bloggang.com mainmenu search
.


รายงานข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า หุ้นที่มีมูลค่าการถูกขายล่วงหน้า (ชอร์ตเซล) สูงสุดในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม-27 กรกฎาคม 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ขายชอร์ตมูลค่า 1.26 พันล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) 876 ล้านบาท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) 847 ล้านบาท บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) 774 ล้านบาท บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) 704 ล้านบาท

นายภาววิชญ์ กลิ่นประทุม ที่ปรึกษาการลงทุนนักลงทุนรายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง กล่าวว่า การที่หุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงาน เช่น บมจ.บ้านปูปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากการทำ

ชอร์ตเซลนั้น ไม่ได้เป็นเพราะปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตามมุมมองส่วนตัวประเมินว่า อาจเกิดจากการที่นักลงทุนขนาดใหญ่เห็นว่าราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นไปมากแล้ว จึงต้องชอร์ตเซลเพื่อป้องกันความเสี่ยง

"นักลงทุนขนาดใหญ่อาจไม่ได้ตั้งใจปั่นราคาแต่อาจเป็นเพราะเขามีหุ้นเยอะมาก ดังนั้นก็ต้องเข้ามาชอร์ตเซลเพื่อป้องกันความเสี่ยงบ้างหากหุ้นขึ้นมาเยอะแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือนักลงทุนรายย่อยในตลาดจะทนไม่ไหวจนต้องขายหุ้นออกมา เพราะกลัวว่าราคาจะปรับลดลงไปมากกว่านั้น ซึ่งกดดันให้ราคาต่ำมากเข้าไปอีก และก็เป็นจังหวะที่นักลงทุนขนาดใหญ่จะเข้าไปเก็บเกี่ยวได้ ดังนั้นถ้ามองเผิน ๆ เรื่องทั้งหมดนี้ก็อาจจะเหมือนกับกลเกมของนักลงทุนขนาดใหญ่ที่จะทำให้ซื้อหุ้นได้ในราคาถูกก็ได้" นายภาววิชญ์กล่าว

ดังนั้นแนะนำนักลงทุนรายย่อยว่า สำหรับการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานนั้น หากมีเงินเย็นก็ควรจะ "ถือ" เพื่อลงทุนระยะยาวต่อไป พร้อมทั้งอาจจะ "ทยอยสะสม" เมื่อราคาปรับตัวลดลงควบคู่กันไปด้วยก็ได้ เพราะประเมินว่าในช่วง 3-5 ปีหลังจากนี้ยังมีโอกาสที่ราคาหุ้นกลุ่มนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งระบบต้องใช้พลังงานเป็นส่วนประกอบ ซึ่งปัจจุบันมูลค่าของธุรกิจพลังงานมีขนาดเท่ากับ 1 ใน 5 ของจีดีพี ไทยแล้ว

นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่หุ้นกลุ่มธนาคารถูกชอร์ตเซลค่อนข้างสูงในช่วงเดือนกรกฎาคม ประเมินว่า เป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติเห็นว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นตัวแทนตลาดหุ้นไทย ดังนั้นเมื่อดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นสูงระดับหนึ่งแล้ว จึงต้องชอร์ตเซลป้องกันความเสี่ยง แต่พื้นฐานโดยทั่วไปของกลุ่มนี้ยังคงดีอยู่

"การที่มียอดชอร์ตเซล KBANK และหุ้นธนาคารอื่นเยอะในเดือนกรกฎาคมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเพราะนักลงทุนกังวลว่าตลาดจะปรับตัวลดลง ทั้งที่ความจริงแล้วหุ้นกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแต่ถูกให้น้ำหนักในฐานะที่เป็นหุ้นตัวแทนตลาด จึงโดนชอร์ตป้องกันความเสี่ยงเท่านั้น" นายสุกิจกล่าว

ด้านบทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัสระบุว่า ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารมากกว่าตลาด แม้หุ้นกลุ่มนี้จะมีราคาตามมูลค่าทางบัญชี (PBV) อยู่ที่ระดับ 1.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ 1.5 เท่าเล็กน้อย แต่ก็ยังคงน่าลงทุนเพราะมีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของจีดีพี โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลและเอกชน ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยเลือก KBANK SCB เป็นหุ้น Top picks เพราะมีความโดดเด่นด้านผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องจนถึงปี 2556



ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Create Date :03 สิงหาคม 2555 Last Update :3 สิงหาคม 2555 16:44:17 น. Counter : 1856 Pageviews. Comments :1