ่นเลยไม่ได้ใช้เป็นที่พักเหมือนบ้านหลังใหญ่ๆ ของคนอื่น ที่โดนยึดเป็นที่พักไปหมด)(26)
และในคืนเดียวกันนั้น (วันที่ ๑๑ ธันวา ๘๔) ก็ได้ยินเสียงปืนใหญ่เริ่มยิงที่นอกทะเล ๑๒ นัด ดังเสียงอย่างกับฟ้าลั่น บ้านเรือนสั่นสะเทือนไหว เป็นที่น่าหวาดเกรงกันมาก รุ่งเช้าจึงทราบว่าเรือรบญี่ปุ่นยิงเรือดำน้ำอังกฤษที่โผล่เข้ามา
นับตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคมวันแรก ข้าพเจ้าก็ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับท่านข้าหลวงที่จวนทุกวันจนถึงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ข้าพเจ้าเริ่มเหน็ดเหนื่อยมากตลอดวัน เพราะต้องคอยวิ่งเต้นหาคนงานและช่วยเหลือให้ความคิดเห็นเสนอท่านข้าหลวง
ทั้งในแง่ขอกำลังเพื่อรักษาความสงบจากกองทหาร และคิดหาทางปราบปรามผู้ทุจริตคิดคดต่อชาติไทย ข้าพเจ้าได้เสนอให้ท่านสั่งยิงผู้ทุจริต และรีบจัดการสะสางหาตัวผู้ทุจริตมาลงโทษ ท่านข้าหลวงได้ให้ความไว้วางใจข้าพเจ้าในการเสนอความคิดเห็นจนข้าพเจ้ารู้สึกปิติและเป็นเกียรติยิ่ง
ภายในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ทั้งกลางวันกลางคืนก็คอยรู้สึกวิตกกังวลถึงเหตุการณ์ต่างๆ อยู่ทุกระยะ จากที่ข้าพเจ้าตามสังเกตดู ทหารไทย ร.พัน ๔๒ บ่อทอง มีความสนิทสนมรื่นเริงกับทหารญี่ปุ่นเป็นอย่างดีมาก แต่ติดต่อคุยกันเป็นภาษาใบ้ ทำให้ผู้ดูและผู้คุยรู้สึกสนุกและขบขันมาก ถึงพวกพ่อค้าราษฎรก็เช่นเดียวกัน
ทหารญี่ปุ่นนั้นมีพวกกิเลสหยาบปะปนอยู่บ้าง แต่ที่สร้างปัญหาให้กับราษฎรเราส่วนมากเป็นพวกทหารที่ถูกเกณฑ์มาจากเมืองขึ้นของญี่ปุ่น เช่น เกาหลีและไต้หวัน ถึงกระนั้นก็ดีเมื่อทางการชั้นนายเขาจับได้ก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก ถึงกับยิงเป้าไปแล้วก็มีไม่น้อย วินัยของเขาน่าชมมาก
ครั้นการล่วงมาแล้วราว ๑๕ วัน จึงค่อยได้ข่าวจากทางนครศรีธรรมราช ว่าจำรูญ ประเวศ(27) เติมศักดิ์(28) บุตรชายทั้งสามของข้าพเจ้า และ สมบูรณ์ หลานชาย ที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนอเมริกัน ต้องอพยพออกจากโรงเรียนแต่ทั้ง ๔ คนปลอดภัยดี ทำให้ข้าพเจ้าเบาใจไปได้มาก แต่ก็ยังกังวลใจอยู่เพราะยังไม่ได้รับข่าวจากทางกรุงเทพซึ่ง ละอองลูกสาวข้าพเจ้าเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัฒนา บางกะปิ
ต่อมาจึงได้รับข่าวที่แน่นอนจากจดหมายที่หมอบุญส่ง เลขะกุล(29) (เป็นอะไรกับหมอบุญสิทธิ์?) ผู้ใจดี ได้ส่งมาถึง นายเข้งถ้อง(30) (คือใคร?) ว่าเขาได้ไปค้นหาและพบตัวลูกของข้าพเจ้าทุกคนแล้ว และก็รับมาไว้ที่สหการแพทย์ ส่วนละอองไปอยู่กับป้าเขาที่นางเลิ้ง คือ ฉีสิ้ม(31) (คือใคร?) ทำให้พวกเราทุกคนคลายความวิตกลงได้มาก
ครั้นถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ข้าพเจ้าก็ให้นายสุนนท์ บุตรชายคนรอง กับนายโป้หยี่ (32)(พี่เลี้ยงของอาเติม ชอบให้อาเติมขี่คอเล่นทั้งวัน) ไปรับพวกเด็กๆที่นครศรีธรรมราชกลับมาปัตตานี
เหตุการณ์เฉพาะตัวข้าพเจ้าที่น่าจดจำอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่บริษัทจังหวัด เวลา ๑๐ โมงเช้า ดูเหมือนจะเป็นวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะนั้นมีนายทหารญี่ปุ่น ๖ นายได้เข้าไปในร้านบริษัท มีนายทหารคนหนึ่งในจำนวนนั้นชี้ที่ตัวข้าพเจ้า แล้วก็พูดกับเพื่อนของเขาโดยข้าพเจ้าฟังไม่รู้เรื่อง เขามีอาการพูดยิ้มๆอย่างเยือกเย็น ราวกับว่าเขารู้จักข้าพเจ้าดี แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคลา จึงยิ้มตอบไปให้กัน ต่อมานายทหารคนนั้นมาหาซื้อของที่ร้านน้ำชาที่แถวหน้าวัดตานีนรสโมสร ขณะที่ข้าพเจ้านั่งร่วมวงอยู่กับ ขุนเจริญวรเวช(33) และนายยอด รัตนคณิต(34) เมื่อนายทหารคนนี้เดินเข้ามา ข้าพเจ้ารู้สึกชอบใจในกิริยาของเขาจึงเชิญให้นั่งรับกาแฟด้วยกันโดยมีขุนเจริญวรเวชเป็นล่ามพูดภาษาอังกฤษกันพอรู้เรื่อง
คุยกันอย่างสนุกอยู่นาน ลงท้ายเขาบอกขุนเจริญวรเวชว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้สั่งให้ลูกน้องทำการยิงเขาก่อนที่ด้านถนนนาเกลือ
เมื่อวันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม โดยฝ่ายเขาเดินมากันอย่างเรียบๆ และห้ามไม่ให้ทหารเขายิงเราก่อน เหตุที่ทำให้เขาเข้าใจเช่นนั้น
คงเพราะข้าพเจ้าแสดงเป็นหัวหน้าอยู่ในการระงับการยิงต่อสู้ต้านทานกัน ข้าพเจ้าจึงระลึกได้ว่านายทหารคนนี้แหละที่นำทหาร ๒ กองร้อยมาทางถนนนาเกลือในวันนั้น เขาบอกว่าเขาชื่อ นายเรืออากาศตรี ตาเบรุ อีซากี(35) แห่งกองทัพญี่ปุ่น นายทหารคนนี้เรียบร้อยและเยือกเย็นมาก ข้าพเจ้ารู้สึกชอบนิสัยของเขา เขาบอกว่ากลับจากการรบที่สิงคโปร์แล้วจะแวะเยี่ยมข้าพเจ้าที่บ้านพัก
การขอผ่านทางของกองทัพญี่ปุ่นครั้งนี้ ได้ยกพลขึ้นบกที่บางปู กรุงเทพ ตลอดถึงจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย
แล้วรีบรุดเดินกองทัพโดยรถยนต์บรรทุกและรถไฟ เร่งรีบตีบุกเข้าเขตมลายูของอังกฤษในทันใดนั้น โดยแยกกำลังทหารออกเป็น ๔ ทาง คือ ๑. เข้ากลันตันทางรถไฟ ๒. เข้าผ่านเบตงทางรถยนต์ ๓. เข้าผ่านสะเดาทางรถยนต์และทหารม้า ๔. เข้าผ่านปาดังเบซาร์ทางรถไฟ และแล้ว กลันตัน ไทรบุรี ปีนัง อิโป เปรัค ก็ตกอยู่ในกำมือของกองทหารญี่ปุ่นภายในวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
และในวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ก็เหลือระยะทางที่กองทัพญี่ปุ่นจะบุกถึงสิงคโปร์อีกเพียงราว ๑๕๐ ไมล์เท่านั้น
ในขณะที่ฮ่องกงก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดไว้ได้ตั้งแต่ภายในเดือนธันวาคมแล้ว


******************************************************

คำอธิบายเพิ่มเติมตามที่ขีดเส้นใต้
1. นายมานิตย์ วัฒนานิกร ชื่อเดิม เกี้ยนหง่วน เป็นลูกชายหลวงสกลการธานี (ซุ่ยจ่าย แซ่ลั้ว) หลวงสกลฯเป็นคนสนิทของคุณพระจีนฯบ้านหลวงสกลฯคือบ้านที่เก็บเบียร์ตรงข้ามบ้านลุงนพ
2. โรงฆ่าวัว หรือโรงฆ่าสัตว์ คือบริเวณบ้านหัวมุมถนนอาเนาะรูตรงข้ามวัดหัวตลาด(วัดนิกรชนาราม) ติดกับที่บัวคุณปู่ในปัจจุบัน
3. หลุมหลบภัยหลังบ้านปู่ ภายหลังคือบ่อปลากัดในสวนหลังบ้าน
4. บ้านขุนพจน์สารบาญ คือบ้านกงสีในปัจจุบัน
5. บ้านนางเป้าเลี่ยง คือบ้านตึกจีนหลังบ้านอาสมพร ที่ปัจจุบันปิดเป็นที่อยู่ของนกนางแอ่น
6. นายเกษม ทรัพย์เกษม เป็นคนจากทางภาคกลางเป็นนักมวยชกมวยเร่ร่อนไปแล้วไปอยู่ในความดูแลของคุณย่าเสริมสุข ภายหลังถีบสามล้อ และช่วยขายหมูในตลาด
7. หมอแอสโมรี เป็นหมอฟัน
8. นายซุ่ยเฉี้ยง นาคพันธุ์ เป็นเครือญาติทางสายเจ๋าโรงเหล้า พ่อตาคุณพระจีนฯ บ้านนายซุ่ยเฉี้ยง คือหลังบ้านพี่ยานครูจิ้น ตรงข้ามบ้านปู่ ลูกสาวนายซุ่ยเฉี้ยง ชื่อ จี๊ตัน เป็นช่างเย็บเสื้อ เป็นโปลิโอเดินขากระเผลก
9. ยามู คือ ยะหริ่ง
10. กูโบโต๊ะอาเย๊าะ คือ สุสานอิสลามที่จะบังติกอ
11. ม่วงหมัง อยู่เขตอำเภอยะรัง จะไปทางนาเกตุก็ได้
12. ปะกาฆอ คือหมู่บ้านแถวถนนโรงเหล้า บ้านอามุล
13. คอกสัตว์ คือ หลังโรงเรียนเทศบาล 5 ถนนเจริญประดิษฐ์ ทางไป ม.อ.
14. จำนวนและรายชื่อให้ดูจากบทความคุณตาอนันต์ วัฒนานิกร
15. ด่านภาษี คือ ด่านศุลกากร ที่ปากน้ำ
16. โรงไม้เจ๊ะอาลี คือโรงไม้สมานไทย เดิมอยู่ริมแม่น้ำใกล้ที่ทำการป่าไม้ เจ้าของคือนายเจ๊ะอาลี อาลีอิสเฮ๊าะ
17. บ้านขุนอนุกิจ คือ บริเวณพิธานสแควร์ตรงข้ามเทศบาล
18. ตึกเคียนไถ่ เป็นบ้านนายเคียนไถ่ กาญจนภูมิ อยู่ถนนปัตตานีภิรมย์ ตรงข้ามร้านหมอชวนหมอนัยนา บางคนเรียกตึกดำ เป็นตึก 3 ชั้นที่ทันสมัยมาก ภายหลังใช้เป็นที่ทำงานธนาคารกรุงศรีอยุธยา แล้วถูกปล่อยให้ร้าง เพราะมีปัญหาเรื่องฟ้องร้องมรดกของทายาท
19. นายเต็กเฮี้ยน โลหะวิจารณ์ บ้านตึกตรงข้ามบริษัทธำรงฯ ถนนปัตตานีภิรมย์ มีลูกชื่อหลุย ปัญญาอ่อน แต่คุยกันรู้เรื่อง ภรรยานายเต็กเฮี้ยนชื่อป้าบี๋ เป็นพี่สาวของป้ากี่โรงงานปัตตานีอุตสาหกรรม
20. นายสมเกียรติ เวียงอุโฆษณ์ หรือนายจินถอก บ้านอยู่ตรงหัวมุมถนนปัตตานีภิรมย์ตัดกับถนนมายอ หลังโรงเรียนจีนเคยเป็นไนท์คลับของลุงนนท์ ภายหลังเป็นที่ทำงานของสมาคมประมง
21. บ้านแถวหน้าบ้านเอกเซ่ง คือ บริษัทพิธานฯเดิม เป็นห้องแถวหลังโรงเรียนจีน ภายหลังเป็นบ้านพักของลุงปาล์ จันทรัศมี
22. นายโป้โฮ้ง หรือนายบุญล้อม กุลโชติ เป็นลูกชายนางเป็กเซี่ย น้องสาวร่วมมารดากับคุณปู่ บ้านอยู่ตรงข้ามตึกเคี่ยนไถ่ มีหลานชายชื่อครรชิต เป็นโปลิโอ 2 ข้างรุ่นๆต้น
23. หะยีสุหลง โต๊ะมีนา
24. หมอกลิ่น หรือนายกลิ่น สุวรรณแพทย์ เป็นตาของอายอดรัก จันทรัศมี บ้านอยู่ถนนฤาดี ใกล้ร้านหมอวิชิต
25. นายเกียด และนายฮกเคียด เป็นคนงานในบ้านปู่ เป็นคนแถวบ้านบน สงขลา
26. ลุงตุ๊ เล่าตกไปว่านายทหารญี่ปุ่นเอาป้ายมาแปะที่หน้าบ้านปู่ เวลาทหารเดินผ่านต้องทำวันทยาหัตถ์ด้วยทุกครั้ง เพราะถือเป็นตัวแทนผู้บังคับบัญชา
27. สมัยนั้นลุงตุ๊ ชื่อ ประยูร ตันธนวัฒน์
28. สมัยนั้นอาเติม ชื่อ ประยงค์ ตันธนวัฒน์
29. น.พ.บุญส่ง เลขะกุล เป็นลูกพี่ลูกน้องกับน.พ.บุญสิทธิ์ พ่อหมอบุญส่งชื่อนายบุญแจ้ง พ่อหมอบุญสิทธิ์ชื่อนายขเจน พ่อหมอบุญสิทธิ์เป็นน้องของย่ายี่เกียว ย่าของพี่อ๊อบ ภรรยาหมอบุญส่งชื่อป้าสุภาพ เป็นลูกสาวยายโป้ฮ้วย อั่งสกุล อยู่ยะลา ครอบครัวหมอบุญส่งเลยสนิทกับพวกเราเหมือนญาติ
30. นายเข้งถ้อง หรือเจริญลาภ เลาหะวนิช เจ้าของร้านถ้องเซ่ง ถนนฤาดีตรงข้ามร้านหมอวิชิต เป็นเพื่อนสนิทของปู่ ภรรยานายเข้งถ้องเป็นน้องสาวนายเต็กเฮี่ยน โลหะวิจารณ์
31. ฉีสิ้ม คือยายซุ่ยสิ้ม ปริชญากร ลูกสาวคนโตขุนพิทักษ์รายา
32. นายโป้ยี่ กาญจนบุษย์ เป็นลูกนางกิมจู กาญจนบุษย์ น้องต่างมารดาของคุณพระจีนฯ นายโป้ยี่ สติไม่ค่อยสมประกอบ เป็นพี่เลี้ยงอาเติม
33. ขุนเจริญวรเวช (เจริญ สืบแสง) เป็นเพื่อนรุ่นน้องที่คุณปู่รักมาก ก่อนคุณปู่จะตาย ขุนเจริญฯไปเยี่ยม แล้วนั่งคุยกัน 2 คน ต่างก็ร้องไห้ หลังจากนั้นคุณปู่ก็อาการทรุดลง ตอนขุนเจริญฯตายลุงตุ๊พาพี่ไปช่วยงานทุกคืน เพราะคุณปู่สั่งลุงตุ๊ว่าห้ามทิ้งขุนเจริญฯเด็ดขาด
34. นายยอด รัตนคณิต เป็นทนายความบ้านอยู่หลังมัสยิดกลาง ลูกเขยคุณตายอดคืออาทุเลา (ชนะ ตุลิตาคม) เป็นเพื่อนซี้ลุงตุ๊ ที่ยังติดต่อกันจนทุกวันนี้
35. นายเรือตรี ตาเบรุ อีซากี น่าจะเป็นนายทหารที่ถ่ายรูปกับอาเติม ที่พี่ให้ต้นไป เขารักอาเติมมาก เพราะคล้ายลูกชายเขา ก่อนจากกันเขาให้ดาบซามูไรอาเติม 1 เล่ม ไม่ทราบยังอยู่หรือเปล่า





 

Create Date : 08 ธันวาคม 2552   
Last Update : 16 ธันวาคม 2554 19:46:20 น.   
Counter : 970 Pageviews.  

เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กหัวตลาด

เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กหัวตลาด


       เมื่อเอ่ยคำว่าหัวตลาดไม่มีชาวปัตตานีคนใดที่ไม่รู้จัก  หัวตลาดเป็นย่านชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของปัตตานี เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณเดิมเรียกว่า ตลาดจีน  หรือ กะดาจีนอ ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่โชคดีได้เติบโตมาในถิ่นหัวตลาด ตลอดระยะเวลา 30 ปีเศษที่ ข้าพเจ้าได้เห็น หัวตลาด พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากตามความเจริญของบ้านเมือง ข้าพเจ้าจึงเกิดความคิดที่จะบันทึกเรื่องราวของหัวตลาดในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กในลักษณะของการบอกเล่าตามความทรงจำ ซึ่งบางตอนอาจคลาดเคลื่อนแต่ก็เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อที่คนรุ่นหลังที่มีโอกาสได้อ่านบทความของข้าพเจ้าจะได้รับรู้เรื่องราวในอดีตของชุมชนหัวตลาด
              ก่อนอื่นก็ต้องแนะนำให้ท่านรู้จักกับ “ถนนอาเนาะรู” เสียก่อน เพราะถนนอาเนาะรูเป็นถนนสายหลักของหัวตลาด และเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของข้าพเจ้ากับหัวตลาด  ถนนสายนี้มีแนวถนนพาดจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก มีความยาวประมาณ 400 เมตร  หัวถนนฝั่งตะวันออกไปบรรจบกับถนนนาเกลือ  ส่วนหัวถนนฝั่งตะวันตกเป็นแม่น้ำปัตตานี ก่อนถึงริมน้ำเล็กน้อยจะเป็นสี่แยกตัดกับถนนปัตตานีภิรมย์ ในช่วงตอนกลางของถนนอาเนาะรูจะมีถนนปะนาเระมาบรรจบเป็นสามแยก เดิมทีถนนอาเนาะรูเป็นถนนคอนกรีต แต่คอนกรีตที่ว่านี้ไม่ใช่คอนกรีตเสริมเหล็กหรือ คสล.นะครับ แต่เป็นคอนกรีตโบราณคือแทนที่โครงจะเป็นเหล็กกลับใช้วัสดุธรรมชาติคือไม้ไผ่ โดยใช้ไม้ไผ่มาวางสานกันเป็นโครงแล้วราดด้วยปูนขาวทับ ต่อมาภายหลังมีการซ่อมแซมอีกหลายครั้งจนกระทั่งในที่สุดก็กลายเป็นถนนราดยางมะตอยตามที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ แทบจะไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าถนนสายเล็กๆสายนี้จะเป็นย่านที่มีความเจริญมากในอดีต เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ เป็นจุดกำเนิดของตระกูลใหญ่หลายตระกูล ซึ่งข้าพเจ้าคงมีโอกาสได้เล่าให้ท่านฟังต่อไปในภายหน้าครับ
              เดิมทีครอบครัวข้าพเจ้าอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส เพราะพ่อไปช่วยป้าละอองทำธุระกิจที่นั่น ข้าพเจ้าและน้องๆจึงเกิดที่นราธิวาส แต่ไปแจ้งเกิดที่ปัตตานีกันทุกคน จนกระทั่งปี พ..2509 คุณย่าเสริมสุขถึงแก่กรรม  พ่อจึงย้ายกลับมาอยู่ที่ปัตตานี ขณะนั้นข้าพเจ้ามีอายุได้ 5 ปี สามารถจดจำเรื่องราวต่างๆได้พอสมควร ครอบครัวเราอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 29 ถนนอาเนาะรู   ซึ่งเป็นบ้านของนายอนันต์ คณานุรักษ์ คุณปู่ของข้าพเจ้า บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ตรงสามแยกถนนอาเนาะรูตัดกับถนนปะนาเระ เป็นตึก 2 ชั้น หันหน้าไปทางทิศใต้ ทาสีขาว ผู้คนส่วนใหญ่จึงเรียกว่าบ้านตึกขาว แรกเริ่มเดิมทีบ้านหลังนี้เป็นบ้านของคุณพระจีนคณานุรักษ์(ตันจูล้าย) ซึ่งเป็นปู่ของคุณปู่อนันต์ เป็นตึก 2 ชั้น ทรงจีนโบราณ ก่อสร้างในราวปี พ..2426   พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เคยแวะประทับเมื่อครั้งที่เสด็จประพาสตลาดจีน และศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว ภายหลังตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณย่าทวดยาง ภรรยาคนที่ 2 ของคุณปู่ทวดพระจีนฯ ต่อมาคุณทวดกุ้ยกี ธิดาคุณย่าทวดยางได้ ขายให้คุณย่าทวดยี่เหนี่ยว ภรรยาคนที่ 3ของคุณปู่ทวดพระจีนฯ คุณปู่อนันต์ได้ซื้อต่อจากคุณทวดยี่เหนี่ยวเมื่อ พ..2476 ในราคา 2,200 บาท คุณปู่ได้บันทึกไว้ในสมุดบันทึก เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ..2486 ว่านับเป็นโชคดีของท่านที่ได้บ้าน หลังนี้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะเมื่อคุณทวดอิ่มมารดาของคุณปู่กำลังตั้งครรภ์ คุณทวดขุนจำเริญภักดี(ตันบั้นฮก) บิดาของคุณปู่มีธุระต้องรีบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จึงได้นำคุณทวดอิ่มซึ่งจวนจะคลอดไปฝากไว้กับคุณย่าทวดยางที่บ้านหลังนี้ และคุณทวดอิ่มได้คลอดคุณปู่  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ..2439 ที่เรือนเล็กบริเวณหลังบ้านเลขที่ 29 ถนนอาเนาะรูแห่งนี้ คุณปู่อนันต์ได้ทำการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงจากตึกจีนโบราณเป็นตึกทรงทันสมัย บริเวณบ้านแบ่ง เป็น 3 ตอน ด้านหน้าคือตัวตึก ตอนกลางเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ 2 ชั้น มีทางเดินติดต่อกับตึกหน้าได้ ตอนหลังเป็นห้องครัว และสวน
             ตัวตึกด้านหน้าเป็นตึก 2 ชั้น ชั้นล่างทางด้านซ้ายเป็นที่จอดรถ ตรงกลางเป็นห้องรับแขก ที่ห้องรับแขกจะมีประตูเดินออกไปตอนกลางของบ้าน ๒ ประตูซ้ายขวา เหนือประตูทั้ง ๒ ข้างมีรูปวาดคุณปู่ทวดพระจีนคณานุรักษ์ และคุณทวดขุนจำเริญภักดีแขวนเหนือประตู ด้านขวาของตัวตึกหน้าเป็นห้องพักของลุงสุนนท์ ห้องนี้เล่ากันว่ามีอาถรรพ์แรงเพราะเคยเป็นห้องขังทาสในสมัยก่อน เมื่อขึ้นบันไดไปชั้นบนจะเป็นเฉลียง มีแคร่นอนเล่นของคุณย่า และเก้าอี้หวายนอนเล่นของคุณปู่ มีประตูเข้าห้องโถง เหนือประตูมีภาพวาดคุณปู่ทวดรพะจีนฯ ด้านซ้ายขวาเป็นภาพวาดคุณปู่ และคุณย่า ภาพวาดชุดนี้เป็นฝีมือการวาดของนายบุญหิ้น ชูอ่องสกุล หรือที่ผมเรียกว่าน้าขี้หมิ้น ช่างพ่นสีรถยนต์มือหนึ่งของปัตตานี เข้าห้องโถงชั้นบนไป ด้านซ้ายเป็นห้องพักของคุณปู่ ส่วนด้านขวาเป็นห้องพักของครอบครัวข้าพเจ้า  ในห้องโถงจะมีโต๊ะหมู่บูชาของคุณปู่ ข้างโต๊ะหมู่บูชาจะมีตู้กระจกใบหนึ่ง ภายในตู้จะเก็บซากลูกกรอกหรือกุมารทอง 2 คน คือบุญฤทธิ์ และบุญลาภ ซึ่งเป็นลูกแฝดที่คุณย่าคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ยังมีซากของนกลูกแดง ซึ่งเป็นนกเขาชวาที่คุณปู่รักมาก เคยสร้างชื่อเสียงให้กับคุณปู่ในการแข่งขันนกเขาชวาเสียงครั้งอดีต เคยมีผู้นำรถเบนซ์มาขอแลกกับคุณปู่มาแล้ว
             เรือนไม้ด้านหลังชั้นล่างจะเป็นโถงโล่ง ด้านขวากั้นเป็นห้องไว้ 2 ห้อง เอาไว้เป็นห้องเล่นไพ่ตองของบรรดาญาติมิตรของคุณปู่คุณย่า ห้องนี้เป็นแหล่งเงินแหล่งทองของข้าพเจ้า   เพราะบรรดาขาไพ่ทั้งหลายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุนั่งนานๆก็เกิดอาการปวดเมื่อย ข้าพเจ้าก็จะไปบริการบีบนวดให้ ท่านเหล่านั้นก็จะให้เงินไว้กินขนมครั้งละ 1 บาท เมื่อขึ้นบันไดหลังชั้นบนด้านซ้าย เป็นห้องพักของครอบครัวอาเติมศักดิ์  ด้านขวาเป็นห้องพักของครอบครัวอาละมุล
            ระหว่างตัวตึกหน้ากับเรือนไม้ ชั้นล่างจะมีบ่อเลี้ยงปลากัด และห้องน้ำกับบ่อน้ำ ชั้นบนจะเป็นทางเดินติดต่อกันมีห้องน้ำ 1 ห้อง และวางโต๊ะกินข้าวขนาดใหญ่ 1 ตัว นอกจากนี้ที่โถงด้านล่างจะมีประตูเล็กๆ สำหรับเดินออกไปในตรอก ตรอกเล็กๆนี้เป็นที่เลี้ยงปลากัดของคุณปู่ และลุงสุนนท์ เป็นเขตหวงห้ามสำหรับเด็กๆ เพราะเกรงว่าจะไปทำให้ปลากัดตกใจ หรือขวดปลากัดตกแตก ตรอกนี้เดิมเป็นตรอกสำหรับข้าทาสในบ้านเดินเข้าออก ซึ่งทุกบ้านที่เป็นเรือนจีนในหัวตลาดจะต้องมีตรอกแบบนี้ เพราะมีข้อห้ามอย่างหนึ่งว่าเวลาข้าทาสในบ้านตายห้ามนำศพ ออกทางประตูใหญ่หน้าบ้าน ต้องนำศพออกทางตรอกนี้เท่านั้น 
             ด้านหลังเรือนไม้จะมีโรงครัวขนาดย่อมและสวน ในสวนจะมีบ่อปลาเหมือนกับที่ด้านหน้า บ่อหลังบ้านนี้เดิมทีขุดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยเมื่อคราวญี่ปุ่นบุกปัตตานี  ที่บริเวณริมกำแพงหลังบ้านมีความสำคัญ เพราะว่าในงานเทศกาลแห่พระศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยวทุกปี ผู้หามพระหมอจะต้องมาทำการปักหลัก โดยหลักที่ปักนี้เป็นยันต์ปักเพื่อขจัดเภทภัยทั้งหลาย บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังเดียวที่มีการปักหลักภายในบ้าน ในปัจจุบันนี้ข้าพเจ้าจะทำหน้าที่หามเกี้ยวพระหมอทำพิธีปักหลักในบ้านทุกปี
              ภายในบ้านคุณปู่นับว่าเป็นกงสีใหญ่แห่งหนึ่ง คุณปู่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เช้าขึ้นมาจะมีอาหารและขนมสารพัดอย่างวางไว้ที่โต๊ะกินข้าว ใครจะกินอะไรก็ได้ เมื่อกินอาหารเช้าเสร็จ  ข้าพเจ้าและน้องๆ ก็จะไปกราบคุณปู่ซึ่งจะนอนเล่นที่เก้าอี้หวาย คุณปู่ก็จะแจกเงินเป็นค่าขนมที่โรงเรียน ตอนเย็นกลับจากโรงเรียนก็มากราบคุณปู่แล้วรับเงินไปซื้อก๋วยเตี๋ยวกินกันอีก 
             ตรงข้ามบ้านคุณปู่เป็นบ้านยกพื้นมีใต้ถุนของลุงจิ้นกับป้าโป้เอง ศรีคุณะซ้าย  ลุงจิ้นหรือที่ ใครๆเรียกว่าครูจิ้นทำงานที่บริษัทธำรงวัฒนาจำกัด ป้าเองเป็นญาติกับคุณปู่ทางคุณย่าทวดเบ้งซ่วน ภรรยาคุณปู่ทวดพระจีนฯ  ซึ่งเป็นย่าของคุณปู่ ที่บ้านลุงจิ้นจะมีเรือนปลูกต้นกล้วยไม้นานาพันธุ์   ตอนเย็นที่หน้าบ้านลุงจิ้นจะมีพวกรถเข็นขายก๋วยเตี๋ยว และรถเข็นขายขนมเด็กมาจอดรอลูกค้า ซึ่งก็คือพวกหลานทั้งหลายของคุณปู่   
             ต่อไปนี้ข้าพเจ้าจะขอนำท่านเที่ยวหัวตลาดเมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว จากบ้านคุณปู่เดินเลียบไปทางฝั่งด้านเหนือของถนนอาเนาะรูไปทางทิศตะวันออก ติดกับบ้านคุณปู่จะเป็นตึกจีนโบราณ 2 ชั้น ติดกัน 2 หลัง จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าหลังแรกผู้ที่อาศัยอยู่ขณะนั้นคือป้าจงจิตร ศรีพจนารถหรือ ป้าถิ้น แม่ของพี่ศรีวิไล ปริชญากร ถัดไปเป็นร้านขายส่งขนมปังขนมจันอับตามตลาดนัด เดิมในอดีตตึก 2 หลังนี้และตึกของคุณปู่จะมีลักษณะเหมือนกันทุกอย่างเป็นเรือนแฝด 3 หลัง ดังที่สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงกล่าวถึงไว้ในหนังสือชีวิวัฒน์เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จมาตลาดจีน ในปี พ..2427 ว่าที่ปลายถนนด้านเหนือมีตึกใหม่ของกัปตันจีนเป็นเรือนจีน 2 ชั้น 3 หลังแฝด หลังหนึ่งขื่อประมาณ 10 ศอก มีเฉลียงหน้าหลัง หลังแรกก็คือบ้านคุณปู่ หลังที่ 2 เป็นบ้านเดิมนายจูเซียน หลังที่ 3 เป็นของนายจูเส้ง น้องชายคุณปู่ทวดพระจีนฯ ปัจจุบันตึกหลังที่ 3  ถูกรื้อสร้างเป็นห้องแถว เมื่อตอนที่มีการรื้อถอนได้เจอป้ายหินแกรนิตจารึกชื่อสำหรับ ฮวงซุ้ยฝังศพนายจูเส้ง แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงถูกทิ้งไว้หลังบ้าน ปัจจุบันผู้ที่อาศัยอยู่ในห้องแถวที่สร้างใหม่ได้นำไปวางไว้ที่โคนต้นไม้และมีการจุดธูปเทียนบูชา ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงเป็นการบูชาเพื่อขอโชคลาภ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าลูกหลานสายตรงของนายจูเส้งน่าจะได้นำไปไว้บูชา  ถ้าข้าพเจ้ามีสิทธิก็จะขอนำไปประดิษฐานไว้ที่บริเวณสุสานของตระกูล ที่ได้รับ พระราชทานที่ดินจากรัชกาลที่ 6 ที่ริมคลองสามัคคี(คลองสิมิเงาะเดิม) ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน พ..2454   เพราะปัจจุบันเท่าที่ข้าพเจ้าได้สอบถามยังไม่มีผู้ใดบอกได้แน่ชัดว่าฮวงซุ้ยของนายจูเส้ง อยู่ที่แห่งหนตำบลใด  แต่ข้าพเจ้าก็ได้แต่ตั้งความหวังไว้เท่านั้น (ปัจจุบันทายาทสายนายจูเส้ง ได้นำไปไว้ ณฮวงซุ้ยจำลองนายจูเส้ง ที่จังหวัดยะลา)   
       
ถัดจากตึกแฝดนี้ไปก็เป็นตึกจีนเช่นกันแต่จำไม่ได้ว่าใครอาศัยอยู่ปัจจุบันรื้อทิ้งแล้ว ถัดไปอีก จะเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น ห้องแรกเป็นบ้านลุงปรุง กับป้าฉาย ขจรวงศ์ ลุงปรุงทำงานเป็นพนักงานขับรถธนาคารกรุงศรีอยุธยา น้าณีลูกลุงปรุงมีลูก 3 – 4 คน เป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับข้าพเจ้า 1 คน  ถัดจากบ้านลุงปรุงเป็นบ้านแม่คุณครูเบญจมาศ ณ ระนอง คุณครูเบญจมาศสอนที่โรงเรียนบ้านสะบารัง เคยสอนวิชาภาษาอังกฤษข้าพเจ้าตอนชั้นประถมปีที่ 5  ต่อจากนั้นเป็นบ้านยกพื้น 2 ชั้น มีรั้วของน้าจั๊ม ภายในบริเวณบ้านมีหมูขี้พร้าหรือหมูบ้านนอนคลุกโคลนอยู่ ถัดไปเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น มีบ้านน้าไข่ บ้านลุงไว ลุงไวเป็นสารถีรถสามล้อประจำบ้านคุณปู่ ถัดไปเป็นบ้านพวกนามสกุลวิมลจิตต์ทำงานสรรพากร จำชื่อไม่ได้ ปัจจุบันคือร้านลูกหยีป้านิ่ม ถัดไปเป็นบ้านของคุณยายหงวน คุณยายหงวนเป็นภรรยาคนหนึ่งของหลวงนฤบดินทรสวามิภักดิ์(คอยู่หุ้ย ณ ระนอง) อดีตนายอำเภอหนองจิก มีลูกคือ ร...ปรีดา ณ ระนอง น้าดาเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของพ่อ ภรรยาน้าดาคือครูเบญจมาศ ที่กล่าวถึงมาก่อนแล้ว ถัดไปรู้สึกจะเป็นบ้านแป๊ะซ้าน มีลูกหรือหลานชื่อตุ๋ย เรียนรุ่นก่อนข้าพเจ้าหลายปี จากนั้นก็เป็นศาลเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว ซึ่งในขณะนั้นมีแต่ตัวศาล  ด้านหลังเป็นป่ามะพร้าว ยังไม่มีอาคารสันติสุขและอาคารที่พักเลย ฝั่งตรงกันข้ามของศาลเจ้าแม่ฯ ก็ยังเป็นลานดินกว้างๆมีแต่โรงมโนราห์เก่า 1 หลัง ไม่มีอัฒจันทร์ ไม่ได้ลาดพื้นคอนกรีต ถัดจากศาลเจ้าแม่ฯเป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์  ด้านข้างสมาคมฯเป็นอาคารฮักเลี่ยม-ฮ่องเกียว โกวิทยา เป็นศาลาตั้งศพมีห้องเก็บโลงศพซึ่งพวกเราเด็กๆกลัวมากเวลาเดินผ่าน   ติดกับอาคารฮักเลี่ยมฯ เป็นที่ดินของคุณปู่ข้างในมีสถูป หรือที่เราเรียกกันว่า บัว บรรจุกระดูกบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ดินแปลงนี้คุณปู่ซื้อมาจากคุณทวดเป้าเลี่ยง วัฒนายากร แม่ของคุณย่าเสริมสุข ในสมัยสงครามญี่ปุ่นบุกปัตตานี คุณปู่ใช้เป็นที่ปลูกผัก สวนครัวนานาชนิดไว้กินและแจกจ่ายชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง จนกระทั่ง พ..2489 จึงได้สร้างบัว ติดกับบัวเป็นที่ว่างอยู่มุมถนนอาเนาะรูตัดกับถนนนาเกลือต่อมาได้สร้างเป็นบ้านพักประมงจังหวัดเดิมทีที่ตรงนี้เป็นโรงฆ่าสัตว์  จากตรงนี้ถ้าข้ามถนนนาเกลือไปจะเป็นวัดนิกรชนารามหรือวัดหัวตลาด ภายในวัดมีรูปปั้นพระสังข์กัจจายน์องค์ใหญ่ ผู้ปั้น คือ ร..วิเชียร แก่นทับทิม อดีตสามีของป้าประคอง วัฒนายากร  พวกเด็กๆอย่างข้าพเจ้าชอบไปแยงสะดือองค์พระเพราะเป็นรูกลวงโบ๋  วัดหัวตลาดนี้เดิมเป็นป่าช้า ศพคุณทวดอิ่ม แม่ของคุณปู่ก็ฝังที่นี่ ก่อนที่จะมาจัดงานเผาศพในภายหลัง  นอกจากนี้วัดหัวตลาดยังเป็นลานประหารในสมัยอดีต คุณย่าเคยเล่าให้พ่อฟังว่าเคยไปดูเขาประหารชีวิตโดยการตัดคอที่วัดหัวตลาด มีคนไปดูคับคั่งบางคนปีนต้นไม้ขึ้นไปดู พอเพชรฆาตลงดาบดังฉับ ก็มีเสียงดังตุ๊บ  ปรากฏว่าพวกที่ปีนต้นไม้ดูเกิดอาการหวาดเสียว เป็นลมตกต้นไม้ตามๆกัน วัดหัวตลาดจะเรียกว่า เป็นฌาปนสถานของตระกูลข้าพเจ้าก็ว่าได้เพราะไม่ว่าใครตายก็จะจัดงานเผาศพที่วัดนี้ทั้งนั้น
              จากวัดหัวตลาดข้าพเจ้าจะพาท่านเดินข้ามถนนนาเกลือไปยังอีกฟากหนึ่งของถนนอาเนาะรู   หัวมุมถนนอาเนาะรูฝั่งทิศใต้เป็นบ้านของจ่าหวาด ที่บ้านนี้เลี้ยงไก่ชนหลายตัว ถัดไปเป็นฝั่งตรงกันข้ามกับสมาคม ถ้าจำไม่ผิดในตอนนั้นเป็นโกดังของบริษัทพิธานพาณิชย์ แล้วก็เป็นลานหน้าศาลเจ้าแม่ฯ ติดกับลานเป็นบ้านไม้ 2 ชั้นของนายสุนนท์ ทับทิมทอง หรือลุงหล่ำเฮง พนักงานเทศบาล เวลามีพิธีลุยไฟข้าพเจ้าจะไปดูบนชั้นบนบ้านหลังนี้ตอนนั้นไม่มีอัฒจันทร์บังมองเห็นชัดมาก ถัดไปเป็นบ้านน้าเซี๊ยะ น้าฮวย น้าเซี๊ยะขับรถโรงน้ำแข็งวัฒนานิกร น้าฮวยจะขายข้าวยำ และขนมหวาน ข้าพเจ้าจำได้ว่าชอบไปซื้อกล้วยเชื่อมกินตอนหัวค่ำ ถัดไปเป็นบ้านนายอนันต์ วรุตตมะ หรือลุงโอ๋น บ้านลุงโอ๋นเป็น ฟาร์มเลี้ยงไก่ ลุงโอ๋นใช้รถลิตเติ้ลฮอนด้าส่งไข่ไก่ให้ร้านค้า รถลิต-เติ้ลฮอนด้านี้เป็นรถที่ทันสมัยมากในตอนนั้นเพราะเป็นรถลูกผสมระหว่างมอเตอร์ไซค์กับจักรยาน  มีสวิทช์ปรับเลือกได้ว่าจะใช้เป็นจักรยานหรือจะใช้เป็นมอเตอร์ไซค์   ติดกับบ้านลุงโอ๋นเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ผู้ที่อาศัยอยู่คือนายเต็งไฮ้ แซ่อุ่ย  นายเต็งไฮ้คั่วกาแฟขาย บ้านนี้เดิมเป็นบ้านของขุนด่านจ๊าบ แซ่เล่  ต้นตระกูลเลขะกุล ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่อีกตระกูลหนึ่ง ย่าของภรรยาข้าพเจ้า คือย่ายี่เกียว พงษ์พานิช ก็มาจากสกุลเดิมเลขะกุลเช่นกัน ในบ้านจะมีป้ายบูชาและภาพถ่ายบรรพบุรุษของ เลขะกุล หลายคน ถัดไปเป็นบ้านทรงจีนจำไม่ได้ว่าใครอาศัยอยู่ ถัดไปเป็นร้านขายน้ำชาของน้าจั๊ว และเจ๊ลั้งมีลักษณะเป็นแผงลอย ถัดไปเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวจำได้ว่าห้องมุมตัดกับถนนปะนาเระเป็น บ้านลุงพันธ์ พนักงานบริษัทธำรงวัฒนา
              เดินข้ามถนนปะนาเระไปเป็นบ้านลุงจิ้นที่เล่าให้ฟังแล้ว หลังบ้านลุงจิ้นมีบ้านไม้ 2 ชั้น เจ้าของเป็นช่างเย็บเสื้อชื่อจี๊ตัน เป็นลูกสาวนายซุ่ยเฉี้ยง นาคพันธุ์ เป็นญาติกับคุณปู่สายเดียวกับป้าเอง   จี๊ตันขาพิการเดินกระเผลก ถัดจากบ้านลุงจิ้นเป็นบ้านห้อง แถว 2 ชั้นยกพื้นสูง 3 หลัง หลังแรกเป็นบ้านน้าผอม น้าผอมเป็นลูกจีนที่เข้านอกออกในบ้านคุณปู่ได้ตลอดเวลา น้าผอมขายน้ำแข็งใสรวมมิตร เด็กปัตตานีรู้จักน้าผอมกันทุกคน ถัดไปเป็นบ้านอาเจริญ สุวรรณมงคล กับน้าศรีสุมาลย์ น้าสุเป็นลูกสาวยายวไล หรือยายมล วัฒนายากรลูกพี่ลูกน้องกับคุณปู่ ถัดไปเป็นร้านขายของใช้ เบ็ดเตล็ดของคนจีน เจ้าของร้านมีลูกสาวชื่อยุพิน หนุ่มๆปัตตานีรู้จักกันทั่วเพราะ ยุพินเป็นนางงามปัตตานี ถัดจากห้องแถวนี้ไปเป็น บ้านไม้ 2 ชั้นของป้าซ่วนหลุย โกวิทยา เดิมบ้านนี้คุณหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ปุ่ย แซ่ตัน)ต้นตระกูล คณานุรักษ์ซื้อให้ทวดเกี๊ยด ภรรยาคนที่ 4 และหลวงวิชิตศุลกากร(ตันจูอิ้น) บุตรชายคนสุดท้องของท่านเมื่อ ..2417 ป้าหลุยเป็นหลานตาของหลวงวิชิตฯ ป้าหลุยมีอาชีพทำขนมขาย ขนมที่ป้าหลุยขายเป็นขนมที่หากินยากในปัจจุบันนี้เช่นผีตายบาก ขนมหน้าหมู ขนมเกาะหลี ถัดจากบ้านป้าหลุย เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวมีป้ายชื่อติดไว้ว่าธรรมศาลา 2469 เป็นบ้านเดิมของเถ้าแก่ต้วนเม่ง แซ่เล่า เถ้าแก่ต้วนเม่งเป็นบิดาของนายจ่ายฮก น้องเขยคุณปู่ทวดพระจีนฯ ภายในโรงธรรมมีบัวของนายจ่ายฮก ที่ฝาผนังมีภาพวาดนิทาน ชาดก และแผ่นหินอ่อนจารึกเรื่องราวของวงศ์ตระกูลเถ้าแก่ต้วนเม่ง ถัดไปเป็นบ้านไม่มีคนอยู่เดิมเป็นบ้านของนางโป้เอี้ยน แซ่เล่า ลูกสาวนายจ่ายฮกและนางจูกี่ ยายโป้เอี้ยนเป็นแม่ของนางโสภิต  วัฒนานิกร โรงน้ำแข็งวัฒนานิกร ติดกันเป็นที่ว่างมีต้นพุทราป่า ที่พวกเด็กๆชอบไปเก็บกินกัน นายจ่ายฮกนับเป็นโครงกระดูกในตู้ของตระกูลคณานุรักษ์ เพราะเป็นผู้ที่ทำให้เกิดเรื่องราวทะเลาะถึงขั้นตัดญาติขาดมิตรกัน เนื่องจากภายหลังนายจ่ายฮกไปได้นางลินเลี่ยง ธิดาหลวงสุนทรสิทธิโลหะ (ตันจูเม้ง) เป็นภรรยา นางจูกี่ภรรยาคนแรกของนายจ่ายฮกเป็นน้องสาวของหลวงสุนทรฯ ดังนั้นนางลินเลี่ยงและนางโป้เอี้ยนจึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ภายหลังมีปัญหาทะเลาะกันระหว่างลูกเลี้ยงแม่เลี้ยง เป็นสาเหตุให้ตัดญาติกัน  สุดท้ายเป็นบ้านหัวมุมเป็นตึกจีน 2 ชั้น เป็นบ้านเดิมของแม่นายลาบู เจ้าของดั้งเดิมของเหมืองลาบู ในตอนนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ชื่อ ลุงวาด หรือที่พวกเราเรียกว่า ลุงสวน เพราะแกเป็นคนสวนของอาสมพร วัฒนายากร แกดุมากจะคอยไล่ เด็กที่เข้าไปเล่นในสวนเสมอโดยไม่เคยสนใจว่าเป็นลูกหลานใคร   จากบ้านลุงวาดเดินข้ามถนนปัตตานีภิรมย์ ไปฝั่งตรงข้ามบ้านหัวมุมเป็นห้องแถวไม้ของอาศรีสุขสวัสดิ์ วัฒนายากร ลูกชายยายมล ติดกันทางซ้ายเป็นบ้านคุณตาดิเรก และคุณยายดวงเดือน คณานุรักษ์ เป็นบ้านทรงจีนชั้นครึ่ง ข้าพเจ้าชอบไปบ้านนี้มากเพราะคุณยายดวงเดือนซึ่งเป็นน้องคุณย่าเสริมสุขใจดีมากจะมีขนมนมเนยไว้เลี้ยงลูกหลานตลอดเวลา บ้านนี้เดิมเป็นบ้านของคุณทวดขุนพิทักษ์รายา(ตันบั่นซิ่ว) ลูกชายคนสุดท้องของ คุณปู่ทวดพระจีนฯ  คุณตาดิเรกเป็นลูกชายคุณทวดขุนพิทักษ์ฯ ถัดไปเป็นตึก 2 ชั้นอันทันสมัยของลุงมานพ และอามวล ลุงนพเป็นพี่ชายคนโตของพ่อ เดิมบ้านนี้เป็นบ้านคุณทวดขุนจำเริญภักดี(ตันบั่นฮก) พ่อของคุณปู่ ท่านเป็นลูกชายคนโตคุณปู่ทวดพระจีนฯ   ต่อมาตกทอดมาถึงลุงวิทยา หรือลุงเต็ก ลูกชายคนสุดท้องของคุณทวดขุนจำเริญฯ ลุงนพได้ซื้อต่อและรื้อบ้านเก่าที่เป็นทรงจีนสร้างใหม่เป็นตึกทันสมัย  ฝั่งตรงกันข้ามเยื้องกับบ้านลุงนพ เป็นบ้านเดิมของนายบุญเสี้ยน วัฒนานิกร ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับคุณปู่ทวดพระจีนฯ และนางยี่จ้อง แซ่ลั้วพี่สาวของนายบุญเสี้ยนก็เป็นภรรยาของนายจูเซียน น้องชายคุณพระจีนฯ  ในตอนนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้คือยายเซ่งห้วย เป็นภรรยาของหลวงสกลการธานี(ซุ้ยจ้าย วัฒนานิกร) บุตรชายของนายบุญเสี้ยน คุณยายเซ่งห้วย เป็นมารดาของคุณมาโนช วัฒนานิกร หรือเถ้าแก่ซิ่ว ข้าพเจ้าจำท่านได้ดีเพราะท่านมักจะออกมานั่ง หน้าบ้านทุกวัน เมื่อท่านถึงแก่กรรมข้าพเจ้ายังไปช่วยงานศพท่าน 
              อีกด้านของบ้านอาศรีสุข เป็นปลายถนนอาเนาะรูลงไปท่าน้ำแม่น้ำปัตตานี  จะมีชาวบ้านพายเรือรับจ้างมาคอยรับคนข้ามฟากไปฝั่งตรงข้ามคือโรงเรียนบ้านสะบารัง  ท่าน้ำนี้ในอดีตรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่งเพื่อประพาสตลาดจีน  อีกฟากของปลายถนนนี้เป็นโรงน้ำแข็ง วัฒนานิกร ของคุณมาโนช วัฒนานิกร หรือเถ้าแก่ซิ่ว ที่นี่เป็นเขตหวงห้ามของญาติพี่น้องข้าพเจ้า บางคนเพราะผู้ใหญ่โกรธกันทั้งๆที่ภรรยาเถ้าแก่ซิ่ว  คือนางโสภิต เป็นญาติสายนางจูกี่ ดังที่ข้าพเจ้าได้เล่าไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ข้าพเจ้าสามารถเข้าออกโรงน้ำแข็งได้เพราะหลานชายคนโตของเถ้าแก่ซิ่ว คือโจ้ หรือพีระพล เสรีกุล เป็นเพื่อนสนิทของข้าพเจ้า เรียนด้วยกันกินด้วยกัน อยู่ด้วยกันจนจบจากมหาวิทยาลัย จนข้าพเจ้าพลอยเรียกเถ้าแก่ซิ่ว และ คุณนายโสภิต ว่าคุณตา คุณยายไปด้วย ในตอนนั้นโรงน้ำแข็งจะเดินเครื่องตลอดเวลาถ้าวันใดเครื่องเสียแถวละแวกนั้นจะเงียบผิดปกติ จากโรงน้ำแข็งเดินข้ามถนนปัตตานีภิรมย์ ไปยังถนนอาเนาะรู ฝั่งทิศเหนืออีกครั้ง ตรงหัวมุมจะเป็นบ้านตึกทรงจีนดัดแปลง 2 ชั้นของคุณยายซุ่ยสิ้ม ปริชญากร พี่สาวคนโตของ คุณตาดิเรก ติดกันเป็นตึกจีนดัดแปลง 2 ชั้นเช่นกันของคุณยายลิ่วซิ้ม วงศ์วารี บ้านหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระกุนไท้กุนซึ่งเป็นพระประจำตัวของคุณปู่ทวดพระจีนฯ ชั้นบนของบ้านจะมีนกนางแอ่นมาทำรังเต็มไปหมด เวลาตอนเย็นจะมีนกบินว่อนอยู่หน้าบ้านก่อนเข้ารัง คุณยายลิ่วซิ้ม เป็นหลานยายของนางเม่งจู โกวิทยาพี่สาวคนโตของคุณปู่ทวดพระจีนฯ เดิม บ้าน 2 หลังนี้เป็นบ้านของนางเม่งจู เล่ากันว่าในสมัยทวดเม่งจูยังมีชีวิตหลังบ้านจะเป็นสวนดอกไม้นานาพันธุ์    บ้านคุณยายลิ่วซิ้ม มีชื่อเรียกว่าบ้านรังนก หรือบ้านครูราญ เพราะน้าสำราญ วงศ์วารีลูกชายคุณยายเคยเป็นครูมาก่อน ถัดจากบ้านรังนกเป็นบ้านจีนชั้นเดียวผู้ที่อาศัยอยู่คือน้าเหลี่ยน พนักงานบริษัทพิธานพาณิชย์ ติดกันเป็นบ้านจีนชั้นเดียวเช่นกันของนายนิคม ดาราพันธุ์ หรือแป๊ะแฉ้ แป๊ะแฉ้เป็นญาติทางย่าทวดเบ้งซ่วนภรรยาคุณปู่ทวดพระจีนฯเช่นกัน ปกติแป๊ะแฉ้จะถีบจักรยานตระเวนขายล๊อตเตอรี่  เวลาใครมีงานพิธีสงฆ์แป๊ะแฉ้ก็จะไปช่วยนำอาราธนาพระ นอกจากนี้ยังมีวิชารักษาต้อเนื้อโดยวิธีตัดต้อซึ่งเป็นวิชาไสยศาสตร์ ลูกสาวแป๊ะแฉ้คนหนึ่งชื่อจี๊สั้น พิการมีแขนลีบสั้น 1 ข้าง แต่มีความสามารถในการปักผ้ามาก คนส่วนใหญ่นิยมจ้างให้ปักเสื้อนักเรียน ถัดจากบ้านแป๊ะแฉ้เป็นบ้านไม้ 2 ชั้นของลุงหยัดกับป้าเหลี่ยน ลุงหยัดเป็นช่างซ่อมรถยนตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ถัดไปเป็นห้องแถวไม้ของ น้าก๊วน น้ากาว มุ่งแสง  ทั้ง 2 คนเป็นโชเฟอร์ขับรถรับจ้าง    ถัดไปเป็นบ้านอาสมพร และ อาสุวรรณา วัฒนายากร เป็นบ้านที่มีบริเวณกว้างมาก ด้านข้างและด้านหลังเป็นสวน ในสวนหลังบ้านมีตึกจีน 2 ชั้น 1 หลัง เป็นบ้านของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ(ตันจูเม้ง) พี่ชายคุณปู่ทวดพระจีนฯ เรียกกันว่าบ้านบน ภายหลังเป็นบ้านของคุณทวดเป้าเลี่ยง ลูกสาวหลวงสุนทรฯ ซึ่งเป็นแม่ของคุณย่า พ่อของข้าพเจ้าก็เติบโตที่บ้านนี้   ในตอนนั้นอาพรให้ป้าเฮื้องซึ่งเป็นคนเก่าแก่อาศัยอยู่ บ้านหลังนี้มีสิ่งที่ข้าพเจ้าแปลกใจมากเพราะบนหลังคามีตุ๊กตาปูนปั้นเป็นรูปคนขี่สิงห์  ซึ่งว่ากันว่าเอาไว้สำหรับแก้อาถรรพ์   ในสวนจะมีต้นละมุด หรือที่เราเรียกว่าลูกสวาที่มีรสชาดหวานมาก นอกจากนี้ยังมีผลไม้ประหลาดชนิดหนึ่งผลมีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศของสุนัขตัวเมีย เรียกว่า ลูกหีหมา ลูกจะออกเต็มโคนต้น เวลาสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม ลูกหีหมา มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ลูกอัมพวา  ลูกชายคนหนึ่งของอาพรและอาวรรณคือพี่ป้อง เป็นเพื่อนเล่นกับข้าพเจ้า ตั้งแต่เล็กจนโต จนปัจจุบันนก็ยังเป็นคู่หูกัน หลายครั้งหลายคราที่เราสองคนประกอบวีรกรรรมที่ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้ใหญ่ทั้งๆที่เราคิดว่าเราทำเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของวงศ์ตระกูล
              ต่อไปเป็นบ้านหลังสุดท้ายอยู่ระหว่างสวนอาพร กับบ้านคุณปู่ เป็นบ้านทรงจีนชั้นเดียว เรียกว่า บ้านกงสี เป็นบ้านเดิมของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง(ปุ่ย แซ่ตัน) ต้นตระกูลคณานุรักษ์ เมื่อเข้าบ้านห้องโถงกลางจะมี แท่นบูชาบรรพบุรุษ โดยมีป้ายชื่อบรรพบุรุษเก็บไว้ในตู้ไม้แกะสลักแบบจีนที่สวยงามมาก เรียกว่า ถ้ำ    ห้องด้านซ้ายเป็นที่พักของทวดกุ้ยกี ท่านเป็นลูกสาวของคุณปู่ทวดพระจีนฯ   ข้าพเจ้าเรียกท่านว่าย่ากีตามพ่อ ท่านบวชเป็นแม่ชี  ท่านเลี้ยงชะนีไว้ 1 ตัว ชื่อ แง๊ว ดุมาก ย่ากีรักข้าพเจ้ามากถ้าข้าพเจ้าไปหาท่านๆจะเอากล้วยน้ำว้าที่ซื้อไว้เลี้ยงไอ้แง๊วให้ข้าพเจ้ากินเสมอ ย่ากีมีชีวประวัติที่น่าสนใจมาก ท่านเคยเป็นภรรยาพระยาประวัติสุจริตวงศ์(คอยู่ตี่ ณ ระนอง) เจ้าเมืองชุมพร ท่านหย่ากับสามีกลับมาอยู่ที่ปัตตานีเพราะสุนัขที่ท่านเลี้ยงไปกัดสามี แล้วสามีท่านยิงสุนัขตาย ท่านจึงโกรธมาก ย่ากีมีลูกชาย 1 คนชื่อ ตอม ไปเรียนวิชากฏหมายจากอังกฤษกลับมาได้ไม่นานก็ตายลือกันว่าถูกวางยาพิษ  ห้องด้านขวาของบ้านกงสีเป็นที่พักของครอบครัวลุงจำรูญ พี่ชายของพ่อเช่นกัน หลังบ้านกงสีเป็นสวน ในสวนมีจอมปลวกขนาดใหญ่ 
              เป็นอันว่าข้าพเจ้าได้นำท่านย้อนยุคไปเยือนหัวตลาดเมื่อ 40 ปีที่แล้วเรียบร้อยแล้ว ท่านคง จะมองเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับสภาพปัจจุบัน บ้านเรือนหลายหลังถูกรื้อหรือ ซ่อมแซม ดัดแปลงจนกลายสภาพไปแล้ว บุคคลหลายท่านก็ล้มหายตายจากไปแล้ว บางคนก็ย้าย ถิ่นฐานออกไปจากหัวตลาด  แม้แต่ข้าพเจ้าเองปัจจุบันก็ไม่ได้อยู่ที่หัวตลาดแล้ว ……….หัวตลาดจึงเป็นเพียงความทรงจำของข้าพเจ้าเท่านั้น………


..ปานเทพ คณานุรักษ์
เรียบเรียงใหม่ วันที่ 10 สิงหาคม พ.. 2552






Free TextEditor




บ้านตึกขาว




บ้านนายจูเซียน ซึ่งเดิมเป็นแฝดทรงเดียวกัน ๓ หลังกับบ้านตึกขาวและบ้านนายจูเส้ง




บ้านกงสี เห็นกำแพงอิฐกั้นปิดประตูผีของบ้านตึกขาว




ภายในบ้านกงสี




บ้านยายซุ่ยสิ้ม ปริชญากร ซึ่งเป็นบ้านเก่าของนางเม่งจู โกวิทยา




ภายในบ้านตึกขาว เรือนไม้ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2552   
Last Update : 23 สิงหาคม 2552 10:33:03 น.   
Counter : 698 Pageviews.  

รวมภาพถ่ายเอกสารตระกูล "คณานุรักษ์"

รวบรวมภาพถ่ายเอกสารเก่า


ที่เกี่ยวข้องกับตระกูล


"คณานุรักษ์"










หนังสือเสนาบดีแจ้งเรื่องการพระราชทานที่ดินสร้างฮวงซุ้ยประจำตระกูล





หนังสือเทศาภิบาลแจ้งเรื่องการพระราชทานที่ดินสร้างฮวงซุ้ยประจำตระกูล





แผนผังที่ดินพระราชทานสำหรับสร้างฮวงซุ้ยประจำตระกูล





หนังสือขุนพจน์สารบาญกราบทูลแจ้งข่าวการเสียชีวิตของพระจีนคณานุรักษ์





หนังสือตอบจากสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องการเสียชีวิตของพระจีนคณานุรักษ์





หนังสือจดทะเบียนตั้งนามสกุล "คณานุรักษ์"






 

Create Date : 29 เมษายน 2552   
Last Update : 31 ตุลาคม 2554 23:45:23 น.   
Counter : 968 Pageviews.  

ชีวิวัฒน์ ตอนที่ ๖ เมืองไชยา, เมืองกาญจนดิฐ, เมืองหลังสวน, เมืองชุมพร

ชีวิวัฒน์
ตอน
เมืองไชยา, เมืองกาญจนดิฐ, เมืองหลังสวน, เมืองชุมพร






Free TextEditor
























































...จบบริบูรณ์...






Free TextEditor




 

Create Date : 29 เมษายน 2552   
Last Update : 29 เมษายน 2552 13:11:08 น.   
Counter : 566 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

เด็กหัวตลาด
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เรียนจบหมอ เคยผ่านการเป็นอาจารย์ แล้วลาออกไปเป็นหมอจนๆ เพราะไม่ชอบใช้วิชาชีพหากิน
ปัจจุบันเลิกรักษาคน หันไปบริหารเงิน คอยดูคนอื่นรักษาคนไข้แทน
รับผิดชอบการจัดชุดสิทธิประโยชน์สำหรับโรคเรื้อรัง
และโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง ๓๐ บาท)
สนใจเรื่องราวประวัติตระกูล และประวัติศาสตร์บ้านเกิด ณ หัวตลาด หรือตลาดจีนเมืองตานี เป็นพิเศษ
[Add เด็กหัวตลาด's blog to your web]