bloggang.com mainmenu search

  รศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

 

ภาพเจ้าที่กำลังทำความสะอาดอ่าวพร้าวที่เต็มไปด้วยคราบน้ำมัน

 

       บทเรียนจากเหตุการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิดกลางอ่าวเม็กซิโกสู่วิกฤติการปนเปื้อนของสารก่อมะเร็งจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบในอ่าวไทย (ตอนจบ)
       
       โดย
       รองศาสตราจารย์ ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
       ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
       คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
       สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

       
       “ท้าวความเดิมจากตอนที่ 2 ผมได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่การรั่วไหลของน้ำมันดิบในอ่าวไทยครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยแบ่งออกเป็นสามส่วนหลักคือผลกระทบเชิงกายภาพ เคมี และชีวภาพดังที่ได้อธิบายไว้ในเวปไซด์ผู้จัดการออนไลน์ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 (//www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000093995) บทความตอนนี้ผู้เขียนจะมาวิเคราะห์ต่อถึงแนวทางฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนของเหตุรั่วไหลของน้ำมันดิบในอ่าวไทย”
       
       นอกจาก โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison: ค.ศ. 1847 - 1931) จะเป็นนักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่จนได้รับฉายาว่า "พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก" เนื่องจากได้สร้างคุณูปการผ่านผลงานของสิ่งประดิษฐ์ที่จัดได้ว่าเป็นนวัตกรรมในยุคนั้นจำนวนมหาศาลแล้ว ท่านยัง ได้ฝากวาทกรรมคำคมที่ชวนให้คนรุ่นหลังคิดต่อไปว่า
       
       
“เรายังรู้ไม่ถึง เศษหนึ่งส่วนล้าน ของหนึ่งเปอร์เซนต์ ของสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้.....”
       
       ประโยคนี้เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่รู้ของมนุษย์ผู้อหังการที่คิดว่าตนเองเป็นผู้รอบรู้สามารถควบคุมธรรมชาติได้หมดทุกอย่าง สอดคล้องกับวาทกรรมอันเฉียบคมของ มาร์ก ทเวน (Mark Twain: ค.ศ. 1835-1910) นักเขียนเรื่องขบขันชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้ฝากผลงานการประพันธ์ระดับโลกเช่น การผจญภัยของ ทอม ซอว์เยอร์ (The Adventures of Tom Sawyer) ที่ได้กล่าวไว้ว่า
       
       
“เรื่องที่เราไม่รู้ไม่ได้สร้างปัญหาให้เรา แต่เรื่องที่เราคิดว่าเรารู้แต่กลับรู้ไม่จริงต่างหากที่สร้างปัญหา.....”
       
       เมื่อลองวิเคราะห์วาทกรรมบรรลือโลกดูแล้วจะพบว่าสองแนวความคิดนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นการรั่วไหลของน้ำมันดิบที่อ่าวไทยได้เช่นเดียวกัน ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า
       
       1.ยังมีเรื่องอีกมากมายที่เราไม่รู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบในครั้งนี้
       
       2.การใช้สารเคมีในการย่อยสลายน้ำมันดิบ ซึ่งทางผู้เกี่ยวข้องคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ณ ขณะนั้น อาจสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากกว่าเดิมก็เป็นได้
       
       ในฐานะนักวิชาการที่ได้คลุกคลีอยู่กับปัญหาผลกระทบด้านมลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 20 ปี ผู้เขียนรู้สึกเจ็บแปลบขึ้นมาทันทีเมื่อได้ยินคำแถลงการณ์จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการรั่วไหลของน้ำมันดิบในครั้งนี้รวมทั้งสื่อมวลชนบางกลุ่มที่มีการใช้ถ้อยคำชี้นำสังคมให้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยซึ่งสามารถคลี่คลายได้โดยเร็ววันและทุกอย่างก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติดังเช่นมีการใช้วาทกรรมที่ว่า
       
       
“น้ำมันดิบเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมันก็จะย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ........”

       
       ผู้เขียนไม่ปฏิเสธต่อวาทกรรมที่ผู้มีส่วนได้เสียพยายามชักจูงสังคมให้เห็นคล้อยตาม แน่นอนทุกอย่างย่อมมาจากธรรมชาติและจะย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติตามกฏพระไตรลักษณ์
       
       ปรอทที่รั่วไหลจากโรงงานเคมี Chisso Corporation’s Chemical Factory ที่เมืองมินามะตะ จังหวัดคุมะโมะโตะ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2499 จนก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารปรอทในห่วงโซ่อาหารรอบบริเวณอ่าวมินะมะตะ ทะเลชิระนุย กระทบต่อการเสียชีวิตของมนุษย์และสัตว์จำนวนมาก [1] ปรอทที่รั่วไหลก็มาจากธรรมชาติ
       
       แคดเมียมที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของจังหวัดโทะยามะประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2455 ซึ่งเป็นเหตุให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยรอบบริเวณที่มีการปนเปื้อนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งที่ไตและต่อมลูกหมาก สูญเสียประสาทการดมกลิ่นและตกอยู่ในภาวะโลหิตจาง ตามด้วยอาการเจ็บหน้า อก และไออย่างรุนแรง จนเป็นที่มาของชื่อโรค อิไตอิไต ซึ่งมีความหมายถึงเสียงร้องจากความเจ็บปวดในภาษาญี่ปุ่น [2] แคดเมียมที่ปนเปื้อนก็มาจากธรรมชาติ
       
       การแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี ยูเรเนียม-235 (Uranium-235) และ ซีเซียม-137 (Cesium-137) จากอุบัติภัยเชอร์โนบิล ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2529 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ทางตอนเหนือของยูเครนใกล้ชายแดนเบลารุส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 56 คนและมีการประมาณการจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพโดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งไว้ที่ 600,000 คน [3] สารกัมมันตรังสีที่แพร่กระจายก็มาจากธรรมชาติ
       
       มลพิษเกือบทุกประเภทล้วนมีแหล่งกำเนิดจากธรรมชาติทั้งนั้นยกเว้นสารพิษบางกลุ่มที่มนุษย์ได้สังเคราะห์ขึ้นเองเช่น ก๊าซพิษซาริน (Sarin) ([(CH3)2CHO]CH3P(O)F) ซึ่งถูกสังเคราะห์ขึ้นโดยสองนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันเพื่อนำไปใช้ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยกองทัพนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง [4] ก่อนที่ชื่อของก๊าซพิษนี้จะกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งหลังเหตุการก่อวินาศกรรมโดยสาวกลัทธิโอมชินริเกียวด้วยการปล่อยแก๊สพิษซาริน ในรถไฟใต้ดินกรุง โตเกียว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2538 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บมากกว่า 6,000 คน [5] แต่หากวิเคราะห์กันให้ดีสารตั้งต้นก่อนนำมาสังเคราะห์เป็นก๊าซซารินก็มาจากธรรมชาติ
       
       สรุปคือทุกอย่างล้วนมาจากธรรมชาติ!! แต่คำถามที่ตามมาคือแล้วกว่าที่สิ่งแวดล้อมจะกลับมาใกล้เคียงกับสภาพเดิมต้องใช้เวลานานเท่าไหร่?
       
       “ปรอท” ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคมินะมะตะ ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวเมืองมินะมะตะมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า 36 ปี [1]
       
       “แคดเมียม” ซึ่งเป็นต้นเหตุของ โรคอิไตอิไต เมื่อปี พ.ศ. 2455 ได้กลับมาเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอีกครั้งเมื่อ รัฐบาลญี่ปุ่น บริษัทเอกชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นได้ร่วมการลงขันออกค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดหน้าดินที่ได้รับการปนเปื้อนด้วยแคดเมียมด้วยจำนวนเม็ดเงินที่สูงถึง 12,868 ล้านบาทในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555 หรือเกือบ 100 ปีให้หลัง!! [6]
       
       “สารกัมมันตรังสี Cesium-137 และ Uranium-235” ต่างมีระยะเวลาครึ่งชีวิต (Half Life) หรือระยะเวลาที่เวลาที่สารกัมมันตรังสีใช้ในการสลายตัวเหลือครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่เดิมอยู่ที่ 30.17 ปีและ 700 ล้านปีตามลำดับ!! [7,8]
       
       หมายความว่ามลพิษแต่ละชนิดต้องการวิธีการและระยะเวลาสำหรับใช้ในการบำบัดแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้สิ่งที่ผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ควรตระหนักเป็นพิเศษคือสารพิษแต่ละชนิดมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน
       
       ลองมาวิเคราะห์กันต่อนะครับว่าแล้วแนวทางการแก้ไขปัญหาของ PTTGC มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงต่อระบบนิเวศทางทะเลในอ่าวไทยอย่างไรบ้าง? ก่อนจะตอบโจทย์ข้อนี้ผู้เขียนได้ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติในการลดความเสี่ยงจากเหตุการรั่วไหลของน้ำมันดิบซึ่งมีอยู่หลากหลายวิธีเช่น
       
       1. การใช้เทคโนโลยีฟื้นฟูทางชีวภาพ (Bioremediation Technology) ผ่านการย่อยสลายโดยเชื้อจุลินทรีย์: วิธีนี้แม้ว่าฟังดูคล้ายกับว่าจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและน่าจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าวิธีบำบัดอื่นๆ แต่จุดด้อยคือระยะเวลาที่ใช้ค่อนข้างนานกว่าจะเห็นผล เนื่องจากโดยธรรมชาติของจุลินทรีย์เลือกที่จะย่อยสารอินทรีย์อื่นที่ตกค้างอยู่ในธรรมชาติมากกว่าคราบน้ำมันที่มีโครงสร้างของวงแหวนเบนซินที่แข็งแรงและย่อยสลายยาก

นักวิทยาศาสตร์จึงได้มีการประยุกต์ใช้สารลดแรงตึงผิวที่มีคุณสมบัติในการละลายได้ทั้งในน้ำและน้ำมันเช่น Bioemulsificant Exopolysaccharide (EPS2003) เพื่อช่วยกระตุ้นให้กระบวนการย่อยสลายคราบน้ำมันโดยเชื้อจุลินทรีย์เร็วขึ้นกว่าเดิมเกือบ 5 เท่า [9] แต่ทั้งนี้ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอื่นเช่น ปริมาณการละลายของออกซิเจนในน้ำทะเล (ค่า DO) ค่าความเป็นกรดด่าง (ค่า pH) และค่าสภาพการนำไฟฟ้า (ค่า Conductivity) ต่างมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของการบำบัดคราบน้ำมันโดยการย่อยสลายของจุลินทรีย์ด้วยกันทั้งสิ้น [10]

จากผลงานวิจัยของสำนักป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ US-EPA พบว่าการเติมสารเร่งการย่อยสลายโดยเชื้อจุลินทรีย์สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลายสารเคมีในกลุ่มอัลเคน (Alkanes) โดย 98% ของสารเคมีกลุ่มนี้จะถูกย่อยสลายลงภายในระยะเวลา 28 วันและสามารถช่วยเร่งการย่อยสลายสารก่อมะเร็ง พีเอเอช ให้เร็วกว่าการย่อยสลายตามปกติในธรรมชาติถึง 200 เท่า [11]
       
       2. การขจัดคราบน้ำมันด้วยการเผาภายใต้การควบคุม (Controlled Burning) อาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบก่อนที่มันจะเเพร่กระจายตัวออกเป็นวงกว้าง การเผาคราบน้ำมันเป็นวิธีที่เร็ว สะดวก ประหยัด และสามารถลดปริมาณการปนเปื้อนของคราบน้ำมันในทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่ตามมาด้วยเช่น หากดำเนินการเผาบนบกในบริเวณที่เป็นแอ่งกระทะในช่วงฤดูหนาวการเผาอาจสร้างผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ

เนื่องจากการสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันคือแหล่งกำเนิดที่สำคัญของสารก่อมะเร็งและมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่สำคัญเงื่อนไขทางอุตุนิยมวิทยาเช่น ปริมาณน้ำฝน ความเร็วลม อุณหภูมิอากาศ และชนิดของน้ำมันดิบต่างเป็นตัวแปรที่สำคัญของการกำจัดคราบน้ำมันด้วยการเผา [12]
       
       3. การดูดน้ำทะเลที่ปนเปื้อนน้ำมันขึ้นมาบนเรือบรรทุกน้ำมันก่อนทำการแยกชั้นน้ำกับน้ำมันออกจากกันด้วยวิธีการเหวี่ยงแยก (Centrifuge Process) [13] อาจจะมองดูเป็นวิธีที่โบราณแต่หากมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อม เช่นมีจำนวนปั๊มน้ำ กำลังคนและความยาวของทุ่นลอยเพื่อจำกัดวงการแพร่กระจายของน้ำมันดิบที่เพียงพอ อุบัติเหตุการรั่วไหลของน้ำมันดิบครั้งนี้อาจไม่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
       
       4. การใช้สารเคมีที่ทำให้นํ้ามันรวมตัวกัน (Chemical Solidifier) เพื่อเปลี่ยนสถานะของน้ำมันดิบจากของเหลวเป็นสถานะกึ่งของแข็ง (Semi-Solid) หรือสภาพที่คล้ายกับก้อนยางซึ่งสามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้ทำให้สะดวกต่อการกำจัด อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการทำปฏิกิริยาของสารเคมีขึ้นอยู่กับชนิดและค่าความหนืด (Viscosity) ของน้ำมันดิบ ที่สำคัญนักวิชาการจำนวนหนึ่งยังแสดงความกัวลใจต่อระดับความเป็นพิษของสารเคมีชนิดนี้ที่อาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม [14]
       
       5. การใช้น้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spill Dispersant) ซึ่งในกรณีของวิกฤติรั่วไหลน้ำมันดิบในอ่าวไทยครั้งนี้มีการนำน้ำยา Corexit มาใช้ในการขจัดซึ่งส่วนผสมของน้ำยาชนิดนี้อาจสร้างปัญหาอื่นให้กับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากผลการวิเคราะห์น้ำยา Corexit สูตร 9500 และ 9527 พบว่ามีสารเคมีกว่า 57 ชนิดที่มีฤทธิ์ก่อให้เกิดมะเร็ง เป็นพิษและ สารเคมีบางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มสารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (endocrine disrupting compounds: EDCs) [15] นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยบ่งชี้ให้เห็นถึงอันตรายของสาร Corexit ซึ่งมีระดับความเป็นพิษสูงกว่าน้ำมันดิบถึง 52 เท่า [16]
       
       การเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาโดย น้ำยาขจัดคราบน้ำมัน Corexit ของ PTTGC อาจเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่มีทุ่นลอยและปั๊มน้ำรวมทั้งกำลังของเจ้าหน้าที่ในจำนวนจำกัด แต่คำว่า “ดีที่สุด” เป็นเรื่องของมุมมองซึ่งต่อจากนี้ไปคาดว่าคงมีผลงานวิจัยจากหลากหลายสาขาออกมาตีแผ่ให้สังคมได้รับทราบถึงผลกระทบจากเหตุการรั่วไหลของน้ำมันดิบในครั้งนี้
       
       ผู้เขียนหวังไว้เป็นอย่างยิ่งว่าบทความทั้งสามตอนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อเหตุการณ์บ้างไม่มากก็น้อย เหนือสิ่งอื่นใดผู้เขียนไม่อยากเห็นเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นซ้ำสองอีก จึงอยากให้ชาวไทยทุกคนตื่นรู้ช่วยกันระวังและเป็นหูเป็นตารวมทั้งผนึกกำลังในการที่จะช่วยให้ ปตท ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับรางวัล ด้านธรรมาภิบาลจากทั้งในและต่างประเทศมากมายให้เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสมดังสโลแกนที่ตั้งไว้โดยแท้จริง
       
       อ้างอิง
       [1] Stephen J. Withrow, David M. Vail, Withrow and MacEwen's Small Animal Clinical Oncology, Elsevier: 2007, ISBN 0721605583, p. 73-4.
       [2] ICETT Itai-itai disease (1998) //www.icett.or.jp/lpca_jp.nsf/a21a0d8b94740fbd492567ca000d5879/b30e2e489f4b4ff1492567ca0011ff90?OpenDocument.
       [3] Gorbachev, Mikhail (1996), interview in Johnson, Thomas, The Battle of Chernobyl, [film], Discovery Channel, retrieved 30 October 2012.
       [4] Sarin (GB). Emergency Response Safety and Health Database. National Institute for Occupational Safety and Health. Accessed April 20, 2009.
       [5] Haruki Murakami, Alfred Birnbaum, Philip Gabriel, Underground Vintage International 2001.
       [6] Kyodo News, "Toyama concludes cadmium cleanup", Japan Times, 18 March 2012, p. 2.
       [7] //www.epa.gov/radiation/radionuclides/iodine.html
       [8] //www.epa.gov/radiation/radionuclides/uranium.html
       [9] Simone Cappello, Maria Genovese, Camilla Della Torre, Antonella Crisari, Mehdi Hassanshahian, Santina Santisi, Rosario Calogero, Michail M. Yakimov. 2012. Effect of bioemulsificant exopolysaccharide (EPS2003) on microbial community dynamics during assays of oil spill bioremediation: A microcosm study. Marine Pollution Bulletin, 64 (12), 2820-2828.
       [10] S.Khodijah Chaerun, Kazue Tazaki, Ryuji Asada, Kazuhiro Kogure. 2004. Bioremediation of coastal areas 5 years after the Nakhodka oil spill in the Sea of Japan: isolation and characterization of hydrocarbon-degrading bacteria. Environment International, 30 (7), 911-922.
       [11] "S-200 | NCP Product Schedule | Emergency Management | US EPA". Epa.gov. Retrieved 2010-06-16.
       [12] Joseph V Mullin, Michael A Champ. 2003. Introduction/Overview to In Situ Burning of Oil Spills. Spill Science & Technology Bulletin, 8 (4), 323-330.
       [13] Fountain, Henry (2010-06-24). "Advances in Oil Spill Cleanup Lag Since Valdez". New York Times. Retrieved 2010-07-05.
       [14] Merv Fingas, Ben Fieldhouse. 2011. Chapter 22 - Review of Solidifiers. Oil Spill Science and Technology, 713-733.
       [15] Pensacola News Journal: Archives.
       [16] Roberto Rico-Martínez, Terry W. Snell, Tonya L. Shearer. 2013. Synergistic toxicity of Macondo crude oil and dispersant Corexit 9500A® to the Brachionus plicatilis species complex (Rotifera). Environmental Pollution, 173, 5-10.
       

ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
รศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

สิริสวัสดิ์จันทรวารค่ะ

Create Date :05 สิงหาคม 2556 Last Update :5 สิงหาคม 2556 13:30:40 น. Counter : 1619 Pageviews. Comments :0