สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๔ : พระมหาอำมาตย์ปราบญี่ปุ่น
พระราชประวัติส่วนใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้นส่วนใหญ่ได้จากเอกสารบันทึกของ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet) นายห้างชาวเนเธอร์แลนด์ซึ่งเข้ามาประจำการอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาในรัชสมัยของพระเจ้าปราสาททอง ในส่วนหลักฐานของไทยไม่มีหลักฐานร่วมสมัยหลงเหลืออยู่ มีแต่หลักฐานที่ชำระในสมัยหลังและไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักฐานร่วมสมัยนัก
คนส่วนใหญ่ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงสมัยนี้จะทราบว่าบรรดาศักดิ์สุดท้ายก่อนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองราชย์คือ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ว่าที่สมุหพระกลาโหม แต่ในหลักฐานของไทยยังมีการระบุถึงบรรดาศักดิ์ก่อนหน้าอีก
พระมหาอำมาตย์ ในพระราชพงศาวดาร(ซึ่งชำระสมัยรัตนโกสินทร์และยังไม่เคยพบที่ชำระเก่ากว่านี้)ไม่เคยกล่าวเลยว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นใครมาจากไหน เพียงแต่กล่าวว่าก่อนจะทรงเป็น "เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์" ทรงเคยมีบรรดาศักดิ์เป็น "พระมหาอำมาตย์" มาก่อน
"มหาอำมาตย์" เป็นทินนามของเจ้ากรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ มีศักดินา ๓๐๐๐ ไร่ และพงศาวดารกล่าวว่าพระมหาอำมาตย์ได้ทำความชอบในการปราบกบฎญี่ปุ่นจึงได้เลื่อนบรรดาศกดิ์ขึ้นเป็น "เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์" แต่เรื่องนี้ขัดแย้งกับหลักฐานของฟอนฟลีตซึ่งจะกล่าวต่อๆไป
กบฎญี่ปุ่น
พระที่นั่งจอมทองในวัดพระศรีสรรเพชญ์ จำลองโดยเมืองโบราณ ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมสัณนิษฐานว่าน่าจะยังเป็นครื่องไม้
พระอินทราชาซึ่งต่อมารู้จักกันในพระนามสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุทธยาด้วยการล้มบัลลังก์สมเด็จพระศรีเสาวภาคใน พ.ศ.๒๑๕๓ โดยในปีเดียวกันนี้เองได้เกิดกบฎญี่ปุ่นอีกครั้งจากที่เคยเกิดมาแล้วในสมัยสมเด็จพระศรีเสาวภาค
ในพระราชพงศาวดารของไทยได้กล่าวถึงความตอนนี้ไว้ว่า "...ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ญี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดเข้าด้วยพระพิมลฆ่าพระมหากษัตริย์เสีย ญี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณ ๕๐๐ ยกเข้ามาในท้องสนามหลวง คอยจะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัว อันเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหลังสือ ณ พระที่นั่งจอมทองสามหลัง ขณะนั้นพอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามา ๘ รูป พาเอาพระองค์เสด็จออกมาต่อหน้าญี่ปุ่น ครั้นพระสงฆ์พาเสด็จไปแล้ว ญี่ปุ่นร้องอื้ออึงขึ้นว่า จะกุมเอาพระองค์แล้วเป็นไรจึงนิ่งเสียเล่า ญี่ปุ่นทุ่มเถียงเป็นโกลาหล..."
สรุปจากพงศาวดารคือญี่ปุ่นไม่พอใจในการล้มบัลลังก์พระศรีเสาวภาค สัณนิษฐานว่าญี่ปุ่นกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มเดิมที่เคยก่อกบฏสมัยรัชกาลก่อน(อ่านในตอนที่ ๓) มาครั้งนี้อาจเพราะเสียผลประโยชน์หรืออะไรก็ตามจึงก่อกบฏขึ้น อย่างไรเสียญี่ปุ่นกลุ่มนี้ถูกปราบลงได้โดยพงศาวดารได้กล่าวต่อว่า "...ฝ่ายพระมหาอำมาตย์คุมพลได้ และไล่รบญี่ปุ่นล้มตายเป็นอันมาก ญี่ปุ่นแตกไปจากพระราชวังลงสำเภาหนี ตั้งแต่นั้นมา สำเภาเมืองญี่ปุ่นก็มิได้เข้ามาค้าขาย ณ กรุงอีกเลย..."
สำเภาญี่ปุ่นที่ได้รับใบเบิกร่องประทับตราแดง(朱印船) สามารถออกทะเลไปค้าขายกับประเทศต่างๆได้ตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยมีหลักฐานว่ามีการเดินทางมาอยุทธยาอย่างน้อย ๕๖ ลำ ในช่วงก่อนญี่ปุ่นปิดประเทศซึ่งมากกว่าประเทศอื่น
สำหรับกบฏญี่ปุ่นมีหลักฐานร่วมสมัยของตะวันตกเช่นฮอลันดาว่าญี่ปุ่นพวกนี้แตกหนีไปก่อความวุ่นวายอยู่ที่บางกอกกับเพชรบุรี นอกจากนี้กบฏครั้งนี้ยังเป็นการชักนำความวุ่นวายอื่นเข้ามาอีก อย่างเช่นมีจดหมายของฮอลันดาระบุว่า คนของออกญากำแพงเพชรพยายามลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแต่ไม่สำเร็จซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจอาศัยความวุ่นวายในครั้งนี้ และในวันเดียวกันนั้นญี่ปุ่นที่เพชรบุรีจึงถูกปราบปรามและขับไล่ไปได้สำเร็จ แต่ล้านช้างอาศัยความวุ่นวายในครั้งนี้ตั้งใจจะบุกกรุงศรีอยุทธยาแต่ก็ไม่ประสบผล หลังจากเสร็จศึกล้านช้างสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงทรงมีประกาศขับไล่ชาวญี่ปุ่นทั้งหมดออกจากสยาม แต่ต่อมาก็มีหลักฐานว่าได้กลับมาค้าขายเจริญสัมพันธไมตรีอย่างเดิม และยังเป็นแบบนี้ไปจนญี่ปุ่นปิดประเทศใน พ.ศ.๒๑๘๒ นอกจากนี้ถึงจะปิดไปแล้ว ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ยังมีหลักฐานว่ายังมีเรือไปมาอยู่ทุกปี ขัดแย้งกับพงศาวดารไทยที่ชำระสมัยหลังว่า "...สำเภาเมืองญี่ปุ่นก็มิได้เข้ามาค้าขาย ณ กรุงอีกเลย..." ทำให้พงศาวดารมีความน่าเชื่อถือน้อย
พระมหาอำมาตย์คือเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ? หลังญี่ปุ่นถูกปราบไปจากพระราชวังแล้วพระราชพงศาวดารกล่าวว่าวันรุ่งขึ้น
"...ทรงพระกรุณาตรัสว่า ราชการครั้งนี้พระมหาอำมาตย์มีความชอบมาก ให้เป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก..."
เรื่องนี้มีหลักฐานขัดแย้งหลายประการ เช่นหลักฐานของฟอนฟลีต ซึ่งเคยยกมาในตอนก่อนๆหน้าแล้วว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองครองราชย์ใน พ.ศ.๒๑๗๒ เมื่อพระชนม์ได้ ๓๐ พรรษา คำนวณพระชนม์ใน พ.ศ.๒๑๕๓ ก็ได้แค่ประมาณ ๑๑ พรรษาคงจะออกไปไล่ญี่ปุ่นไม่ไ้้่ด้แน่ และฟาน ฟลีตเองก็บอกว่าตอนนั้นยังทรงรับราชการเป็นแค่มหาดเล็ก ต้องรอจนอายุ ๑๖ ถึงได้เป็น "จมื่น" ตอน พ.ศ.๒๑๕๓ จะมีบรรดาศักดิ์เป็นถึง "พระ" เห็นจะเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ฟาน ฟลีตเองก็กล่าวว่ากว่าจะได้เป็นสมุหพระกลาโหมก็เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.๒๑๗๑ อย่างที่ยกมาแล้วว่าพงศาวดารของไทยมีความน่าเชื่อถือน้อยเพราะล้วนชำระในสมัยหลัง ประกอบกับน่าจะขาดเอกสารที่จะใช้สอบทานได้เนื่องจากถูกทำลายไปในช่วงเสียกรุงครั้งที่สอง ทำให้อาจเกิดความผิดพลาดในการบันทึกได้ และก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้รวบคนสองคนกายเป็นคนๆเดียวกัน จากหลักฐานของฟาน ฟลีตจะเห็นได้ว่า พระมหาอำมาตย์ผู้นี้คงเป็นพระเจ้าปราสาททองไม่ได้ แต่ในกรณีที่เป็นคนละคน เรื่องพระมหาอำมาตย์ที่ปราบญี่ปุ่นได้เป็นสมุหพระกลาโหมพอมีหลักฐานอยู่ใน "ตำราพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา" ซึ่งตราในวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีจอ นักษัตรโทศก ศักราช ๙๗๒ ตรงกับวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๑๕๓ รัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม ในนั้นมีการระบุรายชื่อข้าราชการที่เฝ้ารับพระราชโองการในตอนนั้นซึ่งมีชื่อของ "เจ้าขุนหลวงมหาอำมาตยาธิบดีศรีรักษาองค์ สมุหพระกลาโหม" อยู่ ปกติแล้วสมุหพระกลาโหมจะมีทินนามว่า "มหาเสนา" แต่ในท้องตรานี้ "มหาเสนา" กลายเป็นทินนามของสมุหนายก ส่วนสมุหพระกลาโหมคนนี้ได้ทินนาม "มหาอำมาตยาธิบดี" แม้ว่าจะไม่มีอะไรยืนยันได้ชัดเจน แต่พอจะสัณนิษฐานได้ว่าสมุหพระกลาโหมคนนี้คงเป็นพระมหาอำมาตย์ที่ปราบกบฏญี่ปุ่นนั่นเอง โดยทินนามที่ได้อาจเป็นทินนามแบบพิเศษไม่ได้ยึดตามหลักเกณฑ์ดั้งเดิม กล่าวโดยสรุปคือพระมหาอำมาตย์ที่ปราบญี่ปุ่นไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
Create Date : 11 สิงหาคม 2555 |
Last Update : 13 ตุลาคม 2555 14:33:54 น. |
|
1 comments
|
Counter : 9250 Pageviews. |
|
|
|