bloggang.com mainmenu search
โดย สุทัศน์ ยกส้าน 7 มิถุนายน 2556 13:11 น.





Mary-Claire King ดูแผ่นฟิล์มข้อมูลดีเอ็นเอ
(เครดิต Mary Levin)





Mary-Claire King (ที่ 3 ขวา) และผู้ทรงคุณวุฒิ
ของมหาวิทยาลัย Princeton ระหว่างพิธีมอบปริญญา




สมมติโลกในอนาคต ขณะพ่อกำลังคอยลูกที่กำลังจะถือกำเนิด มีนักพันธุศาสตร์คนหนึ่งเดินเข้ามาหาแล้วบอกว่า ลูกผู้หญิงของคุณที่กำลังจะลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกนี้ เมื่อโตขึ้นจะสูง 170 เซนติเมตร ผมหยิก รูปร่างสมส่วน หุ่นนางแบบ และมีสติปัญญาระดับมาดามคูรี ฯลฯ

คำพยากรณ์เหล่านี้ดูเหลือเชื่อ ถึงจะเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน แต่ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์จะสามารถทำได้ เพราะ ณ วันนี้วิทยาการด้านพันธุศาสตร์กำลังก้าวหน้าตลอดเวลา โดยมีนักพันธุศาสตร์ทำหน้าที่วิเคราะห์ยีนต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดรูปลักษณ์ของเจ้าของยีนนั้น

ในปี 2001 นักวิจัยโครงการจีโนมของมนุษย์ได้แสดงแผนที่ยีนของมนุษย์อย่างหยาบๆ เป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้ใช้เงินไปหลายหมื่นล้านบาท และได้พึ่งพานักวิทยาศาสตร์นับแสนคนจากทั่วโลกมาวิเคราะห์ยีน จนได้พบว่ามนุษย์มียีนประมาณ 30,000 ตัว นอกจากนี้หลังจากที่ได้ทำแผนที่ยีนมนุษย์แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังได้คาดหวังต่อไปอีกว่าจะมุ่งหน้าศึกษาจนรู้ว่ายีนตัวใดมีบทบาทในการทำให้คนเป็นมะเร็ง หรือโรคหัวใจ และยีนตัวใดเป็นตัวกำหนดอาการพิการ เช่น ตาบอด หูหนวก หรือเป็นใบ้ ฯลฯ

เมื่อพูดถึงโรคภัยทั้งหมดที่เกิดในคน มะเร็งเต้านมเป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงทุกคนในโลกรู้สึกกังวลใจเป็นที่สุด สถิติในอเมริการะบุว่า ผู้หญิงคนใดถ้ามีอายุยืนถึง 95 ปี เธอมีโอกาส 1 ใน 9 ที่จะเป็นมะเร็งเต้านม

Mary – Claire King คือนักวิจัยชั้นนำผู้บุกเบิกด้านพันธุศาสตร์ของมะเร็งเต้านม และได้พบยีนมะเร็งเต้านม BRCA1 ในปี 1990 ว่าอยู่บน chromosome 17

Mary – Claire King เกิดที่ตำบล Wilmette นอกเมือง Chicago ในรัฐ Illinois สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1946 เธอเล่าว่าเธอสนใจปริศนา และวิธีการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ ตั้งแต่สมัยเธอเป็นเด็ก และในช่วงเวลาที่อายุ 13 – 18 ปี เธอได้ทุ่มเทเวลาในการเล่นขลุ่ย และเฝ้าดูนกบินมาก เพราะทั้งพ่อและแม่มิได้เป็นนักวิชาการ ดังนั้น ชีวิตของเธอและน้องชายจึงไม่ได้รับความกดดันด้านการเรียน

เมื่อเข้าเรียนชั้นประถม 5 ครอบครัวของเธอต้องอพยพไปรัฐ Florida เพราะบิดามีสุขภาพไม่ดี คือป่วยเป็นโรค Parkinson ชีวิตของเธอจึงปั่นป่วนมาก เพราะผู้คนในพื้นที่ที่เธออยู่ไม่ค่อยได้รับการศึกษา แต่ Florida มีอากาศอบอุ่น ดังนั้น สุขภาพของบิดาจึงดีขึ้น กระนั้นบิดาก็ไม่รู้สึกสบายใจที่ King ไม่ได้รับการศึกษาที่ดี จึงตัดสินใจเดินทางกลับ Chicago

King รู้สึกดีใจมากที่ได้กลับบ้านเกิดอีกครั้งหนึ่ง ได้เข้าโรงเรียนใหม่ รู้จักเพื่อนใหม่ และเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีของโรงเรียน เพราะเธอเป็นเด็กฉลาด ดังนั้น จึงไม่มีความกดดันด้านการเรียน แต่ก็ต้องปรับตัวมาก เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่

ก่อนเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา King ไม่มีนักวิทยาศาสตร์ในดวงใจ จนกระทั่งเข้าเรียนที่ New Trier High School เธอรู้สึกประหลาดใจมากที่มีครูสอนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นผู้หญิงและครูคนนี้ยังได้เงินเดือนด้วย ก่อนนั้น เธอคิดว่าผู้หญิงคงเป็นได้แค่แม่บ้านเท่านั้นเอง ดังนั้น จุดเปลี่ยนในชีวิตของเธอจึงเกิดขึ้นที่โรงเรียนมัธยม แต่ในที่สุดเธอก็ได้เป็นทั้งแม่บ้านสมใจนึก และเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย

King เข้าเรียนระดับปริญญาตรีวิชาเอกคณิตศาสตร์ที่ Carleton College ในรัฐ Minnesota และสำเร็จระดับเกียรตินิยม (cum laude) เมื่ออายุ 19 ปี จากนั้นได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกด้านพันธุศาสตร์ที่ University of California ที่ Berkeley และ Allan Wilson ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาได้แนะนำให้เธอนำความสามารถทางคณิตศาสตร์มาใช้ในชีววิทยาสาขาชีวสถิติ (biostatistics) ครั้นเมื่อเธอมีโอกาสเข้าฟังการบรรยายของ Dr.Curt Stern เรื่องพันธุศาสตร์ที่กำลังมีปริศนาต้องขบคิดมากมาย เธอจึงตัดสินใจทำวิจัยด้านพันธุศาสตร์ทันที

บรรยากาศมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ Berkeley ในสมัยนั้น เต็มไปด้วยการประท้วง และการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ นิสิตจำนวนนับพันจะออกมาต่อต้านสงครามเวียตนาม ทำให้การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยหยุดชะงักงัน

จนท่านผู้ว่ารัฐฯ ชื่อ Ronald Reagan ต้องส่งทหารมาควบคุมสถานการณ์ King จึงฉวยโอกาสหยุดเรียนชั่วคราว เพื่อทำงานสนับสนุน Ralph Nader ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเธอได้ทำวิจัยเรื่องผลกระทบของยาฆ่าแมลงต่อชีวิตเกษตรกร

เมื่อความวุ่นวายในมหาวิทยาลัยคลี่คลาย King ได้กลับไปทำงานวิจัยที่ห้องปฏิบัติการของ Allan Wilson ต่อ หัวข้อวิจัยสำหรับวิทยานิพนธ์ของเธอ คือ การวิเคราะห์โปรตีนในยีนของคนกับของลิงชิมแปนซี และเธอได้พบว่า 99% ของยีนคนและลิงเหมือนกัน การค้นพบนี้ทำให้คนทั่วไปตื่นเต้น และประหลาดใจมาก

ที่รู้ว่าบรรพบุรุษคนและของลิงชิมแปนซีเริ่มแยกเส้นทางวิวัฒนาการเมื่อประมาณ 5 ล้านปีก่อนนี้ ผลงานของเธอได้ขึ้นหน้าปกของวารสาร Science ซึ่งเป็นวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก King สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 1973

ขณะเป็นนักศึกษาที่ Berkeley King ได้พบ Robert Colwell และได้แต่งงานกัน หลังจากที่ได้รับปริญญาเอก คนทั้งสองได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญของมูลนิธิ Ford เพื่อไปทำงานที่ประเทศ Chile ในอเมริกาใต้ และเธอได้กลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงฮอลิเดย์เป็นเวลาสั้นๆ

แต่เมื่อเธอกำลังจะกลับ Chile ได้เกิดการปฏิวัติที่นั่น ทำให้เธอต้องแวะพักที่ Argentina นาน 2 สัปดาห์ และเมื่อพบสามี เธอก็ได้พบว่า ลูกศิษย์และเพื่อนๆ หลายคนของเธอที่นั่นถูกฆ่า และบางคนถูกลักพาตัว เธอกับสามีจึงเดินทางกลับอเมริกาและไม่หวนกลับ Chile อีกเลย

เมื่อ King เริ่มทำงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ ขณะนั้น James Watson และ Francis Crick เพิ่งพบโครงสร้างของ DNA ในปี 1953 และนักชีววิทยาเพิ่งรู้จักยีนไม่กี่ยีน ส่วนโครงการ genome ของมนุษย์ก็ยังไม่อุบัติ ในมุมมองของ King เธอคิดว่า มะเร็งเต้านมคงเกิดจากยีนที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ สังคมวิทยาศาสตร์ในขณะนั้นไม่ยอมรับ 100% เพราะยังไม่มีหลักฐานสนับสนุน

นักชีววิทยารู้ว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดประกอบด้วยเซลล์ ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของชีวิต และแต่ละเซลล์มีนิวเคลียสอันเป็นศูนย์บังคับที่ออกคำสั่งให้เซลล์ทำงาน ในนิวเคลียสมี DNA (จากคำเต็มว่า deoxyribonucleric acid) ซึ่งต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนกำลังขยายถึง 2 แสนเท่าจึงจะเห็น DNA เองประกอบด้วย base 4 รูปแบบ ได้แก่ adenine (A), cytosine (C), guanine (G) และ thymine (T)

โดยยีนแต่ละตัวจะประกอบด้วย base ทั้ง 4 จำนวนมากมายในลำดับที่ไม่เหมือนกัน (ในทำนองเดียวกับที่โน้ตดนตรี (โด เร มี ...) แม้จะมีจำนวนจำกัด แต่เวลานำมาเรียงในรูปแบบที่แตกต่างกัน จะได้เพลงที่ไม่เหมือนกัน) แล้วเซลล์ก็ทำหน้าที่จะแปล (translate) ลำดับของ base หรือ รหัสพันธุกรรม (genetic code) เป็นโปรตีนที่เป็นตัวกำหนดรูปลักษณ์ของร่างกาย (เช่น ตา ผม สีผิวหนัง ฯลฯ)

หรือกำหนดอวัยวะให้ทำหน้าที่ต่างๆ (เช่น ย่อยน้ำตาล หรือสังเคราะห์ insutin) เซลล์ของคน มี DNA ที่ประกอบด้วย base จำนวนประมาณ 3 พันล้าน base โดยทั้งหมดจะอยู่บน chromosome 23 คู่ และถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ ยีนแต่ละยีนจะอยู่บน chromosome ตัวเดียว ณ ตำแหน่งเดียวตลอดไป

แต่ในบางเวลา ลำดับของ base ในยีนมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้สร้างผลกระทบใดๆ แต่บางครั้งการเปลี่ยน base แม้จะเพียง base เดียวก็ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรง (เหมือนกับการร้องเพลงผิดโน้ต เพลงจะฟังไม่ดีไปในทันที) ซึ่งการเปลี่ยน base นี้จะทำให้โปรตีนที่เซลล์จะสร้างผิดปกติไปด้วย นั่นคือ โปรตีนจะทำงานผิดปกติ ในกรณีของยีน ชื่อ BRCA1 ที่ King พบนั้น การเปลี่ยนแปลงของลำดับ DNA ในยีนจะทำให้เกิดมะเร็งเต้านม

ในปี 1974 เมื่อกลับจาก Chile ใหม่ๆ King ได้ไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่ University of California at San Francisco (UCSF) Medical Center เรื่อง ระบาดวิทยาของมะเร็งเต้านม โดยได้พยายามหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และเธอต้องการค้นหาว่า การเป็นมะเร็งเต้านมมีสาเหตุจากพันธุกรรมหรือไม่

ในความเป็นจริงเธอมิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องมะเร็งเลย งานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเธอเป็นงานด้านพันธุศาสตร์ แต่เมื่อผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ที่ UCSF ต้องการให้เธอนำความรู้ด้านพันธุศาสตร์มาสอนเรื่องชีววิทยาของมะเร็ง เธอจึงอาสาทำวิจัยเรื่องนี้ โดยตั้งสมมติฐานว่า อาจมียีนบางยีนในร่างกายที่ทำให้สตรีมีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม

เธอต้องใช้เวลานานถึง 17 ปี ในการพิสูจน์สมมติฐานนี้ว่าจริง หลังจากทำงานที่ UCSF ได้ 2 ปี King ได้หวนกลับไปรับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ UC Berkeley อีก และต้องทำงานหนักมากในฐานะที่เป็นทั้งภรรยา แม่ (เธอมีลูกสาว ชื่อ Emily) และนักวิจัย เพราะลูกเพิ่งคลอดและงานวิจัยก็กำลังเริ่มต้น ในที่สุดชีวิตสมรสของเธอกับ Colwell ก็ถึงทางตัน และได้ประกาศแยกทางกัน

ที่ Berkeley King ยังเดินหน้าค้นหายีนมะเร็งเต้านม โดยพยายามติดตามประวัติบรรพบุรุษของสตรีที่เป็นมะเร็งเต้านม เพื่อหาตัวชี้ (marker) บนยีนของคนที่เป็นโรคนี้ทุกคน และตัวชี้นี้จะต้องไม่ปรากฏบนยีนของคนที่ไม่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่ง DNA ส่วนที่เธอต้องการพบนี้อาจไม่เป็นยีนมะเร็ง แต่อาจอยู่ใกล้กับยีนมะเร็งก็ได้ King เชื่อว่า ยีนที่กลายพันธุ์นี้อาจถูกส่งต่อจากแม่สู่ลูกสาว จึงมีผลทำให้ครอบครัวนั้นมีสมาชิกที่เป็นมะเร็งเต้านมค่อนข้างมาก ทั้งนี้เพราะตัวเลขทางระบาดวิทยาที่เธอมีแสดงแนวโน้มนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังไม่ปักใจเชื่อ

King กับทีมทำงานจึงรวบรวมข้อมูลจากครอบครัวที่สมาชิกหลายคนเป็นมะเร็งเต้านมจำนวนกว่า 100 ครอบครัว โดยเก็บตัวอย่างเลือดแล้วสกัด DNA ออกมา ค้นหา chromosome ที่มี marker แสดงการเป็นมะเร็งเต้านม และ marker นี้ไม่มีในคนที่ไม่เป็นมะเร็งเต้านม

ในที่สุด King ก็ได้พบว่า บน chromosome 17 มีบริเวณส่วนหนึ่งที่รู้จักในนาม D17574 ซึ่งพบในสตรีทุกคนที่เป็นมะเร็งเต้านม แต่ไม่พบในคนที่ไม่เป็น

ในการประชุมประจำปี 1990 ของ American Society of Human Genetics ที่ Cincinati King ได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายพิเศษ และเธอก็ได้พูดถึงยีนมะเร็งเต้านมเป็นครั้งแรก ซึ่งได้ทำให้นักวิชาการทุกคนตกใจ และประหลาดใจ ที่ยีนตัวน้อยนิดเพียงยีนเดียว สามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตมนุษย์ได้ อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ด้วย

งานวิจัยของ King ได้จุดประกายให้นักวิทยาศาสตร์พยายามหาตำแหน่งที่แน่นอนของยีน และหาลำดับของ base ในยีนนี้อย่างขนานใหญ่ ในเวลาต่อมา Gilbert Lenoir แห่ง International Agency for Research in Cancer ที่เมือง Lyon ในฝรั่งเศสก็ยืนยันว่า ยีนมะเร็งเต้านม BRCA1 (Breast Cancer 1) ที่ King พบบน chromosome 17 นั้น มีจริง และประกอบด้วย base เพียง 2-3 พัน base

เมื่อโครงการ Human Genome อุบัติในปี 1988 เทคนิคการค้นหา marker รวมถึงการทำแผนที่ และการจัดลำดับ Base ได้รุดหน้าไปมาก ในที่สุดยีนอีกตัวหนึ่งชื่อ BRCA2 ที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งแตกต่างจากแบบแรกก็ถูกพบว่าอยู่บน chromosome 13

ในเต้านม เซลล์ปกติจะอยู่ที่เต้านมตลอดไป แต่ถ้าเป็นเซลล์เนื้องอกมันอาจเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ และจะเติบโตโดยการแบ่งตัวอย่างไร้ขีดจำกัดอย่างไม่คำนึงถึงเซลล์ปกติที่อยู่ใกล้เคียง นักชีววิทยาเชื่อว่า มียีน 3 – 7 ยีน ที่เวลากลายพันธุ์จะทำให้ยีนเปลี่ยนบทบาท และทำให้เซลล์ปกติเป็นเซลล์มะเร็ง ยีนบางตัวช่วยให้เซลล์เติบโต แต่บางตัวชะลอการเติบโตของเซลล์ ซึ่งถ้ายีนนี้กลายพันธุ์ บทบาทการชะลอและหยุดยั้งก็จะหมดไป ในที่สุดเซลล์จะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

ในเมื่อนักวิทยาศาสตร์รู้แล้วว่า ยีนบกพร่องตัวใดทำให้ร่างกายเป็นมะเร็งเต้านม แล้วเหตุใด แพทย์จึงยังไม่มีวิธีรักษา ซึ่ง King ก็ได้ชี้แจงว่า มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ซับซ้อนมาก คนที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ มักมิได้ตายด้วยมะเร็งที่เต้านม แต่ตายด้วยเซลล์มะเร็งที่เริ่มเกิดที่เต้านมของเธอ แล้วแพร่กระจายไปที่อื่น (กระดูก สมอง ตับ ฯลฯ) ดังนั้น ยิ่งตรวจพบ BRCA1 เร็ว เพียงใดจะทำให้การรักษาง่ายขึ้นเพียงนั้น ก่อนที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายทั่วร่างกาย

มะเร็งเต้านมนั้นแตกต่างจากมะเร็งรูปแบบอื่น เพราะเต้านมคือส่วนสำคัญที่แสดงความเป็นเพศหญิง และเป็นอวัยวะที่แม่ใช้ในการให้นมลูก มะเร็งเต้านมจึงเกือบเป็นโรคของผู้หญิงโดย 98% ของคนที่เป็นโรคนี้เป็นเพศหญิง ในสมัยก่อนแพทย์จะรักษาโดยการตัดเต้าออก บุคคลดังๆ เช่น Shirley Temple Black ดาราภาพยนตร์เด็ก

และ Betty Ford ภรรยาประธานาธิบดี Gerald Ford ของสหรัฐฯ ก็เคยเป็นโรคนี้ และเป็นที่โจษจรรย์กันมาก เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ Angelina Jolie ก็ได้ทำให้โลกตะลึงด้วยการประกาศข่าวตัดเต้านมทั้งสองข้างทิ้ง เมื่อพบยีน BRCA1 ที่กลายพันธุ์ในร่างกาย และอ้างว่า การทำเช่นนี้ได้ลดโอกาสที่เธอจะเป็นมะเร็งเต้านมจาก 85% เหลือ 5% เท่านั้นเอง

มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่เกิดกับผู้หญิงอเมริกันประมาณ 1 ใน 3 ของมะเร็งทุกรูปแบบ ที่เป็นโดยสาเหตุทางพันธุกรรมมีประมาณ 5% คนที่มียีน BRCA1 ซึ่งทำงานบกพร่อง มีโอกาส 50% ที่เป็นมะเร็งเต้านมเมื่อมีอายุถึง 50 ปี มะเร็งเต้านมคร่าชีวิตผู้หญิงอเมริกันมากกว่ามะเร็งรูปแบบอื่น ยกเว้นมะเร็งปอด

สถิติระบุว่า สตรีอเมริกันตายด้วยโรคมะเร็งเต้านมมากกว่าสตรีที่ตายด้วยโรค AIDS เมื่อสถิติเป็นเช่นนี้ King จึงแนะนำว่า เด็กผู้หญิงทุกคนที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมจะต้องระวังตัวเมื่อมีอายุเกิน 20 ปี การตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอโดยแพทย์และการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพจะช่วยไม่ให้เป็นโรคนี้ และช่วยให้แพทย์รักษาได้ถ้าพบว่าเป็นระยะต้น

ไม่มีใครมั่นใจว่าอะไรทำให้คนเป็นมะเร็งเต้านม นิสัยการบริโภค อายุ สภาพอากาศ เผ่าพันธุ์ ล้วนมีบทบาทไม่มากก็น้อย แม้สตรีบางคนจะมียีน BRCA1 ที่ทำงานบกพร่อง แต่เธอก็ไม่เป็นมะเร็ง และอาจมีอายุยืน 80-90 ปี กระนั้นสถิติก็ชี้ชัดจำนวนผู้หญิงอเมริกันที่เป็นมะเร็งเต้านมกำลังเพิ่มตลอดเวลา และจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ก็เพิ่มเช่นกัน

ในอเมริกางานวิจัยมะเร็งเต้านมกำลังได้รับการสนับสนุนมาก ทั้งจากรัฐบาลและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตรวจ การรักษา การให้ยา การบำบัด และการป้องกัน King เชื่อว่า นักวิจัยยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ

ปัจจุบัน King ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley กับมหาวิทยาลัย Washington โดยทำหน้าที่สอนหนังสือ และวิจัยด้านพันธุศาสตร์ เธอกล่าวว่าคนที่จะเป็นนักพันธุศาสตร์ต้องเรียนปริญญาตรี 4 ปีแล้วทำปริญญาโท-เอก ก็จะสามารถประกอบอาชีพเป็นนักพันธุศาสตร์คลินิก หรือเป็นวิศวกรพันธุศาสตร์ หรือที่ปรึกษาด้านพันธุกรรมได้

แต่ใครจะเลือกอาชีพใดก็ต้องตระหนักว่า กิจกรรมที่ทำนั้นสนุก ไม่น่าเบื่อ เพราะถ้าไม่สนุก เขาจะทำงานนั้นได้ไม่นาน และเพื่อจะให้สนุก คนๆ นั้นต้องได้รับการฝึกฝนที่ดี สำหรับนักเรียน เธอแนะนำว่า การฝึกที่ดีคือการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้ดีที่สุด และให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ทุกวันนี้ นักพันธุศาสตร์ เป็นคนที่เรียนทั้งคณิตศาสตร์และชีววิทยา เพราะชีววิทยาได้เปลี่ยนเนื้อหา และเทคนิคในการศึกษาไปมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ ในสมัยก่อนชีววิทยาเป็นวิชาเชิงบรรยาย ณ วันนี้ ชีววิทยาค่อนข้างจะเป็นวิชาเชิงคำนวณแล้ว

King ประสบความสำเร็จในการเป็นนักพันธุศาสตร์และได้พบว่า ข้อจำกัดในการทำงานด้านนี้ก็ยังมีมาก แต่ถ้ามีวิธีคิดใหม่ๆ แล้วลองทำดู ความสำเร็จก็อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้การทำงานก็ยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะห้องทดลองวิจัยพันธุศาสตร์ขั้นสูงต้องการอุปกรณ์ราคาแพง

ในโครงการจีโนมของมนุษย์นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า จะสามารถใช้ข้อมูลทำนายได้ว่าทารกในครรภ์เมื่อเติบใหญ่จะเป็นโรคอะไร ณ วันนี้ โรคทางพันธุกรรมบางโรคสามารถตรวจพบในทารกก่อนคลอดได้ และด้วยเทคนิคการรักษาแบบ gene therapy แพทย์อาจแทนที่ยีนที่ผิดปกติด้วยยีนปกติก่อนที่อาการโรคจะสำแดง

ซึ่งวิธีนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาด้านจริยธรรม เพราะถ้าพ่อแม่รู้ว่า ลูกที่จะคลอดเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะเป็นมะเร็ง แล้วพ่อแม่จะปล่อยให้ลูกถือกำเนิดหรือจะทำแท้ง หรือในกรณีแม่ตั้งครรภ์ยากและต้องใช้วิธีผสมเทียม แพทย์ก็จะทำหน้าที่เสมือนพระเจ้า แทนที่จะให้การปฏิสนธิเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

คำถามต่อไปมีว่าในการทดสอบผู้ใหญ่ ถ้าพบว่าเขากำลังจะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย จิตใจเขาจะเป็นอย่างไร การพบก่อนเช่นนี้จะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ นี่คือ บทบาทที่นักพันธุศาสตร์สามารถให้คำปรึกษาได้

สำหรับรางวัลที่ King ได้รับ คือรางวัล American Association for Cancer Research Clovers Award for Basic Research

ในปี 1993 นิตยสาร Glamour ได้ยกย่องเธอเป็น “The Woman of the Year”
ในปี 1994 King ได้รับแต่งตั้งเป็น Walt-Disney-American Cancer Society Professor for Breast Cancer Research และได้ทุนสนับสนุน 1 ล้านเหรียญ

เธอมีผลงานวิจัยตีพิมพ์กว่า 250 เรื่อง และในปี 2013 เธอได้รับรางวัล Paul – Ehrlich and Ludwig – Darmstaedter

อ่านเพิ่มเติมจาก Great American Scientists ที่เขียนโดย K.S. McArdle และมี Leon M. Lederman กับ Judith Scheppler เป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์โดย Prometheus Books, New York ปี 2001




ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน

สวัสดิ์สิริศนิวารค่ะ
Create Date :08 มิถุนายน 2556 Last Update :8 มิถุนายน 2556 11:32:21 น. Counter : 1234 Pageviews. Comments :0