bloggang.com mainmenu search

 

 

ภาพการพ่นมวลโคโรนาเมื่อ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา

 

       สดร.- ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แจง อย่าตระหนกกรณีดวงอาทิตย์พ่นมวลโคโรนา ชี้เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกเพราะมีสนามแม่เหล็กเป็นเกราะป้องกัน อีกทั้งเทคโนโลยีก้าวหน้าขนสามารถตรวจจับอนุภาคไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์และแจ้งเตือนล่วงหน้าได้แล้ว นอกจากนี้การพ่นมวลของดวงอาทิตย์ยังทำให้เกิดแสง “ออโรรา” สวยๆ ด้วย
       
       รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนกอันตรายจากการพ่นมวลโคโรนา (Coronal Mass Ejection) หรือ ซีเอ็มอี (CME) ของดวงอาทิตย์ เนื่องจากโลกของเรามีสนามแม่เหล็กเป็นเกราะป้องกัน พายุสุริยะไม่สามารถทำอันตรายแก่สิ่งมีชีวิตและสิ่งปลูกสร้างบนโลกได้ จะมีผลกระทบเพียงระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบการสื่อสาร จีพีเอส เทคโนโลยีดาวเทียมบ้างเล็กน้อยเท่านั้น
       
       "นับเป็นที่ฮือฮาและสร้างความหวาดวิตกเป็นอย่างยิ่ง สำหรับข่าวการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์" จดหมายชี้แจงจาก สดร.ระบุ โดยองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) ที่ได้เปิดเผยข้อมูลการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์์เป็นภาพและคลิปวีดีโอขณะเกิดการพ่นมวลซึ่งเป็นประจุไฟฟ้าพลังงานสูงที่เรียกว่า “พลาสมา” ขนาดใหญ่ออกมาจากพื้นผิวดวงอาทิตย์ เมื่อคืนวันที่ 23 ม.ค.56 โดยทิศทางของประจุไฟฟ้าพลังงานสูงดังกล่าวพุ่งมายังโลก มีความเร็วประมาณ 375 ไมล์ต่อวินาที และคาดว่ากลุ่มประจุไฟฟ้าพลังงานสูงใช้เวลา 3 วันเดินทางมาถึงโลก
       
       ทั้งนี้ การพ่นมวลโคโรนาของดวงอาทิตย์นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้วบนดวงอาทิตย์ และนอกจากปรากฏการณ์การปลดปล่อยมวลที่กล่าวไปแล้วนั้นยังมีปรากฏการณ์อื่น ซึ่งปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นต่างเกี่ยวเนื่องกันและสามารถอธิบายได้ด้วยหลักการวิทยาศาสตร์ ดังต่อไปนี้
       
       ดวงอาทิตย์เป็นก้อนแก๊สขนาดใหญ่ มีปฏิกิริยาภายในเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน (Nuclear Fusion) ที่บริเวณผิวของดวงอาทิตย์นอกจากจะมีอุณหภูมิสูงมากแล้วก็ยังมีปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อาทิ เช่น ปรากฏการณ์การลุกจ้า (Solar Flare) ปรากฏการณ์การเกิดจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ปรากฏการณ์การพ่นมวลโคโรนา เป็นต้น การเกิดปรากฏการณ์ที่กล่าวมานั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น
       
       ในกรณีของการพ่นมวลโคโรนา กลุ่มมวลที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะอยู่ในรูป “พลาสมา” หรือสถานะที่อะตอมของธาตุอยู่ในสภาพเป็นไอออน เป็นประจุไฟฟ้าพลังงานสูง หากมีการระเบิดที่รุนแรงจะทำให้กลุ่มพลาสมาเหล่านี้มีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงมาก เราเรียกกลุ่มพลาสมาเหล่านี้ว่า พายุสุริยะ (Solar Storm)
       
       การพ่นมวลโคโรนาจนทำให้เกิดพายุสุริยะจะมีความสัมพันธ์วัฏจักรของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีวงจรประมาณ 11 ปี เมื่อดวงอาทิตย์มีจุดบนดวงอาทิตย์จำนวนมาก (Solar Maximum) สนามแม่เหล็กบริเวณดังกล่าวก็เกิดความปั่นป่วน มีการสะสมพลังงานมากขึ้นจนถึงจุดวิกฤต ทำให้เส้นแรงแม่เหล็กที่บิดพันกันเป็นเกลียวขาดออกจากกัน และเกิดการปลดปล่อยมวลออกสู่อวกาศในทุกทิศทุกทางซึ่งความเร็วและรุนแรงของกลุ่มประจุไฟฟ้าพลังงานสูงจะขึ้นอยู่กับ ความรุนแรงในการระเบิดหรือการปลดปล่อยมวลของดวงอาทิตย์เอง
       
       กลุ่มพลาสมาพลังงานสูง หรือ พายุสุริยะ เคยพุ่งตรงมายังโลกของเราเหมือนครั้งนี้ไม่?
       
       จากประวัติกาลตามบันทึกของนักวิทยาศาสตร์ โลกเคยปะทะกับกลุ่มพลาสมาหรือพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดมาแล้วหลายครั้ง แม้ว่าพายุสุริยะจะมีความรุนแรงและเลวร้ายเพียงใด ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบการสื่อสารเท่านั้น หาได้สร้างความอันตรายแก่สิ่งมีชิวิตและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายบนโลกแต่อย่างใด
       
       "เราจึงไม่ควรตระหนกตื่นกลัวภัยดังกล่าวมากนัก เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย อุปกรณ์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยใหม่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตรวจจับ ประจุไฟฟ้าพลังงานสูงเหล่านี้อยู่แล้ว จะมีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ก่อนที่จะเคลื่อนที่มาถึงโลกของเราเพื่อเตรียมพร้อมต่อการรับมือเสมอ" จดหมายชี้แจงจาก สดร.ระบุ
       
       รศ.บุญรักษากล่าวทิ้งท้ายว่า พายุสุริยะไม่สามารถทำอันตรายแก่สิ่งมีชีวิตและสิ่งปลูกสร้างบนโลกได้ เนื่องจากโลกของเรามีสนามแม่เหล็กเป็นเกราะป้องกัน เมื่อประจุไฟฟ้าพลังงานสูงหรือพลาสมานั้นเดินทางมาถึงโลก จะเคลื่อนตัวไปตามแนวเส้นแรงของสนามแม่เหล็กโลก แล้วพุ่งไปยังชั้นบรรยากาศของโลก

จากนั้นอนุภาคเหล่านี้จะชนกับอะตอมของก๊าซในชั้นบรรยากาศ อะตอมของก๊าซต่างๆ ก็เกิดการแตกตัวและเปล่งแสงสีสันสวยงามให้เราเห็น นั่นคือ แสงออโรรา (Aurora) หรือแสงเหนือ-แสงใต้นั่นเอง แต่ระยะเวลาในการเกิดอาจจะยาวนานกว่าปกติที่เคยเห็น และประจุเหล่านี้ก็จะมีพลังงานอ่อนลงเรื่อยๆ แสงออโรราก็จะจางลงเรื่อย จนกลับเข้าสู่ภาวะปกติเท่านั้น

ขณะที่ดวงอาทิตย์ปลดลป่อยพายุสุริยะออกมา โลก็มีสนามแม่เหล็กที่คอยปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก        

ส่วนประกอบและชั้นต่างๆ ของดวงอาทิตย์        

ภาพเปรียบเทียบเมื่อ (ซ้าย) ดวงอาทิตย์มีกิจกรรมสูงสุด ซึ่งจะมีจุดมืดจำนวนมาก และ (ขวา) เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ในช่วงมีกิจกรรมน้อยที่สุดคือไร้จุดมืด

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สิริสวัสดิ์จันทรวารค่ะ

Create Date :28 มกราคม 2556 Last Update :28 มกราคม 2556 9:42:08 น. Counter : 921 Pageviews. Comments :0