"True success is not the learning, but in its application to the benefit of mankind"
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
<<
สิงหาคม 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
25 สิงหาคม 2555

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๕ : วัยเยาว์ ชีวิตมหาดเล็ก


มหาดเล็กอัญเชิญเครื่องสูง
ภาพจาก 'สมุดภาพจำลองมาจากวัดยมกรุงเก่า'


สำหรับตอนที่ ๓ และ ๔ เป็นการวิเคราะห์ถึงบุคคลที่ีเชื่อกันว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่เมื่อดูจากหลักฐานต่างๆแล้วไม่น่าเป็ปไปได้

สำหรับตอนที่ ๕ จึงน่าจะเป็นการเริ่มเขียนส่วนที่น่าจะเป็นพระราชประวัติจริงๆขึ้นมา โดยพระราชประวัติส่วนใหญ่เท่าที่ปรากฏมีอยู่เพียงแต่เอกสารของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet) นายห้างชาวเนเธอร์แลนด์ที่มาประจำการอยู่ในกรุงศรีอยุทธยาในสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเท่านั้น


วัยเยาว์
สำหรับวัยเด็กของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่มีปรากฏหลักฐานอะไรมากมายนัก แต่มีเรื่องเล่าที่เล่าต่อๆกันมาแบบมุขปาฐะในหมู่เชลยสมัยเสียกรุงศรีอยุทธยาครั้งที่ ๒ (บันทึกอยู่ในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด)ว่าเมื่อวัยเยาว์สมเด็จพระเจ้าปราสาททองชอบเล่นบนจอมปลวก โดยสมมติว่าจอมปลวกเป็นบัลลังก์ พระองค์ประทับเหมือนเป็นกษัตริย์ เด็กคนอื่นๆนั่งเฝ้าเหมือนขุนนางแล้วเล่นว่าราชการงานเมืองกันไป 


เริ่มชีวิตมหาดเล็ก
ฟาน ฟลีตกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก(Mahat-leck)ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมหรือพระอินทราชาตั้งแต่อายุน้อยมากๆ เนื่องจากใน พ.ศ.๒๑๕๓ ที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์(พระชนม์ประมาณ ๒๐ พรรษา) พระเจ้าปราสาททอง(ประสูติประมาณ พ.ศ.๒๑๔๒)มีพระชนม์ประมาณ ๑๑ พรรษา จึงน่าจะเป็นมหาดเล็กมาก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรมจะเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว 

การถวายตัวบุตรหลานให้เป็นมหาดเล็กของเจ้านายเป็นเรื่องปกติที่ขุนนางในสมัยก่อนนิยมทำ เพราะเป็นการให้บุตรหลานตัวเองได้รับใช้ใกล้ชิดเจ้านาย หากเป็นที่โปรดปรานได้รับความไว้วางพระทัยก็จะทำให้มีฐานะที่มั่นคงในอนาคต เมื่อมีอายุที่เหมาะสมผู้เป็นเจ้านายอาจจะพิจารณาความเหมาะสม แล้วให้ไปรับราชการตามกรมต่างๆ 

สาเหตุที่ถวายตัวรับใช้พระเจ้าทรงธรรมคงเพราะความเป็นพระญาติ เนื่องจากพระบิดาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองคือออกญาศรีธรรมาธิราช(Oija Sijdama Thijra-ija)ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของพระมารดาพระเจ้าทรงธรรม(พ่อแม่เดียวกัน) ก็คือเป็นลุงของพระเจ้าทรงธรรม เพราะฉะนั้นพระเจ้าปราสาททองกับพระเจ้าทรงธรรมจึงทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ก็คงมีความใกล้ชิดกันในฐานะญาติ

นอกจากนี้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังมีพระชนม์รุ่นราวคราวเดียวกับพระศรีสิงห์(Pra Si่jsingh)หรือพระศรีศิลป์ พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมซึ่งพระชนม์น้อยกว่าพระเจ้าปราสาททองประมาณ ๒ ปีอีกด้วย ด้วยวัยใกล้กันจึงอาจสัณนิษฐานว่าอาจเป็นเพื่อนเล่นกันได้

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไำด้ครองราชย์ ฐานะของออกญาศรีธรรมาธิราชน่าจะมีความมั่นคงมากขึ้นในฐานะลุงของพระเจ้าแผ่นดิน(มีความเป็นไปได้ว่าตำแหน่งศรีธรรมาธิราชอาจได้มาตอนนี้เอง) ฟาน ฟลีตเองก็กล่าวว่า เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าทรงธรรมนัก ผลนี้คงทำให้สถานะของคนในครอบครัวมีความมั่นคงตามไปด้วย

มหาดเล็กติดตามมโหสถบัณฑิตกระทำ 'ธรรมยุทธ' กับเกวัฏพราหมณ์
ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยาหมายเลข ๖


ฟาน ฟลีตกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองรับราชการเป็นมหาดเล็กมาจนมีพระชนม์ได้ ๑๓ จึงได้เลื่อนขั้นเป็น Omonsij เป็นผู้บังคับบัญชามหาดเล็ก(supervisor of the royal pages-สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพสัณนิษฐานว่าเป็นตำแหน่งหุ้มแพร)  Omonsij อาจถอดเสียงเป็นภาษาไทยได้ว่า ออกหมื่นศรี สำหรับผู้ที่คิดว่าพระนามเดิมของพระเจ้าปราสาททองมีพระนามเดิมว่า "ศรี" ก็เป็นไปได้อยู่ ดังมีตัวอย่างที่พระราชพงศาวดารเคยเรียกออกญาโกษาธิบดี(เหล็ก) เมื่อครั้งยังเป็นมหาดเล็กว่า "ขุนเหล็กมหาดเล็ก" เป็นตัวอย่างของการเรียกบรรดาศักดิ์ตามด้วยชื่อจริง

หรือไม่ก็อาจเพี้ยนมาจาก "นายสิทธิ" ซึ่งมีตำแหน่งนายเวรมหาดเล็กเวรซ้าย ศักดินา ๘๐๐ ไร่


จมื่นศรีสรรักษ์

เมื่อพระเจ้าปราสาททองมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น Pramon Sijfarapha หัวหน้ามหาดเล็ก(captain of the pages)

คำว่า Pramon คือ "พระหมื่น" ในเอกสารของไทย นอกจากนี้ยังมีเรียก "จมื่น" หรือ "เจ้าหมื่น" ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่มีใช้เฉพาะกรมมหาดเล็กกับกรมพระตำรวจเท่านั้น ในส่วนของกรมมหาดเล็กจะเป็นตำแหน่งของหัวหมื่นมหาดเล็กทั้ง ๔ คือ จมื่นสรรเพชญ์ภักดี จมื่นศรีสรรักษ์ จมื่นไวยวรนาถ จมื่นเสมอใจราช ถือศักดินาคนละ ๑๐๐๐ ไร่ เมื่อเทียบกับเอกสารของดัชต์แล้ว ที่ใกล้เคียงสุดคือ "จมื่นศรีสรรักษ์" โดยในเอกสารของไทยยังมีการสะกดอีกหลายแบบ เช่น "ศรีเสารัก" "ศรีเสาวรักษ์"

จมื่นศรีสรรักษ์เป็นผู้บังคับบัญชามหาดเล็กเวรซ้าย(มี ๒ เวร อีกเวรคุมโดยจมื่นเสมอใจราช) อำนาจหน้าที่ของจมื่นสามารถควบคุมและสั่งการมหาดเล็กใต้บังคับบัญชาได้ทั้งหมด เวรซ้ายมีหน้าที่มาเข้าเวรในวันข้างแรม เข้า ๒ วัน ออก ๒ วัน รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์

แม้มหาดเล็กจะไม่ได้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ด้วยความทีีรับใช้ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินทำให้ขุนนางมักจะให้ความเกรงใจอยู่

สำหรับพระเจ้าปราสาททองนับว่าได้เลื่อนยศเร็วมาก เพียงอายุ ๑๖ ก็ได้เป็นมหาดเล็กระดับสูง เมื่อเทียบกับบุตรขุนนางอย่างเช่นสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุิรสิงหนาทซึ่งเมื่อเสียกรุงศรีอยุทธยาครั้งที่ ๒ มีพระชนม์ ๒๓ ก็ยังเป็นเพียง "นายสุดจินดา" มหาดเล็กหุ้มแพรอยู่ หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กว่าจะได้เป็น "จมื่นไวยวรนาถ" ก็มีอายุประมาณ ๓๓ ปีเข้าไปแล้ว ทั้งนี้อาจเป็นเพราะบริบททางสังคมในแต่ละยุคสมัยที่ต่างกัน แต่สัณนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะความที่รับใช้ถวายงานใกล้ชิดบวกกับความเป็นพระญาติทำให้มีความก้าวหน้าในทางราชการได้รวดเร็ว

แต่ใช่ว่าชีวิตของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะประสบแต่เรื่องดีๆเสมอไป ทั้งนี้เกิดจากอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเอง


รูปที่น่าจะเป็นมหาดเล็ก(ผมสั้น)กับนางกำนัลหมอบอยู่ข้างพระเจ้าสญชัยกับนางผุสดี
ภาพจากสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยาหมายเลข ๖



การดำเนินชีวิต
ออกญาศรีธรรมธิราชผู้เป็นบิดานั้น ฟาน ฟลีตกล่าวว่า "...ถึงแม้จะมีบรรดาศักดิ์ แต่เขาไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน เขาเป็นคนอารมณ์ดี มารยาทอัธยาศัยดี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่รักของคนมากมาย...พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน(พระเจ้าทรงธรรม)ก็ทรงโปรดปรานลุงของพระองค์มาก..."

ส่วนพระเจ้าปราสาททองนั้นตรงข้าม ฟาน ฟลีตกล่าวถึงพระองค์ในแง่ลบมาก ตั้งแต่ยังเป็นมหาดเล็ก "...พระองค์เป็นผู้มีความองอาจกล้าหาญ แต่พระองค์ก็ใช้ชีวิตอย่างเสเพลด้วยการดื่มสุราและลักขโมย หลายครั้งถูกจับได้คาหนังคาเขาพร้อมพรรคพวกคนโกงกับหัวขโมย"

ด้วยเหตุนี้จึงถูกสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมลงพระอาญาด้วยพระองค์เองหลายหน(โดนฟันเป็นแผลที่ศีรษะ) ถูกจำคุกอีกหลายหน บางครั้งออกญาศรีธรรมธิราชต้องโดนจำคุกเพราะลูกชายด้วย แต่ทุกครั้งที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองต้องรับโทษ ทั้งออกญาศรีธรรมาธิราชกับน้องสาวคือพระมารดาของพระเจ้าทรงธรรมจะเข้าไปขอพระราชทานอภัย พระเจ้าปราสาททองก็มักจะพ้นโทษและกลับมาเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมอีก แต่ก็ยังคงไม่เลิกนิสัยเดิมๆแม้จะได้เป็นจมื่นศรีสรรักษ์แล้ว

สำหรับชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงการเป็นมหาดเล็ก  ฟาน ฟลีตกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้รับพระราชทานเรือนหลวงจากพระเจ้าทรงธรรมหลังหนึ่งเรียกว่า บ้าน Watracham  สัณนิษฐานว่าอาจเป็นเรือนที่ตั้งอยู่ใกล้วัด ชื่อ racham(ราคัม) สัณนิษฐานว่าอาจเป็นวัดระฆัง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกใกล้พระราชวังหลวง ทั้งนี้อาจจะให้เข้ามาทำงานได้สะดวกเพราะหน้าที่มหาดเล็กต้องสนองงานใกล้ชิด เวลาออกเวรหากมีเรื่องด่วนก็จะสามารถตามตัวได้ในเวลาไม่นาน

การแต่งงาน
ในช่วงชีวิตมหาดเล็กนี้เองสมเด็จพระเจ้าปราสาททองหรือจมื่นศรีสรรักษ์คงจะได้แต่งงานมีครอบครัว เพราะดูจากพระราชพงศาวดารว่าได้ทำการโสกันต์ "พระองค์อิน" พระโอรสในพ.ศ.๒๑๗๕ โดยปกติแล้วการโกนจุกของเด็กชายจะทำเมื่ออายประมาณ ๑๓ ปี เมื่อคำำนวณแล้ว พระองค์อินก็คงจะประสูติราวๆ พ.ศ.๒๑๖๒(พระเจ้าปราสาททองพระชนม์ประมาณ ๒๐) ซึ่งก่อนหน้านั้นก็น่าจะได้แต่งงานแล้วซึ่งดูอายุแล้วก็เป็นวัยที่สมัยก่อนนิยมแต่งงานกัน 

หญิงที่แต่งงานเป็นภรรยาก็คงจะเป็นบุตรีของขุนนางที่มีฐานะเหมาะสมกัน มีบุตรชายอย่างน้อย ๑ คนชื่อว่า "อิน" นอกจากนี้ยังมีภรรยาคนอื่นอีกแต่ยังไม่ขอกล่าวในที่นี้่


การใช้ชีวิตในช่วงนี้ของจมื่นศรีสรรักษ์ แม้จะโดนลงโทษเพราะทำความผิดบ่อยแต่ก็มีวามก้าวหน้าในทางราชการดี จนกระทั่งจะเกิดเหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดเป็นโทษร้ายแรงต่อตัวจมื่นศรีสรรักษ์เมื่อมีอายุได้ ๑๘ ปี(คำนวณจากอายุประมาณ พ.ศ.๒๑๖๐ )


ภาพลายรดน้ำมหาดเล็กกับขันทีแขก(ขวาสุด)
หอเขียน วังสวนผักกาด




 

Create Date : 25 สิงหาคม 2555
1 comments
Last Update : 20 ตุลาคม 2555 22:12:20 น.
Counter : 8531 Pageviews.

 

กำลังมันส์เลยครับ อยากรู้ว่าจะเกิดอะไร

 

โดย: Vet53 IP: 27.130.39.31 25 สิงหาคม 2555 22:14:45 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ศรีสรรเพชญ์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]




New Comments
[Add ศรีสรรเพชญ์'s blog to your web]