bloggang.com mainmenu search



นำมาฝากกัน ....



เรียนอาจารย์และบุคคลากรสาธารณสุขทุกท่าน

สืบเนื่องจากงานสัมมนากฎหมายทางการแพทย์เรื่องสมองตาย : การตายตามกฎหมายที่แพทย์วินิจฉัยและนักกฎหมายพึงทราบ มีเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 ประการคือ

(1) เพื่อให้การวินิจฉัยการตายโดยแพทย์เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักสากล

(2) เพื่อให้ไม่เกิดข้อโต้แย้งทางกฎหมายในการวินิจฉัยการตายโดยเกณฑ์สมองตาย

(3) เพื่อให้ผู้ป่วยสมองตายได้รับการดูแลที่ถูกต้อง และหากเป็นผู้อยู่ในเกณฑ์ที่จะบริจาคอวัยวะได้ ควรได้รับโอกาสที่จะบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลื่อผู้อื่นที่ต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ

ผมนายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ผู้ทำหน้าที่เตรียมข้อมูลการสัมมนาทั้งหมด ขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจต่อสาธารณชน โดยเฉพาะเมื่อเห็นสื่อมวลชนสรุป

ประเด็นหลักเป็นทางด้านกฎหมายที่แพทยสภาจะดำเนินการขั้นต่อไปอยู่แล้วที่จะให้มีความชัดเจนมากขึ้น แต่ไม่ใช่เป้าหมายของการสัมมนาครั้งนี้ที่จะป้องกันแพทย์ถูกฟ้อง (ที่บางฉบับเขียนเป็นหัวเรื่องนำ )

ความจริงเป็นความเป็นห่วงของท่านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและผู้พิพากษา จึงเสนอให้ทำเป็นกฎหมายให้ชัดเจนมากกว่านี้

การสัมมนาครั้งนี้มีที่มาจากที่ผมได้ทำงานร่วมกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ โดยทำหน้าที่ในด้านวิชาการเกี่ยวกับการวินิจฉัยสมองตายที่ของเดิม เริ่มใช้เมื่อปี 2532 ปรับปรุงเล็กน้อยเมื่อปี 2539 ทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะได้กรุณาให้ตำรามาศึกษาจำนวนมาก

จึงเห็นว่าเกณฑ์เดิมที่ขณะนี้ใช้อยู่นั้น มีบางข้อที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ บางข้อกำกวม บางข้อที่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีเป็นหลักฐานแต่กำหนดไม่ชัดเจน จึงทำให้ชัดเจนมากขึ้นได้แก่

การทดสอบการไม่หายใจ( apnea test) ที่ต้องมี

การตรวจความดันของก๊าซในหลอดเลือดแดง (arterial blood gas) หลังหยุดเครื่องช่วยหายใจ ไม่น้อยกว่า 10 นาที ให้ได้ค่าคาร์บอนไดออกไซด์ไม่น้อยกว่า 60 มม.ปรอท

และ ผู้ป่วยไม่มีการเคลื่อนไหวของทรวงอกและหน้าท้อง

ถือว่า การทำทดสอบการไม่หายใจ( apnea test)เป็นผลบวก เป็นการยืนยันสมองตายโดยไม่ต้อง ยืนยันด้วยการทดสอบอื่นๆอีก

ยกเว้นทำไม่ได้ จึงทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีใดก็ได้ที่บ่งบอกว่าไม่มีเลือดไหลเวียนสู่สมอง

โดยในระยะเวลามากกว่า 2 ปี ในทางปฏิบัติได้ทำตามเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายและเสนอกฎหมายรับรองการตาย ได้พิจารณาเรียบร้อยกว่า 1 ปีแล้ว แต่ได้ให้นักกฎหมายที่ปรึกษาตรวจสอบอีกครั้ง

โดยสรุปของคณะอนุกรรมการนั้นเห็นว่าในระยะอันใกล้ที่แพทยสภาจะทำให้มีความชัดเจนทางกฎหมายในระดับหนึ่งคือการกำหนดคำจำกัดความของการตายไว้ในข้อบังคับแพทยสภา ซึ่งภาษากฎหมายว่าเป็นอนุบัญญัติ แต่จะให้ชัดเจนต้องให้กำหนดในพระราชบัญญัติ ซึ่งจะเป็นขั้นต่อไปที่ไม่ใช่เรื่องง่าย

อย่างไรก็ตามนักกฎหมายเห็นว่าหากแพทย์ทำตามมาตรฐานวิชาชีพแล้วย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 80 (2) ที่บัญญัติว่าผู้ประกอบวิชีพสาธารณสุขเมื่อปฏิบัติตามมาตรฐานของวิชาชีพแล้วย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ในระหว่างนี้แพทย์จึงสามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าวได้ แพทยสภาจึงดำเนินการเพื่อเป้าหมายเผยแพร่ให้แพทย์ นักกฎหมาย สาธารณชนทราบ

ผลปรากฏว่าในการสัมมนากลับมีความเห็นของผู้พิพากษา และรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ติงในแง่กฎหมายว่าต้องกำหนดเป็นกฎหมายชัดเจน แพทย์จึงจะปลอดภัยหากมีการฟ้องร้อง ทั้งๆที่ได้ประสานให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ว่ามีความชัดเจนทางกฎหมายในระดับหนึ่ง

การสัมมนาวันนั้นต้องการมาให้ความมั่นใจกับแพทย์ให้ช่วยกันวินิจฉัยสมองตาย เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้ทำบุญอันยิ่งใหญ่ในวาระสุดท้ายของชีวิตที่จะได้ช่วยชีวิตผู้สิ้นหวังที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะจำนวนมาก การทำงานของแพทยสภาดังกล่าวหวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน

เมื่อวิทยากรที่เป็นนักกฎหมายผู้พิจารณาความผิดถูกมีความเห็นที่เป็นห่วงแพทย์ที่ทำหน้าที่ตามจริยธรรมว่าจะผิดกฎหมาย จึงไม่แปลกที่สื่อมวลชนจะพาดหัวข่าวทำนองแพทยสภาจัดสัมมนาเพื่อป้องกันแพทย์ถูกฟ้อง

จึงขอเรียนให้สาธารณชนทราบว่าเป้าหมายหลักเป็นดังที่มีอยู่ข้างต้น และเนื้อหาที่เตรียมแถลงต่อสื่อมวลชนและตรงตามเป้าหมายที่จัดสัมมนาเป็นดังนี้ครับ



“สมองตาย : หนึ่งชีวิตที่สิ้นสูญช่วยหลายชีวิตที่สิ้นหวังได้

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมาแพทยสภาได้จัดสัมมนากฎหมายทางการแพทย์ เรื่องสมองตาย : เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องการวินิจฉัยการตายโดยเกณฑ์สมองตายแก่แพทย์และนักกฎหมาย ในโอกาสที่แพทยสภาได้กำหนดคำจำกัดความของการตายไว้ในข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม

โดยมีการรวมถึงสภาวะสมองตายคือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป การกำหนดดังกล่าวทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นทางกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่าแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยการตาย

ที่ผ่านมายังไม่มีกำหนดคำจำกัดความดังกล่าว มีเพียงประกาศแพทยสภาเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งเป็นเพียงหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ ยังคงมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายได้

เมื่อได้กำหนดไว้ในข้อบังคับแพทยสภาดังกล่าวจึงสร้างความชัดเจนขึ้นทางกฎหมายว่า ผู้ได้รับการวินิจฉัยสมองตาย คือผู้ตาย

เหตุที่ต้องมีกำหนดเช่นนี้เนื่องจากโดยทั่วไปจะเข้าใจว่าการตายนั้นถือว่าต้องไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์พบว่าผู้ป่วยที่สมองตายคือภาวะที่ไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจ ซึ่งมีเหตุจากสมองถูกทำลายโดยไม่สามารถแก้ไขได้นั้นแม้จะสามารถช่วยการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจได้ ทำให้ร่างกายยังคงได้รับออกซิเจนและหัวใจยังทำงานได้โดยยากระตุ้นการทำงานของหัวใจ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถหยุดยั้งการหยุดทำงานของหัวใจได้ เนื่องจากสมองคือศูนย์รวมของการควบคุมการทำงานของทุกอวัยวะในร่างกาย เมื่อสมองตายอวัยวะต่างๆ จะเสื่อมการทำงานลงในเวลาไม่นาน หากยังคงให้การรักษาต่อไปมีแต่ความสิ้นเปลืองโดยไร้ประโยชน์

อีกด้านหนึ่งขณะที่เมื่อวินิจฉัยสมองตายในระยะเริ่มแรกอวัยวะต่างๆ ยังคงทำงานได้ดีอยู่ เป็นโอกาสที่ผู้เสียชีวิตจากสมองตายนั้นจะได้บริจาคอวัยวะโดยครอบครัวเป็นผู้แสดงความจำนง ภายหลังแพทย์ได้ให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยสมองตายและเสียชีวิตแล้ว การตายโดยเกณฑ์สมองตายนี้ ทั่วโลกย่อมรับและหลายประเทศกำหนดเป็นกฎหมายอย่างชัดเจนแล้ว

การบริจาคอวัยวะในประเทศไทยนั้น ดำเนินการโดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงานให้มีการบริจาคอวัยวะ นำอวัยวะของผู้บริจาคไปปลูกถ่ายยังผู้รอรับบริจาคที่ได้ขึ้นทะเบียนตามลำดับ โดยดูถึงความเร่งด่วนการเข้ากันได้ของอวัยวะและห้ามมีการซื้อขายเป็นสำคัญ

ปัจจุบันยังมีผู้เสียชีวิตจากสมองตาย บริจาคอวัยวะจำนวนน้อยมากเพียงปีละประมาณ 80 ราย โดยสถิติตามจำนวนประชากรแล้ว ประเทศไทย ควรมีผู้เสียชีวิตจากสมองตายและบริจาคอวัยวะได้จำนวนประมาณ 1,000 รายต่อปี นั่นคือมีผู้ป่วยสมองตาย จำนวนมากไม่ได้รับการวินิจฉัยและเปิดโอกาสให้บริจาคอวัยวะ

เป็นที่น่ายินดีว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ได้กำหนดให้การปลูกถ่ายไตเป็นสิทธิที่ผู้ป่วยพึงได้รับ และกระทรวงสาธารณสุขโดยท่านปลัดกระทรวง นายแพทย์ไพจิตร วราชิต มีนโยบายที่จะให้โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปที่ดูแลผู้ป่วยสมองตาย ให้มีการวินิจฉัยสมองตายและเปิดโอกาสให้บริจาคอวัยวะทุกราย

ทั้งนี้ผู้บริจาค 1 ราย สามารถนำอวัยวะไปปลูกถ่ายได้แก่ ไต 2 ข้าง ตับ หัวใจ และปอด ให้แก่ผู้รอการปลูกถ่ายอวัยวะได้ถึง 3-5 ราย

นับเป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ในวาระสุดท้ายของชีวิตที่สิ้นสูญ ท่านที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถแสดงกุศลจิตในการเป็นผู้บริจาคอวัยวะเมื่อเสียชีวิต ได้ที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โทร 1666”

อย่างไรก็ตามคำแนะนำของท่านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและท่านผู้พิพากษา รวมทั้งท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมสัมมนาด้วย ได้เห็นความสำคัญที่จะให้มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการตายให้ชัดเจน ซึ่งจะเป็นโอกาสที่จะทำให้มีกฎหมายดังกล่าวได้เร็วขึ้นครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์

ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา





แถม...

ภาวะสมองตาย : ระยะสุดท้ายของชีวิตที่จะต่อชีวิตผู้อื่นได้

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-07-2008&group=4&gblog=53


(เก็บมาฝาก) สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาค ร่างกาย อวัยวะ ดวงตา และ โลหิต

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-01-2009&group=7&gblog=10



Create Date :16 พฤศจิกายน 2552 Last Update :16 พฤศจิกายน 2552 16:14:24 น. Counter : Pageviews. Comments :4