bloggang.com mainmenu search
ออกจากพิพิธภัณฑ์วาติกันในตอนที่แล้ว เดินต่ออีกนิดเดียวก็ถึงสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ ศักดิ์สิทธิ์ สวยงาม และสำคัญที่สุดของนครรัฐวาติกัน นั่นก็คือมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ที่ผมจะเล่าให้ฟังในตอนนี้ ตามผมมาเลยครับ



มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ (หมายเลข 4) และจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ (หมายเลข 5)

มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ (Saint Peter's Basilica) หรือมหาวิหารนักบุญเปโตร(Basilica Sancti Petri) เป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในนครรัฐวาติกัน โดมของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์สูงโดดเด่นสามารถมองเห็นได้แต่ไกลในตัวเมืองโรม มหาวิหารแห่งนี้ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 2.3 เฮกตาร์ สามารถจุคนได้กว่า 60,000 คน เชื่อกันว่าที่ตั้งมหาวิหารเป็นที่ฝังร่างของนักบุญเปโตร ซึ่งเป็นหนึ่งใน 12 อัครทูตของพระเยซู นักบุญเปโตรเดิมเป็นบิชอปองค์แรกของแอนติออก(Anthioch) ต่อมาได้สถาปนาขึ้นเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกของโรม เพราะนิกายโรมันคาทอลิกเชื่อกันว่าร่างของนักบุญเปโตรถูกฝังไว้ที่นี่ จึงเป็นประเพณีต่อมาว่าร่างของพระสันตะปาปาหลายองค์ก็ฝังไว้ที่มหาวิหารแห่งนี้

แต่เดิมนั้นมหาวิหารนักบุญเปโตรมิได้เป็นสถานที่พำนักประจำตำแหน่งของพระสันตะปาปาเช่นปัจจุบันนี้ ถึงกระนั้นก็ยังถือกันว่าเป็นโบสถ์สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะโบสถ์ตั้งอยู่ในตัวนครรัฐวาติกันเอง และมีเนื้อที่มาก การทำพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพระสันตะปาปาก็จะมาทำกันที่นี่ นอกจากนั้นก็ยังมีที่นั่งหรือบัลลังก์บิชอปปีเตอร์ (Cathedra Petri) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบัลลังก์ของนักบุญปีเตอร์เองเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นพระสันตะปาปาที่นี่ ปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้เป็นบัลลังก์บิชอปอีกแล้ว แต่ยังเก็บไว้ไต้ฐานแท่นบูชาที่ออกแบบโดย จิแอน โลเรนโซ เบอร์นีนี (Gian Lorenzo Bernini)



ทิวทัศน์กรุงโรมเมื่อมองจากด้านหน้าชั้นบนของมหาวิหารฯ (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)


มหาวิหารนักบุญเปโตรเดิมเป็นโบสถ์ในศตวรรษที่ 4 ซึ่งมีรูปทรงแบบบาซิลิกา (Basilica) พอมาถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ก็อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมากเพราะพระสันตะปาปาย้ายที่พำนักไปอยู่ที่เมืองอาวีญง (Avignon) ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างปี ค.ศ. 1309 ถึงปี ค.ศ. 1377 ตัวมหาวิหารปัจจุบันเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1506 บนโบสถ์แบบคอนแสตนทีน และเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1626 โดยสมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ตัดสินใจสร้างมหาที่ใหญ่กว่าเดิมครอบลงบนโบสถ์เดิม เพื่อให้มีความสะดวกสบายในการประกอบศาสนกิจ ว่ากันว่าพระองค์สั่งซื้อหินมากถึง 2,522 เล่มเกวียนจากโคลอสเซียมซึ่งในขณะนั้นอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม มาเป็นวัสดุสำคัญในการก่อสร้าง

ปัจจุบันมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของคริสตชน นิกายโรมันคาทอลิก เป็นสถาปัตยกรรมล้ำค่าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีผลงานของศิลปินดัง ๆ อย่าง รูปปั้นแกะสลัก"ปิเอต้า" ของศิลปินเอก ไมเคิลแองเจโล, ศาลาที่ออกแบบโดย เบอร์นินี, ยอดโดมขนาดใหญ่ที่เคยเป็นสนามกีฬาของเซอร์โก วาติกัน เป็นต้น ภายในมหาวิหารมีแท่นบูชา, อนุสาวรีย์, รูปปั้นแกะสลักของนักบุญและนางฟ้าต่าง ๆ, ภาพโมเสก ที่สวยงามและทรงคุณค่ามากมาย เป็นหนึ่งในรายการท่องเที่ยวสำคัญและพลาดไม่ได้เมื่อไปถึงกรุงโรม

(ข้อมูลเหล่านี้เรียบเรียงมาจาก //th.wikipedia.org)


ไปชมความสวยงามในปัจจุบันกันครับ มาถึงประตูทางเข้ามหาวิหารฯ แล้ว




ภาพแกะสลักบนโลหะที่บานประตูทางเข้า เป็นภาพพระคริสต์กำลังถูกนำลงจากไม้กางเขน เป็นศิลปะที่สวยงาม




เพดานบริเวณประตูทางเข้า




เข้าไปภายในมหาวิหารฯแล้ว




ถึงแล้วครับ ผลงานของศิลปินชื่อก้อง ไมเคิลแองเจโล ชื่อ "ปีเอต้า (Pieta)" เป็นประติมากรรมหินอ่อนขนาดสูง 5 ฟุต 9 นิ้ว เป็นรูปของพระแม่มารีประคองร่างของพระเยซูหลังจากสิ้นพระชนม์บนกางเขนไว้บนตัก เป็นรูปแกะสลักซึ่งสื่อถึงอารมณ์ความรักของแม่ได้อย่างลึกซึ้ง รูปแกะสลักชิ้นนี้ใช้เวลาสร้างถึง 7 ปี ในขณะที่ไมเคิลแองเจโลมีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น แต่ผู้ที่ได้ชมต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือเป็นรูปสลักหินอ่อนที่มีความงดงามและสมจริงอย่างน่ามหัศจรรย์ ปัจจุบันนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในตู้กระจกกันกระสุน เพื่อป้องกันการชำรุดและโจรกรรม




โครงสร้างของมหาวิหารฯเป็นหินอ่อน มีผลงานประติมากรรมที่ประณีตบรรจงจำนวนมาก




ภาพวาดสวยงามนี้เป็นงานศิลปะที่จัดทำในลักษณะโมเสก (โมเสก-Mosaic เป็นศิลปะการสร้างภาพด้วยกระจกหรือหินสีชิ้นเล็ก ๆ นำมาประกอบกันเป็นภาพ) ในกรอบหินอ่อน งานศิลปะแบบนี้มีอยู่หลายชิ้นในมหาวิหารฯ




บริเวณแท่นบูชาของนักบุญซีบาสเตียน (Chapel of St. Sebastian) เขียนสีโดยศิลปินชื่อ Domenichino และทำโมเสกโดย Cristofari




บริเวณโดยรอบประดับรูปปั้นไว้ในผนัง




นักท่องเที่ยวเข้ามาชมค่อนข้างหนาแน่น




ความงดงามของเพดานหลังคา




คณะของเรากำลังเดินตรงเข้าไปตามทางด้านหน้า




เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสสัมผัสเท้าของรูปหล่อทองเหลืองของนักบุญเซนต์ปีเตอร์




พร้อมทั้งขอพรและอธิษฐานสิ่งที่ปรารถนา




รูปวาดนักบุญเซนต์ปีเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ด้านบน




ศาลาบัลดัคคีโน (Baldacchino) ศาลาที่อยู่กลางมหาวิหารนี้ เป็นฝีมือของเบอร์นินี่ (Gian Lorenzo Bernini) มีความสูง 29 เมตร เป็นเเท่นบูชาสำหรับพระสันตะปาปาทำพิธี เชื่อกันว่าด้านใต้ของศาลาเป็นที่ฝังศพนักบุญปีเตอร์




เพดานหลังคาเป็นรูปนกพิราบกำลังบิน




แท่นบูชานี้ชื่อ Cathedra Petri ออกแบบโดยเบอร์นีนี




ความสวยงามเมื่อมองผ่านแท่นบูชาขนาดใหญ่เข้าไป




เพดานหลังคาอีกมุมหนึ่ง




อนุสาวรีย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 7 โดยเบอร์นีนี




แม้พื้นทางเดินก็สวยงาม




เพดานบริเวณยอดโดมของมหาวิหารฯ เป็นจุดที่ทุกคนยืนดูอย่างชื่นชมเป็นเวลานานกว่าจุดอื่น ๆ




ตกแต่งด้วยงานฝีมือประณีต




เมื่อสังเกตให้ดี จะพบนักท่องเที่ยวกำลังเดินอยู่ที่ระเบียงชั้นบนด้วย




แท่นบูชาอีกมุมหนึ่ง บาทหลวงกำลังประกอบศาสนกิจ




ภาพโมเสกสวยงามบนเพดานหลังคา




อีกภาพหนึ่ง




มุมนี้สวยงามมาก จะเห็นนักท่องเที่ยวกำลังถ่ายภาพกันเป็นส่วนใหญ่




แผ่นทองเหลืองปิดช่องระบายอากาศที่พื้นทางเดิน แกะสลักด้วยลวดลายงดงาม




อนุสาวรีย์ของพระสันตะปาปาลีโอที่ 12 โดย Giuseppe de Fabris




รูปแกะสลัก St. Philip Neri โดย Giiovanni Battista Maini




รูปแกะสลัก St. Ignatius of Loyola โดย Camillo & Giuseppe Rusconi




อดีตพระสันตะปาปาอีกองค์หนึ่ง




รูปปั้นแกะสลัก St Longinus




รูปปั้นแกะสลัก St Helena




เพดานหลังคาอีกมุมหนึ่ง




มีแท่นบูชาในการประกอบศาสนกิจอยู่หลายจุด แต่ละจุดล้วนตกแต่งอย่างสวยงาม




ภาพประติมากรรมที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง อยู่บนเพดานใกล้กับทางออก




เป็นรูปนางฟ้าเหยียบอยู่บนลูกโลก




หันกลับไปมองความยิ่งใหญ่อลังการอีกครั้ง เป็นโชคดีจริง ๆ ที่ครั้งหนึ่งในชีวิต ได้มีโอกาสเข้ามาชมมหาวิหารอันศักดิ์สิทธิ์และสวยงามแห่งนี้




ทหารรักษาการณ์ประจำมหาวิหารฯ (Swiss Guard) ในชุดแต่งกายที่สวยงาม ยืนอยู่บริเวณประตูทางเข้า-ออก คุณสมบัติของทหารรักษาการณ์จะต้องเป็นคาทอลิก มีสัญชาติสวิส และเป็นโสด อายุระหว่าง 19-30 ปี และสูงอย่างน้อย 174 เซนติเมตร จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะเวลาของการปฏิบัติหน้าที่ก็คือ 2 ถึง 25 ปี




ด้านหน้ามหาวิหารฯ มีเก้าอี้ตั้งอยู่เป็นจำนวนมากสำหรับผู้เข้าร่วมพิธีสำคัญ ๆ ของสำนักวาติกัน




ถัดออกไปเป็นจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์ ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้ครับ



(ภาพจากอินเทอร์เน็ต)


เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 7 ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา ในปี ค.ศ.1655 พระองค์ได้ว่าจ้างสถาปนิกนักออกแบบชื่อ เบอร์นินี (Gian Lorenzo Bernini) ให้สร้างจัตุรัสแห่งใหม่อยู่ด้านหน้ามหาวิหารเซ็นต์ปีเตอร์ ตามแบบของอเล็กซานเดอร์มหาราช เบอร์นินีได้ออกแบบลานรูปไข่ที่มีความยาว 240 เมตร กว้าง 196 เมตร เริ่มสร้างเมื่อปี ค.ศ.1656 และเสร็จสมบูรณ์ในอีก 12 ปีหลังจากนั้น ลานแห่งนี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าปิแอสซ่า ซานพิเอโตร (Piazza San Pietro)

จัตุรัสเซนต์ปีเตอร์แห่งนี้โอบล้อมด้วยระเบียงเสาครึ่งวงกลม ซึ่งเบอร์นินีตั้งใจออกแบบเปรียบเทียบเสมือนแขนของศาสนาจักรที่ยื่นออกไปโอบล้อมโลก ระเบียงเสาแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1660 ประกอบไปด้วยแนวเสา 4 แถว มีเสา Doric 284 ต้น และเสาชิดผนังอีก 88 ต้น เสาแต่ละต้นมีความสูง 20 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.6 เมตร บนหัวเสามีประติมากรรม 140 ชิ้น เป็นรูปของพระสันตะปาปาแต่ละพระองค์ รวมถึงผู้ปฏิบัติศาสนพิธีคนอื่นๆ ตรงกลางลานมีเสาโอบิลิสก์จากอียิปต์ (Egyptian obelisk) อายุเก่าแก่กว่า 4000 ปี ตั้งอยู่ ในช่วงเวลาสำคัญ เช่น เมื่อมีการแต่งตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่หรือเทศกาลอีสเตอร์ จะมีผู้มาร่วมชุมนุมที่จัตุรัสนี้มากถึง 400,000 คน


กำแพงรูปครึ่งวงกลมอยู่สองด้าน ทั้งด้านซ้ายและขวา




ด้านบนมีรูปปั้นแกะสลักพระสันตะปาปาและพระคาดินัลในอิริยาบถต่าง ๆ




ติดตั้งอยู่ทั้งด้านบนหลังคามหาวิหารฯ และบนกำแพงครึ่งวงกลม




เสาโอบิลิสก์จากอียิปต์ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของจัตุรัส ท่ามกลางนักท่องเที่ยวจำนวนมาก




ปิดท้ายด้วยมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์เมื่อมองจากด้านนอกของจัตุรัสจะเห็นเสาโอบิลิสก์อยู่ด้านหน้า



(ข้อมูลบรรยายภาพส่วนหนึ่งได้มาจาก //en.wikipedia.org/wiki/St._Peter's_Basilica)

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชมครับ.
Create Date :22 เมษายน 2556 Last Update :22 เมษายน 2556 9:59:05 น. Counter : 18123 Pageviews. Comments :21