bloggang.com mainmenu search
เช้าวันที่ห้าในตุรกี วันนี้ผมอยู่ที่เมืองอิสตันบูลแล้ว มีกำหนดอยู่ที่เมืองนี้ 2 วัน อิสตันบูลเป็นอดีตเมืองหลวงของตุรกี (ปัจจุบันคือเมืองอังการา) เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจึงมีสิ่งที่น่าสนใจและสวยงามมากมาย ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพดี ไม่เป็นซากปรักหักพังอย่างที่พบเห็นในเมืองที่ผ่าน ๆ มา และเช้าวันนี้เราจะไปชมพระราชวังทอปกาปิ เชิญติดตามไปด้วยกันครับ




พระราชวังทอปกาปิ (Topkapi Palace) เป็นที่ประทับของสุลต่านมานานกว่า 3 ศตวรรษ สร้างโดยสุลต่านเมห์เม็ตที่ 2 แห่งอาณาจักรออตโตมัน เมื่อปี ค.ศ. 1478 พระองค์ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังทอปกาปิขึ้นบนพื้นที่ที่สามารถเห็นช่องแคบบอสฟอรัส โกลเด้นฮอร์น และทะเลมาร์มาราได้อย่างชัดเจน ในสมัยสุลต่านสุไลมาน ได้มีการต่อเติมพระราชวังแห่งนี้โดย “ซีนาน” (Sinan) สถาปนิกนามอุโฆษแห่งตุรกี อันเป็นที่มาของงานสถาปัตยกรรมแบบ “ออตโตมันคลาสสิก” จำนวนมาก




พระราชวังทอปกาปิ เคยเป็นที่ประทับของสุลต่านแห่งราชวงศ์ออตโตมันหลายพระองค์ เมื่อจักรพรรดิมาห์มุที่ 2 (ค.ศ.1808-1839) สิ้นพระชนม์ลง นับเป็นสุลต่านองค์สุดท้ายที่ทรงประทับอยู่ที่นี่ เพราะหลังจากนั้นสุลต่านองค์อื่น ๆ ก็นิยมที่จะประทับอยู่ที่พระราชวังสไตล์ ยุโรปที่โดลมาบาชเช่ ด้วยกันทั้งสิ้น (มีโปรแกรมจะไปชมกันในวันสุดท้าย) ปัจจุบันพระราชวังทอปกาปิ กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ พระราชวังชั้นนอก, พระราชวังชั้นใน และฮาเร็ม




พิพิธภัณฑ์จัดแบ่งออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน อาทิ ส่วนโรงครัว มีเครื่องครัวโบราณมากมาย ทั้งที่เป็นเครื่องปั้นดินเผา เครื่องกระเบื้อง เครื่องโลหะ ฯลฯ รวมไปถึงภาพวาดเกี่ยวกับการทำอาหารสมัยโบราณ เดินผ่านประตูเข้าไปจะพบกับส่วนนี้อยู่ทางซ้ายมือ




เมื่อเดินตรงเข้าไปจะผ่านส่วนที่เป็นฮาเร็ม การเข้าชมฮาเร็มจะต้องซื้อตั๋วอีกครั้ง คนละ 15 ลีร่า และเราจะเข้าไปชมส่วนนี้กัน




ฮาเร็ม มาจากคำภาษาอารบิกว่า ฮาริม (Harem) มีความหมายว่า “ถูกห้ามโดยศาสนา” ซึ่งเป็นคำที่บรรยายถึงสถานที่ซึ่งสุลต่านและครอบครัวของพระองค์ประทับอยู่ ฮาเร็มเป็นเขตต้องห้ามที่ซึ่งพระมารดา เหล่าชายา นางระบำ และโอรสธิดาของสุลต่าน ใช้ชีวิตอยู่โดยตัดขาดจาดโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง ภายในฮาเร็มมีห้องทั้งหมดกว่า 300 ห้อง








ฮาเร็มแห่งทอปกาปิ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1550 สมัยสุลต่านสุไลมาน เพื่อเป็นที่พำนักของรอกเซลานา (Roxelana) ทาสสาวคนสวยคนเก่งชาวรัสเซียอันเป็นที่โปรดปรานของสุลต่านสุไลมาน ซึ่งรอกเซลานาได้ใช้ฮาเร็มเป็นฐานที่มั่นในการยึดครองราชบัลลังก์ จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสีคนโปรดของสุลต่านสุไลมานในเวลาต่อมา จากนั้นนางได้แผ่อิทธิพลจนกลายเป็นผู้ตัดสินพระทัยสำคัญแทนสุลต่านสุไลมานหลายต่อหลายเรื่อง
หลังสุลต่านสุไลมานสิ้นพระชนม์ พระโอรสของนางรอกเซลานาขึ้นครองราชย์ บทบาทของนางยิ่งโดดเด่นและทรงอิทธิพลมากขึ้นในฐานะพระราชชนนีที่กุมอำนาจทั้งหมดในราชสำนัก อันเป็นต้นแบบของพระราชชนนีในยุคต่อๆมา




ถึงประตูทางเข้าไปสู่ภายในฮาเร็มแล้ว




ภายในห้องต่าง ๆ จะเห็นสิ่งของเครื่องใช้ที่ทำด้วยวัตถุมีค่า เช่น หินอ่อน ด้วยสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะ และตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงามด้วยทองคำและเซรามิค


















นักท่องเที่ยวจะได้รับอนุญาตให้เดินไปตามทางเดินที่จัดไว้ให้ และสามารถถ่ายภาพได้ จึงได้ภาพสวยงามบริเวณนี้มาค่อนข้างมาก


















หน้าต่างทุกบานได้รับการตกแต่งด้วยกระจกสี มีลวดลายและสีสรรสวยงาม ลองชมสักบานหนึ่ง




ออกมาจากส่วนของฮาเร็ม ก็ถึงส่วนของพระราชวังชั้นนอก มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง




อาคารที่โด่งดังและเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวอย่างมากก็คือ อาคารท้องพระคลังอันเป็นที่เก็บสมบัติและวัตถุล้ำค่า ซึ่งแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ห้องคือ
ห้องแรก เก็บพวกเสื้อผ้าชุดโบราณของกษัตริย์อันสวยงาม เก็บอาวุธโบราณต่างๆ ที่ไม่ใช่อาวุธแบบยุคหิน แต่เป็นอาวุธแบบอาหรับที่สวยงามและมีสีสันยิ่งนัก
ห้องที่สอง เก็บพวกเครื่องประดับ สร้อย กำไล ต่างหู และเพชรนิลจินดามากมาย และที่สำคัญที่สุดคือ “กริชแห่งทอปกาปิ” (Topkapi Dagger) โบราณวัตถุชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งแห่งตุรกี ด้ามกริชประดับด้วยมรกตน้ำงาม ฝักทำด้วยทองคำประดับเพชร ตรงกลางฝังอัญมณีและไข่มุกทำเป็นรูปกระเช้าดอกไม้
กริชแห่งทอปกาปิ สร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นของกำนัลแก่อาณาจักรออตโตมัน โดยต้องการจะมอบให้กับนาดีร์ ซาร์ แห่งเปอร์เซีย แต่ว่านาดี ซาร์ ถูกโค่นอำนาจลงเสียก่อนที่จะได้ครอบครองกริชเล่มนี้




ห้องที่สาม จัดแสดงเครื่องประดับ เพชรพลอยมากมาย ที่น่าสนใจสำหรับคนไทย คือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอัญเชิญมาถวายแก่สุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 ในการเสด็จฯ เจริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทย-ตุรกี เมื่อปี ค.ศ. 1891

สิ่งที่น่าสนใจในห้องจัดแสดงที่ 3 คือ “เพชรของช่างทำช้อน” (The Spoon Maker’s Diamond) ที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งพระราชวังทอปกาปิ เพชรของช่างทำช้อนมีขนาด 86 กะรัต เจียระไนเป็นรูปกุหลาบ 49 เหลี่ยม มีตำนานเกี่ยวกับ เพชรของช่างทำช้อนว่า เพชรเม็ดนี้ นายทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ ปิโกต์ (Pigot) ซื้อมาจากเจ้าเมืองรัฐปัญจาบในอินเดีย เมื่อปี ค.ศ. 1774 แล้วนำกลับสู่ฝรั่งเศส ก่อนจะเปลี่ยนมือผู้ครอบครองไปเรื่อยๆ จนในที่สุดมาตกอยู่ในการครอบครองของพระมารดาพระเจ้านโปเลียน โบนาปาร์ต กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งฝรั่งเศส พระนางได้ขายเพชรให้แก่นายพลเทเปเดเลนลิ อาลี (Tepedelenli Ali Pasha) แห่งอาณาจักรออตโตมัน แต่หลังจากนั้น นายพลท่านนี้กลับต้องโทษประหารในปี ค.ศ. 1840 เพชรเม็ดนี้จึงถูกริบให้เป็นสมบัติของราชสำนักออตโตมันไปโดยปริยาย



ภาพอาคารท้องพระคลัง




อาคารต่าง ๆ ในบริเวณพระราชวังชั้นนอก ที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์














บริเวณระเบียงหลังห้องท้องพระคลังเป็นจุดชมวิวชั้นดี ที่มองออกไปเห็นทิวทัศน์เมืองอิสตันบูลใน 2 ฝั่งทวีป คือฝั่งยุโรปและฝั่งเอเชีย ได้อย่างชัดเจน




ด้านขวามือเป็นทะเลมาร์มารา



ทิวทัศน์ตรงหน้าเป็นบริเวณช่องแคบบอสฟอรัส



และด้านซ้ายมือเป็นโกลเดนฮอร์น (Golden Horn)




เราเดินมาถึงทางออกจากพระราชวังทอปกาปิแล้ว คงยุติรายการทัวร์ภาคเช้าไว้เพียงเท่านี้




ตอนต่อไปจะพาไปชมสุเหร่าสีน้ำเงิน โบสถ์เซนต์โซเฟีย และอ่างเก็บน้ำใต้ดิน โปรดติดตามนะครับ.
Create Date :23 เมษายน 2555 Last Update :23 เมษายน 2555 11:07:32 น. Counter : Pageviews. Comments :8