การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรสังเกตุ คำเตือนบนฉลากก่อนดื่มทุกครั้ง
Group Blog
 
All Blogs
 

แรงหรือไม่แรง? :: ผลกระทบจากการขอยืดระยะเวลาชำระหนี้บริษัท Dubai’s World

ผลกระทบจากการขอยืดระยะเวลาชำระหนี้บริษัท Dubai’s World ซึ่งมีรัฐบาล Dubai เป็นผู้ถือหุ้น
แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ
1. ทำให้ทั่วโลกเริ่มมีความกังวลว่าจะเกิดหนี้สูญ จากการไปปล่อยกู้ให้บริษัทนี้ (เฉพาะบริษัทที่ไปปล่อยกู้ให้)
2. ทำให้ทั่วโลกกังวลว่า การขอเลื่อนชำระหนี้ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของฟองสบู่อีกลูกหรือเปล่า
3. ทำให้ทั่วโลกขาดความเชื่อมั่นในการปล่อยกู้ให้กับบริษัทในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ประเด็นแรก ทำให้ทั่วโลกเริ่มมีความกังวลว่าจะเกิดหนี้สูญ จากการไปปล่อยกู้ให้บริษัทนี้ - ต้องมาดูว่า ใครไปปล่อยกู้ให้ Dubai’s World บ้าง
- จากยอดหนี้เกินกว่า US$50Billion เป็นการกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ ซึ่งอยู่ใน อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน อเมริกา และ ญี่ปุ่น ในขณะที่ยอดหนี้ส่วนที่เหลือ มีเจ้าหนี้เป็น UAE (ประมาณ US$9-11Billion)

หากรวมยอดหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารฝั่งอเมริกา และฝั่งยุโรปไปปล่อยกู้ไว้ (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2008) ก็มีดังต่อไปนี้


และจากข้อมูลการแถลงข่าวของ Royal Bank of Scotland เมื่อครึ่งปีแรกของปี 2009 ได้ออกมาแถลงว่า รวมการปล่อยสินเชื่อของ ABN-Amro และตัว RBS เอง ณ ตอนนี้ น่าจะมีประมาณ US$8.2Billion แล้ว (ABN-Amro ได้ควบรวมกิจการกับ RBS ไปแล้ว)
ทางฝั่ง Abu Dhabi มีสินเชื่อให้ Dubai’s World ประมาณ US$1.9-2.5Billion ขณะที่ First Gulf Bank มีอยู่ที่ US$1.4Billion เมื่อเห็นยอดหนี้ ก็ไม่แปลกใจว่าทำไม Abu Dhabi ต้องเข้าไปช่วยเหลือครั้งนี้แน่นอน


- จาก Syndicated Loans อีกประมาณ US$45Billion โดยจะมียอดประมาณ US$7.3Billion ครบกำหนดในปี 2010 นี้ และอีก US$17.5Billion ครบกำหนดในปี 2011
- ที่เพิ่งครบกำหนดในตอนกลางเดือน ธ.ค. 2009 นี้ เป็นหนี้ของ Nakheel ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท Dubai’s World ในรูปของ Islamic bond US$3.5Billion ซึ่งรัฐอาบูดาบี ได้อัดฉีดเงินเพื่อช่วยเหลือแล้ว US$10.0Billion ทำให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยบกับหนี้เสียส่วนนี้แล้ว
สรุป หนี้ก้อนที่ใหญ่จริงๆจะครบกำหนดในปี 2011 ดังนั้นตอนนี้จึงสรุปได้ว่า ปัญหา Dubai’s World ได้ผ่านช่วงที่ตรึงเครียดที่สุดไปแล้ว ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐอาบูดาบี

ประเด็นที่สอง ทำให้ทั่วโลกกังวลว่า การขอเลื่อนชำระหนี้ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของฟองสบู่อีกลูกหรือเปล่า – ต้องดูว่าในภูมิภาคนี้ได้เงินกู้ไปเยอะแค่ไหน
- Syndicate Loan ของตะวันออกกลางทั้งภูมิภาคนั้นมีมูลค่ามหาศาล เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2009 ที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อประเภท Syndicate Loan มีสูงเกือบๆถึง US$288Billion ซึ่งมากกว่า 90% มาจากธนาคารต่างชาติ
- หนึ่งในโครงการที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ King Abdullah Economic City มีมุลค่าโครงการสูงถึง US$120Billion ตัวโครงการถูกชะลอมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากผลกระทบจาก Subprime Crisis และยังมีโครงการประเภท Luxury Project อีกหลายโครงการโดนดองไว้เช่นกัน
- ไม่เพียงแต่ธนาคารทางฝั่งอเมริกาหรือยุโรปเท่านั้น ล่าสุด ICBC ของประเทศจีน ก็ปล่อยกู้ในตะวันออกกลางไปแล้ว US$607Million รวมถึง Bank of China ที่ปล่อยไป US$585Miilion ซึ่งยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก
- สำหรับ ธนาคารที่มี Loan Book ใน Middle East ขนาด US$3-4Bllion ขึ้นมา ก็มีตามนี้ครับ (ไม่ได้เรียงตามขนาด)
DBS Singapore
Credit Agricole France
HSBC UK
Citigroup US
Bank of America US
ING Netherlands
Standard Chartered UK
Barclays UK
Royal Bank of Scotland UK
Bank of Tokyo Mitsubishi Japan
Mizuho Japan
Sumitomo Mitsui Japan
Deutsche Bank Germany
BNP Paribas France

- โครงการอสังหาริมทรัพย์ในตะวันออกกลางทั้งมีมูลค่าสูงถึง US$2.5 Trillion เป็นโครงการใน UAE ถึง US$1.28 Trillion หรือเกิน 50% ของโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในตะวันออกกลาง (ขนาดใกล้เคียงกับ Subprime ทีเดียว) ในจำนวนนี้มีโครงการมูลค่ารวมประมาณ US$500Billion ที่อยู่ในช่วงที่ต้องเลื่อนกำหนดการออกไป อีกทั้งคนงานเกือบครึ่งก็ยังถูกปลดออกจากบริษัทด้วย
ซึ่งหากดูจากขนาดของเงินกู้ และโครงการต่างๆในตะวันออกกลาง ก็ต้องถือเป็น Bubble และมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบทุนนิยมโลกในอนาคต เหลือเพียง ปัญหาจะลามเร็วขนาดนั้น และจะแก้ปัญหาได้ทันไหม

ประเด็นที่สาม ทำให้ทั่วโลกขาดความเชื่อมั่นในการปล่อยกู้ให้กับบริษัทในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ – ลองมองผ่าน CDS ของธนาคารในยุโรป ณ ตอนนี้ ก็พบว่าธนาคารที่มีการปล่อยกู้ให้ Dubai’s World ต่างมี CDS สูงขึ้นทั้งนั้น

ผลกระทบจากความเชื่อมั่น ถือว่ารุนแรงมากที่สุดใน 3 ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมา ลำดับผลกระทบดังนี้

- จากค่าเฉลี่ย CDS ของธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหมด 107 แห่งที่ดำเนินธุรกิจในยุโรป อยู่ที่ 172.9 พบว่า ธนาคารที่มีการปล่อยกู้ให้ Dubai’s World ยังคงต้องจ่าย CDS Premium ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมี RBS = 401.7, ABN Amro = 341, Lloyds = 318.8 และ Abu Dhabi = 318.5


- เมื่อธนาคารเหล่านี้มีความเสี่ยงหนี้สูญหรือขาดทุน อันเกิดจากการปล่อยกู้ในตะวันออกกลาง ผลที่ตามมาคือ การปล่อยกู้ในตะวันออกกลางจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ธนาคารบางแห่งอาจพิจารณาระงับสินเชื่อ หรือขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น หรือวิธีสุดท้าย คือ เรียกหลักประกันมากขึ้น แต่เนื่องจากราคา Asset ใน UAE ก็ตกลงต่อเนื่อง เนื่องจากไม่ได้รับการพัฒนาต่อ หรือบางโครงการต้องหยุดชะลอไว้ ดังนั้นหลักประกันที่ธนาคารได้มา ก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ดี ทำให้ธนาคารเหล่านี้อาจมี NPA ในงบเพิ่มขึ้น
- ธนาคารที่มีความเสี่ยง ก็จะต้องการการเพิ่มทุน หรือการช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกครั้ง ใครที่มีกำไรสะสมเก็บไว้ ก็ถึงยามต้องใช้ ใครที่ยัง Write Off CDOs ไม่หมด ก็ต้องเจ็บตัวกันอีกรอบ
- เมื่อดูจากโครงสร้างการลงทุนของกองทุนในตะวันออกกลางทั้งรัฐและเอกชน พบว่า เกินกว่า 50% เป็นเงินลงทุนในตลาดทุน และอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาและ เป็นสินทรัพย์ในยุโรปอีก เกือบๆ 20% ซึ่งขนาดของกองทุนในตะวันออกกลางปัจจุบันมีขนาดใหญ่ถึง US$2.0 Trillion ทีเดียว หากกองทุนเหล่านี้ต้องการ Raise Cash เพียงแค่ 3-5% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตัวเอง ก็คงต้องขาย Assets เหล่านี้ออกมาก่อน ดังนั้น Worst Case Scenario ก็คือ เกิด Panic Sell ในตลาดฝั่งอเมริกา และยุโรป

ต้องทำอย่างไร?
เมื่อมองในองค์รวมของปัญหา หากดูไบเกิดปัญหาขึ้นอีกครั้งภายในปีหน้า นักลงทุนจะกลับมาแห่ขาย US$ และสินทรัพย์ในอเมริกา รวมทั้งยุโรป Fund Flow ก็น่าจะวิ่งเข้าสู่ตลาดเอเชีย หรือตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคอื่นอย่างละตินอเมริกา และ Commodities อีกครั้ง
ตัวข้าราชการอาวุโสของรัฐบาลจีนก็ออกมาแถลงเองว่า วิกฤตดูไบครั้งนี้ น่าจะเปิดโอกาสในการเข้าซื้อทองคำ และน้ำมัน ในราคาที่ถูกลงในระยะสั้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าทางจันมองว่า การที่ US$ แข็งค่าขึ้น น่าจะเป็นการแข็งค่าในระยะสั้นๆเท่านั้น โดยที่มองว่า น้ำมัน และทองคำ น่าจะเป็นแหล่งลงทุนในระยะยาว

ทั้งนี้ บทความนี้ เป็นแค่สมมติฐานว่า “หากเกิดปัญหาที่ดูไบ อีกครั้ง” ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ดังนั้น สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเป็นแค่ความเสี่ยงที่เราควรพิจารณาไว้ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง เราก็จะมีแผน 2 แผน 3 มารองรับพอร์ตการลงทุนของเรา และไม่ Panic ไปกับตลาด ณ ตอนนั้น แต่ส่วนตัวแล้ว ผมขออย่าให้เกิดอะไรขึ้นอีกเลยครับ กลัวจะรับกันไม่ไหว ส่วนจะเกิดหรือไม่เกิด God Only Knows ครับ!

//twitter.com/MrMessenger




 

Create Date : 21 ธันวาคม 2552    
Last Update : 21 ธันวาคม 2552 18:43:59 น.
Counter : 578 Pageviews.  

"ปัญหาดูไบ : น้ำลดตอผุด"

"ปัญหาดูไบ : น้ำลดตอผุด"
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ปัญหาการเงินของดูไบได้พูดถึงกันมามากแล้วโดยสรุปได้ว่า

1. นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นปัญหาที่คั่งค้างมาหลังจากการแตกของฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ของดูไบก็แตกสลายเช่นเดียวกัน แต่ในตอนนั้น ดูไบได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากอาบูดาบี โดยการที่ธนาคารกลางของอาบูดาบีเข้าไปซื้อพันธบัตรของดูไบมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้นักลงทุนหลงเชื่อว่าดูไบจะได้รับความช่วยเหลือจากอาบูดาบีอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นว่าอาบูดาบีจะให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีๆ ไป และน่าจะมีเงื่อนไขบางประการ ที่จะทำให้เจ้าหนี้รายอื่นๆ ต้องรับภาระในการปรับโครงสร้างหนี้ อาทิเช่น การเจรจาขอลดเงินต้น เพื่อเป็นเงื่อนไขของการยืดหนี้ในอนาคต เป็นต้น

2. ผลกระทบจากปัญหาทางการเงินของดูไบ ไม่น่าจะแพร่ขยายออกไปสู่ประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ธนาคารยุโรปและธนาคารของยูเออีเองในฐานะเจ้าหนี้ ซึ่งในกรณีของธนาคารยุโรปนั้นราคาหุ้นก็ได้ปรับตัวลงเพื่อรับข่าวไปแล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางยูเออียืนยันแล้วว่าจะฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินให้เพียงพอ และหากธนาคารของยูเออีมีปัญหาทางการเงินอื่นๆ ก็คงจะได้รับความช่วยเหลือ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบธนาคารของยูเออีอย่างเต็มที่

3. ผลกระทบต่อมา คือ การที่เจ้าหนี้และนักลงทุนทั่วโลกจะทบทวน เพื่อลดความเสี่ยงของการทำธุรกรรมในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งนักลงทุนและนายธนาคารน่าจะแบ่งแยกได้ระหว่างตลาดเกิดใหม่ที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน กับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีปัญหา โดยเชื่อได้ว่าจะไม่ "เหมารวม" ว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมดอาจมีปัญหา อาทิเช่น การประเมินความเสี่ยงโดยอาศัยดัชนีชี้วัด 3 ประการที่เมอร์ริล ลินช์ ใช้กับประเทศหลักในเอเชียพบว่าทุกประเทศมีสถานะที่มั่นคง โดยประเทศที่มั่นคงที่สุด ได้แก่ จีนและไทย



จะเห็นได้จากตารางข้างต้นว่ามีเพียงประเทศเดียว คือ อินเดียที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (เท่ากับ 2.4% ของจีดีพี) แปลว่าใช้จ่ายเกินตัวและกำลังสร้างหนี้สิน แต่หนี้ต่างประเทศของอินเดียนั้นมีเพียง 18.8% ของจีดีพี และทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีมากถึง 3.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ในกรณีของเกาหลีใต้นั้นหนี้ต่างประเทศมากที่สุดในกลุ่ม คือ มากถึง 44% ของจีดีพีและมีทุนสำรองเพียง 1.5 เท่าของหนี้ระยะสั้น แต่เนื่องจากเกาหลีใต้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 5.1% ของจีดีพี แปลว่าทุนสำรองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้น่าจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

4. หากเจ้าหนี้และนักลงทุนในต่างประเทศ มีความต้องการลดความเสี่ยงและถอนทุนออกไปบ้างก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในเอเชียมากนัก เพราะสถาบันการเงินภายในแข็งแรง ธนาคารมีทุนสำรองมากเกินพอ แปลว่าธนาคารภายในประเทศ จะสามารถปล่อยกู้ทดแทนเงินที่อาจไหลออกได้ แต่หากสภาวการณ์ภายในยังมีความมั่นคง ก็น่าจะทำให้นักลงทุนและสถาบันการเงินต่างประเทศไม่เห็นความจำเป็นของการถอนทุนมากนัก

กล่าวโดยสรุป คือ ประเทศตลาดเกิดใหม่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบดังที่เคยเผชิญมาในปี 1994-1995 ที่วิกฤติเศรษฐกิจในละตินอเมริกาลามมาที่เอเชีย และ 1997-1998 ที่วิกฤติเศรษฐกิจในไทยลามไปสู่ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ อย่างไรก็ดี ปัญหาของดูไบนั้นเป็นการเตือนสติ และเตือนความจำของนักลงทุนว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการปล่อยกู้ที่มากมายและหละหลวม ผสมผสานกับความเชื่อมั่นและการเก็งกำไรที่นำไปสู่ฟองสบู่ของราคาอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์เกือบทุกประเภท และเมื่อความจริงปรากฏในที่สุดราคาสินทรัพย์ก็ต้องถูกลดราคาลงมาสู่ระดับที่เหมาะสมกับความเป็นจริง กล่าวคือ ในสหรัฐและยุโรปราคาบ้าน-ที่ดินต้องปรับลดลง 20-30% ในขณะที่ราคาต้องปรับลดลงถึง 50% ในดูไบ

นักเศรษฐศาสตร์จะเห็นว่า การปรับตัวที่สำคัญ คือ การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อมูลค่าสินทรัพย์และทุน หากราคาสินทรัพย์ลดก็จะทำให้ปริมาณทุนลดอย่างรุนแรง ได้ (เพราะมูลหนี้ไม่สามารถลดได้) ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และหากแก้ไขไม่ได้ก็นำมาสู่การพักชำระหนี้ ดังกรณีของดูไบ คำถามที่จะตามมา คือ โลกของเราโดยรวมมีปัญหาราคาสินทรัพย์สูงเกินจริงมากน้อยเพียงใด และการแก้ปัญหาคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด แล้วคำตอบ คือ การแก้ไขน่าจะมาประมาณครึ่งทางแล้ว แต่ยังมีปัญหาคั่งค้างอีกมาก ดังที่ผมได้เขียนถึงในบทความก่อนหน้าว่าอเมริกานั้น ยังมีปัญหาหนี้เสียหรือกำลังจะเสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยมากถึง 14.4% (เกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์) และยังมีภาคอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า) ที่มีมูลค่ารวมอีกประมาณ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเป็นหนี้เสีย 20-30% ก็จะเพิ่มปัญหาการปรับโครงสร้างล้างหนี้อีกต่อหนึ่ง กล่าวโดยสรุป คือ อเมริกา ยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่เคยมีหนี้สินมากและราคาสินทรัพย์ลดลงนั้นต้องเผชิญปัญหาอีกมาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี จึงจะแก้ปัญหาให้คลี่คลายออกไปได้

จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวมักจะไม่ได้รับการรายงาน เพราะเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน และจะปะทุขึ้นมาเมื่อมีปัญหาจนหาทางออกไม่ได้ ความเสี่ยงเช่นนี้น่าจะมีให้เห็นอีกต่อไป (อาทิเช่น ธนาคารในสหรัฐถูกปิดตัวไปแล้วกว่า 100 แห่ง และจะต้องถูกปิดเพิ่มขึ้น) ซึ่งหากมองประเด็นปัญหาในมุมมองดังกล่าวข้างต้น ก็จะเห็นว่าแตกต่างจากการนำเสนอข่าว ที่เน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวแปรที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Flow variable อาทิเช่น จีดีพีการส่งออก/นำเข้า การลงทุน ฯลฯ การให้น้ำหนักตัวแปรดังกล่าวมาก และให้น้ำหนักตัวแปรที่เป็น Stock variable น้อยเกินไป (อาทิเช่น ปัญหาหนี้เสีย และคนว่างงาน) ทำให้ประเมินความรุนแรงของปัญหาต่ำเกินไป เช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี 1997 ซึ่งในครั้งนั้นหลายคนประเมินว่าเมื่อลดค่าเงินบาทลงไปเพื่อลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ก็จะสามารถแก้ปัญหาหลักให้ลุล่วงไปด้วยดี นอกจากนั้น ยังเข้าใจผิดคิดว่าการสร้างความมั่นใจของนักลงทุน จะต้องเน้นวินัยทางการเงิน (ขึ้นดอกเบี้ย) และการคลัง (ขึ้นภาษี) แต่ปัญหาหลักกลับกลายเป็นปัญหาหนี้เสีย ซึ่งนโยบายไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องติดลบถึง 10% ในปี 1998 และใช้เวลาในการปรับโครงสร้าง 3-5 ปี

ดังนั้น ในวิกฤติครั้งนี้ก็อย่าให้ความสำคัญของปัญหาหนี้สิน และคุณภาพของสินทรัพย์น้อยเกินไป เพราะมัวแต่ดีใจกับจีดีพีที่กำลังฟื้นตัวครับ




 

Create Date : 09 ธันวาคม 2552    
Last Update : 9 ธันวาคม 2552 12:08:24 น.
Counter : 519 Pageviews.  

เซียนหุ้น-นักวิเคราะห์คนดังเตือน 'หุ้นปีเสือ' กัดเจ็บ-ผันผวนสูง ให้ยึดกฎ 'มักเท่าเมื่อไร ให้ 'ถอย'

ตลาดหุ้นปีเสือทำท่าจะกลายเป็น "เสือดุ" เล่นยากกว่าปี 2552 เยอะ หลังปีนี้ดัชนีราคาหุ้นทะยานขึ้นไปแล้วเกือบ "เท่าตัว" เข้าตำรา "ของถูกไม่ดี-ของดีไม่ถูก" ของดีและถูกวันนี้ "หายาก" มากขึ้นเรื่อยๆ

เซียนหุ้นคุณค่าระดับปรมาจารย์ของไทย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ถึงกับเอ่ยปากยอมรับตลาดหุ้นตอนนี้ “เต็มมูลค่า” ไปเกือบหมดแล้ว การเลือกหุ้นที่จะลงทุนระยะยาวทำได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือธนาคารพาณิชย์ก็ทำ "นิวไฮ" ไปแล้วเป็นส่วนใหญ่

“จะซื้อหุ้นตอนนี้แล้วถือยาว 3 ปีมันก็ยังไม่ชัดเลย ยอมรับว่าหุ้นที่ตรงกับสเปคของแวลูอินเวสเตอร์มีน้อยลงไม่ครบทุกข้อ”

ที่สำคัญตลาดหุ้นปี 2553 "คงไม่มีแจ๊คพอต" เหมือนปีนี้ที่ขึ้นมาขาเดียวอีกแล้ว การปรับตัวก็จะไม่หวือหวา ถึงตรงนี้เศรษฐกิจโลกคงจะฟื้นตัวแน่ แต่ยังไม่รู้ว่าฐานจะแข็งแกร่งพอจะพยุงตลาดหุ้นได้แค่ไหน ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือเรื่องของ "อัตราดอกเบี้ย" แม้แนวโน้มจะขึ้นไม่เร็ว แต่ก็อาจทำให้ฟันด์โฟลว์ต่างชาติถอนหุ้นออกไปได้

กรณีของดูไบ เวิลด์ที่ผิดนัดชำระหนี้ ดร.นิเวศน์ เชื่อว่าผลกระทบไม่น่าลามจนเกิดเป็นวิกฤติอีกรอบเพราะดูไบมีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจโลกไม่สูงมาก แต่อาจจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนว่าอาจจะเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ขึ้น โดยเฉพาะที่ประเทศจีน ความฮึกเหิมของนักลงทุนจะลดลง

กูรูหุ้นคุณค่ารายนี้ แนะนำว่า การเลือกหุ้นอย่ามองที่ค่าพี/อี เรโช เพียงอย่างเดียว เท่าที่สังเกตการณ์เห็นว่าหุ้นหลายตัวพี/อีถูกจริง แต่ค่า P/BV (ราคาต่อมูลค่าตามบัญชี) กลับไม่ต่ำ จุดนี้อันตรายเพราะไม่ได้ถูกจริง ถ้าจะซื้อหุ้นต้องเฟ้นมากๆ ให้ทั้งสองข้อนี้ (P/E, P/BV) สมดุลกัน อาจจะพอมีเหลือบ้างแต่เป็นหุ้นขนาดเล็กที่สภาพคล่องต่ำ

สำหรับหุ้นที่มีโอกาส "เทิร์นอะราวด์" ถึงตอนนี้แทบไม่เหลือแล้วยกเว้นหุ้น "กลุ่มท่องเที่ยว" ที่ราคายังพอ “สู้ได้” แต่ต้องเลือกกับความเสี่ยงว่าการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาได้จริงหรือไม่

ถ้าคิดไม่ออกว่าจะเลือกซื้อหุ้นอะไร ลองจับตาที่ "กลุ่มสินค้าเกษตร" ตอนนี้ราคาน่าสนใจ รวมถึงกองทุน ETF ที่ไปลงทุนในหุ้น SET50 แต่ถ้าคิดจะเลือกหุ้นเป็นรายตัว ขอให้มั่นใจว่าพื้นฐานต้องดี อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นขาขึ้น และจ่ายเงินปันผลต้องน่าสนใจ

“กลยุทธ์ในปีหน้าคงต้องมองแบบพอเพียงอย่าหวังผลตอบแทนสูงๆ ถึงยังไงถ้าเลือกหุ้นดีๆ ผลตอบแทนน่าจะอยู่ที่ 10-15% ก็ยังสูงกว่าสินทรัพย์อื่นๆ”

มาถึงเซียนหุ้นร้อยล้าน "ก๋อย" ยุทธพงษ์ เสรีดีเลิศ เจ้าตัวออกปากว่าตลาดหุ้นปีหน้าต้องระวังเรื่อง “การเมือง” ให้มากๆ เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นแล้ว แต่ถ้าสีเหลืองสีแดงยังตีกันอยู่แบบนี้ต่างชาติไม่ชอบ

"ปีหน้าผมจะเปลี่ยนสไตล์มาเล่นหุ้นแบบอนุรักษนิยมมากขึ้น คงไม่บู๊ล้างผลาญ และคงถอนตัวจากหุ้นตัวใหญ่ เพราะฝรั่งซื้อๆ ขายๆ แบบนี้เวียนหัว (ทำกำไรยาก)"

แผนการลงทุนปีหน้า ก๋อยจะเลือกลงทุนหุ้นที่ "ภาครัฐ" เป็นฝ่ายออกมา "ให้ข่าว" อย่างเช่นหุ้นธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ที่จะเปิดประมูลขาย รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก "โครงการไทยเข้มแข็ง" หุ้นพวกนี้ต้อง "เล่นสั้น" และถือคติว่า "อย่าโลภ"

ยุทธพงษ์ ไม่ปิดบังว่าตอนนี้เริ่มทยอยเข้าเก็บหุ้น "กลุ่มสื่อสาร" ADVANC และ DTAC ไปแล้ว ไม่ว่าจะดึงเรื่องยังไงปีหน้า 3G ก็ต้องเกิดชัวร์! รีบเข้าเก็บหุ้นตอนนี้ยังพอมีช่องว่างให้ทำกำไร

อีกกลุ่มที่เริ่มสะสมแล้วคือ "กลุ่มอาหารส่งออก" TUF และ CPF ที่ผลการดำเนินงานดีมาก ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ แถมจ่ายปันผลสูงด้วย นอกจากนี้ "กลุ่มค้าปลีก" และ "โรงพยาบาล" ก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน ส่วนหุ้นที่ยังมองว่าจะ "เทิร์นอะราวด์" ยังชอบหุ้น "กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์" ภาพรวมน่าจะขึ้นได้ยกแผงเพราะตอนลงก็ลงมาด้วยกัน แถมปีหน้ายังมีสตอรี่เรื่อง "อีโคคาร์" ให้เล่นอีก

ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงาน ก๋อยส่ายหน้าโดยเฉพาะ BANPU ที่เล่นประจำ ปีหน้าอาจจะพักไว้ก่อนหุ้นขึ้นมามากเกินไป แล้วฝรั่งถือเยอะขายเมื่อไรจะ "ลงแรง" แต่อาจจะสลับมาเล่นรอบตัว LANNA แทน

ถามมุมมองต่อ SET Index ก๋อยยังเชื่อว่าสิ้นปีนี้มีโอกาสแตะ 800 จุด ส่วนปีหน้าช่วงกลางปีอาจขึ้นไปแตะ 900 จุดได้ แต่หลังจากนั้นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ถ้าคิดจะเล่นหุ้นตัวใหญ่ต้องคิดให้ละเอียดขึ้น ก่อนเปิดตลาดขอให้ดูสัญญา Long และ Short ประกอบถึงจะคาดเดาทิศทางได้ ยังย้ำคำเดิมได้กำไรแล้ว "ขอให้พอ" อย่าหวังทำกำไรเยอะๆ สุดท้ายจะ "เจ็บตัว"

ด้านกูรูฟันด์โฟลว์ วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการบริหารสายงานวิจัย บล.ทิสโก้ บอกว่า ปีหน้าต้องจับตา "สี่ปัจจัย" ที่จะมีผลต่อการลงทุน หนึ่ง.สภาพคล่อง สอง.มูลค่าหุ้น (ถูก-แพง) สาม.กำไรบริษัทจดทะเบียน (ฟื้นได้แค่ไหน) และ สี่.เม็ดเงินต่างชาติที่จะไหลเข้า ข้อนี้ "สำคัญที่สุด"

กูรูฟันด์โฟลว์ เชื่อว่า ไตรมาสแรกปี 2553 น่าจะเป็นช่วง "ดีที่สุด" สำหรับการลงทุน หลังจากนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะหยุดใส่เม็ดเงินเข้าระบบในเดือนมีนาคมปีหน้า อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐและยุโรปจะขึ้นมาอยู่ที่ 3-4% ในเดือนธันวาคมปีนี้ ทำให้มีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรมาสู่หุ้นและทองคำ และศูนย์วิจัยทิสโก้คาดการณ์ว่า จีดีพีไทยไตรมาส 1 ปี 2553 จะโตที่สุดในรอบปีที่ประมาณ 5%

"คาดการณ์ว่าปีนี้ น่าจะเกิด January Effect หรืออาจจะเลื่อนออกไปเกิดในเดือนกุมภาพันธ์เป็นอย่างช้า แต่พอถึงไตรมาสสอง จะเกิดปรากฏการณ์เงินสกุลดอลลาร์เมื่อเทียบกับยูโรและเยนจะแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตอนนี้เงินเยนแข็งค่าเกินความจริง น่าจะทำให้เม็ดเงินไหลเข้าหุ้นไทยน้อยลง"

ประกอบกับคาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมปี 2553 ส่วนของไทยคาดว่าจะขึ้นใน "ต้นไตรมาสสอง" ตลาดหุ้นก็จะตอบสนองด้วยการ “แตะเบรก” ทันที แต่ถ้าเกิดอีกกรณีถ้าเฟดไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเลยตลอดทั้งปีก็แปลว่า "เศรษฐกิจแย่กว่าที่คิด" ตลาดหุ้นไทยจะผันผวนรุนแรงจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าออก มีโอกาสจะได้เห็นจุดสูงสุดและต่ำสุดบวกลบ 400 จุด ซึ่งกว้างกว่าปีนี้ที่บวกลบ 350 จุด

“ปีหน้า SET Index จะมีอัพไซด์ที่จำกัด เพราะปีนี้ขึ้นมาเยอะแล้ว จุดสูงสุดน่าจะอยู่ที่ 815 จุด”

คำแนะนำในการลงทุน วิศิษฐ์ บอกขอให้เลือกหุ้นที่คาดว่าจะมี Earning Growth สูงๆ จะ Out Perform ตลาดมากกว่าหุ้นที่ราคายังต่ำอยู่ พอไตรมาสสองเปลี่ยนมาลงทุนหุ้น Defensive ไตรมาสสามมาลงตราสารหนี้

"ธีมการลงทุนปีหน้า ให้ลงหุ้นกลุ่มแบงก์ในไตรมาสแรกถึงสอง กลุ่มพลังงานยกเว้นปิโตรเคมีและพวก Soft Commodity อย่างสินค้าเกษตร แต่ต้องดูบริษัทที่ไม่ไปทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าราคาถูกๆ จะเสียโอกาสได้" กูรูฟันด์โฟลว์ แนะนำ

ทางฝั่งโบรกเกอร์อีกค่าย กวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มอง SET Index ปีหน้าในลักษณะ "ไซด์เวย์อัพ" เป็นขาขึ้นแต่มีความ “ผันผวน” มากกว่าปีนี้ เพราะปีหน้าคนจะกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐว่าอาจไม่ฟื้นจริงรวมถึงการเมืองไทยยังไม่สงบ

“ปีนี้ตลาดหุ้นขึ้นมาข้างเดียวแต่ปีหน้าจะมีทั้งขึ้น-ทั้งลงเพราะนักลงทุนจะเฉยๆ กับข่าวดีแล้ว เราประเมินว่าตลาดหุ้นไทยจะสวิงตัวแรงในกรอบบวกลบ 200 จุด หรืออยู่ระหว่าง 600-800 จุด”

กวีเชื่อว่า SET Index จะถึงยอดเขาที่ 840 จุด ตัวขับเคลื่อนจะมาจากผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่จะดีขึ้น ในแง่ราคาค่าพี/อี เรโชตลาดหุ้นไทยตอนนี้อยู่ที่ 11-12 เท่า ถ้ามองไปข้างหน้าพี/อี น่าจะไปถึง 14 เท่า เท่ากับก่อนเกิดวิกฤติยังมี "อัพไซด์" ให้เล่น

“แต่ถ้าพี/อี ขึ้นไปอยู่ที่ 14 เท่าเมื่อไรต้องระวังตัวอย่างยิ่ง สถิติเก่าบอกว่าเป็นจุดที่ถูกเทขายแน่”


ถามว่าเล่นหุ้นกลุ่มไหนดี กวีแนะนำกลุ่มธนาคารพาณิชย์เพราะสินเชื่อฟื้นตัวแน่ และหุ้นกลุ่มพลังงานภายใต้ราคาน้ำมันที่จะอยู่ในระดับ 85 เหรียญต่อบาร์เรล รวมถึงกลุ่มค้าปลีก โรงแรม และโรงพยาบาล ส่วนที่ควรหลีกเลี่ยงคือพวกที่อยู่ในช่วงขาลงอย่าง "เดินเรือ" และ "ปิโตรเคมี" ที่จะ Under Perform ตลาดแน่นอน

ปิดท้ายที่มุมมองผู้จัดการกองทุน มนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ มองภาพรวม SET Index ปีหน้า เส้นกราฟน่าจะเป็นรูป “ตัวเอ็มขาขวาขาด” มีความผันผวนในช่วงกลางปีแต่พอถึงไตรมาสสี่จะทะยานขึ้นอีกครั้ง

“กราฟน่าจะขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงต้นปี 2553 และจะเริ่มถอยหลังลงมาขึ้นอีกทีตอนเดือนกันยายนและจะไม่ลงมาอีกแล้ว”

เขาให้เหตุผลว่า หลังจากไปพูดคุยกับผู้บริหารเริ่มเห็นสัญญาออเดอร์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ประกอบกับยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจริง อาจทำให้เกิด Negative Surprise และเทขายหุ้นออกมา

“ช่วงไตรมาสสองอาจไม่มีข่าวดีเท่าไรพอถึงไตรมาสสามจะเริ่มมีออเดอร์ใหม่กลับเข้ามาทำให้ไตรมาสสี่น่าจะได้เห็นตัวเลขผลประกอบการที่ดีขึ้นและหุ้นจะขึ้นไปได้อีก”

มนรัฐ บอกว่า จุดคุ้มทุนของต่างชาติรอบนี้อยู่ที่ 650 จุด ถ้า SET Index สูงกว่านี้ก็ยังมีโอกาสถูกทิ้งได้ ส่วนกรณีมาบตาพุดน่าจะเป็นความกังวลแค่เฉพาะหุ้นบางกลุ่ม เท่าที่สำรวจสถิติย้อนหลังแล้วมั่นใจว่า P/B ของหุ้นเครือ ปตท.ตอนนี้ "ยังไม่แพง" ถ้าดู P/E ตัว Earning ในปัจจุบันน่าจะถูกแล้ว แม้แต่เคสของ ปตท.สผ. แม้จะมีไฟไหม้ที่มอนทาราแต่เชื่อว่าไตรมาส 2-3 ปีหน้า จะเป็นช่วงพีคของการใช้น้ำมัน หุ้นกลุ่มนี้น่าจะขึ้นได้ “ยกแผง” และ Out Perform ตลาด

สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าลงทุน ผู้จัดการกองทุนรายนี้ชี้ไปที่ "หุ้นที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ" เป็นหลัก เพราะเม็ดเงินจากโครงการไทยเข้มแข็ง 4 แสนล้านบาทมีความคาดหวังว่าจะสร้างเม็ดเงินในระบบได้เป็นสองเท่าหรือ 8 แสนล้านบาท

“หุ้นกลุ่มธนาคารน่าจะเริ่มเข้าได้ตั้งแต่ตอนนี้แล้วตามสถิติเก่าน่าจะ Out Perform ตลาด ส่วนหุ้นกลุ่มก่อสร้างและค้าปลีกก็น่าสนใจ”

ถ้าเฉพาะเจาะจงลงไปที่หุ้น SCC น่าจะได้รับอิทธิพลจากโครงการไทยเข้มแข็ง "ครึ่งหนึ่ง" และขาลงของปิโตรเคมี "ครึ่งหนึ่ง" ปัจจัยเสี่ยงปีหน้าต้องจับตาซัพพลายใหม่จากอินเดียและตะวันออกกลางที่จะเพิ่มเข้ามา แต่เชื่อว่าการบริโภคในประเทศน่าจะเป็นปัจจัยบวกที่มีน้ำหนักมากกว่า

แล้วหุ้นที่ไม่น่าลงทุน มนรัฐ บอกว่า ปีหน้าตลาดหุ้นไทยจะมี “สตอรี่” ให้เล่นเยอะ ดังนั้นหุ้นที่ไม่มีข่าวดีสนับสนุนก็ไม่ควรไปเล่น เช่นหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ที่น่าจะเทิร์นอะราวด์ได้ แต่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ออเดอร์อาจจะจบแค่ช่วงคริสต์มาสนี้ก็ได้

มนรัฐ ยกสถิติย้อนหลังมาทำนายอนาคต SET Index มีโอกาสขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 750-800 จุด ถ้าคำนวณค่าพี/อีเรโชในอนาคตนับจากไตรมาสแรก 2553 จะอยู่ที่ P/E 13-14 เท่า แต่ถ้าคิดแบบย้อนหลัง 4 ไตรมาสจะอยู่ที่ 15-16 เท่า ถ้าขึ้นไปมากกว่านี้ต้องใช้วิจารณญาณอย่างยิ่งยวด เพราะมีโอกาสจะถูกเทขายอย่างมาก

"ถ้ามองข้ามช็อตไปถึงปี 2554 ต้องจับตาที่ตัวอัตราเงินเฟ้อรวมถึงเรื่องเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย ถ้าเกิดสองสิ่งนี้ก็ตัวใครตัวมัน เพราะหุ้นจะกลัวเป็นพิเศษ"

กรุงเทพธุรกิจ
7 ธ.ค. 2552




 

Create Date : 08 ธันวาคม 2552    
Last Update : 8 ธันวาคม 2552 7:33:47 น.
Counter : 603 Pageviews.  

เมอร์ริล ลินช์ มองโลกการลงทุนปีหน้า

เมอร์ริล ลินช์ มองโลกในแง่ดีว่าการลงทุนในปีหน้า จะมีความราบรื่นด้วยปัจจัยดังนี้

1. การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกในปี 2010 จะสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ กล่าวคือ เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 3.0% (ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.5%) และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.2% (ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.1%)

2. เงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับต่ำ ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงจะถูกถอนออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการเงิน ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐจึงจะยังไม่ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจนกระทั่งปี 2011

3. เมอร์ริล ลินช์ จึงแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นและตราสารทุนของบริษัท ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าและมีความมั่นคง ไม่จำเป็นต้องเน้นการถือเงินสดและพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งจะให้ผลตอบแทนต่ำกว่ามาก

4. ดอกเบี้ยระยะยาวจะยังต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผลตอบแทนจากการถือพันธบัตรรัฐบาล (ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น) จะติดลบเล็กน้อยในปี 2010

5. การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (อาทิเช่น ทองคำ น้ำมัน และทองแดง) จะให้ผลตอบแทนที่ดีในปี 2010 แม้ว่าเงินดอลลาร์จะเริ่มมีเสถียรภาพ และไม่อ่อนตัวเช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้

6. กล่าวโดยสรุปคือ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ผ่อนปรนเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การที่ราคาหุ้นยังไม่สูงมากในขณะนี้ ประกอบกับระบบธนาคารที่จะกลับมาปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาหุ้นของโลกสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก 20% ในปี 2010

7. อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของหุ้นนั้นมีความแตกต่างกัน คือ ในประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) จะเป็นการปรับขึ้นในเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี (secular bull market) แต่สำหรับประเทศพัฒนาแล้วราคาหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้นตามวัฏจักรของเศรษฐกิจขา ขึ้น (cyclical bull market) ทั้งนี้ สำหรับประเทศยุโรปนั้น เมอร์ริล ลินช์ แนะนำให้ลงทุนในหุ้นมากกว่ามาตรฐาน (overweight) เพราะคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวได้ดีกว่าการคาดการณ์ของตลาดมาก (เมอร์ริล ลินช์ มองว่าเศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัว 2.2% ในปี 2010 ในขณะที่ไอเอ็มเอฟคาดว่าจะขยายตัวไม่ถึง 1%)

เมอร์ริล ลินช์ สรุปปัจจัยความเสี่ยงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น (แต่ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้) รวมทั้งสิ้น 6 ข้อดังนี้

1. ราคาน้ำมันปรับขึ้นไป 100 ดอลลาร์ และเงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้น ในกรณีดังกล่าวเงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4% ภายในปลายปี 2010 (จาก -1% ในขณะนี้) ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเกินไปและเงินดอลลาร์ที่อ่อน ค่าลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชีย ทำให้อุปสงค์ของน้ำมันปรับสูงขึ้นเกินคาด ผลคือธนาคารกลางจะต้องปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น ในขณะที่การปรับขึ้นของดอกเบี้ยระยะยาว จะทำให้การบริหารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ (ซึ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก) จะยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้เมอร์ริล ลินช์ ให้จับตาดูว่าราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นเกิน 1,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้น ควรจะต้องลดการลงทุนในพันธบัตรและเพิ่มการลงทุนในทองคำและหุ้นกับเงินของ ประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น

2. เศรษฐกิจชะลอตัวลงเป็นตัว "W" ในกรณีนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปชะลอตัวลงเกินความคาดหมายใน 12 เดือนข้างหน้า จนกระทั่งกลายเป็นการหดตัวอันเป็นผลมาจากการถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร็วเกินไป ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม) อย่างเพียงพอและผู้บริโภคก็ออมเงินมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อไม่ฟื้นตัวดังคาด ในกรณีนี้ดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับลดลงได้ถึง 1.5% จากปัจจุบันและดัชนีการผลิตต่างๆ จะต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งจะทำให้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนสูงสุด และลงทุนในหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่มั่นคง (อาทิเช่น บริษัทผลิตไฟฟ้า) หุ้นที่พึ่งพาการขยายตัวของเศรษฐกิจและหุ้นประเทศกำลังพัฒนาจะให้ผลตอบแทนต่ำ

3. ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างเชื่องช้า ทำให้มีสภาพคล่องล้นระบบอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่จีนตรึงค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์ ที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ทำให้เงินทุนไหลเข้าไปเก็งกำไรในประเทศจีนจนกระทั่งราคาสินทรัพย์ในจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ส่งผลให้จีนประสบปัญหาเงินเฟ้อในที่สุด ซึ่งจะทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ประสบปัญหาทำนองเดียวกันด้วย ในกรณีนี้นักลงทุนควรเน้นการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (ทองคำ น้ำมัน ฯลฯ) หุ้นประเทศ BRIC และเงินสกุลเอเชีย

4. การกีดกันทางการค้าควบคู่กับวิกฤติเงินดอลลาร์ ในกรณีนี้การว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นสูงพร้อมกับเงินยูโรแข็งค่าขึ้นอย่างมาก เทียบกับเงินหยวน ทำให้นักการเมืองทั้งของสหรัฐและยุโรปรุมโจมตีจีน และผลักดันมาตรการกีดกันการค้าจีนอย่างรุนแรง จีนตอบโต้โดยการปฏิเสธที่จะซื้อเงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอย่างรุนแรง และดอกเบี้ยในสหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงพร้อมกันไป ความเสี่ยงนี้อาจเกิดขึ้นได้หากอัตราการว่างงานในสหรัฐสูงถึง 10.8% (จาก 10.2% ในขณะนี้) และหากเงินยูโรแข็งค่าขึ้นมากกว่าปัจจุบันอีก 10% และราคาทองคำเพิ่มขึ้นไปที่ 1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในกรณีนี้นักลงทุนไม่มีทางเลือกมากนัก โดยจะต้องถือเงินสด ทองคำและรอซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งราคาจะปรับลดลงอย่างมากในตอนแรก ในขณะเดียวกัน ราคาหุ้นในตลาดหลักจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

5. รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นขาดดุลงบประมาณมากถึง 10.2% ของจีดีพี และมีหนี้สาธารณะสูงถึง 218% ของจีดีพี ซึ่งหากสภาวะหนี้สินของรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ปรับตัวดีขึ้น ในอนาคตก็อาจทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งประสบปัญหาหนี้สิน ล้นพ้นตัว หากพยายามใช้จ่ายเงินมากเกินไป เพื่อให้เป็นไปตามแนวนโยบายที่ได้เคยหาเสียงเอาไว้ ในกรณีดังกล่าวธนาคารกลางของญี่ปุ่นก็จำต้องพิมพ์เงินเยนออกมาช่วยเหลือ รัฐบาล ซึ่งอาจผลักให้ดอกเบี้ยระยะยาวของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.5-4.0% พร้อมกับการอ่อนตัวของเงินเยน

6. ภาคอสังหาริมทรัพย์และผู้บริโภคสหรัฐฟื้นตัวดีเกินคาด ซึ่งเป็นกรณีที่นโยบายดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผลดีเกินคาด ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์หลักๆ ของสหรัฐฟื้นตัวอย่างรวดเร็วพร้อมกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างรุนแรง (ดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย) และหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรอย่างมาก รองลงมา คือ ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะให้ผลตอบแทนที่ดี

ทั้งนี้ ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าปัจจัยเสี่ยงทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมานั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่หากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดเงินและตลาดทุน เหตุที่ต้องนำเสนอความเสี่ยงดังกล่าว ก็เพราะวิกฤติเพิ่งผ่านมานั้นก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น อาทิเช่น การที่ราคาหุ้นของโลกปรับตัวลดลง 20% ในเดือนตุลาคม 2008 นั้น หากอาศัยหลักสถิติที่ตั้งสมมติฐานว่าความผันผวนกระจายตัวปกติ (normal distribution) ก็จะคำนวณออกมาว่าการปรับลดลงของราคาหุ้นที่รุนแรงดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้น 1 ครั้ง ทุกๆ 4,112 ปี และความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2008 ควรจะเกิดขึ้น 1 ครั้งในรอบ 14,079 ปี แปลว่าแบบจำลองสถิติที่เราใช้กันอยู่ประเมินความเสี่ยง (ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น) ต่ำเกินกว่าความเป็นจริงครับ

โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ




 

Create Date : 28 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2552 14:04:38 น.
Counter : 507 Pageviews.  

เฮดจ์ฟันด์ กองทุนปีศาจ ทุนปีศาจครอบโลก

เฮดจ์ฟันด์ กองทุนปีศาจ ทุนปีศาจครอบโลก

คอลัมน์ เดินคนละฟาก โดย กมล กมลตระกูล kamolt@yahoo.com

เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) ได้ชื่อว่ากองทุนปีศาจ วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่วิกฤตหนี้ในละตินอเมริกาในทศวรรษ 1980 วิกฤตการเงินเตกิลา วิกฤตฟองสบู่แตก วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 (1997) และล่าสุดวิกฤตอสังหาฯถล่ม (subprime crisis) บางคนเรียกว่า วิกฤตคาวบอย หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 (2008) ล้วนเป็นผลมาจากความกระหายเลือดของกองทุนปีศาจเหล่านี้

การได้รับชื่อว่ากองทุนปีศาจ เพราะว่ากองทุนเหล่านี้ไม่มีตัวตน ไม่มีทรัพย์สินของตนเอง จับต้องไม่ได้ แต่หลอกคนได้ สูบเลือดคนได้เหมือนปีศาจ

การทำงานหรือการบริหารของกองทุนต้องใช้กลไกของสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีรายได้ (fee) จากการให้บริการหรือเป็นกลไกในการทำงานแทนกองทุนปีศาจเพื่อแลกกับค่าบริการที่สามารถคิดได้สูงลิบลิ่วตามปริมาณเงินที่ผ่านเข้า-ออก สถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญตั้งกองทุนหรือรับบริหารกองทุนโดยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการ เมื่อพูดถึงกองทุนปีศาจจึงรวมถึงสถาบันการเงินและรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนเหล่านี้ด้วย

เศรษฐกิจโลกที่อยู่ใต้กงเล็บของกองทุนปีศาจ จึงได้ชื่อว่า ระบอบเศรษฐกิจกาสิโน (casino economy) หรือทุนนิยมกาสิโน (casino capitalism)

กำเนิดเฮดจ์ฟันด์

เฮดจ์ฟันด์ถือกำเนิดขึ้นในปี 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงได้ 4 ปี นายอัลเฟรด โจนส์ (Alfred W. Jones) ผู้สื่อข่าวด้านตลาดทุนและตลาดเงิน ซึ่งคร่ำหวอดกับการสังเกตการเคลื่อนไหวของตลาดทุนและตลาดเงิน จึงได้ตั้งกองทุนขึ้นมาลงทุนที่สวนทางกับการลงทุนทั่ว ๆ ไปในสมัยนั้น โดยการเลือกซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและราคาขึ้นมากกว่าอัตราเฉลี่ยของตลาด ในขณะเดียวกันเสนอขายราคาหุ้นตัวนั้นเมื่อราคาตกลงระดับหนึ่งพร้อมกันเพื่อลดการขาดทุนจำนวนมาก ๆ ในคราเดียว รวมทั้งเลือกขายหุ้นประเภทห่วยแตกล่วงหน้า (selling short) ดังนั้นเมื่อตลาดหุ้นขึ้นเขาก็จะได้กำไรจากตัวแรกมาชดเชยตัวหลัง หรือในทางตรงกันข้าม ซึ่งยุทธศาสตร์นี้เป็นการลดความเสี่ยงในตลาดทุนและตลาดเงินที่มีความผันผวน คาดการณ์ไม่ได้ เต็มไปด้วยข่าวลือ ข่าวลวง และข่าวลับ ลวง พราง

กลยุทธ์เฮดจ์ฟันด์

กองทุนและเทคนิคหรือกลยุทธ์ที่เขาเริ่มใช้เป็นคนแรกจึงได้ชื่อว่า เฮดจ์ฟันด์ (Hedge Funds) และต่อมาได้พัฒนาให้มีความซับซ้อน และนำมาใช้ในทุกตลาด คือ ตลาดทุน ตลาดเงิน ตลาดอนุพันธ์ (derivatives) ตลาดคอมมิวดิตี้ (commodity) ตลาดพันธบัตร (bonds market) และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา (foreign exchange) โดยพ่อมดการเงินรุ่นต่อ ๆ มาจนกลายเป็นกระแสหลักที่รู้กันแต่วงในของวาณิชย์ธนกิจ (investment bankers)

ส่วนบรรดาแมลงเม่า และนักลงทุนหรือผู้บริหารกองทุนตามตำราปัจจัยพื้นฐานก็มักจะหมดตัวหรือทำให้ผู้ถือหุ้น ผู้ร่วมลงทุน ประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจบชีวิตเหมือนกับแมลงเม่าที่วิ่งเข้าหากองไฟไปด้วย

ตัวอย่างกลยุทธ์ที่ใช้ เช่น การตั้งคำสั่งซื้อและขายพร้อมกันในตลาดเดียวกันหรือคนละตลาดเพื่อกินกำไรส่วนต่าง (arbitrage) การซื้อเมื่อตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นและขายล่วงหน้าเมื่อตลาดอยู่ในภาวะขาลง long-short investing techniques, การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ซื้อขายแทนคน ซึ่งเรียกว่า quantitative investing หรือ program trading ซึ่งมีการตั้งโปรแกรมทั้งซื้อหรือขายเมื่อดัชนีตัวใดตัวหนึ่ง หรือดัชนีของตลาด หรือราคาหุ้น หรืออัตราแลกเปลี่ยนขึ้นหรือลงถึงจุดนั้นก็จะสั่งซื้อหรือขายโดยอัตโนมัติในเสี้ยววินาที ซึ่งคำสั่งเหล่านี้มีนับหมื่น ๆ คำสั่งต่อวัน หรือเป็นแสนเมื่อรวมของทุกกองทุนเข้าด้วยกัน โปรแกรมเทรดดิ้งนี้เองเป็นต้นตอของความผันผวนของตลาดทุน ตลาดเงิน และตลาดอื่น ๆ ทุกตลาด ที่เรียกว่า panic trading ซึ่งเกิดจากการตั้งคำสั่งซื้อขายล่วงหน้าด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั่นเอง การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง การซื้อขายภายในวันเดียวกัน หรือกู้เงินมาซื้อ ที่เรียกว่า leverage

กลยุทธ์การกู้เงินมาซื้อเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทุกกองทุนนำมาใช้เพราะเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อและเพิ่มผลกำไรได้อย่างมหาศาล ถ้าหากว่าบริหารไม่ผิดพลาด เช่น เมื่อกองทุนได้รับเงินมาบริหาร 10 เหรียญ กองทุนอาจกู้เงินเพิ่มได้ 90 เหรียญ รวมเป็น 100 เหรียญ เพื่อนำไปเก็งกำไรในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือตลาดอนุพันธ์ หรือตลาดหุ้น และหากว่าขาดทุนเพียงร้อยละ 10 ก็เท่ากับว่ากองทุนนั้นหมดไปอย่างสิ้นเชิง แต่ถ้าได้กำไรร้อยละ 10 ก็เท่ากับว่าได้กำไร 100% ของเงินทุน

กรณีศึกษาตัวอย่างข้างต้น คือ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2008 บริษัท Lehman Brothers ซึ่งได้ก่อตั้งมานานถึง 158 ปี เป็นบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอเมริกา และเคยเข้าร่วมขบวนการดูดเลือดคนไทยเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 โดยเป็นทั้งบริษัทที่ปรึกษา และตีราคาทรัพย์สินเอ็นพีแอล แล้วตั้งบริษัทลูกขึ้นมาซื้อทรัพย์สินและหนี้สินในราคาต่ำกว่าราคาตลาด (ทรัพย์ของ ป.ร.ศ.) แล้วไปบีบขายให้ลูกหนี้ในราคาสูงลิ่ว เมื่อลูกหนี้ซื้อไม่ไหวก็ต้องถูกยึดกิจการ บัดนี้กรรมได้สนองโดยได้ยื่นเรื่องต่อศาลให้เป็นบริษัทล้มละลายโดยมีหนี้สินเฉพาะที่เป็นพันธบัตร 768 แสนล้านเหรียญ (768 billion) ซึ่งเท่ากับประมาณแผ่นดินไทย 30 ปี ในขณะที่ทรัพย์สินในกองทุนมีเพียง 639 แสนล้านเหรียญ (639 billion) คือติดลบ

ในปี 2003 Lehman Brothers มีเงินทุน 13,000 ล้านเหรียญ (13 billion) แต่มีบัญชีทรัพย์สินมากถึง 31,200 ล้านเหรียญ (312 billion) ซึ่งแปลว่าทุก ๆ เงินทุน 1 เหรียญ Lehman Brothers กู้มาเพิ่มอีก 24 เหรียญ (เท่า) เพื่อเก็งกำไร พอถึงปี 2007 Lehman Brothers มีเงินทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 กลายเป็น 22.5 พันล้านเหรียญ แต่มีบัญชีทรัพย์สินมากถึง 691 พันล้าน ซึ่งแปลว่าทุก ๆ เงินทุน 1 เหรียญ Lehman Brothers กู้เพิ่มเป็น 31 เท่าเพื่อเก็งกำไร

การล้มละลายของ Lehman Brothers ที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนคิดเป็นเม็ดเงิน 639 พันล้าน เป็นคดีล้มละลายที่ใหญ่กว่าการล้มละลายของบริษัทพลังงาน ENRON ในปี 2001 ถึง 10 เท่า กรณี ENRON กลายเป็นตำนานมหากาพย์แห่งการฉ้อฉลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน สถาบันจัดอันดับ และสื่อด้านเศรษฐกิจ ซึ่งล้วนพัวพันเกี่ยวข้องโยงใยกันเหมือนใยแมงมุม ไม่ต่างกับกรณีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี ซึ่งมีนายราเกซ สักเสนา และนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ เป็นผู้ต้องหา แต่มีนักการเมืองอีกจำนวนมากที่โยงใยเกี่ยวข้อง

เมื่อครั้งกองทุน, Long-Term Capital Management ซึ่งก่อตั้งโดยนักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล 2 คน และเคยทำกำไรให้นักลงทุนสูงสุดถึงร้อยละ 25-50 จนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกือบทุกสาขา และกองทุนของมหาวิทยาลัย มูลนิธิต่างแย่งกันเสนอให้กองทุนนี้บริหารให้ โดยกองทุนนี้มีเงินที่ได้รับมาบริหาร 40,000 ล้านเหรียญ แต่สามารถกู้เงินมาลงทุนได้ 12,500 ล้านเหรียญ หรือ 30 เท่าของเม็ดเงินที่ตนมี รวมทั้งมีตัวเลขงบดุลในบัญชีสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญ ด้วยวิธีการซื้อแบบใช้ margin ซึ่งใช้เงินเพียงร้อยละ 10 ในการลงทุน 100 แต่ในที่สุดกองทุนนี้ก็ล้มครืนลง และประธานาธิบดีคลินตันต้องกระโดดเข้ามาอุ้มด้วยการใช้เงินภาษีอากรของคนอเมริกันทั้งประเทศเพื่อไม่ให้ระบบเศรษฐกิจของชาติล่มแบบโดมิโน

กลยุทธ์ข้างต้นนี้เองที่ประเทศพัฒนาแล้วซึ่งประชาชนมีเงินออมมากและมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Pension Funds) ในทุกภาคส่วนรวมทั้งผู้ใช้แรงงานในประเทศเหล่านี้เป็นเจ้าของทุนปีศาจ และล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสิ้น จึงมีนโยบายบีบให้ประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดทุนและตลาดเงิน หรือแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยข้ออ้างว่าเพื่อความทันสมัย เพื่อเปิดช่องทางการระดมทุนมาขยายธุรกิจ และเป็นเรื่องการค้าเสรีหรือการเปิดเสรีเพื่อให้กองทุนปีศาจเหล่านี้สามารถเข้ามาสูบเลือดกลับไปเลี้ยงประชาชนในชาติของตน

เพียงแค่ขนาดของกองทุนปีศาจนั้นก็มหาศาลแล้ว เช่น กองทุนที่ใหญ่ที่สุด Bridgewater Associates บริหารเม็ดเงินจำนวน 38,600 ล้านเหรียญ หรือ 11 ล้านล้านบาท หรือกองทุน Soros Fund Management ของพ่อมดการเงิน Soros มีทรัพย์สิน 2 หมื่นล้านเหรียญ หรือ 7 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบเท่ากับงบประมาณแผ่นดินไทยทั้งปีในบางปี (1 ล้านล้านบาทเศษ) แต่สามารถซื้อขายโดยวิธี Leverage คือกู้เงินมาซื้อขาย หรือซื้อขายเงินเชื่อแล้วมาหักกำไรขาดทุนทีหลังได้มากถึง 10-25 เท่าของเม็ดเงินของกองทุน ดังนั้นจึงไม่มีตลาดทุนและตลาดเงินที่ไหนของโลกสามารถต้านการโจมตี หรือการ "ทุบ" ของกองทุนปีศาจเหล่านี้ได้

ใน 10 กองทุนปีศาจเหล่านี้ รับบริหารเม็ดเงินเกือบ 3 แสนล้านเหรียญต่อปี ในขณะที่กองทุนปีศาจทั้งหมดในโลก บริหารเม็ดเงินประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญ (2.5 trillion)

(ดูตาราง)


จากการเปรียบเทียบขนาดของกองทุนเมื่อก่อนเกิดวิกฤต subprime และภายหลัง กองทุนเหล่านี้ไม่ได้เล็กลงเลย เพียงแต่สลับตำแหน่งกันตามความสามารถในการแข่งขัน

ก่อนเกิดวิกฤตอสังหาฯถล่ม (subprime crisis) ในปี 2008 กฎหมายหรือระเบียบที่ควบคุมกองทุนปีศาจมีน้อยมาก เพราะรัฐเห็นว่าเป็นเรื่องของนักลงทุนใหญ่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับสาธารณชน เช่น ไม่มีระเบียบเรื่องสัดส่วนเงินสำรอง เรื่องสัดส่วนของเงินกู้ต่อทุน และนอกจากนี้ กองทุน (offshore) ส่วนใหญ่จดทะเบียนในประเทศหรือเมืองที่เรียกว่า tax haven หรือเมืองท่าปลอดภาษี เช่น Cayman Island เป็นที่ตั้งของกองทุนเหล่านี้ถึงร้อยละ 67 ตามมาด้วย British Virgin Islands ร้อยละ 11% และ Bermuda ร้อยละ 11% รวมทั้งรัฐ Delaware ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทุนภายในประเทศ (onshore) มากถึงร้อยละ 64


ตัวเลขในปี 2004 มีกองทุนปีศาจในอเมริกามากถึง 7,000 กองทุน ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออก เช่น รัฐนิวยอร์ก และคอนเนกทิคัต

กรุงลอนดอนเป็นศูนย์กลางของกองทุนปีศาจของยุโรป โดยเป็นที่ตั้งของกองทุนเหล่านี้ถึงร้อยละ 75 และมีทรัพย์สินที่รับบริหารจัดการในปี 2008 เป็นเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นเงินจากทวีปเอเชีย ร้อยละ 25 ส่วนอีกร้อยละ 25 ของเงินจากเอเชีย บริหารโดยกลุ่มทุนของอเมริกา

ในเอเชียก็มีสิงคโปร์และฮ่องกงเป็นศูนย์กลางใหญ่ หรือที่ตั้งสาขาของกองทุนปีศาจเหล่านี้

อัตราค่าบริหารกองทุน

แรงจูงใจหรือน้ำเลี้ยงของกองทุนปีศาจ คือค่าบริหารกองทุน (management fee) ค่าส่วนแบ่งจากผลกำไร (performance fee) อัตรามาตรฐานหรือราคาตลาดของค่าบริหารกองทุน คือ ร้อยละ 2 ต่อปีของมูลค่าเงินของลูกค้าที่มอบให้บริหาร แต่ต้องจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส เนื่องจากยอดเงินที่รับบริหารมีจำนวนมาก รายได้ส่วนนี้จึงเป็นรายได้ที่เป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานและเป็นผลกำไรด้วย

ค่าส่วนแบ่งจากผลกำไร (performance fee) โดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 20 ของผลกำไรสุทธิจากการบริหารกองทุนนั้น ๆ แต่บางบริษัทอาจจะคิดมากกว่านี้ เช่น Steven Cohen"s SAC Capital Partners คิดร้อยละ 35-50 หรือ Jim Simons" Medallion Fund คิดร้อยละ 45

ค่าส่วนแบ่งผลกำไรนี้มักนำมาแบ่งปันกันในหมู่ผู้บริหารในรูปของโบนัส เงินเดือน สิทธิซื้อหุ้นของบริษัท (stock option) และเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริหารกองทุนปีศาจเหล่านี้ใช้วิธีการลงทุนที่ "สุ่มเสี่ยง" เพื่อหวังผลตอบแทนสูงและได้ส่วนแบ่งสูงไปด้วย หากคาดการณ์ถูกก็จะสร้างชื่อเสียง และมีกองทุนหรือมูลนิธิ หรือสถาบันการเงินอื่น ๆ แห่กันนำเงินมาให้บริหาร หากตลาดไม่เป็นไปตามคาด ทุกอย่างก็ล้มพังครืนเหมือนวิกฤตการเงินในแต่ละช่วง ซึ่งวนเวียนกลับมาทุก 10 ปี เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า

Richard Fuld, ประธานของ Lehman Brothers ได้ถูกนาย Henry Waxman (D-CA) ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นกรรมาธิการด้านปฏิรูประบบงานของรัฐ เรียกมาให้การ เพื่อสอบสวนและตั้งคำถามว่า "บริษัทของคุณยื่นเป็นบริษัทล้มละลาย แต่คุณกลับรับเงินตอบแทนที่ดูดไปจากบริษัท เป็นเงินมากถึง 480 ล้านเหรียญ นั้นเป็นธรรมหรือไม่"

สถาบันจัดอันดับ

เครื่องมือที่สำคัญของกองทุนปีศาจ คือ สถาบันจัดอันดับ เช่น Moody"s และ Standard & Poor"s นิตยสารและ น.ส.พ.ธุรกิจ และการเงิน รายงานประจำเดือนของสถาบันการเงิน หรือกองทุน เช่น น.ส.พ.วอลล์สตรีต, Forbes, Business Week ฯลฯ ซึ่งกองทุนปีศาจเป็นผู้ให้โฆษณารายใหญ่ หรือมีผู้บริหารที่รู้จักกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือเป็นบอร์ดไขว้กัน ดังนั้นเมื่อมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือรายงานข่าว (ลือ ลับ ลวง พราง) ทำให้ผู้ลงทุนทั่วไปแตกตื่นเทขายหุ้น แล้วถูกช้อนซื้อ หรือในทางตรงกันข้าม หรือรัฐบาลหรือนักการเมืองประเทศกำลังพัฒนาแตกตื่น และออกมาตรการหรือกฎหมายในลักษณะเต้นตามเพลงที่เขาเปิด และติดกับดักการเงิน หรือกับดักหนี้

เมื่อไรจะตาสว่างกัน (เสียที)

แน่นอนว่าการปฏิเสธตลาดหลักทรัพย์ ตลาดทุน ตลาดเงิน หรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในภาวะปัจจุบัน แต่การเปิดหูเปิดตาให้ประชาชนเรียนรู้และรู้เท่าทันความจริงเชิงประจักษ์ที่มีหลักฐานยืนยันได้ และมีเหตุการณ์ของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ และการที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องนำเงินภาษีอากรมาอุ้มกองทุนปีศาจเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยัน

การให้การศึกษากับประชาชนถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นเรื่องสำคัญที่มิใช่การรู้ไม่เท่าทันและเทศนาให้ประชาชนยิ่งโง่งมและถูกหลอกต่อ ๆ ไปด้วยคาถาว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ คือ ตัวชี้วัดเศรษฐกิจของชาติ และมีการใช้เงินภาษีเข้าอุ้มเมื่อเกิดวิกฤต แต่ความจริงเศรษฐกิจโลกในวันนี้ ก็ไม่ต่างจากบ่อนที่มาเก๊า หรือลาสเวกัสนั่นเอง

นอกจากนี้รัฐต้องไม่งมโข่งหลับหูหลับตาเชื่อในเรื่องการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ หรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำเข้าตลาดหุ้น ทั้ง ๆ ที่เป็นรายได้ของรัฐ หรือการเปิดเสรีอย่างหลับหูหลับตา แล้วปล่อยให้ทุนปีศาจเข้ามาดูดเลือดคนในชาติได้อย่างเสรีโดยปราศจากการควบคุม ด้วยมาตรการภาษี หรือมาตรการอื่น ๆ ที่เป็นการป้องปรามกองทุนปีศาจที่ไร้คุณธรรมเหล่านี้เข้ามาควบคุมและมุ่งหากำไรอย่างเสรี

ประชาชาติธุรกิจ




 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2552 10:56:16 น.
Counter : 721 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

Mr.Messenger
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 61 คน [?]




Head, Investment Consultants Citigold Citibank N.A. (Thailand)
free hit counter
click here
free hit counter
Friends' blogs
[Add Mr.Messenger's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.