bloggang.com mainmenu search
  "ไฮเปอร์ลูป" เวอร์ชันสั่งพิมพ์แบบ 3 มิติ

       หลัง “อีลอน มัสก์” เศรษฐกิจนักลงทุนเสนอแนวคิด “ไฮเปอร์ลูป” ระบบรถไฟความเร็วสูงกว่า 900 km/h ทางดีไซเนอร์ของบริษัทการพิมพ์ 3 มิติ ก็ช่วยกันสร้างรถไฟระบบรางดังกล่าวออกมาให้เป็นรูปเป็นร่างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ 3 เครื่อง
       
       อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งบริษัทสเปซเอกซ์ (SpaceX) และบริการชำระเงินออนไลน์เพย์พาล (PayPal) ร่วมทั้งร่วมก่อตั้งบริษัทเทสลามอเตอร์ส (Tesla Motors) บริษัทสร้าง ออกแบบและจำหน่ายรถไฟฟ้าและอะไหล่ เพิ่งเขย่าโลกอีกครั้งด้วยแนวคิดระบบรถไฟความเร็วสูง “ไฮเปอร์ลูป” (Hyperloop) ที่มีความเร็วกว่า 900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าระบบรถไฟความเร็วสูงในปัจจุบันที่มีอยู่
       
       ขณะที่แนวคิดดังกล่าวยังเป็นแค่แนวคิด ไลฟ์ไซน์ระบุว่า เจอร์รี โรเปลาโต (Jerry Ropelato) ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรับออกแบบและพิมพ์วัตถุสามมิติ ไวท์คลาวด์ส (WhiteClouds) ก็ได้กระตุ้นทีมนักออกแบบ 5 คนของบริษัทให้ช่วยสร้างแบบจำลองของระบบรถไฟฟ้าความสูงดังกล่าวขึ้นมา
       
       นักออกแบบแต่ละคนจะแยกกันศึกษาชิ้นส่วนในระบบไฮเปอร์ลูป แล้วออกแบบโมเดลสามมิติโดยอ้างอิงภาพที่มัสก์นำมาเผยแพร่แก่สื่อมวลชน ซึ่งระบบดังกล่าวยังรวมถึงแคปซูลขนส่งผู้โดยสารหรือพอดส์ (pods) ที่จะวิ่งผ่านท่อนำส่งยกระดับที่หนุนด้วยเสาค้ำและสถานีเพื่อการโดยสารทั้งขาไปและขามา  
       
       “ผมว่ามันน่าจะสนุกและน่าสนใจดีที่จะเอาสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวัน มาทำให้แนวคิดไฮเปอร์ลูปกลายเป็นรูปเป็นร่าง นี่เป็นการสาธิตสิ่งที่การพิมพ์สามมิติจะสามารถสนองตอบได้” โรเปลาโตอดีตซีอีโอไวท์คลาวด์และปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบอกแก่ไลฟ์ไซน์

ทีมงานใช้เครื่องพิมพ์สามมิติจำนวน 3 เครื่องสั่งพิมพ์ภาพต้นแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ เครื่องพิมพ์แต่ละเครื่องจะค่อยๆ พิมพ์แบบจำลองทีละชั้นๆ เครื่องพิมพ์หนึ่งทำหน้าที่พิมพ์เสาค้ำ อีกเครื่องพิมพ์หนึ่งทำหน้าที่พิมพ์ท่อนำส่งโดยใช้เรซิ่นใสในการพิมพ์ ส่วนอีกเครื่องจะพิมพ์สถานีและพอดส์ จากนั้นก็นำแต่ละชิ้นส่วนมาประกอบกันเป็นแบบจำลองระบบที่สมบูรณ์
       
       เดิมจากการเปิดเผยของมัสก์ระบุว่าระบบไฮเปอร์ลูปนั้นจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 966 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อมูลล่าสุดจากไลฟ์ไซน์ระบุว่า ระบบจะทำความเร็วได้ถึง 1,220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะนำส่งผู้โดยสารจากลอสแองเจลลิสถึงซานฟรานซิสโกในเวลาเพียง 30 นาที ต่างจากการเดินทางโดยรถยนต์ที่ต้องใช้เวลาถึง 5.5 ชั่วโมง และระบบจะให้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ส่วนแคปซูลโดยสารจะทำความเร็วดังกล่าวได้ โดยอาศัยการเดินทางจากการลดแรงกระแทกของอากาศ
       
       มัสก์กล่าวว่า ระบบไฮเปอร์ลูปจะลดความแออัดของการจราจร และจะอำนวยการขนส่งที่ถูกกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถยนต์ อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในการลงทุนมากกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงของแคลิฟอร์เนียที่วางแผนไว้และจะเชื่อมเมืองใหญ่ๆ ของรัฐเข้าด้วยกัน โดยมีงบลงทุนกว่า 2.1 ล้านล้านบาท แต่สำหรับโครงการไฮเปอร์ลูปตอนนี้ยังคงเป็นแค่โครงการขายฝัน 

ออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์        

สีัิ่งพิมพ์ทีละชั้นๆ        

ได้โมเดลเสาค้ำระบบรถไฟความเร็วสูง        

สั่งพิมพ์พอดส์ลำเลียงผู้โดยสาร        

ประกอบทุกอย่างด้วยกัน
       

 

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สิริสวัสดิ์ภุมวารค่ะ

Create Date :20 สิงหาคม 2556 Last Update :20 สิงหาคม 2556 9:38:50 น. Counter : 1706 Pageviews. Comments :0