bloggang.com mainmenu search

 


นักวิจัยอังกฤษ ดัดแปลงพันธุกรรมแบคทีเรีย E.coli ให้ผลิตน้ำมันได้ใกล้เคียงดีเซล ... แต่ยังมีกำลังผลิตได้เพียงช้อนชาเดียว (บีบีซีนิวส์)
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
นักวิจัยเผยสามารถดัดแปลงพันธุกรรมแบคทีเรีย อี.โคไล แบคทีเรียก่อโรคท้องร่วงให้สามารถผลิตเชื้อเพลิงได้ โดยแบคทีเรียจะแปลงน้ำตาลให้กลายเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติใกล้น้ำมันดีเซล และมองไกลถึงอนาคตว่าหากขยายกำลังการผลิตได้ เชื้อเพลิงสังเคราะห์นี้ก็จะเป็นทางเลือกทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล
       
       งานวิจัยที่ให้ความหวังแก่ผู้ใช้น้ำมันนี้ตีพิมพ์ลงวารสารเนชันนัลอะคาเดมีออฟไซน์ส (Proceedings of the National Academy of Sciences) โดยบีบีซีนิวส์ระบุว่า ทีมวิจัยได้ดัดแปลงพันธุกรรมแบคทีเรีย อี.โคไล (E.coli) ให้แปลงน้ำตาลกลายเป็นน้ำมันที่เกือบจะใกล้เคียงดีเซล
        
       ศ.จอห์น เลิฟ (Prof. John Love) นักชีววิทยาสังเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเอกซ์เตอร์ (University of Exeter) กล่าวว่าแทนที่จะผลิตเชื้อเพลิงทดแทนอย่างเชื้อเพลิงชีวภาพ พวกเขาได้สร้างเชื้อเพลิงที่แทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลได้แทน ซึ่งเป็นแนวคิดที่แม้แต่ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้บริโภคหรือตัวแทนจำหน่ายน้ำมัน จะไม่เห็นถึงความแตกต่าง และกลายเป็รอีกส่วนหนึ่งของสายการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง
       
       ทั้งนี้ มีความพยายามผลักดันให้เพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทั่วโลก อย่างในยุโรปตั้งเป้าใช้พลังงานจากพืชพลังงานในภาคขนส่งให้ถึง 10% ภายในปี 2020 แต่ปัญหาคือเชื้อเพลิงเหล่านี้ไม่สามารถทำงานกับเครือ่งยนตืสมัยใหม่ได้เต็มประสิทธิภาพ สัดส่วนของเชื้อเพลิงชีวภาพ 5-10% จะถูกผสมเข้ากับน้ำมันปิโตรเลียมก่อนนำไปใช้ในเครื่องยนต์ส่วนใหญ่  
       
       อย่างไรก็ดี เชื้อเพลิงที่ผลิตได้จาก อี.โคไล ต่างจากเชื้อเพลิงชีวภาพ โดย ศ.เลิฟอธิบายว่าเขาและทีมได้ผลิตเชื้อเพลิงที่มีความยาวของสายโซ่โมเลกุลอย่างที่เครื่องยนต์ยุคใหม่ต้องการ ซึ่งอาจจะเรียกเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลฟอสซิลก็ได้  
       
       ทีมนักวิจัยซึ่งได้ทุนสนับสนุนจากบริษัทน้ำมันเชลล์ (Shell) และสภาวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิทยาการชีววิทยา (Biotechnology and Biological Sciences Research Council) อังกฤษ ได้ทำให้แบคทีเรีย อี.โคไลซึ่งปกติจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมัน แต่เปลี่ยนเป็โมเลกุลของเชื้อเพลิงสังเคราะห์แทน โดยใช้ชีววิทยาด้านการสังเคราะห์กระตุ้นให้กลไกของเซลล์แบคทีเรียทำหน้าที่ดังกล่าว  
       
       ด้วยการกระตุ้นยีนของแบคทีเรียทำให้เรานำแบคทีเรียเหล่านี้ไปใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงานได้ แต่ อี.โคไล ยังผลิตเชื้อเพลิงอัลเคน (alkane fuel) ไม่ได้มากนัก โดย ศ.เลิฟกล่าวว่า ต้องใช้แบคทีเรีย 100 ลิตรเพื่อผลิตเชื้อเพลิงให้ได้ 1 ช้อนชา ดังนั้น ความท้าทายของพวกเขาคือการขยายกำลังผลิต ก่อนที่จะนำไปใช้ในภาคผลิตทางอุตสาหกรรม ซึ่งพวกเขามีกรอบเวลาในการทำงาน 3-5 ปี และยังศึกษาด้วยว่าจะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไปเป็นเชื้อเพลิงได้หรือไม่ อย่างเช่น ของเสียจากคนและสัตว์ เป็นต้น
        

ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
บีบีซีนิวส์

สิริวุธวารสวัสดิ์บวรค่ะ

Create Date :24 เมษายน 2556 Last Update :24 เมษายน 2556 9:20:48 น. Counter : 1071 Pageviews. Comments :0