26.2 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬสุญญตสูตร [พระสูตรที่ 21]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
26.1 พระสูตรหลักถัดไป คือจูฬสุญญตสูตร [พระสูตรที่ 21]

ความคิดเห็นที่ 6-13
GravityOfLove, 25 มกราคม เวลา 18:58 น.

             ตรงนี้ไม่เข้าใจค่ะ
             ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะเราไม่กล่าวความอดทนเห็น
ปานนี้ โดยเฉพาะในเพื่อนพรหมจรรย์ภายนอกจากธรรมวินัยนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักไม่มีจิต
ประทุษร้ายในเพื่อนพรหมจรรย์เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษา
อย่างนี้แล ฯ
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=2794&Z=2826

ความคิดเห็นที่ 6-14
ฐานาฐานะ, 25 มกราคม เวลา 19:58 น.

             เทียบกับฉบับมหาจุฬาฯ.
             ฉบับมหาจุฬาฯ
             “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีจิตถูกโทสะประทุษร้าย พึงด่าพึงบริภาษครูทั้ง ๗ นี้
ผู้เป็นเจ้าลัทธิ ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลาย มีบริวารหลายร้อยคน
พร้อมทั้งหมู่สาวก ผู้นั้นพึงประสพสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก ส่วนผู้ใดมีจิตถูกโทสะ
ประทุษร้าย พึงด่าบริภาษบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ๑คนเดียว ผู้นั้นย่อมประสพ
สิ่งที่มิใช่บุญมากกว่าบุคคลผู้ด่าบริภาษครูทั้ง ๗ นั้น
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราไม่กล่าวว่าการขุดโค่นคุณความดีของตนเช่นนี้
จะมีภายนอกศาสนานี้ เหมือนการด่าการบริภาษเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
             ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
‘จิตของเราทั้งหลายจักไม่คิดประทุษร้ายในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย’
             เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
//www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd23-2.htm

ความคิดเห็นที่ 6-15
GravityOfLove, 25 มกราคม เวลา 20:10 น.

             ก็ยังไม่เข้าใจค่ะ พูดเป็นภาษาธรรมดาว่าอย่างไรคะ
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราไม่กล่าวว่าการขุดโค่นคุณความดีของตนเช่นนี้
จะมีภายนอกศาสนานี้ เหมือนการด่าการบริภาษเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
             ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า
‘จิตของเราทั้งหลายจักไม่คิดประทุษร้ายในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย’
             เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”

ความคิดเห็นที่ 6-16
ฐานาฐานะ, 25 มกราคม เวลา 20:20 น.

             ตอบว่า นัยว่า
             ข้อนั้นเพราะเหตุไร
             เพราะโทษในการทำลายตนเองนอกพระศาสนาไม่มี ถึงมีก็ไม่รุนแรง
อย่างที่การด่าพระอริยบุคคล จะก่อให้เกิดโทษเลย.
             โดยนัยก็คือ การด่าศาสดานอกพระศาสนา แม้จะมีโทษมาก
แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับโทษจะการด่าพระอริยบุคคล (บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ)

ความคิดเห็นที่ 6-17
GravityOfLove, 25 มกราคม เวลา 20:32 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 6-18
ฐานาฐานะ, 26 มกราคม เวลา 01:00 น.

GravityOfLove, วันศุกร์ เวลา 23:15 น.
             ๓. [๓๕๑] พ. ดูกรอานนท์ สาวกไม่ควรจะติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟัง
สุตตะ เคยยะ และไวยากรณ์เลย นั่นเพราะเหตุไร เพราะธรรมทั้งหลายอันพวก
เธอสดับแล้ว ทรงจำแล้ว คล่องปากแล้ว เพ่งตามด้วยใจแล้ว แทงตลอดดีแล้ว
ด้วยความเห็น เป็นเวลานาน
11:15 PM 1/24/2014

             อธิบายว่า
             สาวกไม่ควรจะติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังอย่างเดียวเท่านั้น
กล่าวคือฟัง แต่ไม่นำไปปฏิบัติ สิ่งที่สาวกฟังมาเหล่านี้ สาวกก็เข้าใจดีแล้ว
ทรงจำแม่นยำแล้ว แต่สาวกควรฟังแล้วน้อมไปปฏิบัติเพื่อการขัดเกลาด้วย
เช่น ฟังโทษของกาม ก็ปฏิบัติในการออกจากกามทั้งด้วยกายและใจ
อาทิเช่น เว้นจากการข้องแวะในกาม และมนสิการอสุภกรรมฐาน
ฟังโทษการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ปฏิบัติเพื่อละความยินดี
ในการคลุกคลีด้วยคณะ ฯลฯ
             นัยก็คือ ฟังให้เข้าใจในอรรถ และปฏิบัติให้สอดคล้องกับที่ได้ศึกษามา
เช่น
             บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ
พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พวกหนึ่งหารู้อรรถรู้ธรรม
แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ บุคคลที่หารู้อรรถรู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรมไม่ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้นๆ บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้นๆ ...
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=23&A=2385&w=ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

             ฉบับมหาจุฬาฯ
             บุคคลพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ พวกหนึ่ง
รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อีกพวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลพวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ก็ถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น อย่างนี้ บุคคลพวกที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควร
แก่ธรรม ก็ได้รับการสรรเสริญด้วยเหตุนั้น อย่างนี้
//www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd23-2.htm

ความคิดเห็นที่ 6-19
GravityOfLove, 25 มกราคม เวลา 20:32 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
             ๒๒. มหาสุญญตสูตร ว่าด้วยสุญญตา สูตรใหญ่
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=4846&Z=5089&bgc=whitesmoke&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนคร
กบิลพัสดุ์ในสักกชนบท
             ครั้งนั้น ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังวิหารของ
เจ้ากาลเขมกะ ศากยะ เพื่อทรงพักผ่อนในเวลากลางวัน ทอดพระเนตรเห็นเสนาสนะ
ที่แต่งตั้งไว้จำนวนมาก จึงมีพระดำริว่า ในวิหารแห่งนี้มีภิกษุอยู่มากมายหรือหนอ
             สมัยนั้น ท่านพระอานนท์กับภิกษุจำนวนมาก ทำจีวรกรรมอยู่ในวิหารของ
เจ้าฆฏายะ ศากยะ
             ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ทรงหลีกเร้นอยู่แล้ว
จึงเสด็จเข้าไปยังวิหารของเจ้าฆฏายะ ศากยะ รับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า
             ในวิหารของเจ้ากาลเขมกะ ศากยะ เขาแต่งตั้งเสนาสนะไว้มากด้วยกัน
ที่นั่นมีภิกษุอยู่มากมายหรือ
             ท่านพระอานนท์ทูลว่า มากมาย พระพุทธเจ้าข้า จีวรกาลสมัยของ
พวกข้าพระองค์กำลังดำเนินอยู่ (กำลังทำจีวรกรรม)
             (พระเถระคิดว่า พระศาสดาจะไม่ทรงพอพระทัยประสงค์จะกำหราบ
เราจะช่วยเหลือภิกษุเหล่านี้ เพราะฉะนั้น พระเถระจึงกราบทูลอย่างนี้)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=จีวรกรรม

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบ
คลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่ ย่อมไม่งามเลย
             การทำเช่นนั้น ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ
(เนกขัมมสุข ความสุขของผู้ออกจากกามได้แล้ว)
             สุขเกิดแต่ความสงัด (ปวิเวกสุข ความสุขที่สงัดจากกาม)
             สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ (อุปสมสุข ความสุขอันสงบเพราะเป็นไป
เพื่อการเข้าไปสงบกิเลสมีราคะเป็นต้น)
             สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ (สัมโพธิสุข ความสุขจากการตรัสรู้ เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้มรรค)
ตามความปรารถนาโดยไม่ยาก
             (กัมมสมัยก็ดี อกัมมสมัยก็ดี จีวรกาลสมัยก็ดี อจีวรกาลสมัยก็ดี จงยกไว้
ภิกษุที่ยินดีด้วยการคลุกคลี ย่อมไม่งามเลย เธออย่าได้ช่วยเหลือในฐานะที่ไม่ควรช่วยเหลือ)
             เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุเจโตวิมุติอันปรารถนาเพียงชั่วสมัย
(เพียงชั่วสมัย ในที่นี้หมายถึงรูปฌานสมาบัติ ๔ และอรูปฌานสมาบัติ ๔)
             หรือเจโตวิมุติอันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่
(มิใช่เป็นไปชั่วสมัย ในที่นี้หมายถึงอริยมรรค ๔ และสามัญญผล ๔)
             รูปซึ่งบุคคลกำหนัดกันอย่างยิ่ง รูปเป็นที่เกิดโสกะ (ความเศร้าโศก)
ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์ (ความไม่สบายกาย) โทมนัส (ความไม่สบายใจ)
และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) อันมีความแปรปรวนและความเป็นอย่างอื่นของรูป            
             ก็วิหารธรรมอันตถาคตตรัสรู้ในที่นั้นๆ นี้แล คือตถาคตบรรลุสุญญตสมาบัติ
ภายใน (ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติ) เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่
             ถ้าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา
เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์เข้าไปหาตถาคตผู้มีโชค อยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ในที่นั้นๆ
             ตถาคตย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก
(วิเวก ในที่นี้หมายถึงพระนิพพาน) หลีกออกแล้ว ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ
มีภายในปราศจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง จะเป็นผู้ทำการ
เจรจาแต่ที่ชักชวนให้ออกเท่านั้น ในบริษัทนั้นๆ โดยแท้
             เพราะฉะนั้น ภิกษุถ้าแม้หวังว่า จะบรรลุสุญญตสมาบัติภายในอยู่
เธอพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ตั้งจิตภายในให้มั่นเถิด
             ก็ภิกษุจะดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอก
ผุดขึ้น ตั้งจิตภายในมั่นได้อย่างไร คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
             (๑) สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานมีวิตก มีวิจาร
มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
             (๒) เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน มีความเป็นธรรมเอก
ผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่
สมาธิอยู่
             (๓) เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่ และเสวยสุข
ด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่า ผู้วางเฉย มีสติ อยู่
เป็นสุขอยู่
             (๔) เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และ
ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

อาการที่ภิกษุรู้สึกตัวเมื่อมีสุญญตสมาบัติภายใน ในเรื่องต่อไปนี้ ดังนี้คือ
             ๑. ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายใน เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน
             เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน
             ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัว (มีสัมปชัญญะ ในที่นี้หมายถึงมีความรู้ตัวว่า
กัมมัฏฐานของตนยังไม่สมบูรณ์) ในเรื่องความว่างภายในนั้นได้
             ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ...
             ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ...
             ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ (ในที่นี้หมายถึงอรูปสมาบัติ)
เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น
ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
             เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
             ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้

             ภิกษุนั้นพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอก
ผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่น ในสมาธินิมิตข้างต้นนั้น เธอย่อมใส่ใจความว่างภายใน
             เมื่อเธอกำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น
นึกน้อมไปในความว่างภายใน
             เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่าง
ภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในความว่างภายใน
             ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัว (มีสัมปชัญญะ ต่อไปนี้ในที่นี้หมายถึง
มีความรู้ตัวว่า กัมมัฏฐานของตนสำเร็จแล้ว) ในเรื่องความว่างภายในนั้นได้
             ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างภายนอก ...
             ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจความว่างทั้งภายในและภายนอก ...
             ภิกษุนั้นย่อมใส่ใจอาเนญชสมาบัติ เมื่อเธอกำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
             เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจอาเนญชสมาบัติ
จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในอาเนญชสมาบัติ
             ด้วยอาการนี้ ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอาเนญชสมาบัตินั้นได้

             ๒. หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ (ในที่นี้หมายถึงสมถะและวิปัสสนา)
จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะจงกรม เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคือ
อภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้
             ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการจงกรม
             การยืน นั่ง นอน ตรัสทำนองเดียวกัน

             ๓. หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะพูด
เธอย่อมใส่ใจว่า เราจักไม่พูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเลวทราม
เป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วย
ประโยชน์ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส
เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องพระราชาบ้าง
ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยเหตุนั้นเหตุนี้บ้าง
             ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด
             และเธอใส่ใจว่า เราจักพูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลส
อย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว
ฯลฯ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย ฯลฯ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ
             ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ติรัจฉานกถา
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กถาวัตถุ

             ๔. หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะตรึก
เธอย่อมใส่ใจว่า เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นวิตกที่เลวทราม
เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ฯลฯ เพื่อนิพพาน คือ กามวิตก พยาบาทวิตก
วิหิงสาวิตก
             ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการตรึก
             และเธอใส่ใจว่า เราจักตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นวิตกของพระอริยะ
เป็นเครื่องนำออก ที่นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ทำตาม คือ
เนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก
             ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในการตรึก
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิตก_3

             ๕. กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
             กามคุณ ๕ อย่าง ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า
             มีอยู่หรือหนอแล ที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ นี้
อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
             ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่า มีอยู่แล
             เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้
เรายังละไม่ได้แล้ว
             แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่าไม่มีเลย
             เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้
เราละได้แล้ว
             ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องกามคุณ ๕
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กามคุณ_5

             ๖. อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ซึ่งเป็นที่ที่ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็น
ทั้งความเกิดและความดับอยู่ เช่น รูป ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป
อย่างนี้ความดับแห่งรูป
             เธอผู้พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่
ย่อมละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้
             เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕
ของเราได้แล้ว
             ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕

[มีต่อ]

ความคิดเห็นที่ 6-20
[ต่อ]
             พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
             ธรรมนั้นๆ เหล่านี้ (ในที่นี้หมายถึงสมถะ วิปัสสนา มรรค และผล )
เนื่องมาแต่กุศลส่วนเดียว ไกลจากข้าศึก เป็นโลกุตระ อันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้
             เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สาวกมองเห็นอำนาจประโยชน์อะไร
จึงควรใกล้ชิดติดตามศาสดา
             ท่านพระอานนท์ทูลขอให้พระองค์ทรงอธิบาย เพราะพระองค์เท่านั้น
ที่ทรงรู้อย่างแจ่มแจ้ง
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             สาวกไม่ควรจะติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังสุตตะ เคยยะ
และไวยากรณ์เลย นั่นเพราะธรรมทั้งหลายอันพวกเธอสดับแล้ว ทรงจำแล้ว
คล่องปากแล้ว เพ่งตามด้วยใจแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยความเห็น เป็นเวลานาน
             แต่สาวกควรจะใกล้ชิดติดตามศาสดา เพื่อฟังเรื่องราวเห็นปานฉะนี้
ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ
เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว ฯลฯ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย ฯลฯ
เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ
             เมื่อเป็นเช่นนั้น จะมีอุปัททวะของอาจารย์ อุปัททวะของศิษย์
อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์
             ๑. อุปัททวะของอาจารย์ย่อมมีได้อย่างนี้คือ
             ศาสดาบางท่านในโลกนี้ (ในที่นี้หมายถึงเจ้าลัทธินอกพุทธศาสนา) ย่อมพอใจ
เสนาสนะอันสงัด คือ ป่า เป็นต้น
             เมื่อศาสดานั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี
ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพากันเข้าไปหาแล้ว
ศาสดานั้นจะปรารถนาอย่างหมกมุ่น จะถึงความวุ่นวาย จะเวียนมา
เพื่อความเป็นผู้มักมาก
             ศาสดานี้เรียกว่า อาจารย์มีอุปัททวะด้วยอุปัททวะของอาจารย์
อกุศลธรรมอันลามกเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย
มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าศาสดานั้นเสียแล้ว
             ๒. อุปัททวะของศิษย์ย่อมมีได้อย่างนี้ คือ
             สาวกของศาสดานั้น เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามศาสดานั้น ย่อมพอใจเสนาสนะ
อันสงัด คือ ป่า เป็นต้น
             เมื่อสาวกนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี
ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้น
จะปรารถนาอย่างหมกมุ่น จะถึงความวุ่นวาย จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
             สาวกนี้เรียกว่าศิษย์มีอุปัททวะด้วยอุปัททวะของศิษย์ อกุศลธรรมอันลามก
เศร้าหมอง เป็นเหตุ เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก
เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว
             ๓. อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีได้อย่างนี้  คือ
             ตถาคตอุบัติในโลกนี้ ได้เป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก
อย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว
เป็นผู้แจกธรรม ตถาคตนั้นย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า เป็นต้น
             เมื่อตถาคตนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี
ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพากันเข้าไปหาแล้ว
ตถาคตนั้นย่อมไม่ปรารถนาอย่างหมกมุ่น ไม่ถึงความวุ่นวาย ไม่เวียนมา
เพื่อความเป็นผู้มักมาก
             ส่วนสาวกของตถาคตผู้ศาสดานั่น เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามตถาคตผู้ศาสดา
ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า เป็นต้น
             เมื่อสาวกนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่ พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคม
และชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา เมื่อพากันเข้าไปหาแล้ว สาวกนั้นย่อมปรารถนา
อย่างหมกมุ่น ถึงความวุ่นวาย เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก
             สาวกนี้เรียกว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีอุปัททวะด้วยอุปัททวะของ
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ อกุศลธรรมอันลามก เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่
มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป
ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว
             ในอุปัททวะทั้ง ๓ นั้น อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้
มีวิบากเป็นทุกข์ มีวิบากเผ็ดร้อนกว่าอุปัททวะของอาจารย์และอุปัททวะของศิษย์
ทั้งเป็นไปเพื่อความตกต่ำด้วย
             เพราะฉะนั้น พวกเธอจงเรียกร้องเราด้วยความเป็นมิตร
อย่าเรียกร้องเราด้วยความเป็นข้าศึก ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่พวกเธอตลอดกาลนาน
             - เหล่าสาวกย่อมเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นข้าศึก ไม่ใช่เรียกร้อง
ด้วยความเป็นมิตร คือ
             ศาสดาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ
นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ
             เหล่าสาวกของศาสดานั้นไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้และประพฤติ
หลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา
             - เหล่าสาวกย่อมเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นมิตร ไม่ใช่เรียกร้อง
ด้วยความเป็นข้าศึก คือ
             ศาสดาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล
อาศัยความเอ็นดูแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ
นี่เพื่อความสุขแก่พวกเธอ
             เหล่าสาวกของศาสดานั้น ย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้และ
ไม่ประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา
             เราจักไม่ประคับประคองพวกเธอ เหมือนช่างหม้อประคับประคอง
ภาชนะดินดิบที่ยังดิบๆ อยู่ เราจักข่มแล้วๆ จึงบอก จักยกย่องแล้วๆ จึงบอก
ผู้ใดมีแก่นสาร (หมายถึงมรรคและผล แต่ในที่นี้แม้โลกิยคุณก็ประสงค์ว่า แก่นสาร)
ผู้นั้นจักตั้งอยู่
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระอานนท์จึงชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ความคิดเห็นที่ 6-21
ฐานาฐานะ, 26 มกราคม เวลา 01:16 น.

GravityOfLove, 11 นาทีที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
             ๒๒. มหาสุญญตสูตร ว่าด้วยสุญญตา สูตรใหญ่
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=4846&Z=5089&bgc=whitesmoke&pagebreak=0
...
8:31 PM 1/25/2014

             ย่อความได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 6-22
ฐานาฐานะ, 26 มกราคม เวลา 01:18 น.

              คำถามในจูฬสุญญตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=4714&Z=4845

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             2. คุณ GravityOfLove เลื่อมใสการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
หรือไม่การคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เพราะเหตุใด?

ความคิดเห็นที่ 6-23
GravityOfLove, 26 มกราคม เวลา 18:57 น.

             ตอบคำถามในจูฬสุญญตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=4714&Z=4845

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. ทรงตําหนิการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ แทนการบัญญัติสิกขาบท เพื่อเป็นเหมือน
กระจกส่องสําหรับภิกษุผู้ใคร่ต่อการศึกษา จึงทรงแสดงพระสูตรนี้
             ๒. ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน จักเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ เป็นต้น
ตามความปรารถนาโดยไม่ยากไม่ลำบาก นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้
             ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน จักบรรลุเจโตวิมุติทั้งที่กำเริบได้และกำเริบไม่ได้
นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้
             ๓. ภิกษุจะดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ตั้งจิตภายในมั่นได้อย่างไร
             ๔. อาการที่ภิกษุรู้สึกตัวเมื่อมีสุญญตสมาบัติภายใน ในเรื่องความว่างภายใน
ความว่างภายนอก ความว่างทั้งภายในและภายนอก เรื่องอาเนญชสมาบัติ การจงกรม
การยืน การนั่ง การนอน การพูด การตรึก กามคุณ ๕ อุปทานขันธ์ ๕             
             ๕. สาวกควรจะใกล้ชิดติดตามศาสดาเพื่อฟังเรื่องราวซึ่งเป็นเรื่อง
ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความ
เบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อความกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง
เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือกถาวัตถุ ๑๐
             ๖. การใกล้ชิดติดตามอาจารย์ จะมีอุปัททวะของอาจารย์ อุปัททวะของศิษย์
อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์
             ๗. ในอุปัททวะทั้ง ๓ นั้น อุปัททวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้
มีวิบากเป็นทุกข์ มีวิบากเผ็ดร้อนกว่าอุปัททวะของอาจารย์และอุปัททวะของศิษย์
ทั้งเป็นไปเพื่อความตกต่ำด้วย
             ๘. สาวกที่ร้องศาสดาด้วยความเป็นข้าศึก และสาวกที่เรียกร้องศาสดา
ด้วยความเป็นมิตร
             ๙. พระวิปัสสีโพธิสัตว์แวดล้อมไปด้วยบรรพชิต ๘๔,๐๐๐ รูป เที่ยวไป ๗ ปี
ก็ไม่อาจจะยังสัพพัญญุตญาณให้เกิดได้. ครั้นบรรเทาความเป็นอยู่เป็นคณะแล้ว
ยินดีในเอกีภาพ ขึ้นสู่โพธิมณฑล ๗ วัน ยังคุณแห่งสัพพัญญูให้เกิดแล้ว.
             พระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายเที่ยวไปตลอด ๖ ปีกับภิกษุเบญจวัคคีย์
ก็ไม่สามารถจะยังคุณแห่งพระสัพพัญญูให้เกิดขึ้นได้. เมื่อพระเบญจวัคคีย์
หลีกไปแล้ว ทรงยินดีในเอกีภาพ เสด็จขึ้นสู่โพธิมณฑล ยังคุณแห่ง
พระสัพพัญญูให้เกิดแล้ว
             ๑๐. ภิกษุที่ยังมีสมถวิปัสสนาอ่อนอยู่ เพื่อจะตามรักษาสมถวิปัสสนาเหล่านั้น
ควรปรารถนาสัปปายะ ๗ อย่าง คือ อาวาส ๑ โคจร ๑ การสนทนา ๑ บุคคล ๑
โภชนะ ๑ ฤดู ๑ อิริยาบถ ๑
             ๑๑. มารย่อมไม่เห็นจิตของภิกษุผู้นั่งเข้าสมาบัติ ๘ มีวิปัสสนาเป็นบาท
คือไม่อาจเพื่อจะรู้ว่าจิตของภิกษุนั้นอาศัยอารมณ์ชื่อนี้เป็นไป
             ๑๒. ภิกษุเมื่อจงใจล่วงอาบัติ แม้เพียงทุกกฏและทุพภาษิต
ชื่อว่าประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา
-------------------------
             2. คุณ GravityOfLove เลื่อมใสการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
หรือไม่การคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เพราะเหตุใด?
             ถ้าคลุกคลีด้วยหมู่คณะจะทำให้สุขเกิดแต่เนกขัมมะเป็นต้น เกิดได้ยาก
และไม่สามารถบรรลุเจโตวิมุติทั้งที่กำเริบได้และกำเริบไม่ได้
ดังนั้น ในระดับนี้จึงไม่ควรคลุกคลีด้วยหมู่คณะ (เลื่อมใสค่ะ)
             ส่วนในระดับเบื้องต้น การคอยศึกษากับผู้รู้ เป็นต้น
เพื่อให้ได้รับความรู้นั้นเป็นสิ่งจำเป็น

ย้ายไปที
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=12-03-2013&group=1&gblog=1



Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 13:34:51 น.
Counter : 538 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



กุมภาพันธ์ 2557

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
28
 
 
19 กุมภาพันธ์ 2557
All Blog