bloggang.com mainmenu search
"รอยอดีต" เป็นชื่อหนังสือเกี่ยวกับการศิลปะ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และเรื่องแปลกๆ แต่งโดย น. ณ ปากน้ำ เมื่อผมอ่านถึงศิลปะในวัดที่สร้างขึ้นมาในสมัยอยุธยา แต่วัดเหล่านั้นอยู่ใน กทม.ทำให้ผมหูผึ่งทันทีเลยครับ

ผมขออ้างอิงถึงข้อความที่ชอบเป็นพิเศษ ที่ดลจิตดลใจให้ไปตามหาวัดที่ท่าน น. ณ ปากน้ำกล่าวถึง ข้อความนั้นมีว่า (ข้อความสีน้ำเงิน)

มีข้อน่าคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า ส่วนมากนักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีของเรา มักจะดูถูกวัดใหม่ๆ ว่าไม่มีสาระ แล้วก็เลยไม่เหลียวแลเอาเลย บางที่เมื่อเห็นรูปภายนอก ก็ไม่ชวนให้ดูข้างในเสียแล้ว กรณีเช่นนี้นับว่าเป็นการเชื่ออย่างผิดๆ

เพราะบ่อยครั้งทีเดียวที่ข้าพเจ้าเข้าไปยังพระอุโบสถรุ่นใหม่ๆ หลายแห่ง อันถูกปฏิสังขรณ์เปลี่ยนโฉมหน้าจากของเก่าโดยสิ้นเชิง แต่ภายในนั้นกลับมีของดีอันมีค่าซุกซ่อนไว้อย่างคาดไม่ถึง เช่น พระอุโบสถวัดเก่าๆทางฝั่งธนบุรี มีพระอุโบสถเดิมวัดปากน้ำ พระอุโบสถวัดนวลนรดิศ เป็นต้น

มองดูทรงภายนอกเห็นว่าเป็นพระอุโบสถรุ่นใหม่ ไม่ชวนเลื่อมใส แต่พอเข้าไปดูภายในต้องตกใจ เพราะพระประธานในนั้นสลักด้วยหินทรายขนาดใหญ่ ทั้งยังมีพระสลักด้วยศิลาแบบศิลปะอยุธยา เต็มทั้งฐานชุกชีนั้น จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าพระอุโบสถที่กล่าวถึงนี้จะเป็นฝีมือสมัยอยุธยา

หากแต่มาปฏิสังขรณ์รูปภายนอกจนเปลี่ยนโฉมหน้าไปเสียหมด ขอให้ดูพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม ที่เจริญพาศน์ฝั่งธนบุรีเป็นตัวอย่าง เมื่อดูภายนอกก็ปักใจเชื่อว่าพระอุโบสถแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งยุครัตนโกสินทร์อย่างมิต้องสงสัย

พอก้าวเข้าไปในพระอุโบสถก็ถึงแก่ตลึงงัน เพราะภายในนั้น เป็นบรรยากาศอยุธยาชัดๆ นับแต่เสาแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีบัวหัวสาเป็นรูปพุ่มดอกบัวและพระประทานฝีมือช่างสมัยอยุธยาใหญ่จนคับโบสถ์

วันที่ข้าพเจ้าเข้าไปนั้น บังเอิญเป็นเวลาเย็น พระกำลังทำวัตรอยู่ ฟังพระท่านสวดมนต์วังเวงก้องกระหึ่มไปทั้งโบสถ์ เสียงสวดมนต์ลอยแคว้งคว้างไปวนยังเพดานอันสูงลิบ แล้วก็สะท้อนลงมาฟังแล้วขนลุกซ่าน นึกถึงพระอุโบสถใหญ่ๆในอยุธยา อย่างเช่น วัดหน้าพระเมรุ วัดธรรมิกราช ขึ้นมาทันที พระอุโบสถสองแห่งนี้ คงจะมีระบบเสียงดีเยี่ยมดังที่เรากำลังสัมผัสอยู่ขณะนั้น ใครที่ไม่เคยเห็นบรรยากาศภายในโบสถ์อยุธยา ขอให้ไปที่วัดหงส์ ท่านจะไม่ผิดหวังแน่ๆ

วันเสาร์ที่ผ่านมา ผมจึงไม่รอช้า ไปดูศิลปะของช่างสมัยอยุธยา ที่วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร อยู่ที่ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

โชคดีที่เมื่อไปถึง พระท่านทำวัตรเช้าอยู่พอดี ได้ฟังเสียงสวดมนต์ เหมือนบรรยากาศที่ ท่าน น. ณ ปากน้ำว่าไว้ เมื่อเสร็จทำวัตรเช้า ก่อนที่จะปิดพระอุโบสถ ผมได้เข้าไปถ่ายรูปพระประธาน และจิตรกรรมฝาผนังได้บางส่วน
(พระอุโบสถจะเปิดระหว่างทำวัตร เช้า-เย็น)



"วัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร" วัดนี้เป็นวัดเก่าสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สมัยนั้นจึงเป็นวัดราษฎร์อยู่ในท้องที่ชนบท เดิมชื่อว่า "วัดเจ๊สัวหง" หรือ "วัดเจ้าสัวหง" สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นโดยพ่อค้าจีนระดับเจ้าสัวชื่อ "หง"



ในสมัยกรุงธนบุรี เรียกว่า "วัดหงส์อาวาสวิหาร" ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดหงส์อาวาสบวรวิหาร" ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 เปลี่ยนนามเป็น "วัดหงสาราม" จนกระทั่งรัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานนามว่า "วัดหงส์รัตนาราม"



ในสมัยกรุงธนบุรี วัดหงส์รัตนารามฯ ถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาทางศาสนา เนื่องจากอยู่ติดกับเขตพระราชฐานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อมามีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ 3


ต้นสาละลังกา

พระอุโบสถ มีพาไลรอบแบบรัชกาลที่ 3 เป็นพระอุโบสถใหญ่ ลายสลักไม้ที่บานประตูด้านหน้าและด้านหลังเป็นรูปหงส์เกาะกิ่งไม้ ลายปูนปั้นซุ้มประตูและหน้าต่างได้รับการยกย่องว่ามีความงามเป็นเลิศ แบบจีนผสมตะวันตก

Create Date :22 กุมภาพันธ์ 2552 Last Update :23 กุมภาพันธ์ 2552 21:49:43 น. Counter : Pageviews. Comments :68