bloggang.com mainmenu search
.



อัตรา ส่วนที่นักลงทุนนิยมใช้ และสามารถหาได้จากหลายแหล่งข้อมูลคือ อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น หรือ Return on Equity, ROE อัตราส่วนนี้ หาได้ง่ายๆจากสูตรนี้

ROE = Net income / Share holder’s Equity หรือ กำไรสุทธิ / ส่วนผู้ถือหุ้น

อัตรา ส่วนนี้ใช้วัด ว่า เงินลงทุนที่ผู้ถือหุ้นได้ลงทุนไปในบริษัทนั้นสามารถแปลงเป็นกำไรที่เป็นของ ผู้ถือหุ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์

อัตราส่วนนี้แตกต่างจาก ROA ค่อนข้างมาก

ROA นั้นเป็นอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์โดยไม่สนใจว่าเงินทุนนั้นมาจากการก่อหนี้ หรือจากส่วนผู้ถือหุ้น .. ให้สังเกตว่า กำไรสุทธิหรือ Net Income นั้นได้หักดอกเบี้ยจ่ายซึ่งเป็นต้นทุนของเงินกู้ออกไปแล้ว

โดยปกติแล้ว ROE ควรจะมีค่าสูงกว่า ROA ในกรณีที่บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย แต่ในหลายบริษัทที่มีภาระดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยจ่าย) มากๆ เราอาจเห็น ROAมากกว่าROE ซึ่งไม่เป็นเรื่องผิดปกติ แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ น่าสนใจอย่างไร เราลองมาดูที่มาของ ROE กันครับ

ROE = Net income / Shareholder’s Equity

ถ้า เราเอา EBIT/ EBIT และ Assets/Assets คูณเข้าไปในสมการ ข้างบน เราจะได้

ROE = (EBIT/Assets) x (Net Income/EBIT) x (Assets/Shareholder’ Equity)

เขียน ใหม่จะได้สูตรดังนี้
ROE = ROA x Common Earning Leverage x Capital structure Leverage

Common Earning Leverage, CEL (Net Income/EBIT) หมายถึง ในกำไรสุทธินั้นเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของEBIT .. เพราะเนื่องจาก กำไรสุทธินั้นคือ EBIT – ดอกเบี้ยจ่าย – ภาษี หรือ หมายถึงว่า ในEBIT 100% ผู้ถือหุ้นมีสิทธิกี่เปอร์เซ็นต์

Capital Structure Leverage, CSL (Assets/Shareholder’ Equity) หมายถึงใน สินทรัพย์100% นั้น ใช้ส่วนผู้ถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์

จุด ที่น่าสังเกตในสมการ ROE คือ ROEจะสูง หรือต่ำนั้นขึ้นอยู่กับตัวแปรสามตัวคือ ROA, CEL และ CSL

ROA จะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับ Profit Margin กับ Assets Turnover ซึ่งอธิบายไปแล้วในฉบับก่อนๆ

CEL จะ สูงหรือ ต่ำนั้นขึ้นอยู่กับ ดอกเบี้ยจ่าย และภาษี ที่น่าสนใจคือดอกเบี้ยจ่าย ส่วนภาษีนั้นจ่ายในอัตราเท่ากันเกือบทุกบริษัท ตัวแปรของดอกเบี้ยจ่ายมีสองส่วน คือ ถ้ามีหนี้มาก ก็เสียดอกเบี้ยมาก หรือ อัตราดอกเบี้ยที่บริษัทเสียสูงหรือต่ำ ค่าๆนี้จะไปสัมพันธ์กับ CSL

CSL จะสูงหรือต่ำนั้นให้ดูว่า สินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดมาจากส่วนทุนกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าๆนี้ควรมีค่าไม่น้อยไปกว่า 1 ในกรณีของบริษัทที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องได้ ไม่นับรวมบริษัทที่ขาดทุนเกินทุน ค่านี้น่าสนใจตรงที่ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ การใช้เงินกู้มาลงทุนจะทำให้ROEสูงขึ้น เพราะCELจะ มีค่าไม่ต่ำ เมื่อคูณกับCSLที่มีค่าสูงๆ (ใช้เงินกู้มาก) เมื่อนำไปคูณกับ ROA แล้วจะทำให้ ROE สูงกว่า ROA มาก แต่ในทางกับกัน หากอัตราดอกเบี้ยสูง การมีCSLสูง มันจะไปลดROEให้ ต่ำลง

ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่า ตราบใดที่ ROA มีค่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ตราบนั้น ROE ก็จะยังสูงกว่า ROA การหาค่าต่างๆเหล่านี้ออกมาก็เพื่อตรวจสอบว่า การที่ ROE สูงนั้น สูงมาจาก ROA ซึ่งเป็นการใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ว่าเกิดจากการใช้ข้อได้เปรียบจากการก่อหนี้ในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ใน ระดับต่ำ

สำหรับ ในการบริหารงานจริงๆแล้วผู้บริหารควรบริหารการใช้สินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ใช้สินทรัพย์มาหากำไรได้เป็นอย่างดีซึ่งสะท้อนออกมาจากการที่ ROA มีค่าสูง .. และพยายามจัดโครงสร้างเงินทุนของกิจการเพื่อใช้ข้อได้เปรียบจากการก่อหนี้ในระดับความเสี่ยงที่ควบคุมได้เป็นอย่างดี

การที่บริษัทใช้เงินทุนจากการก่อหนี้ที่สูงก็เท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ให้แก่บริษัท ฉะนั้น ถ้าท่านเห็นบริษัทไหนมี ROE สูงกว่า ROA มากๆ ก็พึงได้ตรวจสอบดูว่า ผู้บริหารได้มีแผนการบริหารความเสี่ยงจากโครงสร้างเงินทุนไว้อย่างไร ปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ?


มนตรี นิพิฐวิทยา
16 พฤศจิกายน 2550
Create Date :07 พฤษภาคม 2556 Last Update :7 พฤษภาคม 2556 13:34:37 น. Counter : 2348 Pageviews. Comments :0