ปฎิรูป-ถอยอย่างไรไม่ให้ล้ม*** WHITESPACE.CO.LTD

whitespace
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




เมื่อไม่มีสิ่งใดจริง จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
.....อ่านเรื่องพุทธบารมี
.....ลีลาสมเด็จพุฒาจารย์โต
.....ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา-หลวงปู่มั่น

Google..
.....................พ่อของแผ่นดิน...
Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
19 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add whitespace's blog to your web]
Links
 

 

ชั่วโมงเดียวก็บรรลุธรรมได้


ท่านพุทธทาส แห่งสวนโมกข์


ชั่วโมงเดียวก็บรรลุธรรมได้
อวกาศสีขาว / 19 ก.ย. 50


. . . . . การเห็นธรรมหรือการเห็นธรรมชาติตามจริง เพื่อจะเข้าใจและรู้ทันรากเหง้าแห่งอวิชชา คือความหลงไปในตัวตนและการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารนั้น สามารถทำได้ด้วยปัญญาญาณ เมื่อเจริญมรรคแล้วย่อมบังเกิดผล ไม่มีอะไรเกินความพยายามของใครไปได้ หากทำจริงแล้วผลต้องบังเกิด

สมัยพุทธกาล ในการเทศนาของพระสัมมาสัมโพธิญาณ ผู้ฟังธรรมทั้งหลายสามารถบรรลุธรรมได้เป็นจำนวนมาก ระดับพระอรหันต์ก็มี อนาคามีก็มี สกทาคามีก็มี โสดาบันก็มี โดยเฉพาะพระอริยะขั้นต้นนี่ บรรลุกันได้มาก เข้าถึงกระแสของพระนิพพานกันได้มาก

การนั่งสมาธิแนววิปัสสนาก็ดี สมถะวิปัสสนาก็ดี เพียงหนึ่งชั่วโมง หากไม่มีจิตฟุ้งซ่านหรือส่งจิตออกนอก การพิจารณารูปนามเข้าถึงหลักความจริงเป็นเรื่องไม่เกินปรารถนา จนขนาดมีการจัดการอบรมกรรมฐานกันมากมายหลายสถานที่ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้

ที่จริงการนั่งสมาธิเองที่บ้านก็ไม่ลำบากถ้ามีความสงบวิเวกพอประมาณ แต่ที่บ้านนั้นมักจะเต็มไปด้วยความกังวลเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่นเรื่องงาน เรื่องญาติ หรืออาจจะมีความสะดวกสบายเกินไป จนจิตเห็นแก่ความขี้เกียจ ไม่ระวังตัวเองเท่าใดนัก

นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเดินเข้าสู่วัดหรือสถานปฏิบัติธรรม เพื่อคาดหวังกับชั่วโมงทองหรือวินาทีทองนั้น เพื่อทำความรู้แจ้งให้บังเกิดขึ้นกับตน การเจริญสติภาวนาอย่างต่อเนื่องสักชั่วโมงไม่ว่าจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ ..แค่ชั่วโมงเดียวก็บรรลุธรรมได้ แต่ทำไมถึงทำกันได้ยาก ทั้งที่ใช้เวลาในกรรมฐานอยู่ตั้งนานหลายวัน บ้าง 7 วัน บ้าง 15 วัน บ้างเป็นเดือน

ที่จริง ..ในกรรมฐานนั้นหากเจริญสติอย่างต่อเนื่องจริงจัง สภาวะการเห็นรูปธรรมนามธรรมนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดทุกที่ทุกเวลาทุกอิริยาบถ แต่จะง่ายหน่อยก็คงเป็นในการนั่งสมาธิ บางคนคาดหวังจะไปเอาความเป็นพระอริยะในการนั่งสมาธิประมาณหนึ่งชั่วโมงให้ได้เมื่อไปทำกรรมฐาน แต่ทำไมถึงทำไม่ได้ แล้วคนแบบไหนที่สามารถค้นพบสัจธรรมแห่งจิตได้ เพียงขอแค่ให้เขาหรือเธอมีเวลาเจริญสติจริงๆ สักชั่วโมงหนึ่ง กำลังในการประหารกิเลสก็เกิดขึ้นได้

ปัญญานั้นจะเกิดขึ้นจริงด้วยการเจริญสติภาวนา ไม่ใช่จำได้หมายรู้ การรู้ธรรมศึกษาธรรมเข้าใจธรรมแต่ไม่ลงมือทำ หากเข้าปฏิบัติกรรมฐานด้วยความคาดหวัง แต่นอกกรรมฐานคือการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป กลับไม่นำพาเอาธรรมะหรือความรู้ในธรรมะมาใช้ ไม่มีสติเท่าทันกิเลสในตน ทุกอย่างก็ไม่อาจประสบผลขึ้นมา

บ้างชอบทำบุญช่วยงานบุญ ช่วยวัดแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตามรับใช้พระเกจิ แต่ไม่เจริญสติปัญญาจะใช่จะเกิด บ้างก็อยู่กับการเผยแพร่ธรรม สั่งสอนธรรม พระบางรูปเทศน์ธรรมจนโด่งดัง ฆราวาสบางท่านค้นธรรมสอนคนอื่น ทั้งพิมพ์เป็นหนังสือ เขียนลงนิตยสาร แต่กลับไม่ได้ช่วยให้ใจตนเองคลายทุกข์ได้ ติดว่าตนรู้มาก กลายเป็นผู้เตือนได้ยาก ใครเตือนเรื่องอะไรนี่รู้ไปหมด สอนเขากลับหมิ่นเขากลับได้ทันที ความที่คิดว่าตัวรู้มากกว่าแต่ตามจิตตัวเองไม่ทัน เลยปล่อยวางได้ยาก

คนจะรู้เท่าทันตัวเองได้เพราะลงมือปฏิบัติธรรม เมื่อทันกิเลสจึงสู้กับตัวเองได้ เมื่อต่อสู้ได้ก็วางเป็น วางอารมณ์ที่ปะทุขึ้นมาเป็น เพราะมีสติทำลายอวิชชาในตัวเอง เมื่อทำแล้วก็ย่อมบังเกิดปัญญา เข้าใจสัจธรรมทั้งทางบัญญัติและปรมัตถ์ขึ้นมา จึงเลือกทำในสิ่งที่มีประโยชน์ได้ กลายเป็นคนมีธรรมหรือมีคุณธรรม มีความกตัญญูรู้คุณ มีศีล มีพรหมวิหาร มีอริยมรรค มีสัจจะ มันเกิดขึ้นเพราะปัญญา พวกรู้มากแต่ไม่มีความดีในตัวเอง แบบนี้รู้เท่าไหร่ก็ช่วยอะไรไม่ได้

สัจธรรมความจริงหรือธรรมชาติตามจริง มีอยู่สองระดับ คือสมมุติสัจจะกับปรมัตถ์สัจจะ การพบสัจธรรม เข้าใจสัจธรรม ที่จริงเข้าใจกันได้อยู่ แม้นจะยังเป็นเพียงความเข้าใจทางความคิด พอมาฟังธรรมหลายคนก็เข้าใจได้ ยิ่งเป็นคนในศาสนาพุทธจะคุ้นเคยกับการฟังสัจธรรมต่างๆ อยู่แล้ว แต่การจะเข้าถึงทำได้จริง นั้นต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติ

คนเราถ้าไม่ปรุงแต่งมาก มันต้องเห็นความจริงได้ เพราะความจริงแสดงตัวอยู่ทุกขณะอยู่แล้ว ความเกิดแก่เจ็บตาย ความอยากในตัณหาต่างๆ การถูกกิเลสครอบงำ การเข้าใจไปถึงความคิดตามความคิดเป็น ฯลฯ ถ้าไม่หลง มันต้องทำได้ หากถ้ามีกำลังขึ้นมา ไม่ตามความคิดที่หลอกเอา มันต้องเข้าไปเห็นตัวเองแท้ๆ ได้ คือมีกำลังต่อสู้อวิชชาเข้าสู่โคตรภูญาณมีนิพพานเป็นอารมณ์ และประหารกิเลสเห็นจิตเดิมตามมรรคญาณผลญาณได้

แต่ที่น่ากลัวก็คือ ยุคนี้มีแต่คนคิดว่าตัวเองบรรลุกันมาก ความที่มีหนังสือและแหล่งความรู้ให้ค้นกันได้มาก ได้อ่านได้เข้าใจเป็นความคิดกันมาก ต่างคิดว่าตัวเองไปถึงไหนต่อไหนด้วยความรู้ที่จำเอานึกเอา ว่าตนเกิดสภาวธรรมอย่างนี้อย่างนั้น กอปรกับเอาความรู้ที่อ่านมาผสมผสานคิดว่าได้เข้าสู่วิมุตติธรรม แต่ไม่ได้ดูกิเลสตนว่ามันเพิ่มหรือถูกทำลายไปแล้วจริงไหม .. ไม่ก็ติดนิมิต อ้างฤทธิ์อ้างเดชกันไป ไม่รู้ฤทธิ์จริงหรืออุปาทาน

อาจเป็นการยากมากอยู่ทีเดียว .. ที่สัจจะสูงสุดจะปรากฏเพียงว่า เราไม่มีตัวไม่มีตนแถมไม่มีอะไรเลยให้บรรลุ(ดับกิเลสตัณหา) คือเห็นความธรรมดาไม่ปรุงแต่ง ในขณะที่คนทั่วไปอยากจะเป็นในสิ่งที่ดีกว่า ดีกว่าแม้นตัวเองในชาตินี้ ต่างอยากจะแสดงตัวตนของตัวเองออกมาว่าพิเศษไม่ธรรมดา กระทั่งถึงพยายามแสดงออกถึงความเคยเป็นในสิ่งที่ดีกว่าในอดีตชาติ จึงทำให้เราเห็นใครหลายๆ คน มักจะอ้างถึงชาติก่อนๆ ว่าเป็นเทพ เป็นกษัตริย์ ลูกกษัตริย์ หรืออะไรสักอย่างไม่ต่างกัน หรือไม่ก็อยากเป็นพระอริยะพระอรหันต์ขึ้นมา มากกว่าที่จะเลือกไม่เป็นอะไรเลย

เรื่องคิดว่าตนบรรลุโดยมิได้บรรลุ หรือมีฤทธิ์โดยมิได้มีจริง ก็ล้วนเป็นเรื่องอัตตา อยากจะมีจะเป็น ไม่ต่างจากพวกที่หลงโลกหลงวัตถุนัก คือถูกตัณหาร้อยรัดไว้จนยากจะวางตัวตนเข้าสู่ความจริงแท้ได้

ความมหัศจรรย์ของการบรรลุธรรม ไม่ใช่เรื่องความเป็นอริยะหรือมีฤทธิ์ แต่เป็นคนที่ความทุกข์เข้าไม่ถึง สิ้นการเกิด พญามัจจุราชมองไม่เห็น วัฏฏะไม่มีอำนาจบังคับ เป็นผู้วางทุกข์ของการเกิดเพราะยึดตัวยึดตน อยู่เหนือสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นสุขแท้และปล่อยวาง


พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต - จะพากันหลงงมงายไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนกัน ความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเราเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งเหนือสิ่งอื่นใด จงพากันค้นหาให้เจอและค้นลง ที่..ใจ..นี้

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (มรรควิถี) - เพราะเนื้อแท้ของจิตแล้วเป็นของสว่างแจ่มใสมาแต่เดิม แต่เพราะอาศัยอารมณ์ของจิตที่แทรกซึมเข้ามาปกปิด จึงได้ทำให้แสงสว่างของจิตนั้นมืดมิดไปชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็พลอยทำให้โลกนี้มืดมิดไปด้วย หากจิตนี้เป็นของมืดมิดมาแต่กำเนิดแล้ว คงไม่มีคนใดใครจะสามารถชำระจิตนี้ให้ใสสะอาด เกิดปัญญาแสงสว่างขึ้นมาได้

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ภูก้อจ้อ - แม้ผู้นับถือศาสนาพุทธ แต่เจตนาเป็นเจ้าเรือนมุ่งปัจจัยสี่เป็นเจ้าใหญ่นายโตของเจตนา เป็นเจ้าเป็นจอมอยู่ ก็ไม่สามารถจะบรรลุพรหมจรรย์เบื้องต้นได้ในปัจจุบันชาติคือพระโสดาบันได้เลย จะเดินจงกรมภาวนาตลอดคืนตลอดวัน อดข้าวอดอาหารจนขุมขนผมหล่นก็ตาม ไม่ขึ้นถึงโสดาได้ ทั้งนี้ เพราะเหตุใดเล่า เพราะเหตุมุ่งลาภ มุ่งอามิสภายนอกปิดประตูแล้ว แต่พอเป็นนิสัยในชาติภพต่อๆ ไปนั้นได้อยู่ ข้อนี้นักปฏิบัติควรโอปนยิโกน้อมเข้ามาในใจตน ตรวจดูเจตนาของตนให้แยบคายทั้งนั้น เว้นไว้แต่ไม่ต้องการพระอริยะในชาตินี้ชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือจนถึงที่สุดโดยด่วนเท่านั้น ผู้ไม่ต้องการโลกุตตระกับผู้นอนใจในสงสาร กับผู้หวังอามิสเป็นเจ้าหัวใจก็อันเดียวกัน

......


การเดินทางเข้าถึงพุทธธรรม - หลวงพ่อชา สุภัทโท
//www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=12909

ตามธรรมดา การที่บุคคลจะไปถึงบ้านเรือนได้นั้น มิใช่บุคคลที่มัวแต่นอนคิดเอา เขาเองจะต้องลงมือเดินทางด้วยตนเอง และเดินให้ถูกทางด้วย จึงจะมีความสะดวกและถึงที่หมายได้ หากเดินผิดทางก็จะได้รับอุปสรรค และยังไกลที่หมายออกไปทุกที หรืออาจจะได้รับอันตรายระหว่างทาง เมื่อเดินไปถึงบ้านแล้ว จะต้องขึ้นอยู่อาศัย พักผ่อนหลับนอน เป็นที่สบายทั้งกายและใจ จึงจะเรียกว่าคนถึงบ้านได้โดยสมบูรณ์

ทางแห่งศีล สมาธิ และปัญญา

ถ้าหากเดินเฉียดบ้าน หรือผ่านบ้านไปเฉยๆ คนเดินทางนั้นจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากการเดินทางของเขา ข้อนี้ฉันใด การเดินทางเข้าสู่พุทธธรรมก็เหมือนกัน ทุกๆ คนจะต้องออกเดินทางด้วยตนเอง ไม่มีการเดินให้กัน ต้องเดินไปตามทางแห่งศีล สมาธิ ปัญญา จนถึงซึ่งที่หมาย ได้รับความสะอาด สงบ สว่าง นับว่าเป็นประโยชน์เหลือหลายแก่ผู้เดินทางเอง

แต่ถ้าหากผู้ใดมัวแต่อ่านตำรา มัวแต่กางแผนที่ออกดูอยู่ตั้งร้อยปีร้อยชาติ เขาผู้นั้นไม่สามารถไปถึงที่หมายได้เลย เขาจะเสียเวลาไปเปล่าๆ ปล่อยให้ประโยชน์ที่ตนจะได้รับให้ผ่านเลยไป ครูบาอาจารย์เป็นเพียงผู้บอกให้เท่านั้น เราทั้งหลายเมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว จะเดินหรือไม่เดิน จะได้รับผลมาน้อยเพียงใด นั้นเป็นเรื่องเฉพาะตน

เช่นเดียวกันกับการที่หมอให้ยาคนไข้ ถ้าคนไข้มัวแต่อ่านฉลากยา แต่ไม่เคยได้นำยานั้นไปใช้ คนไข้ก็คงอาจจะตายเปล่า และก็จะมาร้องตีโพยตีพายว่า ยาไม่ดี หมอไม่ดี เพราะมัวแต่ไปอ่านฉลากยาจนเพลิน แต่ถ้าเขาเชื่อหมอ จะอ่านฉลากเพียงครั้งเดียว หรือไม่อ่านก็ได้ แต่ถ้าลงมือกินยาตามคำสั่งหมอ ถ้าคนไข้เป็นไม่มาก เขาก็จะหายจากโรค แต่ถ้าเป็นมาก...อาการก็จะทุเลาลงไปเรื่อยๆ ถ้าหากกินบ่อยๆ โรคก็จะหายไป

ที่ต้องกินยามาก และบ่อยครั้ง ก็เพราะโรคของมันมาก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดามากๆ แต่ถ้าโรคน้อยกินครั้งเดียวก็อาจจะหายได้เลย ผู้อ่านลองใช้สติปัญญาพิจารณาถ้อยคำนี้ให้ละเอียดจริงๆ จะเข้าใจได้ดี

การทำตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์

ศีล นั้นก็คือ ระเบียบควบคุมรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย ว่าโดยประเภทมีทั้งชาวบ้าน และของนักบวช แต่เมื่อกล่าวโดยรวบยอดแล้วมีอย่างเดียวคือ เจตนา

เมื่อเรามีสติระลึกได้อยู่เสมอ เพื่อควบคุมให้รู้จักละอายต่อความชั่ว ความเสียหาย และรู้สึกตัวกลัวผลของความชั่วจะตามมา พยายามรักษาใจให้อยู่ในแนวทางแห่งการปฏิบัติที่ถูกที่ควร พยายามรักษาใจให้อยู่ในแนวทางแห่งการปฏิบัติที่ถูกที่ควร เป็นศีลอย่างดีอยู่แล้ว ตามธรรมดาเมื่อเราใช้เสื้อผ้าที่สกปรก และตัวเองก็สกปรก ย่อมทำให้จิตใจยึดอัดไม่สบาย แต่ถ้าหากเรารู้จักรักษาความสะอาด ทั้งร่างกายและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ย่อมทำให้จิตใจผ่องใสเบิกบาน

ดังนั้น เมื่อศีลไม่บริสุทธิ์ เพราะกายวาจาสกปรก ก็เป็นผลให้จิตใจเศร้าหมอง ขัดต่อการปฏิบัติธรรม และเป็นเครื่องกั้นมิให้บรรลุถึงจุดหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจิตใจที่ได้รับการฝึกมาดีหรือไม่เท่านั้น เพราะใจเป็นผู้สั่งให้พูดให้ทำ ฉะนั้นเราจึงต้องมีการฝึกจิตใจต่อไป

การฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิก็คือ การฝึกจิตใจของเราให้ตั้งมั่น และมีความสงบ เพราะตามปกติ จิตนี้เป็นธรรมชาติ ดิ้นรน กวัดแกว่ง ห้ามได้ยาก รักษาได้ยาก ชอบไหลไปตามอารมณ์ต่ำๆ เหมือนน้ำที่ชอบไหลลงสู่ที่ลุ่มเสมอ

พวกเกษตรกรทั้งหลาย เขารู้จักกั้นน้ำไว้ให้ทำประโยชน์ในการเพาะปลูกต่างๆ มนุษย์เรามีความฉลาดรู้จักเก็บรักษาน้ำ เช่น ทำฝาย ทำทำนบ ทำชลประทาน เหล่านี้ล้วนแต่กั้นน้ำเพื่อประโยชน์ทั้งนั้น พลังงานไฟฟ้าที่ให้ความสว่าง และใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ก็ยังอาศัยน้ำที่คนเรารู้จักกั้นไว้นี้เอง ไม่ปล่อยให้มันไหลลงที่ลุ่มเสียหมด

ดังนั้น จิตใจที่มีการฝึกที่ดีอยู่ ก็ให้ประโยชน์มหาศาลเช่นกัน

พระพุทธองค์ตรัสว่า...

จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมนําความสุขมาให้ ..การฝึกจิตให้ดี ย่อมสําเร็จประโยชน์

เราสังเกตดูแต่สัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ก่อนที่เราจะเอามันมาใช้งานต้องฝึกเสียก่อน เมื่อฝึกดีแล้ว เราจึงได้อาศัยแรงงานมันทำประโยชน์นานาประการ

ท่านทั้งหลายก็ทราบกันแล้วว่า จิตที่ฝึกดีแล้ว...ย่อมมีคุณค่ามากกว่ากันหลายเท่า ดูแต่พระพุทธองค์ และพระอริยสาวก ได้เปลี่ยนจากภาวะปุถุชนมาเป็นพระอริยบุคคล จนเป็นที่กราบไหว้ของคนทั่วไป และท่านก็ยังได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวางเหลือประมาณที่เราๆ จะกำหนด ก็เพราะว่า พระองค์และสาวก ได้ผ่านการฝึกจิตมาด้วยดีแล้วทั้งนั้น

จิตที่ฝึกดีแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์แก่ทุกสิ่งทุกอย่าง อันได้แก่การดำเนินชีวิต การประกอบกิจการงานอาชีพทุกอย่าง นอกจากนี้ก็ยังเป็นทางให้รู้จักทำงานด้วยความรอบคอบ ไม่เป็นคนหุนหันพลันแล่น ทำให้ตนเองมีเหตุผล และได้รับความสุขตามสมควรฐานะ



.............................................................




 

Create Date : 19 กันยายน 2550
0 comments
Last Update : 23 กันยายน 2550 17:09:35 น.
Counter : 809 Pageviews.

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.