Group Blog
 
All Blogs
 

ว่าด้วยเรื่อง Power Tools ผู้ช่วยตัวเก่งสำหรับงาน D.I.Y.



ดังคำกล่าวที่ว่า "งานแต่ละอย่างมีเครื่องมือเฉพาะ และเครื่องมือแต่ละอย่างก็เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท"


หลายๆคนยังอาจจะสงสัยว่าเครื่องมือแต่ละอย่างนั้น มันทำงานยังไง มีวิธีใช้งานแบบไหน ใช้ทำอะไรได้มั่ง ส่วนท่านที่ทราบดีอยู่แล้วอย่าหาว่าผมจะเอามะพร้าวมาขายสวนเลยนะครับ แต่สำหรับมือใหม่ DIY นั้นน่าจะมีประโยชน์มั่งล่ะครับยิ่งหลังๆนี่เห็นมีสมาชิกที่เป็นผู้หญิงถามกันเข้ามาบ่อยว่าจะเลือกซื้อเครื่องมือแบบไหนดี

โดยส่วนมากแล้วถ้าเป็นงานภายในบ้าน สว่านไฟฟ้า มักเป็นเครื่องมือที่ถูกเรียกใช้งานบ่อยที่สุดไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในลักษณะการไขสกรูในงานซ่อมแซมหรืองานเจาะเพื่อทำการยึดหรือแขวนสิ่งของต่างๆที่นี้เรามาดูกันว่าสว่านแต่ละแบบมันแตกต่างกันยังไง แล้วแบบไหนจะเหมาะกับงานของคุณ

ตัวแรกเลยก็จะเป็นสว่านเจาะกระแทกทั่วๆไปที่นิยมมีใช้กันเป็นส่วนมาก ส่วนมากจะเป็นขนาด10 mm.กับ 13 mm. ถ้าสำหรับงาน DIY ในบ้านเอาแค่ขนาด 10 mm. ก็พอแล้วครับ ขนาดกำลังซัก 500 Watts ขึ้นไปกำลังดี สามารถปรับให้หมุนซ้าย-ขวาได้เผื่อเอาไว้ใช้ไขสกรู(แต่อาจจะสู้พวกไขควงไฟฟ้าโดยตรงไม่ได้) และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ต้องมีระบบเจาะกระแทกด้วย



สว่านแบบนี้มักจะมีระบบเจาะกระแทกมาด้วย สว่านแบบนี้จะมีการทำงานอยู่ 2 โหมดคือ 1)เจาะธรรมดาใช้กับการเจาะเหล็ก-ไม้ทั่วไป 2) การเจาะกระแทกสำหรับการเจาะปูนคอนกรีต โดยจะมีตัวเลือกการเจาะอยู่เป็นรูปค้อน (เจาะกระแทก) และรูปดอกสว่าน (เจาะธรรมดา ) แต่สว่านแบบนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างเนื่องจากสว่านเจาะกระแทกจะใช้กลไกระบบเฟืองกระแทก ซึ่งมีแรงกระแทกอันน้อนนิด ทำให้การเจาะปูนต้องใช้แรงกดตัวสว่านมาก เจาะยากไม่ค่อยจะเข้าถ้าต้องเจาะซัก4-5รูนี้แขนห้อยเลยครับหมดแรง ยิ่งถ้าไปเจอคอนกรีตอัดแรงหรือผสมหินนี่ลืมไปได้เลยครับ เจาะแทบไม่ได้เลย จะพาลเอาดอกไหม้หรือถึงขั้น ดอกละลายเอาเปล่าๆ สว่านแบบนี้รอบเจาะสูงประมาณ 2500 รอบต่อนาที(RPM)ประสิทธิภาพในการเจาะ 80% การกระแทก 20 % ครับ รูปข้างล่างตัวสีส้มๆนั้นเป็นตัวเลือกการเจาะว่าจะเจาะกระแทกหรือเจาะธรรมดา



ส่วนการใส่ดอกสว่านก็ต้องใช้ตัวจำปาที่มากับสว่านไขบิดเพื่อล๊อคดอกให้แน่น ควรจะไขไล่ไปทั้งสามรูนะครับไม่งั้นอาจจะไม่แน่นหัวจับหมุนฟรีกับดอกระหว่างเจาะได้




ส่วนต่อมาในรูปจะเป็นตัวปรับรอบความเร็ว สว่านตัวนี้มี 2 speed ง่ายๆครับเจาะดอกเล็กใช้รอบสูงได้แต่ถ้าเจาะดอกใหญ่ๆควรใช้รอบต่ำครับ ส่วนเหนือไกที่มันโบ๋ๆอยู่เดิมเป็นตัวปรับการหมุนซ้ายขวาแต่ตัวนี้ใช้งานมา10กว่าปีแล้วเลยหักหลุดออกไปตามอายุขัยล่ะครับ ส่วนปุ่มข้างๆนั้นเอาไว้ล๊อคสวิตช์กดครับไม่ต้องกดแช่ถ้าต้องการเจาะนานๆโดยการกดไกสว่านแล้วก็กดปุ่มนี้เข้าไปจะทำให้ไกล๊อคครับ ปลดล๊อดโดนการกดไกซ้ำเข้าไปมันจะดีดออกมาเอง



นอกจากใช้เจาะแล้วยังสามารถเอาอุปกรณ์อื่นๆมาประกอบใช้งานได้ด้วยเช่น ปลายไขควงเพื่อไขสกรู ถ้าสว่านของคุณสามารถปรับให้หมุนซ้าย-ขวาได้ หรือจะเป็นพวกหินขัด หัวขัดกระดาษทรายก็ได้เหมือนกันนะครับ ส่วนดอกสว่านนั้นส่วนใหญ่เราจะใช้อยู่2แบบคือดอกเจาะปูน(สีขาวๆ)กับดอกเจาะเหล็ก(สีดำๆ)แต่พอแก้ขัดเอามาเจาะไม้ได้แต่ไม่ดีนักเพราะว่าร่องคายเศษเล็กขี้ไม้มักจะมาอุดตันครับ การเจาะนั้นจริงๆแล้วจำเป็นต้องมีการหล่อเย็นที่ดอกเจาะเพื่อกันดอกไหม้หรือหมดคม แต่ชาวDIYอย่างเราจะไปหาน้ำมันสบู่สีขาวๆแบบในโรงงานมาใช้ยังไงล่ะครับ ถ้าไม่ห่วงเรื่องสนิมก็เอาน้ำเปล่าคอยหยอดก็ได้ ส่วนการเจาะปูนนั้นขอบอกเลยว่าสว่านแบบนี้เจาะยากและกินแรงสุดๆ กว่าจะได้บางทีดอกอาจจะไหม้ละลายไปเลยก็ได้ เพราะว่ารอบเจาะสูง แรงการกระแทกน้อย แต่ก็พอแก้ขัดได้โดยใช้ดอกเจาะปูนคุณภาพดีๆหน่อย แต่ปัญหาการเจาะปูนไม่ค่อยจะเข้านี้ จะไม่เกิดเลยถ้าเป็นสว่านโรตารี่



เคยสงสัยมั๊ยครับเวลาช่างแอร์เจาะปูนหรือทลวงรูกำแพงเพื่อยึดหรือลอดท่อน้ำยานั้น ทำไมมันเจาะง่ายจังว่ะ ปรื๊ดหายๆ นั่นล่ะครับสว่านโรตารี่ สว่านโรตารี่นั้นจะเจาะ20% กระแทก 80% ความเร็วรอบประมาณ 7-800 รอบเอง ซึ่งสามารถเจาะดอกใหญ่ๆได้สบายมาก ใช้ระบบกลไกการสร้างแรงกระแทกแบบ pneumatic ทำให้ได้แรงกระแทกที่รุนแรงสม่ำเสมอ ถึง 3000 ครั้งต่อนาที(Beats per minute) การเจาะนั้นแทบจะไม่ต้องการแรงกดช่วยจากผู้ใช้งานเลยก็เจาะได้ง่ายๆเหมือนเจาะเนยเลยก็ว่าได้ ฟังแล้วดูดีน่าใช้ใช่ไหมครับ แต่ว่าสว่านโรตารี่นั้นส่วนมากราคาแพงหูฉี่นี่ซิครับปัญหา ทีนี้ถ้าคุณแค่ต้องการเจาะรูซัก 2-3 รู สว่านธรรมดาราคาไม่แพงก็โอเคล่ะครับ แต่ถ้าต้องการเจาะคอนกรีตซัก 10 รูขึ้นไปนี่คุณจะหมดแรงซะก่อนครับ ดังนั้นสว่านโรตารี่จะตอบโจทย์ข้อนี้ได้อย่างดีครับ เหมาะสำหรับช่างอาชีพเขาล่ะครับ เจาะได้เร็วไม่เสียเวลา เบาแรง ได้งานเร็ว แถมยังทำตัวเป็นสกัดทำลายได้ด้วย ไม่ต้องเอาสกัดกับค้อนปอนด์มาทุบให้เมื่อยตุ้ม



แต่สว่านแบบนี้ต้องใช้ดอกเฉพาะของเค้านะครับ ในบ้านเราส่วนมากนิยมใช้แบบ SDS Plus แต่ช่างทั่วไปเขาจะเรียกว่าดอกโรตารี่ เฉยๆเป็นที่รู้กัน ดอกแบบนี้ไม่ต้องใช้จำปาในการไขล๊อค ตัวดอกเองจะมีร่องเสียบกับร่องล๊อคอยู่ แบบในรูปครับ ราคาก็จะแพงกว่าดอกเจาะปูนธรรมดาด้วย



การเปลี่ยนดอกทำได้ง่ายๆแค่กดปลอกตัวล๊อคเข้าหาตัวสว่าน แล้วก็เอาดอกเสียบเข้าไปให้เข้าร่องได้เลยครับ ไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆช่วยเลย และไม่มีการหมุนฟรีด้วยเพราะว่าร่องโคนดอกล๊อคอยู่



อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้กับสว่านโรตารี่ ในรูปจะเห็นหัวจับแบบใช้จำปาด้วย เอาไว้จับดอกขนาดเล็กและก็ดอกเจาะเหล็กแบบธรรมดาทั่วๆไป อีกอันเป็นเหล็กสกัดแหลมกับแบน เอาไว้สกัดหรือทำลายหินหรือคอนกรีตครับ ลืมค้อนปอนด์กับสกัดไปได้เลยถ้ามีตัวนี้(ชอบจริงๆ)



เมื่อใช้กับดอกธรรมดาจะเป็นแบบนี้ (ใหม่กิ๊กแกะพลาสติกมาถ่ายเลยเพราะว่าไม่เคยใช้เลย ถ้าเจาะเหล็กผมเอาตัวดำเจาะเอา เบาดี ตัวนี้ไว้เล่นกับปูนโดยเฉพาะ มันโค-ตะ-ระ หนักเลยครับตั้งสี่โลครึ่ง)



สว่านตัวนี้มี 3 โหมดคือ 1)เจาะธรรดา 2)เจาะกระแทก 3)สกัดทำลายหินหรือคอนกรีต (ปลายดอกจะไม่หมุน มีแต่แรงกระแทกอย่างเดียว)รูปนี้แสดงให้เห็นตัวเลือกโหมดการใช้งานตัวนี้เลือกว่าจะใช้งานเจาะ(ดอกหมุน)บิดมาซ้าย หรืองานสกัดทำลาย(ดอกไม่หมุน)บิดมาขวา ส่วนรูข้างล่างนั่นเป็นห้องเกียร์ของสว่าน ผมเปิดออกให้ดูตัวข้อเหวี่ยงสำหรับสร้างแรงกระแทกไปยังชุด pneumatic ที่หัวสว่าน





ส่วนตัวบิดหน้าไกสวิตช์ตัวนี้เป็นตัวเลือกว่าจะใช้แรงกระแทกสำหรับงานเจาะหรือไม่ โดยบิดซ้ายเป็นการเจาะกระแทก บิดขวาเจาะธรรดา(ไม่สร้างแรงกระแทก)






สว่าน+ไขควงไร้สาย ตัวนี้ก็ประโยช์นเยอะครับ ใช้งานสะดวกไม่มีสายเกะกะ เป็นไขควงไฟฟ้าก็ดีเพราะมีตัวปรับแรงขันที่จะหมุนฟรีได้เมื่อถึงแรงขันที่กำหนดกันเกลียวรูด หัวเยินได้ดีเลยครับการเลือซื้อก็เอาตัวที่ Volt สูงๆหน่อยเช่น 8.4 V, 9.6V หรือ 12 Volt ก็จะดีครับ ทำให้สว่านมีแรงมากขึ้น การใช้งานควรใส่ใจเรื่องการชาร์จไฟด้วยเพราะพวกนี้ส่วนมากเป็นแบตแบบ Ni-Cad ซึ่งถ้าเราใช้งานยังไม่หมดไฟแล้วเอาไปชาร์จจะทำให้เกิด Memory Effect ได้ ดังนั้นควรใช้งานให้ไฟหมดก่อนนำไปชาร์จนะครับ การใช้ก็คล้ายๆกับสว่านไฟฟ้าทั่วไปคือ มีตัวปรับการหมุน ซ้าย-ขวาเหนือไกสวิตช์ แล้วก็ไกมีสองจังหวะๆแรกรอบจะช้า แต่ถ้ากดไกสุดรอบจะเร็ว แล้วก็มีตัวปรับแรงขันที่โคนตัวจับดอก ส่วนการใส่ดอกตัวนี้ใช้แบบมือบิดครับไม่ต้องใช้จำปาขันสะดวกดีแต่สว่านแบบนี้เจาะปูนไม่ได้นะครับ เดี๋ยวพังกำลังมันไม่พอแล้วก็ไม่ได้มีกลไกสร้างแรงกระแทกมาด้วย แต่หลังๆก็มีสว่านเจาะกระแทกแบบไร้สายออกมาเหมือนกัน บ้านเรายังไม่ค่อยเห็นราคาก็สุดๆเหมือนกัน



ตัวปรับแรงขัน (ฟรีคลัช) สามารถปรับแรงขันได้ 1(แน่นน้อย)จนถึง 5(แน่นมาก)ขึ้นอยู่กับขนาดของสกรูที่เราใช้ ควรปรับให้เหมาะสมด้วยไม่งั้นเดี๋ยวเกลียวรูด หรือปรับที่รูปดอกสว่านจะทำการล๊อคตายสำหรับงานเจาะสว่านครับ



ต่อมาก็ไขควงไฟฟ้าชื่อก็บออยู่แล้วว่าเป็นไขควงอย่างเดียวการใช้งานจะเหมือนกับตัวข้างบนแต่ไม่สามารถเอาไปเจาะได้ แต่มันก็มีข้อดีคือ มันมีแรงขันมากกว่าตัวข้างบนเยอะเลยครับอัตราทดเกียร์สูงมาก แต่รอบช้ามากเช่นกันแค่ 180 RPM เอง สามารถต่อกับชุดประแจบล๊อคไขน๊อตขนาด 13 mm.สบายๆแต่ตัวข้างบนขันไม่ไหวครับ ตัวนี้ตัวน้อยแต่ต่อยหนักครับ มีตัวปรับแรงขันได้เหมือนกัน(ปลอกดำๆนั่นแหละ)



ต่อกับลูกบล๊อคขันน๊อตได้สบาย ใครชอบซ่อมรถน่าจะชอบ




สำหรับงานตัดแล้ว Jigsaw นี่ก็ช่วยผ่อนแรงและระยะเวลาได้มาก ไม่ต้องมานั่งสาวเลื่อยมือให้กล้ามโป่ง ตัวนี้เป็นเครื่องมืออีกชิ้นนึงที่น่าจะมีนอกเหนือจากสว่านแล้ว ตัดได้ทั้ง ไม้ และโลหะ ตัดได้ทั้งแนวตรงแนวโค้งหรือจะเอียงเป็งองศาก็ได้ การใช้งานมีสวิตช์กับตัวล๊อคคล้ายๆกับสว่านน่ะครับ ตัวนี้อายุประมาณ10ปีได้ยังเป็นB&D Made in England อยู่ใช้งานทนทานดี ส่วนรุ่นใหม่ๆ Made in China หมดแล้วความคงทนเป็นไงมั่งไม่รู้



การใส่ใบก็สอดใบเข้าไปตรงนี้แล้วเอาไขควงไขล๊อคใบให้แน่นก็ใช้งานได้แล้ว สามารถตัดได้หนาไม่เกินความยาวของใบเลื่อยคือประมาณ 2 นิ้วครับ



จะใช้งานสำหรับตัดอะไรไม้หรือว่าโลหะก็เลือกใช้ใบตัดให้ถูกต้องด้วยนะครับ ใบก็ใช้ใบสำหรับJigsawทั่วๆไปหาซื้อตามร้านHardwareทั่วไปได้เลย



บางรุ่นสามารถต่อกับเครื่องดูดฝุ่นเพื่อดูดเอาขี้เลือยออกไปได้เลย ไม่เลอะเทอะดี หลังใบเลื่อยจะมีช่องดูดอยู่แล้วมาออกข้างหลังนี่ แต่ต้องซื้อตัวต่อกับท่อดูดที่ดูดฝุ่นมาต่างหากนะครับ




อีกเครื่องมือนึงที่ประโยชน์เยอะมากก็คือ เครื่องเจียร์ขนาด 4นิ้วครับหรือว่าช่างไทยนิยมเรียกว่า "ลูกหมู" ไม่รู้ใครบัญญัตศัพท์นี้ขึ้นมามันเหมือนตรงไหนใครรู้ช่วยบอกทีเหอะ ตัวนี้ทำได้สารพัดทั้งตัด ขัด เจียร ขึ้นอยู่กับใบอุปกรณ์ที่เอามาใช้ แต่เตือนไว้ก่อนตัวนี้ค่อนข้างอันตรายคนไม่เคยใช้อาจจะสบัดเข้าตัวได้ ถ้าเราไปตัดหรือเจียร์ผิดมุมเข้า แล้วแผ่นกันสะเก็ดนี่อย่าไปถอดออกเลยครับอันตรายเผื่อใบแตกขึ้นมาจะได้ไม่กระเด็นเข้าตัว เครื่องแบบนี้หมุนด้วยความเร็วหมื่นกว่ารอบต่อนาที ถ้าเลี่ยงได้อย่าไปใช้เครื่องราคาไม่กี่ร้อยจากจีนแดงเลยครับ เอาที่มันมียี่ห้อพอเชื่อถือได้หน่อย ของจีนถ้ามันกระจายคามือขึ้นมา สยองครับหมุนเป็นหมื่นๆรอบ เครื่องนี้หลักๆเลยก็จะมีตัวเครื่องพร้อมที่กันสะเก็ด ประแจไขล๊อคใบ ด้ามจับข้าง แล้วก็ใบอุปกรณ์ครับ



ส่วนต่างๆของตัวเครื่อง 1)ศรน้ำเงิน- ปุ่มล๊อคแกนหมุน 2) ศรเขียว- สรูถอดหรือปรับมุมตัวกันสะเก็ด 3) ศรเหลือง- แผ่นประกบสำหรับล๊อคใบ 4) ศรขาว- รูสำหรับใส่ด้ามข้างมีทั้งสองด้าน ส่วนสวิตช์เปิดปิดอยู่ท้ายเครื่องครับ แต่บางยี่ห้อเช่น Bosch จะอยู่ด้านข้างหลังรูใส่ด้ามข้างมาหน่อยนึงครับ



แหวนล๊อคประกบใบตัวล่าง มีเกลียวตรงกลางมีสองด้านๆเรียบกับนูนใช้ด้านไหนขึ้นอยู่กับชนิดของใบครับ




การใส่ใบก็ต้องกดปุ่มล๊อคใบก่อน คลายแหวนล๊อคตัวล่างออก เอาใปใส่ดูลูกศรทิศทางการหมุนที่ตัวใบด้วยนะครับ แล้วเอาแหวนล๊อคหมุนเกลียวเข้าไป



อันนี้ใบเจียรครับ เอาแหวนล๊อคด้านนูนไว้ทางใบเจียร์ครับ แล้วเอาประแจขันโดยเกี่ยวเอาในรูด้านข้าง กดปุ่ม ล๊อคแกนหมุนแล้วขันพอตึงมือครับ



ส่วนพวกใบไฟเบอร์ตัดเหล็ก เอาแหวนล๊อคด้านเรียบเข้าทางใบ ด้านนูนลงล่างครับ



ส่วนถ้าเป็นใบเพชร ใช้สำหรับตัดปูน กระเบื้อง หินอ่อน-แกรนิต จะต้องใส่แหวนรองแกนหมุนก่อนนะครับซึงจะมีมาให้พร้อมกับใบ



ใบแบบต่างๆครับขึ้นกับการใช้งานว่าจะใช้ทำอะไร บนซ้ายเป็นใบเจียร บนขวาเป็นใบตัดเหล็กบางทีก็เรียกว่าใบไฟเบอร์ ข้างล่างเขียวๆนั่นใบเพชรใช้ตัดคอนกรีต กระเบื้อง หรือว่าหินอ่อน-แกรนิตครับ
ใบเพชรเองจะมี3แบบคือ
1)ตัดแห้งแบบในรูปซึ่งนิยมใช้กันมาก
2)ตัดน้ำ ต้องมีน้ำหล่อตลอดตอนตัด ส่วนมากใช้กับแท่นตัดหินแกรนิต
3)ใบตัดแห้งหรือน้ำใช้ได้สองแบบครับ

นอกจากนี้ยังสามารถใส่ใบอุปกรณ์ได้อีกหลายๆอย่างมากเช่นใบเลื่อยวงเดือน(อันตรายมากๆ) เอาไว้ตัดไม้ ใบขนลวดไว้ขัดสนิม ใบขัดกระดาษทราบ ฯลฯ อีกหลายอย่างครับนับว่าเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์ตัวนึงเลยแต่ต้องใช้ความระวังในการใช้ด้วย



ข้อควรระวัง
- ต้องรู้ก่อนว่าเครื่องที่เราใช้ความเร็วรอบเทาไหร่สามารถดูได้ที่แผ่นเพลทข้างเครื่องอย่างเช่นตัวนี้อยู่ที่ 11,000 รอบต่อนาที(RPM)
- ใบต่างๆที่ใช้ต้องมี Maxspeed ไม่น้อยกว่าเครื่องที่เราใช้โดยจะมีบอกไว้ที่ตัวใบ
- ใส่ใบเสร็จแล้วก่อนใช้งานลองเปิดปิดสวิตช์จังหวะสั้นๆดูว่าเราใส่ใบตรงรูมั๊ย ใบแกว่งมั๊ย ถ้า OK ค่อยเดินเครื่องยาวเพื่อใช้งาน
- ห้ามถอดที่กันสะเก็ดออกเผื่อใบแตกขณะหมุนจะช่วยลดอันตรายได้
- ระวังทิศทางของสะเก็ดขณะเจียร-ตัดเหล็กด้วยว่าทางนั้นมีวัตถุไวไฟหรือหญ้าแห้งรึเปล่า
- สวมเครื่องป้องกันเช่นแว่นกันสะเก็ดกระเด็นเข้าตา ที่ปิดจมูกกรองฝุ่นโดนเฉาะการตัดกระเบื้องแผ่นเรียบหรือลอนคู่ซึ่งมีส่วนผสมของใยหินซึ่งเป็นอันตรายต่อปอดมากๆ(เด๋วอายุจะสั้น)





หมดแล้วครับ ที่จริงยังมีเครื่องมืออีกหลากหลายชนิดแต่ที่เอามาเขียนแค่นี้เพราะว่าเอาเฉพาะที่มีอยู่ในมือเพื่อการสะดวกในการถ่ายรูปประกอบนะครับ

อย่าลืมนะครับ พึงระลึกอยู่เสมอว่าเครื่องมือทุกชนิดมีอันตรายถ้าใช้งานไม่ถูกวิธี ดังนั้นก่อนจะใช้งานเครื่องมือใดๆควรศึกษาข้อมูลการใช้จากคู่มือแนะนำหรือพนักงานขายเครื่องมือนั้นๆซะก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านและคนรอบข้าง

ขอให้สนุกกับการ DIY นะครับ เพื่อนๆท่านใดมีข้อมูลอื่นจะแนะนำบรรเลงต่อด้านล่างได้เลยครับ ขอบพระคุณที่ติดตามรับชมอย่าลืมสำรวจสิ่งของก่อนลุกจากที่นั่งนะครับ




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 18 พฤษภาคม 2554 9:50:53 น.
Counter : 11371 Pageviews.  


viewfinder
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Life is so short Enjoy it !! PLEASE
Friends' blogs
[Add viewfinder's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.