All Blog
บ่อเกิดแห่งกฎหมายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของสหรัฐอเมริกา
ด้วยการริเริ่มของรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของกฎหมายสภาพอากาศ ซึ่งตรงกันข้ามกับสมัยประธานาธิบดีคลินตันและสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่กฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีผลบังคับใช้เท่าที่ควร
ในสมัยประธานาธิบดีบุช มีการอนุมัตินโยบายลด “ความเข้มข้น” ซึ่งหมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อ 1 ดอลลาร์ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวมีผลทางปฏิบัติน้อยมาก เพราะปริมาณผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการลดลงของก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ มุมมองของรัฐบาลในสมัยประธานาธิบดีบุชคือ ต้องมีวิธีการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมเสียก่อนที่จะดำเนินการใดๆ และการกระทำฝ่ายเดียวของสหรัฐอเมริกาไม่มีผลใดๆ เพราะเป็นเพียงส่วนเล็กๆของปัญหาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้ระหว่างสมัยประธานาธิบดีบุชเอง หน่วยงานภาคอื่นได้เริ่มตื่นตัวกับปัญหาสภาพอากาศ โดยเฉพาะรัฐบาลระดับมลรัฐและศาลฎีกา
ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโอบามา รัฐบาลสหพันธรัฐกำลังเตรียมแก้ไขพระราชบัญญัติที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างน้อยพระราชบัญญัติหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศ กฎหมายใหม่ที่กำลังจะผ่านภายใน 2 ปีนี้มีแนวโน้มว่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของโครงการจำกัดการปล่อยก๊าซและการค้า (Cap-and-trade) ผสมผสานกับการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลสหพันธรัฐยังได้เริ่มคำนึงถึงประเด็นการปรับเปลี่ยนแนวทางให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอีกด้วย
1. กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กฎหมายปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา
ก่อนที่เราจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของกฎหมายสหพันธรัฐฉบับใหม่ในส่วนต่อไป เราจะพิจารณาถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในบัจจุบันในส่วนนี้เสียก่อน ซึ่งมีสถานการณ์ 3 ประการ ที่จะต้องพิจารณา ประการแรก มลรัฐต่างๆ และรัฐบาลท้องถิ่นได้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ประการที่สองศาลฎีกาก็ได้พาดพิงถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเช่นกัน และประการที่สามกฎหมายสหพันธรัฐที่มีอยู่ได้กำหนดถึงวิธีการที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
ก. บทบาทของมลรัฐต่างๆในการออกกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศ
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นปัญหาระดับโลก อย่างไรก็ตามมลรัฐต่างๆได้ตระหนักถึง
การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นการตอบโต้ความไม่สนใจในปัญหานี้ของรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุช สิ่งนี้ยังสะท้อนถึงความมุ่งหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนมลรัฐต่างๆให้ปฏิบัติอย่างเป็นอิสระ โดยมิใช่เป็นเพียงตัวแทนในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลสหพันธรัฐเท่านั้น
รัฐบาลของมลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นตัวอย่างที่ดีที่เลือกจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัญหาหลักที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียจัดการคือ ปัญหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากจากการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยวิธีการแก้ปัญหาของมลรัฐแคลิฟอร์เนียคือการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม เป็นต้น
มลรัฐอื่นๆล้วนมีการดำเนินการแก้ปัญหาสภาพอากาศเช่นกัน ความพยายามของมลรัฐต่างๆเหล่านี้สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลสหพันธรัฐดำเนินการเพื่อให้มีโครงการระดับชาติเพียงโครงการเดียวเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ข. บทบาทของศาล
1. ความเป็นมา
ศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาตัดสินคดีแรกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
คำตัดสินของศาลในคดีนี้เป็นก้าวสำคัญ ศาลได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และยังได้ยอมรับว่ากฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซสามารถช่วยแก้ปัญหาได้
คดีนี้เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดจากรถยนต์ ซึ่งประเด็นแห่งคดีไม่ใช่ว่ามลรัฐแคลิฟอร์เนียสามารถออกกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซได้หรือไม่ แต่ประเด็นคือรัฐบาลสหพันธรัฐสามารถออกกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่ พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศของสหพันธรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งข้อจำกัดมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของมนุษย์ รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุชนิยามว่าก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ “มลพิษ” ตามความหมายของพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้นรัฐบาลสหพันธรัฐไม่มีอำนาจที่จะออกกฎหมายดังกล่าวได้ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลได้ยืนยันว่า แม้รัฐบาลจะมีอำนาจที่จะออกกฎเกณฑ์ควบคุมก๊าซเรือนกระจก แต่การใช้อำนาจดังกล่าวมิใช่เรื่องที่ควรกระทำเนื่องจาก ประการแรก รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุชให้เหตุผลว่าควรจะใช้การเจรจาระหว่างประเทศมากกว่า เช่นการเจรจากับประเทศจีน ประการที่สอง กฎเกณฑ์หรือกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซอาจขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ของสหพันธรัฐเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์
มลรัฐแมซซาชูเสต และโจทก์รายอื่นๆ ได้ยื่นฟ้องคดีเพื่อบังคับให้รัฐบาลออกกฎเกณฑ์ควบคุมการปล่อยก๊าซจากรถยนต์เช่นกัน และด้วยคำวินิจฉัยของศาล 5 ต่อ 4 ศาลได้ปฏิเสธข้ออ้างของรัฐบาลเกี่ยวกับการตีความพระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศ
2. ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง
ก่อนที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดี ศาลต้องพิจารณาถึงอำนาจฟ้องตามกฎหมายของโจทก์เสียก่อน ซึ่ง
หลักเกณฑ์ที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องได้ มี 3 ประการ คือ (1) โจทก์ต้องได้รับความเสียหายตามความเป็นจริง (2) จำเลยเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย และ (3) ศาลหรือคำพิพากษาของศาลสามารถเยียวยาความเสียหายได้จริง ถ้าไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณาได้ ดังนั้นศาลต้องพิจารณาตามความเป็นจริง สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และความเป็นไปได้ว่ากฎหมายของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับภาคการคมนาคมสามารถแก้ปัญหาได้
องค์ประกอบประการแรกของอำนาจฟ้องคือ ความเสียหายเกิดขึ้นจริง หรือความเสี่ยงที่น่าจะเกิดความเสียหาย ศาลได้กล่าวว่าภัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต้องถึงขนาดและรับรู้ได้ ศาลให้ข้อสังเกตุว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเป็นการคุกคามต่อผลประโยชน์หรือสิทธิของรัฐ เพราะทรัพย์สินชายฝั่งจำนวนมากจะถูกน้ำท่วม
องค์ประกอบของอำนาจฟ้องประการที่สองคือ ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล องค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐยอมรับถึงการมีอยู่ของความสัมพันธ์ระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกระทำของมนุษย์และภาวะโลกร้อน แต่ก็ได้โต้แย้งว่าการควบคุมการปล่อยก๊าซจากยานพาหนะในสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเพราะยานพาหนะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซ ศาลปฏิเสธข้อสันนิษฐานที่ผิดหลงว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกเพียงเล็กน้อยไม่อาจถูกฟ้องให้รับผิดในศาลสหพันธรัฐ ศาลย้ำว่าตัวแทนรัฐบาลไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาใหญ่ในคราวเดียว แต่สามารถแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอนไปและอาจปรับเปลี่ยนแนวทางได้ตามความเหมาะสม
ยิ่งไปกว่านั้นการดำเนินการในก้าวแรกนี้มีความสำคัญ “พิจารณาเฉพาะการปล่อยก๊าซจากภาคคมนาคมซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งและน้อยกว่าหนึ่งในสามของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งประเทศ สหรัฐอเมริกาก็ยังคงอยู่ในลำดับสามของประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดของโลกรองจากสหภาพยุโรป และจีน”
องค์ประกอบประการสุดท้าย ศาลไม่ยอมรับข้อโต้แย้งของรัฐบาลที่ว่าคำพิพากษาของศาลไม่สามารถเยียวยาปัญหาภาวะโลกร้อน “แม้จะเป็นความจริงว่าการออกกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซจากรถยนต์จะไม่ได้แก้ไขภาวะโลกร้อนด้วยตัวของมันเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าศาลไม่มีอำนาจตัดสินว่า องค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐมีหน้าที่ดำเนินการเพื่อชะลอหรือลดภาวะโลกร้อน”
สรุปหลักกฎหมายที่ศาลได้วางไว้เกี่ยวกับอำนาจฟ้องได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ก่อให้เกิดซึ่งภัยคุกคาม แม้ความเสี่ยงของภัยอันตรายดังกล่าวยังคงห่างไกลแต่ก็เกิดขึ้นจริง และภัยนั้นสามารถลดลงได้ในระดับหนึ่งถ้าผู้เรียกร้องได้รับการเยียวยาตามที่ฟ้องร้อง ดังนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ทั้งนี้ แนวความเห็นของศาลคือ แม้ว่าก๊าซเรือนกระจกจะมาจากเพียงแหล่งใดแหล่งหนึ่งและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยจากทั้งหมด การลดปริมาณการปล่อยก๊าซจากแหล่งนั้นยังคงมีคุณค่าเสมอ
หลักที่ศาลฎีกาวางไว้ทำให้เกิดความชัดเจนว่าศาลจะมีบทบาทในการพัฒนากฎหมายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ บทบาทนี้อาจเกี่ยวข้องกับการตีความกฎหมายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามอย่างที่เราจะเห็นในส่วนต่อไปว่า บทบาทดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการตีความกฎหมายสหพันธรัฐที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย
ค. การใช้บทบัญญัติของสหพันธรัฐที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อตอบโต้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
1. พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศ
ศาลฎีกาวางหลักว่า ไม่ควรพิจารณาว่าพระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของการควบคุมก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ แต่ควรพิจารณาเฉพาะประเด็นทางวิทยาศาสตร์ว่าก๊าซเรือนกระจกก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ อย่างไรก็ดี รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุชยังปฏิเสธที่จะดำเนินการใดๆ โดยยังคงเชื่อว่าการควบคุมก๊าซเรือนกระจกเป็นนโยบายที่ไม่ดี เนื่องจากเห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่มีผลต่อการแก้ปัญหา
เมื่อเกิดมลภาวะทางอากาศ พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศกำหนดให้องค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐกำหนดระดับมาตรฐานที่ปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงการก่ออันตรายต่อสุขภาพและสวัสดิภาพของมนุษย์ จากนั้นมลรัฐต่างๆถูกกำหนดให้ดำเนินการตามแผนเพื่อให้บรรลุถึงระดับความปลอดภัยดังกล่าวภายในกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมซึ่งต้องเป็นระยะเวลาอันสั้น ขั้นตอนของแผนการดังกล่าวนี้เหมาะสมสำหรับการแก้ปัญหามลพิษระดับท้องถิ่นแต่ไม่เหมาะสมกับปัญหาระดับโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเพราะกำหนดระยะเวลาอันสั้นไม่สามารถทำได้ตามความเป็นจริง และรัฐต่างๆไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยลำพัง อย่างไรก็ตามบทบัญญัติก็มีความยืดหยุ่นและมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาปรับใช้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาได้ดำเนินการในการแก้ปัญหานี้ โดยได้ประกาศว่ารัฐบาลประสงค์ที่จะพิสูจน์ว่าก๊าซเรือนกระจกเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยและสวัสดิภาพสาธารณะ การประกาศดังกล่าวทำให้เกิดข้อโต้เถียงในการร่างกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศเพราะถูกจับตามองว่าจะจัดการแก้ปัญหาในการใช้กฎหมายฉบับนี้ต่อปัญหาก๊าซเรือนกระจกอย่างไร
2. พระราชบัญญัติสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์
พระราชบัญญัติสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สามารถนำมาปรับใช้กับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ พระราชบัญญัตินี้ห้ามตัวแทนของสหพันธรัฐในการดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั้งได้ห้ามรัฐบาลระดับมลรัฐและองค์กรเอกชนทำอันตรายใดๆ ต่อสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะสูญพันธุ์รวมถึงถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ด้วย
อย่างไรก็ตามทั้งรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุชและโอบามาต่างมีจุดยืนเดียวกันว่า รัฐบาลจะไม่ใช้การคุ้มครองสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประกาศจุดยืนดังกล่าวทำให้กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อโต้แย้งการตีความกฎหมายฉบับนี้
3. แถลงการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
พระราชบัญญัตินโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดให้แถลงการณ์เกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นไปตามการดำเนินการหลักของสหพันธรัฐที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างสำคัญ แถลงการณ์ดังกล่าวต้องมีการกล่าวถึงผลกระทบของการดำเนินการ และทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ คำถามจึงเกิดมีขึ้นว่าเมื่อใดจะถือว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นผลกระทบของการดำเนินการของรัฐบาลตามวัตถุประสงค์ของบทบัญญัตินี้ ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์แห่งสหพันธรัฐได้วางหลักไว้ว่า หากเป็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ชัดแจ้ง แม้จะเป็นผลกระทบทางอ้อม ก็ต้องนำมาพิจารณา
ดังนั้น บทบัญญัติที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถนำมาจัดการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ ความเป็นไปได้นี้เพิ่มแรงกดดันให้แก่สภานิติบัญญัติที่จะร่างกฎหมายใหม่เพื่อจัดการกับประเด็นปัญหาสภาพอากาศโดยตรง
2. แผนการในอนาคตของรัฐบาลสหพันธรัฐ
ประเด็นสำคัญคือ สภานิติบัญญัติจะผ่านกฎหมายใหม่ที่จัดการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโดยเฉพาะหรือไม่ ในส่วนนี้จะเริ่มจากการพิจารณาสถานการณ์ทางการเมือง หลังจากนั้นจะพิจารณาถึงประเด็นปัญหาหลักที่กฎหมายใหม่จะต้องเข้ามาจัดการแก้ไข และท้ายที่สุดเราจะพิจารณาจุดยืนที่เป็นไปได้ของสหรัฐอเมริกาในการเจรจาเกี่ยวกับสภาพอากาศในระดับระหว่างประเทศ
ก. ความคาดหวังที่จะมีกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศของสหพันธรัฐฉบับใหม่
สภานิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกาได้พิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา ร่างพระราชบัญญัติการจำกัดการปล่อยก๊าซและการค้าเกือบจะผ่านในชั้นวุฒิสภา ความหวังในการออกกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ครอบคลุมจะเพิ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2009 เพราะเสียงข้างมากของพรรคเดโมแครตที่มีในสภานิติบัญญัติ นอกจากนี้ประธานาธิบดีโอบามาได้ประกาศอย่างชัดแจ้ง ว่าจะให้การสนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าว
แนวโน้มที่จะใช้พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศมาจัดการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้กฎหมายใหม่มีความเป็นไปได้มากขึ้น แต่นักรัฐศาสตร์กังวลเกี่ยวกับ“การใช้สิทธิยับยั้ง” (Veto) ในกระบวนการร่างกฎหมาย ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีการใช้สิทธิยับยั้งอย่างมากมายเพื่อขัดขวางการออกกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศของสหพันธรัฐ
ทั้งนี้ การออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการฟ้องร้องให้รับผิดภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศ เพราะกระบวนพิจารณาจะมีความล่าช้ากว่าการออกกฎหมายและศาลอาจพิพากษาว่าไม่มีภัยอันตรายตามที่โจทก์ฟ้องและยกฟ้องได้
ข. ประเด็นในกฎหมายสหพันธรัฐฉบับใหม่
ลักษณะหลายประการของกฎหมายฉบับใหม่นี้ยังต้องได้รับการแก้ไขอีกหลายประการ ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่ากฎหมายใหม่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของโครงการการจำกัดการปล่อยก๊าซและการค้า โครงการนี้เกี่ยวกับการอนุญาตให้ปล่อยก๊าซ เนื่องจากมีการจำกัดจำนวนการอนุญาต จึงมีการจำกัดจำนวนรวมของการปล่อยก๊าซด้วย
หลักการพื้นฐานของโครงการจำกัดการปล่อยก๊าซและการค้านั้นสามารถเข้าใจได้โดยง่าย แต่กลับมีความซับซ้อนในรายละเอียด จากการเสนอร่างกฎหมายในครั้งก่อนๆในสภานิติบัญญัติ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ด้านหลักๆคือ ระดับของการจำกัดการปล่อยก๊าซ ขอบเขตของโครงการการค้า การกระจายการให้การอนุญาต และผลกระทบของกฎหมายต่อโครงการระดับมลรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน
1. การจำกัดการปล่อยก๊าซ : ประธานาธิบดีโอบามาเห็นด้วยกับการลดการปล่อยก๊าซอย่างเฉียบพลัน ตัวอย่างกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่กำลังอยู่ภายใต้การพิจรณาของสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาในขณะนี้ คือ พระราชบัญญัติแวกซ์แมน
2. ขอบเขตของโครงการ : ในแต่ละโครงการจะมีขอบเขตที่แตกต่างกันไป โครงการที่ครอบคลุมกว้างกว่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเพราะทำให้ค่าใช้จ่ายในการลดการปล่อยก๊าซลดลง และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ นักเศรษฐศาสตร์เห็นด้วยกับการชดเชยโดยวิธีอื่นแทน ตัวอย่างเช่น การปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ
3. การกระจายการให้การอนุญาต : ร่างกฎหมายบางฉบับกำหนดให้มีการอนุญาตบนพื้นฐานของการปล่อยก๊าซในอดีต ส่วนร่างกฎหมายบางฉบับก็กำหนดให้มีการประมูลการอนุญาต แต่ถ้านำการประมูลมาใช้ คำถามที่ตามมาคือ จะนำเงินที่ได้มาจากการประมูลไปทำประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ซึ่งคำตอบที่เป็นไปได้ก็เช่น การให้เงินช่วยเหลือในการปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เป็นต้น
4. การมีอำนาจเหนือกฎหมายระดับรัฐ : โครงการระดับสหพันธรัฐอาจมีผลเหนือหรือชะลอการกระทำระดับมลรัฐ
การพิจารณาทั้ง 4 ด้านหลักของกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สภานิติบัญญัติก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากหลายทิศทางให้ผ่านกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากระดับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเจรจารอบกรุงโคเปนเฮเกน และในท้ายที่สุด แม้ว่าสภานิติบัญญัติจะไม่ดำเนินการใดๆ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาจะทำให้กฎหมายการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมีผลบังคับใช้ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมมลพิษทางอากาศโดยไม่ต้องมีการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติก่อน
นอกจากโครงการจำกัดการปล่อยก๊าซและการค้า ยังมีความพยายามที่จะกระตุ้นการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่มีอยู่ และกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนี้ประสิทธิภาพของพลังงานยังคงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพของพลังงานมากขึ้น
รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาให้คำมั่นสัญญาว่าจะพัฒนาและใช้เทคโนโลยีพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ นอกจากนี้ เลขาธิการกระทรวงพลังงานคนใหม่ยังเป็นนักวิทยาศาสตร์และได้มุ่งค้นคว้าพัฒนาเชื้อเพลิงในการคมนาคมที่มีการใช้ก๊าซคาร์บอนในปริมาณต่ำ
ค. การเจรจาของสหรัฐอเมริกาและระดับระหว่างประเทศ
คำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้คือ สหรัฐอเมริกาจะทำอย่างไรกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพอากาศระหว่างประเทศ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกาจะตกลงจะเข้าผูกพันเฉพาะข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาอาจไม่ให้คำมั่นสัญญาใดๆ หากไม่มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการควบคุมการปล่อยก๊าซในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน แต่ข้อตกลงก็อาจมีทางเป็นไปได้ เพราะสหรัฐอเมริกาจะร่วมโต๊ะเจรจาอีกครั้งและเต็มใจที่จะทำคำมั่นสัญญาบางประการ นอกจากนี้ ประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีทีท่าที่จะยืดหยุ่นมากขึ้น
3. การปรับเปลี่ยนให้ทันกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศในบางระดับเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นมาตรการการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีความต้องการที่จะพิจารณามาตรการดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่จะคาดหมายได้
ตัวอย่างเช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนียประสบปัญหาภัยแล้งในฤดูร้อน แต่กลับมีฝนตกมากในฤดูหนาว ซึ่งฝนในฤดูหนาวอาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมที่รุนแรง จึงต้องการมาตรการป้องกันน้ำท่วมและมาตรการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูร้อนด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ตามมาคือ จำนวนงบประมาณที่ได้จากรัฐบาลสหพันธรัฐเพื่อใช้ในการดำเนินมาตรการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และผลประโยชน์ที่จะได้รับ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าวด้วย
4. บทสรุป
นโยบายของสหรัฐอเมริกาหลายนโยบายได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ขึ้นเป็นผู้นำแทนอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ความแตกต่างทางด้านนโยบายที่สำคัญคือ นโยบายด้านสภาพอากาศและพลังงาน กล่าวคือ รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีบุชสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงจากซากสิ่งมีชีวิต เหมืองถ่านหิน และอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยไม่มีความตื่นตัวเรื่องพลังงานทดแทนและการลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม
ในทางตรงกันข้าม ประธานาธิบดีโอบามาและรองประธานาธิบดีไบเดนเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญในการที่จะให้มีกฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศและเทคโนโลยีที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ยิ่งไปกว่านั้นสมาชิกพรรค เดโมแครตยังคุ้นเคยกับการทำข้อตกลงหลายฝ่ายทั่วไปและการเจรจาเกี่ยวกับสภาพอากาศโดยเฉพาะ ดังนั้น ความหวังที่จะมีการดำเนินการระดับสหพันธรัฐเพื่อแก้ปัญหาสภาพอากาศและพลังงานจึงมีความเป็นไปได้สูง




Create Date : 03 เมษายน 2553
Last Update : 3 เมษายน 2553 23:51:09 น.
Counter : 538 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Env. Boalt
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments