Group Blog
 
All Blogs
 

ทีวี: พิษภัยใกล้ตัวสำหรับเด็กเล็ก

โทรทัศน์หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าทีวีนั้น เป็นเครื่องรับสัญญาณคลื่นความความรู้ ข่าวสาร และความบันเทิงมาทุกยุกทุกสมัย ภาพครอบครัวที่อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาหน้าจอทีวีนั้นดูเหมือนเป็นสิ่งที่สังคมอาจมองว่าเป็นการสร้างความอบอุ่นและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว บางครอบครัวมีเครื่องทีวีประจำในห้องนอนของลูกๆ พอเด็กๆ ตื่นนอนก็ต้องเปิดทีวีเป็นอันดับแรก หรือบางบ้านมีลูกน้อยกำลังหัดคลานหัดเดินก็ปล่อยไว้หน้าจอทีวีด้วยเชื่อว่าเด็กจะได้เห็นตัวการ์ตูนในทีวีเป็นเพื่อนไปพลางๆ ในขณะที่พ่อแม่ต้องทำภาระกิจอื่น

เนื่องจากช่วงเด็กแรกเกิดจนถึง 3 ปี จะเป็นช่วงที่เรียนรู้ภาษา, ทักษะทางสังคมและร่างกายมีพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด โครงสร้างและการทำงานของสมองมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีปัจจัยหลายอย่างทั้งภายในตัวเด็กเองและสิ่งแวดล้อมที่เด็กเรียนรู้ล้วนมีผลต่อความยืดหยุ่นของสมอง (brain plasticity) ที่จะเป็นตัวเบ้าหลอมโครงสร้างและการทำงานของสมองในอนาคตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การรับชมทีวีจึงมีผลต่อการเรียนรู้เด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Dr Aric Sigman ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น Associate Fellow of the British Psychological Society ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาที่ศึกษาผลของทีวีต่อสุขภาพมาเป็นเวลานานได้แถลงต่อคณะสมาชิกวุฒิสภาของสหราชอาณาจักรในการประชุมที่จัดโดยองค์กรด้านสื่อสารมวลชน Mediawatch-UK
โดยผลเสียของการดูทีวีที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยัน ได้แก่ รูปแบบการนอนหลับที่ผิดปกติ (irregular sleep pattern) ลดอัตราเผาผลาญพลังงานในขณะพัก (resting metabolic rate) จนอาจทำให้เกิดโรคอ้วน เวลาที่เด็กพูดกับผู้ใหญ่ลดน้อยลง เด็กมีทักษะทางสังคมแย่ลง และที่สำคัญคือเด็กมีสมาธิ (concentration) และความจดจ่อ (attention) แย่ลง จนอาจทำให้เกิดโรคความจดจ่อเสื่อมหรือสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) และทีวีอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคออติซึมโดยเมื่อปลายปีที่แล้ว Cornell University, Indiana University และ Purdue University ได้ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการดูทีวีและการเกิดอาการออติซึมในเด็กอเมริกัน

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าภาพในจอทีวีที่เคลื่อนไหวค่อนข้างเร็วจะลดความสามารถของเด็กในการจดจ่อสนใจ ขาดสมาธิในการเรียนรู้ นอกจากนี้ทีวียังมีแสงสว่างจ้า สีสรรมากเกินไป เต็มไปด้วยตัวกระตุ้นเทียมที่ไม่มีจริงในชีวิตตามธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาสมองทั้งในด้านโครงสร้างและหน้าที่การทำงานซึ่งจะส่งผลในระยะยาวเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

ข้อเสนอของ Dr Aric Sigman
เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่ควรให้ดูทีวี
เด็กอายุ 3-7 ปี ควรให้ดูทีวีได้ไม่เกินวันละ 30-60 นาทีต่อวัน
เด็กอายุ 7-12 ปี ควรให้ดูทีวีได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง
เด็กอายุ 12-15 ปี ควรให้ดูทีวีได้ไม่เกินวันละ 1.5 ชั่วโมง
เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป ควรให้ดูทีวีได้ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง


ทีวีเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเกือบจะทุกบ้าน ให้สาระและความบันเทิงและเป็นเพื่อนคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน รายการทีวีในเมืองไทยมีส่วนช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยมากน้อยเพียงใด ผู้ปกครองสนใจอิทธิพลของทีวีที่มีต่อลูกหลานตัวเองหรือไม่ อย่าปล่อยให้เด็กเล็กอยู่หน้าจอทีวีตลอดเลยครับ พาพวกเขาไปเรียนรู้ธรรมชาตินอกบ้าน สวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น ถึงแม้เรายังไม่สามารถสรุปแน่ชัดว่าทีวีเป็นตัวการทำลายสุขภาพเด็ก แต่การจำกัดช่วงเวลาการดูทีวีและส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายก็จะช่วยให้สมองของลูกรักได้มีการเรียนรู้อย่างสมดุลและป้องกันปัญหาที่ตัวเราคาดไม่ถึงได้

เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือพิมพิ์ guardian ฉบับวันที่ 24 เมษายน 2550 //www.guardian.co.uk/medicine/story/0,,2064185,00.html

2. Michael Waldman และคณะ, DOES TELEVISION CAUSE AUTISM?
//www.johnson.cornell.edu/faculty/profiles/Waldman/AUTISM-WALDMAN-NICHOLSON-ADILOV.pdf

เว็บไซต์แนะนำ

1. การเรียนรู้ของเด็กเล็ก
//www.teachers.tv/video/19829




 

Create Date : 01 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 1 พฤษภาคม 2550 13:51:57 น.
Counter : 438 Pageviews.  

โอกาสของนักเรียนบ้านนอก กับ นักเรียนในเมือง

ชีวิตผมเกิดมาก็เรียนที่โรงเรียนประจำตำบลกับโรงเรียนประจำอำเภอ ตอนนั้นไม่รู้หรอกครับว่าเรียนไปทำไมเรียนแล้วได้อะไรเป็นแก่นสารให้ชีวิต รู้แต่ว่าเรียนไป ทำงานช่วยพ่อแม่ไป เลี้ยงวัวเลี้ยงควายไปเรื่อยๆ ตามประสาเด็กบ้านนอก



โอกาสที่จะได้เรียนรู้วิชาที่ทันสมัยและเท่าเทียมกับคนในเมืองใหญ่นั้นหายากนะครับ ไม่ต้องพูดถึงกรณีโรงเรียนที่อยู่ในหมู่บ้านห่างไกล

1. เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่มีใช้และก็ใช้ไม่เป็น อย่างผมนี่กว่าจะได้จับคอมพิวเตอร์ก็ตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว

2. การทดลองวิทยาศาสตร์นั้นเป็นประเภทที่เรียกว่า dry lab ถ้าโชคดีหน่อยทำการทดลองที่ไม่ยากก็ทำกันยกชั้น นักเรียนทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์ตามมีตามเกิด



3. แหล่งขวนขวายหาความรู้ สื่อการเรียนการสอนที่เป็นปัจจุบัน ห้องสมุดที่มีหนังสือครบครัน หายากนะครับในต่างจังหวัด และปัจจุบันนี้อินเตอร์เน็ตสำคัญมากครับ น้องๆ ในชนบทก็ได้ใช้น้อยมากๆ

4. การพัฒนาตนเองเป็นไปอย่างตามบุญตามกรรม ไม่ได้มีระบบเกื้อหนุน เรียนจบ ม.ปลายแล้ว เด็กในชนบทมีอัตราการศึกษาต่อขั้นอุดมศึกษายังไม่สูงนะครับ สาเหตุนั้นผมไม่พูดถึงครับ

5. ทุนทรัพย์ที่จะส่งตัวเองเรียนนั้นหายากมากครับ พ่อแม่ขายที่นา ขายวัวควายก็แล้ว โอกาสที่จะหาทุนการศึกษานั้นยากครับ เด็กมันยากจนแต่เกรดมันก็จนตามไปด้วย องค์กรที่ให้ทุนก็อยากจะได้เด็กที่ยากจนแต่การเรียนต้องดีไม่ขาดแคลนเกรดสี่ ดังนั้น ความเท่าเทียมกันหาได้ยาก

สำหรับนักเรียนในเมืองใหญ่โดยเฉพาะใน กทม ที่ผมได้สัมผัสในฐานะที่เคยสอนหนังสือในโรงเรียนกวดวิชาและที่เห็นกับสองตาตามโรงเรียนต่างๆ

1. สถานที่ อุปกรณ์การสอน ทุกอย่างอยู่ในขั้นดี ขึ้นอยู่กับผู้เรียนละว่าจะรักดีหรือเกเรไม่ตั้งใจเรียน

2. นอกจากจะได้เรียนในห้องที่สะดวกสะบายแล้ว พ่อแม่ยังสามารถจ่ายเศษตังค์ให้มาเรียนพิเศษแบบไม่ได้คิดอะไรมาก (ถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ได้อยากเรียนเลยก็ตาม)

3. รัฐบาลให้การสนับสนุนมากกว่านะ อันนี้ผมสังเกตจากเรามีโรงเรียนวิทยาศาสตร์ เรามีโรงเรียนชั้นนำ เรามีโรงเรียนแม่แบบมากมายใน กทม เด็กนักเรียนได้รับการประคบประหงมเทรนกันเป็นอย่างดี มีศูนย์ข้อสอบชิงทุน มีเข้าค่ายเพื่อเตรียมสอบโอลิมปิกวิชาการ เตรียมสอบชิงทุนรัฐบาลบ้างละ ตรงกันข้ามถ้าคุณไปถามเด็ก ม. ปลายในชนบทว่าเคยได้ยินคำพวกนี้ไหม ผมกล้ายืนยันว่าน้อยคนที่จะรู้จัก

แล้วผมก็ประหลาดใจมากที่องค์กรของรัฐมีการจัดทำอันดับโรงเรียนมัธยมเรียนแบบกับมหาวิทยาลัย บอกว่าโรงเรียนไหนในประเทศไทยที่ดีที่สุดเรียงกันให้เห็นอย่างเด่นชัด ไม่รู้ว่าเด็กจะคิดอย่างไรครับ แต่ผมว่าในเมื่อมันอยู่บนพื้นฐานความไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่รากเหง้าแล้ว จัดอีกกี่รอบโรงเรียนที่ปลายนาก็ยากที่จะเป็นโรงเรียนในฝันได้ครับ

โอกาสที่เด็กในชนบทจะได้เรียนรู้เท่าทันวิทยาการในปัจจุบันก็ต้องฝากไว้กับหลายฝ่าย ทั้งผู้ใหญ่ในบ้านเมือง การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องมาดูแลลูกหลานตัวเอง คุณครูที่ต้องทำงานหนักนอกจากไปทำงานที่ไม่ใช่ครูแล้ว (เช่น งานธุรการ การเงิน สารบรรณ จิปาถะ ฯลฯ) ก็ต้องเหนื่อยอัพเดทข้อมูลข่าวสารเพื่อมาสอนศิษย์รัก พ่อแม่ที่ต้องเห็นคุณค่าของการศึกษาว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต รวมทั้งโชควาสนาของเด็กน้อยเหล่านั้นด้วยครับ และหวังว่าสิ่งที่ผมเขียนในนี้คงเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นในไม่ช้าครับ




 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2550 23:13:06 น.
Counter : 2477 Pageviews.  

เป้าหมายการศึกษา

จุดมุ่งหมายของการศึกษาที่แท้จริงนั้นอาจจะหมายถึงการพัฒนาสมองหรืออาจเป็นการพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ ของมนุษย์ ครับ

การเรียนรู้นั้นก็มีองค์ประกอบสำคัญหลายส่วน ทั้งความสามารถในการใช้ภาษาพูดและภาษาเขียน การใช้ตัวเลขและการใช้เหตุผล การมีสุนทรียทางดนตรี. การที่สามารถเข้าใจ, รับรู้, แยกแยะความแตกต่างในอารมณ์ สมาธิ แรงกระตุ้น, แรงจูงใจ และความรู้สึกของผู้อื่น. รวมทั้งการมองให้เห็นถึงการมีอยู่และการรังสรรค์ของธรรมชาติ.

สมองจึงถือว่าเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของสิ่งมีชีวิตอย่างคนเราที่วิวัฒน์ตัวเองให้เรียนรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในระบบของตนและปรับให้อยู่รอดท่ามกลางบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

อ้างอิงและปรับปรุงใหม่จาก SE-ED Learning Center

//www.freewebs.com/neuroscience/bbl.htm




 

Create Date : 11 มกราคม 2550    
Last Update : 28 มกราคม 2550 3:05:15 น.
Counter : 2097 Pageviews.  


weerapong_rx
Location :
London United Kingdom

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




อยู่เมืองกรุงไกลนาเพื่อตามล่าฝัน
Friends' blogs
[Add weerapong_rx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.