ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

cartoonthai
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 237 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add cartoonthai's blog to your web]
Links
 

 

ธรรมพระบูรพาจารย์(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)



ธรรมพระบูรพาจารย์(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)


ธรรมพระบูรพาจารย์ ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ใช้อบรมลูกศิษย์นั้น ได้มีพระภิกษุสงฆ์ในสมัยนั้นใช้อบรมพระ เณร และอุบาสก อุบาสิกกา มารดาของข้าพเจ้าได้นำกลับมายังที่บ้านในขณะที่ข้าพเจ้าอายุเพียง 7 ขวบ ข้าพเจ้าก็ได้ยึอตำราเล่มนั้นใช้ในการเจริญกรรมฐานมา โดยตลอด ข้าพเจ้าได้ขออนุญาติมาบอกเล่าสู่กันฟังแล้วกันครับ

"การบำรุงรักษาสิ่งใดๆในโลก การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม
จุดที่เป็นเยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี
ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจแล้วคือเห็นธรรม
รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจแล้วคือถึงพระนิพพาน"


"ใจนี้ คือสมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจ คือคนไม่สนใจปฏิบัติต่อดวงใจดวงวิเศษในร่างนี้
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดพลาดอยู่นั่นเอง"


"ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น
สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย"


ขออนุญาติแบ่งเป็นทั้งหมด 10 บทนะครับ

1.เรื่องภาวนา

2.วิธีนั่งสมาธิภาวนา

3.วิธีนึกคำบริกรรมภาวนา

4.วิธีกำหนดรู้จิตตกลงสู่ภวังค์เอง

5.วิธีออกจากสมาธิ

6.วิธีเดินจงกรมภาวนา

7.นิมิตสมาธิ

8.วิธีแก้นิมิตสมาธิ

9.วิธีพิจารณาอนุโลม-ปฏิโลม

10.เจริญปหานปริญญาวิธี

ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้ครบถ้วนก็จะได้เป็นอริยบุคคลคือสำเร็จเป็นโสดาบันครับ
ข้าพเจ้าขออนุญาติตั้งกฏเกณฑ์บางประการสำหรับคำถามดังนี้


1.ผู้ที่ถามในกระทู้นี้ ต้องภาวนา"พุทโธ" เท่านั้นครับ ถ้าเจริญกรรมฐานอย่างอื่นให้ไปถามที่ห้อง อภิญญา-สมาธิแทนครับ

2.ขออนุญาติไม่ตอบคำถามในช่วงอรูปฌาน4 เพราะผู้ที่ปฏิบัติได้นั้นจะมีทิฐิเกิดขึ้นในใจไม่มากก็น้อย และข้าพเจ้าเองก็ไม่มีความสามารถที่จะตอบได้ครับ

หลวงปู่มั่น ได้กล่าวว่า

"ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญ ตน ว่าเสวยเป็นอันผิดทั้งนั้น"

และตอนที่ท่านอบรมสอนหลวงปู่แหวน นั้นท่านได้กล่าวว่า

"ติดดี นี่แก้ยากกว่า ติดชั่วเสียอีก"



ขอให้เจริญในธรรมครับ




 

Create Date : 22 ตุลาคม 2554    
Last Update : 22 ตุลาคม 2554 11:04:32 น.
Counter : 1164 Pageviews.  

ทุกข์หนักหน่วงที่สุดคือกามกิเลส หลวงตามหาบัว



ทุกข์หนักหน่วงที่สุดคือกามกิเลส หลวงตามหาบัว


ทุกข์หนักหน่วงที่สุดคือกามกิเลส

ขอให้ทุก ๆ ท่านจงพินิจพิจารณาและปฏิบัติตามธรรมที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น ก็ขอให้ฟังให้ดีให้ถึงใจ เรื่องบาป บุญ นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน ตลอดสัตว์ประเภทต่าง ๆ นี้มีเกลื่อนโลกธาตุมาดั้งเดิมกี่กัปกี่กัลป์ อย่าตั้งความอาจหาญชาญชัยอวดรู้อวดฉลาดไปลบล้างสิ่งเหล่านี้ว่าไม่มี ถ้าไม่อยากฉิบหายทั้งเป็น ให้พยายามแก้ไขดัดแปลงความรู้ความเห็นของตนที่เป็นภัยต่อตน และลบล้างสิ่งเหล่านี้ออกจากใจโดยลำดับ และพยายามดำเนินตามทางของพระพุทธเจ้าด้วยการสร้างคุณงามความดี ละบาป บำเพ็ญบุญต่อไป เราจะเป็นลูกศิษย์ที่มีครู

เราเป็นคนตาบอดต้องอาศัยคนตาดีเป็นผู้ชักจูง นี่ธรรมของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตาดี ธรรมเป็นเครื่องสว่างกระจ่างแจ้ง และครูบาอาจารย์เป็นผู้ตาดีแนะนำสั่งสอนอย่างไร ให้เราปฏิบัติตามท่านแล้วเราก็จะค่อยเป็นไป เหมือนคนตาบอดเดินตามคนตาดี จะเป็นที่ปลอดภัยเรื่อยไป ถ้าคนตาบอดจูงคนตาบอดก็นับวันจะล่มจม นี้เราก็ยิ่งโง่อยู่แล้ว ยิ่งได้ฟังคนโง่ ๆ ที่เป็นภัยต่อชาติต่อศาสนาเป่าเข้าไปอีกทีหนึ่งแล้วว่าบาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี พรหมโลก นิพพาน ไม่มี อย่าทำให้เสียเวล่ำเวลา เข้ามาอย่างนี้แล้วเราก็จมทั้งเป็นถ้าเราเชื่อคนตาบอดประเภทนั้น เพราะเขาเหมากองทุกข์ทั้งมวล นรกทั้งมวลอยู่ในหัวอกของเขาแล้ว นี่เขามาแจกจ่ายไฟนรกออกมาให้เรา เรายังชอบอยู่เหรอไฟนรก

ธรรมที่เป็นของเยือกเย็นที่พระพุทธเจ้าประทานสั่งสอนมานานเท่าไร ทำไมเราไม่สนใจในสิ่งที่เป็นสาระนี้ ที่จะเป็นคุณแก่ตนเองทำไมไม่สนใจ

ไปสนใจอะไรกับฟืนกับไฟของคลังกิเลส ที่เผาไหม้อยู่ในคนมืดคนบอดผู้นั้น แล้วมาระบายกระจายให้แก่เรา ยังไปคว้ามับ ๆ เหรอ เราไม่ใช่ลิงอย่าดีดอย่าดิ้น อย่าไปยึดไปถืออย่าไปเชื่อคนประเภทนั้นอย่างง่ายดาย เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ฉลาดแหลมคม สอนธรรมด้วยความตรงไปตรงมาตามหลักความจริง ไม่ได้สอนด้วยความหลอกลวงต้มตุ๋นเหมือนกิเลสที่สอนโลกดังที่กล่าวมาสักครู่นี้ ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

เราถือพุทธศาสนาอย่าถือแบบเลื่อน ๆ ลอย ๆ สุ่มสี่สุ่มห้า อยู่ไป ๆ วันหนึ่ง ๆ ก็มีแต่มืดกับแจ้ง ใจของเราเป็นอย่างไร ไม่ได้สร้างหลักสร้างเกณฑ์ซึ่งเป็นสาระสำคัญให้แก่ใจ มีแต่ความทะเยอทะยานดีดดิ้นกับสิ่งนั้นวัตถุนี้ อันนั้นก็ดีอันนี้ก็ดี จิตมันดีดมันดิ้นคว้าน้ำเหลว ๆ ไปกับสิ่งที่เหลว ๆ ไหล ๆ นั้นว่ามาเป็นสารประโยชน์แก่ตน สุดท้ายตายแล้วก็จม เพราะไม่ได้สร้างสารธรรมคือคุณงามความดี ได้แก่การให้ทาน รักษาศีล ภาวนา เข้าสู่ใจ

เฉพาะอย่างยิ่งคือการภาวนาอบรมจิตใจของตน ให้มีความสงบแน่วแน่อยู่สม่ำเสมอด้วยความมีสติ นี่เรียกว่าลูกศิษย์ตถาคต ต้องสร้างหลักใจขึ้นด้วยธรรม ให้มีหลักใจ คนมีหลักใจอยู่ที่ไหนก็สะดวกสบาย ตายไปแล้วก็เป็นสุข นี้คือมีหลักใจ ถ้าไม่มีหลักใจ จะมีเงินมีทองข้าวของกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้าน ตึกรามบ้านช่องมีล้นตลาดเต็มบ้านเต็มเมืองก็ตาม ตายแล้วก็หมดความหมายถ้าไม่สนใจกับธรรม อาศัยสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตนของตนมันเป็นไม่ได้ ดินเป็นดิน น้ำเป็นน้ำ ตึกเป็นตึก เงินเป็นเงิน ทองเป็นทอง เป็นแร่ธาตุต่าง ๆ ไปอย่างนั้น เราก็เป็นเรา ถึงวาระสิ้นลมหายใจแล้วเราก็ตาย ไม่เห็นมีสาระอะไรติดเนื้อติดตัวเลย อย่างนี้ไม่สมควรกับเราเป็นชาวพุทธ จึงต้องให้พากันเสาะแสวงหา

สิ่งภายนอกก็เป็นความจำเป็นที่เราจะวิ่งเต้นขวนขวาย เพราะธาตุขันธ์มันรบกวน มีความบกพร่องต้องการตลอดเวลา พาอยู่พากินพาหลับพานอนพาขับพาถ่าย ล้วนแล้วตั้งแต่เรื่องธาตุเรื่องขันธ์มันรบกวน จะต้องหามาเยียวยารักษามัน สิ่งเหล่านี้เราก็ขวนขวาย ธรรมภายในจิตใจซึ่งเป็นเรือนใจสมบัติของใจเราก็ให้ขวนขวายคือคุณงามความดี อย่าปล่อยอย่าวาง เมื่อได้ทั้งสองประเภทนี้แล้วเราก็มีความเป็นสุข อยู่ในโลกนี้เราก็อาศัยสิ่งของเงินทองจตุปัจจัยต่าง ๆ ตายจากโลกนี้ไปแล้วคุณงามความดีก็มีอยู่ที่จิตใจของเรา เราก็เป็นสุข ๆ สุคโต สุคโต แปลว่า ไปเป็นสุข จะไปที่ไหน..เป็นแนวทางเพื่อให้พวกเรามองและใช้ชีวิตในทางที่ถูกต้องและดีงามตลอดไป สาธุครับ..







 

Create Date : 21 ตุลาคม 2554    
Last Update : 21 ตุลาคม 2554 8:54:19 น.
Counter : 1146 Pageviews.  

มุทิตา แก้ความริษยา (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)



มุทิตา แก้ความริษยา (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)


มุทิตา คือ ภาวะจิตที่บันเทิงยินดีในเมื่อผู้อื่นได้รับความสุขความเจริญด้วยสมบัติ ต่างๆ ปราศจากความริษยา เห็นใครพรั่งพร้อมด้วยสมบัติก็พลอยมีมุทิตา ตัดความยินร้ายไม่ยินดีด้วยที่ริษยาเสียได้

มุทิตา นี้เป็นพรหมวิหารธรรมอีกข้อหนึ่ง ที่พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต วิธีอบรมคือระวังใจมิให้ริษยาในเมื่อได้เห็นได้ทราบสมบัติ คือความพรั่งพร้อมต่างๆ ของผู้อื่น

เมื่อความริษยาเกิดขึ้นก็พยายามระวังเสีย หัดคิดว่า ตนเองมีความยินดีเมื่อตนได้สมบัติที่ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ไฉนเมื่อคนอื่นเขาได้จึงไปริษยาเขาควรจะพลอยยินดีกับเขา

พิจารณาให้เห็นโทษของความริษยา เช่นว่า “อรติ โลกนาสิกา...ความริษยาเป็นเหตุทำลายโลก” เมื่อทำมุทิตาจิตให้เกิดขึ้นได้ ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่นโดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจงทั่ไปด้วยความคิดว่า“จงอย่าวิบัติจากสิ่งที่ได้แล้ว”

อันที่จริงภาวะของจิตที่ยินดีในเวลาได้สมบัติต่างๆ ย่อมมีอยู่ ในเมื่อตนหรือคนเป็นที่รักได้สมบัติเป็นสามัญธรรมดา แต่ยังเจือด้วยริษยาในเมื่อเห็นคนอื่นได้สมบัติ และแม้ในสมบัติที่ตนได้ ก็ยังมีโสมนัสเจือตัณหา

พระบรมครูทรงสั่งสอนให้ปรับปรุงภาวะที่มีอยู่แล้วนี้แหละให้เป็นธรรมขึ้น คือ ให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิให้คับแคบเฉพาะตนและผู้ที่ตนรักเท่านั้น แต่ให้กว้างออกไปตลอดถึงไม่มีจำกัดไม่มีประมาณ โดยให้ปราศจากริษยา

ทั้งปราศจากโสมนัสที่เจือกิเลสตัณหาด้วย เพราะ ว่าริษยาเป็นศัตรูที่ใกล้ของมุทิตา ฉะนั้นก็พึงยกตนขึ้นเป็นพยานหรืออุปมาเช่นเดียวกับสองข้อข้างต้น และให้ยกบุคคลผู้เป็นที่รักขึ้นเป็นพยานหรือเป็นอุปมา

ดังพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ว่า “พึงแผ่จิตถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยมุทิตาเหมือนอย่างเห็นบุคคลผู้เป็นที่รักที่พอใจ ก็บันเทิงยินดีฉะนั้น”

: ศีลและพรหมวิหาร ๔
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก





 

Create Date : 20 ตุลาคม 2554    
Last Update : 20 ตุลาคม 2554 8:13:30 น.
Counter : 1102 Pageviews.  

บุญกุศลหมด ลมหายใจไม่หมด



บุญสิ้นสุดได้แต่ทนเวทนา
วาสนาหมดได้ อย่าไปโศกกำสรวล
หมดไปเสียก่อนเวลาอันสมควร
ต้องทบทวนอดทนชะตามาเป็นทุน


ในช่วงเวลานี้เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ถ้าใครยังมีบุญมีชะตาที่ดีอยู่ฐานะเขาก็ยังไม่สั่นคลอน

แต่ถ้าโชคไม่ดีก็เหมือนบุญหรือวาสนาที่เขาสร้างสมมาหมดไปแล้ว ทำให้สูญเสียยิ่งกว่าสูญเสีย ทำให้ที่เคยมีกลายเป็นไม่มี ใช่หรือเปล่า เราจะทำอย่างไรเมื่อชะตาเราถูกกำหนดมาเช่นนี้ บุญของเราได้หมดไปแล้ว บางครั้งเราพยายามดิ้นรนพยายามค้าขายใหม่ พยายามเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่นับเท่าไรก็ไม่เคยเป็นสองเป็นสามสักที เรายังคงเหยียบย่ำอยู่ที่หนึ่งอยู่ร่ำไป สิ่งที่เราควรทำก็คือ เราต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงก่อน ปรับใจตนเองว่าเราไม่ใช่สภาพเดิมแล้ว เมื่อปรับใจได้ยอมรับได้ ยอมมองให้เห็นว่าสภาพเช่นนี้เป็นเช่นไร เมื่อมองเห็นแล้วเราต้องตีให้ออกว่า เราควรจะดำเนินอย่างไรต่อไป เมื่อบุญหมด เราก็ต้องรู้จักสร้าง สร้างพละกำลังของตนเองและสร้างอาชีพของตนเองให้ขึ้นมาใหม่ด้วย

ชีวิตของคนเราต่างยังมีลมหายใจ

เรายังมีโอกาสสร้างบุญ แม้บุญกุศลที่สร้างวันนี้หมดไปแล้ว แต่เราก็สามารถสร้างต่อไปได้ หากเรายอมรับสภาพเป็นจริง ต่อไปอาจจะเปลี่ยนแปลงพลิกผันจากร้ายมาเป็นดีก็ได้ อย่าปล่อยให้ตนเองนิ่งเฉยโดยไม่ทำอะไร เอาแต่รอคอยอย่างนี้ชะตาหรือบุญของเราจะเปลี่ยนแปลงได้หรือ อย่างที่เราเคยรู้มาเมื่อหมดบุญแล้วเราก็ต้องเร่งรีบสร้างบุญ ถ้าหากเรายังมีลมหายใจอยู่แต่ถ้าหากเราเกิดหมดบุญพร้อมกับหมดลมหายใจ เราต้องลำบากแน่เพราะเราก็ไม่อาจแก้อะไรได้

เมื่อไรที่บุญหมด ชีวิตหมด สิ่งที่เราเคยทำมาจะมาแก้ไขตอนนี้ก็แก้ไม่ได้แล้ว

สิ่งที่เรารู้สึกสำนึกผิด จะมาขอขมาก็ไม่ทันแล้ว จึงมีสำนวนว่า “อย่าให้ตนเองยืนอยู่บนขอบเหวนรก จึงนึกถึงสวรรค์หรือการกระทำความดี” สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดกับคนที่หมั่นทำความดี ถึงแม้ตนเองจะทำความดี แต่ถ้ายังยึดติดในบุญกุศล บุญกุศลนั้นก็ยากจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย ใช่หรือไม่

เป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชน เวลาทำอะไรก็อดหวังผลไม่ได้

เมื่อมีการหวังผล การกระทำของเราจึงออกไปไม่เต็มที่ เหมือนเวลาเราให้สิ่งของคนๆ หนึ่ง แม้ตอนนั้นเรามีใจอยากให้จริงๆ แต่เรามีความรู้สึกแฝงในใจว่าอยากได้รับกลับ จึงทำให้สีหน้าคำพูด การกระทำที่ออกไปมีความหมายแฝง เหมือนคำพูดคนเรา ถ้าเราอยากจะพูดให้เขารู้ว่า เรารู้สึกกับเขาเช่นไร เราก็จะต้องพยายามขัดเกลาประโยคนั้นให้ดี ให้ใพเราะ ให้เขาไม่สามารถรู้ได้โดยเฉพาะถ้าเราต้องการว่าเขา เพื่อให้เขาเสียหน้า เราก็ต้องเกลาประโยคให้สละสลวยโดยที่ไม่ให้เขารู้ตัว แต่ให้เขาเอาไปคิด การแสดงหรือการกระทำที่มีความคิดแฝงเมื่อกระทำออกไปจึงไม่สมบูรณ์ ผลที่ได้รับก็ย่อมกลับมาไม่สมบูรณ์เช่นกัน

ผู้เป็นบัณฑิตเมื่อรู้จักฝึกฝนขัดเกลาตนให้มีคุณธรรมจริยธรรมแล้วจะทำให้เขาเป็นคนที่รักและเมตตาต่อคนอื่นด้วยใจจริงไร้สิ่งเคลือบแฝง

หากประชาชนหมั่นฝึกฝนขัดเกลาตนในด้านคุณธรรม จริยธรรม หรือศีลธรรมแล้ว จะทำให้เขาเป็นคนไม่หยาบกระด้าง มีความสุภาพ และความจริงใจต่อกัน คุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม จึงมีส่วนขัดเกลาจิตใจของคนให้กระทำสิ่งใดแล้วอย่ามีสิ่งเคลือบแฝง และไม่หวังผลตอบแทน ผลนั้นจึงจะกลับมายิ่งใหญ่ สมกับสิ่งที่ตนเองได้ลงแรงไปและเป็นนิจนิรันดร์

ธรรมะดีเช่นนี้ แต่มีน้อยคนนักที่ศึกษาธรรมะตั้งแต่ต้นจนปลายอย่างไม่มีวันขาดสาย

ส่วนใหญ่พอรู้แค่ งูๆ ปลาๆ ก็เอาไปใช้ ผลออกมาจึงเป็นแบบปลาๆ และงูๆ

FW




 

Create Date : 19 ตุลาคม 2554    
Last Update : 19 ตุลาคม 2554 8:36:38 น.
Counter : 1504 Pageviews.  

เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร



เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร


ในสมัยโบราณ มีหนุ่มใหญ่คนหนึ่งเกิดในตระกูลซามูไร
มีนามว่า เซ็นไก เมื่อเขาศึกษาวิชาการและจริยธรรมของ
ซามูไรจบแล้ว ไปทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อารักขาขุนนางผู้หนึ่ง
เขาเป็นหนุ่มรูปงาม จึงเป็นที่ต้องตาต้องใจของภรรยาขุนนาง
เธอทอดสะพานให้ จนหนุ่มเซ็นไกลืมตัว ลืมหน้าที่
ลักลอบเป็นชู้กับภรรยาขุนนาง ต่อมาขุนนางผู้เป็นสามีจับได้
เซ็นไกจึงฆ่าขุนนางผู้นั้นเสีย แล้วพาภรรยาของเขาหนีไป
เมื่ออยู่ด้วยกัน ความรักเริ่มจืดจาง เป็นเหตุให้แหนงหน่าย
และแยกทางกัน เซ็นไกต้องอยู่อย่างเดียวดาย
และเริ่มมองเห็นความผิดของตนเอง สำนึกบาปของตน
รำพึงว่า ทำอย่างไรหนอจึงจะลบล้างบาปกรรมอันนี้ได้

วันหนึ่งเซ็นไกผ่านมาที่ภูเขาสูงชันลูกหนึ่ง
ประชาชนที่จำเป็นต้องสัญจรผ่านภูเขาลูกนี้
ต้องเสี่ยงอันตรายปีป่ายข้ามไป
เขาจึงตกลงใจเจาะภูเขาเพื่อเป็นทางสัญจร
เขาทำด้วยความเหนื่อยยาก ทำเพียงลำพังผู้เดียว
แต่จิตใจเต็มไปด้วยความสุข เพราะเขาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำ
แม้ยากลำบาก แต่ผลที่ได้คือประโยชน์ของคนจำนวนมาก

บุตรของขุนนางที่ถูกฆ่า บัดนี้เป็นหนุ่มใหญ่และเป็นซามูไร
เที่ยวตามหาเซ็นไก เพื่อแก้แค้นแทนบิดา เมื่อมาพบเขาที่นี่
จึงลงมือจะแก้แค้น เซ็นไกขอร้องวิงวอนว่า
อย่าเพิ่งทำลายทางแห่งบุญโดยเอาชีวิตเขาในตอนนี้เลย
ขอเวลาอีก 2 ปี เมื่อเจาะภูเขาเสร็จแล้ว
ก็จะขอชดใช้ด้วยชีวิต

ซามูไรหนุ่มเห็นว่า คำขอร้องมีเหตุผล และเห็นว่าเซ็นไก
ไม่มีทางหนีรอดไปได้ จึงตกลงรอคอย ขณะที่รอก็ดูการทำงาน
เจาะภูเขาของเซ็นไกจนเกิดความเห็นใจ และในบางครั้ง
ซามูไรหนุ่มก็ลงมือช่วยทำงานด้วย เมื่องานเจาะภูเขาลุล่วง
ต่อไปก็เหลือแต่งานแก้แค้น เซ็นไกนั่งขัดสมาธิก้มหน้า
ก้มคอลงเพื่อให้ซามูไรหนุ่มใช้ดาบฟัน แต่แล้วซามูไรหนุ่ม
ก็กลับเก็บดาบเข้าฝัก ทรุดตัวลงเบื้องหน้าเซ็นไก

..... .....
กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะฆ่าครูของข้าพเจ้าได้อย่างไร”
เพราะในช่วงเวลา 2 ปี ที่เฝ้าดู ซามูไรหนุ่มได้บทเรียน
แห่งการใช้ชีวิตว่า คนที่เคยชั่วเมื่อเขาสำนึกชั่วแล้ว
มิใช่ว่าจะกลับมาเป็นคนดีไม่ได้ ควรให้โอกาสแก่ผู้ซึ่ง
กลับตัวเป็นคนดี ไฟพยาบาทที่อยู่ในจิตใจ
ของซามูไรหนุ่มมานานจึงดับมอดลง ใจของเขาสว่าง
เมื่อรู้จักให้อภัย และเข้าใจว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร





โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี






 

Create Date : 18 ตุลาคม 2554    
Last Update : 18 ตุลาคม 2554 7:53:28 น.
Counter : 1596 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  116  117  118  119  120  121  122  123  124  125  126  127  128  129  130  131  132  133  134  135  136  137  138  139  140  141  142  143  144  145  146  147  148  149  150  151  152  153  154  155  156  157  158  159  160  161  162  163  164  165  166  167  168  169  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.