เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ

เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ เขียนโดย อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก (โครงการสรรพสาส์น)
เมื่อพูดถึงวรรณกรรมอินเดีย ก่อนหน้านี้ผมจะรู้จักและเคยอ่านแต่งานที่เป็น แบบแผน ของรพินทรนาถ ฐากูร, ภวานี ภัฏฏาจารย์, ร.ก. นารยัน ฯลฯ
หลังจากนั้นก็ไม่ได้อ่านงานของนักเขียนอินเดียใหม่ๆ เลย จนกระทั่งได้อ่าน ความตายของวิษณุ (The Death of Vishnu) ที่เขียนโดย มานิล ซูรี (Manil Suri) เมื่อปีที่แล้ว
และเมื่อไม่กี่วันก่อน ส.น.พ. มูลนิธิเด็ก ก็ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ เนื้อเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวอินเดียในเมืองเค-ราลา ครอบครัวหนึ่งที่เป็นชนชั้นเจ้าของโรงงาน อันประกอบไปด้วยสองฝาแฝดไข่คนละใบอย่างราเฮล (หญิง) และเอสธา (ชาย) กับอัมมู (แม่) จักโก (ลุง) มัมมาจี (ยาย) เบบี้ โกจัมมา (น้องสาวของตา) และเวลุธา (จัณฑาลผู้เป็นคนงาน)
เรื่องเปิดฉากที่ราเฮลกับเอสธากลับมาเยี่ยมบ้านหลังจากใช้ชีวิตในต่างประเทศเสียหลายปี ราเฮลได้พบความเปลี่ยนแปลงของผู้คนและสถานที่ที่เธอคุ้นเคยมานาน
เหตุการณ์ในปัจจุบันตัดสลับกับเหตุการณ์ในอดีตเมื่อยี่สิบสามปีที่แล้ว เมื่อเธอกับเอสธายังเป็นเด็ก 7 ขวบ ชะตาชีวิตของเธอและครอบครัวต้องพลิกผันตั้งแต่การมาเยือนของมาร์กาเร็ต และโซฟี อดีตภรรยาและลูกสาวของจักโก ที่เดินทางมาพักผ่อนที่อินเดีย
เนื้อเรื่องคร่าวๆ มีดังนี้ แต่ผู้เขียนใช้วิธีการตัดสลับเหตุการณ์ในอดีต ทั้งเหตุการณ์เมื่อ 23 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ที่เป็นปูมหลังชีวิตของตัวละครแต่ละตัว และเหตุการณ์ในปัจจุบัน (เมื่อเอสธาและราเฮลกลับมาบ้านอีกครั้ง) จนทำให้ผู้อ่านแทบจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าเนื้อเรื่องเรียงลำดับอย่างไร
ใครที่เคยดูหนัง Pulp fiction อาจพอนึกสไตล์ออก แต่นวนิยายเรื่องนี้รุนแรงกว่านั้นมากนัก ในบทเดียวกันอาจประกอบไปด้วยเหตุการณ์หลายช่วงเวลา แต่เมื่ออ่านจบเล่ม เราจะร้อยเรียงเหตุการณ์ทั้งหมดแล้วลำดับเส้นเรื่องได้
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ เสนอทัศนะว่าด้วยความขัดแย้งทางสังคมหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นกับกระแสโลกาภิวัตน์ ความขัดแย้งระหว่างจัณฑาลกับไม่ใช่จัณฑาล ความขัดแย้งระหว่างการยึดธรรมเนียมประเพณีกับการปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามความรู้สึกของปัจเจกบุคคล ฯลฯ
ความขัดแย้งเหล่านี้ต่างยึดโยงกับระบบความเชื่อที่สำคัญของระบบสำคัญ 4 ระบบที่เป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องราวในเล่ม (และสังคมอินเดียทั่วไป) นั่นคือศาสนาคริสต์นิกายซีเรียน ลัทธิคอมมิวนิสต์ โลกาภิวัตน์ และที่สำคัญที่สุดคือระบบวรรณะในศาสนาฮินดู
เอสธากับราเฮลจึงเป็นตัวแทนของหนุ่มสาวอินเดียรุ่นใหม่ที่เติบโตท่ามกลางความขัดแย้งหลายระดับของสังคมอินเดียดังที่กล่าวมา
นอกจากนี้ผู้เขียนยังกล่าวโจมตีอารยธรรมมนุษย์อย่างรุนแรง โดยสร้างความหมายนัยลบและความเป็นอำนาจนิยม ดังที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ประวัติศาสตร์ได้ต่อรองเรียกร้องให้คนที่ทำลายกฎของมันต้องชดใช้ (หน้า 62) และ มนุษย์ยินดีที่จะทำลายสิ่งซึ่งเขาไม่อาจปราบให้เชื่อง และสิ่งที่เขาไม่อาจเชิดชูเป็นพระเจ้า (หน้า 342)
เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ จัดว่าเป็นนวนิยายแบบ บริติชอินเดีย คือไม่ได้กล่าวถึงสังคมอินเดียในแบบงานของรพินทรนาถ ฯลฯ แต่เป็นสังคมอินเดียที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก (โดยเฉพาะวัฒนธรรมอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเดิมและอเมริกาผู้เป็นเจ้าโลกในปัจจุบัน)
เป็นนวนิยายเล่มหนึ่งที่ผมชอบและแนะนำให้คอวรรณกรรมอ่านกัน
(หมายเหตุ ผมเขียนบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ จะตีพิมพ์ลงในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ เนื้อหาบางส่วนในบล็อกนี้ก็ตัดมาจากบทความดังกล่าว)
Create Date : 20 กรกฎาคม 2550 |
Last Update : 20 กรกฎาคม 2550 10:58:19 น. |
|
9 comments
|
Counter : 2412 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: เมฆชรา วันที่: 20 กรกฎาคม 2550 เวลา:12:07:23 น. |
|
|
|
โดย: พัท (Il Maze ) วันที่: 20 กรกฎาคม 2550 เวลา:18:24:34 น. |
|
|
|
โดย: YuBing วันที่: 20 กรกฎาคม 2550 เวลา:18:24:50 น. |
|
|
|
| |
|
|
แต่ช่วงครึ่งหลัง วางไม่ลงเลยค่ะ
ชอบหนังสือเล่มนี้มาก ๆ ค่ะ
ขอบคุณบทความดี ๆ และขออนุญาติแอดไว้ที่บล๊อคนะคะ