bloggang.com mainmenu search

 

ร.ฟ.ท.จัดทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding)และความเห็นภาคประชาชน (Public Hearing)  โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำ เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทางด้านการเงิน การลงทุน ของภาคเอกชน และความเห็นจากประชาชนในพื้นที่แวดล้อมโครงการ เผยเป็นทำเลมีศักยภาพสูงติดโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามบางกระเจ้า ปอดของคนกรุงเทพฯ เอกชนหนุนพัฒนาโครงการ แต่ควรมองถึงแนวทางที่เอื้อต่อนักลงทุน เนื่องจากมูลค่าการลงทุนอาจสูงถึงเกือบ 1 แสนล้าน ด้านภาคประชาชนรอบพื้นที่สนับสนุน อยากเห็นความเจริญเกิดในพื้นที่ แต่ควรเอื้อให้เกิดการค้าขาย จ้างงานและสร้างที่พักอาศัยในราคาไม่แพงให้ผู้มีรายได้น้อย

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2559 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำตามพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 โดยมีนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพฯ ฟอร์จูน ในการจัดงานดังกล่าวมีภาคเอกชนเข้าร่วมฟังอย่างคับคั่งมากกว่า 30 คน ทั้งวงการอสังหาริมทรัพย์ ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า ภาคการท่องเที่ยว ฯลฯ 

ขณะเดียวกันในวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ร.ฟ.ท.ก็ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชน (Public Hearing) และหน่วยงานที่อยู่แวดล้อมโครงการด้วยเช่นเดียวกัน โดยมีประชาชนร่วมรับฟังประมาณ 200 คน มาจาก 19 ชุมชนรอบพื้นที่ โดยจัดขึ้นที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ โดยมี น.ส.กอบกุล โมทนา ผู้อำนวยการสำนักแผนงาน สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน

 

            ทั้งนี้ตามมติของคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ครั้งที่ 15/2551 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2551 เห็นชอบในหลักการให้ร.ฟ.ท. ดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินปี 2542 เพื่อแก้ไข ปัญหาด้านการเงินของร.ฟ.ท. โดยการบริหารจัดการทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดิน ให้เกิดรายได้จากการให้เช่าทีดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำมาชดเชยภาระหนี้สินทางการเงินและภาระบำนาญของร.ฟ.ท. และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้จากการบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับแผนบริหารทรัพย์สินและเป็นส่วนหนึ่งของแผนวิสาหกิจร.ฟ.ท. พ.ศ.2550 -2554 ดังนั้นร.ฟ.ท. จึงเร่งจัดประโยชน์จากที่ดิน เริ่มจากโครงการพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่

 

            พื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำ เป็นหนึ่งในที่ดินของ ร.ฟ.ท. ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ประมาณ 277.5 ไร่ เดิมมีการใช้ประโยชน์เป็นย่านสินค้า คลังน้ำมันและการขนส่งสินค้าต่อเนื่องทางน้ำกับทางรถไฟ ซึ่งปัจจุบันได้มีการยกเลิกย่านสินค้า กอปรกับรัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมการขนส่งน้ำมันทางท่อแทนการขนส่งน้ำมันโดยรถบรรทุกน้ำมัน เพื่อลดปัญหาการจราจร ปัญหาอุบัติเหตุและปัญหามลภาวะ โดยการลดบทบาทของคลังน้ำมันที่ย่านสถานีแม่น้ำลง

 

ทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งร.ฟ.ท. มีแผนงานโครงการในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายและแผนดังกล่าว ร.ฟ.ท.จึงได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในเดือนกันยายน 2552 เพื่อเป็นที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำให้ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสมในอนาคต รวมทั้งเพื่อจัดทำเอกสารสำหรับใช้ในการขออนุมัติและหาผู้ลงทุน โครงการฯ ดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556

 

            อย่างไรก็ตาม จากการยกเลิกพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ทดแทน เนื่องจากมีหลักเกณฑ์บางประการที่ไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายและการตีความกฎหมายเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมิได้มีการกำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์การดำเนินการที่สำคัญบางประการไว้ ร.ฟ.ท.จึงต้องทบทวนรายงานการศึกษาดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ฉบับใหม่และเพื่อให้ดำเนินการขออนุมัติและหาผู้ลงทุนในโครงการตามแผนการบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์ต่อร.ฟ.ท.ต่อไป

 

            ร.ฟ.ท.จึงได้จัดได้จัดทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) โดยเปิดให้นักลงทุนที่มีศักยภาพทั้งในวงการเรียลเอสเตท โรงแรม ท่องเที่ยว ภัตตาคาร การพัฒนาตลาด ฯลฯ  เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทางด้านการเงิน การลงทุน ของภาคเอกชน ตลอดจนนวัตกรรมและแนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำ รวมถึงความเห็นของภาคประชาชนและหน่วยงานองค์กรที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ดังกล่าว เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำเสนอคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.และคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงติดโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือติดพื้นที่ดินของกรมธนารักษ์ ทิศตะวันออกติดพื้นที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ทิศตะวันตกติดพื้นที่วัดช่องลม ทิศใต้ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ตรงข้ามบางกระเจ้าซึ่งถือเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ

 

บทสรุปการจัดงานทั้ง 2 ครั้งนั้น ในรอบ Market Sounding ภาคเอกชนส่วนใหญ่เห็นว่า ที่ดินผืนนี้เป็นทำเลงามของกรุงเทพมหานคร ซึ่งคงไม่มีที่ดินผืนใหญ่ขนาดนี้ ในทำเลที่สวยงามแบบนี้อีกแล้ว อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาในโค้งน้ำที่งดงาม ตรงข้ามปอดของกรุงเทพฯคือบางกระเจ้า มองเห็นว่าเป็นโอกาสการลงทุน แต่ควรสร้างแลนด์มาร์ค การออกแบบที่เหมาะสม การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งขึ้นมา เพื่อดึงดูดตลาด ผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาในพื้นที่ และควรมองแนวทางต่างๆเพื่อเอื้อต่อการลงทุน และให้นักลงทุนมีความสนใจ มีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะลงทุนเนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง อาจมีมูลค่าการลงทุนในทุกเฟสรวมกับเกือบ 1 แสนล้านบาท

 

          ส่วนการประชุมในภาคประชาชน ประชาชนทั้งหมดเห็นด้วยให้มีการพัฒนาพื้นที่ โดยไม่มีการคัดค้าน ต่างต้องการให้ภาครัฐดำเนินการโดยเร็ว โดยหวังให้สภาพความเป็นอยู่ของตัวเองดีขึ้น มีที่พักอาศัยดีขึ้น มีที่ค้าขาย ต้องการให้มีที่พักราคาถูกสำหรับชาวชุมชนที่เคยอยู่เดิมในพื้นที่อยู่ในโครงการในราคาประหยัด อยากให้มีการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อลูกหลานของชุมชนต่อไป

 

 

Create Date :04 กุมภาพันธ์ 2559 Last Update :4 กุมภาพันธ์ 2559 18:04:12 น. Counter : 1651 Pageviews. Comments :1