bloggang.com mainmenu search

 

นักวิจัยเกาหลีพบว่า ฝูง "โลมาธรรมดา" พยายามช่วยชีวิตโลมาโตเต็มวัยที่บาดเจ็บ ด้วยการต่อตัวเป็นแพ ดันร่างโลมาป่วยขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อหายใจ (ภาพข่าวจากแฟ้ม/บีบีซีเนเจอร์)

 

       นักวิจัยเกาหลีเห็นฝูง “โลมาธรรมดา” รวมตัวกันช่วยชีวิตสมาชิกที่ใกล้ตาย โดยช่วยกันพยุงให้เพื่อนขึ้นมาหายใจ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สามารถบันทึกความช่วยเหลือและรักษาชีวิตโลมาด้วยกัน
       
       บีบีซีเนเจอร์รายงานว่านักวิทยาศาสตร์ในเกาหลีได้พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวในทะเลตะวันออกทางชายฝั่งของเมืองอุลซานในเกาหลีใต้ โดยโลมาธรรมดา (Common dolphin) หรือ เดลฟินัส คาเพนซิส (Delphinus capensis) จำนวน 5 ตัวได้รวมตัวกันเป็นแพเพื่อหนุนโลมาบาดเจ็บให้ลอยขึ้นไปหายใจ ซึ่งรายละเอียดของการสังเกตพบพฤติกรรมดังกล่าวเผยแพร่ลงวารสารมารีนแมมมอลไซน์ (Marine Mammal Science)
       
       ทั้งนี้ มีการสังเกตมาก่อนแล้วว่า สัตว์ที่แข็งแรงในอันดับซีตาเซียน (cetacean) ซึ่งเป็นกลุ่มสัตว์จำพวกวาฬและโลมานั้นจะคอยดูแลกัน เช่น เมื่อกลางศตวรรษที่ 20 พบว่า โลมาปากขวด (bottlenose dolphin) หรือ ทัวร์ซิออปส์ทรันคาตุส (Tursiops truncatus) ซึ่งอยู่ในสถานที่เพาะเลี้ยงพยายามยกลูกน้อยสู่ผิวน้ำด้วยหลังของเธอ หรือโลมาปากขวดในธรรมชาติก็พบว่าพยายามดันลูกน้อยที่ตายแล้วหรือเพิ่งเกิดขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยเช่นกัน แต่ตัวอย่างทั้งหมดที่พบคือภาพของโลมาเต็มวัย 1-2 ตัวพยายามช่วยเหลือลูกโลมา
       
       ส่วนตัวอย่างล่าสุด คยอม เจ ปัก (Kyum J Park) จากสถาบันวิจัยซีตาเซียน (Cetacean Research Institute) ในอุลซาน เกาหลีใต้และคณะ ซึ่งตรวจตรากลุ่มซีตาเซียนตามแนวชายฝั่งเกาหลีใต้อยู่เป็นกิจวัตร ได้รายงานว่าพบกลุ่มโลมาธรรมดาพยายามช่วยชีวิตโลมาตัวเต็มวัยตัวหนึ่ง โดยระหว่างล่องเรือสำรวจพวกเขาสังเกตว่า มีโลมาอย่างน้อย 12 ตัวในฝูงโลมากว่า 400 ตัว ว่ายน้ำช้าผิดปกติ
       
       ในฝูงโลมากลุ่มเล็กนั้นมีโลมาตัวหนึ่งบิดตัวไปมา และโน้มตัวเผยส่วนท้องขึ้นมาบนผิวน้ำ แม้ว่ามันจะเคลื่อนไหวได้และสะบัดหางไปมา แต่ส่วนครีบของมันก็เหมือนจะติดเชื้อและมีรอยแดงๆ ที่รอบลำตัวด้วย มีโลมาจำนวนหนึ่งล้อมโลมากลุ่มนี้ ส่วนตัวที่อยู่ในกลุ่มก็พยายามช่วยวาฬที่บาดเจ็บให้รักษาสมดุลระหว่างว่ายน้ำ โดยดันจากด้านข้างและด้านล่าง
       
       จากนั้นโลมา 10 ตัวก็ผลัดกันต่อตัวเป็นแพ โดยเมื่อถึงคิวโลมา 5 ตัวจะเรียงกันเป็นแพในแนวนอน ขณะที่โลมาบาดเจ็บจะเคลื่อนสู่ผิวน้ำและขี่ไปบนหลังของโลมาผู้ช่วยเหลือ หนึ่งในโลมาที่ต่อตัวเป็นแพจะพลิกตัวเพื่อหนุนให้โลมาไม่สบายขึ้นด้านบน ส่วนวาฬอีกตัวก็ใช้ปากดันโลมาที่ใกล้ตายให้เชิดหัวขึ้น
       
       ไม่กี่นาทีหลังจากนั้นโลมาบาดเจ็บก็ค่อยๆ ตาย ตัวก็ห้อยลงน้ำโดยที่หัวโผล่เหนือน้ำ และไม่หายใจแล้ว แต่โลมา 5 ตัวที่ช่วยเหลือก็พยายามปฏิสัมพันธ์กับร่างโลมาที่ตายแล้ว ทั้งถู ทั้งสัมผัส หรือว่ายไปใต้ร่างไร้ลมหายใจ และพ่นฟองใส่โลมาตัวนั้น นักวิจัยเผยว่าฝูงโลมาทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แม้ร่างของโลมาตัวที่ตายนั้นจะมีรอยแผลที่สาหัสมากก็ตาม
       
       

ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
บีบีซีเนเจอร์

สิริสวัสดิ์วุธวารค่ะ

Create Date :30 มกราคม 2556 Last Update :30 มกราคม 2556 10:11:53 น. Counter : 885 Pageviews. Comments :0