สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๓๐ : กบฏนครศรีธรรมราช
พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
ความวุ่นวายที่นครศรีธรรมราชแต่ละครั้งก็ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายใหม่มาเป็นระลอกๆ ฆ่ายามาดะ นางามาสะได้กลายเป็นเกิดสงครามกลางเมือง สุดท้ายกลายเป็นว่าญี่ปุ่นต้องหนีออกนอกประเทศ แต่สถานการณ์ทางนครศรีธรรมราชแม้จะปราศจากญี่ปุ่นแล้วกลับยิ่งแย่ลงไปอีก
ผลระหว่างสงครามกลางเมืองระหว่างญี่ปุ่นทำให้บ้านเมืองนครศรีธรรมราชได้รับผลกระทบอย่างหนัก เยเรเมียส ฟาน ฟลีตกล่าวว่าไฟที่พวกญี่ปุ่นจุดได้ลามเผาเมืองนครไปส่วนหนึ่งทีเดียว เจ้าเมืองนครคนเก่าก็ถูกฆ่า ประชาชนพากันอพยพออกจากเมือง สุดท้ายเมืองนครเหลือแต่ญี่ปุ่นแต่ญี่ปุ่นก็ถอยไปในที่สุด
เชื่อว่าชาวเมืองนครศรีธรรมราชคงจะทยอยอพยพกลับมาในช่วงนี้ แต่กลับมาก็เกิดก่อกบฏ แยกตัวเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุทธยา
สาเหตุการก่อกบฏ ฟาน ฟลีตกล่าวว่าเพราะชาวนครสามารถขับไล่ญี่ปุ่นไปได้สำเร็จเลยเกิดลำพองใจคิดแยกตัวเป็นอิสระ แต่เรื่องจริงๆคงไม่ได้มีเหตุผลแต่เพียงประการนี้เท่านั้น แต่ยังไม่มีหลักฐานอย่างอื่นจึงได้แต่ลองวิเคราะห์ไป
นครศรีธรรมราชในอดีตนั้นมีอำนาจในการปกครองตนเองค่อนข้างสูง ในอดีตเป็นประเทศราช ต่อมาก็ถูกลดชั้นลงเป็นเมืองพระยามหานครแต่อำนาจการปกครองตนเองยังค่อนข้างสูง ในเวลานั้นสามารถติดต่อเจรจาทำการค้ากับชาติตะวันตกได้โดยไม่ต้องรายงานมายังกรุงศรีอยุทธยาก่อนก็ได้เช่นเคยมีการเจรจาซื้อค้ายพริกไทยซึ่งเป็นสินค้าหลักในแถบนั้นกับบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา(VOC) นอกจากนี้ยังค่อนข้างมีอิทธิพลในหัวเมืองข้างเคียงอย่างเช่นพัทลุง ซึ่งบางครั้งมีการกล่าวว่าเป็นเครือญาติกับทางเมืองนครศรีธรรมราช มีบางครั้งเจ้าเมืองพัทลุงก็ได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชสืบต่อ และเครือญาติอาจได้สืบต่อตำแหน่งในการปกครองเมืองนครด้วยเช่น เจ้าเมืองคนที่ตายในช่วงจลาจลกับญี่ปุ่นซึ่งสัณนิษฐานจาก 'ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช' ว่าน่าจะเป็น 'พระยาแก้ว' เป็นหลาน 'พระญา' ที่เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชใน พ.ศ.๒๑๗๑
ด้วยฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชในเวลานั้นสัณนิษฐานว่ายังไม่รู้สึกว่าจะเป็นหนึ่งเดียวกับกรุงศรีอยุทธยานัก แม่ว่าจะเป็นชนชาติไทยเหมือนกันก็ตามก็ยังคงน่าจะรู้สึกว่าเป็น 'คนนคร' หรือ 'คนอยุธยา'
แต่ว่าด้วยแผนของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงมีการส่งยามาดะ นางามาสะมาเป็นออกญานครแทน ใน พ.ศ.๒๑๗๒ ด้วยข้ออ้างว่าออกญานครไม่ยอมมาถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาจึงถือเป็นกบฏ(ทั้งๆที่ทางเมืองนครติดศึกปตานีอยู่จึงมาไม่ได้) เรื่องนี้อาจทำให้กลุ่มอิทธิพลเก่าในเมืองนครไม่พอใจที่ตนเสียผลประโยชน์ และอาจทำให้คนนครรู้สึกว่าอำนาจท้องถิ่นถูกอำนาจจากส่วนกลางเข้ามาแทรกแซง
โคล้ด เดอ ฟอร์แบ็ง(Claude de Forbin) วาดในศตวรรษที่ ๑๘ โดย Antoine Graincourt
นอกจากนี้ออกญานครคนใหม่ไม่ได้เป็นแค่คนที่ส่วนกลางส่งมาปกครอง แต่ยังเป็นชาวญี่ปุ่น ถ้าเป็นเมืองเล็กๆอาจจะไม่มีปัญหาอะไร ก็ปรากฏว่ามีหลายครั้งที่เจ้าเมืองเป็นคนต่างชาติเช่นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ให้เชอวาลิเยร์ เดอ ฟอร์แบ็ง เป็น'ออกพระศักดิสงคราม' ไปเป็นเจ้าเมืองบางกอก คุมการสร้างป้อมเมืองทณ(ธนบุรี สมัยนั้นสะกด 'ทณ่บุรีย') แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่ต่างออกไป ด้วยเป็นเมืองที่มีความเป็นมาที่ยาวนานและมีกลุ่มเชื้อสายผู้ปกครองที่เหนียวแน่นฝังรากฐานอยู่ในแถบนี้ การส่งคนต่างชาติมาปกครองอาจจะก่อปัญหาได้
อีกเหตุผลน่าจะเพราะชาวญี่ปุ่นมาก่อความเดือดร้อนจนวุ่นวายซึ่งทางเมืองนครอาจจะมองว่าต้นเหตุจริงๆเพราะส่วนกลางคือกรุงศรีอยุทธยาส่งญี่ปุ่นมา เรื่องนี้ก็อาจเป็นสาเหตุให้คนนครศรีธรรมราชไม่พอใจก็เป็นได้
อีกสาเหตุอาจเป็นเพราะเจ้าเมืองคนเก่าถูกฆ่า ทำให้สภาพการปกครองปั่นป่วน เกิดกลุ่มคนบางกลุ่มรวมตัวกันหวังอาศัยความวุ่ยวายแนกตัวเป็นอิสระ หรือดีไม่ดีอาจจะเป็นพวกเชื้อสายที่เคยมีอำนาจอยู่ก่อนก็เป็นได้
ปราบกบฏ ฟาน ฟลีตกล่าวว่าเมืองนครศรีธรรมราชได้แยกตัวเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุทธยา ไม่ยอมรับว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีก
การปราบกบฏก็คงอยู่ในช่วงหลังจลาจลญี่ปุ่นไม่นานคือน่าจะเป็นช่วง พ.ศ.๒๑๗๓-๒๑๗๔ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้นำทหาร ๑๐๐๐๐ นายลงไปปราบกบฏเมืองนครศรีธรรมราช โดย - ออกพระสุพรรณพล...(Opra Soupan Pontrock) เป็นทัพหน้าคุมทหาร ๓๐๐๐ นาย
- ออกญาท้ายน้ำ(Oija Thaijnam) เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมทหาร ๔๐๐๐ นาย
- ออกญานคร(Oija Ligoor) เป็นทัพหลัง คุมทหาร ๓๐๐๐ นาย
สำหรับออกญานครคนใหม่นี้เป็นขุนนางที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชล่วงหน้าเลย หากปราบกบฏสำเร็จขุนนางคนนี้ก็จะเป็นเจ้าเมืองต่อ นี่จึงเป็นการแสดงให้เห็นเลยว่าส่วนกลางส่งคนของตนเองให้มามีอำนาจในท้องถิ่น เป็นการแทรกแซงเข้ามาเพื่อควบคุมหัวเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและคงเป็นการจำกัดอำนาจของคนในท้องถิ่นลงไป
ฟาน ฟลีตกล่าวว่ากองทัพสามารถปราบกบฏได้อย่างเรียบร้อยราบคาบ และได้จับแกนนำของกลุ่มกบฏ ๑๗ คนส่งไปยังกรุงศรีอยุทธยา
ซากกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช
พวกกบฏไม่ได้ถูกไต่สวนใดๆทั้งสิ้น ทั้งหมดถูกจับไปทรมานโดยการนาบฝ่าเท้าด้วยแผ่นเหล็กร้อน จากนั้นก็ล่ามโซ่ตรวนแล้วถูกนำไปฝังดินให้โผล่พ้นมาแค่ไหล่ และบังคับให้คนที่เดินผ่านไปมาจะต้องมาเขกศีรษะนักโทษพวกนี้ ซึ่งตามธรรมเนียมไทยแล้วศีรษะจัดว่าเป็นของสูง(ถึงมีคำกล่าวกันว่าอย่า 'เล่นหัว') การกระทำแบบนี้จึงเท่ากับเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างรุนแรง ซิมง เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุทธยาใน พ.ศ.๒๒๓๐ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้บันทึกไว้ว่า
"ทำนองเดียวกับที่สิ่งอันอยู่ในที่สูงย่อมทรงเกียรติยิ่งตามธรรมเนียมของชาวสยาม ศีรษะอันเป้นส่วนที่สูงที่สุดของร่างกายก็ถือกันเป็นล้นพ้น การถูกต้องผู้ใดผู้หนึ่งที่ศีรษะหรือผม หรือเอื้อมมือกรายข้ามศีรษะถือว่าเป็นการดูหมิ่นถิ่นแคลนกันอย่างยิ่ง..."
หลังจากการลงโทษผ่านไปหนึ่งวันเต็มๆ เหล่าพระภิกษุสงฆ์ได้ขอร้องแทนกบฏพวกนี้ กบฏจึงได้ออกจากหลุมและได้รับการปล่อยตัว แม้ฟาน ฟลีตจะไม่ได้กล่าวตรงๆ แต่หากไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมีพระราชโองการให้ปล่อยก็คงไม่สามารถปล่อยนักโทษพวกนี้ได้
ที่น่าสงสัยคือโทษเสมอกบฏ ตามปกติแล้วก็สมควรถูกประหารชีวิต เหตุใดสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงทรงปล่อยกบฏพวกนี้ไป
ทั้งนี้ไม่ทราบแน่ชัด อาจเป็นเพราะพระองค์อาจจะทรงคาดว่าสถานการณ์ที่เมืองนครศรีธรรมราชคงจะจัดการได้เรียบร้อยแล้ว อาจจะควบคุมระบบการปกครองได้อย่างสมบูรณ์พระองค์เลยวางพระทัย หรือไม่ก็กบฏพวกนี้อาจจะไม่ถึงกับเป็นพวกกลุ่มอิทธิพลเก่าในเมืองนครแต่เป็นแค่กลุ่มคนไร้ระเบียบที่ก่อความวุ่นวายไม่ได้ถึงกับจะต่อต้านพระองค์โดยตรง หรือไม่ก็ฟาน ฟลีตบันทึกไม่ละเอียด(ที่ว่าปล่อยอาจจะปล่อยจากหลุมแต่จับไปฆ่าให้พ้นทรมานก็ได้)
อย่างไรเสียความวุ่นวายในเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งสืบเนื่องมาตั้งแต่การวางแผนเพื่อกำจัดออกญาเสนาภิมุข(ยามาดะ นางามาสะ)ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็ได้จบลงในที่สุด แต่ก็สัณนิษฐานว่าอำนาจเก่าทางเมืองนครน่าจะเสื่อมถอยลงไปในช่วงนี้และมีช่องให้ส่วนกลางที่อยุทธยาสามารถแทรงแซงการปกครองได้มากขึ้น ทำให้สถานะของเมืองนครศรีธรรมราชค่อยลดต่ำลงมาตามสมัย...
Create Date : 07 มิถุนายน 2556 |
|
16 comments |
Last Update : 7 มิถุนายน 2556 22:15:34 น. |
Counter : 24764 Pageviews. |
 |
|
แวะมาอ่านหาข้อมูลค่ะ
ขอบคุณที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์นะคะ