bloggang.com mainmenu search


 

    มีโอกาสร่วมทริปของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่นำทีมบรรดาบล็อกเกอร์ นิสิตนักศึกษา และผู้ที่รักการถ่ายภาพ ไปเปิดประสบการณ์ใหม่กับกิจกรรม Unseen EGAT สุขยกกำลัง 2 @ สงขลา ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคมที่ผ่านมา และได้ท่องเที่ยวในสถานที่หลายแห่ง

 

          มาตามค้นหาสถานที่แห่งความสุขของสงขลา 10 ที่ที่ไม่ควรพลาด

1 ถนนนางงาม

 

ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา มีถนนที่น่าเดินเที่ยวคือถนนนางงาม เป็นถนนที่ประกอบไปด้วยอาคารและสถาปัตยกรรมที่งดงาม เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของชาวสงขลา ผ่านมุมมองทางสถาปัตยกรรมหลายรูปทรง

ถนนนางงาม หรือชื่อเดิมว่า ถนนเก้าห้อง มากไปด้วย อาหารคาวหวานท้องถิ่นอันเลื่องชื่อซึ่งเอกลักษณ์ของถนนนางงามไปเสียแล้ว ทั้งร้านขนมไทย ร้านไอศกรีม ร้านกาแฟโบราณ ร้านซาลาเปา ร้านก๋วยเตี๋ยว

พวกเรามะรุมมะตุ้มกันที่ร้านไอศกรีมถั่วเขียว และร้านขนมหลายร้าน ลองชิม กาลอจี้ สำปันนี ขี้มอด ทองเอก ข้าวฟ่างกวน ขนมเทียนสด ซึ่งเป็นขนมโบราณ หากินยากแล้วในสมัยนี้

แต่เด่นที่สุดคือภาพวาดแนว Street Art หรือศิลปะข้างถนน บนผนังตึกเก่า ซึ่งเป็นผลงานของอาจารย์และนักศึกษาจากสาขาศิลปกรรมและออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ที่ได้เล่าเรื่องราวผ่านปลายพู่กันให้ออกมาเป็นภาพสวย ๆ โดยมีการจำลองบรรยากาศร้านน้ำชาชื่อ "ฟุเจา" ที่เคยเปิดในอาคารดังกล่าวมาเป็นเรื่องราวของภาพ ชวนให้ใครๆก็อยากไปเดินและไปถ่ายภาพกับภาพนี้

2  ย่านเมืองเก่าสงขลา

 

ย่านเมืองเก่าสงขลามีสถาปัตยกรรมทรงคุณค่ามากมาย จนสามารถแสดงตัวตนของเมือง (Sense of place) ได้อย่างชัดเจน มรดกทางสถาปัตยกรรมนี้เป็นสิ่งเดียวที่ยังคงบอกถึงตัวตนและที่มาของคนสงขลา

สถาปัตยกรรมของย่านเมืองเก่าสามารถแบ่งได้เป็นสี่แบบ แบบแรก คือ สถาปัตยกรรมห้องแถวและอาคารจีนดั้งเดิม อาคารเหล่านี้ก่อสร้างในยุคแรกของการตั้งเมืองตามคติความเชื่อแบบจีนแท้ แบบที่สอง คือ สถาปัตยกรรมห้องแถวและอาคารจีนที่ประยุกต์ตามอิทธิพลตะวันตก

แบบที่สาม คือ สถาปัตยกรรมจีนที่ประยุกต์รวมกับสถาปัตยกรรมตะวันตก มีทั้งชิโน โปรตุกีส และชิโนยูโรเปียน และแบบสุดท้าย คือ สถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอาณาบริเวณเมืองเก่า เช่น ศาลหลักเมือง ศาลเจ้า วัด โรงสีโบราณ และซากกำแพงเมือง เป็นต้น

 

สงขลากำลังเข้าสู่แผนการฟื้นฟูย่านเก่าเมือง โดยมีเป้าหมายสำคัญในอนาคต คือ การมุ่งศึกษาถึงความเป็นไปได้และผลักดันเมืองบางส่วนเข้าสู่ฐานะเมืองมรดกโลกตามเกณฑ์ของ UNESCO

3 ประติมากรรมพญานาคพ่นน้ำ
เทศบาลนครสงขลาสรรค์สร้างขึ้น เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยวและชาวสงขลา โดยนำเอาคติความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคที่เชื่อว่า “พญานาค” เป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดน้ำและความอุดมสมบูรณ์

มีการสร้างขึ้นเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง หัวพญานาค ตั้งอยู่บริเวณสวนสองทะเล ปลายแหลมสนอ่อน พ่นน้ำลงสู่ปากอ่าวทะเลสาบสงขลา ส่วนที่สอง สะดือพญานาค ตั้งอยู่บริเวณลานชมดาวสนามสระบัว แหลมสมิหลา ส่วนที่สาม หางพญานาค ตั้งอยู่บริเวณชายหาดสมิหลา ริมถนนสะเดา

 

 

พญานาคอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแหลมสมิหลา ร่มรื่นไปด้วยทิวสนทะเล บริเวณปลายแหลมเป็นที่ ประดิษฐานอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สามารถชมทัศนียภาพอันสวยงามของทะเลสาบ

4  ศาลหลักเมือง

 

บนถนนนางงามที่เต็มไปด้วยอาคารเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ยังมีศาลหลักเมืองสงขลาอยู่บนถนนนี้ด้วย ชาวสงขลาเรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” ตั้งอยู่ที่ถนนนางงาม เป็นโบราณสถานสมัยรัตนโกสินทร์ ลักษณะเป็นศาลเจ้าแบบเก๋งจีน สร้างสมัยพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) เป็นผู้สําเร็จราชการเมืองสงขลา

ศาลหลักเหมืองแห่งนี้ไม่เหมือนที่อื่นๆ เพราะนอกจากเป็นศาลเจ้าสไตล์จีนแล้ว ยังมีโรงงิ้วตั้งอยู่ในศาลหลักเมืองแห่งนี้อีกด้วย

5 โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น

 

“หับ โห้ หิ้น” หรือที่ชาวสงขลาเรียกกันติดปากว่า “โรงสีแดง” อาคารเก่าแก่สีแดง ครั้งอดีต ที่นี่คือโรงสี ผ่านเวลาและความเก่าแก่ที่นี่ก็ยังคงอยู่คู่ถนนนคร แม้ว่าหน้าที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นที่จอดรถและท่าเรือ แต่ที่นี่ยังมีเสน่ห์ไม่เปลี่ยนแปลง ขนาดผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง นำเอาชื่อ

 

ไปตั้งชื่อ “ค่ายหนัง”

นักท่องเที่ยวมักจะไม่พลาดการถ่ายรูปคู่กับตึกสีแดงที่แสนสดใสแห่งนี้

6 เขาตังกวน

 

อยู่บริเวณแหลมสมิหลา มีศาลาวิหารแดงซึ่งเป็นพลับพลาที่ประทับสร้างในสมัยรัชกาลทื่ 5 เพื่อถวายตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 และบนยอดเขามีพระธาตุเจดีย์คู่เมืองสงขลาสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวารวดี ในทุกปีจะมีพิธีห่มผ้าองค์เจดีย์และประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ซึ่งจัดเป็นประจำในเดือนตุลาคม

 

 

ใครมาเที่ยวต้องไม่พลาดนั่งรถราง ขึ้นไปบนยอดเขาตังกวนแล้ว เพื่อมองวิวทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทะเลสาบสงขลาอย่างชัดเจน แต่วันที่เราไปเที่ยวมีฝนตก ท้องฟ้าเลยมืดครึ้มไปบ้าง

7 เกาะยอ

 

เกาะเล็กๆในทะเลสาบสงขลา เชื่อมต่อฝั่งโดยสะพานติณสูลานนท์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไหล่เขาและที่ราบตามเชิงเขา เหมาะแก่การเกษตรกรรม ผลไม้ที่มีชื่อของเกาะ ยอคือ จำปาดะ

สินค้าอันมีชื่อเสียงของชาวเกาะยอคือผ้าทอพื้นเมืองเกาะยอ

นอกจากนี้ยังมีสถานที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา เมื่อขึ้นไปอยู่บนสุดของพื้นที่ จะสามารถมองเห็นทะเลสาบด้วยทัศนียภาพที่สวยงามมาก

 สถาบันแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ และมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ไว้ เป็นที่น่าสนใจมาก เช่น ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจิตรกรรมฝาผนัง เครื่องดนตรีพื้นบ้านตลอดจนผลิตภัณฑ์งานฝีมือต่างๆ

8 เทพา

 

หาด”สะกอม" อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นหาดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนท้องถิ่น เป็นชายหาดที่มีทรายขาวสะอาดสวยงามมาก เป็นแนวยาวจากเหนือจรดใต้ บรรยากาศริมหาดเงียบสงบ


อ.เทพายังมีร้านเก๋ๆอย่าง
CoCo One Beach Hotel ให้บริการห้องพักริมชายหาดสะกอม ทั้งแบบวิลล่าและพูลวิลล่า นอกจากนี้ยังมีบริการร้านอาหาร ทั้งไทย จีน และยุโรป

พลาดไม่ได้กับวัดเทพาไพโรจน์ ชมพระพุทธรูปสามองค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่โบราณกาล สร้างด้วยศิลาทรายแดงนั่งเรียงกันในศาลาชาวบ้านเรียกว่า “พระสามองค์”

 

9 ศูนย์การเรียนพลังคิดกฟผ.จะนะ

 

ศูนย์การเรียนรู้พลังคิด กฟผ.จะนะ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทาให้เกิดความเข้าใจด้านพลังงานและการผลิตไฟฟ้า ตั้งอยู่ในโรงไฟฟ้าจะนะ

ผู้เข้าชมสามารถ Walk-in ชมฟรี  แบ่งเป็นโซนต่างๆเช่น โซน 1 “พลัง ” เพื่อให้ประชาชนทำความรู้จักศูนย์การเรียนรู้ ผ่านประสบการณ์ 4 มิติ โซน 2 “เส้นทางกาลเวลา” เป็นสื่อกลางให้ประชาชนเข้าใจวิทยาการด้านไฟฟ้า โซน 3 “ไฟฟ้ามาจากไหน”บอกเล่าประเภทต่างๆ ของโรงไฟฟ้า

โซน 4 “แหล่งพลังงานทดแทน” ประกอบด้วยอุปกรณ์เครื่องเล่นต่างๆ ที่ให้คำตอบด้านพลัง งานทางเลือกใหม่ โซน 5  “สะพานแห่งความเข้าใจ” เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ระหว่างชุมชนและโรงไฟฟ้าจะนะ

 

 

10 หมู่บ้านทำกรงนกเขา

 

ณ บ้านหัวดินเหนือ ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งกลุ่มกรงนกเขาชวาบ้านหัวดินเหนือ กรงนกของกลุ่มจะมีความประณีต สวยงาม เป็นงานทำมือทั้งหมด โดยใช้วัตถุดิบหลักคือ ไม้ไผ่ หวาย และเชือกไนล่อน

 

ราคาจะอยู่ที่กรงละ 350-800 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบของกรง โดยแต่ละครัวเรือนนั้นสามารถประดิษฐ์กรงนกได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 10 ใบ

ตลาดกรงนกเขาชวามีทั้งตลาดอำเภอจะนะ ประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์และบรูไน

 

กรงนกเขาเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจของที่นี่ และปัจจุบันกฟผ.ได้สนับสนุนหมู่บ้านแห่งนี้รวมถึงนำเอากรงนกเขาเป็นสัญลักษณ์ของกฟผ.ที่ตั้งโดดเด่นหน้าโรงไฟฟ้าจะนะ

            ผู้บริหารกฟผ.พาเที่ยวทั้ง 10 สถานที่ นำโดยคุณวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คุณรัชดา ทองอยู่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ-การสื่อสาร กฟผ.คุณดำรงค์ ไสยะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ กฟผ.

ทริป Unseen EGAT เป็นกิจกรรมที่ กฟผ.จัดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆได้เข้ามาเปิดประสบการณ์ใหม่กับการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. พร้อมสัมผัสธรรมชาติ ตลอดจนชมวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและมีความสุข ระหว่างโรงไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม และชุมชน

​ปีนี้นับเป็นปีที่ 3 ของการจัดกิจกรรม Unseen EGAT โดยจัดขึ้นภายใต้ชื่อ Unseen EGAT สุขยกกำลัง 2 @ สงขลา  ซึ่งนอกจากจะเป็นการมอบความสุขให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่สถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพาแล้ว

ยังเป็นการมอบความสุข โดยการร่วมกันทำกิจกรรม CSR ปลูกต้นสนเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชายหาดสะกอม

ทั้งได้เยี่ยมชมเทศกาลอาหารที่น่ารักๆ อย่างเทศกาลอาหาร 2 ทะเล ที่จัดระหว่างวันที่ 26 พฤษภาคม - 6 มิถุนายน 2559 ณ บริเวณสระบัว แหลมสมิหลา ภายในงานจัดให้มีการออกร้านจำหน่าย อาหารทะเล อาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทะเล สินค้า OTOP ของชุมชน

ได้ทานอาหารอร่อยของภาคใต้ในหลายๆมื้อ

ได้ฟังคอนเสิร์ตเพราะๆจาก รูม 39

 

ขอบคุณทริปดีๆจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนับสนุนการเดินทางของ Travelista นักเดินทาง นักข่าวสาวที่ทำงานข่าวในสายท่องเที่ยวมากว่า 30 ปี และ365 วันของเธอมีแต่เรื่องการเดินทาง

 

Create Date :29 พฤษภาคม 2559 Last Update :29 พฤษภาคม 2559 19:37:32 น. Counter : 5950 Pageviews. Comments :3