bloggang.com mainmenu search

 

 

แผนภาพแสดงวงโคจรของดาวหางไซดิงสปริง (เส้นน้ำเงิน) ที่จะเฉียดใกล้ดาวอังคาร (ไลฟ์ไซน์)

 

       นักดาราศาสตร์คำนวณดาวหางดวงใหม่ที่เพิ่งค้นพบเมื่อ ม.ค.ปีนี้ จะเฉียดใกล้ดาวอังคารที่ระยะแค่ 40,000 กิโลเมตร และมีโอกาสที่อาจจะพุ่งชนดาวแดง
       
       ดาวหางดังกล่าวคือ ซี/2013 เอ1 (C/2013 A1) ซึ่งค้นพบโดย โรเบิร์ต เอช.แมคนอต (Robert H. McNaught) นักดาราศาสตร์เชื้อชายสก็อตแลนด์-ออสเตรเลีย ซึ่งไลฟ์ไซน์ระบุว่าเขาเป็นนักสังเกตดาวหางและดาวเคราะห์น้อย และมีดาวหางที่ใช้ชื่อเขาแล้ว 74 ดวง
       
       แมคนอตได้เข้าร่วมในโครงการไซดิงสปริงเซอร์เวย์ (Siding Spring Survey) ซึ่งเป็นโครงการในการล่าดาวเคราะห์น้อยที่อาจจะเข้าใกล้โลก โดยอาศัยกล้องโทรทรรศน์อัปซาลาชมิดต์ (Uppsala Schmidt Telescope) ขนาด 0.5 เมตร ของหอดูดาวไซดิงสปริง (Siding Spring Observatory) ในนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย เขาจึงได้ค้นพบดาวหางดวงดังกล่าว
       
       ก่อนหน้าการค้นพบเมื่อ 3 ม.ค.2013 ภาพของดาวหาง ซี/2013 เอ1 ที่มีชื่อเล่นว่า “ไซดิงสปริง” ถูกบันทึกไว้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแคทาลีนาสกายเซอร์เวย์ (Catalina Sky Survey) ในแอริโซนา สหรัฐฯ เมื่อ 8 ธ.ค.2012 หากและการค้นพบและยืนยันนั้นอาศัยกล้องจากไซดิงสปริง
       
       ขณะที่มีการค้นพบนั้นดาวหางไซดิงสปริงอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 1.07 พันล้านกิโลเมตร และด้วยรูปแบบวงโคจรของดาวหางชี้ว่าดาวเหางดวงนี้มีวงโคจรแบบพาราโบลิค (parabolic orbit) และเป็นครั้งแรกที่ดาวหางได้เข้ามาใหล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 25 ต.ค.2014 ที่ระยะ 209 ล้านกิโลเมตร
       
       หากแต่ก่อนหน้านั้นประมาณอาทิตย์หนึ่งในวันที่ 19 ต.ค.2014 ดาวหางที่คาดว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-50 กิโลเมตรนี้จะตัดผ่านเข้าไปในวงโคจรของดาวอังคาร และเข้าใกล้ดาวเคราะห์ดวงนี้มาก โดยคำนวณในเบื้องต้นแล้วน่าเข้าใกล้ดาวอังคารในระยะ 101,000 กิโลเมตร อย่างไรก็ดี การคำนวณดังกล่าวเกิดจากการสังเกตขณะที่ดาวหางยังอยู่ใกล้มาก ซึ่งผลจะแม่นยำขึ้นเมื่อดาวหางเข้ามาใกล้กว่านี้ในอีกหลายเดือนข้างหน้า
       
       เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ผลการคำนวณของ ลีโอนิด เอลินิน (Leonid Elenin) นักดาราศาสตร์ผู้โด่งดังของรัสเซีย ซึ่งทำงานร่วมกับสถาบันคณิตศาสตร์ประยุกต์เคลดิช (Keldysh Institute of Applied Mathematics) ชี้ว่าดาวหางดวงนี้น่าจะเข้าใกล้ดาวอังคารในระยะห่างจากศูนย์กลาง 41,300 กิโลเมตร
       
       จากการคำนวณของเอลินิน ในวันที่ 19 ต.ค.2014 นั้น เมื่อมองจากดาวอังคารดาวหางจะมีความสว่าง -8 ถึง -8.5 ซึ่งเป็นความสว่างมากกว่าดาวศุกร์ 15-25 เท่า ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะได้ภาพถ่ายความละเอียดสูงจากยานมาร์สรีคองเนซองส์ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter: MRO) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่โคจรอยู่รอบดาวอังคาร
       
       อย่างไรก็ดี มีโอกาสเล็กๆ ที่ดาวหางดวงนี้จะพุ่งชนดาวอังคาร ซึ่งการเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 56 กิโลเมตรต่อวินาทีนั้น จะทำให้ผลจากการพุ่งชนสร้างหลุมอุกกาบาตบนดาวอังคารขนาดใหญ่ที่ลึกตั้งแต่ 10 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางดาวหางไปจนถึง 2 กิโลเมตร และมีอำนาจทำล้างเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 2X1010 เมกะตัน ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.ค.1994 ดาวหางชูเมเกอร์-เลวี (Shoemaker-Levy) ได้พุ่งชนดาวพฤหัสบดี และทิ้งร่องรอยเป็นทางยาวบนเมฆของดาวพฤหัสบดีหลังจากนั้นนานหลายเดือน
       
       ไม่ว่าดาวหางจะพุ่งชนดาวอังคารหรือไม่ แต่อีกไม่ถึง 20 เดือนหลังจากนี้ดาวหางไซดิงสปริงก็จะเข้าใกล้ดาวอังคารอย่างมาก และเป็นการเฉียดใกล้ดาวแดงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเพียง 1 ปี โดยในวันที่ 1 ต.ค.2013 นี้ ดาวหางไอซอน (ISON) จะเฉียดใกล้ดาวอังคารที่ระยะ 10.5 ล้านกิโลเมตร ก่อนที่ดาวหางจะเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์ในเดือน พ.ย.แต่ไซดิงสปริงจะเฉียดมากกว่านั้นเป็น 100 เท่า

ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
ไลฟ์ไซน์

สิริสวัสดิ์วุธวารค่ะ

Create Date :06 มีนาคม 2556 Last Update :6 มีนาคม 2556 9:02:36 น. Counter : 913 Pageviews. Comments :0