All Blog
การฟ้องคดีโดยประชาชน(citizen suite)
การฟ้องคดีโดยประชาชน(citizen suite)นั้น กฎหมายสิ่งแวดล้อมอนุญาตให้ประชาชนฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมได้สองประเภท กล่าวคือ ประเภทแรก ประชาชนมีสิทธิฟ้องผู้บริหาร EPA ด้วยเหตุอันเนื่องมาจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมาย หรือไม่กระทำภายในกำหนดเวลา เมื่อพิจารณาในแง่มุมนี้การฟ้องคดีโดยประชาชน จึงเป็นการช่วยควบคุมให้EPAกระทำการตามหน้าที่ซึ่งกฎหมายกำหนดให้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเภทที่สอง เป็นการอนุญาตให้ประชาชนสามารถฟ้องเพื่อดำเนินคดีผู้ก่อมลพิษหรือกระทำการใดๆอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้ การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ได้แก่ การปล่อยมลพิษโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือเกินกว่าปริมาณที่ได้รับอนุญาต ล้มเหลวในการตรวจสอบมลพิษ หรือในการรายงานผลการตรวจสอบแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างกฎหมายที่อนุญาตให้ประชาชนอาจร้องขอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามกฎหมายสิ่งแดล้อมได้ อาทิ ตามClean Air Act (CAA) กำหนดให้บุคคลใดๆสามารถร้องต่อ EPAเพื่อให้โต้แย้งคัดค้านคำอนุญาตของมลรัฐตาม Title V โดยต้องร้องขอภายใน 60 วันหลังจากช่วงเวลาในการทบทวนของ EPA ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ไม่มีข้อท้วงติงใดๆจาก EPA ส่วน CERCLA กำหนดให้ผู้ใดที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยวัตถุอันตรายสามารถร้องขอต่อ EPA ให้ทำการประเมินเบื้องตนในเขตพื้นที่ซึ่งมีการปล่อยวัตถุเช่นว่านั้นว่ามีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน มิฉะนั้นต้องแจ้งให้ทราบถึงเหตุที่ไม่อาจกระทำการดังกล่าวได้ เป็นต้น ในส่วนการใช้สิทธิฟ้องร้องผู้กระทำความผิดตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมนั้น รัฐสภาสหรัฐแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประชาชนจะต้องไม่ถูกรบกวนหรือสร้างปัญหาให้ และสามารถมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเป็นการประกันว่ากฎหมาย(Clean Air Act)จะมีการบังคับใช้ โดยทำหน้าที่เสมือนเป็นอัยการสูงสุดในภาคเอกชน (Private Attorney Generals) ทั้งนี้ประชาชนสามารถฟ้องคดีได้ที่ศาลมลรัฐเพื่อขอให้มีคำสั่งห้ามเพื่อบรรเทาความเสียหาย(Injunctive Relief) โดยให้แก้ไขหรือหยุดการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมาย และให้มีการชำระค่าปรับเป็นค่าเสียหายที่จ่ายให้แก่รัฐ(Civil Penalty) โดยมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมหลักๆที่ให้อำนาจส่วนนี้แกประชาชนไว้ เช่น Clean Air Act (CAA) Clean Water Act (CWA) Resource Conservation and Recovery Act (RCRA) และ Comprehensive Environmental Response Compensation and Liability Act (CERCLA)
ในส่วนของ Clean Water Act เกี่ยวกับการฝ่าฝืน CWAนั้น ก่อนอื่น ผู้ปล่อยมลพิษต้องได้รับอนุญาตตามระบบการกำจัดของเสียที่มีการปลดปล่อยแห่งชาติ (National Pollutant Discharge Elimination System, NPDES) ให้ปล่อยของเสียลงสู่ทางน้ำของสหรัฐ โดยNPDES จะกำหนดมาตรฐานหรือข้อจำกัดในการปลดปล่อย รวมถึงการตรวจสอบและรายงานการปฏิบัติโดยใช้มาตรฐานการจัดการที่ดีที่สุด (Best Management Practices, BMPS) การฝ่าฝืนข้อจำกัดหรือเงื่อนไขตามคำอนุญาตที่ระบุไว้ใน NPDES ถือเป็นการละเมิด CWA มีการกำหนดเรื่องอำนาจฟ้องไว้ดังนี้ 1.บุคคลใดๆอาจฟ้องคดีแพ่งเพื่อประโยชน์ของตนได้ 33 U.S.C. s 1365 (as) ประชาชน (Citizen) หมายถึงประชาชนใดๆหรือบุคคลหลายคนซึ่งมีผลประโยชน์ซึ่งหรืออาจจะได้รับผลกระทบ 2.ประชาชนจะมีอำนาจฟ้องก็เมื่อตนได้รับความเสียหายจากการกระทำอันละเมิดกฎหมายของจำเลย การปล่อยมลพิษซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ การพักผ่อนหย่อนใจ ความสุนทรีย์ และสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนที่จะฟ้องคดีนั้นต้องใช้น้ำที่ได้รับผลกระทบนั้นเป็นประจำ อาศัยหรือพักผ่อนหย่อนใจใกล้ทางน้ำนั้น ทั้งนี้ก่อนฟ้องคดีประชาชนผู้จะฟ้องคดีต้องส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ที่ฝ่าฝืน หน่วยงานที่ปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม(EPA) และ MPCA ตาม U.S.C. s 1365(b) ด้วยวิธีการตามที่กำหนดไว้ใน C.F.R. Part 135.1-135.3 เป็นเวลา 60 วันก่อนฟ้องคดี อายุความในการฟ้องคดีคือ 5 ปี ตาม U.S.C. s 2462 โดยเป็นกำหนดเวลาสำหรับศาลในการกำหนดค่าปรับ(Civil Penalty) CWAไม่ได้ให้อำนาจศาลมลรัฐในการพิจารณาคดีที่ฟ้องโดยประชาชนเพื่อบังคับเหนือทุกส่วนของการฝ่าฝืน และการฝ่าฝืนนั้นต้องยังคงมีอยู่ในขณะฟ้อง การฟ้องคดีต้องกระทำโดยเจตนาสุจริต(Good-Faith) และมีภาระการพิสูจน์ที่หนักตกแก่ผู้ฝ่าฝืนว่า จะต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพฤติกรรมการฝ่าฝืนนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ดี ประชาชนยังไม่อาจฟ้องคดีได้หาก EPA หรือ MPCA ได้ฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลก่อนแล้ว ในส่วนของโทษนั้น ค่าปรับสูงถึง 25,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งการกำหนดค่าปรับนั้นศาลจะพิจารณาจาก ความรุนแรงของการฝ่าฝืน ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ผู้ฝ่าฝืนได้รับจากการฝ่าฝืน ความจริงใจในการพยายามปฏิบัติตาม ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อผู้ฝ่าฝืน และปัจจัยอื่นอันเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ค่าปรับนั้นจะถูกส่งไปยังกระทวงการคลัง แต่ศาลอาจกำหนดให้มอบเงินดังกล่าวแก่โครงการสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของ CWA นอกจากนี้ ศาลอาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าฤชาธรรมเนียม ตลอดจนทนายความและค่าป่วยการพยานผู้เชี่ยวชาญแทนโจทก์ได้ โดยค่าทนายความจะกำหนดตามอัตราท้องตลาด(Market Rates) การทำยอมอาจมีได้ โดยมักต้องมี กำหนดการที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ค่าปรับ(Civil Penalty)ที่ต้องจ่ายให้แก่กระทรวงการคลัง ค่าใช้จ่ายที่จะมอบให้แก่โครงการสิ่งแวดล้อม ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งต้องส่งข้อตกลงไปให้รัฐบาลสหรัฐทราบก่อนศาลมีคำพิพากษาตามยอมเป็นเวลา 45 วัน และในการพิจารณาว่าจะพิพากษาตามยอมให้หรือไม่นั้น ศาลต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นไปโดยเป็นธรรม(Fair) สมเหตุสมผล (Reasonable) เที่ยงธรรม (Equitable) และไม่ขัดต่อความสงบและศีลธรรมอันดีของประชาชน(Public Policy)



Create Date : 04 มีนาคม 2551
Last Update : 4 มีนาคม 2551 15:20:26 น.
Counter : 1364 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Env. Boalt
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments