"True success is not the learning, but in its application to the benefit of mankind"
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
<<
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
26 พฤษภาคม 2556

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๒๙ : จลาจลเมืองนคร-กวาดล้างญี่ปุ่น

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล



ความตายของออกญานคร ยามาดะ นางามาสะ เป็นกาีรขจัดเสี้ยนหนามสำคัญของสมเด็จพระเด็จพระเจ้าปราสาททองไปได้ แต่ผลที่ตามมานั้นกลับเลวร้ายลงกว่าเดิม ส่งผลร้ายรวมไปถึงเสถียรภาพการปกครองรวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับต่างประเทศอีกด้วย



กษัตริย์ญี่ปุ่น

เมื่อยามาดะ นางามาสะถูกลอบสังหารไปแล้ว ทหารญี่ปุ่นก็ยังคงอยู่ในนครศรีธรรมราชจำนวนมาก โดยหนึ่งในนั้นคือบุตรชายวัย ๑๘ ปีของนางามาสะซึ่งมีนามว่า 'โออินมีบรรดาศักดิ์เป็น 'ออกขุนเสนาภิมุข(Ockon Senapimocq)' สัณนิษฐานว่าเมื่อนางามาสะได้เป็นออกญานคร จึงยกทินนาม 'เสนาภิมุข' ให้บุตรชายไปใช้แทน ด้วยความที่เป็นทายาทเพียงหนึ่งเดียวขอนางามาสะ โออินจึงขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชต่อจากบิดา


เนี่องจากบิดาเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ทำให้โออินสงสัยว่าออกญานครคนเก่า(อิงจาก 'ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชว่าน่าจะเป็น'พระยาแก้ว' เป็นหลาน 'พระญา' ที่เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชใน พ.ศ.๒๑๗๑)ว่าจะอยู่เบื้องหลังแต่ออกญานครคนเก่าใช้วาทศิลป์เยินยอกล่อมโออินจนเชื่อสนิทว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด นอกจากนี้เพื่อสร้างความไว้วางใจจึงยกบุตรสาวคนโตให้เป็นภรรยาของโออินอีกด้วย


อย่างไรเสียออกญานครคนเก่าก็อยากได้ตำแหน่งของตนเองกลับมา และตามที่เยเรมียส ฟาน ฟลีตอ้าง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองเคยส่งหนังสือลับมาว่าถ้าออกญานครคนเก่าสามารถกำจัดชาวญี่ปุ่นออกไปได้จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้กำจัดได้แค่นางามาสะ ทหารญี่ปุ่นยังอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง


ด้วยเหตุนี้ออกญานครจึงวางแผนหลายขั้นตอนเพื่อกำจัดชาวญี่ปุ่นทั้งหมด แต่การกระทำเหล่านี้ส่งผลที่ตามมารุนแรงกว่าที่คิดนัก


เริ่มแรกออกญานครคนเก่าได้ยุโออินว่านางามาสะนั้นมีอำนาจเต็มในการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช เพราะฉะนั้นโออินซึ่งเป็นบุตรชายก็สมควรได้รับการสืบทอดต่อ(ซึ่งจริงๆใครจะเป็นเจ้าเมืองขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่มาตั้งกันเอง) โออินจึงเริ่มใช้อำนาจของตนเองในฐานะเจ้าเมือง เอาคนของตนเองมาเป็นขุนนางตั้งเป็นถึงยศ 'ออกญา' 'ออกพระ' นอกจากนี้ยังวางแผนไปไกลขนาดจะตั้งตนเองเป็นพระมหากษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชและจะให้มีการถวายน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีกด้วย แม้ว่าฟาน ฟลีตจะไม่ได้กล่าวตรงๆ แต่สัณนิษฐานว่าคนที่มีส่วนที่ทำให้เป็นถึงขนาดนี้ก็คงจะเป็นออกญานครคนเก่านั่นเอง การกระทำเหล่านี้จะเป็นการแสดงให้เห็นเลยว่าญี่ปุ่นมาเป็นใหญ่เหนือชาวเมือง และยังประกาศตนราวกับกบฏอีก คงทำให้ชาวเมืองส่วนใหญ่ไม่พอใจแน่นอน


ขั้นที่สอง เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นอ่อนแอลง ออกญานครคนเก่าจึงไปยุยงนายกองทหารญี่ปุ่นซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น 'ออกขุนศรีไวยวุฒิ(Ockon Cirwij Agwoot)' ซึ่งฟาน ฟลีตกล่าวว่าเป็นคนญี่ปุ่นที่ชั่วร้าย โดยยุว่าออกขุนศรีไวยวุฒิควรได้เป็นเจ้าเมืองมากกว่าโออิน พอโดนยุเข้าความโลภก็บังตา ออกขุนศรีไวยจึงประกาศแยกตัวจากโออิน ทหารญี่ปุ่นจึงแตกเป็นสองกลุ่มตั้งแต่นั้นมาและก็มีความขัดแย้งหรือสู้กันเองบ้าง จนอ่อนแอลง และพออนุมานได้ว่าชาวเมืองนครคงได้รับผลกระทบไปด้วย


ขั้นที่สาม เมื่อเห็นว่าญี่ปุ่นแตกคอกันเองแล้ว ออกญานครคนเก่าจึงยุให้บรรดาข้าราชการและชาวเมืองนครต่อต้านญี่ปุ่น โดยกล่าวว่าญี่ปุ่นทั้งหยิ่งผยอง ทั้งทำตัวเป็นกบฎต่อกรุงศรีอยุทธยาโดยตั้งตนขึ้นครองเมืองซึ่งความจริงต้องขึ้นกับพระราชโองการของพระมหากษัตริย์เท่านั้น และยังกล่าวว่าถ้าชาวเมืองไม่ยอมทำอะไรก็อาจจะโดนราชสำนักเหมารวมว่ากบฎไปด้วย


เชื่อว่าในช่วงที่ยามาดะ นางามาสะยังมีชีวิตอยู่ การปกครองเมืองนครศรีธรรมราชน่าจะมีระบบระเบียบพอสมควร พอโออินปกครองความวุ่นวายจึงเกิดขึ้น และส่งผลให้เกิดความเดือนร้อนในหมู่ชาวเมืองนครจนปรากฏเป็น บทช้าน้อง(เพลงกล่อมเด็ก)ที่ร้องกันมาในนครศรีธรรมราชจนถึงทุกวันนี้ ความว่า


"ไอ้อูกเหอ ลูกไก่หางหลุ้น

ข้าหลวงญี่ปุ่น ชันชีจับเด็ก

จับเอาสาวสาว บ่าวบ่าวไปทำหาดเล็ก

ชันชีจับเด็ก จับสิ้นทั้งเมือง... เหอ"


บางทีก็เป็น


 "ไก่อูกเหอ       ไก่อูกหางลุ่น  

ข้าหลวงญี่ปุ่น     ทำวุ่นจับเด็ก

จับเอาแต่สาวสาว  บ่าวบ่าวไปทำมหาดเล็ก

ญี่ปุ่นจับเด็ก     วุ่นทั้งเมืองนครเอย"


ไก่อูก หรือ ลูกไก่หางลุ่น หมายถึงไก่ต่างชาติซึ่งก็หมายถึงชาวญี่ปุ่น ชันชีแปลว่าสัญญาออกเกณฑ์ เนื้อความรวมๆก็แปลว่าชาวญี่ปุ่นเกณฑืชาวนครทั้งชาย หญิง เด็ก ไปใช้งานต่างๆ ทำให้ผู้คนทั่วไป

เดือดร้อน


เมื่อออกญานครคนเก่ามายุแล้ว ชาวเมืองจึงตัดสินใจทำให้ญี่ปุ่นประจักษ์ว่าพวกตนไม่ได้ยอมรับ

เมื่อถึงวันที่จัดพิธีราชาภิเษกโออินขึ้นเป็นกษัตริย์จึงไม่มีขุนนางชาวนครศรีธรรมราชไปร่วมพิธีแม้แต่คนเดียวแม้ว่าญี่ปุ่นจะไปเชิญมาหลายหน แต่โออินก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แล้วก็จัดให้มีการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาขึ้นรวมทั้งออกคำสั่งให้ขุนนางเมืองนครมาถือน้ำแต่ก็ไม่มีชาวนครคนไหนจะยอมรับว่าโออินเป็นกษัตริย์อย่างถูกต้อง จะยอมรับก็ต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมีพระราชโองการมาเท่านั้น



สงครามกลางเมือง

เป็นไปตามแผนของออกญานครคนเก่า ความขัดแย้งของญี่ปุ่นสองกลุ่มรุนแรงมากขึ้นจนทั้งสองฝ่ายต่างตั้งปราการเตรียมพร้อมจะเปิดศึกทั้งคู่ แต่ออกขุนศรีไวยวุฒิเกิดรู้ตัวในที่สุดว่าทั้งหมดเป็นแผนของออกญานครคนเก่าเสี้ยมให้ญี่ปุ่นฆ่ากันเอง ทำให้สุดท้ายญี่ปุ่นสองกลุ่มกลับมาจับมือกัน ออกขุนศรีไวยวุฒิจึงนำทหารญี่ปุ่นบุกไปที่เรือนของออกญานครคนเก่าแล้วลงมือสังหารด้วยตนเอง ส่วนคนอื่นๆบนเรือนก็ถูกญี่ปุ่นฆ่าตายหมด


การกระทำของญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นการจุดชนวนเหตุการณ์ให้บานปลาย ชาวเมืองนครศรีธรรมราชจึงพากันลุกฮือต่อต้านญี่ปุ่นจนกลายเป็นสงครามครามกลางเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งสองฝ่ายฆ่าฟันกันจนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก(ฟาน ฟลีตใช้คำว่า ฆาตกรรมหมู่) นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังจุดไฟจนไฟลามเผาเมืองนครไปส่วนหนึ่งเลยที่เดียว จนผู้คนพากันหลบหนีออกจากนครศรีธรรมราช


จนเหตุการณ์เริ่มสงบลง โออินพยายามชักจูงผู้คนที่หนีไปให้กลับมาตั้งถิ่นฐานอย่างเดิม จะได้ครองทรัพย์สินของตนอย่างเดิม(ถ้ายังเหลืออยู่) และกล่าวว่าจะได้อยู่อย่างสงบเสรี แต่ก็ไม่มีใครเชื่อใจ มีแต่คนจีนไม่กี่คนที่กลับมา ส่วนคนเมืองนครหลบไปอยู่เมืองใกล้แทนจนนครศรีธรรมราชแทบจะเป็น

เมืองร้างไปแล้ว


เมื่อเมืองนครเหลือแต่ญี่ปุ่น ออกขุนศรีไวยวุฒิก็มีความคิดอยากจะเป็นใหญ่อีกจึงหันดาบมาสู้กับโออินอีกหลายครั้ง ชีวิตชาวญี่ปุ่นก็มีแต่จบสิ้นลงไปพร้อมกับความวขัดแย้ง สุดท้ายออกขุนศรีไวยวุฒิก็ถูกฆ่า ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นจึงจบลง


สิ่งที่เหลืออยู่ก็มีเพียงซากเมืองร้างกับชาวญี่ปุ่นอีกไม่มาก โออินเห็นว่าอยู่นครศรีธรรมราชต่อไปก็ไม่มีผลดี และจากความวุ่นวายเหล่านี้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองก็คงไม่ยอมให้ญี่ปุ่นหน้าไหนมาปกครองอีกแน่ โออินจึงพาทหารญี่ปุ่นที่เหลือออกจากนครศรีธรรมราชเดินทางไปยังกัมพูชา


เรื่องความวิบัติในครั้งนี้ ฟาน ฟลีตกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกับเหล่าขุนนางรวมไปถึงคนไทยทั้งหลายต่างยินดี เพราะว่าไม่มีชาวญี่ปุ่นมาเป็นหอกข้างแคร่อีกอีกทั้งชาวญี่ปุ่นนั้นโหดร้ายทารุณ(ตามความคิดของฟาน ฟลีต)



ล้างบางญี่ปุ่น



แผนที่กรุงศรีอยุทธยาในสมัยสมเด้จพระนารายณ์ 

แสดงตำแหน่งหมู่บ้านญี่ปุ่นทางใต้เกาะเมือง เขียนว่า 'Japponois'


อย่างไรก็ตามมีชาวญี่ปุ่นบางคนเดินทางกลับมายังกรุงศรีอยุทธยา มาจากเขมรบ้างหรือที่อื่นๆบ้าง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่ได้ทรงลงโทษพวกนี้แต่ประการใดแม้ว่าพวกนี้จะก่อความวุ่นวายที่นครศรีธรรมราช แต่ผู้คนทั่วไป(คนไทย)ต่างก็รังเกียจและไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วยอีก(คงเพราะมาทำบ้านเมืองวุ่นวายและเคยมีประวัติเสียจากการก่อกบฏสองครั้ง)


บังเอิญช่วงนั้นเรือสำเภาที่ยามาดะ นางามาสะส่งไปที่ญี่ปุ่นได้กลับมายังกรุงศรีอยุทธยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีพระราชโองการให้ยึดทั้งเรือและทรัพย์สินทั้งหมด ทั้งนี้หลายคนเชื่อว่าเป็นการทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่พอใจจะได้ออกไปจากกรุงไทยให้หมด แต่ต่อมามีพระราชดำริว่าอาจจะทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่พอใจแล้วต่อต้านจึงทรงให้คืนเรือสำเภากับสินค้าที่ริบมาให้ชาวญี่ปุ่นไป นอกจากนี้ยังทรงขายเรือสำเภาของพระองค์ลำหนึ่งให้ชาวญี่ปุ่นสามารถใช้ทำการค้าอย่างอิสระด้วย ทั้งนี้คงเป็นเพราะยังทรงเห็นความสำคัญกับการทำการค้ากับญี่ปุ่นอยู่(แม้ว่าจะไม่ทรงวางใจญี่ปุ่นก็ตาม) ตัวอย่างเช่นหนังกวางเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปญี่ปุ่น ในปีหนึ่งสามารถทำรายได้ได้อย่างมหาศาล


อย่างไรเสียแทนที่ญี่ปุ่นจะสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ญี่ปุ่นนั้นกลับเกิดความแค้นขึ้นมา บางคนถึงกับขู่ว่าจะทำการก่อกบฏบุกพระราชวังหลวงอย่างที่เคยทำมาแล้วในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม(อ่านตอนที่ ๔)


ความทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์จึงทรงพระดำริว่าจะเก็บชาวญี่ปุ่นไว้ต่อไปก็ดีแต่จะเป็นภัยคุกคามพระองค์  จึงมีพระราชโองการให้กวาดล้างชาวญี่ปุ่นทิ้ง


วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๑๗๓ วันนั้นน้ำในแม่น้ำเอ่อท่วมพื้นไปทั่ว ทรงมีพระราชโองการให้จุดไฟเผาทำลายหมู่บ้านญี่ปุ่น รวมถึงระดมยิงปืนใหญ่เข้าไปทำลาย สภาพหมู่บ้านในตอนนั้นไม่น่าจะมีคนที่เป็นทหารอยู่มากเพราะส่วนใหญ่ลงไปเมืองนครศรีธรรมราชและรอดกลับมาน้อย ที่เหลืออยู่น่าจะมีเพียงผู้หญิง คนแก่หรือเด็ก และพวกที่ทำอาชีพค้าขายเท่านั้น สุดท้ายคนเหล่านี้ต้องขึ้นเรือสำเภาล่องแม่น้ำหนีไป(มีเรืออยู่สองลำ แต่มีคนน้องเกิดจะป้องกันจึงขึ้นแค่ลำเดียว) สำเภาลำนั้นก็ต้องเผชิญกับการสู้รบไปตลอดทาง ทหารไทยที่ตามไปก็ตายไปมาก แต่สุดท้ายเรือสำเภาลำนั้นก็หนีไปได้สำเร็จ หลุดรอดไปแค่ราว ๖๐-๗๐ คนเท่านั้น


ส่วนชาวญี่ปุ่นที่หลงเหลืออยู่หรือที่ทำการค้า(น่าจะเป็นพวกที่มาจากญี่ปุ่นโดยไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย)ราวๆ ๖๐๐-๗๐๐ คน ถ้าไม่ใช่หนีไปได้ต่างถูกจับหรือถูกฆ่าด้วยกันทั้งสิ้น

ความรุ่งโรจน์ของชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุทธยาก็อวสานลงนับแต่นั้นมา




ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นหลังจากนั้น 



แผนที่เกาะเดจิมะ สถานีการค้าของฮอลันดาในนางาซากิ

สมัยศตวรรษที่ ๑๗


หลังจากนั้นไม่นานสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงตระหนักถึงความสำคัญและผลประโยชน์ที่ได้จากการทำการค้ากับญี่ปุ่น(บวกกลับทรงเกรงว่าญี่ปุ่นจะแก้แค้น)จึงทรงอนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นกลับมาตั้งรกรากในกรุงศรีอยุทธยาอีกครั้ง เมื่อมีคนราวๆ ๗๐-๘๐ ก็ทรงพระราชทานที่ดินดีๆผืนหนึ่งให้ และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้คนญี่ปุ่นสามคนเป็นหัวหน้าคอยปกครอง แต่ให้อยู่ใต้บังคับของขุนนางไทยอีกต่อหนึ่งคือออกญาพิไชยสงคราม(Oya Pitsjasencram) เจ้ากรมอาสาซ้าย เข้าใจว่าเดิมหัวหน้าหมู่บ้านญี่ปุ่นอย่างยามาดะเคยมีอำนาจในการปกครองตนเองมากกว่า ครั้งนี้จึงน่าจะเป็นนโยบายของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเพื่อควบคุมชาวต่างชาติได้เป็นระบบมากขึ้น(ยังมีการจัดให้ขุนนางไทยคนอื่นคุมชนชาติอื่นด้วย)


นอกจากนี้ยังทรงต้องการฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับญี่ปุ่นโดยให้ออกญาพระคลังส่งคณะทูตไปเมืองนางาซากิ แต่ทางเจ้าเมืองนางาซากิไม่ต้อนรับอ้างว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นผู้แย่งชิงราชสมบัติซึ่งทางญี่ปุ่นไม่สามารถยอมรับได้(ทั้งนี้อาจเป็นเพราะญี่ปุ่นยึดหลักในเรื่องความจงรักภักดีต่อนายเป็นสำคัญ) นอกจากนี้ปัจจัยที่เป้นไปได้น่าจะมีเรื่องที่ญี่ปุ่นกำลังมีนโยบายที่ปิดประเทศ และอีกประการน่าจะเพราะสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงทำโหดร้ายกับชาวญี่ปุ่นไว้มาก

ต่อมาญี่ปุ่นประกาศ 'ซะโกะกุ(鎖国)' หรือนโยบายปิดประเทศเป็นกฎหมายต่างๆที่ประกาศออกมาในช่วงตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๗๖ ถึง พ.ศ.๒๑๘๑ จำนวนห้าฉบับ ไม่อนุญาติให้มีการค้าขายกับต่างประเทศนอกจากบางประเทศที่เว้นไว้ และไม่อนุญาตให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางออกนอกประเทศไปทำการค้าขายอีกและห้ามชาวญี่ปุ่นที่ออกนอกประเทศกลับมาอีก


สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงทรงตัดสินพระทัยว่า เมื่อฟาน ฟลีตซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา(VOC)ประจำกรุงศรีอยุทธยา ออกจากกรุงศรีอยุทธยาแล้วพระองค์จะให้คณะทูตติดเรือไปญี่ปุ่นด้วย เพราะทางญี่ปุ่นยังยอมทำการค้ากับฮอลันดาอยู่ที่ท่าเรือเดจิมะในนางาซากิ แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่ามีการดำเนินการตามนี้หรือไม่




ผลของการปิดประเทศทำให้ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นซบเซาลง และประชากรในหมู่บ้านญี่ปุ่นก็คงไม่สามารถเพิ่มขึ้นมากมายเหมือนครั้งอดีตได้อีก จนกระทั่งชาวญี่ปุ่นในไทยค่อยๆสูญหายไปพร้อมกับกาลเวลา...




 

Create Date : 26 พฤษภาคม 2556
3 comments
Last Update : 26 พฤษภาคม 2556 17:01:09 น.
Counter : 4927 Pageviews.

 

ต่อไปน่าจะเกี่ยวกับปราบกบฏเมืองนครราชสีมากระมัง

 

โดย: VET53 27 พฤษภาคม 2556 15:50:05 น.  

 

อ่า... รู้สึกว่ากบฏเมืองนครราชสีมาจะมีในสมัยสมเด็จพระเพทราชานะครับ

สมัยพระเจ้าปราสาททองจะมีสงครามใหญ่หลายครั้ง เช่น สงครามเทืองนครอีกครั้ง สงครามลำปาง สงครามปัตตานี แต่เท่าที่ผมดูยังไม่เจอเมืองนครศรีธรรมราชครับ

 

โดย: ศรีสรรเพชญ์ (Slight06 ) 27 พฤษภาคม 2556 20:10:54 น.  

 

สนุกมากค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 31 พฤษภาคม 2556 16:48:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ศรีสรรเพชญ์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]




New Comments
[Add ศรีสรรเพชญ์'s blog to your web]