ปฎิรูป-ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม*** WHITESPACE.CO.LTD

whitespace
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




เมื่อไม่มีสิ่งใดจริง จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
.....อ่านเรื่องพุทธบารมี
.....ลีลาสมเด็จพุฒาจารย์โต
.....ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา-หลวงปู่มั่น

Google..
.....................พ่อของแผ่นดิน...
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
15 กุมภาพันธ์ 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add whitespace's blog to your web]
Links
 

 
ศรัทธา ปัญญา จริตผลต่อการฝึกฝนสมาธิ

*
น อ ก จ า ก จ ะ แ พ้ แ ส ง ค อ ม พ์ อย่างแรง จนต้องหนีเทคโนโลยี ช่วงนี้กลับมานั่งสมาธิด้วยค่ะ ถึงแม้จะเจอนิวรณ์ตัวง่วง(ถีนมิทธะ)เล่นงานเอาหนัก เพราะนึกอยากจะฝึกถอดจิตให้ได้สักที เหตุก็เพราะกลัวความก้าวหน้าของแวดวงการแพทย์มาก คนที่เส้นสมองแตกหรือตายไปชั่วระยะนึงจนจิตวิญญาณออกจากร่างไปแล้วแต่ร่างกายยังมีชีวิตตามอายุเซลล์และอวัยวะต่างๆ หมอทั้งหลายยังใช้เครื่องมือกระตุ้นเรียกจิตให้กลับเข้าร่างจนได้ พอกลับเข้ามาแล้วเป็นไง คราวนี้..ก็ออกไม่ได้แล้วซิ - - “ ต้องทนอยู่กับร่างกายที่ใช้งานแทบไม่ได้ สมองก็เสียหายไปเยอะแล้ว บังคับบัญชาร่างกายอะไรไม่ค่อยได้ กว่าจะได้ตายอีกที ทีนี้ทรมานกว่าตาย

ทำไมญาติพี่น้องถึงกลัวคนที่รักคนหนึ่งตายแต่ไม่กลัวเขาเจ็บปวดทรมาน พวกเขาคงกลัวการพลัดพราก และไม่รู้ว่าคนที่รักจะไปอยู่ที่ไหน ส่วนผู้เขียนกลัวเจ็บแต่ไม่กลัวตาย เพราะที่จริงจิตแค่เปลี่ยนรูปไป การได้รูปเป็นมนุษย์ ถือว่าต้องมีความดีมาระดับนึง หรือไม่ก็ใช้กรรมไปจนหมด ก่อนมาเกิดเป็นคนใหม่ ใครเพิ่งขึ้นจากนรกมาหมาดๆ แล้วทำชั่วอีก แสดงว่าอยากกลับไปทรมานในนรกใหม่ เป็นพวกมาโซคิสท์(masochist) อันนี้ก็ตัวใครตัวมันละนะ

แต่อย่างว่า คนที่ไม่สนใจเรื่องกรรม เขาก็ไม่สนใจ ขึ้นๆ ล่องๆ ภพภูมิไปตามเรื่อง
ส่วนผู้เขียนถ้าถอดจิตได้ก็ดีค่ะ จะได้ไปเที่ยวแบบไม่เสียตังค์ เวลาเส้นเลือดในสมองแตกตาย แล้วใครมาเรียกกลับ กลับมาแล้วก็ยังออกได้…ใครจะโง่อยู่ล่ะจ๊ะ.... - - “
เ ข้ า เ รื่ อ ง ดี ก ว่ า

....................................................

*

ศรัทธา ปัญญา จริตผลต่อการฝึกฝนสมาธิ
อวกาศสีขาว



......น อ ก จ า ก การฝึกสติปัฏฐานสี่ที่ควรทำทุกขณะ การฝึกสมาธิโดยตรงก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อจิตใจและร่างกาย และเป็นตัวส่งเสริมหนุนให้สติเจริญขึ้น คือเป็นการส่งเสริมต่อกันและกัน

ความที่คนเรามีหลายจริต หลายความยึดติด การฝึกสมาธิ จึงต้องเลือกให้เข้ากับจริตของตนจึงจะก้าวหน้าหรือเกิดญาณปัญญาได้ง่ายขึ้น

ก ร ร ม ฐ า น 40 ก อ ง ...เพื่อช่วยการฝึกฝนสมาธิให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีดังนี้ กสิณ 10 อสุภภะ 10 อนุสติ 10 อัปปมัญญา (พรหมวิหาร) 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุวัฏฐานสี่ 1 อรูป 4

- กสิญ 10 คือ *ภูตกสิณ คือ ดิน(ปฐวี) น้ำ(อาโป) ลม(วาโย) ไฟ(เตโช) *วรรณกสิณ คือ เขียว(นีล) เหลือง(ปีต) แดง(โลหิต) ขาว(โอทาต) *กสิณอื่นๆ คือ แสงสว่าง(อาโลก) ช่องว่าง(อากาศ-ปริสฉินนากาส)
- อสุภะ 10 คือ * พิจารณาซากศพระยะต่างๆ 10 ระยะ
- อนุสติ 10 คือ *พุทธานุสติ *ธรรมานุสติ *สังฆานุสติ *สีลานุสติ * จาคานุสติ *เทวตานุสติ *มรณานุสติ *กายคตานุสติ *อานาปานสติ *อุปสมานุสติ
- อัปปมัญญา 4 หรือพรหมวิหาร 4 คือ *เมตตา *กรุณา *มุทิตา *อุเบกขา
- อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือ *กำหนดความเป็นปฏิกูลในอาหาร
- จตุธาตุวัฏฐานสี่ คือ *พิจารณาร่างกายสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่
- อรูป 4 คือ *อากาสานัญจายตนะ(ช่องว่างไม่สิ้นสุด) *วิญญาณัญจายตนะ(วิญญาณไม่สิ้นสุด) *อากิญจัญญายตนะ(ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์แม้แต่วิญญาณ) *เนวสัญญานาสัญญายตนะ(เลิกกำหนดแม้แต่ภาวะไม่มีอะไร มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)

จ ริ ต ...หมายถึงบุคคลที่มีลักษณะนิสัยหรือมีความประพฤติอย่างนั้นๆ แบ่งออกเป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ

1.ราคจริต หนักไปทางราคะ ลุ่มหลงรักสวยรักงาม ละมุนละไม กรรมฐานคู่ปรับคืออสุภะและกายคตาสติ
2.โทสจริต หนักไปทางโทสะ ใจร้อนหงุดหงิดง่าย ไม่สบอารมณ์ได้ง่าย กรรมฐานที่เหมาะคือ เมตตา รวมไปถึงพรหมวิหาร และวรรณกสิณ
3.โมหจริต หนักไปทางเขลา เหงาซึม เงื่องงง งมงาย คล้อยตามได้ง่าย โลเลวนเวียน แก้ด้วยการฟังธรรม อยู่ใกล้ครู กรรมฐานที่เกื้อกูลได้คือ อานาปานสติ
4.วิตกจริต ชอบคิดวกวน จับจดฟุ้งซ่าน พึงแก้ด้วยการเจริญอานาปานสติ หรือเพ่งกสิณ
5.สัทธาจริต มีลักษณะมากไปด้วยศรัทธา หนักไปทางซาบซึ้งง่าย ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใส พึงชักนำไปในสิ่งที่ควรเลื่อมใส ความเชื่อที่มีเหตุผล ระลึกถึงพระรัตนตรัยและศีล ควรใช้กรรมฐานอนุสติ 6 ข้อแรก
6.พุทธจริต หรือญาณจริต เป็นผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ หนักไปทางใช้ความคิดพิจารณาและมองอะไรตามความเป็นจริง ส่งเสริมด้วยแนะนำให้ใช้ความคิดพิจารณาสภาวธรรมให้เจริญปัญญา เช่น พิจารณาไตรลักษณ์ กรรมฐานที่เหมาะคือ มรณานุสติ อุปสมาสติ จตุธาตุวัฎฐาน อาหาเรปฏิกูลสัญญา

(ข้อมูลกรรมฐาน 40 จริต 6 อ้างอิงจากหนังสือพุทธธรรม โดยท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ส่วนเรื่องกำลังของจิตหรือพลังจิต ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ยอมรับแล้วว่า จิตนั้นไม่ใช่สมองและไม่ใช่ร่างกาย แต่เป็นตัวรู้ตัวหนึ่งที่มีพลังงานมหาศาล พลังจิตนั้นจะสำแดงตัวออกมาได้ในขณะที่จิตมั่นคง มีสมาธิ หลุดจากนิวรณ์ ขาดการรบกวนจากคลื่นความคิดฟุ้งซ่าน

โดยปกติฌานหนึ่ง (ปฐมฌาน) ไปจนถึงฌานสี่นั้น มีจุดหมายเดียวกันคือเอกัคตา(จิตที่เป็นหนึ่ง นิ่งสงบ มั่นคงมีพลัง อ่อนน้อมควรงาน) เพียงแต่การเดินทางไปถึงจุดหมายมีความช่ำชองไม่เท่ากัน คนที่ชำนาญย่อมเข้าเอกัคตาได้โดยง่ายรวดเร็ว หรือที่เรียกว่าฌานสี่ แต่ผู้ไม่ชำนาญต้องผ่าน วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข จึงจะไปถึงเอกัคตาได้ กว่าจะไปถึงก็เล่นเอาเหงือกแห้งนั่นเอง ^^” แต่หากฝึกบ่อยๆ ก็จะเชี่ยวชาญขึ้น จากฌานหนึ่งไต่ลำดับไปขั้นฌานสี่จนได้

รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 มีดังนี้
ปฐมฌาน มีองค์ห้า คือ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข จึงจะไปถึงเอกัคตาได้
ทุติยฌาน เหลือ ปิติ สุข เอกัคตา
ตติยฌาน เหลือ สุข เอกัคตา
ฌานสี่ เมื่อสงบจิตก็เข้าสู่เอกัคตาได้ด้วยความชำนาญ
อากาสานัญจายตนะ (ช่องว่างไม่สิ้นสุด)
วิญญาณัญจายตนะ (วิญญาณไม่สิ้นสุด)
อากิญจัญญายตนะ (ไม่มีอะไรเป็นอารมณ์แม้แต่วิญญาณ)
เนวสัญญานาสัญญายตนะ (เลิกกำหนดแม้แต่ภาวะไม่มีอะไร มีสัญญาก็ไม่ใช่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)

อภิญญาหก อภิญญา แปลว่า ความรู้อย่างยิ่งยวด-อย่างสูง
เมื่อเราฝึกการใช้ฌานจนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว จะเกิดอภิญญาตามกำลังของจิต อภิญญาทั้ง 6 ได้แก่
1.อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ เช่น อยู่ยงคงกระพัน ล่องหนหายตัว ย่นระยะทาง เหาะเหินเดินอากาศ ฯลฯ
2.ทิพยโสต ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์ สามารถฟังเสียงในที่ไกลหรือเสียงอมนุษย์ได้
3.เจโตปริยญาณ รู้วาระจิต รู้ความคิดนึกในใจของคนและสัตว์ได้
4.ปุพเพนิวาสานุสติ ระลึกชาติต่างๆ ของคนหรือสัตว์ได้
5.ทิพยจักขุ ตาทิพย์ รู้เห็นภพภูมิอื่น รู้อดีตอนาคต ผลในญาณต่างๆ ที่เป็นบริวารของทิพยจักขุญาณ ดังนี้ ๑.เจโตปริยญาณ รู้อารมณ์จิตของคนและสัตว์ ๒.ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติที่เกิดมาแล้วในกาลก่อนได้ ๓.จุตูปปาตญาณ รู้ว่าสัตว์ที่ตายไปแล้วไปเกิดที่ใด และที่มาเกิดแล้วนี้มาจากไหน ๔.อตีตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในอดีตได้ ๕.ปัจจุปปันนังสญาณ รู้เหตุปัจจุบันว่าขณะนี้อะไรเป็นอะไรได้ ๖.อนาคตตังสญาณ รู้เหตุการณ์ในกาลข้างหน้าได้ ๗.ยถากัมมุตาญาณ รู้ผลกรรมของสัตว์ บุคคล เทวดา และพรหมได้ว่าเขามีสุขมีทุกข์เพราะผลกรรมอะไรเป็นเหตุ
6.อาสวักขยญาณ ปัญญาที่ขจัดอาสวกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไป อภิญญาข้อนี้เองจะเป็นหนทางให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้

คนที่เคยได้ฌานเกิดญาณปัญญามาในอดีต แม้นชาตินี้ไม่ได้ฝึกต่อ อาจจมีการรับรู้แม่นยำ หรือคาดการณ์ได้ ที่เรียกว่ามีลางสังหรณ์ จิตรู้สึกได้ หรืออาจมีสัมผัสที่หก คือภาวะของจิตมีการรับรู้เกิดขึ้น

และในสภาวะการนอนหลับ จิตคนเราจะเข้าสู่ภาวะสงบหรือเหมือนการทำสมาธิไปในตัวโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ การนอนจึงเป็นสิ่งจำเป็นของคนเราที่จะได้รับการพักผ่อน ไม่เพียงแต่ทางร่างกายแต่ยังเป็นทางจิตใจอีกด้วย คนที่ทำสมาธิอยู่เสมอ จึงสามารถนอนน้อยได้โดยที่ร่างกายยังแข็งแรง

ตามหลักพุทธศาสตร์ ความฝันนั้นเกิดขึ้นยามหลับใหลได้ด้วยสาเหตุ 4 ประการ คือ ธาตุตีพิษ จิตอาวรณ์ เทพสังหรณ์ และบุพพนิมิต

ในขณะหลับลึก จะคล้ายการทำสมาธิอยู่กลายๆ จิตจะสงบรำงับ หลุดจากร่างกาย... คนที่เคยมีของเก่ามาโดยไม่รู้ตัว อาจมีการถอดจิตออกจากกายหยาบ(อิทธิวิธี) หรือเกิดความฝันรู้เห็นเหตุอดีตอนาคต(ทิพยจักขุ) ในช่วงหลับสนิทด้วย ที่พอมีสมาธิอยู่บ้างชาวต่างมิติก็อาจติดต่อสื่อสารเข้ามาในช่วงนี้ หรือจิตของตัวเองสามารถขบคิดเรื่องที่ครุ่นคิดอยู่ออก อาจมาในลักษณะนิมิตที่ต้องตีความ

จิตเอกัคตานั้น จะเป็นจิตที่รู้รอบ เหมือนตัวดักจับแมลงที่มีความไวสูง หากมีความคิดสงสัยสิ่งใด จิตจะถอนจากอัปนาสมาธิมาสู่อุปจารสมาธิแต่เป็นอุปจารสมาธิที่มีกำลังมาก เพื่อพิจารณาสิ่งที่สงสัยได้

แต่หากจิตยังขาดกำลัง ไม่มีสมาธิแน่วแน่มากพอ ยังถูกรบกวนแตกซ่านไปด้วยความคิดปรุงแต่งมากมาย ความรู้ที่ได้ก็เป็นความรู้ที่ปรุงแต่งไปด้วยเช่นกัน จะปรุงแต่งมากน้อยประการใด ขึ้นอยู่กับสติ-สมาธิ-ปัญญาของแต่ละคน ไม่ต่างจากความฝัน ที่นิมิตในสมาธินั้นอาจเกิดขึ้นเพราะธาตุตีพิษหรือจิตอาวรณ์ มากกว่าจะเป็นความรู้จริง ใครที่ชอบคิดอะไรไปเอง ทึกทักไปเอง ย่อมเกิดอุปาทานหลงผิด พวกจิตไม่นิ่ง แค่มีสมาธิอ่อนๆ หรือเป็นอุปจารสมาธิอย่างอ่อน จิตก็สำแดงอาการวาดลวดลายนิมิตไปเอง ทั้งนี้ก็เพราะอัตตาและกิเลสตัณหาชักพาไป

ความรู้ที่เกิดขึ้นโดยปัญญา ย่อมชักนำบุคคลไปในทางที่ถูก ผู้มีปัญญาน้อย การมีครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ ก็จะช่วยให้หลงทางได้น้อยลง

นอกจากกรรมฐาน 40 กอง ยังมีการฝึกสมาธิอีกหลายรูปแบบ ซึ่งถูกคิดค้นเทคนิคขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ฝึกฝึกได้ง่ายขึ้น บ่อยครั้งที่มีการฝึกสมาธิแบบเชิญบารมีครูบาอาจารย์ลงมาช่วย(ก็แบบว่าฝึกเองมันยากอะนะ) เพื่อช่วยให้รู้เห็นได้มากกว่าที่กายหยาบเห็นอยู่ อาทิ สมาธิแบบเปิดโลก สมาธิที่นั่งรวมๆ กันก็เป็นการช่วยเหลือกันทางหนึ่ง สมาธิในบริเวณที่มีคลื่นพลังงานสูงหรือมีครูบาอาจารย์เคยมาฝึกแล้ว และที่นิยมกันมากอีกวิธีหนึ่งคือ สมาธิแบบมโนมยิทธิ อันนี้คนทำได้จริงก็มี แต่ไปเห็นนรกสวรรค์แล้ว ปัญญาไม่เกิดก็ยังหลงได้ ยิ่งพวกอุปาทานก็มีไม่น้อย คนมีฤทธิ์แต่ขาดปัญญา ไปเห็นหมาแล้วยังบอกว่าช้าง ก็ไม่รู้จะช่วยไงอะนะ บางทีอาจต้องกลับมาให้ครูบาอาจารย์ช่วยสอนช่วยแก้ไขเพิ่มอีก

ก็คนธรรมดาเห็นผู้หญิงยังว่าสวยไม่สวย เกิดความชอบไม่ชอบ คือเห็นแต่เปลือก ที่จริงเป็นอสุภะเหมือนกัน เป็นทางออกของสิ่งปฏิกูลไม่ต่างกัน ถ้าเห็นลึกไปถึงนิสัยก็ว่านิสัยดีไม่ดี แต่ที่จริงความดีความไม่ดีนั้นเปลี่ยนแปลงได้อีก ประสาอะไรกับพวกเห็นสิ่งเหนือโลกแล้วยิ่งหลง ยิ่งถ้าไม่เห็นจริง บอกว่ารู้ในสิ่งที่ตัวไม่รู้ อันนี้ก็ช่วยยาก

ดูๆ ไปแล้ว พวกสายเล่นฤทธิ์นี่หลายคนก็ยังหลงไม่เบา ทั้งที่มีความสามารถในการรับรู้ได้มากกว่ากายหยาบอย่างคนทั่วไป แต่เห็นแล้วบางคนคิดไม่เป็นก็มี ยิ่งพาลหลงไปไกล คุยด้วยแล้วจะเวียนเฮดเปล่าๆ เหมือนเด็กมีอาวุธ อาจเป็นภัยกับตัวเองด้วยซ้ำ เพราะเกิดอาการหลงตนบ้าง หรือไม่ก็อุปาทานไปเกินจริงบ้าง เป็นตุเป็นตะไปเลยคราวนี้ พูดจาน่าเชื่อจนต้องคนที่รู้มากกว่า ถึงจะจับจุดได้ถูก

การฝึกสมาธิ จึงไม่ควรขาดสติ(ปัญญา) และควรพิจารณาจิตตัวเองอยู่เนืองๆ ใครมีทั้งฤทธิ์และปัญญาเสริมกัน ก็เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและคนอื่น




ข อ ง แ ถ ม ก่ อ น จ บ ค่ ะ

เรื่องจริต 6 (คัดลอกมาจาก กรรมฐาน 40 ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน)

.....ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า กรรมฐาน ๔๐ ทัศนี้ แบ่งออกเป็น ๗ กอง เพื่อปราบกิเลสที่เข้ามารบกวนใจแต่ละอย่างตามความสามารถของกรรมฐานนั้น ๆ ต่อไปนี้จะได้บอกชื่อและอาการของจริตนั้น ๆ ดังต่อไปนี้

๑.ราคะจริต จริตนี้ถ้าสิงใจใครแล้ว ทำให้เขาผู้นั้นรักสวยรักงาม ไม่ว่าอะไรต้องสวยต้องสะอาดทั้งนั้น เลอะเทอะมอมแมมไม่ได้ แม้แต่เขาจะไปทำงานทำการ ซึ่งไม่ใช่เวลาอวดสวยอวดงาม แต่พวกมีราคะจริตสิงใจนี้ก็ต้องหวีผมให้เรียบ รีดเสื้อผ้าให้เรียบร้อย รองเท้าต้องขัดให้เป็นมัน แต่งหน้าด้วยแป้งหอมน้ำมันหอมไปทำงาน อาการเขาเป็นอย่างนี้ เมื่อจิตใจชอบอย่างนี้มันเป็นกิเลสเครื่องผูกเครื่องเกาะ กีดกันความดี ท่านให้หากรรมฐานที่มีกำลังพอจะปราบจริตนี้ด้วยกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภะ ทั้ง ๑๐ อย่าง และแถมกายคตานุสสติ อีก ๑ รวมเป็น ๑๑ อย่าง

๒.โทสะจริต จริตนี้เมื่อสิงใจแล้ว จะกลายเป็นคนพื้นเสียเสมอ ๆ โกรธกริ้วคิ้วขมวด ใจคอหงุดหงิด อะไรนิดก็โกรธ อะไรหน่อยก็โกรธ เป็นคนเจ้าอารมณ์ ทำงานทำการหยาบ เอาละเอียดถี่ถ้วนไม่ได้ เดินแรงพูดเสียงดัง ท่านให้ปราบกิเลสประเภทโทสะนี้ด้วย พรหมวิหาร ๔ และ วรรณกสิณ ๔ รวมเป็น ๘ อย่าง

๓.โมหะจริต มีอาการหลงใหลใฝ่ฝัน ขี้หลงขี้ลืม หวงแหน เก็บเล็กเก็บน้อย หยุม ๆ หยิม ๆ แม้แต่เศษกระดาษหรือฝอยไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เก็บ เรื่องข้าวของแล้วช่างจดช่างจำ มีความเสียดมเสียดาย เป็นเจ้าเรือนผ้าขี้ริ้วหายไปผืนเดียวบ่นได้ ๓ วัน ๓ คืน
๔.วิตกจริต เป็นคนช่างตริช่างตรอง ช่างคิดช่างนึก มีเรื่องอะไรสักนิดก็คิดก็นึก พูดแล้วพูดอีกจนชาวบ้านรำคาญ ไม่กล้าตัดสินใจ คนประเภทนี้ถ้าเป็นหมอ คนไข้ตายหมด เพราะไม่แน่ใจว่าจะวางยาอะไรดี มัวคิดมัวนึกเสียจนสายเกินควร ถ้าเป็นหัวหน้าฝ่ายดับเพลิงไฟก็ไหม้หมดโลก เพราะถ้าได้ข่าวว่าไฟไหม้ก็จะมัวกะการ วางแผนเสียจนไฟโทรมไปเอง เชื่องช้าไม่ปราดเปรียว ใครได้ไว้เป็นสามีหรือภรรยา ก็ต้องเป็นคนอารมณ์เย็นจริง ๆ มิฉะนั้นแล้วมีหวังแยกทางกันเดิน จริตทั้ง ๒ นี้ (หมายถึงโมหะจริตกับวิตกจริต) ท่านให้แก้ด้วย อานาปานุสสติกรรมฐาน

๕.ศรัทธาจริต จริตนี้เมื่อเข้าสิงใจใคร คนนั้นจะกลายเป็นคนเชื่อง่าย เชื่อไม่มีเหตุมีผล มีลักษณะตรงกันข้ามกับ วิตกจริต รายนั้นไม่ใคร่เชื่อใคร แต่รายนี้เชื่อไม่มีหูรูด ใครพูดให้ฟังเป็นเชื่อทั้งนั้น เชื่อโดยปราศจากเหตุผล ที่ถูกหลอกถูกต้มก็คนแบบนี้แหละ จริตนี้ท่านให้เจริญ อนุสสติ ๖ ประการ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และ เทวตานุสสติ รวม ๖ ประการด้วยกัน

๖.พุทธจริต จริตนี้ทำจิตใจให้ฉลาดเฉียบแหลม เพียงใครพูดอะไรก็ตามหรือครูอธิบายในวิทยาการเพียงแต่หัวข้อ คนที่มีจริตนี้ก็เข้าใจความได้เลย สามารถอธิบายความพิสดารในหัวข้อนั้นได้ โดยมิต้องอาศัยตำรับตำรา จริตนี้ท่านให้เจริญ มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน สี่

เหลือกรรมฐานอีก ๑๐ อย่าง คือ ภูตกสิณ ๔ อาโปกสิณ อากาศกสิณ และอรูป ๔ รวมเป็น ๑๐ เหมาะแก่จริตทุกจริต ไม่เลือกคน ใครจะเจริญ คือ นำไปปฏิบัติก็ได้ มีหวังสำเร็จทั้งนั้น ที่เขียนถึงเรื่องจริต และกรรมฐานที่เหมาะแก่จริตมานี้ ยังไม่ได้คิดจะให้รู้ละเอียด ประสงค์เพียงให้รู้ไว้เป็นเครื่องมือวัดอาจารย์ หรือสำนักที่จะเข้าไปศึกษา ถ้าเขามีความรู้ตามนี้และสามารถให้กรรมฐานได้ถูกต้องตามนี้ก็เรียนกับเขาได้

ถ้าถามเรื่องจริตไม่รู้ กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตก็ไม่เข้าใจ มีกรรมฐานอย่างเดียว ใครจะมีจริตอะไรก็ตาม ให้กรรมฐานอย่างเดียว แต่ถ้าเขาให้กรรมฐานเป็นกรรมฐานกลางก็พอใช้ได้ แต่ถึงแม้ว่าจะให้กรรมฐานกลางได้ แต่ไม่เข้าใจแก้อารมณ์ของใจตามอำนาจจริตแล้ว ก็อย่าไปเรียนเลยเสียเวลาเปล่า ต่อให้เรียนอยู่ด้วยสักหมื่นชาติก็จะไม่ได้ดีอะไร นอกจากเสียเวลาเปล่า ดีไม่ดีจะพาให้เป็นมิจฉาทิฏฐิเลยลงนรกไปก็ได้ ตัวอย่างในปัจจุบันนี้มีเถอะ ลองสอบถามดูเถอะจะพบไม่น้อยทีเดียว

กสิณ ๓ ที่เป็นบาทฐานของทิพยจักขุญาณ

ต่อไปนี้จะได้แนะถึงวิธีปฏิบัติในกสิณ ๓ อย่าง คือ เตโชกสิณ โอทาตกสิณ อาโลกกสิณ ๓ อย่างนี้แต่เพียงพอเป็นทางปฏิบัติ เพื่อบำเพ็ญเพื่อได้ทิพจักขุญาณ แต่ท่านอย่าลืมนะว่าการปฏิบัติกรรมฐานจะต้องหาครูผู้สอน ถ้าทำเองโดยไม่มีใครแนะนำและควบคุมแล้ว ดีไม่ดีจะเกิดสำเร็จเร็วกว่าความเป็นจริง ตัวอย่างในปัจจุบันมีไม่น้อย พอเห็นอะไรนิด ๆ หน่อย ๆ ก็คิดว่าสำเร็จเสียแล้วเลยไม่พบดีกัน

ขณะที่เขียนหนังสือนี้อยู่ มีนักปฏิบัติกลุ่มหนึ่งมาถามว่า "ฉันได้ไปสอบกับครูผู้สอน คุณครูบอกว่าได้องค์ธรรมแล้ว ท่านช่วยตรวจด้วยเถอะว่าฉันได้แค่ไหนแล้ว?" ทำเอาข้าพเจ้างงงันคอแข็งไปเลย ไม่มีแบบมีแผนที่ไหนที่ผู้ปฏิบัติถึงธรรมแล้ว กลับไม่รู้ว่าตัวได้ แปลกมาก ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นปัจจัตตัง เมื่อได้แล้วต้องรู้เอง ไม่ใช่ไปขอร้องให้คนอื่นช่วยบอก แล้วครูเอาอะไรเป็นเครื่องวัดว่าลูกศิษย์ได้ดวงธรรม ในเมื่อเจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวสักนิด ข้าพเจ้าได้วินิจฉัยดูเห็นว่า ก. ข. ยังไม่กระดิกหูเลย จึงย้อนถามว่าใครเป็นครู ท่านกลุ่มนั้นก็บอกครูและสำนัก ถามถึงระเบียบการสอนก็บอกให้ทราบ ดูแล้วช่างไม่ถูกไม่ตรงเสียแล้ว เสียดายธรรมของพระพุทธเจ้า สงสารพระพุทธเจ้า อุตส่าห์พร่ำสอนเสียเป็นวรรคเป็นเวร เกือบล้มเกือบตาย แต่ลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้เชื่อฟัง กลับเอาลัทธิหลอกลวงมาใช้ แล้วแอบอ้างเอาพระนามของพระองค์มารับรอง น่าสงสารแท้ ๆ ธรรมที่ว่าสอบได้นั้น เขาบอกว่า เห็นดวงเล็กบ้างใหญ่บ้าง เห็นพระบ้าง โธ่! น่าสงสาร ของเท่านี้ยังไกลต่อคำว่าได้อีกหลายล้านเท่า ท่านระวังไว้นะ! ดีไม่ดีจะไปพบครูจระเข้แบบนี้เข้าจะลำบาก

ทิพจักขุญาณนี้ ความจริงแล้วอาจจะได้จากกรรมฐานกองอื่นก็ได้ ไม่เฉพาะกสิณ ๓ อย่างนี้ เมื่อทำสมาธิถึงแล้ว และรู้จักวิธีปฏิบัติแม้กรรมฐานกองอื่นก็ทำทิพจักขุญาณให้บังเกิดได้ แต่ที่แนะนำไว้ในที่นี้ว่าให้ปฏิบัติในกสิณ ๓ ก็เพราะว่ากสิณ ๓ นี้เป็นบาทของทิพจักขุญาณโดยตรง แนะตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านว่าไว้อย่างนี้ ก็เขียนไปตามท่าน แต่ถ้าใครตามได้คนนั้นก็ได้ทิพจักขุญาณจริง

อาโลกกสิณ กสิณกองนี้ ตามในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวว่า เป็นกสิณที่เหมาะแก่ทิพจักขุญาณที่สุด มีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้ ในวิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ ผู้ใดที่เคยเจริญ อาโลกกสิณ มาแต่ชาติก่อน ชาตินี้แม้เพียงแลดูแสงจันทร์หรือแสงอาทิตย์ที่ส่องลอดช่องฝามาเท่านั้น ก็สำเร็จ"อุคคหนิมิต" ( คือรูปนั้นติดตาแม้หลับแล้วก็ยังเห็นภาพนั้นติดตาติดตาอยู่ เรียกว่า "อุคคหนิมิต" ) และ "ปฏิภาคนิมิต" ( คือ เห็นแสงนั้นสว่างไสวคล้ายแสงดาวประกายพรึก สว่างจ้าเหมือนลืมตาเห็นดวงอาทิตย์ ) ได้ง่ายดาย

สำหรับผู้ที่ฝึกหัดใหม่นั้นท่านให้เพ่งดูแสงจันทร์และแสงอาทิตย์ ที่ส่องลงมาตามช่องฝาเป็นแสงกลม ลืมตามองดูแล้วตั้งใจจดจำไว้ว่า แสงที่ส่องลงมานั้นเป็นอย่างไร มีรูปคือลักษณะช่องกลมอย่างไร แล้วบริกรรมว่า โอภาโส ๆ หรือจะภาวนาว่า อาโลโก ๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ จนกว่าภาพนั้นจะติดตา คือ ภาวนาไปด้วย นึกถึงภาพนั้นไปด้วย เมื่อภาพนั้นติดตาแล้วก็ให้กำหนดใจว่าขอภาพนั้นจงใหญ่ขึ้น เมื่อภาพนั้นใหญ่ขึ้น ก็นึกให้เล็กลง ภาพนั้นก็เล็กลง นึกว่าภาพนี้จงสูงขึ้น ภาพนั้นก็สูงขึ้น นึกว่าขอภาพนี้จงต่ำลง ภาพนั้นก็ต่ำลง อย่างนี้เรียกว่าได้ "อุคคหนิมิต" เป็นอุปจารสมาธิ ถึงอุปจารฌาน ต้องให้ได้จริง ๆ นึกขึ้นมาเมื่อไรต้องเห็นอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น แม้ไม่มีแสงให้ดูภาพนั้นก็ยังติดตาติดใจอยู่ และเมื่อต้องการจะเห็นภาพนั้นเมื่อไร คือ เมื่อกำลังง่วงต้องการเห็นต้องการบังคับ ก็เห็นได้บังคับได้ เมื่อกำลังเหนื่อย เมื่อหิว เมื่อตื่นนอนใหม่ ๆ เห็นได้บังคับได้ทุกขณะทุกเวลา จึงชื่อว่า ได้อุคคหนิมิตที่แท้ ต่อไปให้ฝึกอย่างนั้นจนชำนาญ จนได้ "ปฏิภาคนิมิต" คือ เห็นแสงสว่างผ่องใสเป็นแท่งหนาทึบ คล้ายแสงมากองรวมกันอยู่ คล้ายดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ที่มองเห็นในขณะลืมตา อย่างนี้เรียกว่า "ปฏิภาคนิมิต"

เมื่อได้ปฏิภาคนิมิตแล้วก็ชื่อว่าจิตสมควรแก่การที่จะได้ "ทิพจักขุญาณ" เมื่อประสงค์จะเห็นอะไร ให้เพ่งนิมิตนั้นก่อน เมื่อเห็นนิมิตชัดเจนแล้ว ให้กำหนดจิตว่า ขอภาพนิมิตจงหายไป ภาพที่ต้องการจงปรากฏขึ้น เพียงเท่านี้ภาพที่ต้องการก็ปรากฏขึ้น จะเป็นภาพนรก สวรรค์ พรหมโลก หรือ ญาติที่ตายไป และจะเป็นอะไรก็ได้ เมื่อได้แล้วให้ฝึกไว้เสมอ ๆ จะได้ชำนาญและคล่องแคล่วใช้งานได้ทุกขณะ

สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะหัดให้คล่องทั้งลืมตาและหลับตา เพราะจะเป็นประโยชน์มาก เพื่อว่าถ้าเราอยากจะรู้อะไร ในขณะที่คุยกับเพื่อนหรือไปในระหว่างคนมาก ถ้ามัวไปหลับตาอยู่ เขาจะคิดว่าเรานี่ท่าทางคงจะไม่ใคร่ตรง ดีไม่ดีพวกจะพาส่งโรงพยาบาลบ้าเสียก็ได้ เพราะฉะนั้น ควรฝึกให้คล่องเสียทั้งสองอย่าง ทั้งลืมตาและหลับตา

เอาละนะ! แนะนำไว้แบบเดียวก็พอจะได้ไม่ยุ่ง ทิพจักขุญาณนี้มีประโยชน์มาก เหมาะแก่การพิสูจน์ประวัติต่าง ๆ เช่น พระพุทธบาท ปฐมเจดีย์ หรือเรื่องราวเก่า ๆ ที่สงสัย ถ้าปรารถนาจะรู้แล้วจะรู้ได้เลย ภาพเก่า ๆ จะปรากฏคล้ายดูภาพยนตร์ พร้อมทั้งรู้เรื่องรู้ชื่อคน ชื่อสถานที่ไปในตัวเสร็จ แต่ระวังใช้ให้ถูกทาง อย่านำไปใช้ในทางลามก ถ้าทำอย่างนั้นจะเสื่อมเร็ว

ขอความสุขสวัสดีจงมีแต่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ...สวัสดี*

..................

คนมีของดี อาจทำให้ตัวเองแย่กว่าเดิม จึงควรรู้ค่าในของดีนั้นให้ถ่องแท้



Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2550 22:57:58 น. 0 comments
Counter : 1137 Pageviews.
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.