ปฎิรูป-ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม*** WHITESPACE.CO.LTD

whitespace
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




เมื่อไม่มีสิ่งใดจริง จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
.....อ่านเรื่องพุทธบารมี
.....ลีลาสมเด็จพุฒาจารย์โต
.....ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา-หลวงปู่มั่น

Google..
.....................พ่อของแผ่นดิน...
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2550
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
18 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add whitespace's blog to your web]
Links
 

 

พระอริยะเป็นอย่างไร.. พระอรหันต์เป็นอย่างไร.. ??



พระอริยะเป็นอย่างไร.. พระอรหันต์เป็นอย่างไร.. ??
อวกาศสีขาว / 18 สิงหา 50


ใ ค ร ไ ด้ ยิ น คํ า ว่ า พ ร ะ อ ริ ย บุ ค ค ล ..อาจคิดไปได้ว่าท่านคงจะแตกต่างไปจากปุถุชน แต่ไม่ใช่ในแง่ความเบาบางจากทุกข์ หากกลับคิดไปในแง่ว่า ท่านคงมีฤทธิ์มีเดชไม่เหมือนชาวบ้านตาดำๆ ทั่วไป พอเจออริยบุคคลเข้าจริงก็ไม่สามารถสัมผัสได้

..ที่จริง พระอริยบุคคลที่ยังดำรงขันธ์เป็นเพียงคนธรรมดาทั่วๆ ไป ยิ่งไม่ใช่ฝ่ายมีอภิญญาด้วยแล้ว ยิ่งเป็นคนธรรมดาที่แสนธรรมดา ยังมีจริตนิสัยเดิมติดตัวตามวาสนาที่ละไม่ได้ แต่เรื่องทุกข์นั้นละได้แล้วตามกำลังบารมี

เป็นที่น่าคิดว่า คนส่วนใหญ่นอกจากจะศรัทธาพระสงฆ์เพราะผ้าเหลือง แล้วในคนทั่วๆ ไปที่เราอาจไม่ทราบว่าเขาเป็นพระแท้ผู้ขจัดกิเลสได้แล้วแต่ยังเป็นฆราวาสอยู่ จะมีใครทราบถึงคุณธรรมความน่าเชื่อถือของเขาหรือไม่ หากเขาไม่ใช่คนเด่นดังที่ทำงานเพื่อสังคมจนใครต่อใครรู้จัก เป็นเพียงคนธรรมดาๆ นี่จะมีใครนับถือไหม แต่ทำไมคนที่มีฤทธิ์มีเดชนี่ ต่อให้ขาดศีลขาดธรรมขาดปัญญา ผู้คนกลับแห่แหนไปกราบไหว้ให้ความศรัทธาเนืองนอง

ตอนหลวงพ่อเทียนบรรลุธรรมนั้น ท่านสอนธรรมะแก่คนทั่วไปโดยยังไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ แต่งานดำเนินไปด้วยความยากและมีอุปสรรคมาก ผู้คนปรามาสมาก จนหลวงพ่อเทียนดำริจะบวชเพื่อให้ง่ายต่อการประกาศธรรมและจะยังประโยชน์ช่วยคนได้มาก ต้องอาศัยผ้าเหลืองช่วยให้คนยอมรับได้ส่วนหนึ่ง.. ส่วนพวกมีฤทธิ์หรือพวกทำตัวให้เด่นดังในสังคมนี่ต่อให้สอนธรรมแบบผิดๆ ทำไมคนยังแห่ตามกันเป็นริ้วขบวน หลงใหลตามเชื่อกันไป

อริยบุคคลนั้นธรรมดากว่าที่ใครๆ คาดคิด เป็นเพียงผู้เข้าใจจิตอันว่างไปจากอัตตา บางท่านหากไม่ได้พูดธรรมเสวนาธรรม หรือมีบุคลิกไม่สุภาพเรียบร้อยก็เป็นเพียงคนทั่วไป ไม่ได้มาแสดงอาการอวดอ้างความวิเศษของตัว ยิ่งในรายที่อริยบุคคลสอนธรรมไม่เก่งเท่าปุถุชนบางคน แม้คุณธรรมจะสูงกว่าเท่าใด คนทั่วไปก็ยากแก่การสังเกตเข้าใจ แต่กระนั้นพระอริยะก็เป็นผู้ไปด้วยดีแล้ว มีธรรมลึกซึ้งตามที่ท่านประสบมา คนทั่วไปอาจเข้าไม่ถึง เพราะแยกแยะระหว่างธรรมที่เป็นปัจจัตตังกับธรรมที่คนมีความรู้ทั่วไปกล่าวแสดงไม่ออก และถึงแม้นจะเป็นปุถุชนผู้มีศีลสมาธิปัญญาอันดีแล้วขนาดไหน ศีลสมาธิปัญญาของเขานั้นก็ยังต่างกับอริยบุคคลอยู่ เพราะ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นโลกียะกับโลกุตตระนั้นต่างกัน

พระอาจารย์มั่น : ศีล สมาธิ ปัญญา ของผู้ปฏิบัติในภูมิกามาพจร รูปาพจร อรูปาพจร นี่แหละเป็นโลกีย์ที่เรียกว่าวัฏฏคามีกุศล เป็นกุศลที่วนอยู่ในโลก ส่วนศีล สมาธิ ปัญญา ของท่านผู้ปฏิบัติตั้งแต่โสดาบันแล้วไป เรียกว่าวิวัฎฎคามีกุศล เป็นเครื่องข้ามขึ้นจากโลก นี่แหละเป็นโลกุตตระ

อาจมีคนอยากบรรลุความเป็นอริยบุคคลด้วยกิเลสก็มี คืออยากจะมีจะเป็น โดยมัวแต่คำนึงถึงหลักปฏิบัตขั้นสูง พยายามศึกษาธรรมเพื่อความรู้มาก หลงตัวชอบสั่งชอบสอนคนอื่นทั้งที่ใช่ว่าตัวจะทำได้ แทนจะดับอัตตากลายเป็นเรื่องเพิ่มอัตตา จนขาดหลักความเข้าใจง่ายๆ คือมีความปกติทางจิตใจ รักษาสติกำหนดรู้จิตตน การศึกษาธรรมะถ้าสักแต่ว่ารู้ทว่าไม่ลงมือทำ ไม่ต่อสู้เอาชนะกิเลสตัวเอง คือเป็นการรู้แล้วก็เลือน แบบนี้ย่อมไม่แตกต่างจากการเล่าเรียนวิชาอื่นๆ เช่น สังคม เศรษฐกิจ เลขคณิต ฯลฯ รู้แล้วก็ลืมได้ แต่การจะเอาปริญญาทางธรรมให้ได้นั้นต่างจากวิชาอื่นๆ คือ ต้องปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แค่รู้ ถ้าแค่รู้ ต่อให้มีผู้นับถือมากแค่ไหน ก็เป็นเพียงฉากจอมปลอมที่ทำให้ตัวเองมีแต่ทุกข์

การจะเข้าถึงนิพพานนั้น หากเป็นคนไม่มีความกตัญญูธรรม หรือมีคุณธรรมศีลธรรมในใจ ไม่ปฏิบัติตามแนวทางอริยมีองค์แปดจริงๆ การรู้ธรรมะต่างๆ ไม่ว่าจะรู้ธรรมเรื่องอะไรก็ไม่มีความหมาย เพราะความรู้มากไม่ได้ช่วยให้ผ่านด่านดับกิเลสได้ การรู้แต่ปาก รู้แต่ความคิด อาจจะยิ่งเป็นการเสริมอัตตาให้แรงกล้า อวดดีจนเกินจะทำให้เข้าใจและปล่อยวางความยึดถือต่างๆ ที่เป็นอวิชชาลง

พระอริยบุคคลในศาสนาพุทธนั้นมีสี่ขั้น ขั้นต้นคือพระโสดาบันและพระสกทาคามี ขั้นสูงคือพระอนาคามีและขั้นสูงสุดคือพระอรหันต์

พระโสดาบันและพระสกทาคามี สามารถตัดอาสวะกิเลสสังโยชน์ได้สามข้อแรก คือ ละสักกายทิฏฐิ ทราบว่าตัวตนนั้นไม่มีจริง ละสีลัพพตปรามาส ไม่มีความสงสัยในเรื่องกฎกรรม-เชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และละวิจิกิจฉา คือหมดความสงสัยว่าอะไรใช่ทางไม่ใช่ทาง ส่วนพระสกทาคามีนั้น จะตัดกิเลสราคะโทสะโมหะให้เบาบางลงไปมากกว่าพระโสดาบัน
พระอนาคามี สามารถตัดอาสวะกิเลสสังโยชน์เบื้องต่ำได้ห้าข้อ เพิ่มอีกสองข้อจากพระอริยะขั้นต้น คือ ละปฏิคะ ตัดอารมณ์สะเทือนจากการถูกกระทบมีจิตหวั่นไหวได้ยาก และละกามราคะ ตัดจากกามารมณ์อันเป็นของเผ็ดร้อนและมีประโยชน์น้อย
พระอรหันต์ สามารถตัดอาสวะสังโยชน์สิบ คือละสังโยชน์เบื้องสูงอีกห้าข้อสุดท้าย ซึ่งเป็นอารมณ์ความสุขอันละเอียด คือ รูปราคะ การติดใจในรูปฌาน อรูปราคะ การติดใจในอรูปฌาน มานะ ความถือตัว อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน และอวิชชา ความหลงความไม่รู้จริง


บทเสวนาธรรมระหว่างพระอาจารยมั่นกับพระธรรมเจดีย์
ในรายละเอียดของการตัดสังโยชน์ของพระอริยเจ้าและพระอริยบุคคล (คัดมาบางส่วนเท่านั้น)


พระอาจารย์มั่น : ...ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านที่ได้เป็นโสดาบันเสร็จแล้ว มีอัธยาศัยใจคอซึ่งต่างกับปุถุชน ท่านได้ละกามราคะพยาบาทส่วนหยาบถึงกับล่วงทุจริตซึ่งเป็นฝ่ายอบายคามีได้ คงเหลือแต่อย่างกลาง อย่างละเอียดอีก 2 ส่วน ภายหลังท่านเจริญสมถวิปัสสนามากขึ้น ก็ละกามราคะปฏิฆะสังโยชน์อย่างกลางได้อีกส่วนหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่านี่แหละเป็นมรรคที่ 2 ต่อมาท่านประพฤติปฏิบัติละเอียดเข้า ก็ละกามราคะพยาบาทที่เป็นอย่างละเอียดได้ขาด ชื่อว่าพระอนาคามี

พระธรรมเจดีย์ : กามราคะพยาบาทอย่างหยาบถึงกับล่วงทุจริต หมายถึงทุจริตอย่างไหน ?

พระอาจารย์มั่น : หมายเอาอกุศลกรรมบถ 10 ว่าเป็นทุจริตอย่างหยาบ

พระธรรมเจดีย์ : ถ้าเช่นนั้นพระโสดาบันท่านก็ละอกุศลกรรมบถ 10 ได้ เป็นสมุจเฉทหรือ ?

พระอาจารย์มั่น : ตามความเห็นของข้าพเจ้า เห็นว่ากายทุจริต 3 คือ ปาณา อทินนา กาเมสุมิจฉาจาร มโนทุจริต 3 อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฎฐินี้ละขาดได้เป็นสมุจเฉท ส่วนวจีกรรมที่ 4 คือ มุสาวาทก็ละได้ขาด ส่วนวจีกรรมอีก 3 ตัว คือ ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาป ละได้แต่ส่วนหยาบที่ปุถุชนกล่าวอยู่ แต่ส่วนละเอียดยังละไม่ได้ต้องอาศัยสังวรความระวังไว้

พระธรรมเจดีย์ : ที่ต้องสำรวมวจีกรรม 3 เพราะเหตุอะไร ทำไมจึงไม่ขาดอย่างมุสาวาท ?

พระอาจารย์มั่น : เป็นด้วยกามราคะ กับปฏิฆะ สังโยชน์ทั้ง 2 ยังละไม่ได้

พระธรรมเจดีย์ : วจีกรรม 3 มาเกี่ยวอะไรกับสังโยชน์ทั้ง 2 ด้วยเล่า ?

พระอาจารย์มั่น : บางคาบบางสมัย เป็นต้นว่ามีเรื่องที่จำเป็นเกิดขึ้น ในคนรักของท่านกับคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเขาทำความไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องพูด ครั้นพูดไปแล้วเป็นเหตุให้เขาห่างจากคนนั้น จึงต้องระวัง ส่วนปิสุณาวาจา บางคราวความโกรธเกิดขึ้นที่สุดจะพูดออกไป ด้วยกำลังใจที่โกรธว่าพ่อมหาจำเริญแม่มหาจำเริญ ที่เรียกว่าประชดท่าน ก็สงเคราะห์เข้าใจผรุสวาจา เพราะเหตุนั้นจึงต้องสำรวม ส่วนสัมผัปปลาปนั้น ดิรัจฉานกถาต่างๆมีมาก ถ้าสมัยที่เผลอสติมีคนมาพูด ก็อาจจะพลอยพูดไปด้วยได้ เพราะเหตุนั้นจึงต้องสำรวม

พระธรรมเจดีย์ : อ้อพระโสดาบันยังมีเวลาเผลอสติอยู่หรือ ?

พระอาจารย์มั่น : ทำไมท่าจะไม่เผลอ สังโยชน์ยังอยู่อีกถึง 7 ท่านไม่ใช่พระอรหันต์จะได้บริบูรณ์ด้วยสติ

พระธรรมเจดีย์ : ก็กามราคะ พยาบาท อย่างละเอียดนั้นหมายเอาแค่ไหน แลเรียกว่าพยาบาทดูหยาบมาก เพราะเป็นชื่อของอกุศล ?

พระอาจารย์มั่น : บางแห่งท่านก็เรียกว่าปฏิฆะสังโยชน์ก็มี แต่ความเห็นของข้าพเจ้าว่า ไม่ควรเรียกพยาบาท ควรจะเรียกปฏิฆะสังโยชน์ดูเหมาะดี

พระธรรมเจดีย์ : ก็ปฏิฆะกับกามราคะที่อย่างละเอียดนั้นจะได้แก่อาการของจิตเช่นใด ?

พระอาจารย์มั่น : ความกำหนัดที่อย่างละเอียด พอปรากฏขึ้นไม่ทันคิดออกไปก็หายทันที ส่วนปฏิฆะนั้น เช่นคนที่มีสาเหตุโกรธกันมาแต่ก่อน ครั้นนานมาความโกรธนั้นก็หายไปแล้ว และไม่ได้นึกถึงเสียเลย ครั้นไปในที่ประชุมแห่งใดแห่งหนึ่ง ไปพบคนนั้นเข้ามีอาการสะดุดใจไม่สนิทสนมหรือเก้อเขิน ผิดกับคนธรรมดาซึ่งไม่เคยมีสาเหตุกัน ข้าพเจ้าเห็นว่าอาการเหล่านี้เป็นอย่างละเอียด ควรจะเรียกปฏิฆะสังโยชน์ได้ แต่ตามแบบท่านก็ไม่ได้อธิบายไว้

พระธรรมเจดีย์ : สังโยชน์ทั้ง 2 นี้ เห็นจะเกิดจากคนโดยตรง ไม่ใช่เกิดจากสิ่งของทรัพย์สมบัติอื่นๆ ?

พระอาจารย์มั่น : ถูกแล้ว เช่นวิสาขะอุบาสกเป็นพระอนาคามี ได้ยินว่าหลีกจากนางธัมมทินนา ไม่ได้หลีกจากสิ่งของทรัพย์สมบัติส่วนอื่นๆ ส่วนความโกรธหรือปฏิฆะที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องของคนทั้งนั้น ถึงแม้จะเป็นเรื่องสิ่งของก็เกี่ยวข้องกับคน ตกลงโกรธคนนั่นเอง

พระธรรมเจดีย์ : ส่วนสังโยชน์เบื้องต่ำนั้น ก็ได้รับความอธิบายมามากแล้ว แต่ส่วนสังโยชน์เบื้องบน 5 ตามแบบอธิบายไว้ว่า รูปราคะ คือ ยินดีในรูปฌาน อรูปราคะยินดีในอรูปฌาณ ถ้าเช่นนั้นคนที่ไม่ได้บรรลุฌาณสมาบัติ 8 สังโยชน์ทั้งสองก็ไม่มีโอกาสจะเกิดได้ เมื่อเป็นเช่นนี้สังโยชน์สองอย่างนี้ ไม่มีหรือ ?

พระอาจารย์มั่น : มี ไม่เกิดในฌาณ ก็ไปเกิดในเรื่องอื่น

พระธรรมเจดีย์ : เกิดในเรื่องไหนบ้าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ ?

พระอาจารย์มั่น : ความยินดีในรูปขันธ์ หรือความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ นั้นชื่อว่ารูปราคะ ความยินดีในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือยินดีในสมถวิปัสสนา หรือยินดีในส่วนมรรคผล ที่ได้บรรลุเสขคุณแล้ว เหล่านี้ก็เป็นอรูปราคะได้

พระธรรมเจดีย์ : ก็ความยินดีในกาม 5 พระอนาคามีละได้แล้วไม่ใช่หรือ ทำไมจึงมาเกี่ยวกับสังโยชน์เบื้องบนอีกเล่า ?

พระอาจารย์มั่น : กามมี 2 ชั้น ไม่ใช่ชั้นเดียว ที่พระอนาคามีละได้นั้น เป็นส่วนกำหนัดในเมถุน ซึ่งเป็นคู่กับพยาบาท ส่วนความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับเมถุน จึงเป็นสังโยชน์เบื้องบน คือรูปราคะ ส่วนความยินดีในนามขันธ์ทั้ง 4 หรือสมถวิปัสสนาหรือมรรคผลชั้นต้นๆ เหล่านี้ ชื่อว่าอรูปราคะ ซึ่งตรงกับความยินดีในธัมมารมณ์ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายเบื่อหน่ายในรูปขันธ์ หรือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ เป็นภายนอก จึงได้สิ้นไปแห่งรูปราคะสังโยชน์ และท่านเบื่อในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และสมถหรือวิปัสสนาะที่อาศัยขันธ์เกิดขึ้น เมื่อท่านสิ้นความยินดีในนามขันธ์แล้ว แม้ธรรมทั้งหลายอาศัยขันธ์เกิดขึ้นท่านก็ไม่ยินดี ได้ชื่อว่าละความยินดีในธัมมารมณ์ซึ่งคู่กับความยินร้าย เพราะความยินดียินร้ายในนามรูปหมดแล้ว ท่านจึงเป็นผู้พ้นแล้วจากความยินดียินร้ายในอารมณ์ 6 จึงถึงพร้อมด้วยคุณ คือ ฉะลังคุเบกขา


... จะเห็นได้ว่า การเป็นพระอริยะหรือเป็นพระอรหันต์หรือผู้ดับเพลิงทุกข์สิ้นเชิงนั้น ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับฤทธิ์กับเดชแต่ประการใด แต่เป็นเรื่องของปัญญาล้วนๆ ในบางครั้ง.. ผู้เขียนก็เคยสงสัยว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ฤทธิ์อภิญญาหรือมีความเป็นพระสัพพัญญูเจ้า จะมีคนนับถือพระพุทธองค์สักกี่คน ?? และถ้าหากจะพูดในกรณีที่พระอริยบุคคลทั้งสี่นี้ ไม่มีอภิญญาหก หรือวิชชาสาม ลำพังเพียงบุญฤทธิ์คือฤทธิ์ที่กำจัดอาสวะกิเลสไปเสียได้ จะมีผู้คนนับถือมากมายขนาดไหน ??

นั่นก็เพราะพระอริยบุคคลไม่ได้วิเศษวิโสอะไรเลย เป็นแค่คนเข้าใจสัจธรรมด้านโลกและด้านธรรมขึ้นมา ได้เข้าไปเห็นความจริงของจิตอันไม่เป็นตัวเป็นตน นอกจากความเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป สามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในชาติภพตัวตน ด้วยการเข้าใจหลักธรรมนี่เองนับเป็นบุญฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ กลายเป็นผู้เห็นทุกข์เข้าใจทุกข์และรู้ทางระงับทุกข์ลงเสียได้

แต่โดยหมู่ชนทั่วไป จะมีใครที่ไหนให้ความสนใจว่าพระอริยะเป็นอย่างไร ถ้าให้ไปฟังธรรมกลับนึกเหนื่อยหน่ายไม่อยากรู้ไม่อยากเห็นไม่อยากได้ยิน ครั้นพอให้ไปกราบไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ผู้ทรงฤทธิ์ ก็นิยมแห่แหนตามกันไป เพราะอยากรู้อยากเห็น อยากรวย อยากมีโชคลาภ อยากสุขสมหวัง ทั้งที่ส่วนใหญ่หมดเนื้อหมดตัวไปกับสิ่งเหล่านี้ ความสมหวังเทียบไม่ได้กับความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า ทำไมฤทธิ์ราคาแพงที่ไม่ได้ทำให้ล่วงทุกข์กลับมีคนสนใจมากกว่า ส่วนฤทธิ์ในการเห็นธรรมชาติตามจริงและรู้หนทางดับทุกข์ว่ามี กลับเรียกศรัทธาคนได้ยาก หนำซ้ำบางคนรู้มาก วิ่งตามหาพระอริยะก็หาแต่พระอริยะขั้นสูงที่มีอภิญญา เพราะทราบว่าฤทธิ์ของพระอริยะแม่นยำและไม่เสื่อมอย่างปุถุชน

ฤทธิ์เดชล้นฟ้าแต่ยังพ่ายกฎกรรม ไม่อาจหนีการตามล่าของพญามัฉจุราช ยิ่งใหญ่ปานใดแต่ก็ไม่อาจใหญ่กว่าโลง

....


การดูพระอริยเจ้านั้นดูได้ยาก : พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ

การดูพระอริยเจ้านั้น ส่วนมากจะสุ่มเดาตามกิริยาที่แสดงออกมาทางกายและวาจา การดูในลักษณะอย่างนี้ก็ยากที่จะถูกต้องได้ เพราะพระอริยเจ้ากับผู้ยังเป็นปุถุชนมีกิริยามรรยาทการแสดงออกมาทางกายและวาจาเหมือน ๆ กัน ถึงท่านผู้นั้นจะได้บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม จะตัดนิสัยเดิมของท่านเองไม่ได้ นิสัยเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น เช่น พระสารีบุตรในชาติก่อนมาเคยเป็นลิง นิสัยลิงก็ยังติดตัวมา ฉะนั้น พระสารีบุตรจึงชอบกระโดดโลดเต้นอยู่เป็นนิสัย เห็นกิ่งไม้ใดพอจะกระโดดจับโหนตัวเล่นก็ต้องทำ หรือเห็นน้ำบ่อพอจะกระโดดข้ามได้ก็ต้องกระโดดไปมา จนพระองค์อื่นเห็นก็เกิดความแปลกใจ ทำไมพระสารีบุตรจึงแสดงในกิริยามรรยาทที่ไม่เหมาะสมอย่างนี้ ไม่สมศักดิ์ศรีที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระอรหันตสาวกข้างขวาของพระพุทธเจ้าเลย จึงมีพระองค์อื่นโจษขานกันขึ้นและเล่าเรื่องของพระสารีบุตรถวายแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิสัยเดิมของพระสาวกนั้นละไม่ได้ นิสัยเคยเป็นมาในอดีตมีอย่างไร การแสดงออกมาทางกายและวาจาก็ชอบแสดงออกมาอย่างนั้น ฉะนั้น

จึงได้เปรียบนิสัยของพระอริยเจ้าและปุถุชนไว้ดังนี้
๑. น้ำลึกเงาลึก ๒. น้ำลึกเงาตื้น ๓. น้ำตื้นเงาลึก ๔. น้ำตื้นเงาตื้น
ทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นวิธีตัดสินได้ยากมาก เพราะไม่มีญาณหยั่งรู้พิเศษเฉพาะตัว นอกจากจะสุ่มเดาไปเท่านั้น

ข้อ ๑ คำว่า น้ำลึกเงาลึก หมายความว่า ท่านผู้นั้นมีคุณธรรมอยู่ในใจแล้ว และก็ยังมีนิสัยกิริยามรรยาทการแสดงออกมาทางกายและวาจามีความสุขุมลุ่มลึก เป็นนิสัยเดิมของท่านเป็นมาอย่างนั้น ถ้าลักษณะอย่างนี้ก็พอจะเดาถูกบ้าง

ข้อ ๒ คำว่า น้ำลึกเงาตื้น หมายความว่า ท่านผู้นั้นมีคุณธรรมอยู่ภายในใจแล้ว แต่กิริยามรรยาทการแสดงออกมาทางกายและวาจาไม่มีความสำรวมเลย อยากแสดงตัวอย่างไร อยากพูดอย่างไร ก็เป็นในความไม่สำรวมทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ผิดในพระธรรมวินัย ไม่มีอกิริยาภายในใจ แต่เป็นเพียงกิริยาที่แสดงออกมาเท่านั้น ถ้าหากไปพบเห็นผู้ที่ท่านเป็นนิสัยอย่างนี้ ก็จะเดาภายในใจไปเลยว่า ท่านผู้นี้ยังเป็นปุถุชนทันที เพราะมีนิสัยไม่น่าเคารพเชื่อถือได้เลย

ข้อ ๓ ส่วน น้ำตื้นเงาลึก หมายความว่า ท่านผู้นั้นยังไม่มีคุณธรรมภายในใจ แต่กิริยามรรยาทการแสดงออกมาทางกายและวาจานั้นมีความสุขุมลุ่มลึกมาก การสำรวมทางกาย การสำรวมทางวาจาน่าเลื่อมใส ใครได้พบเห็นแล้วจะเกิดความเชื่อถือเป็นอย่างมาก เพราะความบกพร่องในความชั่วร้ายในตัวท่านไม่มี ถ้าได้พบเห็นผู้ที่ท่านมีนิสัยอย่างนี้ ก็จะเดาไปว่าเป็นพระอริยเจ้าทันที

ข้อ ๔ ส่วน น้ำตื้นเงาตื้น หมายความว่า ท่านผู้นั้นยังไม่มีคุณธรรมภายในใจเลย กิริยามรรยาทการแสดงออกทางกายทางวาจาไม่มีความสำรวมแต่อย่างใด ทำไปพูดไปตามใจชอบ ถ้าหากพบเห็นท่านผู้ใดมีกิริยาการแสดงออกมาอย่างนี้ ก็จะพอเดาถูกอยู่บ้าง

ถ้าจะดูนิสัยน้ำลึกเงาตื้น หรือดูนิสัยน้ำตื้นเงาลึก คิดว่าท่านจะต้องเดาผิดอย่างแน่นอน ฉะนั้น การสุ่มเดาว่าใครเป็นพระอริยเจ้า และใครเป็นปุถุชนนั้น จึงยากที่จะสุ่มเดาให้ถูกทั้งหมดได้ ถึงพระอริยเจ้าด้วยกันก็ยังไม่รู้กันทั้งหมดได้ เช่น พระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันก็ยังไม่สามารถดูภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นพระสกิทาคามี พระอริยเจ้าขั้นพระสกิทาคามีก็ไม่สามารถดูภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นพระอนาคามีได้ พระอริยเจ้าขั้นพระอนาคามีก็ไม่สามารถดูภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นพระอรหันต์ได้ แม้พระอรหันต์องค์ที่ท่านไม่มีญาณพิเศษส่วนตัว ก็ไม่สามารถรู้ภูมิธรรมขององค์อื่นได้ แต่เมื่อได้สนทนาธรรมกันแล้ว ท่านจะรู้ทันทีว่า ท่านผู้นั้นมีภูมิธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ทันที ในบางกรณีพระอรหันต์ก็ย่อมรู้กันได้ หรือรู้ภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นอื่นได้ด้วย นั่นคือ เป็นผู้มีนิสัยเกี่ยวข้องกันมาในอดีต เคยสร้างบารมีร่วมกันมา และเคยร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาหลายภพหลายชาติ ถ้าในกรณีอย่างนี้ก็พอรู้กันบ้าง ถึงจะรู้ท่านก็ไม่โฆษณา นอกจากว่าจะพูดเป็นนัย ๆ ให้ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดฟังบางโอกาสเท่านั้น เช่นว่า เพชรน้ำหนึ่งอยู่ที่โน้นที่นี้ หรือพูดว่า ท่านองค์นั้นมีสติดีแล้วนะ อย่างนี้เป็นต้น

เมื่อศาสนาล่วงเลยมาจนบัดนี้แล้ว ความคิดเห็นของแต่ละท่านก็ย่อมมีความแตกต่างกันไป ดังได้ยินอยู่เสมอว่า ในยุคนี้สมัยนี้ ไม่มีพระอรหันต์เกิดขึ้นได้เลย เพราะหมดยุคหมดสมัยไปแล้ว ส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจกันอย่างนี้ แต่ก็ยังมีผู้เชื่อว่าในยุคนี้สมัยนี้ยังมีพระอรหันต์อยู่ แต่ก็มีน้อยองค์ จะนับเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมาไม่ได้ ดังคำว่า เมื่อใดยังมีผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอยู่ เมื่อนั้นจะไม่ขาดจากพระอรหันต์ ถึงจะมีพระอรหันต์หรือพระอริยเจ้าขั้นอื่น ๆ น้อยก็ตาม ก็ยังนับว่ายังมีอยู่นั้นเอง

ถ้าหากมีคำถามว่า ในยุคนี้สมัยนี้ถ้าหากยังมีพระอรหันต์อยู่จริง ว่าใครเป็นพระอรหันต์ ก็บอกแล้วว่าดูยากมาก ถ้าหากจะดูจริง ๆ ก็ดูอัฐิของหลวงพ่อต่าง ๆ ที่ถูกเผาไปก็แล้วกัน ถ้าอัฐินั้นได้แปรสภาพเป็นเม็ดใสเหมือนกับเมล็ดงา หรือมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หลักจากเผาไปแล้วไม่นานนัก นั้นแหละคือพระอรหันต์โดยแท้ ส่วนพระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน อัฐิยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพราะมีกิเลสภายในใจละยังไม่หมด บางท่านยังเข้าใจว่า อัฐิได้แปรสภาพเป็นพระธาตุตั้งแต่ภูมิธรรมพระโสดาบันขึ้นไป

ความเข้าใจอย่างนี้ไม่มีประวัติในครั้งพุทธกาลเลย ถ้าเช่นนั้น พระโสดาบันผู้ที่จะไปเกิดอีก ๗ ชาติข้างหน้าโน้น แต่ละชาติภูมิธรรมก็ไม่ได้เสื่อมไปจากใจ เมื่อตายไปแต่ละชาติ อัฐิก็จะกลายเป็นพระธาตุทุกชาติไปอย่างนั้นหรือ บางท่านก็เข้าใจว่า การอธิษฐานให้อัฐิกลายเป็นพระธาตุก็เป็นได้ นี้ความเข้าใจของคนเรา จึงมีความแตกต่างกันไป ดังได้ยินว่า อัฐิของหลวงปู่องค์นั้นได้แปรสภาพเป็นพระธาตุขึ้นมาแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็สวนขึ้นมาทันทีว่า เรื่องไร้สาระหาวิธีหลอกประชาชนให้งมงาย คนประเภทนี้ก็มีอยู่ในโลก ไม่ยอมรับความจริงจากใคร ๆ ไม่ว่าในยุคนี้หรือครั้งพุทธกาล แม้พระพุทธเจ้าของเรา ก็ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง

ฉะนั้น ในโลกนี้จึงเกิดลัทธิขึ้นมาเป็นกลุ่มเป็นคณะ แต่ละกลุ่มแต่ละหมู่ก็พยายามปกป้องในกลุ่มตัวเองและปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง โจมตีกันไปว่าฝ่ายโน้นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ไป ในที่สุดก็เกิดสงครามน้ำลายกัน หรือมากกว่านี้ก็ใช้เครื่องทุ่นแรง มีปืน มีระเบิดเข้าถล่มกัน ล้มตายกันไปทั้งสองฝ่าย ลักษณะอย่างนี้นับวันจะเกิดความรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ นี่คือความแปรปรวนที่เป็นธรรมชาติของสัตว์โลกทั้งหลาย เมื่อถึงกาลเวลาแล้วจะต้องเป็นไปในตัวของมนุษย์เอง อาวุธทุกประเภทที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ก็เพื่อสังหารในหมู่มนุษย์กันเองมิใช่หรือ

ฉะนั้น นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ปัญญาชนผู้มีเหตุผลเป็นส่วนตัว ก็พอจะเข้าใจแล้วว่า การเปลี่ยนไปในสังคมโลก จะเบี่ยงเบนไปในทางทิศใด ถ้าหากเราจะพิจารณาย้อนหลังลงไปสัก ๕๐ - ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาแล้ว มาเปรียบเทียบดูในสังคมยุคปัจจุบันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วให้คาดการณ์ล่วงหน้าไปอีกสัก ๑๐๐ - ๒๐๐ ปีข้างหน้า ก็จะรู้ว่าสังคมในหมู่มนุษย์ทั่วโลกย่อมมีการเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

ฉะนั้น ขอนักปฏิบัติทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต บุญกุศลใดที่เราจะพึงทำในขณะนี้ก็รีบทำเอาเสีย เพราะไม่รู้ว่าชีวิตเราจะหมดไปเมื่อไร เมื่อถึงวันนั้นแล้วจะปรับตัวไม่ทัน ดังเราเห็นกันอยู่ในขณะนี้เอง และบุญกุศลที่ได้พิมพ์หนังสือประวัติหลวงพ่อทูลในครั้งนี้ ขอจงเป็นพลวปัจจัยให้ได้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมในชาติปัจจุบันนี้เทอญ.




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2550
0 comments
Last Update : 7 กันยายน 2550 15:19:38 น.
Counter : 4847 Pageviews.

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.