ปฎิรูป-ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม*** WHITESPACE.CO.LTD

whitespace
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




เมื่อไม่มีสิ่งใดจริง จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
.....อ่านเรื่องพุทธบารมี
.....ลีลาสมเด็จพุฒาจารย์โต
.....ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา-หลวงปู่มั่น

Google..
.....................พ่อของแผ่นดิน...
Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
25 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add whitespace's blog to your web]
Links
 

 

มรรควิถีของพระอริยะ



มรรควิถีของพระอริยะ
อวกาศสีขาว / 25 กันยา 50


. . . . . มรรค เส้นทาง ทางที่มุ่งไปสู่จุดหมายหรือผลลัพท์ของทางนั้น ส่วนผล หรือเป้าหมาย คือจุดหมายปลายทางของเส้นทาง เป็นประดุจรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่ได้รับหลังภารกิจในการเดินทางนั้นจบสิ้นลง โดยไม่หลงทาง . . .

ใครหลายคนอาจนึกอยากเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ไม่สะเทือนกับโลก เป็นผู้มีจิตนิ่งประดุจภูผา ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ใดๆ ..หรือไม่ ก็อยากเป็นพระโสดาบัน เพราะเป็นผู้เข้าถึงกระแส มีทิฏฐิดีแล้ว มีความเห็นชอบดีแล้วในระดับหนึ่ง สะเทือนกับโลกน้อยลง มีแต่จะเจริญขึ้น ในทางที่จะก้าวไปสู่ความจริงสูงสุด คือ ไปนึกเอาถึงผลหรือจุดหมายปลายทาง หวังจะได้ผลแทนจะออกเดินทางไปหาผล

แต่คนเราหากไม่เดินทาง ..ย่อมไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง การนึกเอา-ปรารถนาเอา-ฝันเอา แล้วบอกว่าจะได้จะเป็น มันก็เป็นได้ แต่เป็นได้แค่ฝันแค่ปรารถนาแค่นึกเช่นกัน บางคนออกเดินทางจริงแต่เดินไปในอีกทาง หลงทาง แต่ทั้งคนที่นึกเอาปรารถนาเอาและคนที่หลงทาง กลับมั่นใจว่าตนมาถึงจุดหมายปลายทาง จะเห็นได้ว่าคนที่คิดว่าตนเป็นพระอริยะนี่มีจำนวนไม่น้อย ไปหวังเอาผล ศึกษาผล รู้ผล อยากได้ผล แต่ไม่รู้ทาง.. อาจเพราะยังรักอัตตาไว้อย่างเหนียวแน่น อยากจะเป็นพระอริยะขึ้นมาเพราะอัตตา หากถ้าจะให้ปล่อยอัตตาจริงๆ จะทำได้หรือเปล่า ?

มรรคญาณผลญาณของพระอริยะเกิดขึ้นได้จริงๆ เมื่อลงมือเดินทางจริง คือปฏิบัติจริง การเดินทางนี่ไม่ใช่เดินเล่นๆ แต่ต้องเอาจริง เดินให้ถูกทาง อริยมรรคนี่มีอยู่ แค่คิดฝันแล้วอ้างว่าจิตมีพลังจะทำให้เกิดผลอะไรแบบนั้นมันหลงทางนะ ฤทธิ์เดชนี่ก็ทำลายกิเลสไม่ได้ คือการบรรลุธรรมนี่ ไม่ได้กลายเป็นคนวิเศษขึ้นมา แล้วก็ไม่ได้บรรลุถึงสิ่งใดเลย นอกจากดับกิเลสไป

และหากจะตัดกิเลสนั้นต้องใช้ สติ-สมาธิ-ปัญญา หรือที่จริงก็คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา คือมีกำลังทั้งห้าพร้อม แล้วคนจะมีกำลังได้ก็ต้องออกกำลังบ่อยๆ คือลงมือทำจริง มรรคนี่ต้องเจริญบ่อยๆ ทำให้แจ้ง คือ อริยมรรคมีองค์แปด สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ..หมั่นเจริญแล้วมันต้องมีกำลังขึ้นมา อริยมรรคนี่ถ้าทำแล้วก็ต้องมีกำลังอย่างอริยะ

อริยมรรคมีองค์แปดหรือศีลสมาธิปัญญาหรือสติปัฏฐานสี่นี่เอง ที่จะสร้างกำลัง ไม่ใช่ไปทำบุญแล้วมาทำบาป ช่วยพระแล้วมาด่าคนอะไรแบบนั้น ไม่ได้ประโยชน์ นอกจากขึ้นๆ ลงๆ ตามภพภูมิไม่รู้จบ เดี๋ยวขึ้นสวรรค์เดี๋ยวลงนรก ไม่ได้เป็นกุศลคือหลุดจากการเวียนว่าย เมื่อไม่ได้เข้าทางเข้ามรรคมันก็จะไม่เกิดผล หรือไปหวังเอาผลแล้วไม่ลงมือทำ แล้วผลมันจะเกิดได้อย่างไร อริยมรรคนั้นต้องพากเพียร สติอย่าให้ขาด ปัญญาก็จะเกิด

ไม่ใช่อยากเป็นพระโสดาบันเพราะจะได้มีศีลห้าบริบูรณ์ แต่กลับไม่เจริญมรรค แทนที่จะรักษาศีลคือลงมือทำก่อน เพราะเห็นโทษในการผิดศีลซึ่งทำให้เกิดกิเลสอย่างหยาบ ทั้งฆ่ากันทำร้ายกันลักขโมยกันผิดคู่กันโกหกกันขาดสติ รังแต่จะทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อนเป็นทุกข์มาก เพราะเห็นโทษแบบนั้น ก็ข่มใจไม่ผิดศีล ไม่มุสา เป็นผู้รักษาสติ ตั้งใจจะไม่ผิดศีลไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เดินทางก่อน เจริญมรรคก่อน พอถึงจุดนึงจิตมันมีกำลังประหารกิเลส ผลมันต้องได้ กลายเป็นพระโสดาบันมีศีลรักษาตัวเองขึ้นมา คือมีความเป็นปกติ ..ชีวิตไม่เดือดร้อนเพราะผิดศีล

หรือไม่ใช่อยากเป็นพระสกทาคามีเพราะจะให้กิเลสราคะโทสะโมหะลดลง แต่เพราะเห็นโทษของการผิดศีลและโทษของกิเลสที่รุนแรง ก็ตั้งสติ เอาชนะกิเลสตัวเองให้ได้ ไม่ใช่เอาชนะคนอื่นด้วยกิเลสของตัว แต่ต่อสู้กับกิเลสของตัว เอาชนะความโกรธโลภหลงของตน มรรคของพระสกทาคามีเกิดขึ้นในใจ พอวันนึงจิตมันมีกำลังพร้อมเพราะเจริญมรรคบ่อยเข้า กำลังมันก็สมังคีประหารกิเลสไป กิเลสแห้งไป ผลมันก็ต้องเกิด คือเป็นพระสกทาคามีขึ้นมา

แล้วไม่ใช่อยากเป็นพระอนาคามีเพราะจะได้ไม่มีกามราคะหรือเป็นผู้ไม่หวั่นไหวกับโลก แต่เป็นเพราะเห็นโทษของกามว่าเป็นของร้อน เห็นโทษของความมีอารมณ์หวั่นไหวไปกับโลก เดี๋ยวหวาดกลัว กลัวตาย กลัวนั่นกลัวนี่ ชีวิตมีแต่ความกลัว เดี๋ยวพอใจไม่พอใจ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวชอบชัง หงุดหงิดรำคาญใจราวคนบ้า หาความสงบมั่นคงในใจไม่ได้ คนรักษาอารมณ์ไม่ได้ก็ต้องเต้นไปตามกิเลสตัวเอง เป็นทุกข์ร้อนใจมิได้ขาด เมื่อเห็นดังนี้ ก็หมั่นเจริญมรรคสูงขึ้น มีสติรอบคอบในการรักษาอารมณ์ไม่ให้หลงโลก เมื่อเจริญมรรคละเอียดขึ้น กำลังพร้อมเมื่อไหร่มันก็ประหารกิเลสตัณหาได้ เป็นผู้ไม่มีกามไม่มีปฏิฆะ เป็นพระอนาคามีขึ้นมา

สุดท้าย.. ไม่ใช่อยากเป็นพระอรหันต์เพราะเป็นผู้บริสุทธิ์ดับกิเลสได้หมด แต่เพราะเบื่อในความไม่บริสุทธิ์ ยังมีกิเลสยังไม่พ้นการเกิด เห็นโทษในวัฏฏะสังสารอันนองไปด้วยน้ำตา มีความเกิดแก่เจ็บตายไม่เที่ยง มีความพลัดพรากโศกเศร้าเสมอ จึงหาทางพ้นไปจากการเกิด แม้นแต่สังโยชน์เบื้องสูงอันน่ายินดี คือความสุขในรูปราคะและอรูปราคะ ก็ไม่ปรารถนา ความถือตัวก็ไม่ปรารถนา มีสติในการปล่อยวางเครื่องร้อยรัดใจอยู่เสมอ เมื่อมีสติบริบูรณ์ มรรคญาณมีกำลังมาก กิเลสตัณหาทั้งมวลก็ประหารได้ขาด หมดอาสวะกิเลสสิ้นเชิง เป็นผู้มีอิสระเหนือโลก ไม่มีความยินดีในโลกแห่งทุกข์อีก เป็นผู้บริสุทธิ์เหนือบุญบาป

พุทธพจน์ "ดูก่อนอานนท์ บุคคลใดจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกาก็ตาม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือปฏิบัติธรรมถูกทาง ปฏิบัติตามตรงตามเป้าหมายแท้จริง บุคคลนั้นชื่อว่าสักการะ บูชาตถาคตด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม"

หากมีการเดินเข้ามรรคเข้าทางถูกแล้ว ย่อมเห็นสมมุติสัจจะอันไม่เที่ยง เมื่อเข้าใจสมมุติสัจจะแจ่มแจ้ง ก็ย่อมทะลวงเข้าสู่ปรมัตถ์สัจจะได้ หลุดจากสมมุติได้

เพราะความที่เห็นสมมุติสัจจะจนเบื่อหน่าย จิตก็เจริญอริยมรรคบ่อยๆ ในกรรมฐานก็ดี นอกกรรมฐานก็ดี หากเจริญมรรคจนถึงขั้นจิตทรงตัวอยู่ในอารมณ์โคตรภูญาณ คือมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ทว่ายังอยู่ระหว่างสองฝั่งคือโลกียะกับโลกุตตระ ส่วนจะข้ามฝั่งไปยังโลกกุตตระได้หรือไม่นี่ ย่อมอยู่ที่มรรคญาณจะกล้าแกร่งและมีกำลังประหารกิเลสหรือไม่ ถ้ากำลังไม่พร้อมก็ข้ามไปไม่ได้ แต่ถ้าเจริญสติต่อเนื่องมีกำลังพร้อมขึ้นมาเมื่อไหร่ แค่เสี้ยววินาทีมันได้ทันที คืออริยมรรคสมังคีนี่ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม กิเลสมันถูกประหารขาดได้ตามกำลัง ทุกที่ทุกเวลาทุกอิริยาบถ

ส่วนผลญาณคือจะเป็นอริยบุคคลขั้นไหนนี่ มันก็ตามแต่กำลังของมรรคญาณที่เจริญมานั่นเอง บางคนนั่งสมาธิภาวนาอยู่ก็อาจได้เห็นผลญาณคือจิตสว่างไสวที่ขาดจากสังโยชน์เพราะยังทรงตัวอยู่ในโลกุตตระฌาน แต่ถ้าเดินอยู่ หรืออยู่ในอิริยาบถทั่วไป ก็รู้สึกได้ว่าตัวมันเบา-จิตมันเบา กิเลสมันวูบขาดไป มันมีแต่วิชชาปัญญาเข้ามาแทน ถ้าขนาดตัดสังโยชน์สิบได้ขาดหมดนี่ มันเหมือนกับหลุดจากมายาภาพทั้งปวง มีแต่ความประจักษ์แจ้ง พิจารณาธรรมได้เข้าใจตลอดสาย ถ้าเป็นอริยะชั้นต้น มันก็เข้ากระแสนิพพาน ความเข้าใจมันเกิดขึ้น ความเห็นชอบคิดชอบมันก็ตามมา


หมายเหตุ - ที่จริง.. ว่าจะเอาอาการดับ(สมุทเฉท)จากกิเลสในรูปแบบต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มาลงให้ทราบ แต่เพื่อนเอาหนังสือพุทธธรรมของท่านธรรมปิฎกไป เลยไม่มีข้อมูลค่ะ

..


อารมณ์ฌานโลกุตตระ - หลวงพ่อฤาษีลิงดำ
(คัดย่อมาเพียงบางส่วน)


โลกุตตระ หมายความว่า ความเป็นพระอริยเจ้า

สำหรับพระอริยเจ้า 2 ขั้น คือ พระโสดาบันกับพระสกิทาคา ทั้ง 2 ท่านนี่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นผู้มีปัญญาเล็กน้อย แล้วก็มีสมาธิเล็กน้อย แต่เป็นผู้มั่นอยู่ในศีล เป็นผู้ทรงอธิศีล

คำว่า อธิ นี่แปลว่า ยิ่ง หรือว่า ใหญ่ หรือว่าทับทรงอธิศีล ก็หมายความว่า ทรงศีลอย่างยิ่ง ที่ยอมตัวตายดีกว่าศีลขาด หรือ สำหรับพระโสดาบัน มีอะไรบ้าง ถ้าว่ากันตาม สังโยชน์ ก็คือ
1. สักกายทิฏฐิ 2. วิจิกิจฉา 3. สีลัพพตปรามาส

พระสกิทาคามี ก็มีเท่ากัน สำหรับปัญญาในด้านข้อ 1 สักกายทิฏฐิ เห็นไม่ลึก ยังเห็นตื้น ๆ นั่นก็คือว่ามีความรู้สึกอยู่อย่างเดียวว่า การเกิดเป็นทุกข์ การทรงชีวิตอยู่นี่มันเป็นทุกข์ และในที่สุดชีวิตของเราก็จะต้องตาย ท่านที่เป็นพระโสดาบัน ท่านไม่ลืมความตาย แต่ไม่ใช่ว่านึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก และข้อที่ 2 วิจิกิจฉา วิจิกิจฉาตัวนี้ พระโสดาบันไม่สงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอันว่า มีความเคารพในพระพุทธเจ้าจริง มีความเคารพในพระธรรมจริง มีความเคารพในพระอริยสงฆ์จริง มีความมั่นคงในพระรัตนตรัยทั้ง 3 ประการ และข้อที่ 3 สีลัพพตปรามาส พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี สามารถทรงศีล 5 ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์แบบ หมายความว่าไม่มีเจตนาเพื่อจะละเมิดศีล 5 แค่ศีล 5 เท่านั้นนะ ตามแบบสังโยชน์ท่านกล่าวไว้ว่า พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนี่ก็เป็นแค่ตัดสังโยชน์เบา ๆ ได้ 3 และใช้ปัญญาเบา ๆ คือ มีความรู้สึกว่าร่างกายมันจะต้องตาย

แต่ว่าในอารมณ์ของการปฏิบัติ นั่นตามหนังสือนะ อารมณ์ของการปฏิบัติก็มีความรู้สึกตามนั้นจริง แค่ว่าพอจิตของเราจะก้าวออกจากโลกียฌาน เข้าสู่โลกุตตระ เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ตอนนี้จิตจะต้องเข้าสู่ โคตรภูญาณ ก่อน คำว่า โคตรภูญาณ ก็หมายถึงว่า มีอารมณ์อยู่ในระหว่างท่ามกลางโลกียะกับโลกุตตระ ตอนนี้ก็เห็นจะไม่ต้องอธิบายมาก เพราะมันจะเผือ เครื่องสังเกตง่าย ๆ สำหรับโคตรภูญาณ ใจของเรามีความรู้สึกว่า เราจะต้องตาย ตายเมื่อไหร่ก็เชิญ ในเมื่อเรามีที่พึ่ง คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เรามีศีล 5 บริสุทธิ์ เราก็ไม่หนักใจในด้านที่มันจะต้องตาย เพราะ ตายอย่างน้อยเราก็ไปสวรรค์ แต่ว่าถ้าจะถึงสวรรค์อย่างเดียวแล้วกลัวลงอบายภูมิ นี่เราไม่ต้องการ

ฉะนั้น อารมณ์ของท่านที่ปฏิบัติเพื่อที่จะเข้าถึงพระโสดาบัน พอจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ ตอนนี้จะมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง นั่นคือ จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ใครจะมาพูดถึงพรหมก็ดี พูดถึงสวรรค์ก็ดี และความเป็นใหญ่ในเมืองมนุษย์ มีความใหญ่โต มีความร่ำรวยก็ดี จิตไม่พอใจ ไม่ใช่โกรธแต่ก็ไม่เต็มใจ จิตตั้งใจอย่างเดียว คือ ต้องการพระนิพพาน นี่พูดในแนวของสุขวิปัสสโก

ถ้าพูดในแนวของวิชชาสาม วิชชาสามมี ทิพจักขุญาณเป็นเบื้องต้น พอจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ ตอนนี้กำลังของวิชชาสามจะเห็นพระนิพพานแจ่มใสชัดเจนมาก ถ้าจิตยังไม่เข้าถึงโคตรภูญาณ มองพระนิพพานเท่าไหร่ก็ไม่เห็น จะเห็นได้ก็แค่พรหม นี่เป็นเครื่องวัด สำหรับท่านที่ได้อภิญญา ถ้ากำลังจิตยังไม่เข้าถึงโคตรภูญาณ ไปถึงพระนิพพานก็ไม่ได้ ถ้ากำลังจิตนั้นเข้าถึงโคตรภูญาณไปถึงพระนิพพานก็ไม่ได้ ถ้ากำลังจิตนั้นเข้าถึงโคตรภูญาณขึ้นไป สามารถ ไปถึงพระนิพพานได้ นี่เป็นเครื่องวัด ต่างกันนะ

ที่พูดเมื่อกี้นี้ เป็นแนวของสุขวิปัสสโกว่า ถ้าจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ จิตจะมีความรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าจิตเข้าถึงพระโสดาบันปัตติผล จิตรักพระนิพพานด้วย อารมณ์ธรรมดาก็มีขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง ถูกด่า ถูกว่า ถูกนินทา มันสะเทือนน้อย สะเทือนเหมือนกัน ยังมีความโกรธเหมือนกัน แต่มันโกรธช้าหรือไม่มันโกรธเบากว่าปกติ อันนี้ท่านเรียกว่า พระโสดาบัน หรือ พระสกิทาคามี

ต่อมาก็จุดสำคัญอีกจุดหนึ่ง ก็คือ พระอนาคามี สำหรับพระอนาคามี มีจุดสังเกตที่ง่าย ๆ อยู่จุดหนึ่ง จุดที่เราจะสังเกตง่ายที่สุดคือว่า จิตใจของบุคคลใดถ้าก้าวเข้าไปสู่ในเขตของพระอนาคามี จิตของพวกนั้นมีความต้องการศีล 8 และมีการรักษาศีล 8 เป็นปกติ นี่เป็นก้าวแรกของพระอนาคามี และเราจะรู้ตัวได้เลยว่า จิตมันจะพอใจในศีล 8 เป็นปกติ ใครเขาจะมาแนะนำว่า ใครรักษาศีล 8 อดข้าวหนึ่งเวลา ทำให้สุขภาพไม่สมบูรณ์ พวกนี้ไม่ยอมรับฟัง มีความพอใจในศีล 8 และทรงศีล 8 ได้เป็นปกติ นี่ถือว่าก้าวเข้าเขตของพระอนาคามี

สำหรับพระอนาคามี พระพุทธเจ้าตรัสว่า จะต้องทรงอธิจิต คือ หมายความว่า จะต้องทรงจิตถึงฌาน 4 การเดินมาจากพระโสดาบัน สกิทาคา จะเป็นพระอนาคามีนี่เป็นของไม่หนัก เพราะว่าจิตมันทรงตัวแล้ว เรื่องฌาน 4 เป็นของไม่ยาก สำหรับท่านที่ฝึกมโนมยิทธิ ได้แล้ว นั่นแหละฌาน 4 ที่ไปโน่นไปนี่ได้น่ะ ไปด้วยกำลังของฌาน 4 ซึ่งเป็นของไม่หนัก เมื่อจิตทรงถึงฌาน 4 แล้ว พระอนาคามีต้องตัดกิเลสอีก 2 ตัว ตัดกิเลสตัวสำคัญ คือ
1. กามฉันทะ ความพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย ความสัมผัสระหว่างเพศ และรวมความว่าการครองคู่อยู่ด้วยกันในฐานะสามี ภรรยา
2. ความโกรธ ความพยาบาท ถ้าหากการก้าวเข้ามาจากพระโสดาบัน สกิทาคา ก็เป็นของไม่ยาก เพราะตอนเป็นพระสกิทาคามี ความโกรธมันเบาบางมาก ถ้าความโกรธเกิดขึ้น จิตมันให้อภัยเร็ว ที่ เรียกว่า อภัยทาน

เมื่อจิตมันทรงอารมณ์จริง ๆ ความโกรธมันก็สลาย มีตัวเมตตาเข้ามาแทน ในเมื่อกำลังใจตัดความรักในระหว่างเพศได้ พระอนาคามีเป็นเครื่องสังเกตไม่ยาก ก้าวแรกที่จะเข้ามาถึง นั่นคือ ศีล 8 และก้าวที่สองที่เข้ามาถึง ก้าวนี้ต้องดูก่อน ไม่แน่ว่าใครจะถนัดขนาดไหน บางคนก็หันมาตัดโทสะก่อน บางคนก็หันไปตัดราคะก่อน ในด้านราคะให้สังเกตดูว่าความรู้สึกระหว่างเพศไม่มีเลยสำหรับพระอนาคามี และต่อมาเรื่องของความโกรธ จริง ๆ มันก็ไม่มีอีกนั่นแหละ แต่การแสดงว่าจะโกรธมันมีอยู่ อย่างคนผู้ใต้บังคับบัญชา คือ ที่เราปกครองคน ถ้าบุคคลประเภทนั้น ถ้าเขาทำความผิดนอกคำสั่ง เห็นว่าจะเสียถ้าเตือนดี ๆ ไม่รับฟัง ก็แสดงท่าเหมือนโกรธ ถ้าขืนทำอย่างนี้จะลงโทษให้สาหัส ถ้าขืนทำจริง ๆ ก็จะต้องลงโทษตามระเบียบวินัยตามกฎข้อบังคับที่วางไว้ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นอารมณ์โกรธ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับท่านที่ได้มโนมยิทธิ เวลาจะก้าวเข้าสู่พระนิพพาน พยายามตัดขันธ์ 5 ให้เด็ดขาด ไม่สนใจกับความรัก ไม่สนใจกับความโกรธ ไม่สนใจกับความโลภ ไม่สนใจกับวัตถุธาตุใด ๆ ทำอารมณ์ใจให้ผ่องใส แล้วพยายามขึ้นไปบนพระนิพพาน อารมณ์ตอนนั้นเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ แต่เราอาจจะไม่เป็นอรหันต์ แต่ว่าเป็นอรหันต์เฉพาะจุดในเวลานั้น

แต่ก็ยังดี ถ้ามันเป็นทุกๆ วัน ไม่ช้ามันจะชิน ถ้ามันชินมันก็เกาะติด ถ้าหากจะถามว่า อารมณ์ใจเมื่อเข้าถึงอนาคามี อารมณ์ยังกระสับกระส่ายอยู่ไหม ขอบอกว่ายังมีอยู่ การเจริญสมาธิจิต ตัวแทรกก็ยังมีอยู่ อารมณ์ที่แทรกเข้ามามันเป็นอารมณ์ของกุศลอย่างเดียว อกุศลไม่มี

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน เที่ยวนี้ก็พูดถึงอารมณ์ของการปฏิบัติแต่โดยย่อ ขอให้ทุกท่านจงจำไว้ จะได้เป็นกำลังใจหรือเป็นบันไดแห่งการปฏิบัติ หากท่านสงสัยก็ทบทวนดูใหม่ให้เข้าใจ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาพุทธบริษัททุกท่าน สวัสดี




 

Create Date : 25 กันยายน 2550
0 comments
Last Update : 2 มีนาคม 2551 12:30:19 น.
Counter : 1300 Pageviews.

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.