bloggang.com mainmenu search
สำหรับตัวอย่างการไล่ การหนี ในแต่ละรูปแบบหมากไล่-หมากหนี ผมได้พยายามรวบรวมจากตำราหลายๆเล่ม ซึ่งถึงตอนนี้แม้จะยังได้ไม่ครบทั้ง ๑๒ รูปแบบ แต่ก็เกินครึ่งแล้ว

ก่อนที่จะลงรายละเอียดตัวอย่างวิธีการดังกล่าว ผมจึงขอแนะนำตำราเพิ่มเติม ที่จะนำมาอ้างอิงในส่วนของหมากไล่-หมากหนีนี้ก่อนครับ ซึ่งนำมาจาก ๖ เล่มนี้ครับ


ตำราหมากรุกไทย ฉบับสมบูรณ์แบบ
โดย สุนทร ศราภัยวานิช




ตำราเล่มนี้เขียนเมื่อปี ๒๕๑๐ แต่ผมเพิ่งได้มาเมื่อ ๑๗ พฤศจิกายนนี้เอง ตำราเล่มนี้ผมเคยไปอ่านที่หอสมุดแห่งชาติตั้งแต่เด็กๆ ตอนนี้กลับไปหาดูก็ไม่พบแล้ว เข้าใจว่าหนังสือจะชำรุดไปแล้ว

เล่มนี้เป็นตำราหมากรุกไทยภาคทฤษฎีที่เยี่ยมมากครับ แต่ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะส่วนของหมากไล่-หมากหนีก่อน ซึ่งในเล่มนี้เท่าที่ดูก็จะมี ๑ รูปแบบ คือ
รูปแบบที่ ๒
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๒ (ผูก)
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันที่สนามหลวง ๑ เมษายน ๒๔๗๘ ซึ่งฝ่ายหนีนับศักดิ์กระดานได้ครบ ๖๔ เสมอกันไป โดยมีเทคนิคการหนีที่น่าสนใจมากครับ



แม่ไม้หมากรุกไทย เล่ม ๔
โดย เซียนดอน มติรักษ์ จิตรักสวนะ




เล่มนี้เป็นบันทึกเกมการแข่งขันซึ่งมีอยู่ ๗๐ เกม ซึ่งบางเกมจะมีการไล่-หนี อยู่ด้วย ซึ่งเท่าที่ดูจะมี ๓ รูปแบบคือ
รูปแบบที่ ๒
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๒ (ผูก)
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑

รูปแบบที่ ๓ หอกข้างแคร่
ฝ่ายไล่: ขุน, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๑
ฝ่ายหนี: ขุน, เบี้ยหงาย ๑

รูปแบบที่ ๖ หนุมาณอาสา
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, ม้า ๑, เบี้ยหงาย ๑
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑, โคน ๑



ตำราหมากรุกไทยเซียนป่อง ฉบับเส้นทางสู่แชมป์ ๑
โดย สุชาติ ชัยวิชิต




เล่มนี้ เป็นการรวบรวมตำราดั้งเดิมของอ.ป่อง ๒ เล่ม และเขียนขึ้นใหม่อีกหนึ่งบทใหญ่ รวมเป็น ๓ บท คือ

บทที่ ๑ ตำราเซียนป่อง เส้นทางสู่แชมป์
บทที่ ๒ ตำราเซียนป่อง แม่ไม้หมากรุกไทยเล่มพิเศษ
บทที่ ๓ ตำราเซียนป่อง ลูกสูตรสะท้านโลกา

ซึ่งหมากไล่-หมากหนี มีอยู่ ๑ รูปแบบคือ
รูปแบบที่ ๒
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๒ (ผูก)
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑



ตำราหมากรุกไทยเซียนป่อง ฉบับเส้นทางสู่แชมป์ ๒
โดย สุชาติ ชัยวิชิต




เล่มนี้ เป็นการรวบรวมตำราดั้งเดิมของอ.ป่อง ๒ เล่ม และเขียนขึ้นใหม่อีกหนึ่งบทใหญ่ รวมเป็น ๓ บท คือ

บทที่ ๑ ตำราเซียนป่อง เล่ม ๒
บทที่ ๒ ตำราเซียนป่อง เล่ม ๓
บทที่ ๓ ตำราเซียนป่อง ลูกสูตรสะท้านโลกา

ซึ่งหมากไล่-หมากหนี มีอยู่ ๕ รูปแบบคือ
รูปแบบที่ ๑
ฝ่ายไล่: ขุน, เบี้ยหงาย ๓ (ผูกและเทียม)
ฝ่ายหนี: ขุน, เบี้ยหงาย ๑

รูปแบบที่ ๒
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๒ (ผูก)
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑

รูปแบบที่ ๓ หอกข้างแคร่
ฝ่ายไล่: ขุน, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๑
ฝ่ายหนี: ขุน, เบี้ยหงาย ๑

รูปแบบที่ ๕ ลูกติดแม่
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๑
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๑

ใกล้เคียงกับรูปแบบที่ ๑๐ นกกระจาบทำรัง
(คือตามตำรากล่าวว่า นกกระจาบทำรัง ฝ่ายไล่มี ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๑
และฝ่ายหนีมี ขุน, ม้า ๑, เบี้ยหงาย ๑ ตรงกันกับฝ่ายไล่ แต่อ.ป่องแสดงรูปหมากฝ่ายหนีที่เบี้ยหงายไม่ตรงกับฝ่ายไล่ ซึ่งหนียากกว่าเบี้ยหงายตรงกันมาก โดยอ.ป่องแสดงวิธีการไล่ให้จนในกรณีเบี้ยหงายไม่ตรงกันนี้ แล้วใช้ชื่อว่า 'นกกระจอกแตกรัง' อาจเรียกได้ว่าเป็นพัฒนาการจากรูปหมากดั้งเดิมไปอีกขึ้นหนึ่งครับ)

หมายเหตุ: แนะนำตำรา แต่ไม่แนะนำสุรานะครับ



ตำราหมากรุกไทยเซียนป่อง ฉบับรูปหมากสะท้านภพ
โดย สุชาติ ชัยวิชิต




เป็นตำราที่อธิบายถึงการขึ้นหมากต้นกระดาน ในรูปแบบที่หลายหลายมากยิ่งขึ้น, ลูกสูตรต่างๆ ในช่วงหมากกลางกระดาน และหมากไล่-หมากหนี ๑ รูปแบบคือ

รูปแบบที่ ๒
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๒ (เทียม)
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑



ตำราหมากรุกไทยเซียนป่อง ฉบับลูกสูตรสะท้านฟ้า จินตนาการไร้ขอบเขต
โดย สุชาติ ชัยวิชิต




ตำราเล่มล่าสุดของอ.ป่อง แบ่งเป็น ๓ ตอนใหญ่ๆ คือ รูปหมากประยุกต์, ลูกสูตรสะท้านฟ้า จินตนาการไร้ขอบเขต และปลายกระดาน

ในส่วนของหมากไล่-หมากหนี มี ๖ รูปแบบคือ
รูปแบบที่ ๒
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๒ (ทั้งผูก และ เทียม)
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑

รูปแบบที่ ๓ หอกข้างแคร่
ฝ่ายไล่: ขุน, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๑
ฝ่ายหนี: ขุน, เบี้ยหงาย ๑

รูปแบบที่ ๔ จับม้าอุประการ
ฝ่ายไล่: ขุน, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๒ (เทียม)
ฝ่ายหนี: ขุน, ม้า ๑

รูปแบบที่ ๗ ควายสู้เสือ
ฝ่ายไล่: ขุน, เรือ ๑, เม็ด ๑ (เบี้ยหงาย ๑)
ฝ่ายหนี: ขุน, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๑ (ไม่ตรงกับเม็ดหรือเบี้ยหงายฝ่ายไล่)

รูปแบบที่ ๘ อู่ทองหนีห่า
ฝ่ายไล่: ขุน, โคน ๑, เบี้ยหงาย ๓ (ผูกและเทียม)
ฝ่ายหนี: ขุน, เรือ ๑

ใกล้เคียงกับรูปแบบที่ ๑๐ นกกระจาบทำรัง
(คือตามตำรากล่าวว่า นกกระจาบทำรัง ฝ่ายไล่มี ขุน, เรือ ๑, เบี้ยหงาย ๑
และฝ่ายหนีมี ขุน, ม้า ๑, เบี้ยหงาย ๑ ตรงกันกับฝ่ายไล่ แต่อ.ป่องแสดงรูปหมากฝ่ายหนีที่เบี้ยหงายไม่ตรงกับฝ่ายไล่ ซึ่งหนียากกว่าเบี้ยหงายตรงกันมาก โดยจากเดิมที่อ.ป่องแสดงวิธีการไล่ให้จนในกรณีเบี้ยหงายไม่ตรงกันนี้ แล้วใช้ชื่อว่า 'นกกระจอกแตกรัง' ในเล่มเส้นทางสู่แชมป์ ๒ คราวนี้อ.ป่องพัฒนาไปอีกขั้นคือ แสดงวิธีการหนีเพื่อหาเสมอ แล้วใช้ชื่อว่า 'นกกระจอกทำรัง')

ลำพังเล่มนี้แค่วิธีการไล่-หนี ก็คุ้มค่ามากแล้วครับ


ตำราทั้ง ๔ เล่มของอ.ป่องนี้ ในทัศนะของผม หากผู้อ่านตั้งใจศึกษาอย่างจริงจัง ก็อาจสามารถเป็นมือดีในเชิงหมากรุกไทยคนหนึ่งได้เลยครับ

Create Date :25 พฤศจิกายน 2554 Last Update :25 พฤศจิกายน 2554 23:54:55 น. Counter : Pageviews. Comments :7