bloggang.com mainmenu search


เรื่องย่อ

เมื่อคุณพ่อจะย้ายไปทำงานต่างประเทศ มิซึชิมะ เอย์คิชิ ไม่อยากติดตามไป จึงตัดสินใจแยกทาง และย้ายจากโรงเรียนอาโอบุ ไฮสคูลชื่อดังในโตเกียว มาเรียนที่โรงเรียนฮิเมโนะในเมืองบ้านนอกแห่งหนึ่ง เพื่อมาอาศัยอยู่กับคุณปู่ที่เมืองนี้

เดินทางมาถึงสถานีรถไฟ เอย์คิชิก็พบกับ สาวน้อยหน้าบูดนาม ชิโอริ ความประทับใจแรกพบน่ะเหรอ
หึหึ .. ไม่สวยงามเท่าที่ควร

โรงเรียนฮิเมโนะ เคยเป็นโรงเรียนหญิงล้วนมาตลอด เพิ่งจะเปลี่ยนเป็นโรงเรียนสหศึกษาและรับนักเรียนชายเข้าเรียนได้เพียง 3 ปี จำนวนนักเรียนชายจึงมีน้อยมากๆ ทั้งโรงเรียน ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้วมีอยู่ทั้งหมด 32 คน (ในอัตราส่วน นักเรียนชาย 1 คน ต่อนักเรียนหญิง 10 คน)

โรงเรียนนี้จึงยังเป็นสังคมของการเหยียดเพศค่ะ โลกของโรงเรียนถูกครอบงำด้วยประชากรสตรี ไม่ว่าจะเป็นครูใหญ่ ครูผู้สอน แต่ทั้งหมดนั่นรวมกันก็ไม่ทำให้นักเรียนชายตกอยู่ในสถานะพลเมืองชั้นสองได้มากเท่ากับการมี นักปกครองขาใหญ่ตัวจริง นั่นก็คือ คาโยะ ประธานนักเรียนที่เก่งเริ่ดเชิดหยิ่งและ สวยประหาร! โดยมีสองนกแก้วนกขุนทองทำหน้าที่เป็นนางสนองพระโอษฐ์ และมีอีกหนึ่งหนุ่มน้อยหน้าใส กันจัง คอยเป็นเลขานุการติดตามรับใช้




ยามาโมโตะ โยสึเกะ นักเรียนหน้าซื่อชั้นปี 3 ผู้ใฝ่ฝันอยากจะให้นักเรียนชายที่แทบไม่มีบทบาทอะไรในสังคมโรงเรียน มีชมรมอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง เพื่อทำกิจกรรมสนุกสนานด้วยกัน แต่ภายใต้การปกครองของประธานคาโยะจอมโหดไม่มีนักเรียนชายคนไหนกล้าแสดงปากเสียง ดังนั้น เมื่อโยสึเกะได้ข่าวว่ามีนักเรียนใหม่ย้ายมาจากโรงเรียนอาโอบุที่มีชื่อเสียงเรื่องกีฬาว่ายน้ำ เขาจึงฝันหวานกลางอากาศว่านักเรียนใหม่จะมาร่วมกันบุกเบิกก่อตั้งชมรมว่ายน้ำขึ้นที่โรงเรียนฮิเมโนะ



อาจารย์ ซาโอโตเมะ เพิ่งย้ายมาสอนที่โรงเรียนฮิเมโนะ ในฐานะอาจารย์จ้างชั่วคราวแทนอาจารย์ท่านหนึ่งที่ลาคลอด อ.ซาโอโตเมะ เคยเป็นนักกีฬาระบำใต้น้ำมาก่อน จึงไม่รีรอที่จะสนับสนุนไอเดียบรรเจิของโยสึเกะในการก่อตั้งชมรมว่ายน้ำ เอย์คิชิ จึงถูกตั้งความหวังไว้สูง โดยมิได้รู้เนื้อรู้ตัว

"ฝันสลายดอกฝ้ายบาน" โยสึเกะคุงคงไม่เคยได้ยินคำๆ นี้ และไม่คิดว่าจะถูกปฏิเสธ

แต่เอย์คิชิ ไม่ใช่เด็กเจ๋ง ไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง และไม่ใช่นักกีฬาผู้สามารถ เพราะในโรงเรียนอาโอบุชื่อดังและมีชื่อเสียงด้านกีฬาว่ายน้ำเช่นที่ใครๆ ยกย่อง เขาคือเจ้าของฉายา "เจ้าเต่า" ในชมรมว่ายน้ำที่นั่น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีทางอีกแล้วกับชมรมว่ายน้ำที่นี่ เอย์คิชิไม่สนใจ ไม่ไยดี และปฏิเสธความหวังของโยสึเกะ

แต่ของแบบนี้มันเปลี่ยนใจกันได้ เมื่อมีจุดจี้กระทบใจ มันก็มีจุดเปลี่ยน



โยสึเกะที่อยากจะทำตามความตั้งใจของตัวเองให้ถึงที่สุด แรงผลักดันในใจก็คือ เขาไม่มีโอกาสจะได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยจึงอยากทำช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตนักเรียนมัธยมปลายให้ดีที่สุด สนุกสนาน และมีความทรงจำดีๆ ร่วมกับเพื่อนๆ

ส่วน เจ้าเต่า เอย์คิชิ ความที่การเรียนห่วย กีฬาห่วย เขาจึงเป็นลูกไม่เอาไหนในสายตาของพ่อ และเพราะความห่วยจึงต้องย้ายออกจากโรงเรียนดังที่มีแต่เด็กเก่งๆ เอย์คิชิจึงไม่ต่างจากหมาจนตรอกที่หันหลังชนกำแพงสู้ เพราะอยากจะทำอะไรสักอย่างให้ได้เรื่องได้ราวและพิสูจน์ความตั้งใจจริงของตัวเองให้พ่อได้เห็นสักครั้ง

แต่การกระทำมันไม่ง่ายอย่างที่คิดน่ะสิ ไม่ว่าจะเป็นชมรมว่ายน้ำ หรือกระทั่งจับพลัดจับผลูมาเป็นชมรม "ระบำใต้น้ำ" มันก็เต็มไปด้วยอุปสรรคนานานับประการตามแบบของละครแนวสู้เพื่อฝันของญี่ปุ่น

กับแค่จะตั้งชมรมขึ้นมาทำกิจกรรมในโรงเรียนมันอะไรกันนักกันหนา

กว่าจะได้ระบำใต้น้ำกันจริงจัง ทำไมมันมีแต่คนขัดขวางและอุปสรรคขวางกั้น



ความไม่ย่อท้อของโยสึเกะ เติมเต็มความตั้งใจมั่นของเอย์คิชิ ทั้งสองกลายเป็นเพื่อนรัก และเอย์คิชิเองก็ค่อยๆ กลายเป็นจุดศูนย์กลางดึงดูดนักเรียนชายมาเป็นเพื่อน ร่วมกันต่อสู้กับอุปสรรคเพื่อก่อตั้งและประคับประคองชมรมระบำใต้น้ำให้ไปถึงจุดมุ่งหมาย

และการต่อสู้ของหนุ่มน้อย water boys ด้วยความมุ่งมั่นไม่ท้อถอยเหล่านี้แหละ แปรเปลี่ยนมุมมองและชีวิตของผู้คนรอบข้าง

5 หนุ่มน้อย คนสำคัญของ Water Boys

และ

2 โค้ช ของชมรมระบำใต้น้ำ




เอย์คิชิ (Ichihara Hayato) หรือที่เพื่อนๆ เรียก "เอย์จัง"
ชมรมระบำใต้น้ำเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายที่เอย์จัง พยายามไขว่คว้าอย่างสุดกำลัง เพื่อให้พ่อยอมรับว่าเขาเองก็สามารถตั้งใจทำบางสิ่งบางอย่างได้จริงจังเหมือนกัน ดังนั้น มันจะต้องไม่ล้มเหลวเหมือนกับอะไรก็ตามที่ผ่านมาในอดีต


โยสึเกะ (Akiyoshi Nakao)
เขาเป็นตัวแทนของการมองโลกในแง่ดี และยอมรับความเป็นจริงด้วยรอยยิ้ม มีแม่ที่อายุมากและทำงานหนักอยู่คนเดียว แม้อยากจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยแค่ไหน โยสึเกะก็ยอมรับว่าไม่ควรให้แม่ต้องแบกภาระมากไปกว่านี้ จึงพยายามมีความสุขกับชีวิตนักเรียนที่เหลืออยู่ พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดทั้งการสร้างความทรงจำดีๆ ร่วมกับเพื่อนๆ หรือ แม้แต่การท่องหนังสือเพื่อทำคะแนนสอบไล่ ทั้งที่มันไม่จำเป็นกับเด็กที่ไม่ต้องการเรียนต่อ




อิวาตะ หรือ เพื่อนๆ เรียกว่า "กันจัง" (Teppei Koike ) เลิกเป็นชายไม้เลื้อยเกาะติดคนอื่นเพื่อเอาตัวรอด และพยายามยืนหยัดเป็นตัวของตัวเอง นั่นคือกันจัง ที่เคยอาศัยตำแหน่งเลขาฯ ประธานโรงเรียน เป็นเครื่องกำบังให้ตัวเองรอดพ้นจากการถูกกดขี่ของพวกนักเรียนหญิง และเพราะแอบหลงรักคาโยะ ผู้เป็นประธานฯ เข้าด้วย แต่มันช่างดูไม่มีศักดิ์ศรีเอาซะเลย ยิ่งเธอเป็นผู้หญิงที่ชอบ หากยังเดินตามต้อยๆ อยู่แบบนี้ เมื่อไหร่กันเธอจะมองเห็นเขาเป็นผู้ชายคนนึง และเพื่อจะพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายให้เธอเห็น กันจังเป็นอีกหนึ่ง Water boys ที่ไม่ละทิ้งจุดหมายและความตั้งใจ แม้ว่าจะมีความคิดอยากเลิกล้มความพยายามบ้างในบางครั้ง

เซนิชิ (Keita Saito) คนเหลาะแหละเชื่อถือไม่ได้ นั่นคือ เซนิชิ ในสายตาของเพื่อนๆ เอย์จังถูกเตือนเมื่อหวังพึ่งเซนิชิเป็นอีกหนึ่งเรี่ยวแรงในการก่อตั้งชมรม (มันจะต้องเหลวเป๋วแน่) แต่เอย์จังกลับไม่คิดแบบนั้น คงเป็นเพราะตัวเขาเองก็เป็นคนที่ถูกมองว่าไม่เอาไหน แม้แต่พ่อของตัวเองยังไม่ยอมรับ เอย์จังจึงเข้าใจเซนิชิ และเปิดใจให้

เมื่อมีใครสักคนทำตัวผิดแผกมาเชื่อใจ เซนิชิย่อมอยากรักษาความเชื่อใจนั้นไว้ให้ถึงที่สุด และกลายเป็นเพื่อนของเอย์จัง





เทปเป้ตอนเด็กๆ หน้าตาไม่เปลี่ยนไปสักเท่าไรเมื่อโตขึ้น คือ ยังดูเด็กๆ เหมือนเดิม ขณะที่ฮายาโตะโตเป็นหนุ่ม และ 2 หนุ่มที่เพิ่งพูดถึง คือ โยสึเกะ ดูแก่ไปแล้วตอนเล่นเรื่อง Rookies ส่วน เซนิชิ ไม่แน่ใจว่าได้ร่วมแสดงใน Rookies ด้วยหรือไม่ เพราะหน้าตาคุ้นๆ อยู่เหมือนกัน

ซาโนะ (Ryo Kimura) เขาเป็นอีกคนนึงที่อยากให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับของพ่อ พยายามพิสูจน์ตัวเองให้พ่อเห็น ถึงจะเป็นเด็กก็สามารถช่วยเหลือผู้ใหญ่และพึ่งพาได้ในบ้างเรื่อง แต่ไม่ว่ายังไง เด็กก็ยังเป็นเด็กในสายตาของผู้ใหญ่อยู่เสมอ (ไม่ว่าจะพยายามสักเท่าไร)

ซาโนะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเซนิชิ เพราะชอบสาวคนเดียวกันจนออกนอกหน้าด้วยกันทั้งคู่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นเพื่อนสั่นคลอน

หนุ่มคนนี้เคยเห็นแสดงในเรื่อง Nodame Caltabile (โตเป็นหนุ่มแล้ว) เขาเป็นนักไวโอลินที่มาเล่นแทน "มิกิ" แฟนของริวทาโร่ และหลงรักท่านจิอากิ (ผู้ชายด้วยกัน) หน้าอูมแก้มใสมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ เชียว

และถ้าถามว่า

เกลียดอะไรที่สุดในเรื่องนี้ ?

กางเกงว่ายน้ำสีส้มของเทปเป้ และ กางเกงว่ายน้ำลายเสือของเซนิชิ
เห็นแล้วมันขัดหูขัดตา แบบว่า ... ยี้ .. คิดได้ยังไงเนี่ย

อาจารย์ซาโอโตเมะ ( Takatoshi Kaneko) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของอาจารย์ที่ไม่ยอมปล่อยมือจากลูกศิษย์ คาเนโกะ แสดงได้ตุ้งติ้งน่ารักมากๆ (หรือจริงๆ แล้วเป็นตัวตนของเธอเอง อันนี้ก็ไม่รู้ล่ะนะ) แต่การตัดสินใจของตัวละครคงต้องบอกว่าเด็ดเดี่ยวมั่นคงไม่เหมือนบุคลิก อาจารย์สาวแตกคนนี้มีบทบาทสำคัญในเรื่องไม่น้อยหน้าไปกว่าเด็กๆ เลย

โค้ชคาซึยะ (Shiro Sano)
อีกหนึ่งโค้ชคนสำคัญที่มีอดีตเป็นถึงนักว่ายน้ำเหรียญทองระดับชาติ และเคยเป็นโค้ชของทีมชาตินักกีฬาระบำใต้น้ำมาก่อน ปัจจุบัน (ในละคร) เป็นเจ้าของร้านเครื่องดื่ม ขายตั้งแต่กาแฟยันของมึนเมา และกำลังประสบภาวะถังแตก เอย์จังกับเพื่อนๆ ตามจีบเขามาเป็นโค้ชด้วยความยากลำบาก จีบติดมาแล้ว เรื่องราวในอดีตของโค้ช ยิ่งทำให้ลำบากกว่าเดิมอีก แต่โค้ชก็ได้เปลี่ยนแปลงทีม Water boys จากนักระบำสั่วๆ ไปเป็นมือโปรชั่วพลิกตอน (อะไรจะเก่งกันปานนั้น)

คำคมจากเรื่องของโค้ชคาซึยะ

"ใครก็เคยทำผิดด้วยกันทั้งนั้น
ใช่ว่าจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ทำ
แต่ว่า สิ่งสำคัญมันคือหลังจากนี้
ไม่ใช่ในอดีต แต่เป็นตอนนี้ต่างหาก"



นักเรียนหญิง

มาดูฝ่ายหญิงกันบ้าง

ชิโอริ (Satomi Ishihara) นักแสดงคนนี้นามสกุลเหมือนฮายาโตะเลย แต่สะกดภาษาอังกฤษคนละแบบ แรกเห็นนางเอก บอกตามตรงว่าไม่สบอารมณ์กับ ใบหน้าอันบึ้งตึงของเธอตามแบบฉบับของเด็กเคร่งเครียดในชีวิต

พ่อของชิโอริเป็นเพื่อนสนิทกับพ่อของเอย์จัง จึงต่างพึ่งพาอาศัยด้วยการที่พาครอบครัวมาอาศัยอยู่ในบ้านของคุณปู่ที่แก่ชราและอยู่ลำพังตัวคนเดียว ครอบครัวของชิโอริไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ส่วนคุณปู่ก็มีคนดูแลบ้านและอาหารการกิน (มีเพื่อนอีกต่างหาก สบายแฮคนแก่)

เมื่อเอย์จังย้ายมาอยู่กับคุณปู่ จึงเท่ากับว่าเขาอยู่อาศัยในบ้านเดียวกันร่วมกับครอบครัวของชิโอริด้วย

อย่า ... บรรดาคอละครรักโรแมนติก อย่าพึ่งคิดไปว่าเรื่องที่พระเอกนางเอกอยู่ร่วมบ้านแล้วจะหวานแหววน่ารัก คอยถกเถียง และลามเป็นถูกเนื้อต้องตัว เหมือนละครไทยและเกาหลี (ที่มีโผล่มาทีไร ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งที่ติดตรึงอยู่หน้าจอด้วยคน) เพราะในละครญีปุ่นมิใช่แบบนั้นเสมอไป เรื่องนี้ฉากในบ้านที่นอกเหนือจากฉากครอบครัวกินข้าวร่วมกัน มีน้อย และเท่าที่มีพระเอกนางเอกก็พูดจาประสาคนปรึกษาหารือกันฉันท์เพื่อน ไม่มีอะไรในกอไผ่ให้วี๊ดว้าย กิ๋วกิ้ว

ชิโอริรักการเล่นเครื่องดนตรีคาริเน็ต และความฝันของเธอคือการเรียนต่อในวิทยาลัยดนตรี แต่ติดปัญหาที่ว่าครอบครัวของเธอไม่มีเงินมากนัก และวิทยาลัยดนตรีก็มีค่าใช้จ่ายสูง เธอจึงคิดจะเลิกล้มความฝันของตัวเอง แต่ความเสียใจลึกๆ ก็กลายเป็นความพาลที่แสดงต่อครอบครัว โดยเฉพาะกับพ่อของเธอ

แรกๆ ที่ไม่ชอบชิโอริ ไม่ใช่เพราะหน้าตาบึ้งตึงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะความประพฤติที่แสดงต่อบุพการีนี่สิ ไม่ชอบเอามากๆ แต่ดูๆ ไปก็จะเข้าใจว่าเป็นเพราะเด็กมันเครียด และมีปัญหาอยู่ในใจ ซึ่งถ้าไม่คิดเอาแต่ความดีใส่ตัวเอง ก็จะเห็นว่า ยัยชิโอรินี่มันเราตอนเป็นเด็กวัยนั้น ชัดๆ เลยนี่หว่า ..ปัญหาก็คล้ายคลึงกันซะด้วย นั่นคือการตัดสินใจเลือกทางเดินของอนาคต



ต่อมา เมื่อมีคนวัยเดียวกันอย่างเอย์จังมาอยู่ใกล้ชิดร่วมบ้าน นอกเหนือจากตัวเองชิโอริเริ่มมองเห็นปัญหาของคนอื่น เฝ้ามองและเรียนรู้ ปัญหามันมีทางออกเสมอ ขอเพียงไม่ย่อท้อและเพียรพยายาม สิ่งสำคัญต้องเปิดใจตัวเองเพื่อทำความเข้าใจคนอื่นด้วย ตอนที่เธอดูถูกพ่อของตัวเองและแม่ก็ตบหน้าดังผัวะ เป็นฉากที่โดนใจมาก ชิโอริสมควรโดนแล้ว (น่าจะมีใครตบผู้เขียนให้สักฉาดสองฉาดเหมือนกันนะในช่วงวัยนั้น เผื่อจะช่วยให้สำนึกได้ซะตั้งแต่ตอนนั้นเลย)

จากนั้นรอยยิ้มของชิโอริก็เริ่มมา และน่ารักขึ้นเรื่อยๆ

โคสุเอะ (Emi Suzuki) สาวสวย อ่อนหวานน่ารักคนนี้ เป็นขวัญใจของซาโนะ และเซนิชิ แต่คนที่เธอหมายปองคือ เอย์จังของเรา โคสุเอะเป็นนักเรียนหญิงคนแรกที่คอยช่วยเหลือหนุ่มๆ ในการก่อตั้งชมรมและฝึกฝนระบำใต้น้ำ ช่วยหาสถานที่ ช่วยส่งข้าวส่งน้ำ และคอยเป็นกำลังใจ เธอเป็นเพื่อนสนิทกับชิโนริและเป็นสมาชิกของชมรมดนตรีด้วยกัน

ความอิจฉากันในละครญี่ปุ่นก็มีให้เห็นอยู่บ้างนะ อย่างโคสุเอะ เมื่อเห็นความสนิทสนมของชิโอริและเอย์จังก็มีหึงหวงและพาลโกรธเพื่อนอยู่เหมือนกัน แต่ก็โกรธอยู่ไม่นานนัก เพราะระหว่างเพื่อน กับผู้ชาย และ ความจริงที่ว่าฝ่ายชายเขาไม่มีใจไปไกลกว่าความเป็นเพื่อน และยังเห็นกันอยู่ชัดๆ ว่าห่วงใยใกล้ชิดใคร งานนี้..นางมารน้อย จึงมีศักดิ์ศรีไม่น้อยเลย

คาโยะ (Reina Asami) เคยเห็นหน้าเธอในเรื่อง Supuri หน้าตาไม่เปลี่ยนไปแม้ทรงผมจะคนละทรง (และอาจจะคนละวัย) เธอคนนี้สวยดี สวยแบบดุๆ เป็นตัวละครที่มีสีสันไม่น้อย เพราะเป็นขาใหญ่ในโรงเรียนที่คอยขัดแข้งขัดขาชมรมระบำใต้น้ำ แบบไม่ยอมเปิดโอกาสให้ได้เงยหน้าอ้าปากหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์ของโรงเรียนได้สะดวกๆ บ้างเลย




อาจารย์

อาจารย์ใหญ่ (Midoriko Kimura) ยึดมั่นในกฏระเบียบและหลักการก็จริง แต่ก็ใจดี มีเมตตา และยืดหยุ่นด้วย

อาจารย์นัทสุโกะ (Sayaka Yamaguchi) อาจารย์คนสวยเป็นอดีตนักกีฬาระบำใต้น้ำทีมชาติที่มีบาดแผล และเก็บงำความเจ็บปวดนั้นไว้โดยไม่ยอมลงสระอีกเลย เธอเป็นอีกหนึ่งในบรรดา "ตัวขัดแข้งขัดขา" ของชมรมระบำใต้น้ำชาย

อาจารย์ฮารุกะ (Waka Inoue) อาจารย์บ้องตื้นคนนี้ เป็นโรคกลัวผู้ชาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่เธอจะสนับสนุนให้เด็กผู้ชายมาเดินใส่กางเกงว่ายน้ำร่อนสระอยู่ในโรงเรียน แค่ใกล้ผู้ชายที่ไร ภูมิแพ้ผู้ชายของเธอก็กำเริบและลมใส่




ครอบครัว


คุณพ่อของชิโอริ ( Fumiyo Kohinata )
พนักงานสถานีรถไฟที่มีกิจวัตรในการรับส่งรถไฟในทุกๆ วัน ชีวิตสุขสงบเรียบง่าย แต่กลับถูกลูกสาวตัวเองมองว่า เป็นคนที่ไม่มีความทะเยอทะยาน และไม่เคยมีความฝันใดในชีวิต แต่ถ้าเรามองตามสายตาของเอย์จังที่มองครอบครัวของชิโอริ เด็กหนุ่มที่มีพ่อผู้ทะยานไปกับโลกของการทำงานธุรกิจกำลังโหยหาชีวิตเรียบง่ายและครอบครัวอบอุ่นพร้อมหน้าแบบที่ชิโอริมี

คุณแม่ของชิโอริ (Aiko Morishita)
คุณแม่ใจดี ทำหน้าที่แม่บ้านดูแลลูก สามี และคุณปู่ รวมถึงดูแลเอย์จังที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในบ้าน และใจดีไปถึงเพื่อนๆ ของลูก ๆ ด้วย

"คุณน่าจะให้ความสำคัญกับเอย์จังมากกว่านี้นะคะ"

นี่คือคำพูดที่แม่ของชิโอริบอกกับพ่อของเอย์จังด้วยความระมัดระวัง เพราะถึงจะเกรงใจ แต่ในฐานะของคนเป็นแม่และมองเห็น เธอจึงอดไม่ได้ที่จะพูดออกมา

คุณปู่ (Masao Imafuku)
คนแก่ชราที่ดูเลอะๆ เลือนๆ แต่ยังอุตส่าห์มองเห็นความสัมพันธ์อันห่างเหินระหว่างลูกชายกับหลานชาย อาจช่วยเหลืออะไรใครไม่ได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่มีอยู่แล้วอุ่นใจ ลองหันมองคนแก่ในบ้านของคุณสิคะ ถ้าปู่ย่าตายายยังมีชีวิตดู รักษาความอุ่นใจของคุณไว้ให้ดีๆ

วันก่อนฝนตกเดินผ่านบ้านหลังหนึ่ง เห็นคุณยายท่านหนึ่งกางร่มเดินออกมานอกประตูบ้านเพื่อทำหน้าที่มองถนนมีรถวิ่งผ่านไปมาหรือไม่ และส่งเสียงบอกกล่าวทำหน้าที่เป็นพนักงานโบกรถ และคงจะทำอยู่แบบนั้นเป็นกิจวัตรเพื่อส่งลูกหลานที่กำลังขับรถออกจากบ้านไปทำงาน แว่บนั้นแอบคิด "น่ารักจัง" แต่ถ้าวันนึง ไม่มีคนๆ นี้อยู่คอยโบกรถให้แล้ว คนที่เคยมีคนคอยส่งอยู่ทุกวันจะเหงามั้ยนะ ( บรรยากาศฝนตกชวนให้คิดเรื่อยเปื่อย หนูไม่ได้แช่งคุณยายนะจ๊ะ)

คุณพ่อของเอย์จัง (Keniji Yajima) การเป็นครอบครัวตัดไม่ตายขายไม่ขาดก็จริง แต่บางครั้งการเป็นครอบครัวก็ไม่ช่วยอะไร หากคนเราไม่หันหน้ามาพูดจากัน ละครไม่ได้นำเสนอความห่างเหินระหว่างเอย์จังกับพ่อในรายละเอียดเหมือนนัก แต่เมื่อพระเอกเดินทางดุ่มๆ มาบ้านนอกเพียงลำพังและการพูดคุยโทรศัพท์กับพ่อนิดหน่อย ก็เข้าใจในพื้นฐานความสัมพันธ์ที่เป็นมา ซึ่งเป็นลักษณะความกระชับของซีรีย์ญี่ปุ่นที่เห็นกันอยู่แล้วเป็นประจำ เพราะถ้าเป็นละครเกาหลีเราอาจจะต้องดูพระเอกนึกอดีตความทรงจำที่มีกับพ่อย้อนไปย้อนมาเพื่อแสดงว่า นี่คือที่มาของความห่างเหิน




ความรัก

เมื่อมีพระเอกที่ชอบ แค่นี้ก็โอเคแล้ว แต่เรื่องนี้มีความน่ารักอีกอย่างคือมี "ความชอบพอ" ระหว่างเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เข้มข้นแต่ก็ไม่ถือว่าจืดจางเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ

โยสึเกะ แอบชอบชิโยริ
โคสึเอะ แอบชอบเอย์จัง
กันจัง ชอบ คาโยะ (รายนี้ไม่แอบ)
ซาโนะ และเซนิชิ ชอบโคสึเอะ (สองคนนี้ก็ไม่แอบ และโจ่งแจ้งมาก)

ส่วนพระเอกนางเอกคู่ได้เปรียบเพราะอยู่บ้านเดียวกัน เห็นปัญหาและความเพียรพยายามของกันและกัน หึหึ "ความชอบพอ" จะไปไหนเสีย

ชอบสายตาที่มองกันแล้วสื่อความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ โดยไม่ต้องพูดมากมีหลายฉากหลายตอนที่น่ารัก ชอบมากที่สุดคงจะเป็น ฉากที่ชิโอริมอบจดหมายขอลาออกจากชมรมฯ ของโยสึเกะให้เอย์จัง แต่เอย์จังเข้าใจผิดคิดว่าชิโอริกำลังมอบจดหมายรัก

"เอ่อ มันจะดีเหรอชิโอริ เราจะมองหน้ากันไม่ติดนะ"

ฉากที่ชิโอริมาตามหนุ่มๆ ทั้ง 5 คน แล้วพากันวิ่งกลับไปที่งานวัดเพื่อทำการแสดงบนเวทีเพื่อกู้หน้าให้กับคุณพ่อของซาโนะ เจ้าภาพจัดงาน ชิโอริที่สวมชุดยูกาตะวิ่งอยู่รั้งท้าย เอย์จังวิ่งอยู่ข้างหน้าเมื่อรู้สึกว่าชิโอริไม่ได้กำลังวิ่งตามมาติดๆ จึงเหลียวหลังกลับมามองทั้งที่เท้ายังวิ่งอยู่ (น่ารักมากๆ เลย) ชะลอฝีเท้าลง สบตากัน ชิโอริโบกมือเป็นเชิงบอก ไม่ต้องห่วง ให้รีบไป แต่เอย์จังวิ่งกลับมาคว้ามือชิโอริ แล้วพาวิ่งไปด้วยกัน

ตอนดู Crying out love in the center of the world เคยบอกว่า ไม่มีฉากไหนที่โดนๆ เป็นเพราะพระเอกนางเอกสารภาพรักตั้งแต่ต้นเรื่อง และรักกันอยู่แล้วตลอดทั้งเรื่อง เมื่อพบเจอกันภาษาพูดจามันเป็นไปในแบบของคนเป็นแฟน จะแสดงออกมายังไงมันก็เฉยๆ เนื้อเรื่องมันเศร้าด้วย

แต่กับแค่จับมือแค่นี้กลับบอกว่า โดนใจอย่างจัง คงเป็นเพราะละครเรื่องนี้ไม่ว่าจะแอบชอบกันอย่างไร ความสัมพันธ์ก็ยังคงเป็นเพื่อนกัน เอย์จังกับชิโอริก็เป็นเหมือนเพื่อน พูดคุยกันอย่างเพื่อน พอมีฉากแบบนี้ขึ้นมาบ้างจึงกลายเป็นเรื่องน่ารักมาก ๆ

ดู Water Boys แล้วนึกถึงอะไร ?





* นึกถึง Rookies และคำว่า "สูตร" ละครแนวสู้ฝันแบบนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นสูตร เพราะไม่ได้ต่างอะไรมากนักกับเรื่องอื่น ๆ แม้จะเป็นเพียงแค่ฝันเล็กๆ แต่มันก็ทำให้รู้สึกดีนะ ดูแล้วนึกถึงเรื่อง Rookies ที่เป็นเรื่องราวของเด็กนักเรียนมัธยมปลายปลายเหมือนกัน เพียงแต่ต่างกันที่นักเรียนเรื่องนั้น ...หน้าแก่

Water Boys
พระเอก-อิชิฮาระ ฮายาโตะ
ครูผู้ทุ่มเทและโค้ชผู้มีอดีต- อาจารย์ซาโนโตเมะ โค้ชคาซึยะ
เป้าหมาย - การก่อตั้งชมรมและการแสดงระบำใต้น้ำ
อุปสรรค - อคติของเพื่อนนักเรียนหญิงและอาจารย์



Rookies
พระเอก - อิชิฮาระ ฮายาโตะ
ครูผู้มุ่งมั่นและมีอดีต - อาจารย์คาวาโต้
เป้าหมาย - การกลับมารวมตัวของทีมเบสบอลและมุ่งหน้าสู่ "โคชิเอ็ง" การแข่งขันระดับประเทศ
อุปสรรค - อคติของอาจารย์ต่อเด็กนักเรียนที่ถูกมองว่าเป็นพวกอันธพาลรักความรุนแรง

ประเด็น - คือการต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคเพื่อบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือเรียกให้สั้นก็คือ "สู้เพื่อฝัน" แบบเดียวกันนั่นเอง



อาจจะเป็นสูตร แต่ตอนเปิดไปดูละครที่ออนแอร์อยู่และกำลังฮิตเพราะคนติดกันตรึมเลยอยากตามกระแสบ้าง เปิดไปเจอ "เธอเอาเค้าไปซ่อนไว้ที่ไหน" (ผู้ชาย) และผู้หญิงสองคนกำลังกระแนะกระแหนกันไปมา ตามด้วยประโยคที่ว่า "เค้ามีภรรยาแล้วนะคะ" และตามด้วยเสียงแหว "นี่แกว่าฉันเหรอ" (ว่ามาตั้งหลายประโยคแล้วหล่อนเพิ่งรู้ตัว)

ละครญี่ปุ่นแนวนี้สำหรับผู้เขียนจึงเหมือนผัดกระเพราหมูสับเผ็ดๆ ร้อนๆ ที่เข้าร้านอาหารตามสั่งเมื่อไหร่ต้องสั่งกิน รสชาดจำเจดังเดิม แต่ถ้าเป็นของโปรดก็กินได้แน่นอน




** นึกถึง 7 habits of highly effective people ของสำนัก FranklinCovey -
( 7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิผล)


Pro-active ซึ่งเกี่ยวข้องกับมุมมอง ปฏิกิริยาตอบสนอง และทางเลือก ง่ายๆ สั้นๆ คือ "เลือก ตัดสินใจ และรับผิดชอบ" เช่น เอย์จัง ไม่สนใจการตั้งชมรมในตอนแรก แต่เมื่อตัดสินใจแล้ว ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น เอย์จังพยายามอย่างที่สุดที่จะรับผิดชอบและไม่ท้อยถอยไปก่อนใคร

Begin with the end in mind ในละครเรื่องนี้มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ย้ำๆ ซ้ำๆ อยู่เสมอ ในยามที่เด็กๆ คุยกัน จะได้ยินคำถามว่า "ทำเพื่ออะไร" "จุดหมายคืออะไร" ไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไร จุดหมายที่ว่าก็แค่สิ่งที่ต้องการจะทำ เมื่อทำไม่ได้ เด็กๆ ก็จะถามอีกว่า "แล้วจะทำไปเพื่ออะไร" และหากยังไม่ล้มเลิกคิดหาทางใหม่ จะมีข้อเสนอขึ้นมา "เอางี้มั้ย ....."

"งั้นก็นี่แหละ คือจุดหมายของเรา นะ!"

นี่มันหลักของหนึ่งใน 7 habits ที่ว่าเลย Begin with the end in mind เริ่มต้นด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน การจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งต้องรู้ก่อนว่าจะทำไปเพื่ออะไร ระหว่างเข็มทิศกับนาฬิกา (เป้าหมายกับเวลา) เลือกอย่างไหนก่อน คำตอบคือเข็มทิศ ถ้ายังไม่รู้ว่าต้องการจะไปที่ไหน นาฬิกาก็ไม่มีความหมายอะไรเลย




Put fist things first หัวข้อนี้ค่อนข้างเห็นชัดในครอบครัวทั้งของชิโอริ และเอย์จัง 2 แบบที่แตกต่าง ตั้งแต่รูปแบบของครอบครัว ชีวิตสงบเรียบง่ายกับครอบครัวใกล้ชิดอยู่ด้วยกัน ชีวิตที่ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าแต่ทำให้ความสัมพันธ์พ่อลูกห่างเหิน

ระหว่างการหางานใหม่ ที่อาจยังมีโอกาสหาได้อีก กับการแสดงดนตรีของลูกสาวซึ่งอาจเป็นครั้งเดียวที่เธอมีความสุขและภาคภูมิใจ ลูกกับงานอย่างไหนคือสิ่งแรกที่สำคัญกว่ากัน ?

แม้แต่กับอาจารย์ซาโอโตเมะก็เหมือนกัน ลูกศิษย์กับความมั่นคงในอาชีพ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน? และเข้าข่าย Pro-active อีกนั่นแหละค่ะ เลือก ตัดสินใจ และรับผิดชอบ จากประสบการณ์ที่เคยพบเห็น ความก้าวหน้าอาจเป็นความมั่นคง แต่มันไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง ทันทีที่ตัดสินใจจะก้าว ให้แน่ใจว่าจะไม่มีอะไรต้องมานึกเสียใจภายหลัง บางทีคนเราอาจไม่จำเป็นต้องก้าวไปเร็วนักก็ได้ ถ้ามันเหยียบลงไปบนหลังคนอื่น และนั่นกลายเป็นตำนานจดจำไม่รู้ลืม ซึ่งหากอาจารย์ซาโอโตเมะ เลือกอีกแบบ นอกจากจะรู้สึกเสียใจแล้ว อาจจะกลายเป็นจุดดำกับความภาคภูมิใจในอาชีพไปก็ได้

และกระทั่งเด็กนักเรียนก็แสดงให้เห็นว่าถ้าจำเป็นต้องเลือก อะไรคือสิ่งที่สำคัญและต้องทำก่อน ตอนที่กันจังสละเวทีหาเสียงประธานนักเรียน ซึ่งเป็นทางออกที่เป็นความหวังเดียวของชมรมระบำใต้น้ำขณะนั้น เพื่อไปช่วยเหลือเพื่อนๆ ชมรมดนตรีที่กำลังลำบาก ก็เป็นอะไรที่ซึ้งดี แม้จะดูเด๊กเด็กก็เถอะ

จริงๆ แล้วมองให้ละเอียดลงไป มันก็เข้าข่ายอีก อย่างเช่น Think Win Win - Seek to understand to be understood เรื่องนี้ดูได้จาก โยสึเกะ และ แม่ Think win win เลือก win win เพื่อความสุขของทั้งสองฝ่าย

และสุดท้าย


Smiley Smiley ICHIHARA HAYATO Smiley Smiley Smiley





อิชิฮาระ ฮายาโตะ ชื่อนี้เป็นความผ่อนคลายในวันเครียดๆ

แค่เขียนชื่อก็รู้สึก hapy hapy แล้ว

เพราะในบรรดานักแสดงชายสัญชาติญี่ปุ่นตอนนี้ จะปลาบปลื้มใครเท่าหนุ่มคนนี้หามีไม่ แม้หน้าตาจะไม่เข้าข่าย "หล่อจัด" อีกทั้งบางขณะยังดูหน้าตาทื่อมะลื่อ บางทีก็หน้ายุ่งเหยิง แต่ด้วยบุคลิกโดนใจไม่ว่าจะในบทบาท

- เสียงดัง ฟังชัด โวยวาย โผงผาง ห้าวจัด

หรือ

- เงียบขรึม เศร้า ซึม และร้องไห้

หนุ่มคนนี้ได้ใจไปซะหมด

และที่สำคัญคือ ลักษณะเฉพาะตนในการแสดง อย่างที่เคยเขียนไปแล้วว่า แม้จะเป็นอารมณ์เดียวกัน แต่กริยาอาการของอารมณ์นั้นๆ ของนักแสดงแต่ละคนไม่เหมือนกัน

หนึ่งคนที่ชอบมาก เรื่องอากัปกริยาแสดงออก คือ คิมูระ ทาคุยะ

อิชิฮาระ ฮายาโตะ เป็นอีกหนึ่งคน และถ้าจะนึกถึงอีกสักคนคือ คาเมะชินะ

ฮายาโตะเป็นหนุ่มขนตายาว ( ทั้งที่หน้าไม่ได้มีริ้วรอยความหวานเลยสักนิด) ยิ้มแต่ละที ปากหยี ตาหยี ชนิดยิงฟัน 32 ซี่ หรือ ยิ้มอีกทีแบบแหยๆ ก็น่ารัก

หัวเราะก็เสียงดัง พูดก็เสียงดัง โหวกเหวกแต่ละทีเหมือนโกยเสียงออกมาหมดไส้พุง

หรือถ้าบทบาทจะไม่พูดเลย ก็เงียบ ซึมได้ใจ ยิ่งถ้าตอนร้องไห้ ... จะเป็นการร้องแบบไม่ห่วงหล่อ ดูเหมือนเด็กๆ ที่ร้องไห้แบบไม่อายใครจนใบหน้ายุ่งเหยิงไปหมด (แม้แต่เบื้องหลังการถ่ายทำ ฮายาโตะก็ยังร้องไห้เหมือนเด็กๆ ในวันปิดกล้องอำลา เป็นที่หัวเราะของเพื่อนๆ นักแสดง และเด็กนักเรียนที่ร่วมถ่ายทำในวันนั้นอมยิ้มกลั้นหัวเราะ) ลองนึกถึงหน้าหล่อๆ เก๊กๆ ของยามะพี กำลังร้องไห้ในแบบของฮายาโตะดูสิ .. คงตลกดีพิลึก

แต่ก็อย่างว่าละนะ ชอบซะแล้ว อะไรก็ดีไปหมด ว่าแล้ว คงจะต้องหา Saru Lock มาดูโดยด่วน




****
ชื่อภาษาญี่ปุ่น ウォーターボーイズ2
ชื่อภาษาอังกฤษ Water Boys 2
ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ Fuji , ประเทศญี่ปุ่น
ออกอากาศ 6 กรกฏาคม - 21 กันยายน 2004 จำนวน 12 ตอน
เพลงหลัก Niji ~Mou Hitotsu No Natsu~ ขับร้องโดย Fukuyama Masaharu
ผู้กำกับ Yuichi Sato, Nobuyuki Takahashi
โปรดิวเซอร์ Kouichi Funatsu, Yukiko Yanagawa
ผู้เขียนบท Hiroshi Hashimoto


ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก JKDrama ***
Create Date :12 มิถุนายน 2553 Last Update :22 กุมภาพันธ์ 2558 8:47:38 น. Counter : Pageviews. Comments :7