All Blog
ขั้นตอนในการพิจารณาคดีแพ่ง

กฎเกณฑ์ที่ใช้ในการดำเนินคดีแพ่งเรียกว่า Rules of civil procedure โดยมีกฎเกณฑ์ของรัฐบาลกลางใช้ทั้งในศาลรัฐบาลกลางและกฎเกณฑ์ของมลรัฐใช้ในศาลมลรัฐ ทั้งนี้กฎเกณฑ์ของศาลมลรัฐส่วนใหญ่ก็จะเหมือนกับหรือมีพื้นฐานมาจากกฎเกณฑ์ของรัฐบาลกลาง ส่วนวิธีพิจารณาคดีอาญานั้นก็มีส่วนคล้ายกับวิธีพิจารณาคดีแพ่งเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นแต่ ประเด็นในคดีอาญาในชั้นก่อนการพิจารณาคดี การปล่อยจำเลย และ การมีคำพิพากษา
ประเด็นเริ่มต้น
ก่อนเข้าสู่การพิจารณา คู่ความต้องแน่ใจเสียก่อนว่าตนได้เข้าเงื่อนไขเบื้องต้น เพื่อเป็นหลักประกันว่า คดีนั้นต้องการการพิจารณาคดีโดยศาลและคู่ความทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นคู่ความที่แท้จริง สิ่งที่จะต้องเข้าเงื่อนไขในชั้นนี้มีเรื่องอำนาจฟ้อง(Standing) มีการโต้แย้งสิทธิ (Controversy) และคดีพอวินิจฉัยได้ (Ripeness) ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อสำคัญที่สุดในคดีสิ่งแวดล้อมและมีประเด็นเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีโดยประชาชน(Citizen Suite)ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดต่อไป
ก่อนการดำเนินกระบวนพิจารณา(Pretrial)อาจมีการเจรจาระหว่างคู่ความอย่างไม่เป็นทางการ(Informal Negotiation) และคู่ความอาจยุติข้อพิพาทได้ในช่วงเวลานี้ หากข้อพิพาทไม่อาจยุติได้ก็จะมีการยื่นฟ้อง ยื่นคำให้การ ฟ้องแย้ง ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง โดยการยื่นคำฟ้องต้องยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนในช่วงเริ่มแรกซึ่งคู่ความอาจมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งบางอย่าง เช่นร้องขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา(Temporary Relief) เช่นห้ามมิให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์พิพาทไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และจะมีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เรียกว่า Discovery เป็นการเปิดเผยข้อความสำคัญของคู่ความฝ่ายปรปักษ์ รวมทั้งคำถามซึ่งคู่ความส่งไปให้ฝ่ายตรงข้ามตอบมาเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมกับสาบาน และมีการขอเอกสารและคำให้การของพยาน ในช่วงนี้ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ฝ่ายตนชนะคดีโดยข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ถ้าผู้พิพากษาพบว่ามีประเด็นปัญหาข้อเท็จจริง (question of Fact) ก็มักจะเรียกประชุมทนายความของคู่ความทุกฝ่าย โดยจะพยายามบีบประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้แคบลง มีการยอมรับข้อเท็จจริงร่วมกัน คงเหลือแต่ข้อเท็จจริงที่ยังคงพิพาทกันอยู่ และบ่อยครั้งที่คู่ความสามารถบรรลุความตกลงและยอมความกันในชั้นนี้ แต่หากตกลงกันไม่ได้ก็จะเข้าสู่การพิจารณาสืบพยาน (Trial) ในการสืบพยานนั้น ลูกขุนจะเป็นผู้พิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีการเยียวยาให้ตามกฎหมาย (Legal Remedy) อาทิเช่น การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ (Monetary Damages) แต่หากต้องการขอให้ศาลออกคำสั่งห้ามหรือคำสั่งใดๆเพื่อระงับความเสียหาย (injunction or other court order) หรือสละสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยลูกขุน ผู้ที่จะพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงก็คือ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี ตัวอย่างเช่น หากโจทก์ฟ้องเจ้าของโรงงานแห่งหนึ่งเป็นจำเลยในความประมาทที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารพิษเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่สุขภาพโดยขอให้ศาลกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์ เป็นเงิน 10,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล ก็เป็นการขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย กรณีนี้ จะพิจารณาโดยใช้ลูกขุน แต่หากเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลออกคำสั่งห้ามมิให้มีการก่อสร้างเขื่อนซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์แล้ว จะเป็นการพิจารณาโดยไม่มีลูกขุน เป็นต้น ทั้งนี้ในขั้นตอนการพิจารณาและสืบพยานนั้น จะประกอบด้วย การคัดเลือกลูกขุน แถลงการณ์เปิดคดีโดยโจทก์และจำเลย การนำพยานโจทก์ และพยานจำเลยเข้าสืบ การให้คำแนะนำแก่ลูกขุนในการรับฟังพยานหลักฐานและการทำคำวินิจฉัยชี้ขาด แถลงการณ์ปิดคดีโดยโจทก์และจำเลย และอาจมีกระบวนการหลังการพิจารณคดี อทิ การร้องขอต่อศาลให้มีคำตัดสินที่แตกต่างจากคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะลูกขุน ตัวอย่างเช่น โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 500 เหรียญสหรัฐ แต่กลับแสดงพยานหลักฐานในส่วนของค่าเสียหายเพียงจำนวน 100 เหรียญสหรัฐ คณะลูกขุนไม่อาจกำหนดค่าเสียหายที่เหลือจำนวน 400 เหรียญสหรัฐซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบได้ จำเลยจึงอาจยื่นคำร้องโต้แย้งในส่วนนี้ นอกจากนี้ คู่ความที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยชี้ขาด อาจร้องขอให้มีการพิจารณาใหม่เนื่องจากคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะลูกขุนนั้นขัดกับน้ำหนักของพยานอย่างชัดเจน หากคำร้องไม่เป็นผลและศาลมีคำพิพากษาตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะลูกขุน คู่ความฝ่ายที่ไม่พอใจในคำพิพากษาก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลสูงต่อไป




Create Date : 04 มีนาคม 2551
Last Update : 4 มีนาคม 2551 15:10:37 น.
Counter : 1060 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Env. Boalt
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments