bloggang.com mainmenu search


ข้อพิจารณาเมื่อสร้างบ้าน







เมื่อจะสร้างบ้าน นอกจากจะต้องพิจารณาถึงประโยชน์การใช้สอย ความสวยงาม และความทนทานของบ้านแล้ว ควรจะต้องคำนึงถึงความร่มเย็นสะดวกสบาย และความประหยัดเงินในระยะยาวอีกด้วย


สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ มีคำแนะนำในการสร้างบ้านที่จะประหยัดเงินในระยะยาว ได้แก่ประหยัดค่าไฟ ประหยัดแอร์ และประหยัดการซ่อมบำรุง ดังนี้




1. ไม่ควรมีลานพื้นคอนกรีตจอดรถยนต์ อยู่ในทิศทางรับแสงแดด เช่น ทิศใต้ ทิศตะวันตก เพราะจะกลายเป็นมวลสารสะสมความร้อน (Thermal mass) ในเวลากลางวัน แล้วถ่ายเทความร้อนกลับสู่บ้านตั้งแต่เวลาเย็นเป็นต้นไป ทำให้สภาพแวดล้อมของบ้านและตัวบ้าน มีอุณหภูมิสูงตามขึ้นไปด้วย



2. ถ้าเป็นไปได้ รั้วบ้านไม่ควรจะออกแบบให้มีลักษณะทึบตัน เนื่องจากผนังรั้วทึบ จะกีดขวางการพัดของลมเข้าสู่ตัวบ้าน ทำให้พื้นที่ภายในบ้านอับลม นอกจากนั้นวัสดุที่ใช้ทำรั้วทึบตัน เช่น อิฐมอญ คอนกรีตบล็อก คอนกรีตเสริมเหล็ก ยังจะสะสมความร้อนไว้ในเวลากลางวัน แล้วจะถ่ายเทสู่สภาพแวดล้อมและตัวบ้านตั้งแต่เวลาเย็นเป็นต้นไป






3. การปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน นอกจากจะสร้างความสดชื่นสบายตาสบายใจแล้ว ใบไม้หลากรูปทรงสีสันที่แผ่กิ่งก้านสาขา ยังจะสามารถลดแสงแดดที่จะกระทบตัวบ้าน ทำให้เกิดร่มเงาร่มเย็นได้เป็นอย่างดี และข้อสำคัญ ต้นไม้ใบหญ้ายังจะช่วยลดความร้อนในสภาพแวดล้อมด้วยการคายไอน้ำผ่านทางปากใบมาให้บ้านอีกด้วย



4. ในปัจจุบันบ้านพักอาศัยทั้งชั้นล่างและชั้นบน มักจะติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพื่อให้ความเย็นและลดความชื้นภายในพื้นที่ การเตรียมการก่อสร้างในส่วนของโครงสร้างพื้นชั้นล่าง จึงควรจะปูแผ่นพลาสติกเพื่อป้องกันความชื้นที่ระเหยขึ้นมาจากผิวดิน หากไม่ปูรองเอาไว้ จะเป็นผลทำให้มีการสะสมความชื้นภายในพื้นที่ห้องชั้นล่าง อันจะทำให้เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้น



5. ประเทศเราจะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ทางทิศใต้ (อ้อมใต้) เป็นเวลา 8–9 เดือน จึงทำให้ทิศตะวันตกและทิศใต้มีอิทธิพลจากแสงแดดรุนแรงเกือบตลอดปี การวางตำแหน่งบ้านและการออกแบบรูปทรงบ้าน จึงต้องหลีกเลี่ยงการรับแสงแดดในทิศดังกล่าว และลมประจำ(ลมมรสุม)ที่พัดผ่านประเทศไทย มีทิศทางชัดเจนพัดจากทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน และพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว การวางผังช่องหน้าต่างจึงต้องคำนึงถึงทิศทางกระแสลมเหล่านี้เป็นสำคัญ



6. ครัวแบบไทยๆมักจะมีความร้อนและมีกลิ่นสะสมอยู่ภายในครัว เพราะมีการหุง การต้ม การแกง การผัด การย่าง ซึ่งจะแตกต่างจากครัวฝรั่ง ความร้อนที่เกิดขึ้นภายในครัวจะสามารถถ่ายเทเข้าสู่ห้องใกล้เคียงในลักษณะสะพานความร้อน (Thermal Bridge) ฉะนั้น จะต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกห้องอะไรอยู่ติดกับครัว หากเป็นห้องที่ติดแอร์ ก็จะยิ่งสิ้นเปลืองค่าไฟและมีกลิ่นติดอยู่ ซึ่งจะต้องมีการกำจัดกลิ่นออกไปในอนาคต



7. การระบายความร้อนภายในบ้านควรใช้ลมธรรมชาติ ควรพิจารณาช่องทางลมเข้าและลมออก เพื่อให้ลมไหลผ่านในตัวบ้านได้ ควรออกแบบให้ช่องหน้าต่างตอบรับทิศทางการเคลื่อนที่ของลมประจำ และควรจะเป็นลมเย็น โดยให้อยู่ตรงข้ามกันและมีขนาดใหญ่เท่ากัน



8. ผังเฟอร์นิเจอร์ต่างๆที่จะจัดวางภายในบ้าน ควรจะวางแผนตระเตรียมไว้ก่อน จะวางเครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เตารีด ตู้เย็น พัดลม ตู้หนังสือ ทีวี เครื่องเสียง อยู่ตรงไหน เพื่อจะใช้ง่าย ใช้เต็มประสิทธิภาพ ปลอดภัย และประหยัดเงิน ซึ่งจะสัมพันธ์กับตำแหน่งการติดตั้งปลั๊ก สวิทช์ไว้ล่วงหน้าด้วย จะได้ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลา หากต้องทุบฝาผนัง เจาะฝาผนัง หรือแม้แต่การเดินสายไฟใหม่



9. อย่ามีบ่อน้ำหรือน้ำพุ หากไม่จำเป็นภายในห้องปรับอากาศ เพราะคุณสมบัติของเครื่องปรับอากาศ จะลดอุณหภูมิและความชื้นภายในห้องนั่นเอง การตกแต่งห้องด้วยน้ำพุ น้ำตก บ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ จึงทำให้ห้องมีความชื้นเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ซึ่งทำให้เครื่องปรับอากาศต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น







10. หลังคาบ้าน นอกจากจะคุ้มแดด คุ้มฝนแล้ว ควรจะช่วยคุ้มความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านด้วย ดังนั้นการออกแบบหลังคาให้มีการระบายอากาศร้อนใต้หลังคาออกไปสู่ภายนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องลมบริเวณจั่วหลังคา หรือระแนงชายคา จะเป็นเรื่องที่ดีต่อการลดความร้อนเข้าสู่ภายในบ้าน



11. ฉนวนกันความร้อนไม่ว่าจะอยู่ที่ผนังหรือใต้หลังคาบ้าน เป็นอุปกรณ์ที่กั้นความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านได้อีกทางหนึ่ง ในเวลากลางวันความร้อนจากแสงแดดจะถ่ายเทเข้าสู่บ้านได้มากที่สุด คือด้านหลังคา ฉะนั้นหากภายในบ้านมีคนอยู่ประจำแน่นอน การลดความร้อนจากหลังคาโดยการใช้ฉนวนกั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่าการเพิ่มเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้ควรจะพิจารณาคุณสมบัติของฉนวน และการติดตั้งที่เหมาะสมกับพื้นที่



12. กันสาดหรือชายคาเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของบ้านในเขตร้อน เพราะจะป้องกันแสงแดดไม่ให้ตกกระทบฝาผนังทึบของบ้าน หรือประเภทส่องผ่านเข้าทางช่องหน้าต่าง และกันสาดหรือชายคายังจะเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันฝนสาดอีกด้วย การพิจารณาให้มีกันสาดในบริเวณที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องจำเป็น



13. ห้องไหนจะติดเครื่องปรับอากาศอย่าลืมติดฉนวน การลดภาระของเครื่องปรับอากาศที่สำคัญ คือการลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน ฉะนั้นการติดฉนวนกันความร้อนในห้องที่ปรับอุณหภูมิ นอกจากจะทำให้ห้องเย็นสบาย สามารถปรับลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็วแล้ว ยังจะช่วยลดค่าไฟของได้เป็นอย่างดี



14. บานเกล็ด บานเปิด หรือบานเลื่อนของหน้าต่างจะมีคุณสมบัติในการใช้สอยแตกต่างกัน ควรเลือกใช้ชนิดที่เหมาะสมกับห้อง ซึ่งหน้าต่างบานเปิดจะมีประสิทธิภาพในการรับลมได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม การติดตั้งก็ต้องให้สอดคล้องกับทิศทางลมด้วย



15. สีของผนังภายนอกบ้านมีผลต่อการสะท้อนแสงแดดและความร้อนเข้าสู่บ้าน สีอ่อนจะมีคุณสมบัติสะท้อนแสงแดดและการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ภายในบ้านได้ดีกว่าสีเข้มตามลำดับความเข้มของสี ผนังภายนอกจึงควรจะเลือกใช้สีโทนอ่อน เช่น ขาว ครีม แต่หากต้องการจะทาสีผนังภายนอกบ้านเป็นสีเข้ม ก็จำเป็นจะต้องมีการติดตั้งฉนวนกันความร้อนเป็นการชดเชย







16. ความชื้นในอากาศที่รั่วซึมเข้าสู่ภายในบ้าน (Air Infiltration) เป็นสาเหตุของภาระของเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น การป้องกันควรพิจารณาเลือกใช้ประตูหน้าต่างห้องที่มีการบังใบวงกบ เพื่อลดการรั่วซึมของอากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายในบ้าน



17. ผนังห้องน้ำเป็นพื้นที่ไม่กี่จุดของบ้านที่ต้องการสัมผัสแสงแดด ด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยและการลดความชื้นภายในห้องน้ำและตัวบ้าน ฉะนั้นการเลือกวางตำแหน่งห้องน้ำในด้านทิศตะวันตกหรือทิศใต้ จะมีข้อดีในการเป็นพื้นที่กันชน(Buffer Zone) ระหว่างแสงแดดกับพื้นที่ภายในบ้านได้



18. การติดตั้งระบบท่อน้ำในห้องน้ำตามตำแหน่งสุขภัณฑ์ต่างๆ ควรจะติดตั้งท่อน้ำในระบบ by pass เพื่อความสะดวกในการซ่อมแซมและแก้ไขในภายหลัง รวมทั้งสามารถลดค่าน้ำประปาในกรณีที่เกิดท่อแตก ท่อรั่ว ท่อซึมได้



19. ช่องแสงภายในบ้านที่ออกแบบให้สามารถนำแสงธรรมชาติส่องเข้ามาถึงภายในห้อง เช่นพื้นที่ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ บันได ห้องเก็บของ ฯลฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการลดการใช้แสงสว่างภายในบ้าน ควรระลึกว่าทิศทางที่นำแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านที่ดีคือทิศเหนือ เพราะจะได้รับอิทธิพลความร้อนของแสงแดดน้อยที่สุดในแต่ละช่วงของปี และมีลักษณะความสว่างคงที่ (Uniform) ในแต่ละวัน



20. เนื่องจากการวางตำแหน่งของคอมเพรสเซอร์จะมีผลต่อการทำงานของเครื่องปรับอากาศ และการทำความเย็นภายในห้อง จึงควรเลือกวางตำแหน่งเครื่องคอมเพรสเซอร์ให้อยู่ในจุดที่พัดลมของเครื่อง สามารถระบายความร้อนได้สะดวก ไม่มีสิ่งกีดขวาง และถ้าให้ดีตัวเครื่องก็ไม่ควรจะได้รับความร้อนจากแสงแดดมากนักในเวลากลางวัน เพราะการสะสมความร้อนที่ตัวเครื่องจะทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟมากขึ้น



21. หลอดไฟฟ้าชนิดหลอดไส้ (Incandescent Lamp) และหลอดฮาโลเจน (Halogen Lamp) จะกินไฟมากและยังจะปล่อยความร้อนออกสู่พื้นที่ภายในห้องในปริมาณมาก เมื่อเทียบกับหลอดฟลูออเรสเซนท์ จึงควรพิจารณาไม่ใช้ หากไม่จำเป็น



22. การติดตั้ง Earth Leak Circuit Breaker เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าในระบบไฟของบ้าน จะช่วยแก้ปัญหาไฟรั่วลงดินได้ ในกรณีที่ตรวจสอบสาเหตุได้ยาก โดยเฉพาะระบบการเดินท่อแบบหุ้ม หรือฝังภายในผนังอาคาร.









Create Date :29 กันยายน 2549 Last Update :29 กันยายน 2549 17:24:23 น. Counter : Pageviews. Comments :26