bloggang.com mainmenu search
.
.
.
==========================================
ฟิลลิป ฟิชเชอร์
(1907-2004)
โดย ... ชัชวนันท์ สันธิเดช
==========================================


ฟิลลิป ฟิชเชอร์ เป็นผู้จุดประกายให้วิถีทาง “การลงทุนแบบเน้นการเติบโต” และเป็นหนึ่งในสองบุคคลที่ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน ยึดเป็นแบบอย่างในการลงทุน อีกคนหนึ่งที่บัฟเฟตต์ยึดถือเป็นแม่แบบก็คือ “เบนจามิน เกรแฮม”

ฟิชเชอร์มีใจรักในการลงทุนมาต้ังแต่เด็ก ชอบฟังญาติผู้ใหญ่คุยกันเรื่องหุ้น เมื่อโตขึ้น เขาได้เข้าศึกษาที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยในหลักสูตรที่เรียน อาจารย์ผู้สอนจะพานักศึกษาไปเยี่ยมชมกิจการของบริษัทต่างๆ ทุกสัปดาห์ ทำให้เขาพัฒนาความคิดในการวิเคราะห์ธุรกิจขึ้นมานับตั้งแต่นั้น

เมื่อเรียนจบแล้ว ฟิชเชอร์ได้ไปทำงานธนาคารอยู่หลายปี และสั่งสมความรู้ด้านการลงทุนเพิ่มเติม ก่อนจะออกมาตั้งบริษัทจัดการกองทุนของตัวเอง ชื่อ “ฟิชเชอร์ แอนด์ โค” (Fisher & Co.)

“การลงทุนแบบเน้นการเติบโต” (Growth Investment) ตามหลักของฟิชเชอร์นั้น หมายถึงการเข้าไปลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ที่จริงแล้ว ต้องถือว่าการลงทุนประเภทนี้ แยกไม่ออกจาก “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” (Value Investment) เพราะทั้งสองวิธีล้วนต้องศึกษามูลค่าพื้นฐานของกิจการให้ถ่องแท้ก่อนจะเข้าไปลงทุน

ประเด็นสำคัญที่สุดที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของฟิชเชอร์ก็คือ เขาให้ความสำคัญกับ “ปัจจัยเชิงคุณภาพ” สูงมาก ซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์คุณลักษณะของบริษัทในแง่ที่ไม่เกี่ยวกับตัวเลข เช่น การตลาด การขาย ความสามารถและจริยธรรมของผู้บริหาร ความได้เปรียบในการแข่งขัน การวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือแม้แต่แบรนด์และเฟรนไชส์ของบริษัท ฯลฯ

ฟิชเชอร์มองว่า บริษัทที่น่าลงทุน ต้องไม่เพียงผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่ต้องเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค และการจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องมี “การตลาด” ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งตัวฟิชเชอร์เองก็อาจถือได้ว่าเป็น “นักการตลาด” ที่ยอดเยี่ยมและมีสายตาอันเฉียบคมคนหนึ่ง

วิธีค้นคว้าหาข้อมูลของธุรกิจที่ฟิชเชอร์ใช้และเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ เทคนิค “การล้วงลึก” (Scuttlebutt) โดยใช้การสัมภาษณ์แบบเชิงลึกเป็นหลัก อาทิ ไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร สัมภาษณ์อดีตพนักงานของบริษัท ตลอดจนสัมภาษณ์พนักงานของบริษัทคู่แข่ง ฯลฯ แล้วเอาข้อมูลมาประมวลผลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน

ที่สำคัญก็คือ ฟิชเชอร์แนะให้ “มุ่งเน้น” (Focus) คือให้ลงทุนในบริษัทที่ “ดีที่สุด” จำนวน “น้อยบริษัท” แทนที่จะลงทุนในบริษัทที่ “ดีปานกลาง” จำนวนมากมายหลายบริษัท

เขาเชื่อว่ายิ่งกระจายการลงทุนมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เรามีเวลาสำหรับบริษัทแต่ละบริษัทที่เข้าไปลงทุนน้อยลงเท่านั้น อีกทั้งยังทำให้ผลตอบแทนโดยรวมลดลง เพราะถูกถัวเฉลี่ยไปในหุ้นหลายตัว

การมุ่งเน้น ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของฟิชเชอร์ที่แตกต่างจาก เบน เกรแฮม โดยสิ้นเชิง เขาย้ำว่า นักลงทุนควรเลือกลงทุนเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ตนเองมีความชำนาญ

ที่สำคัญก็คือ ฟิชเชอร์บอกไว้ในหนังสือ “Common Stocks and Uncommon Profits” ที่เขาเขียนว่า …

เมื่อตัดสินใจลงทุนในบริษัทใดแล้ว ก็ควรถือหุ้นไว้ตลอดไปโดยไม่จำเป็นต้องขาย เว้นเสียแต่จะพบทีหลังว่าตัวเองวิเคราะห์ผิดพลาด หรือปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป

สำหรับฟิชเชอร์ เขาถนัดในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นพิเศษ ตรงกันข้ามกับบัฟเฟตต์ที่ไม่ยอมข้องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเลย สุดยอดการลงทุนครั้งหนึ่งของฟิชเชอร์ คือการเข้าไปซื้อบริษัทเทคโนโลยีนอกสายตาที่ชื่อว่า “โมโตโรล่า” (Motorola) และบริษัทนี้ก็กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้

บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการลงทุนแบบเน้นการเติบโตไม่สนใจ “ราคาหุ้น” ขอเพียงเป็นกิจการพื้นฐานดีที่กำลังโตก็เข้าไปซื้อได้ ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่จริงแล้ว ฟิชเชอร์ เน้นเสมอว่า ราคาของ “หุ้นเติบโต” (Growth Stock)ที่จะเข้าไปลงทุนนั้น ต้องเป็น “ราคาเหมาะสม” (Fair Price) แต่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นเท่าไร เขาจึงเคยซื้อหุ้นของบริษัท ณ ราคาซึ่งพีอีเกิน 30 เท่ามาแล้ว

แม้บัฟเฟตต์จะบอกว่า ตัวเขาเป็นส่วนผสมของ “เกรแฮม 85 เปอร์เซ็นต์ และฟิชเชอร์ 15 เปอร์เซ็นต์” แต่หลายคนมองว่า อัตราส่วนนั้นน่าจะกลับกัน เพราะบัฟเฟตต์ลงทุนเหมือนฟิชเชอร์ยิ่งกว่าเกรแฮมเสียอีก

ไม่ว่าเราจะเรียกฟิชเชอร์ว่า “นักลงทุนแบบเน้นการเติบโต” (Growth Investor) หรือ “นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า” (Value Investor) ก็ตาม แต่วิธีลงทุนของเขาก็ถือเป็นแบบอย่างที่วีไอทุกคนควรเรียนรู้และปฏิบัติตาม หากมิได้ต้องการแค่ “ขจัดความเสี่ยง” แต่ “หวังผลเลิศ” และ “ขุมทรัพย์มหาศาล” จากการลงทุน

==========================================
ภาพประกอบ : wikipedia.org (qualifies as fair use under United States copyright law)
==========================================
Create Date :15 มีนาคม 2561 Last Update :15 มีนาคม 2561 6:57:59 น. Counter : 288 Pageviews. Comments :0