การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรสังเกตุ คำเตือนบนฉลากก่อนดื่มทุกครั้ง
Group Blog
 
All Blogs
 
"ปัญหาดูไบ : น้ำลดตอผุด"

"ปัญหาดูไบ : น้ำลดตอผุด"
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ปัญหาการเงินของดูไบได้พูดถึงกันมามากแล้วโดยสรุปได้ว่า

1. นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นปัญหาที่คั่งค้างมาหลังจากการแตกของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ของดูไบก็แตกสลายเช่นเดียวกัน แต่ในตอนนั้น ดูไบได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากอาบูดาบี โดยการที่ธนาคารกลางของอาบูดาบีเข้าไปซื้อพันธบัตรของดูไบมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้นักลงทุนหลงเชื่อว่าดูไบจะได้รับความช่วยเหลือจากอาบูดาบีอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นว่าอาบูดาบีจะให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีๆ ไป และน่าจะมีเงื่อนไขบางประการ ที่จะทำให้เจ้าหนี้รายอื่นๆ ต้องรับภาระในการปรับโครงสร้างหนี้ อาทิเช่น การเจรจาขอลดเงินต้น เพื่อเป็นเงื่อนไขของการยืดหนี้ในอนาคต เป็นต้น

2. ผลกระทบจากปัญหาทางการเงินของดูไบ ไม่น่าจะแพร่ขยายออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ธนาคารยุโรปและธนาคารของยูเออีเองในฐานะเจ้าหนี้ ซึ่งในกรณีของธนาคารยุโรปนั้นราคาหุ้นก็ได้ปรับตัวลงเพื่อรับข่าวไปแล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางยูเออียืนยันแล้วว่าจะฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินให้เพียงพอ และหากธนาคารของยูเออีมีปัญหาทางการเงินอื่นๆ ก็คงจะได้รับความช่วยเหลือ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบธนาคารของยูเออีอย่างเต็มที่

3. ผลกระทบต่อมา คือ การที่เจ้าหนี้และนักลงทุนทั่วโลกจะทบทวน เพื่อลดความเสี่ยงของการทำธุรกรรมในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งนักลงทุนและนายธนาคารน่าจะแบ่งแยกได้ระหว่างตลาดเกิดใหม่ที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน กับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีปัญหา โดยเชื่อได้ว่าจะไม่ "เหมารวม" ว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมดอาจมีปัญหา อาทิเช่น การประเมินความเสี่ยงโดยอาศัยดัชนีชี้วัด 3 ประการที่เมอร์ริล ลินช์ ใช้กับประเทศหลักในเอเชียพบว่าทุกประเทศมีสถานะที่มั่นคง โดยประเทศที่มั่นคงที่สุด ได้แก่ จีนและไทย



จะเห็นได้จากตารางข้างต้นว่ามีเพียงประเทศเดียว คือ อินเดียที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (เท่ากับ 2.4% ของจีดีพี) แปลว่าใช้จ่ายเกินตัวและกำลังสร้างหนี้สิน แต่หนี้ต่างประเทศของอินเดียนั้นมีเพียง 18.8% ของจีดีพี และทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีมากถึง 3.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ในกรณีของเกาหลีใต้นั้นหนี้ต่างประเทศมากที่สุดในกลุ่ม คือ มากถึง 44% ของจีดีพีและมีทุนสำรองเพียง 1.5 เท่าของหนี้ระยะสั้น แต่เนื่องจากเกาหลีใต้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 5.1% ของจีดีพี แปลว่าทุนสำรองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้น่าจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

4. หากเจ้าหนี้และนักลงทุนในต่างประเทศ มีความต้องการลดความเสี่ยงและถอนทุนออกไปบ้างก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในเอเชียมากนัก เพราะสถาบันการเงินภายในแข็งแรง ธนาคารมีทุนสำรองมากเกินพอ แปลว่าธนาคารภายในประเทศ จะสามารถปล่อยกู้ทดแทนเงินที่อาจไหลออกได้ แต่หากสภาวการณ์ภายในยังมีความมั่นคง ก็น่าจะทำให้นักลงทุนและสถาบันการเงินต่างประเทศไม่เห็นความจำเป็นของการถอนทุนมากนัก

กล่าวโดยสรุป คือ ประเทศตลาดเกิดใหม่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบดังที่เคยเผชิญมาในปี 1994-1995 ที่วิกฤติเศรษฐกิจในละตินอเมริกาลามมาที่เอเชีย และ 1997-1998 ที่วิกฤติเศรษฐกิจในไทยลามไปสู่ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ อย่างไรก็ดี ปัญหาของดูไบนั้นเป็นการเตือนสติ และเตือนความจำของนักลงทุนว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการปล่อยกู้ที่มากมายและหละหลวม ผสมผสานกับความเชื่อมั่นและการเก็งกำไรที่นำไปสู่ฟองสบู่ของราคาอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์เกือบทุกประเภท และเมื่อความจริงปรากฏในที่สุดราคาสินทรัพย์ก็ต้องถูกลดราคาลงมาสู่ระดับที่เหมาะสมกับความเป็นจริง กล่าวคือ ในสหรัฐและยุโรปราคาบ้าน-ที่ดินต้องปรับลดลง 20-30% ในขณะที่ราคาต้องปรับลดลงถึง 50% ในดูไบ

นักเศรษฐศาสตร์จะเห็นว่า การปรับตัวที่สำคัญ คือ การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อมูลค่าสินทรัพย์และทุน หากราคาสินทรัพย์ลดก็จะทำให้ปริมาณทุนลดอย่างรุนแรง ได้ (เพราะมูลหนี้ไม่สามารถลดได้) ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และหากแก้ไขไม่ได้ก็นำมาสู่การพักชำระหนี้ ดังกรณีของดูไบ คำถามที่จะตามมา คือ โลกของเราโดยรวมมีปัญหาราคาสินทรัพย์สูงเกินจริงมากน้อยเพียงใด และการแก้ปัญหาคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด แล้วคำตอบ คือ การแก้ไขน่าจะมาประมาณครึ่งทางแล้ว แต่ยังมีปัญหาคั่งค้างอีกมาก ดังที่ผมได้เขียนถึงในบทความก่อนหน้าว่าอเมริกานั้น ยังมีปัญหาหนี้เสียหรือกำลังจะเสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยมากถึง 14.4% (เกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์) และยังมีภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า) ที่มีมูลค่ารวมอีกประมาณ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเป็นหนี้เสีย 20-30% ก็จะเพิ่มปัญหาการปรับโครงสร้างล้างหนี้อีกต่อหนึ่ง กล่าวโดยสรุป คือ อเมริกา ยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่เคยมีหนี้สินมากและราคาสินทรัพย์ลดลงนั้นต้องเผชิญปัญหาอีกมาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี จึงจะแก้ปัญหาให้คลี่คลายออกไปได้

จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวมักจะไม่ได้รับการรายงาน เพราะเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน และจะปะทุขึ้นมาเมื่อมีปัญหาจนหาทางออกไม่ได้ ความเสี่ยงเช่นนี้น่าจะมีให้เห็นอีกต่อไป (อาทิเช่น ธนาคารในสหรัฐถูกปิดตัวไปแล้วกว่า 100 แห่ง และจะต้องถูกปิดเพิ่มขึ้น) ซึ่งหากมองประเด็นปัญหาในมุมมองดังกล่าวข้างต้น ก็จะเห็นว่าแตกต่างจากการนำเสนอข่าว ที่เน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวแปรที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Flow variable อาทิเช่น จีดีพีการส่งออก/นำเข้า การลงทุน ฯลฯ การให้น้ำหนักตัวแปรดังกล่าวมาก และให้น้ำหนักตัวแปรที่เป็น Stock variable น้อยเกินไป (อาทิเช่น ปัญหาหนี้เสีย และคนว่างงาน) ทำให้ประเมินความรุนแรงของปัญหาต่ำเกินไป เช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 1997 ซึ่งในครั้งนั้นหลายคนประเมินว่าเมื่อลดค่าเงินบาทลงไปเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ก็จะสามารถแก้ปัญหาหลักให้ลุล่วงไปด้วยดี นอกจากนั้น ยังเข้าใจผิดคิดว่าการสร้างความมั่นใจของนักลงทุน จะต้องเน้นวินัยทางการเงิน (ขึ้นดอกเบี้ย) และการคลัง (ขึ้นภาษี) แต่ปัญหาหลักกลับกลายเป็นปัญหาหนี้เสีย ซึ่งนโยบายไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องติดลบถึง 10% ในปี 1998 และใช้เวลาในการปรับโครงสร้าง 3-5 ปี

ดังนั้น ในวิกฤติครั้งนี้ก็อย่าให้ความสำคัญของปัญหาหนี้สิน และคุณภาพของสินทรัพย์น้อยเกินไป เพราะมัวแต่ดีใจกับจีดีพีที่กำลังฟื้นตัวครับ


Create Date : 09 ธันวาคม 2552
Last Update : 9 ธันวาคม 2552 12:08:24 น. 0 comments
Counter : 519 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Messenger
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 61 คน [?]




Head, Investment Consultants Citigold Citibank N.A. (Thailand)
free hit counter
click here
free hit counter
Friends' blogs
[Add Mr.Messenger's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.