การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรสังเกตุ คำเตือนบนฉลากก่อนดื่มทุกครั้ง
Group Blog
 
All Blogs
 

ประเมินการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนแสดงความกังวลเกี่ยวกับหนี้สิน ที่ภาครัฐจะต้องรับผิดชอบสำหรับประเทศขนาดเล็ก อาทิเช่น ดูไบ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์

และล่าสุด คือ ประเทศกรีก ซึ่งเหตุการณ์หลังนี้เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ราคาหุ้นในยุโรปและหุ้นในตลาดอื่นๆ ทั่วโลกปรับลดลง 3-4% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปัญหาจะต้องถูกจัดการแก้ไขโดยการปรับลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ (ภาษี) ของประเทศกรีกอย่างชัดเจนและรวดเร็ว ทั้งนี้ รัฐบาลกรีกได้ให้คำมั่นกับนักลงทุนและสหภาพยุโรป ว่า จะปรับลดการขาดดุลงบประมาณปีนี้ที่เดิมคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 12% ของจีดีพีมาเป็น 8% ของจีดีพี และปรับลดการขาดดุลอย่างรวดเร็วให้เหลือเพียง 2-3% ของจีดีพีในปี 2012

ความจำเป็นที่จะต้องรีบจัดการปัญหาการขาดดุลงบประมาณ สืบเนื่องมาจากความเข้มงวดของตลาดทุน ซึ่งสะท้อนว่าหากรัฐบาลกรีกจะขาดดุลงบประมาณเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ก็ต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลให้คุ้มความเสี่ยงของนักลงทุนที่ยอมปล่อยกู้ให้รัฐบาลกรีก ซึ่งอยู่ในสภาวะที่ขาดวินัยทางการคลัง กล่าวคือ ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลกรีกปรับตัวสูงขึ้นถึง 7% ต่อปี ทำให้มีส่วนต่างสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีถึง 4% ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แม้ในช่วงที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกมีความรุนแรงสูงสุด (ครึ่งหลังปี 2008 ถึงครึ่งแรกปี 2009) ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยพันธบัตรกรีกกับพันธบัตรเยอรมนีก็เท่ากับ 3% เท่านั้น

ความตื่นตัวเกี่ยวกับวินัยทางการคลังนั้น มิได้เฉพาะเจาะจงกับประเทศกรีกเพียงประเทศเดียว แต่กำลังลามไปสู่ประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ยกตัวอย่างเช่นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นในประเทศโปรตุเกสปรับลดลง 5% เป็นเพราะรัฐบาลต้องลดจำนวนพันธบัตร 1 ปีลงจาก 500 ล้านยูโรมาเหลือเพียง 300 ล้านยูโร (หมายความขายไม่ออก) ในวันเดียวกัน หุ้นสเปนปรับลดลง 5.9% เพราะพันธบัตรรัฐบาลสเปนอายุ 3 ปีต้องขายที่ดอกเบี้ยสูงถึง 2.63% ซึ่งสูงกว่าพันธบัตรอายุเดียวกันที่ขายในวันที่ 3 ธันวาคม 2009 ที่ดอกเบี้ย 2.14%

ในวันเดียวกัน บริษัทจัดอันดับความเสี่ยง Moodys เตือนว่าอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AAA ของสหรัฐนั้นอาจปรับลดลงได้ใน 10 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลสหรัฐไม่มีมาตรการที่จะลดการขาดดุลงบประมาณมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หรือถ้าเศรษฐกิจสหรัฐไม่สามารถฟื้นตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แปลว่านโยบายการคลังของประธานาธิบดีโอบามาที่ประกาศออกมา ซึ่งเป็นการมองภาพวินัยทางการคลังไป 10 ปีจาก 2010-2019 นั้น Moodys สรุปว่าแผนนโยบายการคลังของรัฐบาลสหรัฐขาดวินัยที่จะทำให้สามารถรักษาความน่าเชื่อถือระดับ AAA เอาไว้ได้ในอนาคต ซึ่งเท่าที่ผมจำได้ยังไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับประเทศที่เป็นเงินสกุลหลักของโลกมาก่อน แต่ในระยะสั้นดูเสมือนว่ายังไม่ได้ส่งผลให้ตลาดตื่นตระหนกแต่อย่างใด เพราะเงินดอลลาร์ก็ยังแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลหลักเช่นยุโรปและเยน ทั้งนี้ เพราะประเทศทั้งสองกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่หนักหน่วงกว่าสหรัฐเสียอีก

อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรระมัดระวังและติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพราะความกังวลเกี่ยวกับวินัยทางการคลังของสหรัฐนั้นอาจเกิดขึ้นในปี 2013 หรือ 2015 หรือ 2011 ก็เป็นได้ขึ้นอยู่กับแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ ปัจจุบันนั้นตัวเลขอย่างเป็นทางการของสหรัฐประเมินว่าหนี้สาธารณะมีสัดส่วน 51% ของจีดีพีในปี 2009 หรือ 7.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งดูไม่สูงมากนัก แต่อาจเป็นการคำนวณที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1. หนี้ส่วนหนึ่งประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ (21% ของจีดีพี) ซึ่งถือโดยสำนักงานประกันสังคมสหรัฐไม่ได้ถูกนับรวมกับพันธบัตรรัฐบาลที่ถือโดยสาธารณชน แต่เมื่อชัดเจนว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเริ่มติดลบ ดังนั้น จึงสมควรที่จะบวกส่วนนี้กลับเข้าไปในตัวเลขหนี้สาธารณะ

2. หนี้สาธารณะที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นหนี้ของรัฐบาลกลางเพียงส่วนเดียวไม่รวมหนี้สาธารณะของรัฐบาลในระดับมลรัฐและระดับท้องถิ่น

3. รัฐบาลสหรัฐได้เข้าเพิ่มทุนและรับภาระในฐานะเป็นเจ้าของ Fannie Mae และ Freddie Mac ซึ่งเป็นสถาบันที่ปล่อยกู้และค้ำประกันหนี้อสังหาริมทรัพย์ มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งน่าจะได้รับความเสียหายจากวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมา

ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ข้างต้นจึงน่าสรุปได้ว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐน่าจะสูงกว่า 51% ของจีดีพีค่อนข้างมาก ดังนั้น หากใช้มาตรฐานสากลเช่นที่ไอเอ็มเอฟใช้คำนวณ ก็จะทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 94% ของจีดีพีในปี 2010

ประเด็นปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐ จะสืบเนื่องมาจากการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งจะเพิ่มหนี้สาธารณะในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ดังเห็นได้จากตารางว่า รัฐบาลได้ปรับประมาณการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ในปีที่แล้วค่อนข้างมาก โดยประมาณการขาดดุลรวมระหว่างปี 2010-2019 เพิ่มขึ้นจาก 7.1 ล้านล้านดอลลาร์ มาเป็น 9.1 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่าหนี้สาธารณะทั้งหมดที่ก่อขึ้นตั้งแต่การก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 230 ปีที่ผ่านมา



แต่ที่น่ากังวลมากกว่า คือ การคาดการณ์ของ Heritage Foundation (ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมและต่อต้านการสร้างหนี้สาธารณะและเพิ่มขนาดของรัฐบาล) โดยอาศัยตัวเลขของสำนักงานงบประมาณของรัฐสภา (Congressional Budget Office) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนความเป็นจริงทางการเมืองและภาคปฏิบัติมากกว่า อาทิเช่น สะท้อนว่าเมื่อสามารถลดรายจ่ายที่ใดที่หนึ่งได้นักการเมืองก็มักจะนำเอาส่วนดังกล่าวไปใช้จ่ายในส่วนอื่น และการคาดการณ์ว่าจะปรับลดการใช้จ่ายหรือเพิ่มรายได้ของภาครัฐมักจะไม่ได้ผลดีเลิศดังที่รัฐบาลคาดการณ์เอาไว้ ทำให้ตัวเลขประมาณการของ Heritage Foundation ดูน่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะหากเป็นจริงหนี้สาธารณะของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นเกือบ 20 ล้านล้านดอลลาร์ ใน 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ภาระดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3% ของจีดีพี (หรือประมาณ 7.4% ของรายได้จากการเก็บภาษี) มาเป็น 4.6% ของจีดีพี (หรือประมาณ 26% ของงบประมาณ)

ที่สำคัญ คือ การขาดดุลงบประมาณ จะมีแนวโน้มลดลงถึงปี 2013 (ปีของการเลือกตั้งประธานาธิบดี) และปรับเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนประมาณ 7-8% ของจีดีพีในปี 2019 ซึ่งผมสงสัยว่ากลไกตลาดอาจไม่ยอมให้รัฐบาลสหรัฐใช้จ่ายเกินตัวได้มากมายและยาวนานถึงปี 2019 แต่ระหว่างทางคงจะต้องมีการตั้งคำถาม (อาทิเช่น ที่ขณะนี้ ตั้งคำถามกับรัฐบาลกรีก) เกี่ยวกับวินัยทางการคลังครับ

กรุงเทพธุรกิจ
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2553    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2553 9:52:15 น.
Counter : 2746 Pageviews.  

Volcker Rule มาตรการที่ Obama ประกาศ : กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ช่วงสัปดาห์ก่อน หุ้นในตลาดต่างๆ ทั่วโลก มีความผันผวน และตกลงพร้อมๆ ส่วนหนึ่งมากจากมาตรการของประเทศจีนเพื่อชะลอสินเชื่อของภาคธนาคารในประเทศจีน ที่ออกมาในช่วงต้นสัปดาห์ และต่อมามีมาตรการจากทาง Obama ที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลสถาบันการเงินของตนอย่างเข้มงวดขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ ส่งผลให้หุ้นของสหัฐปรับลดลงประมาณ 5% ในระยะเวลาสั้นๆ กลับลงไปอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อเดือนพฤศจิกายนอีกรอบ




มาตรการที่ Obama ประกาศออกมานั้น มีอยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ

การห้ามไม่ให้สถาบันการเงินที่รับเงินฝาก คือ แบงก์ ไปมีธุรกรรมประเภท Hedge fund, Private equity fund และ Proprietary trading ซึ่งเป็นการเอาเงินของตนเองไปลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่เสี่ยงเพื่อแสวงหากำไร ซึ่งกฏข้อนี้ Obama เรียกว่า Volcker Rule ตามเจ้าของแนวคิดคือคุณ Paul Volcker ซึ่งเป็นคนผลักดันในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เป็นเวลา 1 ปีแล้ว

การออกเพดานเพื่อป้องกันไม่ให้ เกิดการควบรวมในระบบสถาบันการเงินในสหรัฐมากจนเกินไป โดยที่จะมีกฏว่าสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่สามารถที่จะมีขนาดฐานเงินฝากเกินกว่า 10% ของฐานเงินฝากทั้งประเทศ และตรงนี้ จะรวมไปถึง เงินทุนประเภทต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือจากเงินฝากด้วย แต่รายละเอียด จะออกมาอีกที

นับเป็นความพยายามของ Obama ที่จะออกมาจัดการกับแบงก์และสถาบันการเงินรอบที่ 2 ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่ได้ออกมา ประกาศขึ้นภาษีสำหรับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ไปแล้วก่อนปีใหม่

ทำไมต้องทำอย่างนี้

ทั้งหมดนี้มีเหตุผล

หนึ่ง – ต้องการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตอีกรอบหนึ่ง จากปัญหาเดิมๆ ที่ทำให้เกิดวิกฤตครั้งนี้ ที่สถาบันการเงินใหญ่มาก และมีแนวโน้มที่จะควบรวมกันและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนมีปัญหาที่เรียกว่า too big to fail คือใหญ่มากจนไม่สามารถปล่อยให้ล้มได้ และรัฐก็ไม่มีทางเลือกเวลาที่เกิดปัญหา ก็ต้องมีกฏเกณฑ์ที่จะป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินมีขนาดใหญ่จนเกินไป

สอง – แบงก์เองก็ลงทุนในตราสารทางการเงินที่ซับซ้อนมาก จนกระทั่งทำให้เกิดความเสียหายขึ้น และที่สำคัญที่ Obama กังวลใจก็คือ แบงก์ต่างๆ รับเงินฝากด้วยดอกเบี้ยไม่แพงนัก เพราะว่ามีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินฝากให้ หัวใจอยู่ตรงนี้ (รัฐบาลรับประกันเงินฝากให้) แต่แบงก์เอาเงินฝากที่ได้ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างสุ่มเสี่ยง ที่อาจจะทำให้ล้มและเกิดความเสียหายได้ ทั้งผ่าน Proprietary Trading และผ่าน Hedge fund และ Private equity ซึ่งถ้ากำไร ก็เป็นโบนัส แต่ว่าถ้าขาดทุนก็จะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล

ตรงนี้ Obama เลยเสนอว่า ให้เลือกเอาว่า จะทำอะไรระหว่าง (1) เป็นสถาบันการเงินที่รับฝากเงินของประชาชน หรือ (2) เป็นสถาบันการเงินที่ลงทุนในตราสารที่เสี่ยง ซึ่งถ้าจะทำอย่างหลัง ก็ต้องให้เลิกรับเงินฝาก คือให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น อันนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต นและเพื่อคืนแบงก์ที่เน้นเรื่อง การรับฝากเงิน การปล่อยสินเชื่อ และการให้บริการลูกค้า

สาม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางการเมือง ที่ประชาชนไม่พอใจผู้บริหารของสถาบันการเงิน ที่มีการจ่ายโบนัสในช่วงที่ผ่านมา และเริ่มกลับไปทำอะไรที่เสี่ยงๆ อีกครั้ง และประชาชนคิดว่าปัญหาครั้งที่แล้วมาจาก Wall street เป็นสำคัญ โดยเฉพาะสถาบันการเงินใหญ่ ๆ ที่รัฐบาลไม่ควรเข้าไปอุ้ม ซึ่งในช่วงนี้ Obama กำลังที่จะตอบสนองกับข้อเรียกร้องของประชาชน และเริ่มเข้มงวดกับสถาบันการเงินมากขึ้น ทั้งเรื่องของการเก็บเพิ่มค่าธรรมเนียม และการที่จะออกกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดกับสถาบันการเงินเหล่านี้

ทั้งนี้ ตอนที่ออกมาประกาศแนวคิดเรื่องการปฏิรูปสถาบันการเงินรอบนี้ Obama บอกว่า รับไม่ได้กับการที่สถาบันการเงินบอกว่าไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้กับ SME ไม่สามารถลดดอกเบี้ยให้กับบัตรเครดิต ไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มได้ แต่กลับสามารถจ่าย โบนัสจำนวนมากให้กับผู้บริหารได้ ทำให้ Obama ยิ่งตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้

นัยคืออะไร

ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะสรุปว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะกฏเกณฑ์เหล่านี้ ต้องผ่านรัฐสภา และทางภาคแบงก์เองก็คงต่อสู้ดิ้นรนกับเรื่องนี้อย่างเต็มที่

แต่จากการวิเคราะห์เบื้องต้น ผลกระทบถ้าเกิดขึ้นจริง ก็จะส่งผลให้แบงก์ใหญ่ๆ ที่เข้ามาควบรวมกับกิจการวานิชธนกิจในช่วงที่ผ่านมา เช่น กรณีของ Bank of America และ Merrill Lynch JP Morgan Chase ต้องเลือกเอาว่าจะทำธุรกิจอะไร และต้องแยกออกจากกันระหว่าง 2 ส่วน

หรือแม้แต่บางสถาบันการงินเช่น Goldman Sachs และ Morgan Stanley ที่ได้จัดตั้ง Bank Holding Company ขึ้นมา ก็จะต้องตัดสินใจว่าจะรักษา ฐานะของการเป็น Bank ไว้หรือไม่ เพราะว่า ธุรกรรมและรายได้หลักของทั้ง 2 องค์กรนี้คือ Investment banking แต่ว่าข้อเท็จจริงก็คือ อย่างกรณีของ Goldman Sachs ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการรับเงินฝากแต่อย่างใด เพียงแต่ใช้ฐานะของการเป็น Bank holding company ในการเข้าถึงการช่วยเหลือสภาพคล่องจาก Fed ในยามวิกฤต

ความจริงหลายคนมองว่าสำหรับ สถาบันการเงินเหล่านี้ กฏข้อนี้ จะทำให้กลับไปเป็นเหมือนกับก่อนวิกฤต คือ กลับไปเป็นบริษัทหลักทรัพย์อีกรอบหนึ่ง และถ้าจะว่าไปแล้ว กฏข้อนี้ที่เรียกว่า Volcker rule ก็คล้ายๆ กับกฏหมายด้านการเงินฉบับหนึ่งที่เคยออกมาหลังจากช่วง Great depression คือ กฏหมายที่เรียกว่า Glass Stellgall ที่กำหนดให้แบ่งแยกชัดเจนระหว่างแบงก์กับ investment banks ออกเป็นสองกลุ่มที่ไม่เกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วกฏเกณฑ์ใหม่ข้อนี้ ก็คล้ายๆ กับกฏหมายฉบับดังกล่าว

นักวิเคราะห์คิดว่าอย่างไร และทางออกคืออะไร

สิ่งที่นักวิเคราะห์คิด ก็คือ

หนึ่ง – เร็วเกินไปที่จะฟันธงว่ารายละเอียดที่จะออกมาคืออะไร และจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะว่าที่ Obama พูดเป็นเพียงกรอบคร่าวๆ เท่านั้น ยังต้องไปตกลงในรายละเอียด และกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินคงไม่ยอมแพ้

สอง – อาจจะไม่ตรงจุด เพราะปัญหาไม่ได้มาจาก Propreitery trading และไม่ได้มาจากกลุ่มแบงก์

สาม – ปัญหาเรื่องการแข่งขัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในการประกาศครั้งนี้ คนที่ยืนอยู่ข้างหลัง Obama คือ Paul Volcker แทนที่จะเป็น Geithner และ Summers ซึ่งไม่เห็นด้วยกับกฏเกณฑ์ข้อนี้ เพราะคิดว่าไม่ตรงจุด และ ไม่อยากจะออกกฏเกณฑ์ที่จะทำให้แบงก์ในสหรัฐเสียความสามารถในการแข่งขัน กับแบงก์ในประเทศอื่นๆ ความจริง ถ้ากลับไปดู ก็จะพบว่ากฏหมาย Glass-stellgall ถูกยกเลิกไปตอนที่ Summer และ Geithner อยู่ที่กระทรวงการคลังของสหรัฐ และทั้งคู่ดูเหมือนกับว่าเข้าข้าง Industry มาก

ท้ายสุด – การออกกฏข้อนี้ในช่วงนี้ อาจจะเป็นเพราะประเด็นทางการเมือง ที่ Obama เริ่มถามบ่อยขึ้นว่าทำไมเรื่อง too big too fail รัฐบาลจึงไปเข้าข้างพวก Wall street และไม่อยู่ข้างเดียวกับประชาชนที่ไม่พอใจ ทำให้รัฐบาลเริ่มหันมาเข้มกับอุตสาหกรมมากขึ้น เพื่อคว่ามได้เปรียบทางการเมือง ซึ่งการแพ้เลือกตั้งที่รัฐแมสซาซูเซทเป็นจุดสำคัญ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตครังนี้

ก็ต้องติดตามกันอย่างใกล้ขชิดครับ ว่าศึกนี้ใครจะชนะ แต่ประธานาธิบดีบอกแล้วว่าพร้อมจะสู้เต็มที่เรื่องนี้ น่าสนใจน่าติดตามมากครับ

25 มกราคม 2553
รายการ Money Wakeup ครั้งที่ 30




 

Create Date : 26 มกราคม 2553    
Last Update : 26 มกราคม 2553 12:05:44 น.
Counter : 1392 Pageviews.  

ปัญหาการฟื้นตัวของยุโรป : กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ช่วงที่ผ่านมา ได้มาวิเคราะห์ให้ฟังบ่อยๆ เกี่ยวกับ ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา วันนี้อยากจะขอไปใช้เวลาพูดถึงอีกกลุ่มประเทศหนึ่งที่สำคัญพอกัน และน่าสนใจมาก ก็คือ กลุ่มสหภาพยุโรป ที่การฟื้นตัวที่เกิดขึ้น กำลังเป็นไปอย่างช้าๆ ช้ากว่าสหรัฐและเอเชีย และยังมีหลุมบ่ออีกมากที่รออยู่ ตรงนี้เราเคยพูดนานมาแล้วว่า เอเชียฟื้นก่อน สหรัฐ แล้วก็ยุโรป

การฟื้นตัวของยุโรปและสหรัฐ เหมือนและต่างกันอย่างไร

เป็นไปช้าๆ เช่นกัน อยู่ในช่วงต้นของการฟื้นตัว ทั้งคู่

ถ้าเกิดดูในส่วนของระดับของ GDP แล้วจะพบว่าทั้งสองประเทศ ฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นครั้งแรกพร้อมๆ กัน โดยเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศผงกหัวขึ้นมาเล็กน้อย จากที่ตกลง
ไปมาก แต่สิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือ

หนึ่ง – สหรัฐไม่ได้ตกลงไปลึกเท่ากับที่ยุโรป GDP ในปี 2009 สหรัฐเศรษฐกิจหดตัว ประมาณ -2.7 % ขณะที่ยุโรป เศรษฐกิจหดตัวไปมาก -4.2% โดยเฉพาะในบางประเทศเช่น ที่เยอรมัน -5.3% อิตาลี -5.1% สเปน-3.8%
สอง – การว่างงานก็เช่นกัน สหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 10.2% ที่ยุโรป เพิ่มเป็นประมาณ 10% แต่ว่าในบางประเทศเช่นที่สเปน สูงถึง 20%
สาม – การฟื้นตัวของสหรัฐดีกว่ายุโรปในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ 2.2% และดูเหมือนกับว่าสัญญาณทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ยุโรปแผ่วลงไปมากช่วงหลัง และยังมีข่าวร้ายออกมาเป็นระยะๆ ที่ทำให้กังวลใจ sentiment ไม่ดี
สี่ – การประมาณการของ IMFก็ไม่ได้ปลื้มยุโรปมาก คิดว่ายุโรปปีนี้ น่าจะโตได้เพียงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับสหรัฐที่ 1.5
ห้า – ความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้ของประเทศในยุโรป หลายๆ ประเทศ อยู่ในระดับที่สูงกว่าสหรัฐ และความจริง ได้กำลังปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 เดือน ที่ผ่านมา และความแตกต่าง ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
เรียกได้ว่า ยุโรป ท่าทางจะไม่ได้ดีมาก เมื่อเทียบกับสหรัฐ

ทำไมยุโรปจึงแย่กว่าสหรัฐ

ส่วนแรกคือ – ต้นเหตุของวิกฤต

ปัญหาวิกฤตครั้งนี้ มาจากวิกฤตในสถาบันการเงินและตลาดทุน แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างระบบการเงินที่เป็นหัวใจในการสูบฉีดเงินไปหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรป คือ

สหรัฐพึ่งพาตลาดทุนและแบงก์ควบคู่กันไป แบงก์ในสหรัฐใหญ่จริง แต่ว่าไม่ใหญ่กว่าขนาดของ GDP ของสหรัฐ รวมกันแล้วประมาณ 50% เท่านั้น และตลาดทุนของสหรัฐเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้วบางส่วนโดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรที่มีคุณภาพ

ยุโรปพึ่งแบงก์เป็นสำคัญ เป็นหลักอยู่อย่างเดียว จากแนวคิดเรื่อง Universal Bank ที่อนุญาตให้แบงก์สามารถทำอะไรก็ได้ ในเรื่องการให้บริการทางการเงิน โดยแต่ละธนาคารของยุโรปมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับประเทศ บางแห่งใหญ่ถึง 3-6 เท่าของ GDP บางแห่งเท่ากับ GDP ของประเทศ

ตรงนี้ มีนัย เพราะว่าสัดส่วนของแบงก์ต่อ GDP ก็สูงกว่าสหรัฐมาก ทำให้การที่รัฐบาลในยุโรปเข้าไปอุ้มสถายบันการเงินได้ไม่ง่ายนัก และเป็นภาระอย่างยิ่ง

กระบวนการตัดสินใจ – ชัดเจนว่าที่ยุโรปประสบปัญหาในกระบวนการตัดสินใจ เพื่อต่อสู้กับวิกฤต เพราะต้องปรึกษากัน ตกลงกันในการตัดสินใจว่าจะทำอะไรดี จากสมาชิก 16 ประเทศ พอถึงเวลา ก็จะพบว่าตกลงกันยากมากว่าจะกระตุ้นเท่าไร จะก็แบงก์อย่างไร ตรงนี้ เห็นชัดตอนที่มีการหารือในการแก้ไขปัญหาในเวทีต่างๆ ยุโรปต้องการสิ่งที่ต่างกัน และไม่ทำหลายๆอย่างที่สำรัฐทำแล้วเช่น Stress test หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจตเองก็ไม่มากเท่ากับสหรัฐ ตรงนี้ลำบากเพราะการกู้วิกฤต ต้องเน้นความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ยุโรปยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ยุโรปมีปัญหาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ

โครงสร้างทางการคลังที่มีกฏเกณฑ์กำหนดว่า แต่ละประเทศจะขาดดุลได้เท่าไร และมีหนี้ภาครัฐเท่าไร โดยในยุโรปมีจุดอ่อนมากในเรื่องนี้ หลายประเทศไม่มีวินัยการคลัง

ที่ยุโรป มีปัญหาการว่างงานเชิงโครงสร้างมากกว่าที่สหรัฐอยู่ก่อนแล้ว และเป็นรัฐสวัสดิการมากกว่าสหรัฐ ที่มากกว่าสหรัฐ เวลาเกิดวิกฤตไม่น่าแปลกใจว่าค่าใช้จ่ายสูง

ท้ายสุด ยุโรปยังมีปัญหาซุกซ่อนไว้มากกว่าที่สหรัฐมาก ที่คอยซ้ำเติม

สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบันในยุโรป และปัญหาอะไรที่ซุกซ่อนไว้

ปัญหาในปัจจุบันของยุโรป คือ

ผู้บริโภค ชัดเจนว่าผู้บริโภคของยุโรปมีความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น ล่าสุดในกรณีของเยอรมัน หลังจากที่ออกมาซื้อรถแล้ว พอซื้อไปและหมดเรื่องแรงกระตุ้นท้ายที่สุด ผลการสำรวจจาก ZEW ของเยอรมันพบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในเยอรมัน ตกลงเป็นเดือนที่ 4
การธนาคาร – สินเชื่อไม่ออก เช่นเดียวกับที่สหรัฐ แบงก์ยังล้ม และต้องการความช่วยเหลือ เช่นในอังกฤษ ในออสเตรีย
บางประเทศ เริ่มคิดว่าจะไม่จ่ายหนี้ดีหรือไม่ เช่นกรณีของ Iceland ที่เริ่มคิดว่าจะไม่จ่ายหนี้มีปัญหาไม่จ่ายหนี้ของ Icesave
นอกจากนี้ยังมีปัญหาในประเทศที่เป็นลูกหนี้ อย่างดูไบ ที่ย้อนกลับมากระทบแบงก์ในยุโรป แต่ที่มากจริงๆ ก็คือ หนี้ของประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งมีมากถึง 1.5 ล้านล้าน USD และประเทศลูกหนี้เหล่านี้ กำลังมีปัญหาเชิงเศรษฐกิจมากพอสมควรบางแห่ง GDP ติดลบไปประมาณ 20% เมื่อปีที่แล้ว
ปัญหาด้านการคลัง เช่นกรณี กรีซ และ Rating Downgrade ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรของยุโรปและค่าเงินในยุโรป

นัยและทางออก

ยาก

มีปัญหามากหนี้ภาครัฐที่สูง และการขาดดุลที่สูง กำลังเป็นข้อจำกัด เพราะ ECB กำลังออกมาเตือนว่า กรุณาเข้มเรื่องนโยบายการคลังให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศตนเอง

แต่ก็ต้องไปแก้ที่แบงก์และหนี้เสียซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่ ก็คงต้องค่อยๆ คลี่คลาย แต่ถ้าไม่ทำเรื่องแบงก์ให้จบ ก็ยากที่จะฟื้นได้ดีได้ ตรงนี้ต้องไปดูญี่ปุ่นเป็นอุทาหรณ์

ก็เอาใจช่วยครับ เรียกว่ายังมีสีสันมาก เพราะเอาปัญหาหมกไว้แล้วมาตามแก้กันปีนี้

21 มกราคม 2553
รายการ Money Wakeup ครั้งที่ 29




 

Create Date : 25 มกราคม 2553    
Last Update : 25 มกราคม 2553 22:54:06 น.
Counter : 516 Pageviews.  

Bill Gross “มือหนึ่ง” ในด้านการลงทุนในตลาดเงินและตราสารหนี้

ชื่อของ Bill Gross นั้น ในแวดวงนักลงทุนของไทยคงมีคนรู้จักน้อย แต่ในสหรัฐนั้น เขาเป็น “มือหนึ่ง” ในด้านการลงทุนในตลาดเงินและตราสารหนี้ กองทุน PIMCO หรือ Pacific Investment Management Co. ที่เขาช่วยก่อตั้งขึ้นกลายเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

Bill Gross เองต้องดูแลรับผิดชอบบริหารเงินกว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 6 ล้านล้านบาทซึ่งมากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลไทยหลายเท่า มีการทำโพลเมื่อเร็ว ๆ นี้ในแวดวงของนักการเงินพบว่า Bill Gross เป็นรองเพียง วอเร็น บัฟเฟตต์ เท่านั้นในฐานะที่เป็นคนที่สามารถคาดการณ์และวิเคราะห์ภาวะตลาดการเงินในโลกได้แม่นยำที่สุด

ผมคงไม่พูดถึงกลยุทธ์การลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ของ บิล กรอส เหตุผลก็คือ ผมไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร นอกจากนั้น การลงทุนในตราสารหนี้นั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการดูภาพใหญ่หรือภาพ Macro ในภาษาทางเศรษฐศาสตร์ ถ้ามองภาพใหญ่ออก การซื้อขายพันธบัตรหรือตราสารหนี้ก็ทำได้ไม่ยาก เพราะสูตรทางคณิตศาสตร์ก็จะบอกให้รู้ว่าราคาของพันธบัตรจะวิ่งไปทางไหน แต่สิ่งที่ผมจะพูดถึงก็คือประวัติ แนวความคิด และวิธีทำงานของเขา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับการลงทุนของ Value Investor มากกว่า บิล กรอส เริ่มชีวิตของการเป็นนักลงทุน ถ้าจะว่าไป จากการ “นับไพ่” ในบ่อนกาสิโนที่ลาสเวกัส นั่นคือในช่วงที่เขายังเป็นวัยรุ่นหลายสิบปีมาแล้วที่คนยังไม่ค่อยรู้ว่าการ “นับไพ่” นั้น ถ้าเรารู้เรื่องความน่าจะเป็นทางสถิติ เราจะสามารถเอาชนะเจ้ามือได้ บิล กรอส สามารถทำเงินจาก 200 เหรียญกลายเป็น 10,000 เหรียญจากบ่อนก่อนที่จะถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรบในสงครามเวียตนาม แต่ในระหว่างนั้นเขาก็เริ่มคิดไปข้างหน้าว่าในโลกของผู้ใหญ่นั้น จะมีที่ไหนที่เขาจะสามารถทำแบบเดียวกัน นั่นคือ ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ เล่นเป็นเกม แล้วได้กำไร สิ่งที่เขาพบก็คือ ที่ตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม สุดท้ายมันกลายเป็นตลาดพันธบัตรที่ทำให้เขาสามารถทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนอย่างโดดเด่นและทำให้เขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของโลกของการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้

ผลงานของ บิล กรอส ก็คือ เขาสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงสิบปีนับถึงปี 2007 ได้ถึง 8%ต่อปี และชนะอัตราเฉลี่ยของตลาดถึง 5.25% ในช่วง 3 ปีสุดท้าย

ในความคิดของ บิล กรอส เขาบอกว่า ผู้จัดการกองทุนที่ยิ่งใหญ่นั้นจะต้องเป็นนักคณิตศาสตร์ หนึ่งในสาม เป็นนักเศรษฐศาสตร์หนึ่งในสาม และเป็นนักเล่นพนันม้าแข่งอีกหนึ่งในสาม การเป็นนักคณิตศาสตร์นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการลงทุนในพันธบัตร เพราะการคำนวณราคาที่เหมาะสมของพันธบัตรนั้นต้องใช้สูตรการคำนวณที่ซับซ้อนมากไม่ได้มีตัวเลขง่าย ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเช่นค่า PE ในกรณีของหุ้น ส่วนการเป็นนักเศรษฐศาสตร์นั้น ในกรณีนี้ส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาคที่จะช่วยให้รู้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะไปทางไหน ซึ่งในกรณีของหุ้นนั้น เราจำเป็นต้องรู้เศรษฐศาสตร์โดยรวมมากกว่าสุดท้ายก็คือ การเป็นนักเล่นพนันม้าแข่ง ในกรณีนี้ผมคิดว่าเหมือนกันทั้งในการลงทุนในตราสารหนี้และในหุ้น เหตุผลก็คือ ในการซื้อพันธบัตรหรือหุ้นนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะมองที่ตัวบริษัทหรือคุณภาพของบริษัทเพียงด้านเดียว แต่เราต้องดูถึงราคาที่ซื้อขายกันด้วยว่ามันคุ้มไหมที่จะ “แทง” เพราะม้าดี อัตราการจ่ายรางวัลก็มักจะต่ำ เช่นเดียวกัน หุ้นดีหรือบริษัทที่ออกตราสารหนี้มีฐานะการเงินดี ราคาหุ้นหรือตราสารหนี้ก็มักจะสูง

ดังนั้น คนที่จะชนะในการพนันม้าและคนที่จะชนะในการพนันหุ้นหรือตราสารหนี้ก็จะต้องรู้จักความน่าจะเป็นของการชนะและอัตราการต่อรองเหมือนกันวิธีการทำงานของ บิล กรอส เองก็น่าสนใจ เขาบอกว่าทุกวันตั้งแต่ 8.30 ถึง 10.00 น. เขาจะเล่นโยคะและออกกำลังกายที่คลับที่อยู่ตรงกันข้ามกับที่ทำงาน และเป็นที่รู้กันว่าเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่เป็น “สวรรค์” ของเขาที่ไม่ต้องการให้ใครมารบกวนเลย ที่ผ่านมาเขาเคยถูกเรียกให้กลับไปที่ห้องซื้อขายหลักทรัพย์เพียง 2-3 ครั้งเท่านั้นซึ่งรวมถึงในช่วงวัน Black Monday ที่ตลาดถล่มทลายในปี 1987 ด้วย เวลาที่เขาออกกำลังกายหรือเล่นโยคะนั้นเป็นเวลาที่เขาใช้คิดถึงการลงทุนต่างๆด้วย และเขาบอกว่าไอเดียดีที่สุดบางอย่างของเขานั้น เกิดขึ้นเมื่อเขายืนอยู่บนศีรษะและขาชี้ฟ้าอยู่ ชีวิตประจำวันอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ บิล กรอส ตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง และตรวจสอบตลาดการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกจากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เขาถึงที่ทำงานประมาณตีห้าครึ่งเพื่อที่จะบริหารเงินจำนวนมหาศาลด้วยตนเอง คติพจน์ของเขาก็คือ เขาไม่ต้องการติดต่อกับใครเลย เขาต้องการตัดการติดต่อกับทุกคน เขาจะรับสายเพียง 3-4 ครั้งต่อวัน ยกเว้นภรรยาของเขา) และเขาจะดูอีเมลเฉพาะที่เขาต้องการจะดูเท่านั้น ที่สำคัญ เขาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ ถ้าจะสรุปก็คือ เขาต้องการความเป็นอิสระที่จะไม่มีอะไรมาทำให้วอกแวกได้ และนี่น่าจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากของการเป็นนักลงทุนโดยเฉพาะในการเทรดพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่มักจะต้องมีสมาธิสูงและต้องการความรวดเร็วมากในการ “เคลื่อนย้ายเงิน” จำนวนมโหราฬในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีที่จะทำให้ได้ชัยชนะ และนี่อาจจะไม่เหมือนการลงทุนในหุ้นในสไตล์ของ Value Investment ที่มักจะออกแนวช้าๆ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันก็คือ คุณต้องการความเป็นอิสระในการคิดเหมือนกันแน่นอน บิล กรอส คงไม่ได้เป็น “ตำนาน” โดยที่ไม่ได้ผ่าน “วีรกรรม” สำคัญๆ เช่น วิกฤติการณ์ ซับไพร์ม หรือวิกฤติการณ์อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เขาผ่านมันมาได้อย่างงดงามด้วยการที่สามารถคาดการณ์และวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นและเตรียมตัวในการรับกับมันให้ได้ และนั่นอาจจะเป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยสำคัญในการที่จะยิ่งใหญ่และดำรงความยิ่งใหญ่ให้กับเซียนตัวจริงทุกคน และนี่ทำให้ผมนึกถึง Long Term Capital Fund ที่เคยเป็นกองทุนที่เล่นในตลาดตราสารหนี้ที่เคยยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงมากไม่แพ้ Pimco แต่แล้ว ในวันหนึ่งมันก็ล่มสลายลงพร้อมๆ กับความยิ่งใหญ่ของคนที่บริหารมัน ผมก็ได้แต่หวังว่า บิล กรอส ในวัยกว่า 60 ปีจะจบชีวิตการลงทุนในฐานะของเซียนสุดยอดการลงทุนในพันธบัตรในอนาคตที่อาจจะไม่ไกลนัก เพราะ “นักเทรด” นั้น ปกติแล้วเป็นเรื่องยากที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธภาพสูงเมื่ออายุมากขึ้น

From ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR
กรุงเทพธุรกิจ




 

Create Date : 19 มกราคม 2553    
Last Update : 19 มกราคม 2553 13:42:28 น.
Counter : 576 Pageviews.  

การปรับขึ้นราคาค่าใช้ทางด่วน

โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ปี 2009 ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว และคาดหวังว่าปีใหม่ 2010 นี้ น่าจะดีกว่าปีก่อนอย่างมากเพราะประเทศไทยน่าจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ

และการเมืองที่รุนแรงเช่นปีที่แล้ว ซึ่งผมขอถือโอกาสนี้ส่งความสุขให้ท่านผู้อ่าน และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายดลบันดาลให้ทุกท่านประสบแต่ความสุขและความสำเร็จตลอดปี 2010 นี้ครับ

แต่สิ่งหนึ่งที่อาจทำให้เกิดความไม่พอใจ คือ การปรับขึ้นค่าใช้ทางด่วนดอนเมืองรวดเดียวถึง 30 บาท ดังที่เป็นข่าวใหญ่และทำให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้หามาตรการยับยั้งการปรับขึ้นดังกล่าว แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้หากพิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว ก็จะสรุปได้ว่า การปรับเพิ่มขึ้นนั้นพอมีเหตุผล จึงมีความเหมาะสมในระดับหนึ่ง

แน่นอนว่า ผู้ที่ใช้ทางด่วนมาโดยตลอดจะไม่พอใจอย่างมาก และรัฐบาลย่อมจะต้องแสดงท่าทีที่จะแสวงหาข้อกฎหมาย หรือประเด็นทางเทคนิคทางใดทางหนึ่ง ที่จะยับยั้งการปรับขึ้นค่าทางด่วน เพราะในเมื่อทางด่วนได้มีการสร้างจนเสร็จ และเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรโยกย้ายไปไหนไม่ได้แล้ว การบังคับให้เจ้าของสัมปทานลดราคาลง จึงจะไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด เพราะเอกชนย้ายทางด่วนหนีไปเวียดนามหรืออินโดนีเซียไม่ได้ (ซึ่งแตกต่างจากกรณีมาบตาพุดที่นักลงทุนต่างชาติแสดงความไม่พอใจและมีความพร้อมที่จะย้ายการลงทุนไปประเทศอื่น) อย่างไรก็ดี การดำเนินการของทางการไทยที่จะหาทางสกัดกั้นการขึ้นค่าทางด่วน ย่อมส่งผลให้นักลงทุนเห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลงทุนสร้างทางด่วนในประเทศไทย ดังนั้น ในอนาคตหากเราจะชักชวนให้เขามาลงทุนสร้างทางด่วนใหม่ ก็คงต้องยอมรับเงื่อนไขจากเอกชนที่เข้มข้นกว่าปัจจุบัน แปลว่าจะทำให้ค่าใช้ทางด่วนสายใหม่ในอนาคตสูงกว่าค่าใช้ทางด่วนในปัจจุบัน แต่ในระยะสั้นในเชิงการเมืองจะไม่มีใครกล่าวถึง ผลกระทบซึ่งจะเกิดในระยะยาว

บางคนอาจบอกว่าไม่ต้องพึ่งพานักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนสร้างทางด่วนก็ได้ โดยคิดว่าจะสามารถพึ่งพานักลงทุนไทย แต่นักลงทุนชาติใดๆ ก็ย่อมมีแนวคิดและแนวปฏิบัติเหมือนกัน คือ ต้องการลงทุนที่ให้ผลกำไรคุ้มทุนและประกันความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด ดังนั้น หากเป็นคู่สัญญากับรัฐบาล แต่เมื่อถึงเวลาจะขึ้นค่าทางด่วนแล้วมักจะมีปัญหาในการปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้ ความกังวลของนักลงทุนไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน

แต่ก็อาจมีการเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนเสียเอง โดยมีข้อสมมติฐานว่าหากรัฐบาลลงทุนเองผู้ใช้ก็จะใช้ทางด่วนได้ในราคาถูกหรือไม่ต้องจ่ายค่าบริการเลย ซึ่งผมมีข้อสังเกต 2 ประการ คือ เป็นที่รู้กันว่าโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐนั้นมีปัญหาเรื่องคอร์รัปชันเสมอมา ซึ่งหากเป็นจริงก็แปลว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายโครงการแพงกว่าการลงทุน โดยภาคเอกชนหรือหากพยายามบริหารจัดการอย่างเข้มข้นเพื่อทำให้มีการคอร์รัปชันน้อยที่สุด ก็เป็นไปได้ว่าโครงการจะถูกทบทวนแล้วทบทวนอีก และอาจไม่เกิดขึ้นเลยในระยะสั้นก็ได้ เช่นเดียวกับโครงการเช่าซื้อรถโดยสารประจำทาง ขสมก. เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ที่ดูเสมือนว่าจะถูกระงับไปแล้วโดยปริยาย ทำให้คนกรุงเทพฯ ที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะต้องรอต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ที่จะได้มีโอกาสใช้รถประจำทางใหม่ ที่อนุรักษ์สภาพแวดล้อมดีกว่ารถที่ใช้อยู่ในขณะนี้

ที่สำคัญ คือ การลงทุนเองโดยภาครัฐจะเป็นการนำภาษีประชาชนทั้งประเทศมาใช้ในการสร้างทางด่วนให้กลุ่มคนที่มีเป็นเจ้าของรถส่วนตัวได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรหากมองจากด้านความเป็นธรรม ดังนั้น การนำเงินของประชาชนทั้งประเทศมาทำถนนให้คนรวยได้ใช้ประโยชน์เป็นหลัก จึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีและน่าจะหันมายึดถือระบบที่พึ่งพาให้เอกชนก่อสร้างทางด่วนและเก็บเงินค่าใช้บริการที่คุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า

คำถามต่อมา คือ ค่าทางด่วนที่เพิ่งปรับขึ้นมานั้นแพงเกินไปหรือไม่ คำตอบคือควรให้เจ้าของสัมปทานเป็นผู้กำหนดราคาและรับความเสี่ยงเอาเองโดยการปรับขึ้นราคาย่อมต้องมีขอบเขตตามสัญญาที่ทำเอาไว้กับรัฐบาลเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว ทั้งนี้ การปรับราคาขึ้นไปเป็น 85 บาท (หรือ 100 บาทหรือ 150 บาท) ก็ย่อมจะทำให้จำนวนผู้ใช้ทางด่วนลดลง แต่พฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้รายได้ของเจ้าของสัมปทานลดลงมากเพียงใดหรืออาจเพิ่มขึ้นก็ได้ ย่อมขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของอุปสงค์ กล่าวคือ ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาทางด่วนนั้นมีมากน้อยเพียงใด ถ้าพิจารณาจากข้อมูลจะเห็นว่า ก่อนการปรับค่าทางด่วนมีรถยนต์ขึ้นทางด่วนวันละ 80,000 คัน และมีรายได้เท่ากับ 4 ล้านบาท เมื่อปรับค่าทางด่วนเพิ่มขึ้นเป็น 85 บาท (50%) ปรากฏว่าในวันแรกปริมาณผู้ใช้ทางด่วนลดลง 30% เบ็ดเสร็จรายได้เพิ่มขึ้น 10% หากมองในแง่นี้ก็จะเห็นว่าการตัดสินใจของเจ้าของสัมปทานเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในเชิงการค้า เนื่องจากความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่ำ ทั้งนี้ ในหลักการทางเศรษฐศาสตร์นั้น ผู้ประกอบการจะปรับราคาสินค้าขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งราคาสินค้าอยู่ในระดับสูงเพียงพอที่ความยืดหยุ่นของอุปสงค์เท่ากับ (เกือบเท่ากับ) 1 กล่าวคือ ผู้ขายจะปรับราคาขึ้นจนกระทั่งหากปรับราคาเพิ่มขึ้นไปอีก (เช่น 10%) จะทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าลดลงมากกว่า 10% ส่งผลให้รายได้โดยรวมลดลง

ฟังดูแล้วก็จะรู้สึกว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก แต่ทั้งนี้ ความยืดหยุ่นของอุปสงค์หรือความต้องการในการใช้ทางด่วนจะมากน้อยเพียงใดย่อมจะขึ้นกับทางเลือกอื่นๆ ที่มีอยู่ และหากจะมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ การจ่ายค่าทางด่วนเปรียบเสมือนการตีค่าของเวลา ทั้งนี้ ผู้ใช้จะเปรียบเทียบว่า เขาจะยอมเสียเงินเท่าไรเพื่อจะประหยัดเวลาในการเดินทาง โดยคนที่อยู่ในสภาวะเร่งรีบจะยอมจ่ายค่าทางด่วนที่สูง อาทิเช่น 85 บาท แต่คนที่ไม่รีบก็จะไม่ขึ้นทางด่วน ดังนั้นถ้าตั้งราคาค่าทางด่วนถูกไปเช่น 20 บาทคนก็จะแห่มาใช้ ทำให้จำนวนรถมากไม่ต่างจากทางธรรมดา ผู้ใช้ที่เร่งรีบก็จะไม่ได้ประโยชน์และผิดวัตถุประสงค์ของการสร้างทางด่วน ที่ต้องการสร้างให้คนที่ต้องการเร่งรีบ ถ้าตั้งราคาสูงเกินไปเช่น 100 บาท ก็อาจทำให้คนใช้น้อยจนรายได้ของผู้เก็บค่าผ่านทางลด ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาลงมา ดังนั้น ผมคิดว่าการปรับขึ้นค่าทางด่วน จึงมีหลายมิติที่ต้องพิจารณา มิใช่ต้องต่อต้านและคัดค้านอย่างเดียว ทั้งนี้ รัฐบาลซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายจะต้องเป็นผู้พิจารณาในการรักษาผลประโยชน์ทั้งในด้านความเชื่อมั่นในการลงทุน (การปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน) และประโยชน์ของผู้ใช้ทางด่วนที่แท้จริงครับ




 

Create Date : 04 มกราคม 2553    
Last Update : 4 มกราคม 2553 20:29:59 น.
Counter : 525 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

Mr.Messenger
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 61 คน [?]




Head, Investment Consultants Citigold Citibank N.A. (Thailand)
free hit counter
click here
free hit counter
Friends' blogs
[Add Mr.Messenger's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.