bloggang.com mainmenu search
กว่าจะเขียนบล็อกได้สักเรื่องไม่ใช่งานที่ง่าย ๆ เลย เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลาและความพยายามค่อนข้างมาก ตั้งแต่ถ่ายภาพ คัดเลือกภาพ ค้นหาข้อมูล นำมาเรียบเรียง และตกแต่งอย่างพิถีพิถัน จนนำไปโพสออกมาเป็นบล็อกที่มีหน้าตา(ที่เจ้าของเชื่อว่า)ดูดี นอกจากนี้ความเห็นของเพื่อนคนอื่น ๆ ที่มาโพสให้คำแนะนำและกำลังใจท้ายบล็อก ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แบบว่าไม่มีวันหาได้อีกแล้ว แต่ถ้าเกิดวันดีคืนดี (ที่จริงน่าจะ”ไม่ดี” มากกว่า) บล็อกของเราเกิดหายไปโดยไร้ร่องรอย ถามใครก็ไม่มีใครรู้ (ผู้ดูแล bloggang ก็ไม่สามารถกู้คืนให้ได้) คงจะเกิดความเสียดายและเสียใจเหมือนสูญเสียของรักไปสักอย่างทีเดียว

ถ้าการเขียนบล็อกเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและข้อมูลในบล็อกมีคุณค่ากับเพื่อน ๆ จะดีกว่าไหมที่เราจะมาทำการสำรองข้อมูลเหล่านั้นไว้ในคอมพิวเตอร์ของเรา เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้แก้ปัญหาได้ในภายหลัง วันนี้ผมมีคำแนะนำวิธีทำ รับรองว่าจะไม่ยากจนเกินไป ถ้าสนใจตามมาเลยครับ


เริ่มต้นกันเลย

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าไปยังหน้าบล็อกของเรา ดูว่ามีกลุ่มบล็อก(Group Blog) อะไรบ้าง จดใส่กระดาษไว้ก่อน เช่นของบล็อกผมมีกลุ่มบล็อก 7 กลุ่มดังนี้




กลับมาที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา เลือกไดร์วที่มีที่ว่างมากกว่า เช่น Drive D ทำการสร้างโฟลเดอร์ใหม่ชื่อ bloggang แล้วเข้าไปยังโฟลเดอร์นี้เพื่อสร้างโฟลเดอร์ย่อย ตั้งชื่อให้เหมือนกลุ่มบล็อก ทีละโฟลเดอร์จนครบ เมื่อตรวจสอบอีกครั้งการเรียงลำดับอาจแตกต่างออกไปก็ไม่ต้องตกใจ เพราะรายชื่อโฟลเดอร์จะเรียงตามลำดับตัวอักษร ดังนี้ครับ




ภายใต้โฟลเดอร์ของแต่ละกลุ่มบล็อก เราจะสร้างโฟลเดอร์ย่อย ตั้งชื่อให้เหมือนกับชื่อบล็อกใน bloggang ที่เรามีอยู่ เช่นผมมีบล็อกชื่อ “บทกลอนที่ชอบที่สุดของท่านสุนทรภู่” อยู่ในโฟลเดอร์ “แบ่งปันประสบการณ์และอื่นๆ” ผมก็จะสร้างโฟลเดอร์ชื่อ “บทกลอนที่ชอบที่สุดของท่านสุนทรภู่” อยู่ภายใต้โฟลเดอร์ “แบ่งปันประสบการณ์และอื่นๆ” ลักษณะนี้




ให้สร้างโฟลเดอร์ย่อยลักษณะนี้จนครบทุกกลุ่มบล็อก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาและความพยายามสักหน่อย ขึ้นอยู่กับว่าเขียนบล็อกไว้มากแค่ไหน เป็นกำลังใจให้ครับ

และที่จะทำให้ดูต่อไปนี้ จะทำการเก็บสำรองข้อมูลในบล็อกชื่อ “บทกลอนที่ชอบที่สุดของท่านสุนทรภู่” เป็นตัวอย่างนะครับ

ในการสำรองข้อมูลจากบล็อกของเราสามารถทำได้ 2 แบบ แบบแรกคือสำรองข้อมูลในลักษณะโค้ด ที่สามารถนำไปบรรจุในหน้าจัดการของ bloggang ได้ทันที (ที่เกิดปัญหาสูญหาย) และแบบที่สอง สำรองข้อมูลหน้าเว็บเพื่อให้สามารถเปิดดูได้ในลักษณะออฟไลน์ (ไม่ต้องต่อกับอินเทอร์เน็ต) วิธีที่สองนี้จะได้ความเห็นของเพื่อน ๆ มาด้วย

วิธีสำรองข้อมูลในลักษณะโค้ด

1.ทำการล็อกอินเข้าไปยังหน้าจัดการบล็อกของเราที่ bloggang.com ตามปกติ เลือกกลุ่มบล็อกที่ต้องการ, คลิกเพื่อให้แสดงบล็อกย่อยที่อยู่ในกลุ่มบล็อกนั้น ดังภาพ




2. คลิกที่คำว่า “แก้ไข” ที่อยู่ในบรรทัดเดียวกันกับบล็อกชื่อ “บทกลอนที่ชอบที่สุดของท่านสุนทรภู่” จะปรากฏหน้าต่างด้านล่าง แล้วให้คลิกตรงวงกลมแดง เพื่อกลับไปเขียนบล็อกในรูปแบบเดิม




3.จะปรากฏโค้ดทั้งหมดขึ้นมาในช่องข้อมูล ให้ทำแถบสีเพื่อเลือกโค้ดทั้งหมด (จะใช้เมาส์ลากหรือกดคีย์ Ctrl-A ก็ได้) แล้วคลิกขวา เมื่อมีหน้าต่างใหม่เกิดขึ้นให้คลิกที่คำว่า Copy




4.เปิดโปรแกรม Microsoft Word ขึ้นมา แล้วคลิกขวาในที่ว่าง ๆ กลางจอ เมื่อมีหน้าต่างใหม่เกิดขึ้นให้เลือกคำสั่ง “วาง” ข้อมูลโค้ดทั้งหมดจะอยู่ในหน้ากระดาษที่ว่างนี้แล้ว




5. บันทึกข้อมูลนี้ไว้ในโฟลเดอร์ “บทกลอนที่ชอบที่สุดของท่านสุนทรภู่” ด้วยชื่อ code (ไม่ต้องพิมพ์นามสกุล โปรแกรมจะใส่นามสกุลให้เอง เป็น .doc หรือ .docx แล้วแต่รุ่นของโปรแกรมครับ)




วิธีสำรองข้อมูลในลักษณะหน้าเว็บ

มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.เข้าหน้าบล็อกที่จะทำการเก็บสำรองข้อมูล (เช่นในตัวอย่างนี้ผมจะเข้าไปยังหน้าบล็อก “บทกลอนที่ชอบที่สุดของท่านสุนทรภู่”) เมื่อแสดงเว็บเพจหน้านี้จนสมบูรณ์แล้วให้เลือกคำสั่ง File และ Save As




2. ที่หน้าต่างบันทึกไฟล์ ให้เปลี่ยนชนิดการบันทึกเป็น Webpage completed (*.htm, *.html) แล้วตั้งชื่อไฟล์เป็น page.html ทั้งนี้ให้บันทึกไว้ในโฟลเดอร์ “บทกลอนที่ชอบที่สุดของท่านสุนทรภู่” เมื่อบันทึกเสร็จจะได้ไฟล์ชื่อ page.html และโฟลเดอร์ page_files




เมื่อทำการเก็บบันทึกข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้งสองวิธี จะได้ไฟล์และโฟลเดอร์ใหม่อยู่ในโฟลเดอร์ “บทกลอนที่ชอบที่สุดของท่านสุนทรภู่” รวม 2 ไฟล์และ 1 โฟลเดอร์ เป็นอันว่าทำการสำรองข้อมูลได้ 1 บล็อกแล้ว




ทำกิจกรรมนี้ซ้ำจนครบทุกบล็อก ก็จะเก็บสำรองข้อมูลใน bloggang เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ของเราได้ตามต้องการ ส่วนวิธีการนำข้อมูลที่เก็บสำรองนี้ไปใช้งานจะแนะนำในโอกาสต่อไป ขอบคุณที่ติดตามครับ.
Create Date :03 กรกฎาคม 2555 Last Update :4 กรกฎาคม 2555 8:28:42 น. Counter : 6916 Pageviews. Comments :31