bloggang.com mainmenu search
ผมตั้งต้นที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฯฝั่งพระนคร สายๆของวันเสาร์ ฟ้าครึ้มๆ ผู้คนยังหลับไหล ถนนในย่านนั้นอยู่ใกล้ๆกับตรอกข้าวสาร ผมเห็นหญิงสาว 2 คน ชาวเกาหลีหรือจีนไม่แน่ใจเดินหันซ้ายหันขวามาทะลุใกล้ๆกับหอศิลป์เจ้าฟ้า แล้วเดินเลยไปอีกทาง คนขับสามล้อทอดกายบนรถเพื่อพักผ่อน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 2-3 คนคุยกันเบาๆอย่างไม่ทุกข์ร้อน

ผมผ่านประตูกระจกหอศิลป์ถนนเจ้าฟ้า ค่าบริการ 30 บาท เดินชมงานศิลปะที่ติดตั้งประจำเสร็จแล้ว เดินไปเรื่อยๆถึงห้องแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ เดินชมงานแบบเหงาๆแต่แช่มชื่น ได้ดูงานของคนหนุ่มไฟแรงที่หลากหลาย ยืนงงไม่รู้จะถามแรงบันดาลใจในการวาดภาพจากใคร คงอ่านสรุปจากป้ายๆเล็กๆที่ติดใกล้ภาพ ผมเป็นผู้ชมคนเดียวในเช้าวันนี้








ออกจากงานแสดงภาพเขียนที่หอศิลป์ถนนเจ้าฟ้า ไม่ไกลกันนัก ก็ถึงหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ หรือชั้นบนของธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า เยื้องๆกับวัดราชนัดดา เสียค่าเข้าชม 30 บาทเช่นกัน แต่บรรยากาศแตกต่างกันมาก ที่นี่ผู้คนค่อนข้างหนาตา นักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินชมภาพกันเงียบๆทำให้ที่นี่ไม่เหงา มาที่นี่ซื้อบัตรครั้งเดียวได้ชมถึง 3 งาน นั่นคืองานจิตรกรรมบัวหลวง งานของอ.สุปรีชา และงานของคุณอนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี







“เสียงของกาละ เวลา : กรอบชีวิต วิญญาณกระดาษ” โดยสุปรีชา นาครัตน์ ศิลปินไทยจากต่างแดน สร้างสรรค์ศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยการนำเสนอผลงานภาพเขียนและภาพพิมพ์บนกระดาษ

เขาเคยเดินทางท่องเที่ยวผจญภัยในหลายประเทศ อาทิ อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน เดนมาร์ค และฝรั่งเศส เขาได้พบโรงเรียนศิลปะแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ที่เป็นโรงเรียนศิลปะพิเศษ ด้านเผาไฟ (Arts du Feu) ซึ่งสุปรีชาใช้เวลาเรียนราว 1 ปี จบการศึกษาได้ไปเป็นครูสอนศิลปะด้านเผาไฟในโรงเรียนสอนศิลปะอื่นอีก 2 - 3 แห่งในเวลาต่อมา การแสดงครั้งนี้เป้นผลงานกว่า 40 ชิ้น










ชั้นบนสุดของหอศิลป์ฯ เป็นงานของคุณอนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี บัณฑิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาบัณฑิตจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอาจารย์และศิลปินที่มีผลงานสร้างสรรค์จิตรกรรม “แนวไทย” ด้วยอารมณ์ความรู้สึกประสานไปกับเรื่องราวแห่งความเชื่อ ความศรัทธาทางพระพุทธศาสนา ก่อให้เกิดความดีงามและความจริง หรือสัจธรรมแห่งพุทธปรัชญา ที่ผ่านกาลเวลาและการพิสูจน์อันเป็นที่ยอมรับมาแล้ว

ผลงานกว่า 50 ชิ้นในนิทรรศการ “กองผ้าห่อศพ” ส่วนใหญ่เป็นภาพนามธรรมที่สื่ออารมณ์ประสานไปกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ด้วยเทคนิครูปทรงที่มองดูเลือนลางและวัสดุพื้นบ้านที่หาได้ง่ายตามวัดวาอารามทั่วไป เช่น ผ้าจีวรเก่า ผ้าห่อศพเป็นพื้นสำหรับวาดภาพแทนผ้าใบ และใช้เทคนิคย้อมผ้าแบบบาติก ที่ต่างไปจากปกติ คือการทิ้งเทียนไขให้คงตัวอยู่บนพื้นผ้า แทนการล้างออกตามแบบแผนเดิม เป็นต้น ซึ่งเป็นเจตนาของศิลปินที่ไม่ประสงค์จะบอกเรื่องราว เพื่อให้เพียง “รู้เรื่อง” หากแต่เพื่อให้ดู “รู้สึก” และเข้าถึงความหมายที่แท้จริง คือการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสิ่งของไร้ค่า เพื่อเป็นพุทธบูชานั่นเอง

งานของคุณอนุโรจน์ ผู้ชมจะมีความรู้สึกเช่นใด คงต้องไปลองดู



Create Date :19 กันยายน 2553 Last Update :19 กันยายน 2553 10:46:16 น. Counter : Pageviews. Comments :45