เรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์: The Untold Stories from The Medical School.

ปฏิวัติวัฒนธรรม สิบปีสุดท้ายของเหมาเจ๋อตง



ว่าด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงสิบปีสุดท้ายของประธานเหมา



มีเพื่อนใน pantip ส่งข้อความมาว่าอยากทราบเกี่ยวกับเรื่องที่ผมเขียนไว้ในบทนำเกี่ยวกับข้อเขียนของประธานเหมาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่กับสาธารณรัฐประชาชนจีน มาบัดนี้ได้โอกาสเหมาะ จึงขอโอกาสนี้เขียนให้ผู้สนใจได้อ่าน และผู้มีความรู้ได้ร่วมแบ่งปันกันครับ

ออกตัวไว้ก่อนว่าศึกษาประวัติศาสตร์เป็นงานอดิเรก จะขอสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวลงไปบ้าง มีผิดพลาดอยู่พอสมควรนะครับ

..................................





ในยุคหลังความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดใหญ่ (วันหลังจะมาเล่าเรื่องนโยบายนี้ให้ฟังนะครับ) สภาพความเป็นอยู่ของคนจีนเริ่มดีขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นในความเห็นของเหมาเจ๋อตง การพัฒนายังกระจุกอยู่ในตัวเมือง ไม่ได้กระจายออกสู่ชนบทอย่างแท้จริง จึงทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างเมืองและชนบทขึ้น ประกอบกับกลไกการทำงานของรัฐซึ่งมีลักษณะเหมือนระบบขุนนาง และกลไกของพรรคที่เป็นแบบรวมศูนย์มากเกินไป ทำให้เกิดชนชั้นกระฎุมพีขึ้นมาใหม่ เป็นตัวแทนของลัทธิแก้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ประธานเหมาเจ๋อตง ไม่สามารถปล่อยให้เกิดขึ้นได้

เหมาชูประเด็นการพัฒนาในชนบท โดยรณรงค์ให้มีการศึกษาสังคมนิยม เพื่อปกป้องนโยบายก้าวกระโดดใหญ่ ต่อต้านสมาชิกที่ฝักใฝ่ทุนนิยม และจัดตั้งคอมมูนตามแนวความคิดสังคมในอุดมการณ์ของพรรคฯ ในการนี้เหมาได้แรงหนุนอย่างมากจากชาวนาชั้นกลางและชาวนายากจน เหมาได้เรียกร้องให้มีการเรียกคืนเครื่องมือจากชาวนามาเข้าคอมมูนเพื่อหาทางเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตร

ปี 1962 เหมาได้กล่าวในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคว่ายังคงมีชนชั้นในสังคมนิยมจีน จึงต้องมีการต่อสู้ทางชนชั้น (ปฏิวัติ) อยู่ต่อไป แต่ปัญหาก็คือคนสนับสนุนแนวความคิดนี้ของท่านประธานเหมามีน้อยเกินไป กลไกจัดตั้งของพรรคมีความเป็นระบบมากจนเหมาไม่สามารถสอดแทรกความคิดนี้ในที่ประชุมได้ คนที่ต่อต้านแนวความคิดเหล่านี้อย่างชัดเจนคือ หลิวซ่าวฉี เติ้งเสี่ยวผิง และกลไกจัดตั้งของพรรคในปักกิ่ง

ประธานเหมาจึงไปดำเนินงานปฏิวัติในเซี่ยงไฮ้ โดยเริ่มจากให้มีการตอบโต้จากหนังสือพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ว่ามีผู้เดินตามเส้นทางทุนนิยมอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นที่ยอมรับไม่ได้ และต่อด้วยความพยายามผลักดันนโยบายศึกษาสังคมนิยมและปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นลำดับต่อมา



เหมาเจ๋อตงในวัยหนุ่ม


แต่การดำเนินการเช่นนี้ถูกตั้งข้อสงสัยและไม่เห็นด้วยจากสมาชิกอาวุโสของพรรคและผู้บริหารประเทศจำนวนหนึ่ง ผู้ที่มีบทบาทมากก็คือหลิวซ่าวฉี ผู้เป็นประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) และเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเห็นความล้มเหลวมาแล้วในนโยบายก้าวกระโดดใหญ่ และไม่เชื่อว่าการดำเนินงานคอมมูนจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้ จึงจำกัดการปฏิบัติตามนโยบายของเหมาโดยใช้กลไกของพรรคฯ และพยายามใชกลไกของพรรคฯ ในการพัฒนา มากกว่ที่จะใช้กลไกปฏิวัติ

แต่เหมากลับไม่เชื่อว่ากลไลของพรรคฯจะทำได้ ประธานเหมาเห็นว่ากลไกของพรรคและระบบราชการก็เหมือนระบบขุนนางของจักรพรรดิ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นทุนนิยม แนวความคิดสายหลิวซ่าวฉีและเติ้งเสี่ยวผิงเป็นทุนนิยมมากเกินไป จะต้องถูกกำจัดโดยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ

เหมาคิดบนพื้นฐานของนักปฏิวัติ และเชื่อว่าการปฏิวัติจะนำสังคมไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องได้ เพราะสิ่งที่เหมาทำมาตลอดชีวิตตั้งแต่ยังไม่ออกจากบ้านคือการปฏิวัติ และคนที่ทำอย่างนี้มาตลอดชีวิต ต้องมีความเชื่อและศรัทธาต่อสิ่งที่เขากระทำอยู่อย่างแน่นอน ในขณะที่กลไกของพรรคมาจากพื้นฐานของสังคมนิยม ไม่ใช่แนวคิดปฏิวัติ

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดขั้วอำนาจสองขั้วขึ้นในพรรค ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายดำเนินการของพรรคที่พยายามใช้กลไกของพรรคในการพัฒนาประเทศ อีกฝ่ายคือประธานเหมาซึ่งในขณะนั้นไม่สามารถใช้อำนาจใด ๆ ในการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายหรือการปฏิบัติใด ๆ ในพรรคได้

เหมาเลือกใช้ทั้งปากกาและปืนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในฐานะประธานคณะกรรมการทหารของพรรค เหมาแต่งตั้งหลินเปียวคนสนิทไปเป็นรองประธานคณะกรรมการทหารเพื่อช่วยเหลือในกองทัพปลดแอก และกองทัพปลดแอกนี่เองที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งในอนาคตในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม และใช้การดำเนินงานทางมวลชนผ่านทางหนังสือพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้เพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม

ปี 1964 เหมาเริ่มปรับฐานอำนาจโดยโยกย้ายผู้ปฏิบัติงาน ตั้งนโยบายกำจัดผู้มีอำนาจในพรรคที่เดินไปตามเส้นทางทุนนิยม ในปีนี้ เจียงชิง อดีตนักแสดง ผู้ซึ่งเป็นภรรยาของเหมาเจ๋อตงเริ่มมีบทบาทในพรรค โดยได้เป็นสามชิกสมัชชาแห่งชาติ เจียงชิงและทีมงานเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดมีผู้ตั้งสมญานามให้ว่า "แกงค์สี่คน" คนที่ตั้งชื่อนี้คือเหมาเจ๋อตงนั่นเอง



เหมาเจ๋อตงและเจียงชิง


ปี 1965 มีคนเริ่มลัทธิบูชาตัวบุคคล (เหมาเจ๋อตง) ยกยอปอปั้นให้เหมาเป็นเหมือนเทพเจ้า แนวความคิดเหมาเจ๋อตงถูกยกขึ้นเทียบแนวความคิดของมาร์กซ หนังสือรวมรวมบทความ แนวคิด และคำพูดของเหมาเริ่มมีการพิมพ์ออกสู่ท้องตลาด เป็นหนังสือเล่มเล็กขนาดพกใส่กระเป๋าเสื้อได้ ปกสีแดง กล่าวกันว่าเป็นฝีมือการรวบรวมของหลินเปียว



หนังสือปกแดง ที่บ้านมีอยู่เล่มหนึ่ง แต่เป็นฉบับสองภาษา มีแปลเป็นอังกฤษอยู่ด้วยครับ


ในปีเดียวกัน เหมาได้เสนอโครงการปฏิวัติวัฒนธรรมในที่ประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้ปฏิเสธอย่างหัวชนฝาคือหลิวซ่าวฉี ผู้ที่มีโอกาสถูกนโยบายนี้ปฏิวัติเป็นคนแรกหากเหมาสามารถผลักดันให้นโยบายนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ แต่การคัดค้านนั้นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ผลของมันทำให้หลิวซ่าวฉีถึงกับต้องแลกมาด้วยชีวิตในที่สุด


ปี 1966 กระบวนการปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มขึ้น และสิ้นสุดหลังจากนั้นอีกสิบปีเมื่อผู้ก่อตั้งได้ถึงแก่ชีวิต

เหมามีกำลังหลักคือกองทัพปลดแอกที่มีหลินเปียวเข้าไปดำเนินงานรออยู่แล้วและกลุ่มเรดการ์ดที่ก่อตั้งขึ้นมาทีหลัง

เรดการ์ดเริ่มก่อตั้งโดยหงเว่ยปิง โดยมีการอุปมาว่าประธานเหมาต้องการ "เห้งเจีย" ตัวเล็ก ๆ จำนวนมากเพื่อกำราบสวรรค์ (พรรค) ก่อความยุ่งยากให้กับสวรรค์ เห้งเจียตัวเล็ก ๆ ในที่นี้ก็คือกำลังเยาวชน เด็กนักศึกษามหาวิทยาลัย และต่อมาก็ลุกลามไปถึงนักเรียนมัธยมปลายอีกด้วย

กระบวนการนั้นเริ่มจากการติดป้ายประกาศที่เรียกว่า "หนังสือพิมพ์กำแพง" ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เริ่มต้นที่ปักกิ่ง เรียกร้องให้นักศึกษาออกมาปฏิวัติ สอบสวน เปลี่ยนแปลง (และรวมไปถึงทำลาย) สังคมจีนเก่า โดยมีสัญลักษณ์คือนักศึกษาสวมปลอกแขนแดง ถือหนังสือปกแดง ออกอาละวาดจับกุมผู้ที่ (ถูกหาว่า) มีแนวความคิดเป็นทุนนิยม-ผู้นิยมต่างชาติหรือเป็นสายลับ-พวกนิยมลัทธิแก้ หรือข้อหาอะไรก็ได้ที่สามารถคิดขึ้นมาได้เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามได้ เชื่อกันว่าเจียงชิงและพรรคพวกคือผู้อยู่เบื้องหลัง (หลักฐานจากการสอบสวนคดีในภายหลังสามารถแสดงความสัมพันธ์นี้ได้)

ผู้ที่ถูกจับรวมทั้งครอบครัว คนใกล้ชิด และเพื่อนร่วมงานจะถูกสอบสวน ตั้งข้อหา ทำทารุณกรรม และถูกลงโทษโดยไม่ใช้กระบวนการทางศาล เริ่มจากที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นอันดับแรก อาจารย์อาวุโสถูกนักศึกษาจับกุม สอบสวน คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ส่งคนเข้าไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่สามารถต้านแรงกดดันจากนักศึกษาได้ ผู้ที่ส่งคนไปซึ่งก็คือหลิวซ่าวฉีกลายเป็นคนรับผิดชอบความล้มเหลวนี้ไปโดยปริยาย และเป้าหมายลำดับต่อไปก็คือผู้มีอำนาจในพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิวัติวัฒนธรรม และรวมไปถึงสมาชิกคณะรัฐบาล ผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันและองค์กรต่าง ๆ โดยเจียงชิงและผู้ใกล้ชิดจะเป็นผู้กำหนดชื่อเป้าหมายและป้อนข้อมูลให้กับเรดการ์ด รวมทั้งกำหนดวิธีการทำงาน และอาจรวมถึงการให้ทุนสนับสนุนอีกด้วย


ภาพยนตร์เรื่อง จักรพรรดิ์โลกไม่ลืม (The last Emperor) มีฉากหนึ่งที่ปูยีซึ่งได้อิสรภาพจากการคุมขังของรัฐบาลจีน เดินไปตามถนน เห็นผู้คุมคนหนึ่งถูกมัดมือไพล่หลังเดินมาตามถนน และถูกรุมล้อมโดยเรดการ์ด ปูยีพยายามเข้าไปสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คุมคนนี้ที่เป็นคนดีและน่าเคารพ แต่ก็ไม่ได้คำตอบอะไร ...นี่คือฉากหนึ่งของเรดการ์ด


เหมาเจ๋อตงสนับสนุนเรดการ์ดอย่างเต็มที่ มีการเดินขบวนสวนสนามตลอดปลายปีนั้น เด็กหนุ่มสาวสวมปลอกแขนสีแดง ในมือถือหนังสือปกแดงเดินผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมินโดยมีเหมาเจ๋อตงคอยโบกมือต้อนรับ ที่น่าขนลุกก็คือคำพูดที่เปล่งออกมาจากปากคนหนุ่มสาวเหล่านั้นว่า "ขอให้ประธานเหมาอายุยืนหมื่นปี" ช่างเหมือนกับที่เหล่าเสนาบดีกล่าวกับฮ่องเต้ในยุคศักดินาไม่มีผิด


ภาพยนตร์เรื่อง Red violin มีช่วงหนึ่งที่ไวโอลินสีเลือดนี้เดินทางมาประเทศจีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม และรอดพ้นจากการถูกทำลายอย่างฉิวเฉียด ในยุคนั้น อะไรก็ตามที่เป็นของต่างชาติหรือจะส่อแสดงว่าเป็นของฝ่ายทุนนิยมจะถูกทำลายจนหมด ไม่ว่าหนังสือ เครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี บางคนยังบอกว่าแม้กระทั่งเลี้ยงปลาทองยังมีคนหาว่าเป็นพวกทุนนิยมได้


เจียงชิงในขณะมีอำนาจ


ท้ายที่สุด คณะกรรมการปักกิ่งถูกยุบ คณะกรรมการกรมการเมืองขาดอำนาจ ประธานเหมาตั้ง "กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรม" ขึ้นมาเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือคณะกรรมการพรรค ปลายปี 1966 เริ่มมีเรดการ์ดตามโรงเรียนมัธยม และแพร่ขยายไปทั่วประเทศ

สิงหาคม 1966 เหมาเขียนหนังสือพิมพ์กำแพงด้วยลายมือตัวเองว่า


"ถล่มกองบัญชาการ"


ติดที่ประตูห้องประชุมของที่ทำการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์

นั่นหมายถึงสัญญาณบอกให้ขบวนปฏิวัติวัฒนธรรมออกมาทำลายกองบัญชาการ ซึ่งก็คือคณะผู้บริหารประเทศและคณะผู้บริหารพรรคนั่นเอง หลังจากนี้ไปสิบปี แผ่นดินจีนจะตกอยู่ในภาวะกลียุค สมาชิกพรรคฯ หลายคนถูกใส่ร้าย หลายคคนถูกปลดจากตำแหน่ง หลายคนถูกจองจำ และหลายคนถูกทำร้ายจนตายโดยปราศจากการไต่สวน

พฤติกรรมของเรดการ์ดนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงและรวดเร็วตามประสาของคนหนุ่มสาว แต่พฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อการนี้ ประกอบกับนโยบายที่ไม่มีวัตถุประสงค์เด่นชัด พลังของคนรุ่นนี้จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามโดยใช้หน้ากากปฏิวัติวัฒนธรรมเท่านั้นเอง

ตุลาคม 1966 เหมาพูดกับนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลว่า "ผมเป็นผู้ทำให้เกิดกลียุคนี้ขึ้นมาเอง" แต่เหมาก็ไม่ได้หยุดขบวนการปฏิวัติอันนี้ ยังคงให้เรดการ์ดออกทำงานต่อไป



เหมาเจ๋อตงและโจวเอินไหล ยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน


กุมภาพันธ์ 1967 สมาชิกอาวุโสของพรรคเข้าพบเหมาเจ๋อตงเพื่อแสดงจุดยืนและปฏิเสธแนวทางปฏิวัติวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นคือ จูเต๋อ ขุนพลผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเหมาเจ๋อตง จนหลายคนเรียกชื่อรวมกันว่า จูเหมา และกระทั่งมีคนเข้าใจผิดว่าชื่อนี้หมายถึงคนคนเดียว



จูเต๋อและเหมาเจ๋อตงในระหว่างต่อสู้กับรัฐบาลก๊กมินตั๋ง


ผลของการพบกันครั้งนั้น
-เหมายกเลิกคอมมูนที่มีความพยายามจัดตั้งในเซี่ยงไฮ้
-ให้กองทัพปลดแอกทำงานมากขึ้น

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เดือนเมษายน 1967 เหมาออกคำสั่งให้เรดการ์ดออกทำงานปฏิวัติต่อไป ยังคงมีเรดการ์ดออกทำการทั่วประเทศ แต่ด้วยการจัดตั้งที่ขาดรากฐานทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งขัดแย้งกันเองและขัดแย้งกับกองทัพปลดแอก มีการซ่องสุมกำลังอาวุธในหมู่เรดการ์ด การใช้อำนาจในทางที่ผิด และเกิดการปะทะจนแทบเป็นสงครามกลางเมืองในบางแห่งที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น

เดือนกรกฎาคม ที่พำนักผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ถูกล้อม หลายคนที่เข้าพบเหมาเจ๋อตงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์กลายเป็นเป้าโจมตี นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลต้องใช้ความสามารถและวาทศัลป์ในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกกักอยู่ในวงล้อม โดยที่ตัวเขาเองก็เป็นเป้าหมายสำคัญด้วยเช่นกัน

ในเดือนเดียวกัน หลิวซ่าวฉีถูกเรดการ์ดจับกุมในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ภรรยาคือหวางกวงเหม่ยผู้ที่มีความสามารถ เคยเป็นล่ามให้กับแขกต่างประเทศ ถูกจับกุม ถูกสอบสวนโดยเรดการ์ดโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ผู้ใกล้ชิดถูกบังคับให้ใส่ร้ายหลิวซ่าวฉีว่าเป็นชนชั้นนายทุน รับใช้ต่างชาติ เป็นพวกลัทธิแก้ สุดแต่จะสรรหามาให้ร้าย หลาย ๆ คนยอมถูกทรมานแต่ไม่ยอมใส่ความหลิวซ่าวฉี และหลายคนในจำนวนนั้นถูกขังลืมหรือถูกทำร้ายจนเสียชีวิต เดือนตุลาคมปีเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมการกรมการเมือง และมีมติให้ปลดหลิวซ่าวฉีออกจากทุกตำแหน่งรวมทั้งสมาชิกพรรคด้วย ..หลิวซ่าวฉีเสียชีวิตวันที่ 12 พฤศจิกายน 1967 ภรรยาถูกส่งไปทำงานหนักในชนบท

ถึงสิ้นปี 1967 สมาชิกอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนถูกใส่ร้ายและถูกลงโทษโดยอ้างว่าหลิวซ่าวฉีเป็นหัวหน้าแก็งค์บ่อนทำลายที่มีรากฐานอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน

หลีอิ๋นเฉียว ผู้เขียน "น้ำตาเหมาเจ๋อตง" องครักษ์ผู้คอยดูแลเหมาเจ๋อตงมาเป็นเวลา 15 ปี ถูกพิษของการปฏิวัติวัฒนธรรม ครั้งหนึ่งเคยทะเลาะกับเจียงชิงจนกระทั่งเหมาต้องเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการให้หลีอิ๋นเฉียวเขียนหนังสือวิจารณ์ตัวเองเพื่อบรรเทาความร้อนแรงของอารมณ์เจียงชิง เก็บหนังสือวิจารณ์ตนเองไว้กับตัวจนถูกเรดการ์ดนำไปเป็นหลักฐานใส่ร้าย ถูกจำขัง โชคดีที่เหมาเจ๋อตงทราบ จึงให้ปล่อยตัวออกมา

ผู้เฒ่าหลี่ตา เพื่อนผู้สูงวัยของเหมาเจ๋อตง หนึ่งในสมาชิกยุคบุกเบิกของพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกทำร้ายร่างกายเสียชีวิต

เผิงเต๊อะไหว จอมพลผู้ไต่เต้ามาจากพลทหารก็ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตเช่นกัน

เถียนเจียอิง เลขานุการส่วนตัวของเหมา ถูกปลดและถูกใส่ร้าย คับแค้นจนต้องกินยาพิษฆ่าตัวตาย

เรดการ์ดออกจะกระทำการจนเกินความจำเป็นไปเสียแล้ว


พฤษภาคม 1968 ทางกองทัพปลดแอกได้เริ่มจัดตั้งคณะกรรมการปฏิวัติขึ้นในหลายมณฑล เรดการ์ดที่ก้าวร้าวรุนแรงถูกสลายกำลัง เนื่งจากประธานเหมามองเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็น "สงครามกลางเมือง" วิธีที่จะยุติความโกลาหลนั้น เหมาได้สลายกองกำลังเรดการ์ด เด็กหนุ่มสาวกว่ายี่สิบล้านคนถูกส่งออกไปศึกษาชีวิตชนบทห่างไกลเพื่อทำงานหนัก และให้เข้าถึงชีวิตของชนชั้นกรรมาชีพที่แท้จริง


นึกถึงภาพยนตร์จีนที่เคยดูอยู่เรื่องหนึ่ง; ซิ่ว ซิ่ว เธอบริสุทธิ์ (Xiu Xiu, The Send Down Girl) ที่กล่าวถึงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียความบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณไปกับการปฏิวัติวัฒนธรรม ถูกส่งไปทำงานหนักในชนบท อยู่ในความทุกข์ยากและการกดขี่ของคนที่มีอำนาจและโอกาสที่เหนือกว่า โดยไม่มีโอกาสได้กลับไปยังบ้านเกิด และสิ่งเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ทำลายเธอลงทีละนิด



เติ้งเสี่ยวผิง หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปฏิวติวัฒนธรรม

ภาพเมื่อปี 1977 หลังพ้นยุคปฏิวัติวัฒนธรรมไปแล้ว


สำหรับเติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี ในเบื้องต้นถูกคุมตัวในบ้านพัก จากนั้นถูกเนรเทศไปหนานซางในปี 1969 ถูกปลดจากทุกตำแหน่งในพรรคและในรัฐบาล ยกเว้นตำแหน่งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ บุคคลที่มีอาวุโสเป็นอันดับสี่ในสายการเมืองในยุคนั้นต้องไปเป็นคนงานในโรงงานเล็ก ๆ เติ้งเสี่ยวผิงผู้ซึ่งเคยสนับสนุนเหมาเจ๋อตงในยุค 28 บอลเชวิคและเคยถูกปลดจากตำแหน่งพร้อมกับเหมาเจ๋อตงในสมัยนั้น ถูกโค่นล้มเป็นครั้งที่สองในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (หลังจากนี้ไป ชายคนนี้จะล้มอีกหนึ่งครั้ง แต่ในทุกครั้งที่ชายร่างเล็กคนนี้ล้ม จะสามารถลุกยืนขึ้นมาได้เสมอ) ลูกชายคนหนึ่งของเติ้งต้องถูกทำร้ายจนพิการ ครอบครัวต้องแตกแยกเป็นเวลาเกือบสิบปี



เหมาเจ๋อตงในช่วงสูงวัย


พิษของการปฏิวัติวัฒนธรรมยังคงคุกรุ่นอยู่แม้ว่ากองกำลังเรดการ์ดจะถูกสลายไปแล้ว ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9 สมาชิกที่เคยร่วมประชุมในครั้งที่ 8 หายไปถึงสองในสาม ! ในการประชุมครั้งนี้มีการกำหนดให้หลินเปียวเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากประธานเหมา แต่ในช่วงหลัง ประธานเหมากลับมองว่าหลินเปียวนั้นเป็นพวกยกย่องตัวบุคคลเกินจริง (หลิวเคยบอกว่าอัจฉริยะอย่างประธานเหมานั้นต้องสักร้อยปีถึงจะมีมาเกิดสักคน เหมาถามกลับไปว่าตัวเหมาเองก็เกิดห่าจากคาร์ล มาร์กซ หรือ ซุนยัดเซน ไม่นาน จะไปบอกว่าร้อยปีจะมีเกิดมาสักคนได้อย่างไร) นอกจากนี้เหมายังมองว่าหลินเปียวต่อต้านนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา เป็นพวก "ซ้ายตกขอบ" และ "ทุจริต" จนกระทั่งในที่สุด เหมาเจ๋อตงได้ยุบตำแหน่งประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) เป็นตำแหน่งที่หลินเปียวควรจะได้เป็นต่อหลังจากหลิวซ่าวฉีเสียชีวิต นั่นเป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่าเส้นทางการเมืองของหลินเปียวเริ่มมืดมนมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจดับลงได้ในไม่ช้า

หลินเปียวจึงเริ่มดำเนินงานใต้ดิน โดยพยายามปฏิวัติยึดอำนาจจากเหมาเจ๋อตงในช่วงปี 1970-1971 โดยแต่งตั้งลูกชายให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพอากาศ และพยายามรวมรวมคนเพื่อก่อการปฏิวัติ แต่ท้ายที่สุดเมื่อปฏิบัติการล้มเหลว หลินเปียวจึงพาคนสนิทเดินทางโดยเครื่องบินหนีออกนอกประเทศ แต่ท้ายที่สุดเครื่องบินตกและทุกคนบนเครื่องเสียชีวิต หลักฐานการปฏิวัติได้มาจากเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งที่ลูกน้องหลินเปียวพยายามบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศแต่นักบินบินกลับและถูกยิงเมื่อลงจอดแล้ว

หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคอย่างมโหฬาร แต่กลุ่มของเจียงชิงยังกุมอำนาจใหญ่อยู่ภายในพรรค ในระยะหลัง โจวเอินไหลเริ่มผลักดันให้เติ้งเสี่ยวผิงกลับเข้ามาทำงานในพรรคอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นการคานอำนาจของกลุ่มเจียงชิงได้เป็นอย่างดี เหมาเจ๋อตงที่ยกย่องความสามารถของโจวเอินไหลและเชื่อฝีมือเติ้งเสี่ยวผิง (แต่ไม่เชื่อนโยบาย) จึงเรียกใช้งานเติ้งเสี่ยวผิงในฐานะรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ทำให้กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งก็คือแก็งค์ของเจียงชิงนั้นไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง และหาทางทำลายฝ่ายนายกโจวอยู่ตลอดเวลา

ในระยะหลัง เริ่มเกิดความเหินห่างระหว่างประธานเหมาและเจียงชิง แม้ประธานเหมาจะเชื่อใจให้เจียงชิงกุมบังเหียนการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ประธานเหมาก็ไม่เชื่อเช่นกันว่าเจียงชิงและคณะจะสามารถเป็นเสาหลักของพรรคได้ ความเหินห่างเกิดขึ้นจนกระทั่งเจียงชิงเอง หากจะเข้าพบเหมาเจ๋อตงก็ต้องทำเรื่องเสนอขอเข้าพบอย่างเป็นทางการ จะพูดคุยก็ต้องผ่านเลขาและคนดูแลส่วนตัวซึ่งเป็นคนของเจียงชิง และเป็นเหมือนกระบอกเสียงของเจียงชิงที่อยู่ข้างประธานเหมา



นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล


ปี 1974 นายกโจวเอินไหลเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคมะเร็ง ในปีนั้นเองที่ประธานเหมาแต่งตั้งเติ้งเสี่ยวผิงเป็นรัการนายกรัฐมนตรี และเริ่มมีการแต่งตั้งสมาชิกอาวุโสของพรรคกลับเข้ารับตำแหน่งมากขึ้นเรื่อย ๆ และในปีนี้อีกเช่นกันที่ประธานเหมาบัญญัติคำว่า "แกงค์สี่คน" ขึ้นมาใช้เรียก เจียงชิง จางชุนเฉียง เหยาเหวินหยุน และ หวางหงเหวิน และกล่าวตำหนิเจียงชิงในที่ประชุมกณะกรรมการกรมการเมือง



นายกโจวเอินไหลกล่าวปราศรัยในปี 1975 เป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต


มกราคม 1975 มีการประชุมสมัชชาแห่งชาติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1964 ในปีเดียวกันนี้เอง โครงการพัฒนาพรรคในปีนั้นไม่ได้เน้นการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งเป็นจุดอ่อนให้เจียงชิงและพรรคพวกโจมตีโดยผ่านทางคนสนิทของเหมา โดยบอกผ่านไปทางหลานชายของประธานเหมา คือ เหมาเหยียนซิน ลูกของน้องชายเหมาเจ๋อตงว่า เติ้งเสี่ยวผิงไม่เคยพูดถึงปฏิวัติวัฒนธรรม ไม่เคยวิจารณ์หลิวซ่าวฉี และเชื่อฟังแต่โจวเอินไหล แม้นายกโจวจะอยู่โรงพยาบาลก็ยังไปพูดคุยกันอยู่เสมอ ๆ ท้ายที่สุดมีการนำไปพูดในที่ประชุม ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงก็ได้กล่าวคัดค้าน

แต่ท้ายที่สุดเติ้งเสี่ยวผิงก็ถูกคำสั่งพักงาน

8 มกราคม 1976 นายกโจวเอินไหลเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ในขณะนั้นเจียงชิงเป็นผู้ควบคุมกลไกสื่อสารมวลชนของรัฐ ประกาศการเสียชีวิตและประกาศไว้อาลัยจึงแทบจะไม่มีให้พบเห็นตามสื่อต่าง ๆ การตายของคนที่สร้างคุณประโยชน์เป็นอย่างสูงให้สาธารณรัฐประชาชนจีนกลับถูกอำนาจทางการเมืองปิดบังอย่างถึงที่สุด

สิ่งที่สร้างความแปลกใจให้กับทุกคนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจียงชิงก็คือ ประธานเหมาวางตัว ฮว่ากั๋วเฝิง 'เด็กสร้าง' จากมณฑลเดียวกัน ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งนั่นสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างสูงให้กับเจียงชิง เพราะคาดว่าคนของตัวเองจะได้ขึ้นตำแหน่งนี้

มีนาคม 1976 เจียงชิงและแกงค์สีคนเริ่มเปิดประเด็นโจมตีฝ่ายที่ถูกเรียกว่าทุนนิยมผ่านทางหนังสือพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ แต่กลับถูกต่อต้านจากคนอ่านอย่างรุนแรง โรงพิมพ์ถูกล้อม คนออกมาเดินขบวนต่อต้านและโจมตีแกงค์สี่คน

เดือนเมษายน มีคนมาร่วมไว้อาลัยที่จัตุรัสเที่ยนอันเหมินเป็นจำนวนมาก พวกหรีดและคำไว้อาลัยวางอยู่เต็มฐานของอนุสวรีย์วีรชนที่เทียนอันเหมิน



พวงหรีดและคำไว้อาลัยนายกโจวเอินไหล


5 เมษายน 1976 มีการสลายการชุมนุมของคนที่มาร่วมไว้อาลัยให้นายกโจว มีคนอ้างว่าพบเห็นเติ้งเสี่ยวผิงอยู่ในบริเวณที่ชุมนุม เป็นเหตุให้เหมาออกคำสั่งปลดเติ้งเสี่ยวผิงจากทุกตำแหน่งในเวลาต่อมา และให้คุมตัวไว้ ในหนังสือ "เติ้งเสี่ยวผิง ว่าด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรม" เขียนโดยมาดามเติ้งหยง บอกว่า วังตงซิงเป็นผู้สอบถามเติ้งเสี่ยวผิงว่าเป็นผู้นำการชุมนุมหรือไม่ เติ้งเสี่ยวผิงตอบว่าเคยไปตัดผมแถวนั้น แต่ไม่ได้ไปร่วมการชุมนุม

เหมาเจ๋อตงเป็นคนที่เห็นคุณค่าความสามารถของเติ้งเสี่ยวผิงมาโดยตลอด เคยกล่าวชมเชยเติ้งในที่ประชุมหลายครั้ง สำหรับโทษครั้งนี้ ประธานเหมาบอกคนใกล้ชิดว่าที่ยังคงตำแหน่งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไว้เพราะ 'จะได้เอาบัตรสมาชิกเก็บไว้ให้ลูกหลานดูได้'

หลังจากนั้น นายพลเย่เจี้ยนอิง รมว.กลาโหม ส่งเติ้งไปที่กว่างโจว มณฑลกว่างตงเพื่อลี้ภัยและอยู่ในความดูแลของฝ่ายทหารที่เป็นห่วงสวัสดิภาพของเติ้งเสี่ยวผิง

7 เมษายน 1976 มีแถลงการณ์ให้ฮว่ากั๋วเฝิงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

มิถุนายน 1976 ประธานเหมายังแสดงท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติวัฒนธรรม ฝ่ายฮว่ากั๋วเฝิงกับเจียงชิงก็มีการปะทะคารมกันในที่ประชุมวางแผนรัฐและต่อต้านกันไปมา ฝ่ายฮว่ากั๋วเฝิงได้อาศัยสมาชิกอาวุโสที่ต่อต้านเจียงชิงเป็นฐานสนับสนุน


9 กันยายน 1976 เวลา 02:30 น. ประธานเหมาถึงแก่อสัญกรรม



ประธานเหมาแต่งตั้งฮว่ากั๋วเฝิงเป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากต้องการหาคนกลางที่ไม่สุดขั้วไปทางใดทางหนึ่งมาเป็นตัวประสานรอยร้าวภายในพรรค ดูเหมือนเหมาจะกลัวกระแสทุนนิยมในฝ่ายเติ้ง แต่ก็ไม่ไว้ใจกระแสปฏิวัติไม่ลืมหูลืมตาของเจียง จึงพยายามหาทางออกโดยวิธีประนีประนอม อย่างนี้อาจเรียกได้ว่าเหมาเป็นหนึ่งในลัทธิยอมจำนนได้เหมือนกัน !

เจียงชิงอ้างว่าประธานเหมาต้องการให้เป็นประธานคณะกรรมการกลางพรรค โดยอาศัยฐานเสียงในเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่สมัยริเริ่มสร้างคอมมูนเมื่อหลายปีก่อน แต่วังตงซิง ผู้คุมกำลังในเซี่ยงไฮ้ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ ท้ายที่สุด แก็งค์สี่คนก็ทยอยกันถูกจับทีละคน

เมื่อสิ้นประธานเหมา คนคอยคุ้มครองฝ่ายเจียงชิงก็หมดไป ประธานเหมาเคยเตือนเจียงชิงแล้วว่าจะเป็นศัตรูกับทุกฝ่ายไม่ได้ แต่ดูเหมือนเจียงชิงจะลุแก่อำนาจและคิดว่าฐานกำลังของตนสามารถปกป้องสวัสดิภาพของตนและสมัครพรรคพวกได้ แต่เจียงชิงคิดผิด

ในวันพิจารณาคดีเรื่องแก็งค์สี่คน (ร่วมกับคดีหลินเปียวที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย) มีจำเลยมาขึ้นศาลทั้งหมดสิบคน บางคนติดต่อทนายเป็นการส่วนตัว บางคนขอใช้ทนายที่ศาลตั้งให้ ส่วนเจียงชิงปฏิเสธทนายความหลายต่อหลายคนที่เป็นตัวเลือก ก่อนจะขึ้นฟังคำฟ้องแบบไม่มีทนายความ



เจียงชิงถูกพิพากษาประหารชีวิต และลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ก่อนจะฆ่าตัวตายในคุก




เหยาเหวินหยวนถูกตัดสินจำคุก 15 ปี




จางชุนเฉียวถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต




หวางหงเหวินถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในระหว่างถูกจำคุก



ในปี 1978 เติ้งเสี่ยวผิง ผู้ที่ล้มสามครั้ง สามารถลุกขึ้นมาได้ทั้งสามครั้ง ผู้ที่ไม่สนใจว่าแมวจะสีขาวหรือดำ (หรือแดง) แต่ถ้าจับหนูได้ ก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเต็มภาคภูมิ



ปิดตำนานสิบปีแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมแต่เพียงเท่านี้นะครับ หากมีข้อผิดพลาดเรื่องข้อมูลประการใด ท่านผู้รู้ช่วยแจ้งด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2549
13 comments
Last Update : 17 กรกฎาคม 2550 10:47:43 น.
Counter : 17046 Pageviews.

 

ขอบคุณมาก ๆ เจ้าค่ะ

 

โดย: กุยแก IP: 124.121.0.191 13 ธันวาคม 2549 4:06:32 น.  

 

ยาวจัง ไว้จะตามมาอ่านวันหลังเน้อ

วันนี้ขอเมอร์รี่คริสต์มาสก่อน มีความสุขมากๆทั้งกายและใจนะครับ

 

โดย: keano (jonykeano ) 24 ธันวาคม 2549 18:00:17 น.  

 

ดีครับ ว่างๆเขียนเรื่องอื่นอีกนะครับ

 

โดย: bbking (Ramin&Indra ) 3 มกราคม 2550 1:03:25 น.  

 

สวัสดีปีใหม่ ขอให้คุณหมอมีความสุขมากๆ นะครับ

 

โดย: Gunnersaurus 7 มกราคม 2550 8:56:20 น.  

 

มา tag ครับ
ขอเชิญร่วมลงสนามได้ที่ https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=jonykeano&date=10-01-2007&group=5&blog=1

ขอบคุณล่วงหน้าที่มาร่วมสนุกกันครับ

 

โดย: keano (jonykeano ) 10 มกราคม 2550 13:35:06 น.  

 

เขียนดีมากๆครับ ^^

 

โดย: x-trail IP: 58.136.19.123 9 เมษายน 2550 23:05:45 น.  

 

1. ที่คุณได้เขียนไว้นั้น ค่อนข้างจับใจความสำคัญได้ครบถ้วนครับ แม้ว่าจะแทรกความเห็นเล็กๆของตัวคุณไว้บ้าง แต่ก็ทำให้ที่เขียนไว้สมบูรณ์ขึ้นครับ

 

โดย: นายเจ็ดตัวอักษร IP: 210.213.22.142 28 ธันวาคม 2550 15:27:36 น.  

 

เรียน เจ้าของกระทู้ด้วยความเคารพ

เรื่องที่คุณเขียน ทำให้ได้ความรู้ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีน ได้มาก
แต่อยากจะขอให้ จขกท. ช่วยเขียนขยายความ หรือเปลี่ยนคำ หรืออะไรก็ได้ ที่ทำให้เนื้อหา ที่เขียนชัดเจนขึ้น

ตัวอย่างเช่น หลิวซ่าวฉี ผู้เป็นประธานประเทศ (ประธานาธิบดี)
ซึ่งขัดแย้งกับประวัติศาสตร์จีนตรงที่ ตัวของเหมาเอง คือประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีนไม่ใช่หรือคะ

หลิวซ่าวฉี น่าจะเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์ มากกว่าค่ะ ถ้าวงเล็บว่าประธานาธิบดี อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือไม่แน่ใจในสาระสำคัญได้

ขอบคุณค่ะ

 

โดย: แม่น้องมีน IP: 124.120.169.64 5 เมษายน 2552 21:05:54 น.  

 

ขอบคุณคุณแม่น้องมีนที่ท้วงติงครับ

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมอ่านและเรียบเรียงบทความเรื่องนี้จากหนังสือหลายเล่ม ถึงตรงนี้ก็ไม่สามารถหาเอกสารอ้างอิงใด ๆ มาได้แล้วเพราะไม่ได้จัดทำเชิงอรรถเอาไว้ด้วย ด้วยเหตุว่าแต่แรกที่เขียนเรื่องนี้ก็อยากชี้ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสุดท้ายของประธานเหมาที่สามารถนำมาสอนคนในรุ่นต่อไปได้ว่าความคิดที่เกิดขึ้นจากคนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว โดยไม่ได้ศึกษาให้ถ่องแท้นั้นหากนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตนแล้วสามารถนำไปสู่ความล้มเหลวได้

ดังที่คุณแม่น้องมีนได้ทักท้วงมา ผมนึกย้อนไปย้อนมาแล้วก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าหลิวซ่าวฉีนั้นเป็นประธานาธิบดีหรือประธานพรรคกันแน่ ไปค้นดู wikipedia ช่วงนี้ (10:26 น. 7 เมษายน 2552) ก็เข้าชมไม่ได้ สุดท้ายก็ได้แหล่งอ้างอิงที่น่าจะพอใช้ได้มาสองแห่งดังนี้ครับ

ค.ศ.1959 ในที่ประชุมสมัชชาผู้แทนประชาชนทั่วประเทศสมัยที่ 2 หลิวเซ่าฉี
ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและประธานคณะกรรม
การการป้องกันประเทศ
//www.okls.net/chuanan_001_to007.htm

เดือนเมษายน 1959 เหมาได้ประกาศก้าวลงจากตำแหน่งประธานแห่งประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีน สภาประชาชนได้เลือกหลิวซ่าวฉีแทนเหมา แต่เหมาก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน
//www.thaichinese.net/History/PRC/GreatLeap/greatleap.html

ตอนที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวหลิวซ่าวฉีเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของจีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ และมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธานพรรคคอมมิวนิสต์ครับ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและช่วยท้วงติงครับ ทำให้ได้ไปหาข้อมูลมาอ่านเพิ่มอีกพอควรเลยครับ

 

โดย: Zhivago 7 เมษายน 2552 10:31:43 น.  

 

เมื่อราวปี 2520 มีข่าวลือซุบซิบกันว่า พ่อของหวางหงหวิน อยู่ที่เมืองไทยแถบ ถนนเยาวราช สำเพ็ง บางกอกโพสต์เคยลงข่าวลือนี้ พร้อมๆกับภาพสเกตต์ด้วย ถ้าข่าวลือนี้เป็นจริง อาจจะเป็นไปได้ที่หวางหงเหวินจะเกิดที่เมืองไทย และกลับไปเรียนหนังสือที่เมืองจีนตอนเริ่มวัยรุ่น เช่นเดียวกับลูกคนจีนในสมัยนั้นก้ได้

 

โดย: สมหวัง พูลสมบัติ IP: 10.20.148.109, 202.44.210.34 12 ตุลาคม 2552 13:13:46 น.  

 

อยากรู้เชิงลึกของประธานเหมา เจียงชิงและหลินเปียวหล่อหลอมกันมายังไงถึงได้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมที่โหดร้าย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวิบากกรรมอย่างทารุณอย่างหลิวซ่าวฉีกับนายพลอีกท่านหนึ่งที่ทำสงครามเกาหลี ......อยากหาข้อมูลอ่านต่อ

 

โดย: ิb IP: 58.11.9.126 25 กันยายน 2553 0:09:18 น.  

 

ถ้าให้ดีผมอยากให้มีรูปซัก 20 ภาพ (ผมจะเอาไปส่งครูน่ะ อิ อิ)ขอบคุณมาก เฟซบุ๊คผมชื่อ วรท จุ้งลก (เสื้อสีเหลือง)

 

โดย: เต้ IP: 118.173.140.50 5 ตุลาคม 2554 22:54:07 น.  

 

การปฎิวัติวัฒนธรรม คือ ยุคมืดของจีนเลยก็ว่าได้ เป็นเหตุการณ์ที่คนจีนไม่อยากพูดถึง ไม่อยากนึกถึง และจะกล่าวบ่ายเบี่ยงเสมอ คนตายเป็นล้านๆบางตำราถึงขนาดยกให้เหมาเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่มีการกระจายแนวคิดแล้วทำให้คนตายมากที่สุดในโลก เลยน่ะ การปฎิวัติที่ว่านี้ไม่ใช้การเลือกถอนหญ้าและยกไม้ใหญ่ไว้ แต่เป็นไถราบ และเผาขุดเหงาถอนโคนเลยทีเดียว พูดง่ายๆ วัฒนธรรมจีนแบบเดิมคือไม่เอาเลย กลุ่มแรกที่ตาย คือ อาจารย์ กลุ่มปัญญาชน ที่ถูกลูกศิษย์และเรดการ์ดรุมตีจนตาย ต่อมาก็กลุ่มพ่อค้า ชาวบ้าน พระ นักบวช นักการเมือง เด็ก เยอะแยะมากมาย วัดโดนเผา พระโดนฆ่า ครูนักวิชาการโดนรุมตีจนตาย ศิลปะโดนทำลาย วังกู้กงที่เราเห็นนั้นก็ของใหม่น่ะ ของเก่าโดนเผาช่วงนี้แหละ ขนาดคนที่มีญาติอยู่ต่างประเทศยังโดนรุมประนาม ทุบตีจนตายเลย ขนาดเล่นดนตรีจีนและดนตรีฝรั่งหรือแม้กระทั้ง ไปวัด ไหว้บรรพบุรุษก็จะโดนลากไปทุบตีและประจานให้คนขว้างของใส่จนตาย คนใกล้ตัว ญาติสนิท มิตรสหายกลับไว้ใจไม่ได้ นี้แหละคือความมืดของจิตใจมนุษย์ หลายคนหนีตายกันออกนอกประเทศ แต่ก็ยังโชคดีที่ท่านเจียง ขนสมบัติ ตำราเรียน ตำราศาสนา วรรณกรรม ภาพศิลป์ งานศิลป์ เครื่องดนตรี หนีทันไม่งั้น ทุกวันนี้จีนก็คงไม่เหลืออะไรที่เป็นรากเหงาดั้งเดิมเลย ขนาดทุกวันนี้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ส่วนมากยังไม่มีการนับถือศาสนาเลย

 

โดย: ความจริง IP: 171.6.246.42 27 เมษายน 2559 9:27:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Zhivago
Location :
นครศรีธรรมราช Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




มนุษย์เข้มแข็ง
กว่าที่ตนคิดไว้เสมอ
New Comments
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2549
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
10 ธันวาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Zhivago's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.