bloggang.com mainmenu search

 

นมติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์

 

       ในระดับผู้บริโภคเมืองไทยอาจยังไม่มีกระแสห่วงใยนักว่า สินค้าที่เลือกอุปโภคบริโภคอยู่ทุกวันนี้ ทำลายสิ่งแวดล้อมไปมากแค่ไหน เพราะแค่ควบคุมค่าใช้จ่ายให้เพียงพอต่อค่าครองชีพที่ถีบตัวเกินค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ก็เป็นเรื่องหนักหนาแล้ว แต่สำหรับเขาเจ้าธุรกิจนมวัวได้ตระหนักแล้วว่า สิ่งแวดล้อมได้ส่งสัญญาณเตือนถึงความผิดพลาดที่เราได้ทำ
       
       หลายคนอาจไม่ทราบว่าการทำอุตสาหกรรมนมวัวนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล โดย ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง จากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธิ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์มวัวนั้นเกิดจากการย่อยอาหารของวัว ที่มีการหมักจนเกิดก๊าซมีเทน และวัวก็เรอหรือระบายออกทางช่วงล่างของร่างกาย
       
       “ผลกระทบของก๊าซมีเทนต่อการเกิดภาวะโลกร้อนนั้นรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 25 เท่า” ดร.รัตนาวรรณให้ข้อมูล
       
       ทางด้าน พฤติ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด เผยว่าเขาผลิตนมวัวขายมาตั้งแต่ปี 2542 โดยเริ่มต้นจากการผลิตนมเพื่อจำหน่ายในร้านอาหารของตัวเอง กระทั่งได้ยินถึงการพาดพิงว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับฟาร์มวัวนั้นทำให้เกิด “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” (C-footprint) ในปริมาณมหาศาล แต่อยากทราบชัดๆ ว่ามีการปลดปล่อยไปเท่าไหร่ และจะได้หาวิธีลดการปลดปล่อย
       
       ทางบริษัทแดรี่โฮมจึงได้ขอการสนับสนุนจากโครงการ iTAP ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อดำเนินโครงการ “พิชิตฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์นมสดพาสเจอไรส์และโยเกิร์ตแดรี่โฮม” เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการผลิตของฟาร์มโคนมและกระบวนการผลิตในโรงงาน

ตลอดจนขั้นตอนการบรรจุและขนส่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อขอรับรองผลวิเคราะห์ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์จาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และขึ้นทะเบียนติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์
       
       “นมตามมาตรฐานยุโรปมีการปล่อยคาร์บอนที่ประมาณ 2 กิโลกรัมกว่าๆ ต่อนม 1 ลิตร ส่วนของไทยอยู่ที่ 2.3-2.7 กิโลกรัมต่อลิตร แต่ของแดรี่โฮมเราปล่อยอยู่ที่ 2 กิโลกรัมพอดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราภูมิใจ แต่อนาคตจะทำให้ปล่อยได้น้อยลงอีก จนกว่าจะลดไม่ได้แล้ว” พฤติให้ข้อมูลระหว่างทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงงานผลิตนมและโยเกิร์ตของแดรี่โฮม
       
       ปัจจัยที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนในกระจกอุตสาหกรรมนมของแดรี่โฮมน้อยกว่าอุตสาหกรรมนมที่อื่นๆ นั้น พฤติชี้ว่าเป็นเพราะรูปแบบการเลี้ยงของฟาร์มวัวที่ทางบริษัทรับซื้อน้ำนม ซึ่งต้องเลี้ยงวัวทุกตัวแบบอินทรีย์ คือ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงวัว และเลี้ยงด้วยหญ้าสด หากวัวป่วยต้องใช้สมุนไพรในการรักษาเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่วัวป่วยเกิดเยียวยา อนุญาตให้ใช้ได้ แต่ต้องงดรีดน้ำนมนานกว่าปกติ 2 เท่า
       
       “วัวกินหญ้าอย่างเดียวก็เหลือเฝือแล้ว” พฤติกล่าว พร้อมทั้งบอกด้วยว่าการเลี้ยงวัวแบบอินทรีย์หรือออร์แกนิกส์ (Organics) นั้นจะทำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ เพราะเกษตรกรสามารถปลูกหญ้าสดได้ตลอดทั้งปี ขณะฟาร์มนมสมัยใหม่มีต้นทุนการเลี้ยงวัวถึง 80% และต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากภายนอกถึง 90% แต่ฟาร์มแบบอินทรีย์มีฐานวัตถุดิบที่ผลิตได้ในฟาร์ม และมีต้นทุนการเลี้ยงเพียง 20%
       
       “เราไม่ใช้ระบบ 'เกษตรพันธะสัญญา' เกษตรกรที่รับคำแนะนำในการเลี้ยงวัวแบบอินทรีย์จากเรา สามารถส่งนมให้แก่คนอื่นได้ หากเห็นว่าได้ผลประโยชน์มากกว่า แต่เรารับซื้อนมวัวในราคาที่สูงกว่าการซื้อขายทั่วไป 30%” กรรมการผู้จัดการ แดรี่โฮม กล่าว
       
       เมื่อต้นทุนถูกกว่าและจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่า แต่เหตุใดจึงมีเกษตรกรเปลี่ยนมาเลี้ยงวัวแบบอินทรีย์ในอัตราที่ต่ำมาก โดยนับแต่ทำธุรกิจนมออร์แกนิกส์มา 10 ปี มีเกษตรกรที่เขาร่วมกับแดรี่โฮมเพียง 13 ราย แม้จะเพิ่มขึ้นมากจากปีแรกที่มีเกษตรกรเพียงรายเดียว ซึ่งในความเห็นของพฤติเขาระบุว่า การเปลี่ยนความเคยชินของคนเป็นเรื่องยากที่สุด ซึ่งพบได้ในการทำเกษตรทุกอย่าง
       
       “แค่ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีก็จะขาดใจแล้ว” พฤติกล่าวถึงความเคยชินของเกษตรกรทั่วไป โดยเกษตรกรที่จะส่งนมให้บริษัทของเขาได้นั้น ต้องผ่านการคัดเลือกและเข้ารับการอบรม ซึ่งหากเคยทำฟาร์มวัวสมัยใหม่มาก่อนจะต้องงดการใช้สารเคมีทุกชนิดเป็นเวลา 6 เดือน จากนั้นอีก 6 เดือนแดรี่โฮมจะเข้าไปตรวจการปนเปื้อนของสารเคมีจากย่าฆ่าแมลง และยาปฏิชีวนะในน้ำนม หากไม่พบการปนเปื้อนเลยจึงจะรับซื้อน้ำนม
       
       นอกจากกระบวนการบรรจุและขนส่งก็เป็นอีกขั้นตอนที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล เพราะต้องใช้ห้องเย็นในการขนส่งนมและผลิตภัณฑ์นม โดยพฤติระบุว่าทางบริษัทรับซื้อนมจากฟาร์มในรัศมีไม่เกิน 30 กิโลเมตร เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจากระบบขนส่ง พร้อมให้ความเห็นว่า นมผลิตขึ้นในท้องถิ่นไหนก็ควรจำหน่ายในท้องถิ่นนั้น

และในอนาคตทางโรงงานจะใช้ความร้อนจากโรงงานหมุนเวียนไปพลาสเจอไรส์นม โดยจะนำไปผลิตน้ำร้อน แล้วหมุนเวียนขึ้นไปรับความร้อนจากแผงทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ แล้วนำกลับมาใช้ในการพลาสเจอไรส์นม
       
       ด้าน ดร.รัตนาวรรณในฐานะนักวิชาการที่ปรึกษาด้านการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในโครงการ กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่มีผู้ประกอบการรายเล็กติดต่อขอประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพราะที่ผ่านมามีเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ  ติดต่อเข้ามา เนื่องจากเกรงจะกระทบการส่งออก เหตุจากหลายประเทศในยุโรปเริ่มมีมาตรการบังคับ

อย่างเช่นฝรั่งเศสที่มีกฎว่าผู้บริโภคมีสิทธิรู้ว่าสินค้านั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร โดยต้องติดฉลากระบุใน 3 เรื่อง คือ ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ฉลากแสดงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และฉลากแสดงผลกระทบต่อการใช้น้ำ
       
       “ในการพิจารณาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต้องดูตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ วัตถุดิบ การบรรจุ หีบห่อ การผลิต การมช้พลังงาน การกระจายสินค้า หากต้องแช่เย็นก็ต้องนับพลังงานที่ใช้ แล้วคำนวณออกมาเป็น 'คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า' ซึ่งการจะแสดงฉลากได้ ต้องมีบุคคลที่ 3 ที่เป็นกลางและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาตรวจสอบ ในที่นี้เราเชิญอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นผู้ตรวจสอบ และได้รับการรับรองจากองค์การก๊าซเรือนกระจก” ดร.รัตนาวรรณกล่าว
       
       พร้อมกันนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ยังได้ไปเยี่ยมชมฟาร์มวัวนมแบบอินทรีย์ ซึ่งส่งน้ำนมดิบให้แก่แดรี่โฮม โดย ศราวุธ ว่องไพกุล ผู้จัดการฝ่ายไร่ผึ้งฝน กล่าวว่าเข้าร่วมกับแดรี่โฮมตั้งแต่ปี 2550 โดยได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าเป้นฟาร์มอินทรีย์ 100% โดยไม่ใช้ฮอร์โมน ไม่กักขังวัว ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ พร้อมอธิบายว่าโดยปกติวัวนมจะเป็นโรคเต้านมอักเสบเพราะถูกเร่งการให้นมมากเกินไป แต่วัวในระบบอินทรีย์จะเป็นเต้านมอักเสบน้อย
       
       “วัวติดเชื้อจากภายนอกและเข้าไปอักเสบภายใน ลักษณะจะมีเต้าบวม นมเสีย นมบูด วัวจะมีไข้ ปวดและไม่กินอาหาร วิธีการรักษาแบบอินทรีย์คือ ใช้ครีมนวดไล้น้ำนมออก แต่ถ้ารุนแรงจนมีน้ำนมใส ไม่มียาสมุนไพรใดรักษาได้ ก็จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ แล้วต้องหยุดรีดนมไป 2 อาทิตย์ และธรรมชาติของวัวพันธุ์นี้เขาจะผลิตน้ำนมตลอดเวลา

ซึ่งวัวตัวหนึ่งจะผลิตน้ำนมได้มากกว่าที่ลูกวัวจะกินหมด ถ้าไม่รีดออกจะเจ็บ นมคัด หลักการรีดน้ำวัว คือ รีดให้เร็ว รีดให้สะอาด และรีดให้หมดเต้า ไม่เน้นผลผลิตมาก เพราะหากให้วัวกินมาก ให้น้ำนมมาก วัวจะเครียด และเกิดเต้านมอักเสบง่าย ดังนั้น วัวที่เลี้ยงแบบอินทรีย์จึงให้นมได้ไม่มาก ตัวหนึ่งให้นมได้ 20 กิโลกรัมต่อวัน” ศราวุธให้ข้อมูล 
       
       ทางด้าน พฤติยังฝากบอกอีกว่า ผู้บริโภคมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เพราะหากเราเป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจ เลือกกิน เลือกซื้อของที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อย ก็จะกลายเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางของตลาด พร้อมทั้งให้เห็นผลในการเลือกทำธุรกิจนมวัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมว่า เขาเริ่มเห็นสัญญาณเตือนหลายๆ อย่างจากธรรมชาติที่บอกว่ามนุษย์โลกได้ทำบางอย่างผิดพลาด

ดังนั้น เราจึงต้องหาทางแก้ไข เพราะที่สุดโลกคงจะอยู่ต่อไปได้ แต่มนุษย์อาจไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่เราทำให้เปลี่ยนแปลงไป
       
       “ผมรู้เรื่องอื่นน้อย แต่รู้เรื่องโคนมมากที่สุด” คือเหตุผลที่พฤติบอกว่าเลือกดำเนินธุรกิจนมโดยเดินตามแนวทาง “ผลิตของเสียต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด”     

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สิริสวัสดิ์ศุกรวารค่ะ

Create Date :20 กันยายน 2556 Last Update :20 กันยายน 2556 10:28:53 น. Counter : 1584 Pageviews. Comments :0